ทิ้งไว้กลางเดือน ความอกหักของแรงงาน(ข้ามชาติ) - Decode
Reading Time: 3 minutes

‘ทำไมเราถึงต้องมาคุยเรื่องแรงงานข้ามชาติ’

อาจจะเป็นคำถามที่เกิดขึ้นในใจของใครบางคน คนชาติเดียวกันก็ยังช่วยกันไม่ไหวเลย ทำไมถึงยังต้องไปช่วยคนชาติอื่น แต่ถ้าหากเราลองปรับความคิดเสียใหม่และเลือกที่จะเบลอสถานที่กำเนิดของแต่ละคนไปชั่วคราว เราจะพบว่าพื้นฐานของแรงงานข้ามชาติทุกคนล้วนเป็นมนุษย์ไม่ต่างกันกับเรา มีเลือดเนื้อ ติดโรคโควิด-19 ได้และเจ็บปวดต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่แพ้กัน ในขณะที่รัฐร้องขอให้ทุกคนหยุดอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ

ทันทีที่ด่านพรมแดนปิด ความหวังที่จะกลับบ้านของเขาก็ถูกพับเก็บใส่กระเป๋า แรงงานข้ามชาติเรือนล้านจำเป็นต้องอยู่ที่นี่ทั้งที่ตัวเองก็ไม่รู้ว่าจะมีชีวิตรอดได้อย่างไร เมื่อไร้งานทำ

Decode ถอดรหัสปัญหาที่เกิดขึ้นจริงของวันนี้และพรุ่งนี้ ของแรงงานข้ามชาติ ผ่านงานเสวนา ‘Before-After COVID – 19 ชีวิต-เศรษฐกิจ-สิทธิ แรงงานข้ามชาติ’ โดยมีวิทยากร 6 ท่านมาแลกเปลี่ยนมุมมองและความคิดเห็น ทั้งจากฝ่ายกระทรวงแรงงาน รศ.ดร.จักษ์ พันธ์ชูเพชร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ฝ่ายวิชาการ ดร.นฤมล ทับจุมพล รองผู้อำนวยการ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และฝ่ายประชาสังคม ได้แก่ คุณสุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงาน เครือข่ายสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN), คุณสุชาติ ตระกูลหูทิพย์ หัวหน้าฝ่ายแรงงาน มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP), คุณสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และ คุณปภพ เสียมหาญ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา เพื่อมาพูดคุยถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจริงของแรงงานข้ามชาติและแนวทางการแก้ไขปัญหาแบบใดกันที่จะแก้ไขเรื่องนี้อย่างครอบคลุมและยั่งยืน

สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงาน เครือข่ายสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) – สุชาติ ตระกูลหูทิพย์ หัวหน้าฝ่ายแรงงาน มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP)

กลับไม่ได้-ไปต่อไม่ถึง : สิ่งที่ต้องเผชิญในวันนี้ของแรงงานข้ามชาติ

‘ตกงาน-รายได้หด’ คือ 2 ผลกระทบหลักที่ สุชาติ ตระกูลหูทิพย์ หัวหน้าฝ่ายแรงงาน มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP) ได้ค้นพบหลังจากการลงพื้นที่สำรวจสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานข้ามชาติบริเวณอำเภอแม่สอด ซึ่งผลกระทบที่ได้กล่าวไปข้างต้นล้วนเป็นผลพวงมาจากการออกคำสั่งปิดสถานประกอบการบางแห่งเพื่อลดความเสี่ยงในการติดโรคโควิด-19 ยาแรงจากภาครัฐที่ดูเหมือนจะไม่ได้จัดการแค่เชื้อไวรัสโคโรนาแต่แผลงฤทธิ์มาถึงแรงงานข้ามชาติอย่างเลี่ยงไม่ได้

