‘ไม่สู้ก็อยู่แบบนี้’
คุยกับคนร่วมขบวน #เดินทะลุฟ้า 247.5 กม. จากโคราชสู่ใจกลางอำนาจ เพื่ออนาคตของ “คนเท่ากัน”
247.5 กม. กับเป้าหมายเดินเท้าสู่ในกลางอำนาจของประเทศไทย ขบวน #เดินทะลุฟ้า คืนอำนาจประชาชน ของกลุ่มราษฎร และเครือข่าย People Go Network 15 วันเต็ม ๆ สำหรับการเดินเท้าอย่างน้อย ๆ 15 กม.ต่อวัน พวกเขากำลังเคลื่อนขบวนจากรังสิต จ.ปทุมธานี มุ่งหน้าสู่ ม.เกษตรศาสตร์ ด้วยเป้าหมายเรียกร้องให้การคืนอำนาจของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ และเรียกร้องให้ปล่อยเพื่อนผู้ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำด้วยข้อหา ม.112 และศาลปฏิเสธการให้ประกันตัว
Decode ร่วมเดินสั้นๆ เพื่อคุยกับ “คนร่วมขบวน” คนธรรมดาที่อยากใช้การเดินเท้า วิถีทางสันติชนเรียกร้อง และเป็นหนึ่งในเสียงที่ยืนยันว่าประเทศไทยดีกว่านี้ได้ และไม่อาจทนอยู่แบบนี้ต่อไปได้อีกแล้ว
พระประนมกรณ์,จ.สุรินทร์
หนึ่ง…โครงสร้าง หลักการที่เราเห็น และเหตุการณ์วันนี้มันไม่มีความยุติธรรม ไม่มีธรรมาภิบาล
สอง…นายกรัฐมนตรีรัฐประหารเข้ามา อยู่ตั้งแต่เด็กร้องเพลงขอเวลาอีกไม่นาน วันนี้เด็กร้องเพลง วัน ทู ทรี โฟร์ ไฟว์ ทำไมเด็กถึงร้องเพลงนี้
สาม…สนิทกับไผ่ เดินธรรมยาตรากันมา ไผ่นับถือเป็นพ่อ ถ้าพ่อไม่ช่วยลูกแล้วจะช่วยใคร?
พระประนมปกรณ์ไล่เรียงเหตุผลการเข้าร่วม #เดินทะลุฟ้า ครั้งนี้ แม้ที่ผ่านมาพระประนมปกรณ์จะใช้การเดินเพื่อทำวิปัสนา และร่วมเดินในงานเทิดพระเกียรติ หรือถวายพระราชกุศลมานับไม่ถ้วนแล้วก็ตาม แต่การเดินครั้งนี้เป็นการเดินเพื่อเหตุผลทางการเมืองครั้งแรก
ท่านอธิบายว่า มันอาจไม่ใช่การเดินธรรมยาตราเป๊ะ แต่มีความคล้ายคลึงกัน เพราะการเดินธรรมยาตราคือการเผยแผ่สัจธรรมความจริง อีกทั้งให้คนได้ร่วมทำบุญ เดินยังไงคนก็ยอมรับ แต่การเดินเพื่อการเมืองครั้งนี้ ก็มีทั้งคนชอบและไม่ชอบ ซึ่งถูกต้องแล้วเป็นเรื่องธรรมดา และธรรมชาติมาก ๆ
“คนเรามันต่างมันต่างความคิดได้ ขอเพียงแค่เอาความต่างมาหลอมรวม พิจารณาแก้ไขปรับปรุง ศาสนาสอนคนให้แก้ไขปรับปรุงนะ”
“การเดินธรรมยาตรา หรือการเดินครั้งนี้คล้ายกัน แต่วันนี้เด็กมาเรียกร้องความถูกต้อง ความยุติธรรม ปล่อยเพื่อนเขา เขาเห็นความไม่ถูกต้องที่เกิดขึ้น อีกคนศาลตัดสินว่าผิด แต่ให้ประกันตัวเอง อีกคนศาลยังไม่ตัดสินเลย แต่ไม่ให้ประกันตัว ในฐานะที่เราเป็นผู้บริหารประเทศ ในฐานะที่เราออกมาพูดหน้าทีวีก็ควรทำตามกฎหมาย ไม่ใช่เอากฎหมายหรือประชาชนมาบังหน้า เรามีความละอายในคำพูดของตัวเองหรือไม่”
