'มันคือการเคลื่อนไหวของสามัญสำนึก' เข้าใจคนรุ่นใหม่ 'ไม่ตั้งธง-ไม่เข้าข้าง' แต่เคียงข้างกัน - Decode
Reading Time: 3 minutes

หลากคำถาม หลายคำตอบและการตอบโต้เรื่องการเมืองระหว่างเจนเก่า และเจนใหม่ที่มีอยู่ขณะนี้ คำถามหนึ่งที่เกิดขึ้น คือ เราจะเข้าใจคนรุ่นใหม่ได้อย่างไร ในมุมไหนบ้าง และควรอย่างไรดีเมื่อความคิดความเชื่อของเราก็ไม่ได้ไปในทางเดียวกัน

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2563 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีเสวนา “เข้าใจคนรุ่นใหม่ ท่ามกลางโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง” ขึ้น ชวนนักเรียนนักศึกษา และนักวิชาการตอบคำถามนี้ เพื่อเข้าใจว่า เพราะอะไร Movement ของนักเรียนนักศึกษาตั้งแต่ แฟลชม็อบ ที่ เรื่อยไปจนถึงการผูกโบว์ขาว ชูสามนิ้ว จึงเกิดกระจายไปทั่วทั้งประเทศ กระแสที่ไม่ใช่การทำตามกระแสและแฟชั่น

วงเสวนานี้ เริ่มต้นให้นักเรียน นักศึกษา คนรุ่นใหม่ขึ้นพูดเป็นเวลาสั้น ๆ ส่วนใหญ่พูดถึงประเด็นความเหลื่อมล้ำที่ตัวเองได้รับผลกระทบ และเหตุผลว่า “ทำไม” พวกเขาจึงต้องมาเรียกร้องสิ่งนี้

“ไม่ว่าอยู่ที่ไหนเราก็เป็นคนเท่ากัน”

บุ๊ค-ยุทธนา ณ อยุธยา แร็ปเปอร์คลองเตย วัย 19 ปี เริ่มต้นเปิดประเด็นความเป็นคนรุ่นใหม่ในวันที่เราอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงด้วยการแรพเพลงที่บ่งบอกชีวิตของเขาว่าเกิดและเติบโตในคลองเตย พื้นที่ที่ถูกตีตรา และมีภาพจำในทางลบ ขณะเดียวกันพื้นที่นี้เองก็เป็นพื้นที่สะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำ และความไม่เท่ากันของคนได้ชัดเจนแห่งหนึ่ง

บุ๊คบอกว่า เขาเป็นเด็กเรียนคนหนึ่ง แต่ก็ทำกิจกรรมด้วย เมื่อวันหนึ่งได้รู้จักการเพลงแรพ มันทำให้เขาหลงใหล และหมกมุ่นกับสิ่งนี้ จนผลการเรียนตกลง แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่เขาถูกตัดสินว่า เหลวไหล ซึ่งเราสงสัยว่าทำไมเขาจึงแคร์แค่ผลการเรียน ไม่ได้ใส่ใจเรื่องความฝัน

“คนเรามีความสามารถแตกต่างกัน เราควรตั้งคำถามว่า เราจะทำทั้งสองอย่างนี้ให้มันผสานกันได้ไหม เด็กจะได้อยากเรียนทุกวัน”

หลายคนอาจเคยเห็น บุ๊ค-ยุทธนา ในเวทีการชุมนุมต่าง ๆ และเขาก็เป็นคนหนึ่งที่ถูกหมายจับเมื่อวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งบุ๊คก็บอกว่า ยังคงเดินหน้าต่อไป เพื่อเรียกร้องให้การศึกษาไทยมีการเปลี่ยนแปลง

“อยากต่อสู้กับความไม่เท่าเทียมที่ผมเจอมาทั้งชีวิต อยากเป็นกระบอกเสียงให้คนในพื้นที่ อยากเห็นนักเรียนมีส่วนออกแบบการศึกษาของตัวเองได้จริง ๆ”

ปากท้องเรื่องการเมือง และเราคือผู้เสียเปรียบจากระบบทุนนิยม

“ผมเติบโตมาในครอบครัวของผู้เสียเปรียบในระบบทุนนิยม นี่ไม่ใช่ปัญหาครอบครัว แต่เป็นปัญหาโครงสร้างทางการเมืองที่บิดเบี้ยว”

ฟอร์ด-ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี เลขาธิการกลุ่มประชาชนปลดแอก กล่าวในเวทีเสวนา “เข้าใจคนรุ่นใหม่ ท่ามกลางโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง” ซึ่งจัดโดยคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยืนยันใน 3 ข้อเรียกร้องของประชาชนปลดแอกและอธิบายถึงแรงผลักที่ทำให้ต้องการออกมาอยู่แถวหน้าของการเรียกร้องครั้งนี้เพราะโครงสร้างทางการเมืองที่บิดเบี้ยว โดยตนเองเติบโตมาในครอบครัวของผู้เสียเปรียบในระบบทุนนิยม พ่อแม่ต้องทำงานหนัก เมื่อศึกษาลึกลงไปกลับพบว่า ปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาปัจเจกบุคคลหรือปัญหาครอบครัว แต่เป็นปัญหาโครงสร้างทางการเมืองที่บิดเบี้ยว

“ทำไมเราถึงออกมาเรียกร้องเรื่องการเมือง หลายคนคงคิด และผมเองก็เคยคิดว่ามันไม่เกี่ยวกับเรื่องปากท้อง แต่ความจริงแล้ว เรื่องปากท้องล้วนเป็นผลลัพธ์จากโครงสร้างทางการเมืองทั้งนั้น มันจึงไม่ใช่ปัญหาปัจเจกบุคคล แต่เป็นปัญหาโครงสร้างที่กดทับศักยภาพเรา ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ มีคนเพียง 1% ที่ครอบครองทรัพยากรมากถึง 2 ใน 3 ขณะที่อีกกว่า 90% มีสิทธิ์ใน 1 ส่วนเท่านั้น”

ทัตเทพ กล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งที่ทำไม่ใช่แค่รุ่นเขา แต่เป็นการไม่ส่งต่อโครงสร้างแบบนี้ไปสู่คนรุ่นอื่น ๆ การเปลี่ยนแปลงจะราบรื่นเมื่อเราหันหน้าเข้ากัน และรับข้อเสนอของเราไปทำ

เราเข้าใจคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเคลื่อนไหวน้อยมาก

ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า ที่ผ่านมามีคำถามประมาณ 10 หน้า A4 ที่ส่งเข้ามา เป็นคำถามที่เยอะมากและเป็นคำถามที่เราไม่มีคำตอบ เราจะอยู่ในสังคมอย่างไรโดยไม่มีความเข้าใจกัน หลังจากที่ตนได้พูดคุยกับนิสิต 60-70 คน เพื่อทำความเข้าใจว่าพวกเขาคือใคร การเคลื่อนไหวของพวกเขาเป็นแฟชั่นหรือไม่ ทำไมต้องลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวทางสังคม ทั้งหมดสามารถอธิบายได้ว่า ขบวนการเคลื่อนไหวของคนรุ่นนี้เกิดขึ้นมาจาก “3 การเปลี่ยนแปลง 2 ไม่เปลี่ยน 1 ความฝัน”

3 การเปลี่ยนแปลง
-การกล่อมเกลาที่เปลี่ยนมาเป็นแบบเสรีนิยม
-โลกที่ผันแปร รุนแรง รวดเร็ว
-การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี

2 ไม่เปลี่ยน
-โลกอนุรักษ์นิยมในสถาบันการศึกษา ซึ่งเป็นสถาบันเดียวที่ไม่เปลี่ยน แต่เป็นที่ที่พวกเขาใช้เวลาอยู่กับมัน 8 ชั่วโมง คนรุ่นก่อนเกิดในครอบครัวและโรงเรียนแบบอนุรักษ์นิยม ส่วนคนรุ่นนี้เติบโตมาในครอบครัวเสรีนิยม สิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจคือ การปะทะกันระหว่างครูรุ่นเก่าหัวอนุรักษ์นิยมและครูรุ่นใหม่หัวก้าวหน้า ดังนั้นเด็กจึงเติบโตมาพร้อมกับครูรุนใหม่ที่ไปไกลกว่าโลกเก่า
-รัฐประหาร 6 ปีไม่มีอะไรเปลี่ยน

1 ความฝัน
เขาเชื่อว่า เขาเป็นตัวแทนแห่งการเปลี่ยนแปลง เขาเชื่อว่าโลกที่จะเห็นข้างหน้าเป็นตัวเขา เขาไม่เชื่อในระบบราชการ ไม่เชื่อครู เขาเชื่อว่า เขาปกป้องอนาคตตัวเองได้และเป็นสิ่งที่เขาต้องทำ

“พวกเขากำลังเกิดในสังคมที่ยากขึ้น” เด็กรุ่นนี้เกิดในครอบครัวรุ่นใหม่ที่พ่อแม่พยายามเข้าใจลูกและพยายามสร้างให้เขาต่างจากพวกเรา

พวกเขาเผชิญปัญหาในโลกความเป็นจริง แต่เมื่อเจอและถูกขับเคลื่อนด้วยโครงสร้างแบบนี้ พวกเขาจึงให้สื่อออนไลน์ในการสื่อสารและระดมเพื่อน ๆ อาจารย์ทิ้งท้ายว้า “เราจะอยู่ยังไงต่อไป เพราะเพดานของเขาทะลุความเชื่อเดิมไปแเล้วในเวลานี้”

เด็กเห็นความเหลื่อมล้ำจากในโรงเรียนมาตลอด

ความเหลื่อมล้ำในโรงเรียนที่ ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พูดถึงเริ่มตั้งแต่การเห็นว่า ในโรงเรียนมีการแบ่งห้องเรียนเป็นห้องกิฟท์ ห้องคิง ห้องกีฬา ห้องคละ ไล่ไปจนถึงการพูดถึงโอกาสทางการศึกษา และคุณภาพการศึกษา

ผศ.อรรถพล บอกว่า ตอนนี้ครูกว่า 60% ในโรงเรียนเป็นครูที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปี ทำให้บรรยากาศห้องเรียนเปลี่ยนไปแล้ว แต่สิ่งที่ยังไม่เปลี่ยนคือกลไกลอำนาจรัฐ มีโครงการหรือนโยบายที่กระทบต่อชีวิตของเด็กโดยตรง เด็กจึงตั้งคำถามมากขึ้น และส่งเสียง

การไปเข้าร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมของคณะประชาชนปลดแอกเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2563 ผศ.อรรถพลบอกว่า วันนั้นคนที่ออกไปร่วมกัน แตกต่างหลากหลายกลุ่ม จนวันรุ่งขึ้นเห็นข่าวที่โรงเรียนหลายแห่งตอบโต้การแสดงออกทางการเมืองของนักเรียนในโรงเรียน มีทั้งข่มขู่ และยืนเคียงข้างเด็ก

โดยตั้งข้อสังเกตว่าโรงเรียนขนาดใหญ่จะพบปัญหานี้มากกว่า ขณะที่หลายโรงเรียนสอบถามว่าจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้เกิดการพูดคุยการแลกเปลี่ยนเรื่องประชาธิปไตยอย่างมีคุณภาพ

“เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการวิ่งร้อยเมตร แต่เป็นการวิ่งผลัด ที่ต้องส่งต่ออุดมการณ์และความเชื่อให้กัน ดังนั้นครูและโรงเรียนต้องเคารพและปกป้องคุ้มครองสิทธิ์ของเด็ก ไม่ลดพลังของพวกเขา ไม่ปิดปาก ไม่ปิดประตูใส่เด็ก”