“ประเด็นแรกที่เกิดขึ้นจากการออกคำสั่งปิดกิจการบางประเภทชั่วคราว คือ แรงงานข้ามชาติในบางประเภทกิจการ เช่น ร้านอาหาร ร้านนวด และ สถานบันเทิง กลายเป็นคนตกงานทันที ส่วนประเด็นที่สองที่พบเจอคือหลายคนอาจจะยังมีงานทำแต่รายได้ที่ได้กลับลดลง เนื่องจากการถูกลดเวลาทำงาน จากเดิมที่แรงงานข้ามชาติเคยถูกจ้างเป็นรายวัน มาวันนี้พวกเขาถูกจ้างเป็นรายชิ้นงาน ที่สำคัญเดิมทีค่าจ้างรายวันส่วนใหญ่ที่มีอยู่ในพื้นที่แม่สอดก็ไม่ได้เป็นค่าจ้างตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว ในยุคโควิดค่าจ้างมันยิ่งลดลง รายได้หายไปเกือบ 100% ขณะที่ค่าเช่าและค่ากินยังมีอยู่ คำถามที่เกิดขึ้นคือพวกเขาจะมีชีวิตอยู่อย่างไร”

จากคำถามที่สุชาติทิ้งท้ายไว้ สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงาน เครือข่ายสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) ขอรับไม้ต่อ เธอฉายชัดให้เห็นถึงการดำเนินชีวิตของแรงงานข้ามชาติที่แปรเปลี่ยนไป ไม่ต่างจากใครหลายๆ คน เมื่อไม่มีรายได้ การจำกัดค่าใช้จ่ายดูจะเป็นทางเลือกเดียวที่พวกเขาสามารถทำได้ในเวลานี้ ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เป็นภาระที่หนักที่สุดสำหรับแรงงานข้ามชาติ คือ ค่าเช่าห้องในแต่ละเดือน

“สภาพความเป็นอยู่ตอนนี้น่าเป็นห่วงมาก เราเริ่มเห็นแล้วว่าพวกเขาย้ายเข้ามาอยู่รวมกันเพื่อลดค่าใช้จ่าย จากเดิมในหนึ่งห้องเช่าจะมีแรงงานข้ามชาติเช่ากันอยู่แค่ 2-3 คน มาวันนี้พวกเขาทิ้งไปห้องหนึ่งแล้วย้ายมาอยู่รวมกัน กลายเป็นว่าห้องเช่าหนึ่งห้องมีคนอยู่มากถึง 6-7 คน ซึ่งเรารู้สึกว่าอันนี้มันไม่ใช่แล้วเพราะเจ้าโรคโควิด-19 เราไม่รู้เลยว่ามันโลดเต้นอยู่ตรงไหนบ้าง นอกจากนี้เราอย่าลืมว่ากลุ่มแรงงานข้ามชาติเป็นกลุ่มที่ถูกมองอย่างมีอคติอยู่แล้ว พอเขามาอยู่รวมกันเพราะข้อจำกัดที่เกิดขึ้น หากวันใดเกิดมีใครสักคนติดเชื้อขึ้นมา สังคมก็จะมองว่า เพราะการมีอยู่ของคนเหล่านี้จึงทำให้เชื้อไม่หมดสักที นี่คือสิ่งที่เรากังวล”

เมื่ออยู่ต่อก็แสนจะยากลำบาก การกลับบ้านดูจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด กล่าวตามความสัตย์จริงการกลับภูมิลำเนาของแรงงานไทย ณ เวลานี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ฉะนั้นไม่ต้องพูดถึงการกลับบ้านของแรงงานข้ามชาติที่ทวีคูณความยากเข้าไปเป็นสิบเท่า จากตัวเลขการเดินทางกลับประเทศต้นทางของแรงงานข้ามชาติพบว่าจากแรงงานข้ามชาติที่จดทะเบียนอยู่ในประเทศไทยเกือบ 3 ล้านคน มีเพียง 1 แสนคนเท่านั้นที่ได้เดินทางกลับบ้าน ดังนั้นจึงหมายความว่าแรงงานข้ามชาติอีก 2 ล้านกว่าคนคือเหล่าแรงงานที่กำลังประสบปัญหาอยู่ในประเทศไทยและกำลังรอความช่วยเหลือที่จะไปถึงพวกเขา

“แรงงานทุกคนอยากกลับบ้าน แต่กลับไม่ได้เขาเลยต้องอยู่”

ปภพ เสียมหาญ ผู้อำนวยการฝ่ายคดี มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา

รู้ว่ามีอยู่แต่มิอาจใช้ได้ : ปัญหาหมักหมมของระบบประกันสังคมไทยกับแรงงานข้ามชาติ

ทันทีที่เกิดปัญหาการขาดรายได้จากการว่างงาน สิ่งแรกที่แรงงานทุกคนนึกถึงคงหนีไม่พ้นเงินชดเชยจากประกันสังคม เงินออมที่เรายอมเจียดจากรายได้ที่มีอยู่อย่างน้อยนิดโดยฝากให้ภาครัฐเป็นคนช่วยดูแล เพื่อหวังว่าในยามที่เกิดสถานการณ์ขับขัน เงินที่เราอดทนสู้เก็บหอมรอมริบมานี้จะช่วยให้พอประทังชีวิตไปจนกว่าจะหางานใหม่ทำได้ ซึ่งดูเหมือนว่าความฝันที่เราเคยหวังไว้ดูจะไม่เป็นไปตามนั้นเสียแล้ว สถานการณ์ฉุกเฉินอย่างโรคระบาดโควิด-19 กำลังทุบความหวังนั้นลงไปจนหมดสิ้น

2 ปัญหาใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นจริง ณ เวลานี้กับเหล่าแรงงานข้ามชาตที่อยู่ในระบบประกันสังคมไทย คือ เรื่องความล่าช้าของมาตรการต่างๆ และการเข้าไม่ถึงการรับความช่วยเหลือ ปภพ เสียมหาญ ผู้อำนวยการฝ่ายคดี มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ได้ให้ความคิดเห็นในประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจ

“สิ่งที่เราพบเห็น ณ ปัจจุบัน คือการที่นายจ้างหลายคนพยายามฉวยโอกาสจากผลกระทบของโรคโควิด-19 ในการหลีกเลี่ยงกระบวนการที่จะก่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อแรงงาน ไม่ว่าจะเป็น การเลิกจ้างคนงานโดยไม่จ่ายค่าชดเชย การพยายามกดค่าแรงให้เหลือน้อยที่สุด หรือแม้แต่วันหยุดวันลาที่ถูกหักไป โดยใช้ข้ออ้างว่าเป็นผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจช่วงโควิด-19 ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการละเมิดสิทธิของแรงงานข้ามชาติ แค่เรื่องการละเมิดสิทธิก็สร้างความลำบากในการใช้ชีวิตให้กับแรงงานข้ามชาติแล้ว แต่ความลำบากขั้นกว่าที่แรงงานข้ามชาติต้องเผชิญคือ กลไกในการเข้าถึงช่องทางการเรียกร้องและช่องทางในการกรอกข้อมูลเพื่อขอรับเงินชดเชยที่ไม่ได้เอื้อให้แรงงานข้ามชาติสามารถเข้าถึงได้โดยง่ายเลย

“กว่าที่แรงงานข้ามชาติจะมีช่องทางในการโทรไปสอบถามข้อมูลจากทางกระทรวงแรงงาน ต้องรอถึงวันที่ 1 พฤษภาคม ถึงได้มีสายด่วนสำหรับแรงงานข้ามชาติโดยเฉพาะ ซึ่งความสับสนวุ่นวายต่างๆ ได้เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการกรอกแบบฟอร์มออนไลน์ขอรับสิทธิเงินชดเชยซึ่งภายในเว็บไซต์ล้วนเป็นภาษาไทยทั้งหมด หรือแม้แต่ต้องกรอกเลขบัตรประชาชน 13 หลัก ยังไม่นับรวมว่านายจ้างต้องเป็นคนมายื่นแบบฟอร์มว่าลูกจ้างคนไหนสมควรได้รับสิทธินี้ ทั้งหมดที่ว่าล้วนเป็นข้อจำกัดการเข้าถึงเงินชดเชยของแรงงานข้ามชาติ

