อย่าให้เกิด 6 ตุลา ภาค2 - Decode
Reading Time: < 1 minute

ในความเคลื่อนไหว

ประจักษ์ ก้องกีรติ

ปีนี้ครบรอบ 44 ปีเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 ซึ่งเป็นอาชญากรรมรัฐที่โหดร้ายรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ เมื่องรัฐระดมกำลังเจ้าห้นาที่จำนวนมากพร้อมกับอาวุธสงครามครบมือเข้าปราบปรามสังหารหมู่นักศึกษาและประชาชนที่ชุมนุมอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนทำให้มีคนบาดเจ็บ สูญหาย ถูกซ้อมทรมาน และเสียชีวิตจำนวนมาก พ่อแม่หลายคนไม่ได้เจอหน้าลูกของตนเองอีกเลยหลังจากเช้าวันนั้น กระทั่งไม่มีโอกาสได้ร่ำลา

44 ปีผ่านไป ความจริงกับความยุติธรรมยังไม่ปรากฏ การสังหารหมู่ 6 ตุลาฯ กลายเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลของสังคมไทย 

แม้ความจริงและความยุติธรรมยังไม่ปรากฏ แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนควรเห็นตรงกันคือ โศกนาฎกรรมแบบ 6 ตุลาฯ ไม่ควรเกิดขึ้นอีกแล้วในสังคมไทย ไม่ว่าประชาชนกลุ่มต่าง ๆ จะเห็นต่างกันอย่างไร หรือมีอุดมการณ์ที่ตรงข้ามกับรัฐเพียงใด ความรุนแรงไม่ใช่ทางออก รัฐและกลุ่มต่าง ๆ ไม่มีความชอบธรรมที่จะใช้ความรุนแรงกับคนที่คิดแตกต่าง

ความรุนแรงในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เกิดขึ้นโดยมีองค์ประกอบหลัก 3 ประการด้วยกันคือ หนึ่ง การปลุกระดมสร้างความเกลียดชังต่อนักศึกษา-ชาวนา-กรรมกรอย่างต่อเนื่อง โดยสื่อของรัฐ กองทัพ และสื่อฝ่ายขวาบางแห่ง สอง การระดมกลไกรัฐด้านความมั่นคงไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ โดยเฉพาะตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) มาปราบปรามนักศึกษา และสุดท้าย ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมาก และเป็นองค์ประกอบที่มีส่วนทำให้ความรุนแรงในเหตุการณ์ 6 ตุลามีความทารุณโหดร้ายมากกว่าเหตุการณ์อื่น ๆ ในประวัติศาสตร์ไทย คือการที่รัฐจัดตั้งและปลุกระดมมวลชนฝ่ายขวามาปะทะและทำร้ายนักศึกษา

บทความชิ้นนี้อยากจะพาย้อนกลับไปทบทวนบทบาทของมวลชนฝ่ายขวาในการก่อความรุนแรง เพื่อเป็นบทเรียนต่อสังคมไทยในห้วงยามที่เงาทะมึนของวิกฤตการเมืองกำลังปกคลุมสังคมไทย

ฝ่ายขวาก่อเกิด ปฏิบัติการอำพรางตนลุกลาม

ถึงกลางปี 2518 เมื่อขบวนการนักศึกษา-ชาวนา-กรรมกรเคลื่อนไหวอย่างเข้มแข็งและประสบความสำเร็จมากขึ้น ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว กัมพูชา และเวียดนามที่เกิดการปฏิวัติของประชาชนขึ้น ชนชั้นนำไทยจารีตและกองทัพก็ได้จัดตั้งกลุ่มมวลชนฝ่ายขวาหลายกลุ่มขึ้นมาเพื่อมาสู้กับขบวนการนักศึกษา โดยมีกระทิงแดง นวพล และลูกเสือชาวบ้านเป็นกลุ่มที่มีการจัดตั้งเข้มแข็งที่สุด กระทิงแดงและนวพลก่อตัวขึ้นพร้อมๆ กันกลางปี 2518 ส่วนลูกเสือชาวบ้านตั้งขึ้นในปี 2514 โดยแรกเริ่มก็ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อปราบปรามขบวนการนักศึกษา แต่หลังปี 2518 ได้เปลี่ยนทิศทางไปเป็นการโจมตีขบวนการนักศึกษา ทั้งสามกลุ่มได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจระดับสูง รวมถึงนักธุรกิจชั้นนำ โดยขบวนการลูกเสือชาวบ้านนั้นถูกจัดตั้งขึ้นและได้รับความสนับสนุนอย่างเป็นทางการจากตำรวจตระเวนชายแดน

