ปีนี้ไม่มีเงียบ! ระบอบประยุทธ์ฯ และการกลับมาของสตรองแมน ยินดีต้อนรับสู่...เฟสสอง - Decode
Reading Time: 2 minutes

กรุณา…ปรับโหมด เปิดเสียง !!  

เพราะการเมืองไทยปีนี้จะไม่เงียบ ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในระยะเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่ประชาธิปไตยโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทั้งเป็นปีแรกที่ Decode ตั้งต้นถอดโจทย์อนาคตไปสู่สิ่งที่ดีกว่า คู่ขนานกับอาฟเตอร์ช็อกการเมืองไทยในเฟสใหม่ หลังเหตุแผ่นดินไหวการเมืองไทยในช่วงรัฐประหารปี 2557 ปิดฉากความขัดแย้งของขบวนการสีเสื้อที่ลากยาวมากว่า 10 ปี สิ้นสุดลง

ประโยคนี้ดูจะมีน้ำหนักมากขึ้นหากมองผ่านมุม “ประจักษ์ ก้องกีรติ” นักวิชาการไฟแรงจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งระยะหลังสนใจการเมืองระยะเปลี่ยนผ่าน พูดคุยกับเราเคล้าบรรยากาศ Workshop & Fresh Talk “Future Journalist” เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ด้วยศัพท์รัฐศาสตร์ที่ย่อยง่าย แต่ท้าทายผู้อ่านให้ช่วยถอดสมการต่อจิ๊กซอว์ทางการเมืองเฟสใหม่ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของปีนี้

โหมดใหม่ไร้ระเบียบ โหยหาสตรองแมน

ไม่ใช่แค่การเมืองไทย แต่การเมืองโลกก็เข้าสู่โหมด ไร้ระเบียบหรือ Disorder เพราะปีที่ผ่านมาผ่าน มีเหตุประท้วงเกิดขึ้นมากมาย ทั้งใน ชิลี อิหร่าน อิรัก ฮ่องกง ฯลฯ เรียกได้ว่า เป็นยุคที่โลกปั่นป่วน วุ่นวาย และดำเนินสืบเนื่องมาเป็นทศวรรษ จุดเปลี่ยนที่สำคัญน่าจะตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมาที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในยุโรปและสหรัฐ ประกอบกับความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงสถานการณ์การก่อการร้าย และอิทธิพลของโซเชียลมีเดีย ทั้งหมดนี้กระทบต่อระบบการเมืองทำให้ระเบียบการเมืองเศรษฐกิจแบบเดิมถูกตั้งคำถามมากขึ้น ซึ่งในทางการเมืองก็คือ เสรีนิยมประชาธิปไตย และในทางเศรษฐกิจก็คือ การค้าเสรีโลกาภิวัฒน์

ทั้งๆที่ทุกคนเคยบอกว่าคือ คำตอบของโลก ต้องใช้ระเบียบการเมืองเศรษฐกิจนี้เหมือนกันหมด ตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา จนนำมาสู่วันนี้ว่า การเมืองและเศรษฐกิจที่เป็นอยู่มันไม่ตอบโจทย์ชีวิตเขาอีกต่อไป

ผลที่เกิดขึ้นคือ ความปั่นป่วน วุ่นวายทั่วโลก ซึ่งกระแสที่มาแรงที่สุดเมื่อคนรู้สึกไม่มั่นคงในชีวิต ไม่มั่นคงในระบบเศรษฐกิจ มองไปในอนาคตก็ยังไม่มั่นคง กระทั่งเศรษฐกิจที่เรียกว่า Disruptive Economy

ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะไปถึงได้ จึงนำไปสู่การกลับไปหา 2 อย่าง คือ

หนึ่ง กระแสชาตินิยมกลับมา

มีการต่อสู้ด้วยคำกล่าวหาที่ว่า ใครรักชาติ ใครไม่รักชาติ ใครชังชาติ ?

สอง กระแสการปกครองแบบสตรองแมนกลับมา

กระแสกระทบกับการเมืองไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อผนวกกันทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ยิ่งทำให้ความขัดแย้งคุกรุ่นมากขึ้น และตอนนี้การเมืองไทยได้เข้าสู่ยุคใหม่

เฟสสอง ระบอบประยุทธ์ฯ เป้าของความขัดแย้งใหม่

ภูมิทัศน์ทางการเมืองเปลี่ยนไปแล้วอย่างสิ้นเชิง และจุดตัดสำคัญคือการรัฐประหารปี 2557 ได้ปิดฉากความขัดแย้งที่ดำเนินมากว่า 10 ปี

เรากำลังจะเข้าสู่…เฟสใหม่!

เพราะในเฟสแรก ความขัดแย้งของขบวนการสีเสื้อต่างๆ ความขัดแย้งรอบแรกได้จบไปแล้วหลังจากการรัฐประหาร 2557 เป้าคือกำจัดพรรคการเมืองใหญ่ บอนไซประชาธิปไตยเสียงข้างมากและได้สร้างระบอบในลักษณะกึ่งเผด็จการกึ่งประชาธิปไตย หรือที่หลายคนบอกว่า เป็นระบอบทหารที่มาจากการเลือกตั้ง

ตอนนี้เรา ไม่มีระบอบทักษิณแล้ว เรามีสิ่งที่เรียกว่า ระบอบประยุทธ์แทน ระบอบประยุทธ์ จะกลายเป็นเป้าของความขัดแย้งใหม่ !

เราเข้าสู่…เฟสสอง ซึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างคนที่สนับสนุนระบอบประยุทธ์ เพราะพวกเขามองว่า ตอบโจทย์

ลุงตู่-พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้มแข็ง รักชาติ เป็นคนดี เป็นตัวแทนของระบอบศีลธรรมแบบเดิมที่เคยโหยหา คนกลุ่มนี้กำลังต่อสู้กับคนที่คัดค้านระบอบฯนี้ เพราะมองว่า มันยิ่งเลวร้ายกว่าเดิม

นี่คือ การเข้าสู่เฟสใหม่ของความขัดแย้งแล้ว

เผด็จการปรับตัว ลวงตา และแนบเนียน

ในการเลือกตั้งปี 2562 เป็นตัวสะท้อนภูมิทัศน์ทางการเมืองที่เปลี่ยนไป มีปัญหาความไม่ปกติหลายอย่างทั้งในแง่กระบวนการ และการนับคะแนนซึ่งเราไม่เห็นแบบนี้มานานแล้ว แต่ก็ไม่เคยปรากฏปัญหานี้มาก่อน เช่น มีการหยุดนับคะแนนเลือกตั้ง ,บัตรเลือกตั้งคะแนนไม่ตรงกันกับการรายงานผลของแต่ละเขต ทำให้การจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ขาดความชอบธรรม และเมื่อดูผลการเลือกตั้งก็ไม่ได้มีผู้ชนะที่ชัดเจน ยังไม่มีผลชี้ชัดว่าคนไทยอยากให้ใครปกครองประเทศ

ขณะที่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในระยะหลังคือ ระบอบเผด็จการในโลกปัจจุบันมีการปรับตัวเก่งมากขึ้น ทั้งในการฉวยใช้กระบวนการและสถาบันทางการเมืองที่ควรจะเป็นในระบอบประชาธิปไตยค้ำจุนอำนาจของตนเอง เช่น การใช้ประชามติ ,การยอมรับให้มีการเลือกตั้ง,การยอมให้มีพรรคการเมืองหลายพรรค แต่อาศัยอำนาจในการควบคุมกลไกเหล่านั้น ทำให้การใช้อำนาจแนบเนียนมากขึ้น และเรามองเห็นได้ยากขึ้น

สมการพลังประชารัฐ – กองทัพ – ทุนใหญ่

เรามีรัฐบาลผสมมากถึง 18 พรรค ซึ่งมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ และนำมาสู่ปัญหาด้านเสถียรภาพและปัญหาการคอร์รัปชั่น เราก็กลับไปสู่การเมืองไทยก่อนปี 2540 เพียงแต่บทบาทที่สำคัญไม่ได้อยู่แค่ในสภาฯ เพราะกองทัพและส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง ก็มีบทบาทสำคัญเช่นกัน ซึ่งจะเห็นว่า เป็นการออกแบบที่ละเอียด และระมัดระวัง เพราะรู้ได้ว่า รัฐบาลอาจจะเสียงไม่พอก็ต้องสร้างกลไกอื่นๆไว้ ดังนั้นถ้าจะวิเคราะห์การเมืองไทยจะดูแต่การเมืองในสภาผู้แทนราษฎรอย่างเดียวไม่ได้

พรรคพลังประชารัฐ จะเป็นพรรคชั่วคราว เฉพาะกิจ หรือจะดำรงอยู่ในระยะยาว ขณะเดียวกันมีการผนึกกับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่แนบแน่นสะท้อนจากเงินบริจาค แต่ถ้าถามว่าฐานเสียงที่แท้จริงจะพรรคพลังประชารัฐคือใครบ้างยังคงต้องศึกษาวิจัยและเจาะลึกมากกว่านี้

ประเด็นที่น่าติดตามคือ กองทัพกับความสัมพันธ์กับสังคม ซึ่งเป็นการกลับมาช่วงปี 2557 และคาดว่าจะอยู่อีกนานและจะอยู่ไปอีกสักพัก สวนทางกับกระแสที่เกิดขึ้นทั่วโลก ก็สะท้อนสิ่งที่น่าสนใจว่า การปฏิรูปกองทัพเกิดขึ้น พร้อมๆกับการตอบโต้และวิจารณ์กองทัพอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เป็นประเด็นที่ต้องจับตาต่อไป

รอยแยกทางสังคม ตัวแปรใหม่อยู่ที่เจเนอเรชั่น

เดิมทีรอยแยกทางสังคมอยู่ที่ชนชั้นทางเศรษฐกิจ สังคม และภูมิภาค การพัฒนาที่ยังรวมศูนย์ยังอยู่ ความเหลื่อมล้ำยังอยู่ แต่ประเด็นใหม่ที่เกิดขึ้นขณะนี้คือ เจเนอเรชั่น พื้นที่ออนไลน์กลายเป็นพื้นที่ใหม่ของการต่อสู้ ถ้าสังเกตุจะเห็นวาทะกรรมเกิดขึ้นใหม่ๆมากมายในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะในทวิตเตอร์ คำถามคือ จะทำอย่างไรให้ออนไลน์ ทำหน้าสร้างความเข้าใจ ไม่ได้เป็นลิ่มตอกความขัดแย้ง

รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 อาจจะกลายเป็นความตึงเครียดรอบใหม่ โจทย์คือ เราจะสามารถหาฉันทามติได้หรือไม่ และฉันทามติที่ว่านั้นจะมีหน้าตาอย่างไร เราจะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้อย่างสันติได้หรือไม่ ในขณะที่ประเด็นเศรษฐกิจก็จะเป็นปัจจัยที่กระทบต่อเสถียรภาพทางการเมืองอย่างมาก

ปีนี้จะเป็นปีที่ไม่เงียบแล้ว จะเป็นปีแห่งความเคลื่อนไหว ทั้งการอภิปรายไม่ไว้วางใจ,การยุบพรรคอนาคตใหม่,การชุมนุมทางการเมืองทั้งต่อต้านและสนับสนุนรัฐบาล,การแก้ไขรัฐธรรมนูญ,การเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศ และการเกษียณอายุราชการของบิ๊กแดง – พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)

เพียงแต่…เรายังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านที่ยังไม่ลงตัว