ไปต่อชะลอไม่ได้ ศอ.บต.คิกออฟ “นิคมฯ จะนะ” - Decode
Reading Time: 3 minutes

ตามหน้าสื่อทั้งข่าว บทความ และบทวิเคราะห์ ชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) หรือ ดร.เจ๋ง ถูกเขียนถึงในฐานะ “ผู้ริเริ่ม – ตัวตั้งตัวตี – ปลูกปั้น-ผลักดัน” โครงการเมืองอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา ถือว่าเป็น Key Actor ของเมกะโปรเจกนี้

แต่คำตอบที่ Decode ได้จาก ดร.เจ๋ง เมื่อถามว่าเขามองตัวเองเป็นใคร ดร.เจ๋งบอกว่าเขาเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ หากเลขาธิการ ศอ.บต.เป็นผู้จัดการโครงการ เขาเป็นเพียงผู้ช่วยผู้จัดการโครงการ

“เป็นผู้รับผิดชอบโครงการตามภารกิจของ ศอ.บต. ซึ่งแต่ละคนจะมีภาระหน้าที่แตกต่างกัน ผมเริ่มเข้ามารับผิดชอบโครงการนี้ตั้งแต่ปี 2559 แม้ออกสื่อเยอะ แต่โครงสร้างการบริหาร ผมเป็นรองฝ่ายบริหารไม่ใช่ฝ่ายการพัฒนา” อีกนัยหนึ่งอาจพูดได้ว่า โครงการนิคมฯ จะนะเป็นโครงการของ ศอ.บต.

ท่ามกลางความขัดแย้งทางความคิดระหว่าง ศอ.บต. และกลุ่มคัดค้าน กับกลุ่มคัดค้านและผู้สนับสนุน ในการเดินหน้าโครงการนี้ ศอ.บต.เป็นตัวละครสำคัญอย่างมากที่สามารถขีดเส้นอนาคตคนจะนะ คนภาคใต้ แม้ ดร.เจ๋งบอกว่า ศอ.บต.เป็นเพียงผู้คิกออฟโครงการให้แค่นั้น

“สมมติโครงการมีระยะทาง 1 กิโลเมตร วันนี้ ศอ.บต.ทำ 50 เมตรเอง เราต้องส่งต่อลูกไปต่อให้หน่วยงานที่จะเข้ามาหลังจากนี้ เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงคมนาคม สาธารณสุขอะไรพวกนี้ เราเป็นตัวตั้งต้น ในขณะที่เอกชนเองก็ไปทำ EIA เอกชนไม่สามารถไม่ปฏิบัติตามได้ อาจใช้เวลา 2-3 ปี เรากำลังเอาไม้วัดที่ 1 กิโลเมตรมาวัดที่ 50 เมตรกับการทำงานของเรา”

นี่คือหนึ่งในเหตุผลที่ว่า เวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา ในวันที่ 11 ก.ค. 63 นี้ จะยังเกิดขึ้นแน่นอน แม้มีเรียกร้องคัดค้านให้ควรหยุดเวทีไปก่อน เพื่อลดความขัดแย้งและการปะทะ ที่สำคัญเพื่อ “คุยกันใหม่” แต่ดูเหมือนจะไม่เป็นผล ดร.เจ๋งยืนยันเวทีรับฟังความเห็นต้องไปต่อ รอไม่ได้

“เราเห็นความสำคัญของการจัดประชุมต่อไป เพราะความสำคัญอยู่ที่ประชาชนร่วมกันคิด และอุตสาหกรรมนี้จะมีประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต สมควรจะเดินต่อหรือไม่นั้น ข้อมูลเมื่อวาน (8 ก.ค.63) มีประชาชนอีก 1,000 คน ส่งจดหมายเสนอมาอีกว่าอยากแสดงความคิดเห็นจึงขยายทำเวทีคู่ขนาน 2 เวที เวทีละ 1,000 คน เพื่อให้ประชาชนแสดงความเห็นตามเจตจำนง มากเท่าไหร่ยิ่งดี ถ้าต้องยกเลิกยุติก็ต้องกลับไปถามประชาชนก่อน”

ภาพจาก ชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศอ.บต.