ในยุคสงครามเย็น ปรากฎการณ์ที่รัฐจัดตั้งมวลชนของตนเองเป็นเรื่องที่พบในหลายประเทศ โดยเฉพาะรัฐที่เป็นเผด็จการอำนาจนิยม จะมีบทบาทเป็นผู้จัดตั้งหรือสนับสนุนขบวนการมวลชนฝ่ายขวาเพื่อมาสนับสนุนผู้นำเผด็จการ และเพื่อลดทอนความเข้มแข็งของประชาชนที่ลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐ

ประเด็นที่สำคัญคือ ไม่ว่าขบวนการมวลชนฝ่ายขวาจะมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐมากเพียงไร ขบวนการเหล่านี้จะพยายามปฏิบัติการภายใต้ “การอำพรางตน” ในรูปแบบของขบวนการประชาชนที่เป็นอิสระจากรัฐเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตนเอง ดังที่พบว่า แม้นวพลและกระทิงแดงจะได้รับความสนับสนุนทางการเงินและอาวุธจากบุคคลภายในกองทัพ ตำรวจ และหน่วยงานต่อต้านคอมมิวนิสต์ แต่พวกเขาก็ระมัดระวังไม่ให้การสนับสนุนนี้เป็นที่รับรู้ต่อสาธารณะ และทั้งที่ในความเป็นจริงลูกเสือชาวบ้านถูกจัดตั้งขึ้นโดยหน่วยงานของรัฐ แต่ก็พยายามสร้างภาพลักษณ์ให้ดูเป็นขบวนการประชาชนรากหญ้า

นวพล กระทิงแดง และลูกเสือชาวบ้านจับมือเป็นพันธมิตรกันและทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายหลวม ๆ ของฝ่ายขวาที่ต่อต้าน “แนวร่วมสามประสาน” ของนักศึกษา-ชาวนา-กรรมกร แม้ว่าจะมีการจัดองค์กรคล้ายคลึงกัน แต่ทั้งสองฝ่ายมีความแตกต่างกันทางอุดมการณ์ทางการเมืองเป็นอย่างมาก ขบวนการนักศึกษา-ชาวนา-กรรมกรมีเป้าหมายในการขยายสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง รวมทั้งพัฒนาสวัสดิการของประชาชนที่ยากไร้ผ่านวิธีการแบบสันติ ส่วนขบวนการฝ่ายขวานั้นมีเป้าหมายเพียงประการเดียวคือ กำจัดขบวนการนักศึกษา โดยใช้วิธีการที่รุนแรงและนอกกฎหมาย

ประเด็นสำคัญคือ มิติทางอุดมการณ์ของฝ่ายขวานั้นไม่ปฏิเสธการใช้ความรุนแรงเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมือง มีการตีความ (หรือควรจะเรียกว่าบิดเบือนอาจจะตรงกว่า) หลักธรรมคำสอนทางศาสนาเพื่อมาโจมตีนักศึกษา โดยกิตติวุฒโฑภิกขุ ซึ่งเป็นพระอนุรักษ์นิยมรูปดัง ได้เทศนาและตีความคำสอนทางพุทธศาสนาไปในทางอนุรักษนิยมเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการปกครองแบบเผด็จการรวมศูนย์ กิตติวุฒโฑมีบทบาทสำคัญเป็นแกนนำของนวพล เขากระตุ้นให้ประชาชนสนับสนุนกลุ่มนวพลผ่านการเทศน์ทางสถานีวิทยุของกองทัพ ทั้งยังช่วยจัดหลักสูตรโฆษณาชวนเชื่ออบรมแกนนำชาวบ้าน พระกิตติวุฒโฑโจมตีฝ่ายซ้ายว่า เป็นศัตรูของชาติ-ศาสนา-พระมหากษัตริย์ พร้อมกับเสนอว่า การใช้ความรุนแรงต่อฝ่ายซ้ายเป็นสิ่งถูกต้อง กลางเดือนมิถุนายน 2519 พระกิตติวุฒโฑให้สัมภาษณ์ว่า การฆ่าคอมมิวนิสต์เป็นการกระทำที่ชอบธรรม

อันนั้นอาตมาก็เห็นว่าควรจะทำ คนไทยแม้จะนับถือพุทธก็ควรจะทำ แต่ก็ไม่ใช่ถือว่าเป็นการฆ่าคน เพราะว่าใครก็ตามที่ทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มันไม่ใช่คนสมบูรณ์ คือความตั้งใจเราไม่ได้ฆ่าคนแต่ฆ่ามาร ซึ่งเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน… ถึงแม้จะฆ่าคนก็บาปเล็กน้อย แต่บุญกุศลได้มากกว่าเหมือนเราฆ่าปลา แกงใส่บาตรพระ ไอ้บาปมันก็มีหรอกที่ฆ่าปลา แต่เราใส่บาตรพระได้บุญมากกว่า (1)

คำให้สัมภาษณ์นี้ถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวางและประโยคที่ว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” ได้กลายเป็นคำขวัญหลักของขบวนการฝ่ายขวา เป็นเรื่องที่น่าเศร้าว่าในช่วงเวลาแห่งความสับสนอลหม่านทางการเมือง อุดมการณ์ความเป็นไทยชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ถูกตีความให้คับแคบและถูกฉวยใช้โดยแกนนำมวลชนฝ่ายขวา เพื่อมาสร้างความชอบธรรมให้กับการใช้ความรุนแรงประหัตประหารเพื่อนร่วมชาติ

โดยทั่วไป นวพลและกลุ่มฝ่ายขวาอื่นๆ ตีตราขบวนการนักศึกษาว่าเป็น “สิ่งชั่วร้าย” “คอมมิวนิสต์” และ “อนาธิปัตย์” “ไม่ใช่คนไทย” “ทรยศชาติ” “หนอนบ่อนไส้” และเป็นศัตรูต่อ “ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์” สามสดมภ์หลักของเอกลักษณ์แห่งชาติไทย นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2518 ถึงปลายปี 2519  สถานีวิทยุซึ่งควบคุมโดยฝ่ายขวาเปิดเพลงปลุกระดมถี่ขึ้น โดยเฉพาะเพลง “หนักแผ่นดิน” ที่มีเนื้อร้องท่อนหนึ่งว่า

คนใดใช้ชื่อไทยอยู่ กายก็ดูเหมือนไทยด้วยกัน
ได้อาศัยโพธิ์ทองแผ่นดินของราชันย์ แต่ใจมันยังเฝ้าคิดทำลาย
คนใดเห็นไทยเป็นทาส ดูถูกชาติเชื้อชนถิ่นไทย
แต่ยังฝังทำกิน กอบโกยสินไทยไป เหยียดคนไทยเป็นทาสของมัน
หนักแผ่นดิน หนักแผ่นดิน คนเช่นนี้เป็นคนหนักแผ่นดิน

ความนิ่งเฉยของรัฐสู่วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด

การนิ่งเฉยดูดายและไม่ทำหน้าที่รักษากฎหมายอย่างเคร่งครัดของรัฐคือปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของขบวนการฝ่ายขวา ปรกติ รัฐสามารถระงับหรือป้องกันความรุนแรงได้หลายรูปแบบ นับตั้งแต่การดำเนินคดี สอบสวน จับกุม หรือเอาผิดกับการเคลื่อนไหวที่ใช้ความรุนแรง ซึ่งมาตรการเหล่านี้สามารถลดทอนหรือหยุดยั้งโอกาสที่ขบวนการมวลชนจะใช้ความรุนแรงได้  การที่รัฐไทยไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด (กระทั่งรู้เห็นเป็นใจ) กับกลุ่มฝ่ายขวาในช่วงเวลานั้นทำให้มวลชนฝ่ายขวาใช้ความรุนแรงได้ตามอำเภอใจ ไม่ว่าจะเป็นการพกปืนในที่สาธารณะ บุกเผามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขว้างระเบิดใส่ผู้ชุมนุมเดินขบวน และลอบสังหารผู้นำขบวนการประชาชนและนักการเมืองฝ่ายซ้าย

