เพราะมันคือเมืองของเรา
ศานนท์ หวังสร้างบุญ
ปี 2020 ผ่านไปแล้ว ผมเชื่อว่าหลายคนคงถอนหายใจเฮือกใหญ่กับปีสุดแสนจะผจญภัย เราเริ่มปีกันด้วยพายุที่ถาโถมไม่รู้กี่ลูกต่อกี่ลูก ตั้งแต่ข่าวร้ายที่โคราช วิกฤติเศรษฐกิจจากเชื้อไวรัสโควิด และมรสุมการเมืองที่ผลักทุกเพดานของการพูดคุยในประเทศอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
ปีเก่าผ่านไปแล้วก็จริง แต่การเริ่มปีใหม่ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะรีเซ็ตทุกอย่างจากปีก่อนได้ ผลกระทบยังอยู่ต่อเนื่อง และปีนี้ก็น่าจะเป็นปีที่ท้าทายไม่แพ้ปีก่อนอย่างแน่นอน ผมคิดว่าประเด็นใหญ่ที่สุดของปี 2021 คงหลีกหนีไม่พ้นเรื่อง “การฟื้นฟูเศรษฐกิจ” แก้ไขวิกฤติว่างงาน ช่วยเหลือ SMEs ธุรกิจรายย่อย การท่องเที่ยว การส่งออกให้ผ่านพ้นวิกฤติ ข่าวคราวการมาของวัคซีนจากหลากหลายบริษัททั่วโลกกำลังต่ออายุจุดประกายความหวังจากความหดหู่สิ้นหวังมาแรมปี หลายประเทศเริ่มฉีดวัคซีนกันแล้ว บางประเทศกำลังจะฉีดครบทั้งประเทศแล้วในเร็ววันนี้ ถึงแม้ประเทศไทยจะขยับช้าไปสักนิด แต่ผมก็คิดว่าไม่ช้าก็เร็ว ทุกอย่างกำลังจะดีขึ้นเป็นแน่
ท่ามกลางการแก้ไขปัญหาระดับมหภาค ที่ทุกสิ่งที่ดูจะเป็นความช่วยเหลือจากภาครัฐ บางคนบอกว่าอย่าไปหวังมาก แต่ก็ดูเหมือนว่าเราเลือกอะไรไม่ได้มาก กระนั้นแล้วในฐานะประชาชน คำถามใหญ่เวลานี้
“เราทำอะไรได้บ้าง ? ”
ผมตั้งใจเขียนบทความทั้งหมดในปี 2021 กับ Decode ด้วยการถอดรหัสความหวังของ “การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นจากภาคประชาชน” ตั้งแต่การช่วยเหลือกันในช่วงโควิดที่ผ่านมา จนไปถึงการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างหลังช่วงวิกฤติ โดยหวังว่าการถอดรหัสเหล่านี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคนอยากขยับขยายความคิดสู่การลงมือทำบางอย่างได้
ความหวังที่ 1 การลงมือทำ
ท่ามกลางวิกฤติต่าง ๆ ในช่วงโควิดที่ผ่านมา งานวิจัยของมูลนิธิอโชก้าไทยแลนด์ คณะเศรษฐศาสตร์การเมืองจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอีกหลายหน่วยงาน ที่ศึกษาโครงการนวัตกรรมสังคม (Social Innovation) ในช่วงโควิด 31 โครงการ โดยมีโครงการเด่น ๆ จากงานวิจัยอยู่หลายโครงการ มีทั้งโครงการที่ตัวผมเองได้มีส่วนร่วมด้วย และโครงการที่ทางวิจัยที่ได้ไปสัมภาษณ์กับผู้เริ่มโครงการ สิ่งที่น่าสนใจจาก 31 โครงการนี้คือวิธีการในการแก้ไขปัญหาของแต่ละโครงการมีความแตกต่าง ผมคิดว่าสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 แบบใหญ่ ๆ คือ