“เวทีรับฟัง” เป็น 1 ใน 4 วิธีฟังเสียงประชาชน

หากบอกว่าเวทีนี้ปิดกั้นไม่ครอบคลุมการฟังความเห็นของประชาชนอย่างไม่ทั่วถึง ดร.เจ๋งบอกว่าการเก็บเสียงของประชาชนจากเวทีรับฟังความเห็นครั้งนี้ เป็น 1 ใน 4 วิธีของการรวบรวมข้อมูลซึ่งเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 ซึ่งมี 4 วิธีได้แก่ 1.แสดงความเห็นผ่านเว็บไซต์ 2.จัดกลุ่มย่อย ซึ่งจัดไป 36 กลุ่ม 3.สัมภาษณ์ตามบ้าน ซึ่งตอนนี้เกิน 10,000 คน และสุดท้าย 4. คือการจัดเวทีครั้งนี้

“เป็นการยืนยันเสียงที่ถูกรวบรวมมาจาก วิธีที่ 1-3 เวทีนี้ไม่จัดก็ได้ แต่เราอยากได้ข้อมูลที่ถูกต้องและตรวจสอบโดยประชาชน ที่เราเก็บข้อมูลอย่างตามบ้านเรือนส่วนใหญ่เห็นด้วย 6-7,000 คน ส่วนไม่เห็นด้วยเราสามารถแก้ไขความกังวลของเขาได้แน่นอน ผมจบปริญญาเอกทางการวิจัยพอดี เราจึงทำโฟกัสกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย เพราะเขามีปัญหาบางอย่าง และมีข้อกังวลที่ต้องการหาคำตอบ

เราได้คุยกันต่อในเวทีโฟกัส เรื่องประมงพื้นบ้าน รัฐต้องเยียวยาเขาเป็นรายได้ เขาไม่สามารถออกไปประกอบอาชีพได้ เสนอตัวเลขมา 75,000 บาท เป็นรายได้ต่อปีของเขา แต่เราทำข้อมูลได้ลึกกว่านั้นอีก กรณีของการชดเชยเรือที่มีขนาดใหญ่จับปลา จับเรือได้มาก มันน่าจะมีสัดส่วนของการช่วยเหลือมากกว่า 75,000 บาท เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีเรื่องของโรงเรียน และส่งเสริมศาสนามาด้วย”

เสียงที่เก็บเป็นเสียงไปตามเวทีประชุมต่าง ๆ แล้วเสียงของคนที่ออกมาคัดค้านนอกเวที และตามสื่อ เขาถูกนับเป็นเสียงที่เรานำมาพิจารณาในนี้ด้วยไหม เราถาม ดร.เจ๋ง

“ถูกนำมานับรวมด้วยทั้งหมด เราให้พี่น้องประชาชนเป็นคนจัดเอง คนในพื้นที่ในฐานะครอบครัวเดียวกดัน อยากให้คุยกัน ไม่อยากให้คิดว่าทำไมไม่เชิญกัน ที่ไหนก็เข้าได้หมด แต่เราก็คิดว่าเราต้องประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้น ถ้ามีกรณีที่ว่าทำไมเขาไม่รู้เรื่องเวที”

ห่วงมือที่ 3 สร้างสถานการณ์ และม็อบปิดถนน

แม้โครงการมีทั้งคนหนุน-ค้าน เสี่ยงต่อการปะทะ หรือเกิดความวุ่นวาย แต่ในมุมมองของ ดร.เจ๋งไม่ได้กังวลการปะทะที่จะเกิดระหว่างประชาชนที่เห็นต่าง เพราะเชื่อว่าทุกคนเห็นกันและกันเป็นพี่น้องบ้านเดียวกัน แต่ห่วงการสร้างสถานการณ์จากมือที่ 3 ทำให้ตอนนี้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาเพื่อดูและความปลอดภัยและเรียบร้อยในพื้นที่ ดูแลการจราจร และเพราะอาจจะมีม็อบมารวมตัวปิดถนนใกล้เวทีรับฟังอาจทำให้การสัญจรไปมาของประชาชนติดขัด

“เชื่อมั่นในพี่น้องตำรวจที่จะเข้ามาดูแลรักษาความปลอดภัย ถ้าไม่เชื่อมือตำรวจถ้าเกิดเหตุอะไร มีผู้เสียชีวิตที่ไม่ได้เกิดจากเวทีนี้ เราจะเสียใจมากกว่านี้ จะเกิดความโกลาหลในแง่ของขวัญและกำลังใจ”

“นิคมฯ จะนะ” จิ๊กซอว์สุดท้ายแก้ปัญหาใต้

จุดยืนของ ศอ.บต.ต่อนิคมอุตสาหกรรมจะนะวันนี้ คือการปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการใหม่ เพื่อแก้ปัญหาในภาคใต้ของ ศอ.บต. โดยมองว่าการทำงานราชการแบบเดิมตั้งแต่ปี 2547 แก้ปัญหาที่มีอยู่ไม่ได้ วนเวียนไม่ปลดล็อก ความไม่สงบในพื้นที่ทำให้ภาคธุรกิจหนีออก นักลงทุนไม่มีเข้ามา คนตกงานเรือนแสน แรงงานต้องข้ามประเทศไปอยู่ต่างแดน

มีคนไปอยู่ที่มาเลเซียอย่างถูกต้อง 50,000 คน ผิดกฎหมาย 100,000 คน ไปเป็นแรงงานประมงบ้าง หรือสวนปาล์มบ้าง นอกจากนี้ ยังมีตัวเลขนักศึกษาที่จบมาไม่มีงาน (ภาตใต้) 25,000 คนต่อปี คนยากจน 4 แสนคน และด้อยโอกาสอีก 1.7 แสนคน รวมแล้วกว่า 1 ล้านคน ซึ่งมองว่า หาก ศอ.บต.ทำแบบเดิม ก็จะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างไม่ได้

“เป็นจิ๊กซอว์สุดท้าย หลังจากนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับศอ.บต. ต้องไปทำข้อมูลเชื่อมโยงฐานการผลิตเพื่อป้อนอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารจากเนื้อวัว ไปกำหนดแผนให้ชัดเจน ให้ประชาชนก้าวสู่อาชีพ และเชื่อมโยงได้ เกษตรตายจากยางพารา พื้นที่เพาะปลูก 90% ถ้าไม่เปลี่ยนมุมมอง ปลูกแบบไร้การตลาด อนาคตจะยิ่งมืดมน”

“ธรรมนูญชุมชนจะนะ” ควบคุมกำหนดวิถีร่วมกัน

เวทีรับฟังคือทางออกระยะสั้นในมุมมองของ ดร.เจ๋งที่คนเห็นต่างได้คุยกัน แต่อีกหนึ่งทางออกระยะยาวที่ ศอ.บต.กำลังเดินหน้าต่อเร็ว ๆ นี้ คือ เตรียมคลอด “ธรรมนูญชุมชน” ที่จะร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. ซึ่งวันที่ 14 ก.ค.63 นี้จะไปคุยทิศทางการทำงานร่วมกัน กำหนดแผนที่เป็นพันธะสัญญาที่ทำให้ได้จริง สิ่งนี้จะเข้ามาควบคุมวิถีของนิคมฯ

“การทำสวนอุตสาหกรรม เราอย่ามองมันเป็นมาบตาพุด จ.ระยอง ตอนนั้นปี 2520 ยังไม่มีกฎหมาย เรามีโมเดลที่สามารถพัฒนาและดูแล และบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมที่ควบคุมและดูแลชุมชน ทำไมเราไม่พูดถึงอมตะนคร สวนอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้น เป็นสวนอาหารอุตสาหกรรม อาหารฮาลาล เกษตรชีวภาพ Blue Ocean Economy สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมมาก แต่ไม่ใช่ว่าไม่เกิด มันเกิดแต่อยู่ในภาวะที่จัดการได้ ต้องไม่ลืมว่าวันนี้การตั้งโรงงานอุตสาหกรรมตั้งตามอำเภอใจไม่ได้ มันมีมาตรฐาน ISO9100 ISO1400 ควบคุม”

