ชัยชนะม่วงงาม จากคน 2 รุ่น เปลี่ยนความเกรี้ยวกราดเป็นวิทยาศาสตร์ ประชาชนจุดติด(ไม่เอา)อภิสิทธิ์เหนือทรัพยากร - Decode
Reading Time: 4 minutes

“ประชาชนทั้งหลาย การต่อสู้เพื่อปกป้องหาดม่วงงามคือ ‘หมุดหมาย’ และก้าวย่างการเปลี่ยนแปลงสำคัญของหาดทรายประเทศไทย วันนี้เราได้ยืนหยัดต่อสู้อย่างหนักแน่น ด้วยหัวใจ ด้วยความรัก และความรู้ ทำให้เห็นแล้วว่าการยืนหยัดเช่นนี้ทำให้เราปกปักษ์รักษาหาดม่วงงามอันเป็นที่รักของเราทุกคนจากกำแพงกันคลื่นของกรมโยธาธิการฯ ได้ เราต่างมีความหวังว่า หากเราทวงคืนผืนทรายจากกำแพงกันคลื่นได้จะกลายเป็นแรงบันดาลใจและพลังอันยิ่งใหญ่ให้กับประชาชนและชุมชนชายฝั่งอื่น ๆ ได้ลุกขึ้นมาเช่นกัน” 

ข้อความข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งจาก ‘คำประกาศชายหาดม่วงงาม’ ที่ถูกกล่าวเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ณ หาดม่วงงาม โดยชาวบ้านชุมชนม่วงงาม เพื่อสรรเสริญให้กับชัยชนะแรกของประชาชนที่สามารถเอาชนะโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นที่กำลังระบาดไปทั่วประเทศไทย หลังจากที่ศาลปกครองสงขลาได้มีคำสั่งคุ้มครองหาดม่วงงามชั่วคราวและขอให้ชะลอโครงการไปก่อนจนกว่าศาลจะพิพากษาถึงที่สุด  

#saveหาดม่วงงาม จึงถือเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาที่น่าสนใจ สาเหตุที่ทำให้เรากล้าพูดแบบนี้ไม่ใช่เพราะการต่อสู้ครั้งนี้มีผลลัพธ์เป็นชัยชนะของประชาชนเพียงอย่างเดียว แต่เพราะการต่อสู้ในรอบนี้เป็นการต่อสู้ที่ไฮบริคในทุกแง่มุม เริ่มตั้งแต่ผู้นำในการเคลื่อนไหวครั้งนี้มาจากผู้คน 2 เจเนอเรชัน ได้แก่ ชาวบ้านชุมชนม่วงงามที่มีแรงใจอันมุ่งมั่นในการปกป้องหาดม่วงงามและกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เคลื่อนไหวเรื่องการพิทักษ์หาดทรายโดยการใช้ข้อมูลความรู้ทางวิชาการเพื่อจัดสรรทรัพยากรชายหาดอย่างยั่งยืน อย่างกลุ่ม Beach For Life มาร่วมผนึกกำลังกันต่อสู้ 

ไปจนวิธีที่ใช้ในการรณรงค์ก็สุดแสนจะปัง ผสมผสานแนวทางต่อสู้แบบดั้งเดิมและแบบใหม่ได้อย่างลงตัว ไม่ว่าจะเป็น การทำ mob from home ผ่านแฮชแท็ก #saveหาดม่วงงาม ประท้วงไม่เอากำแพงกันคลื่นจากที่บ้านในช่วงที่โควิด-19 ระบาด , การจัดงานศิลปะริมชายหาด , การเปิดวงเสวนาให้ความรู้เรื่องการกัดเซาะชายฝั่งและวิธีการป้องกันอย่างยั่งยืน, การปักหลักนอนค้างหน้าหน้าศาลากลาง จ.สงขลา เพื่อเรียกร้องให้ภาครัฐรับฟังเสียงของชาวบ้าน และ การฟ้องคดีต่อศาลสงขลาเพื่อให้มีการยุติโครงการก่อสร้างนี้ชั่วคราว ขอบอกเลยว่า จะ online หรือ on-ground ชาวบ้านหาดม่วงงามและทีม Beach for life ทำมาหมดแล้วทุกวิธี 

สิ่งที่เกิดขึ้น ณ หาดม่วงงามจึงเหมาะสมอย่างยิ่งแก่การถอดรหัสแนวคิดเบื้องหลังในการต่อสู้ครั้งนี้ Decode ไม่รอช้า ขอตีตั๋วไปยังหาดม่วงงาม อ.สิงหนคร จ.สงขลา เพื่อพูดคุยกับ น้ำนิ่ง-อภิศักดิ์ ทัศนี ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Beach for life กลุ่มคนรุ่นใหม่ผู้อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์การลุกขึ้นมา #saveหาดทราย ในจังหวัดสงขลา ด้วยข้อมูลทางวิชาการและกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน ว่าพวกเขาคือใคร , กลยุทธ์ #saveหาดทราย ที่สุดแสนปังปุริเย่มีที่มาอย่างไร และ ทำไมภารกิจในการ #saveทรัพยากรธรรมชาติ ถึงเป็นมิชชั่นที่คนรุ่นเราจำเป็นต้องลุกขึ้นมาทำให้สำเร็จ 

