ปริศนาความรุนแรงโดยรัฐไทย (ตอนที่ 1) - Decode
Reading Time: 2 minutes

ในความเคลื่อนไหว

รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ

สังคมไทยเป็นหนึ่งในสังคมที่มีความขัดแย้งเรื้อรังมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก หากย้อนกลับไปวิกฤตความขัดแย้งในปัจจุบันเริ่มก่อตัวตั้งแต่ พ.ศ. 2548 แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะมีความพยายามหาทางออกจากความขัดแย้งนี้จากฝ่ายต่าง ๆ แต่รูปแบบการหาทางออกส่วนใหญ่ลงเอยด้วยการเรียกร้องให้มีการ “ปรองดอง” และ “ลืมความขัดแย้ง” มากกว่าความพยายามแก้ไขปัญหาที่รากฐานของความขัดแย้ง ซึ่งได้แก่ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การกระจุกตัวของอำนาจและทรัพยากร กติกาที่ไม่เป็นธรรมทางการเมือง และการบังคับใช้กฎหมายที่ขาดความเสมอภาค

สภาวะที่สังคมมีความขัดแย้งแบ่งขั้วอย่างลึกและขาดกติกาที่ยอมรับร่วมกันส่งผลให้การเมืองไม่สามารถหาทางออกอย่างสันติผ่านช่องทางที่เป็นทางการในระบบ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้ง พรรคการเมือง และรัฐสภา ทำให้กลุ่มและขบวนการต่าง ๆ ที่มีอุดมการณ์แนวคิดแตกต่างหลากหลายกันออกไปจำเป็นต้องหันไปใช้การแสดงออกทางการเมืองบนท้องถนน นับเรื่อยมาตั้งแต่การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กปปส. มาจนถึงเยาวชนปลดแอก คณะราษฎร 2563 และกลุ่มเยาวชนอีกมากมายหลายกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวในสมัยรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา (พ.ศ. 2562-2566)  รัฐบาลแต่ละยุครับมือกับการแสดงออกทางการเมืองของประชาชนด้วยแนวทางและระดับความเข้มข้นที่ต่างกันออกไป มีทั้งการใช้มาตรการทางกฎหมาย การเจรจา การหาทางออกผ่านกระบวนการทางการเมือง รวมถึงการใช้ความรุนแรงอย่างเด็ดขาดในการสลายการชุมนุม ซึ่งส่งผลให้เกิดความสูญเสียต่อทรัพย์สิน ร่างกาย และชีวิตของประชาชน ทั้งยังทำให้ความขัดแย้งของคนกลุ่มต่าง ๆ ในสังคมร้าวลึกมากขึ้นจนยากแก่การหาทางออก

ความรุนแรงจากการปราบปรามโดยรัฐ (state violence) เกิดขึ้นซ้ำหลายครั้งในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าวงวิชาการไทยกลับไม่ได้ให้ความสำคัญที่จะศึกษาความรุนแรงของรัฐอย่างเป็นระบบ เพื่อค้นหาแบบแผน สาเหตุ ผลกระทบ วิธีคิดและนโยบายของรัฐในการจัดการความขัดแย้งที่ทำให้ความขัดแย้งจบลงด้วยความรุนแรงซ้ำ ๆ เราจึงขาดความรู้เกี่ยวกับปฏิบัติการและวิธีคิดของรัฐ ซึ่งเป็นฝ่ายที่กุมอำนาจ ทรัพยากร และผูกขาดการใช้ความรุนแรงในสังคม

การค้นหาแนวทางแก้ปัญหาเพื่อพาสังคมไทยออกจากกับดักความรุนแรงทางการเมืองที่ยืดเยื้อเป็นภารกิจร่วมกันของทุกฝ่าย โดยโจทย์ที่สำคัญสำหรับสังคมไทยในปัจจุบันและในอนาคต คือการสร้างประชาธิปไตยที่ยั่งยืน สันติ และปลอดจากความรุนแรง โดยเราต้องเริ่มต้นจากการยอมรับว่าความขัดแย้งเป็นปรากฏการณ์ปรกติในทุกสังคม สิ่งที่ไม่ปรกติและเป็นปัญหาคือ การใช้ความรุนแรงมาจัดการความขัดแย้งซึ่งทั้งไม่แก้ปัญหาและซ้ำเติมปัญหาให้หนักกว่าเดิม ฉะนั้น ประเด็นสำคัญคือ การค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธีในกลุ่มผู้กำหนดนโยบาย และระดับปฏิบัติการของรัฐเพื่อป้องกันไม่ให้รัฐใช้กำลังรุนแรงแก้ไขปัญหา พร้อมกับการสร้างวัฒนธรรมให้รัฐเคารพความแตกต่างหลากหลายและการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงออกทางการเมือง และการสร้างกลไกเพื่อทำให้ประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายสามารถเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง เพื่อส่งเสียงสะท้อนปัญหาความเดือดร้อนที่แต่ละกลุ่มได้รับโดยไม่ต้องเผชิญกับการปราบปรามด้วยความรุนแรงจากรัฐ

