ประกายไฟลามทุ่ง
รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ไม่นานมานี้ได้มีโอกาสได้อ่านหนังสือ Feminism for 99% โดย ชินเซีย อารุซชา ,ติถี ภัฏฏาจารย์ และ แนนซี่ เฟรเซอร์ แปลโดย อรชร ดำรงจิตติ ซึ่งเผยแพร่โดยสำนักพิมพ์ SOI โดยส่วนตัวแล้วนับเป็นหนังสือสตรีนิยมที่ดีที่สุดในรอบหลายปีที่มีโอกาสได้อ่าน แต่สำหรับผู้คนทั่วไปเมื่อเห็นชื่อหนังสือย่อมคิดว่าเป็นหนังสือที่น่าจะพูดถึงสิทธิสตรี การต่อต้านผู้ชาย หรือการเพิ่มบทบาทของผู้หญิงในตำแหน่งสำคัญของประเทศ
แต่ในทางตรงกันข้ามหนังสือเล่มนี้เริ่มต้นด้วยการโจมตีถึงความหลงทางของ “แนวทางเฟมินิสม์แบบเสรีนิยม” ที่เคยมีมา การต่อสู้ที่ลดทอนให้การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมเป็นเรื่องของปัจเจกชน การต่อสู้ที่ลดทอนความขัดแย้งในโลกให้เหลือเพียงแค่ หญิงและไม่ใช่เพศหญิง ทั้งหมดนี้เป็นการละเลยถึงต้นตอปัญหาของการเหยียดเพศ เหยียดชาติพันธุ์ ค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม การไร้สวัสดิการ การทำลายสิ่งแวดล้อม ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากการกระทำของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง คนใดคนหนึ่ง แต่เกิดจากต้นตอปัญหาที่ถูกมองข้าม
แม้จะเป็นสิ่งที่เราเห็นอยู่ตำตา แต่เรากลับเลือกที่จะมองข้ามและหาเหตุผลมากมายที่จะไม่ต่อสู้ถึงรากของปัญหา ไม่ว่าจะเป็นความยาวนานยากลำบาก กลัวสูญเสียการสนับสนุนจากกลุ่มอื่น เราเริ่มลดทอนปัญหา และหลีกเลี่ยงที่จะพูดอย่างตรงไปตรงมาว่า ปัญหาทุกอย่างเกิดขึ้นจาก “ระบบทุนนิยม” หนังสือเล่มนี้ชวนให้เรามองมุมมองสตรีนิยมแบบใหม่ว่า หากเราต้องการความเสมอภาคทางเพศเราจำเป็นต้องต่อสู้เพื่อความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์ และเราจำเป็นต้องเป็นนัก “สังคมนิยม”
ข้อเสนอทั้งหมด 11 ข้อถูกไล่เรียงในหนังสือความยาวไม่ถึง 100 หน้าและใช้เวลาอ่านแบบละเอียดไม่เกิน 3 ชั่วโมง ผู้เขียนเริ่มต้นการเปรียบเทียบให้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องหลุดพ้นจากวาทกรรม “ผู้หญิงเป็นใหญ่” คือทางออกของความเสมอภาคทางเพศโดยยกถึง เชอร์ริล แซนด์เบิร์ก ผู้บริหารเฟซบุ๊ก ที่ร่ำรวย มีชื่อเสียงจากการสร้างความเชื่อว่าการที่ผู้หญิงเป็นใหญ่ในองค์กร การเพิ่มสัดส่วนนายพลที่เป็นผู้หญิง ผู้บริหารที่เป็นผู้หญิง นักการเมืองที่เป็นผู้หญิงคือทางออกของความเสมอภาค
ผู้เขียนเย้ยหยันในความไร้เดียงสาอันจงใจของนักสตรีนิยมอย่างแซนด์เบิร์ก โดยการกล่าวว่าจะมีประโยชน์อะไรที่เราได้ผู้หญิงชนชั้นนำเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน ที่เป็นมือไม้ในการกดค่าแรงและทำลายสหภาพแรงงาน ได้ผู้หญิงเพิ่มอีกหนึ่งคนที่ออกนโยบายกีดกันชาติพันธุ์ หรือผู้หญิงอีกคนที่กดระเบิดโดรนในสงครามเพื่อเข่นฆ่าประชาชน สตรีนิยมเหล่านี้เปล่าประโยชน์และหมดมนต์ขลัง และเป็นสาเหตุให้ผู้คนที่ถูกกดขี่จำนวนมากไม่รู้สึกมีอารมณ์ร่วมกับการก้าวขึ้นมาเป็นผู้สมัครชิงประธานาธิบดี ของ ฮิลารี คลินตันความเป็นหญิงของเธอไม่สามารถยึดโยงให้เห็นถึงสัญลักษณ์ของการต่อต้านแต่อย่างใด เราต้องการมากกว่านั้น
ผู้เขียนเริ่มต้นถึงขบวนการสตรีนิยมแบบใหม่ที่ต้องเลิกการพิสูจน์ตัวเองว่าเป็นผู้หญิงเก่ง ผู้หญิงที่พร้อม ผู้หญิงที่เหนือกว่า แต่กลับสู่การต่อต้านที่สามัญที่สุดในการต่อสู้กับระบบทุนนิยม คือการรวมตัวของผู้ถูกกดขี่ไว้ด้วยกัน ผ่านสำนึกทางชนชั้น ที่ได้ย้ำให้เห็นว่า “การนัดหยุดงาน” เป็นเครื่องมือที่ควรถูกใช้มากขึ้นเพื่อยกระดับการต่อสู้เพื่อความเสมอภาคทางเพศเหมือนกับสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 การที่ผู้หญิงได้รับค่าจ้างที่เท่าเทียม การที่ผู้หญิงมีสิทธิการลาคลอด หรือมีสิทธิเลือกตั้ง ไม่ได้เกิดจากการ “โน้มสู้” (คำของผู้แปล อาจแปลว่าการพยายามโน้มน้าวใจผู้เห็นต่างในห้องประชุมของผู้มีอำนาจในปริมณฑลต่างๆ) แต่ชัยชนะเกิดจากการรวมตัวของเหล่าชนชั้นผู้ถูกกดขี่ ซึ่งทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ได้ทำลายจิตสำนึก “การรวมหมู่” ในลักษณะนี้ออกไป ขบวนการสตรีนิยมเพื่อคน 99% จำเป็นต้องรื้อฟื้นสำนึกในลักษณะนี้
ผู้เขียนยังย้ำถึง “ทางตัน” ของการต่อสู้แบบเสรีนิยม การสร้างภาพผู้หญิงที่อุทิศตน มีวินัย เสียสละ เพียงเพื่อที่จะได้ตำแหน่งที่ประชุมของสภาอุตสาหกรรม หรือทุนสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา หรือการพอใจกับโครงการเศษเงินช่วยเหลือประเทศโลกที่ 3 ว่าสามารถสร้างงานให้ผู้หญิงจำนวนมากและทำให้พวกเธอพ้นจากความยากจน เป็นการกระทำที่กลวงเปล่าและเป็นการยอมรับเพดานของการต่อสู้ที่ขังผู้ถูกกดขี่ไว้ใต้พรม
เราจึงต้องไปให้ไกลกว่าการต่อต้านเสรีนิยมใหม่หรือเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม เราจำเป็นต้องพูดถึงความเสมอภาคของมนุษย์ การต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม การศึกษา ขนส่งสาธารณะที่ครอบคลุมและไม่มีค่าใช้จ่าย สวัสดิการที่อยู่อาศัย สิทธิแรงงาน ระบบสาธารณสุขถ้วนหน้า
ขบวนการเหล่านี้ต้องถูกนับรวมในขบวนการเคลื่อนไหวของ สตรีนิยมเพื่อคน 99% เราต้องตั้งคำถามถึงแก่นของระบบทุนนิยม เราต้องการการต่อสู้แบบสังคมนิยม
ปัญหาสำคัญในการต่อสู้ที่มีมาตลอดในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาคือการพยายามขีดเส้นแบ่งแต่ละเรื่องออกจากกัน เรื่องสิ่งแวดล้อม ถูกแบ่งออกจากการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ความเสมอภาคทางเพศ ถูกแบ่งออกจากเรื่องสิทธิแรงงาน การต่อสู้เพื่อความหลากหลายทางวัฒนธรรมถูกแบ่งออกจากการต่อสู้เพื่อรัฐสวัสดิการ ผู้เขียนย้ำให้เห็นว่า การแบ่งประเด็นออกจากกันคือสาเหตุแห่งความพ่ายแพ้ทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ ความตั้งใจคือการพยายามของคน 1% ที่พยายามให้การต่อสู้ต่างๆ ไม่กลายเป็นการตั้งคำถามเชิงโครงสร้าง ให้ทุกอย่างจบที่ประเด็นของตัวเอง ซึ่งไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเลยหากไม่ตั้งคำถามถึงแก่นของปัญหา นั่นคือกลุ่มคน 1% ที่มีระบบทุนนิยมค้ำยันความมั่งคั่งทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของพวกเขา
ระบบทุนนิยมทำงานอย่างไรและเหตุใดถึงเป็นบ่อเกิดของความเหลื่อมล้ำและการกดขี่ทางเพศ ทำลายระบบนิเวศ ก่อสงคราม ? ผู้เขียนใช้อรรถาธิบายของมาร์กซ์ว่าด้วยการ “ผลิตซ้ำ” ในระบบทุนนิยมเรามักถูกทำให้เข้าใจว่า “การผลิตสินค้า” คือหัวใจสำคัญของการดำรงอยู่ของระบบ แต่หัวใจสำคัญที่แนวคิดมาร์กซิสม์ได้วิเคราะห์มาก่อนหน้าและผู้เขียนได้ย้ำถึงคือ การผลิต “ผู้ใช้แรงงานในฐานะสินค้า-การผลิตซ้ำ” หรือคือกระบวนการที่เปลี่ยนมนุษย์ธรรมดาให้กลายเป็นแรงงาน หากเปรียบเทียบคืออะไรคือสาเหตุที่ทำให้ ร่างกาย ชีวิต จินตนาการ ความทรงจำเรา ถูกโปรแกรมว่าพรุ่งนี้ต้องตื่นไปทำงาน ต้องไปเรียนหนังสือ ต้องไปร้องเพลงหารายได้ ต้องเดินเข้าโรงงาน ต้องเข้าเว็บหางาน ต้องอัปโปรไฟล์สมัครงาน หรือ การทำตนให้กลายเป็นสินค้าสำหรับเช้าวันรุ่งขึ้น และเมื่อระบบทุนนิยมทำงาน การทำงานประเภทต่าง ๆ ก็ได้ดูดกลืนเนื้อหนัง ชีวิต วิญญาณเราไป
“กระบวนการผลิตซ้ำ” นี่แหละที่ทำให้เรายังคงอยู่รับใช้ระบบทุนนิยมได้ในวันพรุ่งนี้ที่ไม่มีวันจบสิ้น จนจากโลกนี้ไป ในการผลิตซ้ำมีอะไรบ้าง มันมีเพลง มีอาหาร มีคำปลอบโยน มีอารมณ์ขัน มีของขวัญ มีกองขยะ มีอาหาร มีห้องส้วม มีความฝัน มีที่นอน มีความรัก มีคราบน้ำตา
แต่ในพื้นที่เหล่านี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการขูดรีดเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอย่างไม่จบสิ้น พื้นที่ที่ขังแม่ ขังผู้ใช้แรงงาน ขังเกษตรกรรายย่อย ขังคนหนุ่มสาว พื้นที่ที่สร้างชายเป็นใหญ่ แบ่งงานกันทำระหว่างเพศ และทำลายระบบนิเวศ ก่อสงครามชิงทรัพยากร พื้นที่ที่สร้างระบบกรรมสิทธิ์ และการผูกขาดเทคโนโลยี เพื่อการคงอยู่ของระบบทุนนิยม