“ผมมองว่าบทบาทเหล่านี้ควรที่จะต้องเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่แรงงานพยายามที่จะเคลื่อนย้ายกลับประเทศต้นทางแล้วด้วยซ้ำ แต่ว่ามันไม่เกิดอะไรขึ้นเลย กลายเป็นว่าผู้ที่ทำงานด้านแรงงานข้ามชาติ ต้องรับบทบาทในการตอบคำถามมากมาย ซึ่งเราก็ไม่สามารถตอบได้เต็มร้อยเพราะบางอย่างยังต้องรอนโยบาย กฎหมาย และประกาศจากรัฐบาลออกมาก่อน ส่งผลให้อาจจะล่าช้าเกินกว่าจะจัดการได้”  

หากเราลองมาไล่เรียงไทมไลน์จะพบว่าช่วงเวลากว่าที่มาตรการต่างๆ จะถูกหยิบขึ้นมาใช้กินเวลาอย่างยาวนาน

ประกันสังคมต้องกลับมาเดินเกมรุก : เมื่อแรงงานข้ามชาติเกินกว่าครึ่งไม่ได้เข้าสู่ระบบประกันสังคม

อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น ปัจจุบันประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติอยู่ในระบบมากถึง 3 ล้านคนแต่กลับมีแรงงานเพียง 1.1 ล้านคนเท่านั้นที่สามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้ ซึ่งนั่นก็หมายความว่ามีแรงงานข้ามชาติอีกมากกว่า 2 ล้านคนที่กำลังทำงานโดยปราศจากประกันสังคมและไม่สามารถขอรับเงินเยียวยาจากการว่างงานเพราะโรคโควิด-19 นี้ได้ โดยสาเหตุที่แรงงานข้ามชาติไม่สามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้ก็มาจากหลายปัจจัย เช่น นายจ้างไม่นำเงินที่เก็บจากลูกจ้างส่งประกันสังคม นายจ้างไม่ศรัทธาต่อระบบ ไปจนถึงลูงจ้างประเภทที่ไม่สามารถทำประกันสังคมได้ ฉะนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้นมาแรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้จะเป็นการกลุ่มแรกที่ทิ้งไว้กลางทาง

สุชาติ ตระกูลหูทิพย์ ในฐานะคนที่ทำงานคลุกคลีกับแรงงานข้ามชาติมาเป็นเวลาหลายปี คิดว่าปัญหานี้จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะเรื่องการจัดแบ่งประเภทแรงงานที่สามารถทำประกันสังคม ซึ่งเป็นประเด็นที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงสักเท่าไหร่ แต่หลังจากเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ยิ่งฉายภาพให้สังคมได้เห็นอย่างชัดเจนว่าเราไม่ควรแบ่งแยกว่าแรงงานกลุ่มไหนสมควรได้รับการคุ้มครองแบบไหนเพราะโรคระบาดไม่ได้เลือกว่าจะแพร่เชื้อไปให้แรงงานกลุ่มไหน ฉะนั้นหากเรามองแรงงานเป็นแรงงานจริงๆ ทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ ต้องมีสิทธิเข้าถึงประกันสังคม

“ผมขอยกตัวอย่างที่แม่สอด การจ้างงานแรงงานข้ามชาติที่แม่สอดเป็นไปตามมาตรา 64 การจ้างงานชายแดน ซึ่งมาตรานี้เข้าประกันสังคมไม่ได้เลยเนื่องจากเป็นการจ้างงานระยะสั้น เป็นการทำสัญญา 3 เดือนต่อการจ้างงาน 1 ครั้ง ซึ่งไม่ต้องรอให้โรงงานออกมาบอกว่าปิดกิจการชั่วคราวแค่เขาไม่ต่อสัญญาคนงานก็ไปไหนไม่รอดแล้ว และในเมื่อพวกเขาเหล่านี้ก็ถูกเลิกจ้างและได้รับความทุกข์ยากไม่ต่างกันแต่ทำไมเขาถึงเข้าสิทธิประกันสังคมไม่ได้ แรงงานข้ามชาติทุกวันนี้ไม่ได้ทำงานในสวนตามฤดูกาลอีกแล้วแต่มันถูกจ้างงานกันเป็นปี ผมเลยคิดว่าจากเหตุการณ์นี้มันอาจจะเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้กลับมาทบทวนตัวมาตรการและนโยบายต่างๆ มันอาจจะถึงเวลาแล้วหรือเปล่าที่เราจะต้องกลับมามองกันใหม่ว่าจริงๆ แล้วระบบประกันสังคมแบบไหนกันที่จะสามารถรับรองและคุ้มครองแรงงานทุกคนที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย”

ปภพ เสียมหาญ ผู้อำนวยการฝ่ายคดี มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา – สุชาติ ตระกูลหูทิพย์ หัวหน้าฝ่ายแรงงาน มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP)

นอกจากจะปรับกฎหมายให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงไปของโลก ปภพ เสียมหาญ ได้เสนออีกแนวทางที่น่าสนใจ คือการปรับรูปแบบการเดินเกมของประกันสังคมเสียใหม่ จากเดิมที่เน้นเป็นการตั้งรับและรอให้แรงงานเดินหน้าเข้ามาขอรับสิทธิ อาจจะต้องเปลี่ยนไปเป็นการเสนอความช่วยเหลือจากภาครัฐแทน และถือโอกาสนี้ในการเรียกศรัทธาต่อระบบประกันสังคมไทยให้เกิดขึ้นอีกครั้ง

“สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้นายจ้างและลูกจ้างไม่อยากเข้าไปอยู่ในระบบประกันสังคม เนื่องจากเขามองว่ามันยุ่งยาก สู้เอาเงินเก็บออมไว้แล้วค่อยหยิบออกมาใช้ตอนฉุกเฉินดีกว่า ฉะนั้นผมคิดว่านี่เป็นโอกาสดีที่เราจะเรียกศรัทธากลับมา อย่าลืมว่าเรามี กองทุนประกันสังคม ซึ่งเป็นกองทุนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือแรงงานอยู่แล้ว เราสามารถนำเงินจากกองทุนนั้นที่มีงบอยู่เกือบหมื่นล้าน มาจัดตั้งเป็นงบฉุกเฉินในการช่วยเหลือแรงงานได้ไหมเพื่อที่จะช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที”

ยอมรับว่าระบบมีปัญหาและถือโอกาสนี้ลงมือแก้ไข

 นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการลุกขึ้นมาพูดถึงเรื่องสิทธิของแรงงานข้ามชาติ เราต่างรู้ดีว่าประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ถูกหยิบมาพูดถึงกันหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาเรื่องประกันสุขภาพ ปัญหาการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม เรื่องสิทธิของแรงงานหญิง หรือแม้แต่การค้ามนุษย์ ทั้งหมดล้วนเป็นปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไขและพันผูกกันมากับแรงงานข้ามชาติเป็นระยะเวลานาน

แน่นอนว่าหากเรามีการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ตั้งแต่ต้น วันนี้แรงงานข้ามชาติซึ่งเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยอาจจะไม่ต้องเจ็บตัวหนักขนาดนี้ แต่ในเมื่อเรากลับไปแก้ไขอดีตไม่ได้ การมองสภาพปัจจุบันตามความเป็นจริงและลงมือแก้ไขทันทีเป็นหนทางเดียวที่เราทุกคนจำเป็นต้องลุกขึ้นมาทำเพื่อป้องกันไม่ให้อนาคตของแรงงานต้องกลับมาซ้ำรอยเดิม

สาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ มองว่าทางออกของเรื่องนี้เริ่มต้นจากการที่ภาครัฐจำเป็นต้องกระจายอำนาจและเปิดพื้นที่ให้กับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องนี้ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการกับระบบประกันสังคมมากกว่านี้

“ช่วงที่เกิดวิกฤตโควิดมันแสดงให้เราเห็นเลยว่าปัญหาสำคัญของเรื่องนี้อยู่ที่กระบวนการ เราเห็นแล้วว่าการใช้กลไกของราชการในปัจจุบันมันเกิดความล่าช้าในทุกขั้นตอน เราเข้าใจว่าระบบราชการมีขั้นมีตอนของมัน ถ้าข้าราชการใช้เงินไปผิดวัตถุประสงค์ก็อาจจะถูกตรวจสอบและอาจจะถึงขั้นมีความผิด แต่เราต้องยอมรับความจริงว่ากลไกการทำงานตามปกติและการใช้ข้าราชการอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นวันนี้ ฉะนั้นเราจำเป็นต้องปรับโครงสร้างการตัดสินใจให้มันอิสระและมีส่วนร่วมมากขึ้น ผมคิดว่ามันจะเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยทำให้ประกันสังคมสามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วมากกว่าเดิม ผมคิดว่าวันนี้มันถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมารื้อการบริหารจัดการระบบประกันสังคมเสียใหม่”

สาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ – ดร.นฤมล ทับจุมพล รองผู้อำนวยการ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ดร.นฤมล ทับจุมพล รองผู้อำนวยการ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เองก็คิดเห็นเช่นเดียวกันว่าถึงเวลาแล้วที่ทางกระทรวงแรงงานจำเป็นต้องเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม รวมไปถึงทางนักวิชาการได้มีส่วนเข้าไปช่วยออกแบบแนวทางปฏิบัติที่ควรเกิดขึ้นในวันนี้และในอนาคตเพื่อรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ดูท่าจะไม่ได้จบแค่การระบาดระลอกแรก

“เราไม่ต้องการผลักภาระไปให้เจ้าหน้าที่กระทรวงจะต้องรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว เพราะจริงๆ แล้วเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน อย่างทางมหาวิทยาลัยทั้งหลายที่มีการเคลื่อนไหวในช่วงนี้ก็ต่างอยากจะเข้ามามีส่วนร่วมช่วยเหลือภาครัฐ ซึ่งตอนนี้สิ่งเดียวที่ทุกหน่วยงานทำเหมือนกันคือรอว่าตกลงทางภาครัฐจะว่าอย่างไร ซึ่งถ้าเราสามารถรวมตัวกันได้จริง จะถือเป็นมิติใหม่ที่ทุกภาคส่วนได้มาร่วมคิดไปข้างหน้า ยกตัวอย่างเช่น ในอดีตโรงงานที่จะขอ BOI สมมติว่าจะต้องเปิดอีกรอบนึง ต้องรู้ว่าโจทย์ที่ต้องคิดล่วงหน้าคืออะไร? เช่น การตรวจโรคล่วงหน้า การคิดเรื่องระบบประกันสังคม เป็นต้น เพราะอย่าลืมว่าต่อไปเรื่องนี้จะเป็น new normal อย่างแน่นอน จากโรคระบาดจะกลายเป็นโรคตามฤดูกาล ฉะนั้นเราจะมีโจทย์อีกมากมายที่เราสามารถคิดไว้ล่วงหน้าและเตรียมการณ์ไว้เผื่อเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นอนาคต”

(พยายาม) ที่สุดแล้ว (แต่) เชื่อว่าจะดีได้กว่านี้

แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงเรื่องปัญหาของแรงงานข้ามชาติ พระเอกประจำเรื่องคงหนีไม่พ้นกระทรวงแรงงาน ที่ตอนนี้ดูเหมือนจะได้รับคำถามจากทุกภาคส่วนตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น แต่ในทางกลับกันเรายังไม่ค่อยได้ยินคำตอบจากกระทรวงแรงงานสักเท่าไหร่ ด้วยเหตุนี้เอง รศ.ดร.จักษ์ พันธ์ชูเพชร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เลยมาเป็นตัวแทนจากทางภาครัฐมาให้คำตอบในประเด็นต่างๆ 

“สำหรับกระทรวงแรงงาน เราไม่ได้มองแยกว่าใครเป็นแรงงานข้ามชาติหรือว่าเป็นแรงงานไทย แต่เรามองว่าทุกคนเป็นแรงงานที่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติเดียวกัน ฉะนั้นเขาต้องได้รับสิทธิ ได้รับการคุ้มครอง ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ อย่างการขอรับเงินชดเชยจากกองทุนประกันสังคมเนื่องจากการว่างงาน แรงงานข้ามชาติที่อยู่ในระบบก็มีสิทธิที่จะยื่นขอตรงนี้ได้ ส่วนสาเหตุที่ว่าทำไมถึงเกิดความล่าช้า เนื่องจากเงินตรงนี้เป็นเงินของคน 3 คน คือ นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐ โดยมีกฎหมายเป็นตัวรองรับ ฉะนั้นด้วยเงื่อนไขตรงนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหยิบฉกฉวยเงินมาใช้”

รศ.ดร.จักษ์ พันธ์ชูเพชร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

“เราขอยืนยันอีกทีว่าเรื่องของแรงงานข้ามชาติทางกระทรวงแรงงานไม่ได้ละเลย แต่ในบางกรณีเราก็ขอยอมรับ อย่างเช่น เรื่องการกรอกแบบฟอร์มที่เป็นภาษาไทย อันนี้ก็เป็นข้อมูลที่น่าสนใจและคิดว่าต้องมีการปรับเปลี่ยน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทางกระทรวงแรงงานก็มีตัวแทนที่เป็นพี่น้องแรงงานข้ามชาติทำงานสื่อสารข้อมูลในเรื่องนี้อยู่ แต่อาจจะไม่ทั่วถึง เราก็จะพยายามปรับปรุงเรื่องนี้ให้ดีที่สุด”

นอกจากเรื่องความล่าช้าในการเบิกจ่ายเงินเยียวยา อีกหนึ่งสิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญคือเรื่องของแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ถ้าเรามองเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่งก็คงจะมองข้ามไม่ได้ ทางกระทรวงแรงงานมีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไรคือคำถามที่น่าสนใจ

“เนื่องจากกระทรวงแรงงานทำงานอยู่บนพื้นฐานด้วยกฎหมายรองรับ เพราะฉะนั้นแรงงานในความหมายและความรับผิดชอบของเรา คือแรงงานที่เป็นแรงงานจริงๆ แต่คนที่หนีเข้ามา หรือ ถือวีซ่าอย่างอื่นเข้ามาทำงาน ถ้าจะให้เราไปมองว่าเขาเป็นแรงงานในมิติของกระทรวงแรงงาน เราก็มีข้อจำกัดในเรื่องของกฎหมายที่บังคับเราอยู่ ถ้ามองแบบ NGO หรือ นักวิชาการก็อาจจะมองได้อีกมิติหนึ่ง แต่ว่าด้วยเราเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เราจะทำได้ก็ต่อเมื่อกฎหมายเปิดให้ทำ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็ไม่ได้มองข้ามเรื่องนี้และจะพยายามดำเนินการ พร้อมทั้งนำสิ่งที่ทุกท่านพูดถึงว่าการแก้ไขต้องเริ่มต้นจากฝ่ายนิติบัญญัติว่าเราจะทำอย่างไรเพื่อให้เกิดผลครอบคลุมทุกฝ่าย”

สำหรับคำถามสุดท้าย ซึ่งดูเหมือนจะเป็นนิมิตหมายที่ดีหากเราสามารถลงมือทำได้จริง อย่างการเปิดพื้นที่ให้องค์กรที่ทำงานเรื่องแรงงานข้ามชาติ ทั้งจากภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และ มหาวิทยาลัยได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการระบบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในวันนี้รวมถึงในอนาคต ทางกระทรวงมองถึงความเป็นไปได้ในเรื่องนี้อย่างไร

“ผมมองว่ามันเป็นสิ่งที่ควรจะต้องเกิดขึ้น ทั้ง NGO ภาควิชาการ ภาคแรงงาน ภาคธุรกิจ ทุกภาคส่วนต้องเข้ามาช่วยกันเพราะปัญหาทุกอย่างไม่ได้เป็นปัญหาเชิงเดี่ยว มันซับซ้อนและต้องมองให้รอบด้าน ผมต้องขอบคุณทุกท่านที่ประกาศตัวอย่างชัดเจนแล้วว่าอยากเข้ามาช่วย แต่รอสัญญาณเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นผมจะนำเรื่องนี้ไปเรียนเสนอท่านผู้บริหารว่า ตรงนี้เป็นเรื่องที่เราน่าจะดำเนินการเพื่อปรับปรุงทุกอย่างให้ดีขึ้น ผมมองว่าโควิดทำให้เราได้มองเห็นว่าสิ่งที่เราต้องแก้ไขคืออะไร”  

https://www.facebook.com/decode.plus/videos/787707228429342/?comment_id=108830180852147&notif_id=1590750726117777&notif_t=feed_comment