In Praise of Ageing - เรา “แก่” ตั้งแต่นาทีแรกที่เกิด - Decode
Reading Time: 2 minutes

“ลึกที่สุดแล้ว  เรา ‘แก่’ ตั้งแต่นาทีแรกที่เกิด”

ประโยคนี้มันใช่ และจริงที่สุด
เพราะมันเป็นการยอมรับว่าเราต่างเดินผ่านวัน – เวลา
ต่างสะสมทุกวินาที นับจากจุดที่เราเกิด จนถึงจุดๆ นี้ ที่แน่นอนว่าแต่ละคนถือกระปุกออมเวลามาไม่เท่ากัน แต่เราต่างก็ “แก่” ลงไปทุกเวลา-นาทีเหมือนๆ กัน

ในสังคมที่เราอยู่นั้นมีอคติกับ “คนแก่” และ “ความแก่”
คาร์เมล ชาเลฟ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้บอกเราอย่างเรียลแท้

วัฒนธรรมบริโภคที่ต่อต้านการแก่
ทำให้การแก่เป็นสิ่งไม่พึงประสงค์และเป็นมลทินร้าย

ประสบการณ์ที่เธอเล่า หลายคนคงจะเคยเป็น
นั่นคือความรู้สึกยากเย็นที่จะรับรู้ถึงความแก่ชราของตัวเอง
ที่ไม่ว่าจะส่องกระจกกี่ครั้ง เราก็ไม่เห็นถึงความแก่
“ความแก่อยู่ที่อื่น มิได้อยู่ตรงนี้” เป็นมายาคติที่อายุภายในบดบังสำนึกถึงตัวเรา

แม้กระจกบอกความจริงไม่ได้
แต่ผู้คนรอบข้างจะบอกเราเอง

เมื่อเราปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
คนเหล่านั้นจะทำให้เราได้ข้อสรุปว่า พวกเขามองว่าเราแก่
แม้ว่าเราจะไม่เชื่อและคิดว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะอายุภายในของเราหยุดมาตั้งแต่ตอน 20 กว่าๆ แล้ว ฮ่าฮ่าฮ่า

คาร์เมล ชาเลฟ เป็นชาวอิสราเอล จบปริญญาเอกจาก Yale Law School
เป็นนักวิชาการที่ทำงานด้านสิทธิสตรี สิทธิมนุษยชน
เธอเป็นคนรุ่นที่ได้พบกับเสรีภาพและเป็นนักปฏิวัติมาก่อนในวัยหนุ่มสาว

การใคร่ครวญถึงความชราผ่านวัน-เวลาและประสบการณ์จริงของเธอจึงทำให้เราหยุดชะงักและมองทะลุ “ความแก่” ภายใต้โลกของสังคมบริโภคอย่างตั้งคำถามกลับ

อคติต่อวัยชราทำให้เราอาจต้องออกจากงานเพียงเพราะฉลองปีเกิดที่เพิ่มขึ้น ทั้งๆ ที่เราต้องการหรือจำเป็นต้องทำงานต่อไปเพื่อการเลี้ยงชีพ

การตัดสินผู้คนที่อายุแทนที่จะตัดสินด้วยความสามารถก็เป็นการกีดกันพอๆ กับการตัดสินด้วยเชื้อชาติ หรือเพศสภาพ

ขณะที่ผลิตภัณฑ์ต่อต้านความแก่กลายเป็นธุรกิจกำไรงามเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้คงความเป็นหนุ่มสาวตลอดไป

เราเชื่อตามสังคมที่เราอยู่ เราจึงต่อต้านกระบวนการแก่
แต่การหนีจากประสบการณ์จริงแท้ ก็มีแต่จะทำให้สถานการณ์เลวลง