คลื่นลูกที่ 1 

ร้านกาแฟเล็กๆ ในสวนหลังบ้านเป็นสถานที่ที่น้ำนิ่งนัดเรามาพูดคุยกันในวันนี้ เดิมทีเราตั้งใจที่จะนั่งพูดคุยกันริมหาดม่วงงามแต่ด้วยสภาพอากาศและแดดยาม 10 โมงเช้าที่สาดลงมาอย่างไม่เกรงใจใคร ทำให้เราและน้ำนิ่งตัดสินใจเปลี่ยนแผนมานั่งสัมภาษณ์กันในร้านกาแฟที่ขึ้นชื่อได้ว่าเป็นฐานบัญชาการหลักตลอดการเคลื่อนไหวในการ save หาดม่วงงามจากกำแพงกันคลื่น ซึ่งเจ้าของร้านอย่าง บุ๋ม-บุญญาพร ฉายพรหมแก้ว แอบกระซิบบอกกับเราว่าทีนี่นี้แหละที่เป็นเหมือนหน่วยข่าวกรองที่คอยกระจายข่าวสารให้ชาวบ้านม่วงงามได้รับรู้และดูเหมือนจะกลายเป็นบ้านหลังที่ 2 ของน้ำนิ่งไปเสียแล้ว ประโยคของบุ๋มเรียกเสียงหัวเราะได้ลั่นร้าน เสียงแห่งความบันเทิงใจไม่ทันจางหาย เสียงทักทายจากชายหนุ่มที่เรารอคอยในวันนี้ก็เข้ามาแทนที่ 

“มาถึงนานแล้วยังครับ” คือ คำทักทายแรกจากผู้ก่อตั้งกลุ่ม Beach For Life น้ำนิ่งเดินเข้ามาในร้านด้วยรอยยิ้มสดใส เพิ่มเติมคือกระเป๋าเป้ใบใหญ่ที่เขาหิ้วติดมือมา จนเราอดที่จะแซวไม่ได้ว่าเขาจะย้ายไปที่ไหนหรือเปล่า

ชายหนุ่มตรงหน้าเรายิ้มกว้างก่อนจะตอบสั้นๆ ว่า “มีในรถอีกใบครับ เอกสารทั้งนั้น” 

น้ำนิ่งขอตัวไปเข้าห้องน้ำก่อนจะกลับมาหาที่นั่งที่เหมาะเจาะสำหรับการพูดคุยที่ดูท่าน่าจะใช้เวลากันพอสมควร ประกอบกับเจ้าของร้านช้อนเขียวอย่างบุ๋มค่อยๆ หรี่เสียงเพลงในร้านลง ก็เป็นสัญญาณให้การสัมภาษณ์ในครั้งนี้เริ่มต้นขึ้น

“คิดว่าอาจจะมีคนถามคำถามนี้กับคุณบ่อยแล้วแต่เรายังอยากรู้ว่า Beach For life คือใคร และ มีหน้าที่หลักคืออะไร เพราะดูเหมือนกลุ่มของคุณจะทำงานหลายอย่างมากๆ”

น้ำนิ่งยกน้ำขึ้นมาจิบก่อนจะเล่าให้เราฟังถึงบทบาทของ Beach for life ที่เขาทำมาตลอด 9 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่การก่อตั้งกลุ่มในปี พ.ศ. 2555 ซึ่งเริ่มต้นจากการเป็นเพียงแค่ชมรมเล็กๆ ในโรงเรียนที่เติบโตบนกระบวนการสร้างพลเมืองของสงขลาฟอรั่ม จนตอนนี้ได้กลายเป็นภาคประชาสังคมที่มีเครือข่ายเยาวชนผู้ปกป้องหาดทรายเกิดขึ้นทั่วทั้งภาคใต้

“Beach for life เป็นองค์กรจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ลุกขึ้นมาขับเคลื่อนรณรงค์อยู่บนพื้นฐานของการใช้องค์ความรู้ในการต่อสู้เรื่องหาดทรายและเสนอทางเลือกต่างๆ บนพื้นฐานความรู้ทางวิชาการ บทบาทหลักๆ ของเราจึงมีอยู่ 4 บทบาทด้วยกัน อย่างแรกคือการส่งเสริมความรู้เรื่องหาดทรายซึ่งมีทั้งในรูปแบบเว็บไซต์ beachlover.net และ แฟนเพจ Beach for life” 

“อย่างที่สองคือ งานติดตามสภาพชายหาด ตอนนี้เรามีกลุ่มเยาวชนที่ทำงานร่วมกันกับเราอยู่ 6 กลุ่ม กระจายตัวอยู่ใน 3 จังหวัดคือ สงขลา สตูล ปัตตานี ซึ่งทั้ง 6 กลุ่มนี้ก็จะคอยมอนิเตอร์การเปลี่ยนแปลงชายหาดหน้าบ้านเขา เพราะคอนเซปต์ของการติดตามสภาพชายหาดมันเกิดจากความคิดที่ว่า ทุกชุมชนควรมีข้อมูลเป็นของตัวเอง หากในอนาคตมีโครงการพัฒนาต่างๆ เข้ามา ชุมชนจะต้องสามารถเลือกได้ว่าเขาจะเอาหรือไม่เอา ด้วยข้อมูลทางวิชาการที่เขาเก็บรวบรวมมาตลอด” 

