โฉมหน้า 14 ตุลา 2563 การเมืองของการนิยาม 'การเมืองวัฒนธรรม' ของคนรุ่นใหม่ - Decode
Reading Time: < 1 minute

ในความเคลื่อนไหว

ประจักษ์ ก้องกีรติ

วันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมาผมได้รับเชิญให้ไปดำเนินรายการเสวนา (จัดโดยคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ที่ตั้งชื่ออย่างน่าสนใจว่า “ถ้าการเมืองดี… นักเรียนนักศึกษาจะรักชาติกันอย่างไร” โดยผู้จัดเชิญนักเรียนระดับมัธยมและนักศึกษามหาวิทยาลัย 5 ท่าน (จากกลุ่มนักเรียนเลว กลุ่มไทยภักดี กลุ่มมาร์กซิสต์ศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฯลฯ) มาร่วมแลกเปลี่ยนถึงความฝัน ความหวัง และมุมมองของพวกเขาต่ออนาคตของสังคม

เนื้อหาการสนทนาเป็นไปอย่างเข้มข้น หนักแน่น แต่ก็สนุก (ใครสนใจแนะนำให้หาคลิปดูย้อนหลังครับ) นั่งฟังแล้วก็ทำให้รู้สึกว่า “เด็ก” ในยุคสมัยนี้มีความเป็น “ผู้ใหญ่” สูง สูงกว่าคนรุ่นผมที่เป็นคนรุ่น Gen X อย่างมากมาย พวกเขาตื่นตัวสนใจปัญหาการเมืองและสังคมรอบตัว ติดตามความเป็นไปของโลกรอบตัว จริงจังกับสิ่งที่พวกเขาคิดและเชื่อ และที่สำคัญ พวกเขากล้าแสดงออก

จากเวทีเสวนา ผมพบว่าเยาวชนคนรุ่นใหม่ในปี 2563 มาพร้อมกับคุณสมบัติ 2 สิ่งที่เด่นชัดคือ การคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) และความสนใจต่อประเด็นปัญหาคุณภาพชีวิต พวกเขาไม่ได้คิดเห็นไปในทางเดียวกันหมด แม้แต่คนที่อยู่ในกลุ่มที่เคลื่อนไหวด้วยกัน ก็มีความแตกต่างหลากหลายทางความคิดและถกเถียงกัน กับคนที่เห็นต่าง พวกเขาก็ยินดีถกเถียงแลกเปลี่ยนกันด้วยเหตุผล แม้จะฟังดูเผ็ดร้อนในท่วงทำนอง แต่พวกเขาเคารพความคิดของคู่สนทนา ตรงไหนที่เห็นต่างก็วิพากษ์ด้วยข้อมูลและเหตุผล เรื่องไหนที่เห็นตรงกัน แม้สังกัดอยู่กลุ่มที่ต่างกันพวกเขาก็ยินดีสนับสนุน ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม

สิ่งหนึ่งที่ผมประทับใจคือ ความสามารถของคนรุ่นใหม่ในการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษา การเมือง คุณภาพชีวิต และความรู้สึกรักชาติเข้าด้วยกัน พวกเขานิยามหรือให้ความหมายใหม่กับคำและแนวคิดที่ผู้ใหญ่และคนจำนวนมากไม่ได้ตั้งคำถามกับมัน ไม่ว่าจะเป็นคำว่า “การเมือง” “ชาติ” “ประชาธิปไตย” “ศาสนา” “สิทธิ” “หน้าที่พลเมือง” และสิ่งนี้เองคือ การเมืองวัฒนธรรม (cultural politics) ของคนรุ่นใหม่ – การเมืองของการนิยามและให้ความหมาย  

คนรุ่นก่อนหรือกระทั่งคนรุ่นผมยอมรับเอาความหมายเดิม ๆ เกี่ยวกับคำเหล่านี้ที่เราถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก เชื่อตามที่ผู้ใหญ่และรัฐบอก โดยไม่ได้ฉุกคิดแม้แต่น้อยว่าคำเหล่านี้มีการเมืองซ่อนอยู่ เรากลัวที่จะคิดแตกต่างจากครูและต่างจากเพื่อน เพราะกลัวที่จะถูกตีตราว่า เป็นคนหัวขบถ คิดนอกคอก นอกกรอบ และแหกขนบธรรมเนียม จนหล่อหลอมเป็นบุคลิกและตัวตนที่เชื่อง น้อมรับ และพร้อมที่จะเชื่อฟัง แต่คนรุ่นใหม่ตั้งคำถามกับชุดความรู้และข้อมูลที่พวกเขาถูกสอนในโรงเรียน ถูกยัดเยียดผ่านละครและโฆษณา รวมถึงการโฆษณาชวนเชื่อจากรัฐ