เราได้เห็นการแพทย์ราคาแพง ที่แม้แทรกแซงแต่ก็ไร้ผลต่อหน้าความตาย
เราเข้าสู่โลกแนวคิดวิทยาศาสตร์ ใช้ภาษาละตินวินิจฉัย ความรู้ขึ้นอยู่กับสถิติที่คนทั่วไปถอดรหัสได้ยาก
เจตนาดีแต่ก็มีมิติของการควบคุม รุกราน บังคับ

กิจวัตรประจำวันของเราถูกขัดด้วยการนัดกับแพทย์
จนบางคน การแพทย์ได้เข้ามาเป็นศูนย์กลางชีวิตในบั้นปลาย

สำหรับคาร์เมล ชาเลฟ เธอมองว่าการแพทย์ตะวันตกได้ให้เส้นทางใหม่ที่เจ็บปวด
หลายคนเมื่อชรา จากที่สุขภาพค่อนข้างดี พอทำหน้าที่ไปสักระยะ กลับถูกยืดออกไป ต้องทนความเจ็บปวด อ่อนแอ และหมดความสามารถ

เธอว่าเทคโนโลยีไม่ควรมีอำนาจสั่งให้จัดการกับวิถีที่เราจะไปจากโลก
วีรกรรมการแพทย์หวังช่วยชีวิตโดยไม่ตั้งคำถาม
การยืดชีวิตอาจได้รับคำชม แต่เราเป็นนายเหนือเทคโนโลยี
ซึ่งเมื่อถึงเวลาและหนีไม่พ้น ก็ควรปลดปล่อยชีวิตด้วยความอ่อนโยนกรุณา

อุดมคติของหลายคนในเวลานี้ จึงคืออายุยืน สุขภาพดีและเมื่อถึงเวลาก็ขอให้ตายอย่างไม่เจ็บปวดทรมาน – หัวใจวายขณะทำงานอยู่หน้าจอคอมพ์ หรือนอนหลับรับความตายไปอย่างสงบ ซึ่งก็ได้ทั้งคู่

นี่คือสิ่งสามัญที่เรามักได้ยินเพื่อน – พี่ – น้องรอบข้างพูดกันบ่อย ๆ ในระยะหลัง

คาร์เมล ชาเลฟบอกว่าให้เราเกษียนจากความฟุ้งเฟ้อของโลกได้อย่างสง่างาม ปล่อยให้ความเป็นมนุษย์ได้ไหลเวียนอย่างเป็นอิสระในตัวเรา

ให้คำว่า “สิ้นชีวิต” ไม่เป็นนามแฝงทางการแพทย์ แต่เป็นขั้นตอนหนึ่งของชีวิตเราที่อุดมมั่งคั่ง

นอกจาก “ความตาย”
ความเหงาและการเป็นอากาศธาตุก็ร้ายแรงพอ ๆ กัน

ปรากฏการณ์จากสัมพันธภาพกับเครือญาติที่เปลี่ยนแปลงไปในศตวรรษที่ผ่านมา

ทำให้หลายคนทุกข์จากความเหงา

พอเราอายุมากขึ้น เรามีแนวโน้มเข้าสังคมน้อยลงและผู้อื่นก็อยากจะเป็นเพื่อนกับเราน้อยลง

แม้วันนี้ จะมีสื่อดิจิทัลและเครือข่ายสังคมออนไลน์มากมายที่ทำให้เราพูดคุยติดต่อกับคนในอีกซีกโลกได้ตลอด แต่ก็ไม่สามารถทดแทนความอบอุ่นจากอ้อมกอด การสัมผัสทางกายหรือการได้อยู่ด้วยกัน แม้แต่กับสัตว์แลี้ยง – แมวที่มานอนเบียดเราหรือสุนัขที่มาคอยเฝ้าเรา เมื่อเราพบมนุษย์คนอื่น ๆ อย่างซึ่งหน้า เราจะได้รับพลังที่เราต้องการมากที่สุด