น้ำนิ่งเสริมในประเด็นนี้ว่า ตั้งแต่ไหนแต่ไรเขาเป็นคนที่เชื่อในเรื่องสิทธิในการกำหนดเจตจำนงแห่งตน (Right to Self-Determination) เขาเชื่อว่าผู้คนมีสิทธิ์ในการเลือกดำเนินชีวิตของตนเองและรวมถึงเมื่อคนมารวมตัวกันเป็นชุมชน ก็ย่อมมีสิทธิที่จะเลือกว่าฐานทรัพยากรที่ชุมชนอิงอาศัยใช้ประโยชน์อยู่ควรจะเปลี่ยนไปอย่างไร ซึ่งการที่ชุมชนจะเลือกวิธีในการจัดการทรัพยากรได้นั้นจำเป็นจะต้องมีข้อมูลในการตัดสินใจ เพื่อที่สุดท้ายชุมชนจะสามารถกำหนดได้ว่า ‘บ้านของฉัน ฉันจะเอาอย่างไร’ ซึ่งบทบาทที่ 2 ของกลุ่มนี่เองที่ส่งผลให้เกิดบทบาทที่ 3 ขึ้นมา อย่างการทำชุดนโยบายในการจัดการพื้นที่ชายฝั่งโดยมีพื้นฐานอยู่บนข้อมูลทางวิชาการและกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน

“เราเชื่อว่ากระบวนการมีส่วนร่วมต้องถูกสร้างให้เป็นวัฒนธรรม เพราะท้ายที่สุดเราไม่สามารถปฏิเสธการพัฒนาได้และในขณะเดียวกันจะให้มาอนุรักษ์จ๋าๆ เลยก็ไม่ได้เหมือนกัน ดังนั้นเราจำเป็นต้องหาสมดุลตรงกลางซึ่งมันเป็นเรื่องที่คนในพื้นที่จะต้องกำหนด และถ้าถามต่อไปว่ามันจะกำหนดได้ยังไง ก็ต้องผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมและฐานข้อมูลที่แม่นยำ ซึ่งงานนี้ก็เป็นงานในเชิงนโยบายที่เราพยายามเสนอโมเดลต่างๆ ต่อชุมชนและต่อผู้มีอำนาจในพื้นที่นั้นๆ ”

“ส่วนบทบาทสุดท้ายคือ งานของการพิทักษ์สิทธิ์ในการจัดการสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่เราฟ้องคดีหาดชลาทัศน์ตอนปี พ.ศ. 2558 มันทำให้เราตระหนักถึงความสำคัญของการพิทักษ์และคุ้มครองสิทธิ์ของชุมชนค่อนข้างมาก รู้ไหมว่าเวลาเกิดโครงการอะไรแบบนี้ขึ้นมา ไม่เคยมีใครมาบอกเลยนะว่าชุมชนสามารถทำอะไรได้บ้างถ้าเขาไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เกิดขึ้น และชุมชนเองก็ไม่มีข้อมูลหรือมีความรู้ที่มากพอ”

“แม้กระทั่งการจะเขียนคำฟ้อง เราบอกเลยว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ลำพังแค่ชุมชนอย่างเดียวไม่สามารถที่จะทำได้ อย่างเคสม่วงงามเอง กองเอกสารทั้งหมดสูงประมาณ 1 เมตรได้มั้ง ซึ่งนี่ยังรวบรวมข้อเท็จจริงไม่หมดเลยนะ ดังนั้นเราเลยคิดว่างานนี้เป็นงานที่ Beach For life สามารถเข้ามาช่วยหนุนเสริมชุมชนได้ เพราะเรามีทั้งเครือข่าย นักกฎหมาย นักวิชาการ ที่ช่วยดึงองค์ความรู้ออกมาเพื่อทำให้รูปคดีมันชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งหมดที่เราพูดมานี้คือสิ่งที่ Beach for life ทำมาโดยตลอด 9 ปี”

คลื่นลูกที่ 2 

กรณีการต่อสู้ของชาวบ้านหาดม่วงงาม ได้กลายเป็นโรลโมเดลให้กับชาวบ้านในพื้นที่อื่นๆ ได้ลุกขึ้นมาปกป้องชายหาดหน้าบ้านของตัวเอง ‘พี่คุม’ หนึ่งในชาวบ้านหาดม่วงงามเล่าให้เราฟังว่า ทุกวันนี้หาดม่วงงามฮอตมาก มีคนมาขอดูงานแทบจะทุกวัน โดยส่วนใหญ่ก็จะสงสัยว่าชาวบ้านหาดม่วงงามต่อสู้ด้วยวิธีไหนกันถึงทำให้ภาครัฐต้องยอมถอย ทั้งๆ ที่ได้พาปั้นจั่นมาจอดลงที่หน้าหาด ชนิดที่ว่าแค่เดินเครื่องก็พร้อมจะปักแท่งปูนลงในผืนทรายทันที ซึ่งคำถามนี้ก็เป็นคำถามที่เราเองก็สงสัยจนต้องพาตัวเองข้ามน้ำข้ามทะเลมาถึงที่นี่ และแน่นอนว่าไม่มีใครจะตอบคำถามนี้ได้ดีเท่าชายหนุ่มผู้รักชายหาดเหนือสิ่งอื่นใดตรงหน้าเราอีกแล้ว

