“ปกติเสาร์อาทิตย์จะไปรับขายของตามห้าง เวลามีบู๊ทต่าง ๆ แต่ตอนนี้ห้างก็ปิดหมด” เรื่องเล่านี้ที่ฟังเผิน ๆ อาจเป็นปัญหาความทุกข์ใจของคนวัยทำงานที่ถูกพิษโควิด-19 เล่นงานเสียแล้ว แต่ไม่ใช่ นี่เป็นเรื่องราวของเด็กสาววัย 15 ปี ที่ต้องตกอยู่ในสถานะคนตกงานไม่ต่างจากบรรดาผู้ที่มีสิทธิยื่นขอรับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาทจากรัฐบาลอยู่ในขณะนี้
แล้วเหตุใดนักเรียนซึ่งได้รับสิทธิเรียนฟรี 15 ปี ถึงยังคงต้องกังวลกับภาระค่าใช้จ่าย ทั้งที่พวกเขายังอยู่ในวัยที่ควรได้สนุกสุดเหวี่ยง เหตุผลแรกที่น่าจะบอกได้ คือ “ต้นทุนชีวิต” ของแต่ละคนไม่เท่ากัน อีกทั้งปฏิเสธไม่ได้ว่าต้นทุนทางการศึกษาไม่ได้หยุดเพียง “ค่าเทอม” ยังมีรายจ่ายจิปาถะที่มาในรูปแบบกิจกรรมพิเศษต่าง ๆ
เมื่อต้นทุนชีวิตที่น้อยผนวกกับปัญหาโรคระบาดที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงไม่น่าแปลกใจที่เด็กหลายคนจะตั้งคำถามกับตัวเองว่า “พวกเขาจะมีโอกาสได้เปิดเทอมใหม่หรือไม่”
กระทรวงศึกษาธิการมีมติแล้วว่า สถานศึกษาทั้งรัฐและเอกชนในสังกัดทั้งหมดจะเลื่อนการเปิดทำการเรียนการสอนในภาคการศึกษา 2563 ไปอีกกว่า 2 เดือนโดยประมาณ จากกำหนดการเดิมที่ต้องเปิดในวันที่ 16 พ.ค. ให้เลื่อนไปเปิดวันที่ 1 ก.ค. เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ณัฐฏธิดา นุชม่วง หรือ เจน เด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในจังหวัดตรัง เป็นคนหนึ่งที่ได้ใช้เวลานอกห้องเรียนเพิ่มขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นผู้ได้รับผลจากการมาตรการปิดเมืองของจังหวัดจากสถานการณ์โรค เพราะปกติในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์นั้น ห้างสรรพสินค้ากลางเมืองถือเป็นแหล่งหารายได้ของเธอก็ว่าได้ ด้วยการรับจ้างขายสินค้าตามซุ้มกิจกรรมต่าง ๆ ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนในทุกสัปดาห์
สำหรับนักเรียนหลายคนการทำงานช่วงวันหยุดอาจเป็นเพียงอาชีพเสริมเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่สำหรับเจนนี่ถือเป็นอีกหนึ่งรายได้สำคัญของเธอ ด้วยขณะนี้พี่สาวต้องกลายเป็นเสาหลักของครอบครัวหลังการเสียชีวิตของพ่อกับแม่ การรับจ้างกรีดยาพาราไม่ได้มีรายได้ที่แน่นอน บวกกับตอนนี้อยู่ในช่วงหยุดพักตามฤดูกาล
“ตอนนี้ก็ทำอะไรไม่ได้เลย พี่สาวก็ไม่ได้ทำอะไร ก็มีแฟนพี่สาวคนเดียวที่ออกไปรับจ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้”
ปกติช่วงปิดภาคเรียน อีกหนึ่งอาชีพที่เจนทำมาตลอดหลายปี คือการเป็นผู้ช่วยในร้านเสริมสวยใกล้บ้าน ซึ่งสร้างรายได้จำนวนไม่น้อย มันช่วยจุนเจือค่าใช้จ่ายในการไปโรงเรียนช่วงเปิดเทอมได้ แต่ตอนนี้ร้านเสริมสวยเป็นอีกหนึ่งพื้นที่เสี่ยงการระบาดของโรค จึงต้องปิดเป็นการชั่วคราว รายได้ส่วนนี้เลยเป็นศูนย์ไปด้วย จะไปรับจ้างทำงานอื่นในช่วงเวลานี้ก็ใช่จะหาได้ง่าย
อีกทั้งหลังจากมีการเลื่อนเปิดเทอมไป ทำให้ช่วงเวลาระหว่างภาคเรียนซึ่งเป็นเวลาทองของเจนในการหารายได้หายไปด้วยโดยปริยาย ทั้งในปีการศึกษาหน้าก็มีแนวโน้มที่วันปิดเทอมใหญ่จะถูกลดทอนไปด้วย