ความรุนแรงโดยรัฐ เป็นหัวข้อที่มีการสั่งสมองค์ความรู้กันมาอย่างยาวนานในวงวิชาการสากล งานวิชาการที่ศึกษาปรากฏการณ์นี้พยายามที่จะศึกษาเหตุผลและวิธีการใช้ความรุนแรงที่รัฐเลือกใช้ว่าเหตุใดรัฐแต่ละรัฐจึงเลือกใช้ความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ กันในสถานการณ์ที่ต่างกันออกไป อาทิ การจับกุมคุมขังนักโทษการเมืองตามอำเภอใจ การทรมาน การลักพาตัว การจงใจทำให้บุคคลหายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอย การลอบสังหาร การสังหารหมู่ เป็นต้น การศึกษายังพยายามตอบคำถามว่า ด้วยความถี่และขอบเขตของการใช้ความรุนแรงของรัฐด้วย

ความจริงของความรุนแรงทางการเมือง: สถิติผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต 2549-2565

ก่อนที่จะวิเคราะห์สาเหตุและวิธีคิดของรัฐที่นำไปสู่การตัดสินใจใช้ความรุนแรง จำเป็นที่เราจะต้องมีฐานข้อมูลที่เป็นระบบและครอบคลุมเกี่ยวกับแบบแผนความรุนแรง (pattern of violence) เสียก่อน ในงานวิจัยของผมที่ศึกษาเรื่องความรุนแรงโดยรัฐในสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองระหว่าง พ.ศ. 2548-2565 ได้ทำการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลสื่อมวลชน สถิติของหน่วยงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข รายงานของหน่วยราชการและองค์กรอิสระ รายงานของรัฐสภา และข้อมูลที่รวบรวมโดยภาคประชาชน เพื่อสร้างฐานข้อมูลเกี่ยวกับความรุนแรงโดยรัฐผ่านการจำแนกวันเวลา สถานที่ จำนวนผู้บาดเจ็บและสูญเสีย และรูปแบบของความรุนแรงที่เกิดขึ้น

จากข้อมูลที่รวบรวมอย่างเป็นระบบสามารถสรุปเป็นสถิติความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในแต่ละรัฐบาล โดยจำแนกตามจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ดังต่อไปนี้

  1. รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร สมัยที่ 2 (พ.ศ. 2544-2549) มีผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง 14 ราย แบ่งเป็นพลเรือนทั่วไป 13 ราย และผู้สื่อข่าว 1 ราย และไม่มีรายงานการเสียชีวิต
  2. รัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ (พ.ศ. 2549-2551) มีผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง 109 ราย แบ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ 80 นาย พลเรือน 29 ราย และไม่มีรายงานการเสียชีวิต
  3. รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช (พ.ศ. 2551) มีผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง 180 ราย แบ่งเป็น เจ้าหน้าที่รัฐ 7 นาย พลเรือน 130 ราย และผู้สื่อข่าว 2 ราย และมีผู้เสียชีวิตเป็นพลเรือน 2 คน
  4. รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (พ.ศ. 2551) มีผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง 626 ราย แบ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ 57 นาย พลเรือน 529 ราย และผู้เสียชีวิตเป็นพลเรือน 7 คน
  5. รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (พ.ศ. 2551-2554) มีผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง 1,710 ราย (เนื่องจากมีจำนวนผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม 2553 จำนวนมากเป็นหลักพันคนและไม่มีแหล่งข้อมูลใดที่จำแนกลักษณะของผู้บาดเจ็บอย่างเฉพาะเจาะจง จึงทำให้ไม่สามารถระบุรายละเอียดได้อย่างแน่ชัด) และเสียชีวิต 101 คน
  6. รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (พ.ศ. 2554-2557) มีผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง 907 คน แบ่งได้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ 240 นาย พลเรือน 654 ราย และผู้สื่อข่าว 8 ราย ส่วนผู้เสียชีวิต 30 ราย แบ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ 4 นาย และพลเรือน 26 ราย
  7. รัฐบาลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (พ.ศ. 2557-2562) มีผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง 13 คน โดยเป็นพลเรือนทั้งหมด และมีตำรวจเสียชีวิต 1 นาย
  8. รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (พ.ศ. 2562-2566) มีผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง 646 ราย แบ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ 167 นาย พลเรือน 452 ราย และผู้สื่อข่าว 33 ราย และมีผู้เสียชีวิต 3 ราย เป็นพลเรือน 2 ราย และเจ้าหน้าที่ 1 ราย