“ต้องบอกก่อนว่าตอนแรกเราแทบไม่ได้เข้ามายุ่งกับกรณีนี้เลย สาเหตุเพราะที่ม่วงงามไม่มีกลุ่มคนที่ออกมาขับเคลื่อนประเด็นนี้เลย ซึ่งเราก็รู้สึกว่าถ้าจะให้ Beach for life ลงมาเต็มที่ก็ไม่ไหว เรามีกำลังไม่พอ จนกระทั่งช่วงเดือนเมษายน เพื่อนเราที่ชื่อนัสรูนซึ่งรู้จักกันตอนทำโปรเจกต์ของสงขลาฟอรั่ม โทรมาหาเราว่า น้ำนิ่งแย่แล้ว ที่หาดม่วงงามมีชีทไพล์มาลงเต็มไปหมดเลย นัสรูนก็แนะนำให้เราคุยกับพี่บุ๋มและพี่เดียร์ว่าพี่สองคนนี้พอจะช่วยได้ เราก็เลยมาเจอพี่เขา พี่ ๆ ก็พูดถึงการรับฟังความเห็น มันทำให้เราสัมผัสได้ถึงพลังของพี่น้องม่วงงาม หลังจากวันนั้นเราก็วางแผนขับเคลื่อนเรื่องนี้กันเลย” 

ทีม Beach For life ได้เข้ามาร่วมมือและทำงานกับชาวบ้านหาดม่วงงามอย่างจริงจัง เริ่มตั้งแต่การแนะนำให้ชาวบ้านได้เรียนรู้วิธีการร้องเรียนต่อภาครัฐ ไปจนการจัดทำกระบวนการพูดคุยรับฟังความคิดเห็น แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีไหนก็ยังไม่มีทีท่าที่ภาครัฐจะยอมถอย จนสุดท้ายชาวบ้านก็ตัดสินใจที่จะฟ้องคดีกับศาลปกครองสงขลาเพื่อขอให้มีการยุติการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น

“สำหรับเราการฟ้องคดีทางปกครอง ไม่ใช่การไปทำให้คู่กรณีของเราซึ่งในที่นี้หมายถึงภาครัฐเสียหาย แต่มันคือการเอาข้อมูลมาคุยกัน แล้วยืนอยู่บนหลักการว่าสุดท้ายโครงการเหล่านี้ควรจะเป็นอย่างไร โดยมีศาลเป็นพื้นที่กลางในการพูดคุย ดังนั้นการฟ้องคดีของศาลปกครองในกรณีสิ่งแวดล้อมเนี่ย จึงไม่ใช่การที่ประชาชนเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐ หรือว่าประชาชนจะขัดขวางการพัฒนา แต่มันคือการหาพื้นที่กลางในการถกแถลง พูดคุยและหาข้อยุติแค่นั้นเอง ซึ่งศาลก็ได้รับฟังและเปิดโอกาสให้ประชาชนได้อธิบายว่าโครงการนี้มันมีผลกระทบอย่างไร เขากังวลอะไร เราคิดว่าสิ่งนี้ทำให้ศาลได้เห็นความบริสุทธิ์ของประชาชนในการยืนหยัดต่อสู้ด้วยข้อมูล เราว่าเป็นส่วนสำคัญเลยที่ทำให้คำสั่งศาลออกมาเป็นแบบนี้” 

นอกจากจะทำงาน on-ground สื่อสารกับคนในชุมชนให้เข้าใจถึงผลกระทบที่จะตามมาจากการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น Beach for life ยังคงสื่อสารประเด็นนี้ทาง online  เพราะพวกเขาเชื่อว่าการจะเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้นั้นจำเป็นที่จะต้องทำให้สาธารณะตื่นตัว ตราบใดที่สาธารณะยังนิ่งเฉย ไม่ตื่นตัวต่อเรื่องนั้น การเปลี่ยนแปลงทางสังคมย่อมไม่มีทางเกิดขึ้น 

“ต่อให้โครงสร้างเปลี่ยนนะ อย่างเช่น เรามีกฎหมายที่โคตรดีเลย แต่สังคมไม่มีความรู้ความเข้าใจในประเด็นนี้ เราบอกเลยว่ามันก็จะแย่อยู่แบบนั้นแหละ สาระสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าทำคดีนี้แล้วคดีนี้พิพากษาชนะ มันไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร ถ้าคนในชุมชนชายฝั่งยังไม่เข้าใจเรื่องชายหาดจริงๆ ดังนั้นการสื่อสารกับสาธารณะจึงเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลง”

“โดยรอบนี้เรากำหนดไว้ 2 โจทย์ใหญ่ โจทย์แรกก็คือ ทำอย่างไรให้สาธารณะเข้าใจว่าการสร้างกำแพงกันคลื่นมันมีผลกระทบมากกว่าผลประโยชน์ เราไปเก็บภาพตัวอย่างหาดที่ได้รับผลกระทบจากการมีกำแพงกันคลื่นมาหมดเลย ไล่มาเลยตั้งแต่ที่ ปราณบุรี อ่าวน้อย ชิงโค ชะอำ และเราก็เอาภาพความเป็นจริงที่เราถ่ายมาเทียบกับภาพ master plan ที่เขาทำไว้ เราไม่ได้แค่พูดว่าโครงการนี้เป็นอย่างไร แต่เราเอาตัวอย่างมาให้เห็นกันชัดๆ ซึ่งสุดท้ายแล้วมันเห็นเลยว่าหาดทรายด้านหน้าหายไปหมดเลย” 