โครงการที่เป็นตัวกลางแชร์ข้อมูล ข่าวสาร เช่น โครงการบ้านใกล้เรือนเคียง ที่ริเริ่มโดยคุณชัชชาติและกลุ่ม Better Bangkok และ โครงการ BKK Pay Forward ที่ตั้งต้นจากการประสานความร่วมมือของผู้ที่ต้องการช่วยเหลือ และผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเข้าหากัน โดยโครงการบ้านใกล้เรือนเคียงเริ่มง่าย ๆ จากความคิดที่ว่าแท้จริงแล้วคนไทยมีน้ำใจมากมาย แต่อาจจะไม่รู้ว่าคนที่ต้องการอยู่ที่ไหนจึงเริ่มง่าย ๆ จากการทำข้อมูลเปิด (Open Data) ผ่าน Google My maps ระบุข้อมูลของชุมชนทั่วทั้งกรุงเทพฯ คนให้สามารถเข้าไปหาข้อมูลชุมชนใกล้บ้าน ติดต่อไปที่เบอร์ติดต่อของประธานชุมชน และเลือกดูได้ว่าความต้องการเร่งด่วนของชุมชนคืออะไร โดยผู้ประสงค์บริจาคนั้นสามารถติดต่อกันได้เองเลยโดยตรง เป็นประโยชน์ทั้งฝั่งผู้ให้และฝั่งผู้รับ ส่วนโครงการ BKK Pay Forward ใช้วิธีการจับคู่ระหว่าง ร้านอาหารใจดีจัดเมนูราคาประหยัด และคนใจดีที่อยากซื้ออาหารไปบริจาค หลังจากนั้นทีมงานก็จะนำไปแจกจ่ายให้กับผู้ที่ต้องการ
โครงการที่ตั้งต้นและริเริ่มจากชุมชนเอง หรือกลุ่มชุมชนที่ทำงานอยู่แล้ว เช่น คลองเตยดีจัง ปันกันอิ่ม ที่อาสาสมัครในชุมชนร่วมกันช่วยจัดหาสิ่งของจำเป็น อาหารกล่อง และร้านอาหารในชุมชนมีส่วนร่วมเป็นสะพานบุญ เปิดเป็นจุดรับอาหารฟรีโดยได้รับคูปองอาหารจากผู้บริจาคจำนวน 30 บาท = 1 อิ่ม ทั้งนี้ยังได้รับการช่วยเหลือจากทีม เทใจดอทคอม จากโครงการเทใจสู้โควิด ในการสร้างความโปร่งใสของการบริจาค แสดงข้อมูลรายละเอียดการระดมทุนที่ชัดเจน การอัพเดตยอดบริจาค และความคืบหน้าในการนำเงินไปบริจาคหรือดำเนินการในพื้นที่จริงผ่านทางเฟสบุ้ค เป็นต้น หรือ โครงการที่ผมชอบมากคือ โครงการข้าวแลกปลา ปลาแลกข้าว ที่เกิดจากตัวชุมชนเองจริง ๆ พอระบบเศรษฐกิจหยุดชะงัก ชุมชนชาวประมงมีปลาเหลือ ส่วนชุมชนปกาเกอะญอมีข้าวเหลือ ก็สามารถนำมาแลกเปลี่ยนกันโดยไม่ต้องใช้เงินเป็นตัวกลางในช่วงวิกฤติ
โครงการที่สร้างคุณค่าใหม่เพื่อส่งเสริมคุณค่าเดิมให้ดียิ่งขึ้น เช่น Locall Thailand (โลคอลล์ ไทยแลนด์) คือนวัตกรรมสังคมที่ผมมีส่วนร่วมด้วย โลคอลล์มุ่งช่วยเหลือร้านค้าเล็ก ๆ ในชุมชนจากการผูกขาดของตลาดเดลิเวอร์รี่ เริ่มจากร้านค้าที่ไม่เคยสมัครเข้าร่วมบริการเดลิเวอร์รี่จากเจ้าไหนให้ได้มีโอกาสเข้าสู่ระบบนี้ โดยการให้ตัวแทนในชุมชนมาเป็นตัวกลางรวบรวมร้านค้าเล็ก ๆ ให้วินมอเตอร์ไซค์ในชุมชนมาบริการขนส่ง เริ่มต้นจากร้านค้า 55 ร้านค้าในย่านประตูผี เสาชิงช้า ปัจจุบันกระจายไป 12 ย่าน 5 จังหวัดทั้ง กรุงเทพฯ สมุทรปราการ นนทบุรี สระบุรี และเชียงใหม่ หรือ Local Aroi / A lot ที่ต่อยอดจากธุรกิจเพื่อสังคม Localalike ที่ต่อยอดอาหาร สิ่งของ จากชุมชนไปสู่กลุ่มลูกค้า หรือ โคร
จากหลายโครงการข้างต้น เราเห็นได้ว่ามีความร่วมมือกันในกลุ่มก้อนของชุมชนและประชาสังคมที่ทำงานด้านสังคมมากมายในช่วงโควิดที่ผ่านมา งานวิจัยของอโชก้าและจุฬาฯ นี้แสดงให้เห็นว่าหลายโครงการเริ่มต้นจากการคิดที่เรียบง่าย เช่น การไม่รู้ข้อมูล จึงเกิดการแชร์ข้อมูล อย่างบ้านใกล้เรือนเคียง หรือการร่วมมือกันเอาความรู้ที่แตกต่าง คนนึงเก่งออนไลน์จับมือกับคนเก่งทำอาหาร สร้างแพลตฟอร์มระดับชุมชนอย่างโลคอลล์ หรือการร่วมมือกันของคนที่มีของเหลือในชุมชนมาแลกกันเพื่อการบริโภค อย่างข้าวแลกปลาปลาแลกข้าว หรือเกิดจากการต่อยอดจากกลุ่มก้อนเดิมในชุมชนเช่น คลองเตยดีจัง สิ่งเหล่านี้เริ่มต้นจากคำถามง่าย ๆ จากความไม่รู้ สู่การเริ่มต้น และแสวงหาแนวร่วมเล็ก ๆ
เมื่อชีวิตยังต้องเดินต่อไป ปากท้องเรายังต้องกินต้องใช้ การรอเพียงนโยบายการเยียวยาจากภาครัฐ คงไม่ใช่ทางออกในระยะสั้น ผมคิดว่าตัวอย่างเหล่านี้คือความหวัง เป็นแสงสว่างในความมืดมนที่สำคัญ หลายคนพูดถึงการเตรียมการสู่ New Normal แต่ผมคิดว่า Next Normal สำคัญกว่า
เราอาจต้องวางแผนอะไรที่สั้นขึ้น เปลี่ยนแปลงได้เร็วขึ้น ยุทธศาสตร์ในการใช้ชีวิตที่เคยคิดไว้เป็นหลักหลายปี อาจต้องปรับลงมาเป็นหลักเดือน หรือหลักสัปดาห์เพื่อให้ชีวิตเดินหน้าไปให้ได้ นี่คืออาจเป็นแว่นตาสำคัญของประชาชนในยุคหลังโควิด หรือยุคที่โลกบอกกับเราว่าไม่มีอะไรแน่นอนอีกแล้ว
ความหวังที่ 2 การตั้งคำถาม
ผมเห็นด้วยกับการเริ่มต้นจากสิ่งที่เราทำได้ แต่การปล่อยให้ชีวิตต้องดิ้นรนด้วยตัวเองจากภาคประชาชนไปเรื่อย ๆ ก็คงไม่ใช่ทางออก กว่าครึ่งปีที่ผ่านมาของ 2020 เราเห็นการตั้งคำถามมากมายต่อผู้บริหารประเทศในทุกระดับ ผมคิดว่านี่คือสิ่งสำคัญ เป็นความหวังของการพัฒนาที่ดีขึ้นเพราะเราไม่ยอมจำนน เพราะเราตั้งคำถามต่อผู้ปกครองของเรา เราไม่ยอมให้ภาครัฐรู้สึกเชยชินกับการไม่พัฒนาอะไร จากความกระตือรือร้นแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองของภาคเอกชน ประชาชนแข็งแรงย่อมไม่เท่ากับรัฐอ่อนแอ เช่นวลีของหลายคนที่มักพูดว่า ถ้าการเมืองดี… เราคงจะเห็นอะไรที่ดีขึ้นจากประเทศนี้ เมืองนี้
ผมนึกถึงภาพยนตร์จาก Documentary Club เรื่อง Poverty, Inc. หรือบรรษัทความยากจนข้นแค้น ที่พูดถึงความล้มเหลวของการแก้ไขปัญหาความจนผ่านการบริจาคเงินให้กับรัฐ และองค์กรเพื่อสังคม
การบริจาคเงินให้รัฐ และองค์กรเพื่อสังคม ดูเป็นทางออกของการแก้ไขปัญหา แต่แท้จริงแล้วกลับไม่สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนได้อย่างยั่งยืน ภาพยนตร์แสดงตัวอย่างของการช่วยเหลือของชาวตะวันตกในทวีปแอฟริกาที่การบริจาคของประเทศที่พัฒนาทำให้ระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นตาย
ภาพยนตร์ยกตัวอย่าง คุณเอวา มูรายา นักสร้างแบรนด์จากประเทศเคนย่า ที่เล่าให้ฟังว่า ผลิตภัณฑ์ที่สร้างอาชีพให้กับคนเคนย่าในอดีตคือ เสื้อผ้า เช่น ผ้าฝ้ายเคนย่า แต่พอมีความช่วยเหลือจากชาวยุโรป อเมริกา แคนนาดา ที่เอาเสื้อผ้าที่ตีตราว่าผลิตจากประเทศพัฒนาเข้ามา ทำให้คนแห่ไปเอาสินค้าบริจาค พอเสื้อผ้ากลายเป็นของฟรี ก็ไม่มีใครซื้อผ้าฝ้ายจากเคนย่าอีกต่อไป จากเดิมที่เป็นอาชีพหลักของคนกลุ่มหนึ่งในเคนย่า เลยทำให้คนตกงานจำนวนมาก และระบบเศรษฐกิจเสื้อผ้านี้ก็พังทลายไปเลย เช่น เดียวกับอีกหลายความหวังดีของการบริจาคที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นพังพินาศ ภาพยนตร์ยกตัวอย่างความหวังดีจากธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) คือรองเท้าทอม Toms ที่สร้างโมเดลธุรกิจว่าทุกการซื้อรองเท้า 1 คู่ Toms จะบริจาคทันทีอีก 1 คู่ไปที่ประเทศในแอฟริกา หลังจากที่ Toms ประสบความสำเร็จในการขายรองเท้าจำนวนมาก รองเท้าฟรีในปริมาณเท่ากันที่ลงไปบริจาคในทวีปแอฟริกาทำให้โรงงานผลิตรองเท้าในแอฟริกาขาดทุนทันที เมื่อมีของฟรี จึงไม่มีใครซื้อรองเท้าอีกต่อ อุตสาหกรรมรองเท้าในแอฟริกาจึงพังทลาย คนตกงาน และไม่สามารถสร้างรายได้จากสิ่งนี้ได้
มากกว่านั้น ในภาพยนตร์ยังฉายให้เห็นโครงสร้างของการแก้ปัญหาความยากจน ผ่านองค์กรแก้ไขความยากจนระหว่างประเทศ (Foreign Aids), มูลนิธิ, NGOs, Social Enterprise และภาครัฐของประเทศกำลังพัฒนา ว่าการแก้ไขปัญหาความยากจนตอนนี้มันกลายเป็นอุตสาหกรรมความยากจนที่ส่วนแบ่งของเงินถูกแบ่งกันระหว่างองค์กรเหล่านี้ แต่ไม่ตกไปถึงคนที่ต้องการอย่างแท้จริง
ผมชอบประโยคแรกของมาเกียแวลลีที่บอกว่า “ความเปลี่ยนแปลงจะไม่เกิดขึ้น ก็เพราะคนที่เสียประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นผู้ครองอำนาจ และคนที่จะได้ประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลงเป็นผู้ที่ไร้ซึ่งอำนาจ” คุณจอร์จ อแยตตี้ นักเศรษฐศาสตร์ชาวกาน่ายังเสริมในภาพยนตร์อีกว่า ประเทศแอฟริกาถูกครอบงำโดยรัฐบาลฮิปโป ที่ไม่มีใครต้องการพัฒนาจริง ๆ แต่ต้องการรักษาผลประโยชน์จากการได้รับเงินบริจาคจากองค์กรระหว่างประเทศ หรือกลุ่มมูลนิธิ หรือ NGOs ที่ต้องการบริจาคสิ่งต่าง ๆ
ความช่วยเหลือที่ส่งผลร้ายแบบนี้ จะเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า หากเราไม่ตั้งคำถามกับภาครัฐ กับนโยบาย กับผู้ที่ถือครองอำนาจ ผมคิดว่านี่คือความหวังที่สอง เพราะวันนี้ความสงสัยนั้นได้เกิดขึ้นแล้ว เราได้ตั้งคำถามกับโครงสร้าง กับนโยบายที่รัฐผู้ปกครองผู้ไม่เคยถูกเรียกร้อง วันนี้มันจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว
ความหวังที่ 3 ความหวังแห่งอนาคต
คุณจอร์จ อแยตตี้ นักเศรษฐศาสตร์ชาวกาน่า พูดใน TEDx Global ว่า รัฐบาลฮิปโป ผู้นำที่ล้มเหลวที่ถือครองอำนาจมาอย่างยาวนานกำลังจะสูญพันธุ์ เจเนอเรชั่นของเสือชีต้า กำลังจะก้าวเข้ามามีบทบาท และกำลังจะลุกขึ้นมาทำดิสรัปอำนาจเก่าอย่างหยุดยั้งไม่ได้
ฟังแล้วคงคุ้น ๆ เหมือนประเทศแถวนี้ไหมครับ
ผมคิดว่าปี 2020 อาจสร้างความสิ้นหวัง ท้อแท้ ให้กับหลายคนในระดับปัจเจก
แต่ในระดับประเทศ ผมเห็นแต่ความหวัง
เรามีทั้งคนลงมือทำ และเราก็มีคนที่ตั้งคำถาม
หากลงมือทำโดยไม่ตั้งคำถามก็อาจส่งผลร้ายอย่างที่กล่าวมาข้างต้น
แต่หากตั้งคำถามอย่างเดียว ก็คงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์
วันนี้เรามีทั้งคู่แล้ว
และนี่คือ “ความหวังแห่งอนาคต”
สวัสดีปีใหม่ 2021 ครับทุกคน