การมีพระสงฆ์เดินร่วมขบวน อาจมีความสงสัยถึง “ความเหมาะสม” ว่าพระสงฆ์ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง พระประนมปกรณ์บอกว่า ถ้าเช่นนั้นไม่ควรเอาการเมืองจะยุ่งกับพระ
“อย่าเอาอะไรไปให้ ไม่ว่าจะเป็นยศ กฎระเบียบ ทางการเมืองทั้งนั้นที่กดทับท่านอยู่ เชื่อว่ามีคำจำนวนมาก ไม่เห็นด้วยแต่เขาไม่กล้าออกมาเพราะว่าถูกกดทับจากระบบโครงสร้างนี้อยู่ไง อย่าว่าแต่พระสงฆ์ ตำรวจก็เหมือนกันนั่นแหละ เพียงแค่จะมีคนสักกี่คนที่จะกล้าออกมา ลุกขึ้นสู้กับสิ่งเหล่านี้”
มิ้น, 25
“เราเศร้าที่สุดคือเรื่องคนตาย คนถูกอุ้มหาย โดนอุ้มฆ่า เรารับไม่ได้กับการทำลายสิ่งที่เรียกกลับคืนมาไม่ได้ ชีวิตคนที่ตายมันหวนมาไม่ได้แล้ว เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น การสลายการชุมนุม การเสียชีวิตของมวลชน มันเป็นแรงขับที่ทำให้ออกมาสู้ตรงนี้ เราไม่อยากให้การต่อสู้ของเขามันเสียเปล่า”
มิ้น วัย 25 ปี พาหมวกเป็ด และกระเป๋าเป็ดสีเหลืองติดตัวมากับการเดินทะลุฟ้าวันนี้ เธอเข้าร่วมการชุมนุมจริงจังเมื่อ 14 ตุลาคม 2563 และเดินมาร่วมขบวนแล้วสามวัน การเติบโตในครอบครัวที่อธิบายสิ่งต่าง ๆ ด้วยเหตุผล ทำให้มิ้น เอ๊ะ-อ๋อ และหาคำตอบสิ่งที่เจออยู่เสมอ อย่างการเรียนของมิ้นที่มิ้นเรียนสายดนตรีไทยมา มิ้นบอกว่า แค่เรื่องคำจำกัดว่า “ดนตรีไทย” ก็ถูกครอบไว้แค่ดนตรีจากภาคกลาง และเครื่องดนตรีภาคอื่น ๆ ก็ถูกเรียกว่า ดนตรีพื้นบ้าน
มันเป็นสิ่งเล็ก ๆ ที่ตั้งต้นถึงคำถามที่ใหญ่กว่านั้น แม้จะไม่เอ๊ะในทันทีแต่การสะสม ซึมซับและเพิ่มการรับรู้ได้นำพาให้มิ้นเข้าใจว่าอะไรที่กดทับและหล่อเลี้ยงสิ่งนั้นให้แข็งแกร่ง ความอยุติธรรมที่คนธรรมดาอย่างเธอก็สัมผัสถึงมันได้
การร่วมเดินครั้งนี้ จึงไม่ใช่แค่การแสดงเชิงสัญญลักษณ์ แต่คือการป่าวประกาศสิ่งที่เราเชื่อ ขณะเดียวกันระหว่างการเดินทางที่ร้อนระอุ ขาที่เมื่อยล้า มันช่วยพิสูจน์และยืนยันสิ่งที่กำลังทำอยู่