พอสูงวัย เรากลายเป็นกำพร้า ความตายของพ่อแม่เป็นเรื่องใหญ่
บางสิ่งลึกๆ ได้เปลี่ยนไป จู่ ๆ เรารู้สึกว่าเราอยู่คนเดียวในโลก หลุดลอยไปจากที่ที่เคยพักพิง คนรู้จักหายไปจากชีวิตเรา กำลังเราถดถอย เคลื่อนไหวช้าลง เราอาจปลีกตัวโดดเดี่ยว ถ้าเราอยู่คนเดียว วันคืนอาจผ่านไปโดยไม่มีใครสังเกตเห็นเรา

และบางครั้ง ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้อยู่คนเดียว เราก็อาจรู้สึกเปล่าเปลี่ยว เป็นประสบการณ์ความเหงาขณะอยู่ท่ามกลางผู้อื่น แม้อาจยืนอยู่กับคนที่รู้จักมานานแต่ก็รู้สึกเหมือนอยู่ห่างกันหลายปีแสง

คาร์เมล ชาเลฟว่าความเหงาเกิดจากการที่เรามองตัวเองเปรียบเทียบกับผู้อื่น แยกตัวเราจากมนุษย์อื่นๆ ในโลก ซึ่งได้แรงเสริมจากแนวคิดปัจเจกยุคใหม่ ด้านหนึ่งมีอิสระ มีอธิปไตยในพื้นที่ของตนเอง แต่การคิดถึงตัวตนเช่นนี้ก็อาจเป็นฐานให้แก่เศรษฐกิจบริโภคที่ให้ค่าเราในฐานะอำนาจซื้อ กระตุ้นให้เราสนองอารมณ์และความอยากของตน

เธอบอกว่าการเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเชิดชูปัจเจก ทำให้เธอหมดเวลาไปกับการหมกมุ่นอยู่กับตนเอง รู้สึกว่าตัวเป็นศูนย์กลางของโลก คนอื่นๆ อยู่นอกโลกนี้ เธอคิดถึงแต่ตนเอง จนไม่เข้าใจข้อเท็จจริงที่ว่าคนอื่นก็รู้สึกเช่นนี้เหมือนกัน เช่นเราโกรธเพื่อนที่ไม่โทรหาเรามานานแล้ว โดยที่เราก็ลืมคิดว่าเราก็ไม่ได้โทรหาเขาเหมือนกัน

ในตอนท้ายๆ ของหลายๆ ตอนของหนังสือ
มักจะบอกให้เราลดความอหังการ
ลดการแบ่งแยกตัวเรา – เขา
เพราะแท้จริงแล้ว เราเชื่อมโยงกับผู้อื่น สิ่งอื่นตลอดเวลา

เราท่องไปตามลำพังในโลกที่เงื่อนไขและสถานการณ์เลื่อนไหลเปลี่ยนแปร เมื่อเราเปิดใจ เราจะเป็นอิสระที่จะเลือกเป็นมิตรหรือเป็นศัตรูกับความไม่น่ายินดีในชีวิตได้

อาจารย์สดใส ขันติวรพงศ์ ผู้แปลหนังสือ

เหมือนที่อาจารย์สดใส ขันติวรพงศ์ ผู้แปลหนังสือเล่มนี้บอกกับเราว่า การเปิดใจก็เหมือนกับการเปิดสถานี ถ้าเรานิ่งพอ  ไม่คิดถึงแต่ตัวเอง ก็จะสามารถสัมผัสสิ่งทิพย์ที่มีอยู่รอบตัว เหมือนกับที่ทุกอณูของพระเจ้ามีอยู่รอบตัว ปัญญาของพระเจ้ามีอยู่แล้ว 

อาจารย์สดใสบอกว่า ในวัยชราของอาจารย์คือการพบพานความอิสระในแบบที่ไม่มีจากวัยก่อน ๆ สามารถทำอะไรที่หลุดพ้นไปจากการตัดสินหรือกรอบของสังคม

เหมือนกับที่วันนี้ อาจารย์สามารถวาดรูปได้อย่างเสรีไม่ต้องคำนึงถึงนิยามหรือคำจำกัดความทางศิลปะในฐานะนักเรียนที่ได้คะแนนวิชานี้มาไม่สูงนักในวัยเด็ก

ตรงนี้ ก็อาจเหมือนกับที่คาร์เมล ชาเลฟบอกว่าวัยชราคือการก้าวไปข้างหน้า พ้นไปจากความทะเยอทะยานและการแก่งแย่งแข่งขันในวัยหนุ่มสาว พ้นไปจากนาฬิกาปลุกประจำวัน พ้นไปจากการงาน ตารางเวลาและวันขีดเส้นตาย พ้นไปจากการเป็นทาสของสิ่งที่จำเป็นต้องทำ

ชีวิตเรา – จากสเปิร์มตัวหนึ่งเจาะไข่เข้าไปได้ แบ่งเซลล์ สร้างตัวอ่อนในมดลูก จนคลอดออกมาเป็นทารก จากเด็กน้อย เป็นวัยรุ่น ผู้ใหญ่ แก่เฒ่า จนสุดท้ายสลายเลือดเนื้อ

การรู้ว่าเกิดมาต้องตาย ยิ่งให้รสชาติแก่ชีวิต
การรู้ว่าเราต้องจากโลกนี้ไป ทำให้ชีวิตมีสีสัน

หนังสือ “ขอบใจวัยชรา – In Praise of Ageing” จึงเป็นการใคร่ครวญ แต่ไม่คร่ำครวญต่อการเดินทางลงเขา

ข้อเท็จจริงที่ว่าเวลาของเราบนโลกเหลือไม่มาก
ไม่ช้าไม่นานเราจะต้องตาย จะทำให้เราอ่อนโยน มีเมตตา
เดินทางแสวงหาความหมายของตนด้วยความสดชื่นทุกขณะ

เปิดรับความอัศจรรย์ของชีวิต
เปิดรับความเปราะบาง

เมื่อเราเปิดรับชีวิต เราจะกลายเป็นเครื่องหมายคำถาม
เผชิญกับทุกขณะ อย่างไม่รู้ว่าจะพบสิ่งใด
อ่อนไหวไปกับความเบิกบาน สะท้านสะเทือนใจไปกับแง่มุมเล็กน้อยที่แสนจะธรรมดาแต่ว่ามีมนตร์วิเศษ

อาจารย์สดใส ขันติวรพงศ์ ผู้แปลหนังสือ

หลายช่วง หลายตอนของหนังสือบอกเราไว้อย่างนั้น
ทั้งหมดนี่น่าจะคือความหมายสำคัญ
ที่ไม่ว่าคุณหรือใคร อายุเท่าไหร่ก็สามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ในยามเผชิญกับความไม่ยินดีทั้งหลาย “แก่ – เหงา – เศร้า – คิดลบ -กลัว”

เพราะท้ายที่สุด มันก็ไม่ใช่แค่เรื่องของความแก่
แต่คือการรับมือกับความทุกข์ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง
ให้เราได้อยู่กับปัจจุบันอย่างเต็มเปี่ยม ไม่ปฏิเสธหรือพยายามทำให้มันสวยงาม
แม้ว่าจะมีบางขณะที่ชีวิตย่ำแย่ บางขณะเลิศล้ำ และบางขณะที่อาจไม่เป็นทั้งสองอย่าง

เช่นนี้ก็เพื่อให้เราอยู่กับวัยชราด้วยความสวัสดี ในกรณีที่เราแก่
และถ้าหากคุณยังไม่แก่ มันก็น่าจะหมายถึงการให้คุณได้อยู่กับทุกเสี้ยววินาทีของคุณด้วยความสวัสดีเช่นกัน

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ขึ้นไว้บนเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี