Reading Time: 3 minutes

กว่าจะถึงวันนั้นที่เราชนะ เราจะอยู่ถึงวันนั้นไหมนะ

ฉันและเพื่อนตั้งคำถามถึงวันนั้นอันหมายถึงวันที่ประชาธิปไตยเบ่งบาน ประชาชนมีสิทธิ มีชีวิต มีความหวังและความฝัน มิใช่เพียงดำรงชีวิตให้ผ่านไปรายวันเช่นทุกวันนี้

ฉันในวัยยี่สิบสี่กับเพื่อนรุ่นเดียวกันที่มีพลังหวังเปลี่ยนประเทศนี้ให้ดีขึ้น เราเริ่มอ่อนแรง ยุคสมัยที่สงครามภายในหนักหนาไม่แพ้สงครามภายนอก เราไม่แน่ใจว่าคนรุ่นใหม่ที่เขานิยามจะมีแรงเปลี่ยนประเทศให้ห้วงสิ้นหวังให้จบในรุ่นเราได้จริงไหม ฉันไม่แน่ใจ ทั้งในฐานะคนรุ่นใหม่ที่กำลังแตกสลาย และบทบาทสื่อสังเกตการณ์ความขัดแย้ง

De/code พูดคุยกับสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือบก.ลายจุด นักเคลื่อนไหวทางการเมืองยืนหยัดจัดกิจกรรมทางการเมืองด้วยอารมณ์ขันและสร้างสรรค์สื่อความหมายถึงมวลชน นับตั้งแต่การเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดง การผูกผ้าแดงรำลักถึงผู้เสียงชีวิตจากการปราบมวลชน ปี 53 จนถึงคาร์ม็อบ (Car Mob)

ความรู้สึกหดหู่สิ้นหวังต่อสภาพสังคม คือกับดักการต่อสู้ทางการเมือง ที่นักกิจกรรมทางการเมืองรุ่นพี่อยากบอกกับคนรุ่นใหม่

กับดักระหว่างต่อสู้ที่คนรุ่นใหม่ต้องเจอ คือกับดักภายในทางจิตวิญญาณที่ถูกกัดกร่อน ผุพังแตกสลายระหว่างทาง และกับดักเวลาที่ทำให้เหนื่อยล้าจนอยากเลิก คือประสบการณ์ที่สมบัติบอกกับเรา

กับดักของเวลาในการต่อสู้ หมายความว่าธรรมชาติของการต่อสู้โดยทั่วไป หรือเงื่อนไขชีวิตของมนุษย์ในแต่ละคนไม่สามารถสู้ได้ยาว ๆ การต่อสู้ยาว ๆ นั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะรบกวนการดำรงชีวิตลดทอนทรัพยากรทั้งเวลา กำลังกาย  หรือแผนงานชีวิตอื่น ๆ เมื่อสู้ถึงจุดหนึ่งจะเกิดความล้าสะสม แล้วสักพักจะเกิดความรู้สึกว่าอยากจะเอาชนะเร็ว ๆ ม็อบมักจะมีภาษาว่า “สงครามครั้งสุดท้าย” เพราะว่าคนทนไม่ไหว เหนื่อย ทำไมกูต้องสู้นาน ๆ คำว่า “ม้วนเดียวจบ” ถ้าออกมาเมื่อไหร่ก็แสดงว่าแกนนำ burn out อยากจะจบแล้ว อันนี้เป็นกับดักเพราะสภาพการณ์ที่เราสามารถรอจังหวะที่ถูกต้อง หรือรอการสะสมเงื่อนไขบางอย่างได้ ทำให้การตัดสินใจในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมนั้นเกิดความผิดพลาด 

กับดักภายในคือ การแตกสลาย แตกร้าว บาดเจ็บกันระหว่างการต่อสู้  คือการต่อสู้จะสะสมความเกลียดชัง ความอยุติธรรมทำให้หูตาที่เรามองอนาคต ความหวังจางไปเรื่อย ๆ  ทิศเราก็จาง เพราะอนาคตเราจะไม่มี อนาคตของเราส่วนใหญ่หมายถึงเสรีภาพที่มนุษย์จินตนาการได้ว่าเขาจะมีชีวิตที่ดีได้อย่างไร สังคมจะดีขึ้นได้อย่างไร แล้วก็จะรู้สึกว่ารัฐในเวลานั้นเป็นอุปสรรคที่มีต่อชีวิตของเขาในอนาคต

ดังนั้นพอรัฐยังดำรงผงาดอยู่ต่อหน้า เขาจึงได้พลังสะท้อนกลับเป็นความเจ็บช้ำ เป็นบาดแผล สะสมกันมา แล้วมันกัดกินความเบิกบาน กัดกินให้เรื่องพวกนี้ค่อย ๆ หายไป จะเกรี้ยวกราด อารมณ์ฉุนได้ง่าย มันไม่มีความอดทนและไม่สามารถรับ ‘ความไม่ประสา (Ignorance)’ ดังนั้นกับดักจึงเป็นองค์ประกอบหนึ่งระหว่างการต่อสู้ เหมือนบาดแผลที่นักรบต้องเจอ ความเข้าใจถูกเข้าใจผิด การได้มิตรและการเสียมิตร มีทั้งความสนุกและความทุกข์ มีสิ่งเหล่านี้ตลอดเวลา 

กับดักระหว่างการต่อสู้ คือ วิญญาณภายใน มันจะกัดกร่อนสติปัญญา ความอดทนของเรา หรือบางทีก็ทำให้หลักการที่เราเคยยึดมั่นไว้สั่นคลอน แต่เนื่องจากผมอยู่ในการเมืองยาวพอสมควร ผมเห็นผู้คนจำนวนไม่น้อยที่หลุดออกจากหลักการ แล้วคิดอ่านว่าเราจะต้องไปสู้อีกแนวทางนึง สุดท้ายก็ล้มเหลว ถูกเข่นฆ่าบาดเจ็บกันมาพอสมควร

ฉะนั้นผมคิดว่าการที่ผมยังอยู่ได้ แม้ไม่ได้สบายอะไรมากนัก ผมก็ยังมีกำลังใจในการต่อสู้ ด้านหนึ่งคือผมทบทวนตัวเอง และพยายามจะอยู่ในหลักการที่ถูกต้องที่สุด การรักษาพื้นที่หลักที่เรายืนอยู่นั้นมันเป็นหลักที่ถูกต้อง ยอมรับข้อเท็จจริงว่าเรื่องของการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่ใช้เวลา และความทุ่มเทที่ต้องใช้แรงขับเคลื่อนผลักดัน  ฉะนั้นก็… ถ้ามันจะยาวก็ยาวครับ

คำถามใหญ่และคำถามเดียวของบทสนทนานี้คือ คนรุ่นใหม่จะประคองหวังและฮึดสู้อย่างไรในเส้นทางการต่อสู้ที่ดูท่าจะยาวนานนี้

จริง ๆ แล้วผมมีความหวังนะ ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาแห่งความหวัง ปีที่แล้วเป็นปรากฏการณ์ที่คนหนุ่มสาวออกมา ไม่ใช่แค่มหาวิทยาลัยแต่มันไปถึงระดับมัธยม ผมหัวใจพองโต จากการไปร่วมม็อบแฮมทาโร่ไปเจอเด็กมัธยม ตอนแรกคาดหวังแค่ไปดูการเคลื่อนไหวของนักศึกษา ผมก็รู้เลยว่านี่ไม่ใช่คลื่นของนักกลุ่มนักกิจกรรม นี่คือการมาของยุคสมัย (Generation) เป็นวิธีคิดและคุณค่าใหม่ของคนรุ่นนี้

เมื่อถามถึงปลายทางของการขับเคลื่อนขบวนการประชาธิปไตยที่คนรุ่นใหม่ให้คุณค่า บก.ลายจุดบอกกับฉันด้วยความมั่นใจพร้อมรอยยิ้มสดใสว่า “ชนะอยู่แล้ว”

ชนะอยู่แล้ว ผมนึกไม่ออกว่าประเทศจะปกครองโดยที่ไม่เป็นระบบประชาธิปไตยได้อย่างไร  ไม่ใช่กระแสในประเทศไทยมันคือกระแสโลก อย่างไรก็ชนะ แต่จะใช้เวลาเท่าไหร่เท่านั้นเอง ทุกวันนี้ที่ผมสู้ไปไม่ได้คิดว่าสู้ไปเพราะจะแพ้ สู้ไปด้วยความรู้สึกว่ามันชนะแน่นอน เพียงแต่ว่าสิ่งที่ผมทำก็คือการทำให้ค่าใช้จ่ายที่เราจะต้องจ่ายไปสำหรับวันที่จะเกิดชัยชนะเป็นค่าใช้จ่ายที่ถูกที่สุด 

เราไม่ควรจ่าย ไม่ว่าจะเป็นเวลา สละเสรีภาพ หรือชีวิตของผู้คนให้กับการต่อสู้ครั้งนี้  แน่นอนว่ามันเป็นความเจ็บช้ำระหว่างการต่อสู้ แต่ด้านหนึ่งมันเป็นเกียรติของชีวิตที่เราเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เราอยู่ในห้วงเวลาประวัติศาสตร์นั้น มันไม่ได้เกิดจากการอ่านหนังสือเมื่อสมัย 14 ตุลา 6 ตุลา เรามีหน้าที่ ณ ปัจจุบันตรงหน้าและเราอยู่ในวงล้อประวัติศาสตร์ทำหน้าที่ของเราในฐานะคนที่อยู่ในยุคสมัยนั้น

คนรุ่นใหม่มักโดนกล่าวหาโจมตีว่าเป็น Generation ที่อ่อนแอ ยึดถืออัตตาและตัวตนจนป่วยไข้ มีคำแนะนำในฐานะนักกิจกรรมรุ่นพี่ที่ต่อสู้มายาวนานไหม

ในฐานะคนที่ผ่านการเคลื่อนไหวมานาน ไม่ได้แปลว่าผมเก่งกว่า ผมอยากจะบอกว่ามันมีกับดักในการต่อสู้ทางการเมือง มันเป็นสภาพแวดล้อม สภาวะการณ์ที่กดดัน และบีบคั้น เพราะการเอาชนะรัฐเป็นเรื่องที่ยาก นอกจากยากแล้วยังมีความเสี่ยง มีภาระที่ต้องแบก ไม่ใช่แค่เวลาที่ใช้ไป แต่เสี่ยงเรื่องคดีความ เรื่องการถูกทำร้าย ทั้งในที่ชุมนุมหรือหลังจากนั้น

ความรู้สึกมันอยุติธรรมที่เราก็อินไปกับมันอย่างลุ่มลึก เอาไปนอนคิดนอนฝันถึงมัน แล้วมันก็ไม่เสร็จสักที พอเป็นเช่นนั้นมันจึงทำให้เกิดความเป็นพิษในใจเรา ซึ่งกระบวนการนี้จะต้องมีกระบวนการเยียวยาตัวเอง ต้องเท่าทันสภาวะแบบนี้

วิธีการที่ผมทำคือผมใช้อารมณ์ขันเข้ามากลบความเกรี้ยวกราดที่เกิดขึ้น ไม่พาตัวเองเข้าไปในหลุมบ่อที่มันอาจจะทำให้เราเกรี้ยวกราด แต่ไม่ใช่แปลว่าเราเกรี้ยวกราดไม่ได้นะ ผมก็เป็นคนเกรี้ยวกราด ในบางห้วงเวลาผมก็เกรี้ยวกราดเลย แต่ว่าแน่นอนเราก็มีห้วงเวลาที่เอามันลง หรือเปลี่ยนสภาพการณ์ความรู้สึกแบบนั้นไปเป็นพลังในอีกมิติหนึ่ง ก็มีทางต่อไป

ถ้าสู้กันยาว ๆ มันก็ทำให้หลายคนหดหู่ ดังนั้นเราจะเห็นเป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าคนวัยไหน มันจะมีภาวะที่หดหู่ ผมก็ยังเป็นนะ บางช่วงที่มันเหนื่อยมาก ๆ เลย มันไปต่อไม่ได้ผมจะรู้สึกหดหู่มาก แต่นั่นเป็นเรื่องที่เราจะต้องเจอ มันเป็นทักษะชีวิตที่ต้องเอาชีวิตรอด  Survive นะครับ เราต้องรอดไปให้ถึงวันที่ยาว ผมก็ดีใจที่น้อง ๆ บอก “ให้มันจบที่รุ่นเรา”

แต่ว่าผมก็กลับมาถามตัวเองว่าที่ผ่านมามันจบที่รุ่นเราไหม  อย่างผมไม่จบที่รุ่นเรา เพราะผมเลยมาถึงรุ่นนี้แล้ว มันก็กังขาอยู่อย่างนั้น แล้วมันจะจบที่เด็กรุ่นนี้รึเปล่า ผมก็กังขาว่าถ้าเกิดไม่จบที่รุ่นนี้แล้วเราจะทำอย่างไวิธีการมองของผมคือผนวกการเมืองกับชีวิต  เพราะผมจำเป็นต้องเอาปัจจัยเรื่องทางการเมืองเข้าไปกำหนดอนาคต ปกติผมไม่เคยต้องคำนวนขนาดนี้ ตั้งแต่โดนคดีโดนอะไรไม่รู้เต็มไปหมด การใช้ชีวิตภายนอก การทำงานตามความคิดความฝัน การทำงานทางสังคม เราจะมีโอกาสทำขนาดนั้นไหม จะขยายงานได้กว้างขนาดไหน พอมีเรื่องทางการเมืองก็มีความเสี่ยง ดังนั้นต้องผนวกความเสี่ยงนี้เข้าไปในตัวเรา 

ผมคิดว่าแผนสำรองเป็นเรื่องหนึ่งที่คนรุ่นใหม่จะต้องพิจารณา สมมติว่าเกมนี้ไม่ใช่เกมสั้น ไม่ใช่เกมที่สู้กันในขณะที่คุณยังเป็นนักศึกษาอยู่ จะบอกว่าเรียนจบแล้วประเทศก็เปลี่ยน ไปทำงานไปใช้ชีวิตได้เลย มันไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะถึงเรียนจบไปทำงานคุณก็ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาทางการเมือง คุณต้องถามตัวเองอีกว่าจะทำอย่างไร

ดังนั้นแผนสองของคุณก็จะต้องเป็นแผนที่มีระยะกลาง ระยะยาว ดูกันยาว ๆ ไม่ต้องกังวล ไปเข้าแถวเป็นกำลังพลสำรองรอคนรุ่นใหม่ หรือกลุ่มที่จะขึ้นมานำแทนการต่อสู้ของเราในแต่ละช่วงเวลา แต่เราต้องมีความพร้อม เมื่อวันหนึ่งมีคนรุ่นใหม่ปรากฎขึ้น ไม่รู้ใครนะ ไม่รู้รุ่นใหม่หรืออาจจะไม่ใช่คนรุ่นใหม่ก็ได้ หรือใครที่มีศักยภาพขึ้นมาขับเคลื่อนต่อสู้ เราก็เป็นกำลังพลสำรองของฝ่ายประชาธิปไตยเข้าไปสนับสนุน สู้ให้ยาว บางคนคิดว่าถ้าสู้ถึงจุดนี้ สู้ไม่ชนะก็เลิก เราต้องสู้กันอีกยาวต้องการกำลังพลสำรอง เผื่อกำลังไว้

โครงสร้างอำนาจที่คนรุ่นใหม่กำลังเผชิญหน้า

โครงสร้างที่คนรุ่นใหม่ต้องเจอมีทั้งอำนาจรัฐ ระบบราชการ วัฒนธรรม และความเชื่อบางอย่างซึ่งครอบงำสังคมไทย เมื่อคุณค่าใหม่ที่เป็นคุณค่าฝ่ายประชาธิปไตยพยายามจะเบียดก็ไปชนกันเหมือนน้ำจืดกับน้ำเค็ม

เวลาเราพูดถึงโครงสร้างอำนาจรัฐเหมือนจะยิ่งใหญ่แข็งแกร่ง แต่ถ้าเราเป็นรัฐแล้วมองกลับมาที่โครงสร้างอำนาจของประชาชนก็น่าตกใจ เพราะโครงสร้างประชาชนเป็นโครงสร้างฐานราก ถ้าฐานล่างขยับตัว แม้ตึกสูงที่ดูแข็งแรงก็โยกไหวและถล่มลงมาได้ การขับเคลื่อนที่ไม่หยุดนิ่งของฐานล่างอย่างประชาชนจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง

สนามการต่อสู้ที่แท้จริงไม่ใช่ถนน

สนามหรือพื้นที่การต่อสู้จริง ๆ ไม่ใช่บนถนน ทำเนียบรัฐบาล หรือในรัฐสภา พื้นที่ในการต่อสู้จริง ๆ เป็นพื้นที่ทางความคิด การยึดกลุ่มทางความคิด ยึดความหมายคุณค่า สามารถส่งต่อคุณค่านี้ไปให้กับประชาชนที่เป็นหน่วยพื้นฐานของสังคม บรรยากาศทางการเมืองอย่างนี้เป็นช่วงเวลาที่เราส่งต่อคุณค่า และคุณความหมายของความเป็นพลเมือง

ผมคิดว่ากิจกรรมที่เกิดขึ้นด้านหนึ่งก็เป็นการแสดงพลัง สร้างแรงกดดัน แต่อีกด้านหนึ่งคือการสื่อสาร ไปถึงกลุ่มคนที่อยู่รอบ ๆ หรือไกลออกไปให้คนเหล่านี้สนใจและเข้าใจ เปิดรับสารใหม่ที่ถูกส่งไป โดยเฉพาะ ‘คุณค่า’ ไปให้ถึงคุณค่าหลักทางการเมืองในฐานะพลเมือง คือต้องทำให้ประชาชนเชื่อก่อนว่าประเทศนี้เป็นของประชาชน แล้วเราก็จะเริ่มก่อร่างสร้างความคิดต่อยอดจากตรงนี้ หรืออภิปรายจากจุดยืนหรือหลักคุณค่านี้ได้ บก.ลายจุดกล่าว

ถ้าสายธารการต่อสู้นี้ยาวนาน การประคองใจแวะเก็บดอกไม้มิตรภาพระหว่างทางเพื่อเผื่อกำลังไว้จนกว่าวันที่ประชาธิปไตยเบ่งบานคงไม่ผิดนัก หนึ่งปีที่ผ่านมาการขับเคลื่อนของอิฐฐานล่าง สั่นคลอนโครงสร้างให้ปรับตัวบ้างแล้วไม่มากก็น้อย ฉันหวังว่าคนรุ่นใหม่จะมองเห็นและภูมิใจรอยขยับเล็ก ๆ ที่เริ่มเปลี่ยนแปลง

“มันต้องมีเก็บดอกไม้ริมทาง ชื่นชมมิตรภาพก็ดี เก็บการเรียนรู้และชัยชนะเล็ก ๆ ระหว่างทางคุณก็จะเรียนรู้เยอะมากเลย การเรียนรู้นี่ก็เป็นรางวัลของชีวิตที่เราเก็บเกี่ยวได้จากการต่อสู้” สมบัติ บุญงามอนงค์