ผศ.อรรถพล ยอมรับว่า เมื่อก่อนคนมีภาพจำว่าเด็กไม่เก่งก็มาเรียนครู แต่ในช่วง 10 ปีมานี้เปลี่ยนไปแล้ว มีคนมีศักยภาพมาเรียนครูเยอะ และเราก็เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเด็กรุ่นใหม่อีกแบบในวันนี้ และยิ่งนิสิตที่เข้าเรียนครุศาสตร์ปีนี้ก็ไม่ใช่แบบเดิมอีกต่อไป

มันไปไกลกว่า 14 ตุลาแล้ว

สังคมไทยมาถึงจุดนี้ เพราะคนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้ฟังเสียงของนักเรียน ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า นักศึกษา จริง ๆ คนส่วนใหญ่ร้อยละ 90 รับรู้ประเด็นการเคลื่อนไหวครั้งนี้ผ่านสื่อ ผ่านไลน์ แต่ไม่เคยฟังเองจากเวทีปราศรัย ซึ่งไม่ต้องเห็นด้วยก็ได้ แต่อยากให้เปิดใจก่อน

วิเคราะห์การเคลื่อนไหวในครั้งนี้ว่า เด็กกำลังปลุกมโนธรรมสำนึกให้สังคม เขาทำให้สังคมตื่นขึ้นมา และทำให้สังคมเชื่อว่าเปลี่ยนได้ การชุมนุมที่เกิดขึ้น คือ ห้องเรียนขนาดใหญ่ที่เด็กมาเลคเชอร์ให้เราฟัง ทั้งประเด็น ประชาธิปไตยและเรื่องสิทธิ จึงอยากให้ผู้ใหญ่มาเรียนรู้ไปด้วยกัน

การเคลื่อนไหวของนักศึกษาไม่ใช่เรื่องปกติ พื้นที่การเรียกร้องทางการเมืองในสังคมที่ปกติ เป็นพื้นที่ของกลุ่มที่เสียเปรียบโดยตรง และ ถ้าการเมืองปกติ พื้นที่ของ นักศึกษาคงไม่ใช่ท้องถนน เวลานี้ถ้าเราไม่นับฮ่องกง ไทยมี Social movement ที่คึกคักที่สุดในโลก การเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาในตอนนี้ ผมว่า มันไปไกลกว่า 14 ตุลาแล้ว เพราะมีการเคลื่อนไหวที่หลากหลายมากกว่าเหตุการณ์ในช่วงแวลานั้นแล้วรวมถึงชุดของอุดมการณ์ด้วย

มันเป็นปรากฏการณ์ไม่ปกติ ดังนั้นถ้ามันเกิดขึ้น ไม่ควรโฟกัสว่านักศึกษามีปัญหา แต่การเคลื่อนไหวแบบนี้มันสะท้อนว่าสังคมไทยป่วยไข้มาก ๆ เผด็จการการเมือง ผูกขาดเศรษฐกิจ และอำนาจนิยมทางวัฒนธรรมในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา

เราอยู่ในความผิดปกติอย่างรุนแรง” เด็กออกมากระตุ้นว่า 6 ปี ที่ผ่านมามันไม่ปกติ

ในทางการเมือง สังคมไทยเป็นสังคมท้าย ๆ ในโลกที่ประชาชนยังต้องมานั่งกังวลเรื่องรัฐประหาร และถ้ารัฐประหารเกิดขึ้นอีกครั้ง เราจะเป็นประเทศที่ล้าหลังทางการเมืองที่สุดในโลก มันจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า การเมืองที่ไม่ปกติเป็นหนึ่งในเงื่อนไข รวมถึงปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจที่บิดเบี้ยว ความเหลื่อมล้ำ และ 3 ปีที่ผ่านมา คนอยู่ใต้เส้นความยากจนมากขึ้น

การเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นการเคลื่อนไหวของสามัญสำนึก มันไม่ผ่านการท่องจำ หรือ การเขียนสคริปต์