สมาชิกขบวนการฝ่ายขวาอื่นที่ก่ออาชญากรรมร้ายแรงเหล่านี้ไม่เคยถูกนำตัวมาดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม แม้ว่ากระทิงแดงคนหนึ่งจะแขนขาดขณะที่ขว้างระเบิดเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2519 แต่ตำรวจกลับปล่อยตัวเขาไปโดยอ้างว่าไม่มีหลักฐานการกระทำผิด  กลุ่มฝ่ายขวาเหล่านี้สามารถใช้ความรุนแรงสร้างความหวาดกลัวให้แก่ขบวนการนักศึกษาและแนวร่วมได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากพวกเขาไม่เคยต้องรับโทษทัณฑ์ใด ๆ จากการละเมิดกฎหมายเลย

การนิ่งเฉยของรัฐไม่เพียงอนุญาตให้การใช้ความรุนแรงทางการเมืองของฝ่ายขวาดำเนินต่อไปได้เท่านั้น แต่ยังเท่ากับสนับสนุนการกระทำดังกล่าวในทางอ้อมอีกด้วย นับว่าเป็นการสร้างวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดอย่างร้ายแรง

เมื่อรัฐไม่ทำหน้าที่เป็นผู้รักษาและบังคับใช้กฎหมายอย่างที่รัฐพึงกระทำ เท่ากับว่าในทางปฏิบัติ รัฐเลือกดำเนินนโยบายข่มขู่ คุกคาม และใช้ความรุนแรงต่อขบวนการนักศึกษาและแนวร่วม แม้ว่ารัฐอาจไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในการวางแผนและปฏิบัติการของฝ่ายขวาก็ตาม

ยุทธวิธีที่มุ่งปะทะและเผชิญหน้าอย่างรุนแรงของขบวนการฝ่ายขวา ผนวกกับความนิ่งเฉยของรัฐ ส่งผลกระทบต่อขบวนการนักศึกษาอย่างมาก นักศึกษาไม่สามารถคาดหวังให้รัฐปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของตนอีกต่อไป เพราะรัฐมองเห็นนักศึกษาเป็นศัตรูที่ต้องถูกปราบปรามและกำจัด ความรุนแรงทางการเมืองจึงเพิ่มสูงตลอดจนนำไปสู่ความวุ่นวายและวิกฤตทางการเมือง ซึ่งในที่สุดก็ปูทางไปสู่การล้อมปราบนักศึกษาและการก่อรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งถูกอ้างโดยคณะรัฐประหารว่า เป็นการรัฐประหารเพื่อฟื้นฟูระเบียบและกฎหมาย โดยที่ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ได้ชี้ชัดว่าความวุ่นวายและความรุนแรงในช่วงนั้น รัฐมีส่วนสำคัญในการสร้างให้เกิดขึ้น

หากสังคมไทยต้องการระงับยับยั้งและป้องกันไม่ให้โศกนาฎกรรมแบบ 6 เกิดขึ้นอีกในลักษณะประวัติศาสตร์ซ้ำรอย รัฐต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและเสมอภาคเท่าเทียม ไม่สนับสนุนหรือจัดตั้งขบวนการมวลชนฝ่ายขวามาปะทะหรือทำร้ายนักศึกษาและประชาชน ไม่ปล่อยให้ผู้ที่ใช้ความรุนแรงทำร้ายร่างกายผู้อื่นลอยนวลพ้นผิด และที่สำคัญรัฐต้องไม่เปิดโอกาสให้มีการบิดเบือนอุดมการณ์ความเป็นไทยมาปลุกกระแสความเกลียดชังต่อผู้ที่คิดต่าง และให้ความชอบธรรมกับการใช้ความรุนแรงทำร้ายนักศึกษาและประชาชน

อ้างอิง: (1) ดูบทสัมภาษณ์กิตติวุฒโฑ ใน จตุรัส ปีที่ 2 ฉบับที่ 51 (29 มิถุนายน 2519), หน้า 28-32