จากข้อมูลข้างต้นที่รวบรวมได้พบว่า ยุคที่เกิดความรุนแรงทางการเมืองสูงที่สุด คือ สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเหตุการณ์ความรุนแรงที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อร่างกายและชีวิตมากที่สุดคือ กรณีที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ใช้กำลังสลายการชุมนุมของผู้ชุมนุมกลุ่มเสื้อแดงในปี 2552 และ 2553 จนทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย ถัดมาคือ สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ รัฐบาลประยุทธ์ (หลังการเลือกตั้ง พ.ศ. 2562) และรัฐบาลสมชาย ตามลำดับ โดยเหตุการณ์ความรุนแรงปรากฏในรูปแบบของการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับผู้ชุมนุมเป็นรูปแบบหลัก ตามมาด้วยการปะทะระหว่างประชาชนต่างอุดมการณ์ และความรุนแรงรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ คือ การที่ผู้ชุมนุมกลุ่ม กปปส.ปิดล้อมคูหาเลือกตั้งและใช้ความรุนแรงต่อประชาชนที่พยายามไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ถือเป็นความรุนแรงที่ไม่เคยเกิดขึ้นในสังคมไทยมาก่อน กล่าวคือ ขบวนการทางการเมืองกระทำความรุนแรงต่อประชาชนทั่วไปที่เห็นต่างจากตน

ในขณะที่ยุคที่ความรุนแรงทางการเมืองเกิดขึ้นในระดับต่ำที่สุดคือ รัฐบาลของคณะรัฐประหารทั้ง 2 ชุดคือ รัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ และรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา (ช่วงพ.ศ. 2557-2562)

ปริศนาที่น่าสนใจคือ เหตุใดความรุนแรงจึงเกิดขึ้นสูงที่สุดและการปราบปรามประชาชนรุนแรงที่สุดในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ซึ่งเป็นรัฐบาลพลเรือน ในขณะที่ยุคที่ประเทศถูกปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหาร ความรุนแรงลดลงอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงเวลาอื่น

ปริศนานี้มีคำตอบ

ระบอบการเมือง รัฐบาล และกองทัพ: โครงสร้างของความรุนแรงในสังคมไทย

ข้อถกเถียงทางวิชาการในประเด็นการศึกษาความรุนแรงโดยรัฐชี้ว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างระบอบการเมืองกับความรุนแรงโดยรัฐ แต่คำอธิบายแตกแขนงออกไปใน 3 ทิศทาง คือ กลุ่มที่ 1 เสนอว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างระดับความรุนแรงกับระดับการกระจุกตัวของอำนาจ กล่าวคือ ยิ่งรัฐบาลปกครองด้วยระบอบเผด็จการเข้มข้นมากเท่าไร ความรุนแรงโดยรัฐก็จะสูงขึ้นตามนั้น งานในกลุ่มนี้อธิบายว่าเพราะรัฐเผด็จการนั้นขาดการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจระหว่างกลุ่มชนชั้นนำด้วยกัน และที่สำคัญขาดการถ่วงดุลอำนาจระหว่างชนชั้นนำกับประชาชน ทำให้ผู้นำรัฐบาลสามารถใช้อำนาจได้อย่างบิดเบือนและตามอำเภอใจเพื่อมุ่งตอบสนองผลประโยชน์และรักษาอำนาจของตน นอกจากนั้น ชนชั้นนำในรัฐที่เป็นเผด็จการสูงจะยิ่งมีเอกภาพในด้านผลประโยชน์ เมื่อต้องเผชิญหน้ากับการชุมนุมประท้วงของประชาชนที่มาสั่นคลอนระเบียบอำนาจของตน ก็จะผนึกกำลังกันและตัดสินใจอย่างเป็นเอกฉันท์ในการใช้นโยบายปราบปรามประชาชน