เจนเล่าด้วยน้ำเสียงกลั้วหัวเราะว่า ตอนนี้เรียกว่า “สบายที่สุด” ในชีวิตแล้ว เพราะแต่ละวันทำได้เพียงนั่ง ๆ นอน ๆ แต่เป็นความสบายกายที่ไม่ได้สบายใจไปด้วยเลย แม้ว่าตอนนี้การใช้ชีวิตยังเป็นปกติ แต่เมื่อใกล้เวลาเปิดเรียนหากทุกคนในครอบครัวยังไม่สามารถกลับมาทำงานได้ปกติ เธอก็ไม่รู้ว่าปัญหานี้จะกระทบกับค่าใช้จ่ายในการไปเรียนมากน้อยเพียงใด
ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ของเจน จึงไม่น่าแปลกใจที่ผลสำรวจล่าสุดขององค์การยูนิเซฟ เรื่องผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อเด็กและเยาวชนในประเทศไทยจะพบว่า เด็กและเยาวชนกว่า 8 ใน 10 คน มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาการเงินของครอบครัว ซึ่งเป็นประเด็นที่เด็กและเยาวชนกังวลมากที่สุด
เช่นเดียวกับ ดนุสรณ์ ศรีคำ หรือเวฟ หนุ่มวัย 17 ปีที่กำลังเรียนอยู่ปวช. ชั้นปีที่ 2 ในศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนห้วยยอด จ.ตรัง ที่ต้องตกอยู่ในสถานะเด็กตกงานไม่ต่างกัน หลังสนามกอล์ฟซึ่งเขามักจะไปหารายได้ช่วยเหลือครอบครัวด้วยการเป็นแคดดี้ต้องปิดบริการชั่วคราว
หากเขาเป็นคนเดียวที่เป็นคนตกงานในครอบครัวคงไม่ตกที่นั่งลำบากมากมาย แต่แม่ซึ่งเป็นคนเดียวที่หาเงินจุนเจือครอบครัวกับการเป็นแคดดี้มานับสิบปีก็ตกอยู่ในสถานการณ์ไม่ต่างกัน โชคยังดีที่แม่มีฝีมือในการทำขนมจึงยังพอมีรายได้ในช่วงตกงานนี้มาใช้จ่ายในครอบครัว
“ปกติเป็นแคดดี้ก็ไม่ได้เงินแน่นอนอยู่แล้ว ถ้าวันไหนไม่มีออกรอบก็คือไม่ได้เลย แต่ตอนนี้ก็ยิ่งกว่าไม่ได้เสียอีก ไม่ได้ทำด้วย”
ภาพเด็กหนุ่มผิวเข้มมีหนวดที่ร่ำเรียนเป็นช่างอิเล็กทรอนิกส์ ช่างขัดกับชีวิตประจำวันตอนนี้ที่เวฟต้องรับหน้าที่ช่วยแม่ทำขนมถั่วตัดเพื่อส่งร้านค้าหรือคนที่สั่งทำ ซึ่งเขามีส่วนร่วมแทบจะทุกขั้นตอน ไม่เว้นกระทั่งการจัดส่ง ถึงแม้มาดของเขาจะขัดตากับงานนี้ไปบ้าง แต่เวฟเล่าอย่างภาคภูมิใจที่ได้ช่วยแม่หารายได้ด้วยอาชีพสุจริต
แต่ต่อให้เขาดีใจแค่ไหน แต่ทุกครั้งที่เห็นขนมที่แขวนบนสองแฮนด์มอเตอร์ไซค์ในช่วงที่ต้องไปส่งให้ลูกค้า ก็ทำให้เขาอดกังวลในทุกครั้งไม่ได้ เพราะจากที่เคยหอบหิ้วแทบไม่หมด ตอนนี้กลับเบาโหวงจนน่าใจหาย ด้วยยอดการสั่งซื้อจากที่เคยขายได้ครั้งละหลักร้อยห่อก็ลดลงเหลือหลักสิบ
เวฟเล่าย้อนกลับไปว่า ครอบครัวของเขาเป็นชาว จ.เลย แต่ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจพ่อแม่จึงตัดสินใจย้ายมาทำงานในภาคใต้นับสิบปีแล้ว ก่อนที่เขาและน้องจะย้ายตามมาเรียนชั้นมัธยมศึกษา
หลังประสบปัญหาในครอบครับจนพ่อกับแม่แยกทางกัน แม่จึงกลายเป็นเสาหลักของบ้านไปโดยปริยาย การจะพึ่งพาญาติพี่น้องหรือหาอาชีพใหม่จึงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับแม่ของเขาเลย ด้วยเป็นคนไกลบ้านและไม่ได้มีความรู้มากนัก แต่สิ่งที่ยังนับว่าเป็นโชคดี คือแม่สนับสนุนเรื่องการเรียนของเขามาโดยตลอด จึงมีการเก็บออมบางส่วนทำให้ไม่ได้ลำบากกับการจ่ายค่าเล่าเรียนในช่วงใกล้ ๆ นี้ เพียงแต่ทุกคนคงต้อง “ประหยัด” มากกว่าที่แล้วมา