ดังนั้นเมื่อเรามองลงมาย่อมเห็นความรุนแรงทางเพศที่มีความหลากหลาย ตั้งแต่ค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม ความรุนแรงภายในครอบครัว การเลือกปฏิบัติ การเหมาค่าแรง การบังคับแต่งงาน ฯลฯ แต่ทุกอย่างนั้นผู้เขียนได้ย้ำว่ามันพัวพันกับรากเหง้าของปัญหาที่ชื่อว่า “ทุนนิยมทั้งสิ้น” เราไม่ได้ต้องการการได้เป็นแม่ที่ดี ลูกสาวที่ดี นายพลหญิงที่ดี เราไม่ได้ต่อสู้เพื่อครอบครัวที่สมบูรณ์เป็นแบบแผน ที่จะส่งเราไปอยู่บนฐานพีระมิดที่สมดุล แต่เราต้องการที่จะโค่นล้มโครงสร้างทั้งหมดที่ก่อร่างสร้างพีระมิดขึ้นมา เพื่อสร้างสันติภาพ ความเสมอภาค และประชาธิปไตยที่แท้จริง
เมื่อครั้งได้อ่านหนังสือเล่มนี้จบ และมีโอกาสได้นำหนังสือเล่มนี้ไปสนทนากับมิตรสหายที่สนใจแนวคิดสังคมนิยม มีข้อคำถามมากมายว่า ขบวนการเคลื่อนไหวในไทยเองมักจะแยกส่วน เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ เช่น ผู้นำแรงงานก็จะบอกว่าไม่ขอยุ่งเกี่ยวกับการวิจารณ์สถาบันกษัตริย์เพราะจะทำให้เสียแนวร่วม ผู้เคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมก็ไม่อยากพูดประเด็นแรงงานเพราะเดี๋ยวนายทุนผูกขาดจะไม่ให้ทุนทำ CSR ผู้เคลื่อนไหวด้านต่อต้านเผด็จการก็จะบอกว่าอย่าแตะต้องกลุ่มทุนเดี๋ยวเขาจะไม่ช่วยโค่นล้มเผด็จการ
ไม่ต้องพูดถึงประเด็นที่ ผู้เคลื่อนไหวด้านความเสมอภาคทางเพศแบบเก่าก็จะสามารถกินโต๊ะจีนร่วมกับคุณหญิงคุณนายที่พร้อมบริจาคเงินเข้ามูลนิธิ หรือมักมองว่าการต่อสู้บางอย่างมากเกินไปเดี๋ยวจะไม่ถูกใจฝั่งอนุรักษ์นิยมที่มีบทบาทสำคัญในการออกกฎหมายที่เชื่อว่าจะลดความเหลื่อมล้ำได้ หากเป็นเช่นนั้นเราจะสามารถรวมขบวนการต่อสู้ต่าง ๆ ที่หลากหลายให้กลายเป็นขบวนการ “สังคมนิยม” ที่ผลักดันการแก้ปัญหารากฐานทุกอย่างพร้อมกันได้หรือ ในเมื่อทุกคนต่างห่วงว่าประเด็นของตนเองจะเสียเปล่าและถูกมองข้ามไป
ไม่มีคำตอบต่อคำถามนี้ มันดูเป็นเรื่องโลกแตก มีดีเบตในขบวนการเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ยุคปฏิวัติรัสเซีย
แต่ความน่าสนใจที่หนังสือเล่มเล็ก ๆ นี้พยายามที่จะตอบก็คือ “ขนมปังและดอกกุหลาบ” ขบวนการ Feminism for 99% ย้ำถึงความจำเป็นต้องสู้เพื่อเรื่องพื้นฐานที่สุดในชีวิต แต่ในขณะเดียวกันเราต้องคืนความรื่นรมย์ ให้แก่ขบวนการปฏิวัติ การลงรายละเอียดถึงส่วนที่เล็กที่สุดในชีวิต ทุกความฝัน ทุกความทรงจำ ทุกหยดน้ำตา
เราต้องคืนชีวิตให้แก่ขบวนการเปลี่ยนแปลง ให้ความรู้สึกสามัญอันเป็นสากล ให้ความรื่นรมย์เป็นสิทธิของผู้ต่อสู้ต่อต้านทุนนิยมอีกครั้ง
อ่านหนังสือฉบับออนไลน์ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายที่นี่
นักเขียน: ชินเซีย อารุซชา ติถี ภัฏฏาจารย์ แนนซี่ เฟรเซอร์
นักแปล: อรชร ดำรงจิตติ พริม มณีโชติ (คำโปรยและคำอุทิศ)
บรรณาธิการต้นฉบับ: มุกดาภา ยั่งยืนภราดร
ค้นคว้าข้อมูลและพิสูจน์อักษร: ชญานิน ไทยจงรักษ์
ออกแบบหนังสือและจัดเรียงรูปเล่ม: ขจรยศ แย้มประดิษฐ์
บรรณาธิการบริหาร: จุทา สุวรรณมงคล