“ครั้งนี้มันเป็นการเดินทางของเวลา ใช้เวลาต่อสู้ เหนื่อยร้อนเมื่อยเท้า แต่มันเติมพลังให้เราสู้ต่อ เดินไปมีพี่น้องมาชูสามนิ้วข้างทาง มีชาวบ้านมาให้กำลังใจ ใจเรามันฟู และทุกครั้งที่เดินคือการได้ใช้สมาธิไปด้วย เราจะสู้เปล่าวะ เรายังเดินต่อไปไหม มันทำให้สิ่งที่เราทำอยู่มันมีความหมาย”
“ยิ่งโดนที่แดดร้อนส่องมา มันเหนื่อยมาก แต่มันก็ทำให้เราต้องสู้ว่ะ ถ้าไม่สู้มันก็แพ้อ่ะ ไม่รู้ว่ามันจะชนะเมื่อไหร่ แต่เรารู้ว่าการต่อสู้ครั้งนี้ช่วยชีวิตของหนู”
นัท, 24
มือถือวิทยุเคลื่อนที่ คอยสอดส่องดูข้างทาง และความปลอดภัยของคนร่วมขบวน #เดินทะลุฟ้า
นัท คนโคราช สวมรองเท้าแตะคู่นี้เดินมาจากต้นทางของกิจกรรมที่อนุสาวรีย์เท้าย่าโม จ.นคราราชสีมา
ร่องรอยการเดินว่าหนักหน่วงแค่ไหนปรากฎเห็นที่ผิวเท้า แต่นั่นไม่ใช่อุปสรรคของนัท เพราะสิ่งที่เป็นเจ็บปวดมากกว่านั้น คือ การอยู่ในภาวะที่เกิดคำถาม แต่ไม่มีคำตอบ การที่เห็นความสังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำ และความฝันราคาแพงแค่ไหน
“ผมเรียนดนตรี ที่ฝันอยากเป็นนักดนตรี แต่ยากหากจะหาความมั่นคง นักดนตรีอาชีพจะมีรายได้และสวัสดิการดีก็ต้องไปอยู่ในระบบ ในราชการ หรือเอกชน จะทำอาชีพนี้ได้ที่บ้านต้องมีต้นทุนมาสนับสนุน”
แต่สิ่งที่มันเป็นสะพานเชื่อมให้เราเห็นความจริงมากก็ตอนที่เรียนดนตรีนี่แหละ เราเพิ่งมารู้ว่าดนตรีที่เรียนมันไม่ได้มาจากชนชั้นล่าง แต่มันเป็นดนตรีของชนชั้นสูง ทำให้เราเห็นความเหลื่อมล้ำชัดมาก เราเอ๊ะ และตั้งคำถามแล้วก็คลุกคลีกับมันจนหาคำตอบและตั้งคำถามมาเรื่อย ๆ จนมาถึงวันที่เราไปร่วมชุมนุม จนถึงวันนี้
แม้ว่าแรกเริ่มการร่วมขบวนคือการติดตามแฟน เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยเพื่อนที่ถูกคุมขังในเรือนจำ แต่วันนี้ขยับหน้าที่มาดูแลผู้ร่วมขบวนที่ต้องเข้มข้นขึ้นเมื่อค่อย ๆ เข้าใกล้ศูนย์รวมอำนาจ เข้าใกล้เมือง นัทบอกว่า การเดินจากโคราชถึงสระบุรี ไม่มีปัญหาอะไรเท่าไหร่ แต่พอมาถึงในปทุมธานี เริ่มมีเจ้าหน้าที่เข้ามาควบคุมมากขึ้น
ตอนที่ Decode ร่วมเดินเพื่อสัมภาษณ์ช่วงครึ่งเช้า (5มีนาคม) มีเจ้าหน้าที่พยายามไม่ให้ประชาชนที่มารอบต้อนรับขบวนนำป้ายข้อความแขวนบนสะพานลอย จำนวน 2 ครั้ง นัทเองบอกว่า การเดินครั้งนี้มันสันติ แต่ถามว่ากลัวไหม ความกลัวเป็นธรรมดาของมนุษย์
“ก็กลัวแหละ แต่เราจะอยู่แบบนี้ไปได้ตลอดเหรอ อนาคตเราก็จะอยู่แบบนี้ไปเรื่อยๆ เหรอ ไม่อยากเป็นแบบนั้น เราต้องสู้”