พวกเขาตั้งคำถามด้วยความใฝ่รู้และสงสัยว่าประวัติศาสตร์ที่พวกเขาถูกสอนในโรงเรียนมันคือ ความจริงที่รอบด้านหรือเป็นความจริงแค่ด้านเดียว ? มันเป็นประวัติศาสตร์ที่เขียนโดยผู้นำ ผู้ชนะ และผู้มีอำนาจมากกว่าที่จะเป็นประวัติศาสตร์ที่มุ่งบันทึกความจริง ? เขามองเห็นการเมืองในความรู้ประวัติศาสตร์ที่สอนผ่านแบบเรียนในโรงเรียนซึ่งถูกกำหนดตีกรอบมาอย่างคับแคบโดยกระทรวงศึกษาธิการ นักเรียนคนหนึ่งที่เป็นวิทยากรในงานนี้ คือ ขิม ธนาภรณ์ พรหมภัทร์ จากมหาสารคาม กล่าวตอนหนึ่งซึ่งผมประทับใจมาก เธอกล่าวว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดของแบบเรียนในโรงเรียนของไทยอยู่ตรงสิ่งที่แบบเรียนไม่ได้กล่าว ส่วนที่ละไว้ไม่พูดถึง  

พวกเขาไม่ได้มองว่าการเมืองเป็นเรื่องสกปรกแบบที่วาทกรรมกระแสหลักพยายามปลูกฝัง พวกเขาให้ความหมายใหม่ว่าการเมืองคือเรื่องของเราทุกคน การเมืองคือเรื่องใกล้ตัว การเมืองคือเรื่องของการใช้สิทธิใช้เสียงของพลเมืองเพื่อกำหนดชะตาชีวิตของตนเอง การให้ความหมายใหม่เช่นนี้ทำให้พวกเขาไม่ได้รังเกียจสิ่งที่เรียกว่า การเมืองหรือนักการเมือง ตรงกันข้าม พวกเขาตระหนักว่าถ้าอยากเห็นการเมืองดี พวกเขาก็ต้องเข้าไปมีส่วนร่วม และลุกขึ้นเปลี่ยนแปลงมันด้วยตัวของพวกเขา

การเมืองไม่ใช่กิจกรรมที่ควรถูกผูกขาดอยู่ในมือนักการเมือง นักธุรกิจ หรือนายพล แต่เป็นหน้าที่ของพลเมืองทุกคนไม่เว้นแม้แต่เยาวชน ตรงนี้เองที่ผมคิดว่าเป็นประเด็นที่สำคัญมาก พวกเขากำลังสื่อสารและอยากให้ผู้ใหญ่มองการเคลื่อนไหวของเขา ไม่ใช่ในฐานะการเคลื่อนไหวของเด็ก แต่ให้มองพวกเขาในฐานะพลเมืองผู้ทรงสิทธิที่เสมอภาคเท่าเทียม  พวกเขาให้ความหมายคำว่า “หน้าที่พลเมือง” เสียใหม่ว่า มันไม่ใช่การทำตามที่รัฐบอก หรือการทำตามหน้าที่ของตัวเองแบบคับแคบเท่านั้น แต่มันคือการตระหนักในพลังของตนที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงขับเคลื่อนสังคมให้ดีขึ้น