งานกลุ่มที่ 2 คัดค้านข้อเสนอของกลุ่มแรก โดยชี้ว่าไม่จำเป็นเสมอไปที่ความรุนแรงโดยรัฐจะมีระดับสูงในรัฐที่เป็นเผด็จการ ในความเป็นจริงความรุนแรงของรัฐเกิดขึ้นมากที่สุดในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง เพราะในช่วงเปลี่ยนผ่านถือเป็นช่วงที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนทางการเมือง มีการเปลี่ยนดุลอำนาจ มีความผันผวนทางสังคม และเป็นช่วงที่กฎกติกาและสถาบันทางการเมืองยังไม่ลงตัว สร้างโอกาสให้กลุ่มต่าง ๆ ลุกขึ้นมาช่วงชิงอำนาจทางการเมืองโดยไม่สนใจกฎกติการ่วมกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ความขัดแย้งจึงไม่สามารถคลี่คลายภายใต้กติกาที่ถูกทำลาย ความรุนแรงกลายเป็นผลลัพธ์ในช่วงแห่งความวุ่นวายไร้ระเบียบ ในขณะที่เมื่อพ้นช่วงเปลี่ยนผ่านไปแล้วจนสังคมปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยหรือเผด็จการอย่างสมบูรณ์ ความรุนแรงจะปรากฏน้อยลงเนื่องจากการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจได้คลี่คลายลงไปแล้วจนเกิดเป็นระเบียบอำนาจที่ลงตัว้

งานวิจัยกลุ่มที่ 3 ชี้ให้เห็นว่ามีความสัมพันธ์กันระหว่างความรุนแรงของรัฐกับการเสื่อมถอยของระบอบประชาธิปไตย โดยรัฐที่ระบอบประชาธิปไตยถดถอยมีแนวโน้มที่จะใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องจนสร้างความคุ้นชินต่อความรุนแรงให้กับสังคมและตัวกลไกรัฐภายใน ข้ออ้างของรัฐเรื่องภาวะพิเศษและภาวะฉุกเฉินซึ่งนำไปสู่ในการออกกฎหมายด้านความมั่นคงและมาตรการอื่น ๆ ที่เพิ่มอำนาจให้กับรัฐยิ่งสร้างเงื่อนและโอกาสให้เกิดความรุนแรงได้ง่ายขึ้น เพราะกฎหมายฉุกเฉินมักจะคุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐและผู้มีอำนาจตัดสินใจให้พ้นผิดทางกฎหมายไม่ถูกตรวจสอบ นำไปสู่การลิดรอนสิทธิเสรีภาพของพลเมืองและละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชน รวมทั้งทำลายหลักการถ่วงดุลอำนาจในระบอบประชาธิปไตย

ในกรณีของไทย พบว่าข้อสรุปของงานวิชาการทั้งสามกลุ่มอธิบายได้บางส่วน แต่ไม่สามารถทำให้เข้าใจแบบแผนและพลวัตของความรุนแรงโดยรัฐได้ทั้งหมด โดยข้อสรุปที่ว่าช่วงที่ระเบียบอำนาจนิ่ง ความรุนแรงจะต่ำอธิบายได้ในช่วงรัฐบาลของคณะรัฐประหารทั้งสองยุคคือ รัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ ( 2549-2550) และรัฐบาลคสช. (2557-2562) เหตุผลที่ความรุนแรงทางการเมืองโดยรัฐอยู่ในระดับต่ำในสองช่วงนี้มิใช่เพราะไม่มีความขัดแย้ง แต่เพราะความขัดแย้งถูกกดปราบเอาไว้โดยการใช้อำนาจอย่างเข้มข้นของรัฐในการปิดพื้นที่ทางการเมืองจนประชาชนที่ไม่พอใจรัฐไม่สามารถแสดงออกทางการเมืองได้ ในขณะที่คำอธิบายว่าการเมืองในช่วงเปลี่ยนผ่านระบอบนั้นเป็นการเมืองที่จะเกิดความรุนแรงมากที่สุดเพราะขาดกฎกติกาที่ยอมรับร่วมกัน และดุลอำนาจไม่นิ่งก็อธิบายภาพรวมของการเมืองไทยตั้งแต่หลังปี 2548 เป็นต้นมาได้ที่ฝ่ายต่าง ๆ ในสังคมทั้งในหมู่ชนชั้นนำและในกลุ่มประชาชนไม่มีฉันทามติร่วมกันในเรื่องกฎกติกาพื้นฐานในการขึ้นสู่อำนาจ ซึ่งคำอธิบายเรื่องภาวะประชาธิปไตยถดถอยทำให้สังคมเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงโดยรัฐได้ง่ายก็ใช้อธิบายภาพรวมของการเมืองในยุคที่งานวิจัยชิ้นนี้ศึกษาได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม แบบแผนความรุนแรงโดยรัฐที่ปรากฏในสังคมไทยยังมีปริศนาบางอย่างที่อธิบายได้ไม่ได้ด้วยงานวิชาการทั้งสามกลุ่มที่กล่าวถึงข้างต้น การแบ่งแยกระบอบการเมืองโดยพิจารณาเพียงมิติของความเป็นประชาธิปไตยหรือเผด็จการ ทำให้ขาดมิติที่สำคัญประการหนึ่งไป และมิตินี้สำคัญอย่างยิ่งต่อการทำความเข้าใจความรุนแรงโดยรัฐในสังคมไทย นั่นคือ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ

หากนำมิติความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับรัฐบาลมาพิจารณาจะทำให้เราก้าวข้ามพ้นการแบ่งประเภทระบอบการเมืองแบบขั้วตรงข้ามระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการ หากต้องพิจารณาลงลึกว่ารัฐบาลพลเรือนหรือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้นมีความสัมพันธ์ในลักษณะใดกับกองทัพ ซึ่งเราสามารถแบ่งรัฐบาลของไทยในช่วงวิกฤตการเมืองออกได้เป็น 2 ประเภทตามเกณฑ์นี้คือ

ประเภทที่ 1 รัฐบาลที่มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับกองทัพ หรือเป็นพันธมิตรทางการเมืองกัน ได้แก่ รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา (2562-2566)

ประเภทที่ 2 รัฐบาลพลเรือนที่ไม่สามารถควบคุมกองทัพได้ หรือกระทั่งเข้าข่ายกองทัพวางตัวเป็นปฏิปักษ์ด้วย ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ตึงเครียด ได้แก่ รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร, รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช, รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ความรุนแรงทางการเมืองโดยรัฐซึ่งเกิดขึ้นในระดับสูงที่สุดในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ อธิบายได้ภายใต้กรอบทฤษฎีนี้ กล่าวคือ แม้ว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์จะไม่ใช่รัฐบาลเผด็จการทหารในเชิงรูปแบบทางการ แต่ในทางปฏิบัติของการใช้อำนาจ รัฐบาลอภิสิทธิ์เป็นผลผลิตของการแทรกแซงทางการเมืองของกองทัพเพื่อบีบให้มีการย้ายขั้วทางการเมืองของกลุ่มการเมือง (นำโดยนายเนวิน ชิดชอบ) ในพรรคพลังประชาชน จนนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลผสมชุดใหม่ที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ ดังที่สื่อมวลชนขนานนามรัฐบาลอภิสิทธิ์ว่าเป็นรัฐบาลที่ “จัดตั้งในค่ายทหาร”

ความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างรัฐบาลอภิสิทธิ์กับกองทัพ ทำให้เมื่อรัฐบาลรับมือกับสถานการณ์การชุมนุม รัฐบาลสามารถประกาศใช้ พรบ.ความมั่นคง และ พรก.ฉุกเฉิน โดยสามารถบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงดังกล่าวได้จริง เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากกลไกรัฐด้านความมั่นคงโดยเฉพาะกองทัพ โครงสร้างศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้น ได้รับความร่วมมือและสนับสนุนอย่างแข็งขันจากกองทัพ การวางยุทธศาสตร์การรับมือกับผู้ชุมนุมและการออกแบบมาตรการใช้กำลังเป็นการตัดสินใจร่วมกันระหว่างรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงที่เป็นพลเรือนกับผู้นำกองทัพ จึงเกิดปรากฏการณ์ดังที่เห็นในการสลายการชุมนุมเดือนเมษายนและพฤษภาคม พ.ศ. 2553 ที่กองทัพเข้ามาเป็นหน่วยหลักในปฏิบัติการปราบปรามการชุมนุมในเขตเมืองแทนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งที่โดยปรกติแล้วกองทัพไม่ได้ถูกฝึกอบรมมาให้มีทักษะในการควบคุมฝูงชนในเขตเมือง แต่ถูกฝึกมาให้รบกับอริราชศัตรูภายนอกเพื่อปกป้องอำนาจอธิปไตยของประเทศ ฉะนั้นเมื่อใช้ทหารเป็นหน่วยหลักในการเผชิญหน้ากับฝูงชน แนวทางในการควบคุมการชุมนุมจึงเป็นการปราบปรามด้วยการใช้กระสุนจริงและอาวุธยุทโธปกรณ์หนักที่ใช้ในสถานการณ์สงคราม เนื่องจากทหารและรัฐบาลขณะนั้น มองการชุมนุมของเสื้อแดงเป็นภัยคุกคามความมั่นคง และมองขบวนการเสื้อแดงเป็นศัตรูของรัฐ

ดังนั้น ปัญหาใหญ่ที่สำคัญที่สุดในเรื่องความรุนแรงโดยรัฐในสังคมไทย คือ การที่กองทัพมีสภาพเป็นรัฐซ้อนรัฐ และไม่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ดำรงตนเสมือนเป็นรัฐอิสระในตัวเอง มีอุดมการณ์ทางการเมืองของตนเอง และเลือกข้างทางการเมือง จึงเลือกที่จะรับคำสั่งและทำงานตามบังคับบัญชาเฉพาะบางรัฐบาลที่กองทัพมองว่าเป็นฝ่ายเดียวกัน แต่หากเป็นฝ่ายตรงกันข้ามก็จะเกิดสภาวะแข็งขืน ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ ทำให้การควบคุมสถานการณ์ความไม่สงบจึงแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐบาล หากเป็นรัฐบาลที่กองทัพมองว่าเป็นฝ่ายตรงข้าม แม้รัฐบาลนั้นจะประกาศใช้ พ.ร.บ. ความมั่นคง หรือ พรก. ฉุกเฉินเพื่อควบคุมสถานการณ์การชุมนุมให้อยู่ในความสงบก็จะไม่สามารถกระทำได้ ดังที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงระดับสูงท่านหนึ่งอธิบายอย่างตรงไปตรงมากับผู้เขียนว่า

“กำลังทหารในแต่ละยุคมีแนวปฏิบัติไม่เหมือนกัน อยู่ที่ว่าผู้นำกองทัพเขาเลือกจะอยู่ฝั่งไหน”[1] 

มิติความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการก่อให้เกิดรูปแบบและระดับความรุนแรงโดยรัฐที่แตกต่างกันอย่างสำคัญที่สุด เปรียบเสมือนโครงสร้างโอกาสทางการเมือง (political opportunity structure) ที่กำหนดเงื่อนไขการใช้ความรุนแรงของรัฐ การวิเคราะห์ทำความเข้าใจความรุนแรงโดยรัฐในสังคมไทยจึงไม่สามารถพิจารณาเพียงแค่กรอบความเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย-เผด็จการ หรือรัฐบาลพลเรือน-ทหาร ดังที่งานวิจัยส่วนใหญ่ในแวดวงวิชาการใช้เป็นกรอบอธิบาย

รัฐบาลที่ไม่สามารถคุมกองทัพและหน่วยงานความมั่นคงได้อย่างแท้จริง อาทิ รัฐบาลทักษิณ สมัคร สมชาย และยิ่งลักษณ์ เมื่อเผชิญกับการชุมนุมก็จะไม่ได้นำไปสู่การปราบปรามหรือการสลายการชุมนุมอย่างรุนแรง เพราะกลไกรัฐด้านการกดปราบ (coercive force) ไม่ฟังคำสั่งของรัฐบาล บวกกับความจริงที่ว่ารัฐบาลเหล่านี้ตระหนักดีถึงความสัมพันธ์ที่ไม่แนบแน่นกับกองทัพ จึงยิ่งระมัดระวังที่จะใช้มาตรการรุนแรงในการรับมือกับสถานการณ์ชุมนุม เพราะหวาดเกรงว่าจะทำให้รัฐบาลสูญเสียความชอบธรรมและถูกอ้างเป็นสาเหตุให้กองทัพเข้ามาล้มรัฐบาลด้วยการรัฐประหารได้ (การรัฐประหารทั้งในปี 2549 และ 2557 ผู้นำกองทัพอ้างสถานการณ์ความไม่สงบและความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงในสังคมมาเป็นเหตุผลให้ความชอบธรรมการยึดอำนาจ)

เราจึงไม่พบความรุนแรงโดยรัฐที่มีระดับความรุนแรงสูงหรือกว้างขวาง (large scale state violence) ซึ่งนับว่าเป็นข้อดีหากมองจากมิติของการหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บสูญเสีย แต่ผลกระทบทางลบที่เกิดขึ้นคือ รัฐบาลมิสามารถสั่งการกลไกรัฐด้านความมั่นคงได้อย่างเต็มที่จึงไม่สามารถควบคุมความสงบได้ ทำให้เกิดสภาวะอนาธิปไตยทางการเมืองซึ่งเปิดทางให้ความรุนแรงในรูปแบบอื่น เช่น ความรุนแรงจากมือที่สาม นำไปสู่ความไร้ระเบียบทางการเมือง และส่งผลให้เกิดการล้มลงของประชาธิปไตยในท้ายที่สุด

มิติความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพยังสามารถนำมาอธิบายปรากฏการณ์ที่ความรุนแรงทางการเมืองอยู่ในระดับต่ำที่สุดภายใต้ระบอบเผด็จการทหารสมัยรัฐบาลสุรยุทธ์ และรัฐบาลประยุทธ์ (พ.ศ. 2557-2562) เพราะใน 2 ยุคนี้รัฐบาลกับกองทัพก็คือเนื้อเดียวกัน จึงมีการใช้กลไกรัฐด้านความมั่นคงของกองทัพอย่างเต็มรูปแบบเพื่อควบคุมและปิดพื้นที่ทางการเมือง ประชาชนถูกลิดรอนสิทธิและเสรีภาพในการเคลื่อนไหว สภาวะปราศจากความรุนแรงจึงมิได้หมายความว่าสังคมปราศจากความขัดแย้ง ตรงกันข้าม ความรุนแรงทางการเมืองอยู่ในระดับต่ำภายใต้ระบอบทหาร เพราะความขัดแย้งถูกกดทับไว้ ปัญหาถูกซุกซ่อนไว้ใต้พรม ประชาชนทุกกลุ่มทุกเฉดสีไม่สามารถเคลื่อนไหวแสดงออกทางการเมืองได้ แม้ว่าจะเป็นการชุมนุมโดยสงบก็ตาม (เช่น การชุมนุมในช่วงการจัดทำประชามติรัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. 2559 ซึ่งรัฐบาลประยุทธ์จับกุมประชาชนที่ออกมารณรงค์คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ)

อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงโดยรัฐเป็นผลลัพธ์ของปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับผู้ชุมนุม เปรียบเสมือนเหรียญสองด้านที่ต้องนำมาวิเคราะห์ประกอบกัน ฉะนั้นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่มีส่วนกำหนดรูปแบบและระดับความรุนแรงโดยรัฐในสังคมไทยคือ ยุทธศาสตร์และอุดมการณ์ในการเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมแต่ละกลุ่ม ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดมุมมองที่รัฐมีต่อผู้ชุมนุม และนำไปสู่มาตรการการใช้ (หรือไม่ใช้) กำลังของรัฐที่แตกต่างกันไป ซึ่งผู้เขียนขอยกยอดประเด็นนี้ไปอธิบายในบทความถัดไป 


[1] สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ระดับสูง, กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน, กรุงเทพฯ, 8 มี.ค. 2566.

ข้อมูลและประเด็นในบทความชิ้นนี้นำมาจากงานวิจัยของผู้เขียนเรื่อง “ความรุนแรงทางการเมืองโดยรัฐในสังคมไทย: แบบแผน แนวนโยบาย และการให้ความชอบธรรมกับความรุนแรง (พ.ศ. 2548-2565)” ซึ่งได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2565 ขอขอบคุณผู้ช่วยวิจัยทั้ง 2 คน คือ บุศรินทร์ แปแนะ และนูรียะ ยูโซะ ที่ช่วยเหลือในการทำวิจัยและค้นคว้ารวบรวมข้อมูลอย่างรอบคอบและอุตสาหะ


บทความที่เกี่ยวข้อง

ปริศนาความรุนแรงโดยรัฐไทย (ตอนที่ 2)