Columnist
ปริศนาความรุนแรงโดยรัฐไทย (ตอนที่ 2)
Reading Time: 2 minutes ในความเคลื่อนไหว รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเมืองในสังคมไทยตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา การชุมนุมของประชาชนบนท้องถนนกลายเป็นปรากฏการณ์ปรกติของสังคมไทย ในด้านดีการชุมนุมแสดงออกทางการเมืองของประชาชนถือเป็นชีพจรที่เข้มแข็งของประชาธิปไตย เพราะสะท้อนถึงความตื่นตัวของประชาชนที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางบ้านเมือง และยังสะท้อนถึงความเป็นพลเมืองที่แข็งขัน อันเป็นหัวใจของสังคมการเมืองแบบประชาธิปไตย สิ่งที่น่าเสียดายและยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังในสังคมไทย คือ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในห้วงสถานการณ์การชุมนุมของประชาชน ซึ่งมีทั้งรูปแบบที่เป็นการปะทะกันระหว่างขบวนการประชาชนต่างอุดมการณ์ และความรุนแรงจากรัฐ โดยจากสถิติในช่วงเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมาพบว่าความรุนแรงทางการเมืองที่นำไปสู่การบาดเจ็บสูญเสียของชีวิตผู้คนมากที่สุด คือ ความรุนแรงโดยรัฐในการการสลายการชุมนุมของประชาชน (state repression) บทความในตอนที่แล้ว ผมชี้ให้เห็นว่าปัจจัยเรื่องระบอบการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับกองทัพ (รวมถึงกลไกด้านความมั่นคงทั้งหลาย) เป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดแบบแผนและระดับความรุนแรงโดยรัฐในสังคมไทย แต่ข้อค้นพบอีกประการจากงานวิจัยพบว่ามุมมองของรัฐต่อผู้ชุมนุมทั้งระดับผู้วางแนวนโยบายและระดับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ ส่งผลสำคัญต่อระดับความรุนแรงของรัฐที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งมุมมองของรัฐต่อผู้ชุมนุมถูกกำหนดมาจากยุทธวิธีการเคลื่อนไหวและแนวคิดของผู้ชุมนุมแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกันไป ฉะนั้นการพิจารณามุมมองของรัฐ จึงแยกไม่ออกจากการวิเคราะห์ทำความเข้าใจวิธีการเคลื่อนไหว และอุดมการณ์ทางการเมืองของขบวนการประชาชน สันติวิธี-รุนแรง ผู้มีอำนาจรัฐและเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบดูแลการชุมนุมมองผู้ชุมนุมแต่ละกลุ่มไม่เหมือนกัน จากการรวบรวมข้อมูลเอกสารและการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่รัฐ พบว่ารัฐมีวิธีคิดในการแบ่งประเภทผู้ชุมนุมกลุ่มต่าง ๆ ออกเป็น 2 ประเภทหลัก โดยใช้เกณฑ์ 2 ประการด้วยกัน คือ หนึ่ง พิจารณาว่าวิธีการเคลื่อนไหวว่าเป็นแบบแนวทางสันติหรือมีแนวโน้มใช้ความรุนแรง และสอง อุดมการณ์หรือเนื้อหาของข้อเรียกร้องว่าเป็นเรื่องปากท้องหรือเรื่อง “การเมือง” และในกลุ่มที่เป็นการเมืองก็ยังพิจารณาต่อไปว่าเป็นการเมืองที่มีเป้าหมายมุ่งไปที่การประท้วงรัฐบาล หรือมีเป้าหมายเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจและท้าทายไปถึงสถาบันทางการเมืองที่สำคัญสูงสุดต่อชาติและความเป็นไทยซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐเน้นไปที่สถาบันกษัตริย์ แน่นอนว่าการแบ่งประเภทผู้ชุมนุมของเจ้าหน้าที่รัฐเช่นนี้เป็นการแบ่งโดยใช้คำว่า “การเมือง” ในความหมายแคบ […]