“ส่วนโจทย์ที่ 2 เรามองว่าแค่รับรู้และเข้าใจอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่ต้องดึงให้คนเข้ามามีส่วนร่วมกับเรื่องนี้ด้วย ซึ่งต้องเป็นการมีส่วนร่วมในฐานะที่เขารู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่ง เราเปิดแคมเปญเยอะมาก ทั้งทำ cover กรอบในรูปโปรไฟล์เฟซบุ๊ก ถือป้ายคัดค้านแบบ mob from home แล้วติดแฮชแท็ก #saveหาดม่วงงาม มันอาจจะฟังดูเชยนะ แต่มันก็เป็นวิธีที่ทำให้คนรู้สึกว่าเขาสามารถมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ได้ เราเชื่อว่าวันนี้หลายคนอึดอัดกับกำแพงกันคลื่น เขาเสียใจที่แท่งเหล็กมันมาตอกลงบนหาดของเขา แต่คำถามคือ แล้วเขาจะไปมีส่วนร่วมได้ยังไง เราต้องดึงอารมณ์ตรงนี้ออกมาพร้อมๆ กับช่วยเสริมข้อมูลความรู้ เปิดพื้นที่ให้สังคมได้เกิดการแลกเปลี่ยน เราคิดว่าอันนี้คือคีย์สำคัญ” 

ตลอดเวลาที่พูดคุยกันมามีอยู่หนึ่งคำที่เราจะได้ยินเขาพูดย้ำอยู่ในทุกช่วงของบทสนทนา นั่นคือคำว่า ‘ข้อมูลทางวิชาการ’ จนเราอดสงสัยไม่ได้ว่าสำหรับน้ำนิ่งแล้ว ‘ข้อมูล’ มีพลังมากขนาดไหน 

“ข้อมูลมันคือ…” น้ำนิ่งหยุดคิดไปชั่วครู่ ก่อนจะย้อนกลับมาถามเราแทน
“ถ้าสมมติผมบอกว่าผมไม่เห็นด้วยกับการสร้างกำแพงกันคลื่น คุณจะฟังไหม” 
“มันคงเกิดคำถามต่อว่าแล้วไม่เห็นด้วยเพราะอะไร” เราตอบเขา

“นั่นไง! มันเป็นความเชื่อแบบเดิมๆ ของคุณ คุณเอาอะไรมาตัดสินว่ามันไม่ควรสร้าง แต่สุดท้ายถ้าเราสามารถพิสูจน์ได้ว่าเราค้านเพราะมันไม่มีความจำเป็น หากมันไม่ได้กัดเซาะ จะบอกได้ไงก็ต้องใช้ข้อมูล หรือจะบอกได้อย่างไรว่าชาวบ้านไม่ต้องการกำแพงกันคลื่นอันนี้ ก็นี่ไงรายชื่อ สุดท้ายทุกอย่างมันตอบด้วยข้อมูลและความรู้หมดเลย ดังนั้นแนวทางของมันคือการใช้ข้อมูลและเหตุผลในการอธิบายกับสังคม ไม่ใช่ใช้อารมณ์และความรู้สึกในการมาบอกว่าฉันไม่เอา”

แต่พลังของข้อมูลความรู้ทางวิชาการอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการจะสร้างการเปลี่ยนแปลง น้ำนิ่งเสริมในประเด็นนี้ว่า สุดท้ายแล้วเราจำเป็นต้องย้อนกลับไปถามคนในพื้นที่ว่าพวกเขาต้องการอะไรโดยใช้ข้อมูลทางวิชาการในการประกอบการตัดสินใจ เขายังย้ำคำเดิมว่าประเด็นเรื่องอภิสิทธิ์เหนือทรัพยากรจำเป็นอย่างมากที่จะต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน เพราะนี่คือแนวทางที่จะช่วยประสานประโยชน์ร่วมกันและขจัดความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

“สิ่งที่เราเห็นผ่านกรณีม่วงงาม คือเราเห็นเลยว่าภาครัฐไม่ใช้วิธีการที่จะคุยกับประชาชนแถมยังมีท่าทีที่แข็งกร้าวมากด้วย แต่พอมองกลับมาที่ประชาชน เชื่อไหมทั้งๆ ที่มันเกิดในช่วงที่ประเทศมีพ.ร.ก.ฉุกเฉินและมันเอื้อต่อการใช้อำนาจเด็ดขาด แต่ไม่มีพี่น้องม่วงงามคนไหนบอกให้ใช้กฎหมายพิเศษเพื่อคัดค้านการสร้างกำแพงกันคลื่นเลย ทุกคนต่างยืนหยัดต่อสู้ด้วยข้อมูลความรู้ทางวิชาการและท่าทีที่สันติ”

“เรื่องนี้มันเลยไม่ใช่แค่กระบวนการคัดค้านของคนที่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อน แต่มันเป็นการยื้อแย้งอำนาจระหว่าง ‘อำนาจเก่า’ อย่างอำนาจที่ภาครัฐเชื่อว่าตนเองมี และ ‘อำนาจใหม่’ คือ อำนาจของประชาชน มันคือการที่ประชาชนลุกขึ้นมาต่อรองกับผู้มีอำนาจทั้งหลายว่าฉันมีสิทธิ์และมีความชอบธรรมพอในการที่จะดูแลปกปักรักษาฐานทรัพยากรของบ้านฉัน สำหรับเรากรณีของม่วงงามมันเลยเป็นกรณีที่ก้าวหน้ามากด้วยเหตุผลตรงนี้”

คลื่นลูกที่ 3 

ก่อนที่จะมาพูดคุยกันในวันนี้ คนรอบตัวเราต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าน้ำนิ่งเป็นคนตั้งใจทำงานและจริงจังกับเรื่องหาดทรายมากถึงมากที่สุด ขนาดถึงขั้นที่มีคนบอกเราว่า หากลองพิมพ์ 3 คียเวิร์ดที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาชายฝั่งในภาคใต้อย่าง คำว่า ‘สงขลา หาดทราย กำแพงกันคลื่น’ ลงในกูเกิ้ล ไม่มีทางที่จะไม่ขึ้นชื่อของน้ำนิ่ง 

กระบวนการคิดที่มีการวางแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ความเชื่อและอุดมการณ์ที่มีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจากวันนี้เพียงอย่างเดียว แต่ทั้งหมดนี้คือผลลัพธ์ของประสบการณ์ที่น้ำนิ่งสั่งสมมาตลอด 9 ปีที่เขาทำงานอยู่ใน Beach for life ตั้งแต่การทำธรรมนูญเยาวชนอนุรักษ์หาดสมิหลาอย่างยั่งยืน ในปี พ.ศ. 2557 เพื่อให้คนสงขลามีสิทธิและมีส่วนร่วมในการดูแลหาดสมิหลาอย่างยั่งยืน ตามมาด้วยการฟ้องคดีชายหาดสมิหลา-ชลาทัศน์ ในปีพ.ศ. 2558 เพื่อหยุดยั้งการสร้างโครงสร้างแข็งลงบนหาดสมิหลา และปิดท้ายด้วยภารกิจล่าสุดอย่างการ #saveหาดม่วงงาม จากกำแพงกันคลื่น ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสิ่งที่ประกอบสร้างให้เกิดชายหนุ่มที่ขออุทิศตัวให้หาดทรายอย่างน้ำนิ่งขึ้นมา

“เราว่าเราได้บ่มเพาะเรื่องพวกนี้มาจากการเรียนรู้กับพี่ๆ NGO และจากการทำงานจริงของเรานะ แต่เราคิดว่ามันมีอีกหนึ่งสิ่งสำคัญเหมือนกันที่บ่มเพาะให้เราและอาจจะเป็นเด็กรุ่นใหม่ทุกคนคิดอย่างนี้ คิดที่จะเปลี่ยนแปลง” 

“มันคืออะไร” เราถามเขากลับไปทันที 

“มันคือการเห็นความเน่าเฟะของสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน การใช้อำนาจที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด การไม่ให้เกียรติประชาชน เราว่าเรื่องนี้ทำให้คนรุ่นใหม่หลายคนอึดอัดต่อสังคมที่มันเป็นอยู่และประเด็นคือมันหมดหวัง มันหมดหวังกับประเทศเฮงซวย แต่มันต้องอยู่ไง ยิ่งมีโควิดยิ่งหนีไม่ได้เลยนะ เพราะไม่มีเงินไปต่างประเทศด้วย” 

แม้น้ำนิ่งจบประโยคด้วยเสียงหัวเราะแต่แววตาของเขากลับสะท้อนถึงความโกรธเกรี้ยวกับสภาพสังคมที่เป็นอยู่
เขาเว้นช่วงไปพักหนึ่งก่อนจะพูดขึ้นมา 

“เรากำลังอยู่ในสังคมที่สิ้นหวังแล้ว แต่เราไม่อยากจะหมดหวังกับมัน ดังนั้นมันเลยทำให้คนรุ่นใหม่ต้องออกมาทำอะไรเยอะมาก และอย่าลืมว่าทุกวันนี้เทคโนโลยีมันไปไกลมาก เราเห็นว่าคนรุ่นใหม่ทั่วโลกกำลังเคลื่อนไหว ทั้งหมดนี้มันก็เป็นแรงบันดาลใจให้กับเรา อย่างกรณีม็อบที่ฮ่องกง เราก็ติดตามข่าวอยู่เสมอ ทำไมโจชัว หว่อง ถึงสามารถยืนหยัดได้ขนาดนั้น เราอาจจะไม่ได้เรียกร้องแบบเขา แต่มันก็ทำให้เห็นว่าไม่ใช่แค่บ้านเราที่มีปัญหา บ้านคนอื่นก็มีปัญหาเหมือนกัน แต่ทุกคนก็ยังคงมีความหวังต่อการเปลี่ยนแปลงและทำในบทบาทที่แต่ละคนทำได้”

“สำหรับเรา ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงจากเรื่องของเราเช่นเรื่องหาดทราย ถ้าเรามองเรื่องหาดทรายเพียงแค่ปกป้องหาดทราย มันก็จะได้ทำได้แค่ปกป้อง แต่ถ้าเมื่อไหร่เรามองว่ากระบวนการทำงานของเรามันทำให้ผู้คนเข้าใจความหมายของประชาธิปไตย มันทำให้คนมีศักดิ์ศรีเท่ากัน มันก็จะส่งผลให้สังคมดีงามตามไปด้วย เราเชื่อ เชื่อมากว่าสังคมมันจะเปลี่ยน เชื่อต่ะ (ภาษาใต้แปลว่าเชื่อเถอะ) มันเปลี่ยนแน่ๆ”

บทสนทนาที่เต็มไปด้วยแพสชั่น ซึ่งไม่น่าเชื่อว่ามันถูกบ่มเพาะด้วยความข่มขื่นจากสังคมที่ผุผังดำเนินมาถึงในช่วงท้าย ก่อนที่จะส่งไม้ต่อให้กับคลื่นลูกใหม่ของ Beach for life ที่น้ำนิ่งภูมิใจนำเสนอ เราขอถามเขาอีกหนึ่งคำถามว่า
เป้าหมายต่อไปของ Beach For life คืออะไร 