แต่ “ธรรมนูญชุมชน” จะเป็นตัวประกันอีก 1 ชั้นที่ ศอ.บต.มองว่าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนได้ และต้องให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทในการตรวจสอบโครงการในฐานะกรรมการ และกำหนดทิศทางนี้ในฐานะผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงการมีกลไกให้ประชาชนได้เข้ามาอยู่ในกองทุนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมตามข้อเสนอของมติครม.ด้วย

ล่าสุด (เพิ่มเติมเนื้อหา 10 ก.ค.63) พอช.ออกแถลงการณ์วันที่ 9 ก.ค.63 ระบุว่าไม่เคยได้รับจดหมายเชิญให้ไปร่วมออกธรรมนูญชุมชนในครั้งนี้ Decode ติดต่อกลับไปยัง ดร.เจ๋งอีกครั้ง เพราะสัมภาษณ์ในวันเดียวกัน (9 ก.ค.) ทราบว่า มีการประสานงานมีคลาดเคลื่อน การพูดคุย 14 ก.ค.63 นี้ จึงจะไม่เกิดขึ้น แต่อยากร่วมงานกับ พอช.เพราะประชาชนเสนอมา และเห็นว่า พอช.มีกศักยภาพในการประสานกับกลุ่ม NGO ได้

2 เหตุอันตรายหมายชีวิต

เมื่อกลางเดือน ก.ย.62 มีเหตุวางเพลิงศาลาริมทาง อ.เทพา จ.สงขลา พร้อมพบหลักฐานใบปลิวระบุชื่อ ดร.เจ๋ง ขอให้ย้ายออกจากพื้นที่ทันที ไม่อย่างนั้นอาจถูกหมายชีวิต จากนั้น มี.ค.63 เกิดเหตุระเบิดหน้า ศอ.บต. ดร.เจ๋งได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย รายงานข่าวที่เกิดขึ้นไม่ได้ชี้ชัดเชื่อมโยงความไม่สงบในพื้นที่ หรือเกี่ยวข้องการเดินหน้าโครงการ เพียงแค่สมมติฐานเท่านั้น เพราะเกิดในช่วงเวลาที่มีการผลักดันโครงการ

วันนี้เมื่อสถานการณ์ร้อนความขัดแย้งสูง ยังไม่มีใครประเมินได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ดร.เจ๋งก็ไม่ได้พูดตรง ๆ ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นมาจากโครงการ แต่เชื่อว่าเป็นเหตุผลส่วนตัว ที่บุคคลไม่พอใจต่อกันมากกว่า

“ส่วนตัวให้ความสำคัญเรื่องซื่อสัตย์สุจริต รับราชการตั้งแต่สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานในโครงการพระราชดำริ ขณะเดียวกันวัฒนธรรมหลายองค์กรที่ยึดถือหากเราทำดี ความดีจะตอบแทน ผมไม่กลัวความไม่ปลอดภัย ตอนนั้นผมตัดสินใจมาทำงานที่นี่เพราะต้องการแก้ไขปัญหา และที่นี่น่าจะเป็นประสบการณ์การทำงานที่ดี”

REMARK: โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เป็นส่วนหนึ่งโครงการ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคัง ยั่งยืน” ใต้การทำงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จะนะถูกวางให้เป็น เมืองต้นแบบลำดับที่ 4 “เมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต”

แผนงานพัฒนาจะนะขีดเส้นเขตผังเมือง 3 ตำบล ได้แก่ ต.นาทับ ต.ตลิ่งชัน และ ต.สะกอม โครงการมีเนื้อที่ 16,753 ไร่ ใช้เงินลงทุนประมาณ 18,680 ล้านบาท ประเมินตัวเลขการจ้างงานประมาณ 100,000 อัตรา มีกิจกรรม 6 ประเภท คือ เกษตรและอุตสาหกรรมเบา อุตสาหกรรมหนัก ไฟฟ้า กิจกรรมหลังท่าเรือ ศูนย์รวมและกระจายสินค้า และศูนย์บริการเบ็ดเสร็จและแหล่งที่พักอาศัย

อ่านอีกหนึ่งเรื่องราวคู่ขนาน: 3 ชั่วโมงเปลี่ยน “จะนะ” ตลอดกาล หยุดเวทีรับฟังแล้วนับหนึ่งใหม่