ในรอบ 6 ปี หลังรัฐประหาร การปลูกผังเรื่องอำนาจนิยมที่รุนแรงมากขึ้นในโรงเรียน หลังรัฐประหารปี 2557 มีการปรับหลักสูตรและปรับชั่วโมง ให้มีการสอนเรื่องค่านิยม 12 ประการ บางโรงเรียนมีการเอาทหารเข้าไปสอนในโรงเรียน

การเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นปฏิกิริยาที่เกิดจากการกดทับในโรงเรียน วันนี้ค่านิยม และ การตระหนักรู้เปลี่ยนไปแล้ว อันที่จริงนักการศึกษาควรดีใจกับปรากฏการณ์นี้ เพราะเด็กคิดเองได้ มันเกิดขึ้นแล้วอย่างที่หลายท่านอยากเห็น 4-5 ปี มานี้ บทสนทนาในห้องเรียนเปลี่ยนไป

ขณะที่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของเด็กในวันนี้แท้จริงเกิดจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คณะรัฐประหาร และความเคลื่อนไหวแบบแปลกประหลาดที่บอกว่า ถ้ารักประชาธิปไตยไม่ต้องไปเลือกตั้ง

หลังจากนี้สังคมไทยจะเปลี่ยนไปยังไง…สิ่งที่ต้องเรียกร้องคืออย่าใช้วิธีการแบบเดิม ที่มีความรุนแรง ตอนนี้ปัญหาไม่ได้อยู่ที่นักศึกษา เพราะการเคลื่อนไหวของนักศึกษาเป็นการเคลื่อนไหวที่น่าห่วงเรื่องความปลอดภัย จึงต้องการเรียกร้องให้นักสันติวิธีออกมาปกป้องนิสิตนักศึกษา เพราะ…การแสดงความเห็นต่างไม่ใช่อาชญากรรมทางความคิด

ไม่ต้องเข้าข้าง แต่ต้องเคียงข้าง

นอกจากเหตุผลว่า “ทำไม” นักเรียนนักศึกษาต้องออกมา และแสดงจุดยืนแล้ว ในวงเสวนายังมีพื้นที่ให้ผู้เข้าร่วมได้พูดถึง “ความกลัว และการถูกคุกคาม” ด้วย ซึ่งทั้งหมดเคยเจอประสบการณ์การถูกคุกคามจากทั้งโรงเรียน ครู หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐ มีความกังวลว่าพ่อแม่ ผู้ปกครองจะผสานความเข้าใจ หรือจะเข้าใจความคิดของคนรุ่นใหม่อย่างไรเมื่อมีบางประเด็นที่อ่อนไหวต่อความเชื่อคนรุ่นเก่าหลายอย่าง ซึ่งหนึ่งในเยาวชนที่ร่วมเสวนาบอกว่า พ่อแม่ ผู้ปกครองมีหน้าที่ต้องดูแลให้ลูกหลานปลอดภัยจากการเคลื่อนไหว

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอบคำถามนี้ว่า แรกเริ่มอาจยังไม่ต้องเข้าใจว่าเพราะอะไรลูกจึงคิดเช่นนั้น แต่ยอมรับในความต่างทางความคิดก่อน อย่าเพิ่งตั้งธง เพราะความจริงมีมากกว่า 1 ลองดูก่อนว่า เขามีความเชื่อ มีความรับรู้มาจากหนังสือเล่มไหน หลักฐานอะไร หนังสือเล่มล่าสุด คือเล่มไหน ซึ่งเด็กรุ่นนี้อ่านหนังสือเยอะมากกว่าที่เราคิด

นอกจากนี้ ต้องเข้าใจว่าความเห็นต่างเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่บทบาทของพ่อแม่ คืออะไร การสนับสนุนน และปกป้องสิทธิ์ของเด็กเป็นบทบาทของพ่อแม่ ผมไม่เชื่อเรื่องการเข้าข้าง แต่เชื่อเรื่องการเคียงข้างมากกว่า