“ก่อนหน้านี้แม่ยังไหว เลยไม่อยากให้ต้องรับภาระเรื่องกู้ยืมเรียนเพราะยังจัดการได้ แต่ตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าจะยังไง” เขาเล่าว่าโดยทั่วไปนักเรียนที่มีปัญหาเรื่องการเงินโรงเรียนมักจะสำรวจตั้งแต่เริ่มเข้า เพื่อคอยหาทุนต่าง ๆ สนับสนุน
แต่การที่เขาไม่เคยเข้าสู่ระบบการก็กู้ยืมมาก่อน เลยดูจะไม่ใช่เรื่องง่ายที่เขาจะได้รับการช่วยเหลือในช่วงเปิดภาคเรียนที่จะมาถึงนี้ ที่แล้วมาการสมัครเพื่อพิจารณารับทุนการศึกษาก็มีขั้นตอนอยู่พอสมควร
ต้นทุนที่มากกว่าค่าเทอม
ข้อมูลจากการประมาณการของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือที่รู้จักในชื่อ กสศ. ซึ่งสำรวจร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่าค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาเฉลี่ยต่อนักเรียนของครัวเรือนยากจนในสถานศึกษารัฐช่วงเดือนแรกของการเปิดภาคเรียนจากปี 2560 นั้นพบว่า ครอบครัวที่ยากจนที่สุด 10% แรกของประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาที่นอกเหนือจากค่าธรรมเนียมการศึกษาที่รัฐออกให้ค่อนข้างสูง
คุณครูระดับชั้นมัธยมศึกษารายหนึ่งในโรงเรียนขนาดใหญ่ ให้ข้อมูลว่า นโยบายเรียนฟรีในโรงเรียนนั้นเหมือนจะจริงทางทฤษฎี แต่ไม่ใช่หลักปฏิบัติ เพราะโรงเรียนจำเป็นต้อง “แปลง” ค่าเทอมบางส่วนออกมาในรูปแบบค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ทั้งค่าการจัดการเรียนการสอนคอมพิวเตอร์ หรือค่าการเรียนเพิ่มเติมด้านภาษา ซึ่งจะอยู่นอกเหนือเงินอุดหนุนจากภาครัฐ
โดยทั้งหมดเป็นความจำเป็นที่แต่ละโรงเรียนหลีกเลี่ยงได้ยาก เพราะไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายที่ “ผู้ใหญ่” ไม่อยากจะเข้าใจ ทั้งค่าใช้จ่ายในการจ้างครูอัตราจ้าง จากกรณีการขาดอัตรากำลังครู เป็นต้น ซึ่งท้ายที่สุดภาระทั้งหมดก็จะไปตกที่บรรดาผู้ปกครอง
นี่เป็นคำยืนยันว่าค่าใช้จ่ายที่นักเรียนต้องใช้จ่ายในแต่ละเทอมนั้น นอกจากค่าทำเนียมการศึกษาแล้วยังมีค่าใช้จ่ายที่ตามมาอีกไม่น้อย
การสำรวจของกสศ. ประเด็นนี้พบว่า ค่าใช้จ่ายเหล่านี้จะเพิ่มสูงขึ้นตามระดับชั้นการศึกษา โดยประมาณแล้วระดับประถมศึกษามีค่าใช้จ่าย 1,796 บาทต่อคน ระดับมัธยมต้น 3,001 บาทต่อคน ในขณะที่ระดับมัธยมปลาย 3,738 บาทต่อคน และระดับอาชีวะ 4,829 บาทต่อคน ซึ่งเมื่อคิดเทียบเฉลี่ยต่อรายได้ของครัวเรือนกลุ่มนี้ต่อเดือนพวกเขามีรายได้เพียง 2,020 บาทโดยประมาณเท่านั้น
คิดง่าย ๆ หากคนกลุ่มนี้มีลูกอยู่ในระดับอาชีวศึกษา พวกเขาอาจจะต้องใช้เงินเดือนถึง 2 เท่าจึงจะสามารถจ่ายค่าเทอมของลูกได้ นี่ยังไม่ได้นับรวมว่าเขาอาจจะมีลูกมากกว่าคนเดียวด้วยซ้ำไป
โดยทั้งหมดนี้คิดอยู่บนฐานของสถานการณ์ธรรมดา ที่พ่อแม่กลุ่มนี้ยังสามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ แล้วหากใครคนใดคนหนึ่งในครอบครัวต้องตกงานในสภาวะการระบาดของโควิด-19 ละ
กลุ่มเปราะบางทางการศึกษา
“เด็กยากจนพิเศษโดยปกติเขาก็ขาดเรียนบ่อยอยู่แล้ว รายได้ต่อวัน วันละ 50 บาท (รายได้เฉลี่ย 1,500 บาทต่อเดือน) เป็นคนที่จนที่สุด 10 % แรกของประเทศ ทุกคนเป็นคนที่มีความเสี่ยงที่หลุดออกจากการศึกษาอยู่แล้ว”
นี่เป็นข้อกังวลของ ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในฐานะที่ทำงานใกล้ชิดกับ “กลุ่มเด็กเปราะบาง” ที่มีโอกาสเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบในการศึกษามาตั้งแต่ก่อนที่จะมีปัญหาโรคระบาด ยิ่งเมื่อประกอบกับเหตุการณ์ปัจจุบัน “ความอดยาก” จึงกลายเป็นเรื่องปกติ
ดร.ไกรยส เล่าว่า ก่อนหน้านี้ปัญหาหนึ่งที่พบในกลุ่มเด็กยากจนพิเศษ คือ การไม่ได้รับประทานอาหารเช้า เมื่อมีการขยายระยะเวลาการเปิดเทอม ปัญหาเรื่องอาหารการกินจึงเป็นสิ่งแรกที่ต้องช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
นี่จึงเป็นเหตุผลให้คณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้เร่งเบิกจ่ายเงินอุดหนุนจำนวน 300 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษ ที่สมาชิกในครอบครัวมีรายได้ต่ำกว่า 1,500 บาทต่อคนต่อเดือน กว่า 700,000 คนทั่วประเทศ
ด้วยข้อจำกัดของเงินจำนวนนี้ ดร.ไกรยส ยอมรับว่าจำเป็นต้องคัดเลือกกลุ่มที่จำเป็นเร่งด่วนก่อน คือ กลุ่มเด็กเล็ก ซึ่งกำลังศึกษาชั้น ป.1-ป.6 โดยกศส.มีข้อมูลในระบบกว่า 500,000 คน ภายในกลางเดือนพ.ค.นี้จะมีการจ่ายเงินทั้งหมดผ่านโรงเรียน ก่อนที่จะมีแปรรูปเป็นสินค้าบริโภคที่จำเป็น เพื่อแจกจ่ายให้แก่เด็กแต่ละคน คิดเป็นเงิน 600 ต่อหัว
โดยทั้งหมดนี้ยังไม่ได้หมายรวมกลุ่มเด็กยากจน ที่ครอบครัวมีรายได้ต่ำกว่า 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน ที่มีอีกกว่า 1.2 ล้านคนทั่วประเทศ
ดร.ไกรยส อธิบายต่อว่า เมื่อเปิดภาคเรียนการศึกษากลุ่มเด็กยากจนที่อยู่ในทะเบียนของกศส.ก็จะได้รับเงินอุดหนุนทางการศึกษาเช่นเดิม ส่วนนักเรียนรายใหม่ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปนั้นก็สามารถสมัครเข้ารับพิจารณาเพื่อรับการสนับสนุนได้ต่อไป
นี่ก็จะเป็นหนึ่งความหวังของทั้งเวฟและเจน ที่ไม่เคยอยู่ในระบบของนักเรียนยากจนพิเศษ ซึ่งยังไม่ทราบว่าในทางปฏิบัติจะทำได้จริง และรวดเร็วเพียงพอหรือไม่
ที่พอจะมีลุ้นก็คงเป็นมาตรการของรัฐบาล ที่กำลังพิจารณาเพื่อให้เงินช่วยเหลือกลุ่มนักเรียนที่ทำงานพิเศษ และได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในการช่วยเหลือระลอกต่อไป แต่ก็ไม่รู้ว่าจะบังคับใช้ได้จริงเมื่อใด เพราะผู้ที่ขึ้นทะเบียนรับการช่วยเหลือจากรัฐในรอบแรกยังคงอยู่ในขั้นตอนยื่นขอพิทักษ์สิทธิอยู่
ทั้งหมดนี้ก็อาจจะบอกได้คร่าว ๆ ว่าสังคมก็ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อความเดือดร้อนของบรรดานักเรียน นักศึกษาที่ต้องหาเลี้ยงตัวเองเสียทีเดียวอย่างที่หลายคนตั้งข้อสงสัย แล้วเพราะเหตุใดบรรดาเด็ก ๆ ที่ต้องดิ้นรนหารายได้ด้วยตัวเองถึงยังคงกังวลใจกันอยู่
หรือจริง ๆ แล้วสังคมไทยมันมีทางเลือกอยู่มากมาย แต่ใช้ไม่ได้จริงกันนะ