เปลือยเปล่าความเจ็บปวด...มันคุ้มค่ากับการมีชีวิตอยู่ - Decode
Reading Time: 2 minutes

ลองจินตนาการว่า ในมือคุณกำลังจับปากกาเขียนอะไรสักอย่างบนกระดาษ คุณเขียนผิด หรือไม่ก็มือลั่นขีดเส้นสายไม่เป็นภาษา แน่นอนคุณต้องการเอามันออก คุณเลือกที่จะขีดฆ่าด้วยปากกาแท่งเดิม ลบมันออกด้วย ลิควิด เปเปอร์ แต่ยังหลงเหลือสีขาวต่างเฉดปกปิดอยู่ หรือเลือกที่ฉีกกระดาษแผ่นนั้นทิ้งไปซะ แล้วเริ่มเขียนบนกระดาษแผ่นใหม่

ถ้ารอยหมึกที่คุณไม่ต้องการ คือ การแตกสลายหรือความเจ็บปวดของชีวิตในอดีตที่ผ่านมา ข่าวร้าย…หนังสือเล่มนี้จะไม่มีวิธีการรับมือ ไม่มีทางออก ไม่มีการแก้ไขหรือแม้แต่การก้าวข้าม หากแต่จะอนุญาตให้คุณได้ “รู้สึก” และเข้าใจกับรอย ๆ นั้นในความหมายใหม่ได้ลึกซึ้งมากขึ้น

เหตุผลของการหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่านจะอยู่ในย่อหน้าสุดท้าย
ฉันหวังว่าคุณจะอ่านถึงตรงนั้น

Hello! Stranger

“…ผมออกมาอยู่ข้างนอกนานแล้ว แต่เธอกลับผูกเน็กไทจนเสร็จ และสิ่งที่เหลืออยู่ก็มีเพียงความอับอาย ผมอายที่มีแต่ความอับอาย

ผมใช้ความพยายามมากแค่ไหนที่จะหลอกตัวเองและหลอกเคียวโกะ
ต้องพูดอย่างนี้… ผมไม่ได้สูญเสียแค่งาน
ความสูญเสียที่ใหญ่หลวงที่สุดคือความเคารพในตัวเอง…”

“ห้องของผมเหมือนกับถ้ำ ผมโตขึ้นที่นี่ สูญเสียความเดียงสาก็ที่นี่
ผมคิดว่าการโตขึ้นถือเป็นความสูญเสียอันใหญ่หลวง
เราคิดว่าเราชนะ แต่เอาเข้าจริงเรากลับพ่ายแพ้และเสียตัวตนของเราไป…
….ผมไม่อยากเป็นผู้ชายคนที่นึกว่าตัวเองเป็นฝ่ายชนะ
ไม่อยากเอาตัวเองยัดลงไปในเสื้อสูทตัวไหน
ไม่อยากกลายเป็นพ่อที่บอกลูกชายว่า…แกต้องทำงาน”

ตอนกลางวันของวันธรรมดา ณ สวนสาธารณะ ความเศร้าพาเขาทั้งคู่มาพบกัน หนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างชายสองคน คนหนึ่งวัยห้าสิบที่ชื่อว่า “โอฮาระ เท็ทสุ” ตกงานมาพักใหญ่ ๆ แต่ไม่กล้าบอกความจริงกับภรรยา และอีกคนหนึ่ง “ทากุชิ ฮิโระ” ชายหนุ่มวัยยี่สิบต้น ๆ ป่วยเป็นโรคฮิกิโกะโมริ หรือการปฏิเสธการออกไปจากบ้านพ่อแม่ ลดการพูดคุยติดต่อกับครอบครัว ขังตัวเองอยู่ในห้องมานาน 2 ปี จากคนแปลกหน้าที่นั่งกันอยู่คนละฝั่ง ความคุ้นเคยอันเล็กน้อยก่อร่างเป็นความสัมพันธ์อันน้อยนิด ทำให้ทั้งคู่ได้รู้จักกัน แชร์บาดแผลของแต่ละคนในอดีต


ทำไมฮิโระถึงขังตัวเองในห้องถึงสองปี ?
ทำไมเท็ทสุตกงาน แต่ไม่กล้าบอกความจริงกับภรรยา ?

พื้นที่สาธารณะกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยมากกว่าในครอบครัวไปเสียแล้ว บ่อยครั้งเรากล้าจะที่พรั่งพรูความล้มเหลว ความเจ็บปวด ความลับ ให้กับคนแปลกหน้า อาจเพราะเราไม่มีความคาดหวัง

เช่น เมื่อเราไปพบนักจิตบำบัด เราพูดแง่มุมในชีวิตทั้งดีและไม่ดีได้อย่างสบายใจ เราให้เขารู้เฉพาะเรื่องที่เราอยากให้รู้เท่านั้น รู้จักแค่นั้น ตรงนั้น ไม่บวกรวมต้นทุน มีความเสี่ยงน้อยที่จะโดนตัดสินมากกว่าพูดกับคนใกล้ตัว

อีกทั้ง ความเป็นสวนสาธารณะก็อนุญาตให้เราเป็นใครก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น ครอบครัวฉัน ถ้าฉันอยู่ที่บ้าน ฉันจะเป็นน้ำ น้ำลูกของพ่อและแม่ “ความคาดหวัง” จะถูกแปะอยู่กลางหน้าผากโดยอัตโนมัติ กำแพงในใจจะเริ่มก่อตัวสูงขึ้น ฉันมักจะเลือกพูดในสิ่งที่พ่อแม่อยากได้ยินมากกว่า บางเรื่องเป็นสิ่งต้องห้ามที่จะพูด ฉันก็จะหลีกเลี่ยง ในขณะเดียวกันถ้าฉันไปเดินเล่นในสวนสาธารณะ แชร์เรื่องราวให้กับคุณลุงสักคนที่มาวิ่งวันนี้ว่า ฉันตกงาน หรืออาจจะเป็นลูสเซอร์ที่สังคมไม่ยอมรับ สำหรับฉันมันเป็นเรื่องง่ายกว่าสำหรับการพูดเรื่องเหล่านี้กับคนแปลกหน้า เท็ทสุกับฮิโระก็ไม่มีสถานะเช่นกันเมื่ออยู่ในสวนสาธารณะ เท็ทสุถอดความเป็นสามีที่เปอร์เฟ็กออกไปในวันที่เขาตกงาน ส่วนฮิโระในสายตาพ่อแม่คือเด็กที่ไม่เอาไหนก็กลายเป็นเด็กธรรมดา ที่สำคัญทั้งคู่ได้กลับไปเป็นตัวเอง

ฟังอย่างไม่ตัดสิน ฟังอย่างเปิดใจ

หัวใจสำคัญเลยคือการ “ฟัง” (ไฮไลต์ด้วยปากกาสีสะท้อนแสง)

บาดแผลของเท็ทสุและฮิโระต่างกัน แต่จุดร่วมคือเขาทั้งสองเป็น “ผู้ฟังที่ดี” นี่อาจเป็นจุดที่ทำให้เขาปลดล็อกบาดแผลในชีวิตที่แม้แต่คนใกล้ตัวก็ยังไม่ได้รับรู้ หลายครั้งเราไม่ได้ต้องการคำการแนะนำที่ดีหรือแนวทางแก้ไขที่สวยหรู แต่เราอยากให้คนใกล้ตัว “ฟัง” ใช่ค่ะ แค่ได้ฟัง ฟังอย่างไม่ตัดสิน ฟังอย่างเปิดใจกว้าง โดยเฉพาะจากครอบครัว เพื่อนสนิท หรือคนรัก

การได้แชร์และการเป็นผู้ฟังของทั้งเท็ทสุและฮิโระ กลายเป็นจุดคลี่คลายอดีตอันเจ็บปวดในชีวิตของเขาทั้งคู่ มันนำไปสู่การสลายความประนีประนอม เพื่อได้เจอความจริง ความจริงที่ไม่ใช่ความคิด ความจริงที่เป็นความรู้สึกจริงแท้ข้างใน

ความจริงกับคนใกล้ตัวมันยาก

อย่างไรก็ตาม หากจะต้องแชร์อะไรสักอย่างกับคนใกล้ตัว เราจะเจอความกลัวในนั้น จะโดนตัดสินไหมนะ จะโดนว่าไหมนะการแชร์สำหรับบางคนในบางครอบครัวก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเสียทีเดียว ทว่าหน้าต่างบานแรกที่ควรจะถูกเปิดออกก่อน คือ การโอบกอดความเว้าแหว่งของตัวเอง รู้สึกกับมัน….ทุกข์ เสียใจ ผิดหวัง ล้มเหลว ยอมรับทุกบาดแผลในชีวิตที่เกิดขึ้น สุดท้าย…ปล่อยมันไป

คำพูดนี้เป็นคำพูดของครูสอนเปียโนของเท็ทสุ ซึ่งก็ปรากฏอยู่หลังปกหนังสือ “ผมเรียกเขาว่าเน็กไท”

ถ้ามีอะไรเพียงอย่างเดียวที่ฉันจะสอน ฉันจะบอกเธอว่าอย่าอาย อย่าอายที่จะเป็นคนที่มีความรู้สึก ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม

จงรู้สึกมันอย่างลึกซึ้งและด้วยใจที่อ่อนโยน”
“จงรู้สึกมันอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปอีก
ด้วยใจที่อ่อนโยนมากขึ้นไปอีก
รู้สึกมันเพื่อตัวเธอเอง รู้สึกมันเพื่อคนอื่น
แล้วจากนั้น…จงปล่อยมันไป”

2 ท่อนข้างบนนี้เอง ทำให้ฉันเลือกหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่าน
ฉันอ่านวนไปวนมาอยู่หลายรอบด้วยความรู้สึกที่อิ่มเอมใจ สงสัยใคร่รู้สิ่งที่อยู่ในเล่ม เมื่อได้อ่านจบถึงเข้าใจว่า…

ภายใต้สังคมทุนนิยมที่คาดหวังให้มนุษย์ตัวกระจ้อยร่อยอย่างเรา ต้องกระตือรือร้นดิ้นรนเอาชีวิตรอด คิดว่าพอดีแต่ไม่เคยดีพอ

เมื่อถึงวันที่เราสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจไป… เราจะรู้สึก… ยอมรับ…และต่อสู้มันอย่างไร
จะเกิดอะไรขึ้นถ้าสังคมไม่ต้องการเราในสักวัน
จะกล้าหาญพอหรือไม่ ที่จะเปลือยเปล่า (surrender)
เพื่อเชื่อมต่อสิ่งที่เป็นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์
เชื่อมต่อกับครอบครัว หรือแม้กระทั่งตัวเอง

ล้มเหลว แตกหัก เจ็บปวด แต่มันคุ้มค่าที่จะมีชีวิตอยู่

I called him Necktie (ผมเรียกเขาว่าเนกไท)
ผู้เขียน Milena Michiko Flasar (มิเลนา มิชิโกะ ฟลาชาร์)
ผู้แปล สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ขึ้นไว้บนเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี