ในความเคลื่อนไหว
ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ
ภาพเหตุการณ์ที่มีม็อบบุกเข้าไปในรัฐสภาของสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 6 มกราคม ที่ผ่านมา พร้อมกับอาวุธครบมือ มีการทำลายข้าวของ บุกที่ทำงานของสมาชิกรัฐสภา และปะทะกับตำรวจจนมีผู้เสียชีวิต 5 ราย สร้างความแปลกใจ และความตระหนกต่อผู้สังเกตการณ์ทั้งในประเทศสหรัฐฯ และทั่วโลก เพราะนับเป็นครั้งแรกที่มีการใช้ความรุนแรงโดยกลุ่มมวลชนเพื่อปฏิเสธผลการเลือกตั้ง และขัดขวางกระบวนการเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างสันติจากประธานาธิบดีคนเก่าไปสู่คนใหม่ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาอย่างยาวนานในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยของอเมริกา
แน่นอนว่ามีหลายประเด็นที่ถูกตั้งคำถามจากเหตุการณ์นี้ ไม่ว่าจะเป็นความล่าช้าและไม่มีประสิทธิภาพของตำรวจในการรับมือกับเหตุการณ์ก่อการจลาจล การปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมในลักษณะ 2 มาตรฐานเมื่อเปรียบเทียบระหว่างวิธีที่ตำรวจรับมือกับผู้ชุมนุมขบวนการ Black Lives Matter และกลุ่มผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ รวมถึงประเด็นสำคัญคือ ความรับผิดชอบของทรัมป์และแกนนำพรรครีพับลิกันจำนวนหนึ่งที่มีบทบาทในการยั่วยุและปลุกปั่นผู้ชุมนุมให้เชื่อว่ามีการโกงการเลือกตั้ง และปฏิเสธความชอบธรรมในชัยชนะของโจ ไบเดน ซึ่งการถามหาความรับผิดชอบของทรัมป์โดยพรรคเดโมแครตนำไปสู่การดำเนินเรื่องถอดถอนเขา (impeachment) ทำให้ทรัมป์กลายเป็นประธานาธิบดีคนแรกในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ที่ถูกยื่นถอดถอนซ้ำถึง 2 ครั้ง
ทรัมป์คงไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบทางการเมือง และเขาคงต้องจ่ายราคาให้กับความพยายามรักษาอำนาจของตนเองไว้ โดยทำลายหลักรัฐธรรมนูญและกระบวนการประชาธิปไตยของประเทศ
แต่สิ่งที่น่าสนใจมากกว่านั้นคือ การทำความเข้าใจกลุ่มคนที่รวมตัวกันเข้าไปบุกรัฐสภาในวันนั้น คนกลุ่มนี้ถูกเรียกรวม ๆ ว่าเป็นผู้สนับสนุนทรัมป์ แต่แท้จริงแล้ว พวกเขาคือใครบ้าง ? มีที่มาจากไหน ? มีอุดมการณ์ความคิดอย่างไร ?
ขบวนการขวาสุดโต่งของทรัมป์ และชาตินิยมของคนขาว
นักข่าวและนักสารคดีเรียกกลุ่มคนที่ไปรวมตัวกันและบุกเข้าไปในรัฐสภาในวันที่ 6 มกราคมว่า พวกเขาคือเครือข่ายหลวมของกลุ่มขวาจัด (broad coalition movement of the far-right) ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มย่อย ๆ หลายกลุ่มด้วยกัน กลุ่มเหล่านี้แน่นอนว่าสนับสนุนทรัมป์ในการเลือกตั้งปี 2016 และมองว่า ทรัมป์คือฮีโร่ของพวกเขา และดังนั้นจึงไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งของทรัมป์ กระทั่งเชื่ออย่างจริงจังว่าฝ่ายเดโมแครตนั้น “ขโมยการเลือกตั้ง” ครั้งนี้
กลุ่มขวาจัดเหล่านี้ เมื่อเจาะลึกลงไปในแต่ละกลุ่ม ไม่ได้มีอุดมการณ์เหมือนกันไปเสียทั้งหมด เพราะแต่ละกลุ่มย่อยต่างมีประวัติการก่อตั้ง แนวคิดชี้นำ และฐานสมาชิกเป็นของตัวเอง โดยแนวความคิดมีหลากหลายกันไป ไล่ตั้งแต่กลุ่มที่ต่อต้านคนดำและคนผิวสีโดยเชิดชูความเป็นใหญ่ของคนขาว (white supremacist) กลุ่มที่รังเกียจและต่อต้านผู้อพยพ กลุ่มที่เชิดชูแนวคิดชายเป็นใหญ่และต่อต้านขบวนการ LGBTQ กลุ่มนีโอนาซีที่ต่อต้านคนยิวและคนกลุ่มน้อยอื่น ๆ และต้องการให้สังคมอเมริกันปลอดจากอิทธิพลของชาวยิวและคนต่างชาติทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรม (มีหลายกลุ่ม อาทิ กลุ่ม Rise Above Movement กลุ่ม Atomwaffen)
กลุ่มคริสเตียนอนุรักษ์นิยมที่ต่อต้านมุสลิม กลุ่มที่สนับสนุนสิทธิในการถือครองอาวุธ กลุ่ม Neo-Confederate ที่เชื่อว่าสงครามกลางเมืองระหว่างรัฐฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้ที่นำไปสู่การเลิกทาสและความพ่ายแพ้ของรัฐฝ่ายใต้นั้นยังไม่จบสิ้น และต้องการให้รัฐทางใต้แยกตัวออกมา กลุ่มนี้ยังเชื่อในระบบทาสที่คนดำต้องเป็นทรัพย์สมบัติของคนขาว (เราได้เห็นภาพคนโบกธง Confederation ซึ่งเป็นธงของมลรัฐฝ่ายใต้เมื่อบุกเข้าไปในรัฐสภา) รวมไปถึงกลุ่มอนาธิปไตยที่ต่อต้านรัฐบาลกลางและการเก็บภาษีในอัตราสูง
กลุ่มขวาจัดสุดโต่งเหล่านี้ไม่ใช่ทุกกลุ่มเพิ่งมาก่อตั้งในยุคที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี หลายกลุ่มดำรงอยู่มาก่อนแล้วแต่ไม่มีชื่อเสียงและขาดฐานสนับสนุน เข้าข่ายเป็นกลุ่มชายขอบ (fringe group) ที่สื่อและสังคมกระแสหลักจะไม่ได้ให้ความสนใจ เพราะมีแนวคิดที่ขวาตกขอบ บางกลุ่มเพิ่งมาก่อตั้งในช่วงที่ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งขึ้นมาถือครองอำนาจรัฐ
งานวิจัยหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่า ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการเข้าสู่อำนาจทำเนียบขาวของทรัมป์ที่มาพร้อมกับโวหารและนโยบายที่เชิดชูคนผิวขาวและปลุกกระแสชาตินิยมนั้นได้ปลุกพลังฝ่ายขวาสุดโต่งขึ้นมาอย่างคึกคักเข้มแข็ง เพราะกลุ่มเหล่านี้มองทรัมป์เป็นผู้นำในอุดมคติของพวกเขา ทั้งเข้าใจทุกข์ร้อนของพวกเขาและมีค่านิยมร่วมกันกับชุดคุณค่าที่พวกเขายึดถือ เป็นผู้นำที่ทำให้พวกเขามีความหวัง สมาชิกบางคนของกลุ่มที่เชิดชูคนผิวขาวว่ามีฐานะสูงส่งกว่าคนกลุ่มอื่น ๆ ถึงกับประกาศว่า “To make American great again is to make American White again”
ดังนั้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016 เป็นต้นมา เราจึงเห็นการเติบโตของกลุ่มเหล่านี้ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ และมีการสร้างเครือข่ายหลวม ๆ เชื่อมโยงต่อกัน จากที่มีสมาชิกเพียงหลักสิบหรือหลักร้อย ตอนนี้บางกลุ่มมีสมาชิกเป็นเรือนพัน และเมื่อเรียกระดมการเคลื่อนไหวก็สามารถดึงคนมาร่วมประท้วงได้เป็นหมื่น ๆ ทีเดียว
ในแง่ยุทธวิธีในการเคลื่อนไหวของกลุ่มขวาจัด ก็มีตั้งแต่การเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์และออฟไลน์ การเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์นั้นแรกเริ่มเดิมทีทำผ่านแพลตฟอร์มหลักอย่าง Facebook, YouTube, Reddit, Twitter เพื่อเผยแพร่ชุดความคิด แผนการ และทฤษฎีสมคบคิดต่าง ๆ (conspiracy theory) แต่ต่อมาแพลตฟอร์มหลัก ๆ เหล่านี้เริ่มปิดและบล็อคบัญชีผู้ใช้ของกลุ่มขวาจัดเหล่านี้ (จนทำให้กลุ่มเหล่านี้ต้องหลบลงใต้ดินและใช้แพลตฟอร์มลับอื่น ๆ ในการสื่อสารระหว่างกัน) เนื่องจากพบว่า มีการเผยแพร่ความเกลียดชังต่อกลุ่มบุคคลอื่น มีการยุยงให้ใช้ความรุนแรงกับคนที่ตนเองไม่เห็นด้วย และเผยแพร่ทฤษฎีสมคบคิดที่เต็มไปด้วยข้อมูลเท็จที่ปราศจากหลักฐานรองรับ
กลุ่มหนึ่งที่มีบทบาทมากในช่วงหลังคือ กลุ่มที่รู้จักกันในนาม QAnon ซึ่งรวมคนที่เชื่อถือในทฤษฎีประหลาดอันหนึ่งที่ว่าอเมริกาถูกปกครองโดยกลุ่มชนชั้นนำนักการเมือง นักธุรกิจ ดาราที่เป็นพวกบูชาซาตานและมีความปริตรทางเพศ (ครอบครัวคลินตันถูกระบุว่าเป็นหนึ่งในนั้น) ในขณะที่ทรัมป์เป็นคนที่จะเข้ามาชำระล้างการเมืองอเมริกาให้ใสสะอาดและกำจัดพวกนิยมซาตานเหล่านี้ให้หมดสิ้นไป พวกชนชั้นนำเลยพยายามจะกำจัดทรัมป์ให้พ้นจากอำนาจไป (อาทิ ยื่นถอดถอน หรือโกงการเลือกตั้ง) นอกจากนั้นยังมีทฤษฎีปลีกย่อยอีกมากที่แตกแขนงออกไป ทั้งนี้ ไม่น่าเชื่อว่าทฤษฎีที่ดูพิลึกพิลั่นเกินกว่าที่จะเชื่อถือเอาจริงเอาจังได้ กลับมีคนเชื่อมากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงขั้นหลายแสนคนตามผลสำรวจในสหรัฐ
นอกจากนั้นผลสำรวจล่าสุดในเดือนกันยายน 2020 ยังพบว่า คนอเมริกันเกินครึ่งเคยได้ยินเกี่ยวกับทฤษฎีนี้ และ 1 ใน 5 ตอบรับทฤษฎีในทางบวก กระทั่งมีผู้สมัครรีพับลิกันคนหนึ่งที่เป็นสมาชิกคนสำคัญของขบวนการ QAnon ได้รับเลือกตั้งเข้าสู่สภาฯ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2020 ที่ผ่านมา ในวันที่บุกรัฐสภานั้น สมาชิกของกลุ่ม QAnon จำนวนมากปรากฏตัวและมีบทบาทสำคัญในการก่อความวุ่นวาย (ชายที่เปลือยกายท่อนบน สวมเขาสัตว์ และเพ้นท์หน้า เป็นแกนนำสำคัญของขบวนการนี้)
นอกจากเคลื่อนไหวคึกคักในโลกออนไลน์ กลุ่มขวาจัดยังใช้วิธีการจัดประท้วงบนท้องถนน เพื่อสนับสนุนทรัมป์ และเผชิญหน้ากับขบวนการฝ่ายซ้ายและขบวนการ Black Lives Matter ดังเหตุการณ์อื้อฉาวที่เมือง Chalottesville ในวันที่ 12 สิงหาคม 2017 ที่กลุ่มนีโอนาซี, Neo-Confederate และกลุ่มอื่น ๆ เข้าประจันหน้ากับกลุ่ม Black Lives Matter เพื่อประท้วงการรื้อทำลายอนุสาวรีย์ของนายพล Robert E. Lee ซึ่งเป็นผู้นำกองทัพของมลรัฐฝ่ายใต้ จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย อีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นที่รู้จักมากขึ้นในระยะหลังในการใช้ความรุนแรงบนท้องถนน คือ กลุ่ม Proud Boy ซึ่งก่อตั้งในปี 2016 โดยนักกิจกรรมขวาจัดที่ชื่อ Gavin McInnes ซึ่งเป็นกลุ่มที่เชิดชูแนวคิดชายเป็นใหญ่ ต่อต้านผู้อพยพ ต่อต้านพหุนิยมทางวัฒนธรรม และสนับสนุนการใช้ความรุนแรง ซึ่งกลุ่มนี้ปรากฏตัวอย่างเปิดเผยในการเดินขบวนสนับสนุนทรัมป์ในช่วงเลือกตั้ง และปะทะรุนแรงกับกลุ่ม Black Lives Matter หลายครั้ง กระทั่งถูกพูดถึงโดยโดนัลด์ ทรัมป์ในการดีเบตเลือกตั้ง สมาชิกของกลุ่มนี้มีบทบาทสำคัญในการบุกรัฐสภาเช่นกัน
นักข่าวที่ติดตามการเคลื่อนไหวของกลุ่มขวาจัดมาเป็นเวลาหลายปีพบว่า กลุ่มขวาจัดเคลื่อนไหวโดยใช้ยุทธวิธีรุนแรงอย่างเปิดเผยมากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ทรัมป์ขึ้นสู่อำนาจ ทั้งการทำร้ายร่างกาย เผาศาสนสถานของกลุ่มศาสนิกอื่น ๆ ทำลายอาคาร ทรัพย์สิน สังหารคนที่พวกเขามองว่า เป็นภัยคุกคามของคนผิวขาว รายงานบางชิ้นระบุว่า เจ้าหน้าที่รัฐบางคนในกองทัพและตำรวจเข้าร่วมเป็นสมาชิกขบวนการเหล่านี้ด้วย ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มีการยกระดับการใช้ความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ และนำไปสู่การตั้งคำถามว่า เจ้าหน้าที่รัฐบางคนแอบสนับสนุนหรือมีความเห็นอกเห็นใจกลุ่มขวาจัดเหล่านี้หรือไม่
ณ ขณะนี้ สังคมอเมริกาตกอยู่ในภาวะแตกแยกแบ่งขั้วร้าวลึก (deep polarization) อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แน่นอนว่าการเติบโตของกลุ่มขวาสุดโต่งนี้ได้รับการปลุกพลังจากความเปลี่ยนแปลงของการเมืองระดับชาติ เมื่อผู้นำฝ่ายขวาแบบทรัมป์เข้ายึดกุมทำเนียบขาว
แต่อีกส่วนหนึ่ง การเติบโตของฝ่ายขวานี้เป็นปฏิกิริยาโต้กลับต่อการเติบโตขึ้นของขบวนการฝ่ายซ้าย ขบวนการเรียกร้องสิทธิของคนผิวดำ และขบวนการสตรีและ LGBTQ ในสังคมอเมริกาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รวมถึงเป็นปฏิกิริยาโต้กลับต่อการครองอำนาจ 2 สมัยของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ลึกไปกว่านั้น การเติบโตของขบวนการฝ่ายขวาเป็นผลผลิตของความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมในอเมริกาในช่วง 1 ทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรที่สัดส่วนคนกลุ่มน้อยที่ไม่ใช่คนขาวเพิ่มสูงขึ้นจนมีพลังในการกำหนดการเลือกตั้ง ประเด็นผู้อพยพ ความเหลื่อมล้ำที่ถ่างกว้าง และผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งประวัติศาสตร์ในปี ค.ศ. 2008 จนนำมาสู่ความขัดแย้งทางชนชั้นและเชื้อชาติที่ร้าวลึกมากขึ้นเรื่อยๆ
อันตรายของขบวนการขวาสุดโต่ง คือ การเชื่อในลัทธิชาตินิยมแบบคับแคบที่ผูกติดกับเชื้อชาติและสีผิวของคนขาว จึงไม่ยอมรับความเสมอภาคเท่าเทียมของคนกลุ่มอื่น นอกจากนั้นยังเชื่อในทฤษฎีสมคบคิดที่ปราศจากหลักฐาน (จึงยังเชื่อว่าทรัมป์เป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้ง เป็นต้น) และที่สำคัญคือ ขับเคลื่อนขบวนการด้วยความรุนแรงและความเกลียดชัง โดยมุ่งเป้าโจมตีชีวิต ทรัพย์สิน สถาบันทางการเมือง และรัฐบาลที่ตนไม่ยอมรับ
ขบวนการขวาสุดโต่งจึงไม่ปฏิเสธการใช้อาวุธเพื่อก่อการจลาจลหรือทำสงครามภายในประเทศกับคนในชาติเดียวกัน บางกลุ่มกระทั่งกล่าวว่า พวกเขากำลังสู้ในสงครามกลางเมืองครั้งใหม่เพื่อชาติที่คนผิวขาวมีอำนาจควบคุมอีกครั้ง ด้วยเหตุนี้ ขบวนการฝ่ายขวาสุดโต่งจึงกลายเป็นภัยคุกคามสำคัญต่อหลักนิติรัฐและประชาธิปไตยในสหรัฐฯ แม้ว่าทรัมป์จะลงจากอำนาจไปแล้ว แต่พลังทางการเมืองของฝ่ายขวาสุดโต่งที่ถูกปลุกขึ้นมาแล้วจะยังไม่หายไปไหนในอนาคตอันใกล้ และกลายเป็นโจทย์สำคัญของสังคมการเมืองอเมริกาในยุคสมัยแห่งความแตกแยก
อ้างอิง
Kathleen Belew, Bring the War Home: The White Power Movement and Paramilitary America
(Harvard University Press, 2018).
“Documenting Hate: New American Nazis,” Frontline, November 20, 2018
“Documenting Hate: Charlottesville,” Frontline, August 7, 2018
A.C. Thompson and Ford Fischer “Members of Several Well-Known Hate Groups Identified at Capitol Riot,” Frontline, January 9, 2021.