“Beach for life คงเดิมตาม 4 แนวทางที่เราได้พูดไว้ตอนต้น เพราะมันยังมีอีกหลายพื้นที่ที่กำลังเผชิญปัญหาเดียวกันไม่ต่างจากที่ม่วงงาม ดังนั้นการลงไป empower ชุมชนคงเป็นแนวทางที่เราจะต้องทำต่อไป เราเชื่อว่า เมื่อเราหย่อนเมล็ดพันธุ์ลงไปแล้ว มันไม่มีทางจางหายแน่นอนและจะค่อยๆ โตไปตามวิถีของมัน หลังจากนี้มันอยู่ที่สิ่งแวดล้อมรอบต้นไม้ต้นนั้นแล้ว มันอยู่ที่ชุมชนแล้วว่าพวกเขาจะบ่มเพาะให้มันโตต่อไปอย่างไร ถ้าเขาเชื่อมั่นในเรื่องนี้เหมือนกันกับเรา เขาก็จะทำต่อไป” 

“แต่ทุกวันนี้ Beach for life มันไม่ได้ทำแค่เรื่องชายหาดอย่างเดียวแล้ว ระหว่างทางที่เราปกป้องหาด เราก็บ่มเพาะวิธีคิดแบบที่เราเชื่อมั่นส่งต่อไปให้น้องๆ ด้วย การทำงานร่วมกันทำให้เราได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน การถกแถลงพูดคุยทำให้พวกเราโตขึ้น สุดท้ายการเปลี่ยนแปลงมันต้องดูกันไปยาวๆ เราตัดสินแค่ ณ วันนี้ไม่ได้มันก็ค่อยๆ เรียนรู้และเติบโตกันไป สังคมเองก็เหมือนกัน” 

คลื่นลูกที่ 4 – New wave 

อารัช ขวัญเจริญ เป็นเด็กหนุ่มที่น้ำนิ่งให้ฉายาว่าเป็น ‘ขงเบ้งแห่ง Beach for life’ ซึ่งในภารกิจ #saveหาดม่วงงาม ที่ผ่านมา หนุ่มร่างบางตรงหน้าเราก็เป็นอีกคนที่ช่วยน้ำนิ่งขับเคลื่อนประเด็นนี้อย่างจริงจัง เขาคนนี้เป็นผู้อยู่เบื้องหลังอาร์ตเวิร์กเท่ๆ และแคมเปญเก๋ๆ ต่างๆ ที่เราได้เห็นกัน ด้วยเหตุนี้เองถ้าจะให้ปล่อยผ่านไปเฉยๆ คงจะน่าเสียดายแย่ ไหนๆ ก็มาไกลถึงสงขลาทั้งที การได้พูดคุยกับว่าที่ GEN 2 ของ Beach For life ก็ทำเอาเราอดตื่นเต้นเสียไม่ได้ 

“ผมรู้จัก Beach For life ตั้งแต่ ม.1 แล้วนะ ผมยังจำได้อยู่เลยว่าตอนนั้นเห็นคนออกมาเดินพาเหรดกัน ช่วงตอนมีธรรมนูญเยาวชนอนุรักษ์หาดสมิหลาอย่างยั่งยืน แต่เราก็ไม่รู้เรื่องอะไร ตอนนั้นผมยืนมองแล้วยังคิดอยู่เลยว่าเขาทำอะไรกันวะ” อารัชหัวเราะน้อยตามสไตล์หนุ่มขี้เขิน

เขาเล่าให้เราฟังว่า ด้วยความที่ตัวเองเป็นรุ่นน้องในโรงเรียนเดียวกันกับน้ำนิ่งจึงทำให้รู้จักชมรม Beach for life มาตลอดแต่ด้วยความที่เป็นเด็กขี้อายจึงทำให้ไม่กล้าไปสมัครชมรม จนกระทั่งขึ้นม.3 ก็มีรุ่นพี่มาชวนให้ไปเข้าร่วมชมรมจึงตัดสินใจที่จะลองดู อารัชสารภาพว่าตอนแรกก็ไม่รู้ว่า Beach for life ทำอะไรบ้าง แต่ด้วยความที่อินเรื่องชายหาดมาตั้งแต่เด็กๆ จึงทำให้เขาตอบรับคำเชิญอย่างไม่ลังเล 

“บ้านผมอยู่ติดทะเล ผมเห็นทะเลทุกวัน ในใจของผมมันคิดมาตลอดว่าอยากทำอะไรเพื่อส่วนรวมและอยากทำอะไรที่มากกว่าแค่การเก็บขยะตามริมชายหาด การเข้ามาทำงานที่นี่มันก็เลยตอบโจทย์ในเรื่องนี้ ต้องบอกว่าเมื่อก่อนผมไม่ได้เป็นคนมองปัญหาแบบนี้ ผมมองว่าปัญหามันก็คือปัญหา เพราะที่ผ่านมาโรงเรียนไม่เคยสอนให้เรามองเห็นถึงต้นตอของปัญหาเลย”

“พอมาทำงานใน Beach for life ผมถึงได้เรียนรู้ว่าต้นตอปัญหามันมาจากมนุษย์ อย่างเรื่องชายหาด มันก็อยู่ของมันเฉยๆ ชายหาดไม่สามารถลุกขึ้นมาพูดได้ว่าอย่าเอาเขื่อนมาสร้างให้กับเรานะเพราะเราไม่ต้องการ ชายหาดพูดไม่ได้ ทุกอย่างมนุษย์เป็นคนกำหนดเอง เราเป็นคนกำหนดสิทธิ์ กำหนดว่าธรรมชาติจะเป็นยังไง ฉะนั้นมันเลยจำเป็นอย่างมากที่ต้องกระจายข้อมูลเรื่องชายหาดที่ถูกต้องให้ผู้คนได้รับรู้ สังเกตง่ายๆ มีคนสงขลาหลายคนไม่เข้าใจเรื่องหาดทรายเลยทั้งๆ ที่มีหาดอยู่หน้าบ้าน เขาไม่รู้เลยว่าการสร้างเขื่อนที่ดูเหมือนเป็นการป้องกันแต่จริงๆ แล้วทำให้ชายหาดเกิดการกัดเซาะมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งหมดนี้ผมว่ามันจำเป็นต้องได้รับการสื่อสารออกไป Beach for life ก็เข้ามาทำหน้าที่ในตรงนี้” 

นอกจากเรื่องการสื่อสารข้อมูลทางวิชาการ อีกหนึ่งเป้าหมายในวันนี้ของ Beach for life คือการบ่มเพาะคนและสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงความคิดและความเชื่อ ไม่ใช่แค่ปกป้องหาดทรายแต่ผู้คนต้องเข้าใจถึงสิทธิของตนเอง มือขวาของน้ำนิ่งมีความเห็นอย่างไรในเรื่องนี้ ดูจะเป็นคำถามที่น่าสนใจ 

“จากประเด็นเรื่องหาดทรายมันพาเราไปเห็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ผมเห็นว่าผู้คนยังมีความรู้ไม่เพียงพอ ผมเห็นว่าชาวบ้านไม่เข้าใจว่าเขามีสิทธิ์ในการกำหนดว่าอยากให้บ้านของตัวเองเป็นอย่างไร ซึ่งผมอยากจะเปลี่ยนแปลงตรงนี้ ผมอยากทำให้ทุกคนรู้ว่าเขาสามารถทำได้ โดยไม่จำเป็นว่าต้องเรียนจบสูงๆ หรืออย่างไร เราทุกคนสามารถทำได้เพราะเราอยู่ในพื้นที่นี้ เราเข้าใจในพื้นที่ของเราจริงๆ ซึ่งเมื่อไหร่ที่ชุมชนเข้มแข็ง ผู้มีอำนาจต่างๆ ก็ไม่สามารถเข้ามามีอิทธิพลได้อีกต่อไป”

“แต่การเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องง่าย” เราถาม 
“ใช่” เขาตอบ 
“รู้อย่างนี้แล้วก็ยังทำต่อ” เราถามย้ำอีกที 

“ใช่ครับ เพราะผมยังฝันเห็นอนาคตที่ดีของประเทศไทย ยังฝันเห็นคนรุ่นใหม่เข้ามาทำอะไรเพื่อสังคม ผมฝันเห็นเรื่องนี้อยู่ทุกวัน ผมอยากเห็นสังคมไทยตั้งคำถามกับอะไรมากขึ้น ซึ่งเอาจริงๆ ทุกวันนี้มันก็ตั้งคำถามกันเพิ่มขึ้นแล้วนะ มันเริ่มขยับแล้วอะ ถึงแม้มันอาจจะดูช้าไปบ้างแต่มันค่อยๆ เคลื่อนไปข้างหน้าแล้ว ผมเชื่อว่าถ้าเรายังไม่หยุดทำ สุดท้ายสังคมมันจะเปลี่ยนแปลงไป” 

ไม่ต่างจากชายหนุ่มทั้งคู่ที่ได้พูดคุยกับเราในวันนี้ ยังมีคนรุ่นใหม่อีกหลายคนที่อึดอัดและอยากลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อบ้านของตัวเอง แต่ก็มาติดอยู่ตรงที่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไรดี ในฐานะคนที่กำลังเดินอยู่บนเส้นทางเดียวกัน เราถามอารัชว่าเขามีคำแนะนำที่อยากจะฝากถึงเพื่อนร่วมทางไหม

“ผมว่าการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นได้จากที่ตัวเรา แต่การเปลี่ยนแปลงที่ว่าไม่ได้เกิดจากการแค่เราไปอ่านหนังสือเป็นตั้งๆ แต่มันเกิดจากการลงมือทำ ลงไปเจอ ลงไปเห็น และพอเราเปลี่ยนแปลงตัวเราได้ก็ลองหันไปมองรอบๆ ไม่ต้องอะไรมาก ลองเดินในซอยบ้านเราดูก็ได้ เราเห็นว่าชุมชนเราถังขยะไม่พอ เราก็ลงมือทำเลย อาจจะเริ่มจากการไปแจ้งเทศบาล ถ้าเขาทำตามก็โอเค ถือว่าเราทำสำเร็จแล้ว นี่ก็ถือเป็นการที่เราได้ทำอะไรเพื่อบ้านตัวเองแล้วนะ เราแค่คนเดียวสามารถกำหนดพื้นที่ของบ้านเราได้แล้วว่าในชุมชนเราต้องมีถังขยะที่เพียงพอ แล้วหลังจากนั้นก็ค่อยๆ ขยับไปประเด็นที่ใหญ่ขึ้น แต่มันต้องเริ่มทำ เริ่มจากวันนี้ เริ่มจากตัวเรานี่แหละ”