ประเด็นนี้โยงกับความรักชาติโดยตรง เพราะพวกเขาชี้ว่า ถ้าการเมืองดี ถ้าสังคมมีความยุติธรรม มีความเสมอภาคเท่าเทียม ไม่มีความเหลื่อมล้ำสูงจนมากเกินไประหว่างคนรวยและคนจน ถ้ารัฐทำงานอย่างมีประสิทธิภาพในการดูแลชีวิตของประชาชนและทำให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ประชาชนและเยาวชนก็จะรักและหวงแหนชาติของพวกเขาได้อย่างเต็มภาคภูมิ ฉะนั้น ที่พวกเขาลุกขึ้นมาต่อสู้เคลื่อนไหวเหนื่อยยากเสี่ยงภัย (ทั้งความเข้าใจผิดจากครอบครัว การลงโทษจากสถานศึกษา หรือการคุกคามทางกายภาพและทางกฎหมายโดยรัฐ) ก็เพราะพวกเขารักชาติที่พวกเขาอาศัยอยู่ เพราะมันคือบ้านของเขาเช่นกัน และชาติที่ดีควรเป็นบ้านที่อบอุ่นสำหรับทุกคน ไม่ใช่ชาติที่ถูกผูกขาดโดยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง  ความรู้สึกที่อยากเห็นชาติที่เจริญก้าวหน้านี่เองคือแรงขับเคลื่อนให้พวกเขาลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวทางการเมือง

การเมืองวัฒนธรรมเป็นการเมืองที่ขบวนการนักศึกษาให้ความสำคัญมาตั้งแต่สมัยอดีต และความสามารถของนักศึกษาในการต่อสู้ช่วงชิงทางความหมายและสัญลักษณ์คือ อาวุธที่ทรงพลังของนักศึกษาตั้งแต่สมัย 14 ตุลาฯ 2516 ในช่วงนั้นขบวนการนักศึกษาก่อตัวจนกลายเป็นพลังทางการเมืองที่เปลี่ยนโฉมหน้าสังคมไทย โดยอิทธิพลของนักศึกษาไม่ได้มาจากจำนวนนักศึกษาที่เข้าร่วมเคลื่อนไหว แต่มาจากบทบาทของนักศึกษาในฐานะ “ผู้นำทางปัญญา” ของสังคมที่กล้าพูดความจริงกับผู้มีอำนาจ

พวกเขาเป็นผู้บุกเบิกการวิพากษ์วิจารณ์และต่อต้านรัฐบาลทหารของจอมพลถนอม กิตติขจร อย่างกล้าหาญและเปิดเผย ในบริบทที่รัฐบาลเผด็จการทำให้ภาคประชาสังคมและการเมืองอ่อนแอ ปราบปรามการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานและกลุ่มการเมืองอื่นอย่างรุนแรง บีบให้กลุ่มธุรกิจต้องพึ่งพาและสยบยอมรัฐ ทั้งยังสามารถเอาชนชั้นกลางเข้ามาเป็นพวก

นักศึกษาในสมัย 14 ตุลาฯ สร้างเครือข่ายอย่างไม่เป็นทางการของนักเขียนและนักอ่าน ผลิตสิ่งพิมพ์ทางเลือกและการจัดเสวนาทางวิชาการ สิ่งพิมพ์และเวทีเสวนาของนักศึกษาและปัญญาชนได้กลายเป็นพื้นที่สำหรับการอภิปรายเกี่ยวกับวาทกรรมสาธารณะทางเลือกและแนวคิดเชิงวิพากษ์ในสังคมที่ถูกครอบงำอย่างยาวนานโดยโฆษณาชวนเชื่อของระบอบเผด็จการ กล่าวได้ว่า นักศึกษาประสบความสำเร็จในการสำแดงอิทธิพลทางวัฒนธรรมและปัญญาอันยิ่งใหญ่ จนสามารถกัดกร่อนความชอบธรรมของระบอบสฤษดิ์-ถนอมที่ทั้งเป็นเผด็จการและไร้ประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ  

พลังของนักศึกษาทั้งในยุค 14 ตุลาฯ และยุคสมัยปัจจุบันจึงอยู่ที่การผสาน “การเมืองวัฒนธรรม” เข้ากับ “การเมืองบนท้องถนน” และขับเคลื่อนการเมืองสองแบบนี้ไปด้วยกันโดยไม่แยกขาดจากกัน อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวของนักเรียนนักศึกษาในยุคสมัยปัจจุบันแห่งปี 2563 กำลังเกิดขึ้นในบริบทของสังคมและการเมืองไทยที่ไม่เหมือนเดิม ในยุคสมัยที่กำลังเปลี่ยนผ่านนี้ พวกเขากำลังต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้ก้าวไปข้างหน้า และสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในยุคสมัยของพวกเขาเอง