ความเปราะบางของรัฐไทย - Decode
Reading Time: 3 minutes

ปรากฏการณ์ที่ย้อนแย้งประการหนึ่งในสังคมไทย คือ เราเป็นประเทศที่กองทัพมีบทบาทสูงทั้งในทางการเมืองและสังคมนับตั้งแต่ยุคสงครามเย็นถึงปัจจุบัน แต่องค์ความรู้เกี่ยวกับกองทัพ และกิจการของกองทัพกลับมีน้อยอย่างยิ่งจนน่าตกใจ

ปรากฏการณ์ช่องว่างขององค์ความรู้นี้สะท้อนได้อย่างชัดเจนเมื่อมีเหตุการณ์หรือข่าวสำคัญที่เกี่ยวกับกองทัพ เรามักจะขาดแคลนคำอธิบายที่กระจ่างชัดอย่างเป็นระบบว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจากสาเหตุใด สังคมได้แต่คาดเดากันไปต่าง ๆ นานา หันไปเชื่อข่าวลือ หรือต้องพึ่งพาข้อมูลจากนักข่าวสายทหารที่เชื่อกันว่าเป็นข้อมูลวงใน

สังคมไทยรู้น้อยมากเกี่ยวกับวิธีคิด อุดมการณ์ กระบวนการตัดสินใจ การจัดสรรและใช้งบประมาณ และกิจการที่กองทัพเข้ามาเกี่ยวข้องในสังคมทั้งในทางสังคมวัฒนธรรม การเมือง และเศรษฐกิจ

นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารในปี 2549 ต่อเนื่องมาจนถึงการรัฐประหาร 2557 กองทัพเข้ามาแทรกแซงและเกี่ยวข้องทางการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดินโดยตรง ที่สังคมเห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ บทบาทของบรรดานายพลและเจ้าหน้าที่ทหารที่แผ่ขยายเข้ามาในพื้นที่ซึ่งไม่ใช่กิจการของกองทัพ เช่น ผู้นำคณะรัฐประหารที่เข้ามาดำรงตำแหน่งต่าง ๆ มากมายในคณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ และวุฒิสภา บุคลากรของกองทัพที่ถูกแต่งตั้งเข้าไปนั่งในองค์กรต่าง ๆ ที่มิได้เกี่ยวข้องกับภารกิจของกองทัพโดยตรง เช่น ในรัฐวิสาหกิจ และองค์กรอิสระหลากหลายองค์กร

นอกจากนั้นผู้นำกองทัพยังเข้ามาร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมือง เป็นผู้สมัคร เป็นผู้นำพรรคการเมืองเพื่อลงแข่งขันในการเลือกตั้ง ทว่าบทบาทของกองทัพในการทำรัฐประหารและการเข้ามามีส่วนแทรกแซงทางการเมืองและสังคมของบุคลากรจากกองทัพเป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำมาให้สาธารณชนสังเกตเห็น ทหารยังเข้ามามีบทบาทอีกมากมายผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่สังคมและสื่อมวลชนมิค่อยได้รับรู้

งานวิชาการที่มาช่วยไขความกระจ่างเกี่ยวกับกิจกรรม “ใต้ภูเขาน้ำแข็ง” ของกองทัพไทยอย่างเป็นระบบและรอบด้าน คือ หนังสือที่เพิ่งตีพิมพ์เผยแพร่เรื่อง “ในนามของความมั่นคงภายใน : การแทรกซึมสังคมของกองทัพไทย” ที่เขียนโดย รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ ซึ่งปรับปรุงมาจากหนังสือภาษาอังกฤษของผู้เขียนคนเดียวกันเรื่อง Infiltrating Society: The Thai Military’s Internal Security Affairs (Singapore: ISEAS-Yusof Ishak Institute, 2021) อันเป็นงานวิจัยที่ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่นจากกองทุนรัชดาภิเษกสมโภช จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปี 2566 ทั้งยังได้รับคัดเลือกจากวารสารวิชาการด้านการเมืองระหว่างประเทศที่ทรงอิทธิพลระดับโลกอย่าง Foreign Affairs ให้เป็นหนึ่งในหนังสือที่ดีที่สุดด้านการเมืองภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกประจำปี 2565

ก่อนหน้าหนังสือเรื่อง ในนามของความมั่นคงภายใน ตีพิมพ์ออกมา นักวิชาการจำนวนหนึ่งเริ่มผลิตงานเกี่ยวกับกองทัพไทยออกมา หลังจากเกิดปรากฏการณ์ที่กองทัพหวนคืนสู่ใจกลางเวทีการเมืองผ่านการทำรัฐประหารล้มรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง ที่มีความนิยมสูงคือ รัฐบาลพรรคไทยรักไทยของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตรในปี 2549 ซึ่งทำให้กองทัพกลายมาเป็นทั้งผู้เล่น และคู่ขัดแย้งในการเมืองโดยตรง

จากนั้นความสนใจศึกษากองทัพเริ่มกลับมาปรากฏให้เห็นมากขึ้น หลังจากซบเซาไปเป็นเวลานาน แต่ปริมาณงานศึกษาก็ยังจัดได้ว่ามีเพียงน้อยนิดและเบาบาง เมื่อเทียบกับการขยายบทบาทและอำนาจของกองทัพที่เป็นไปอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง

เราอาจจำแนกงานศึกษาเกี่ยวกับกองทัพไทยในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาได้เป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ กลุ่มแรก คือ งานที่มุ่งความสนใจไปที่โครงสร้างองค์กร วัฒนธรรมองค์กร การรัฐประหาร และยุทธศาสตร์ของกองทัพ ซึ่งงานชิ้นสำคัญคือ งานหลายชิ้นของ สุรชาติ บำรุงสุข (2541, 2542, 2558) และ Gregory Raymond (2018)

กลุ่มที่สองคือ งานที่ศึกษาบทบาทและอุดมการณ์ทางการเมืองของกองทัพและความสัมพันธ์ที่กองทัพมีกับสถาบันกษัตริย์และชนชั้นนำกลุ่มอื่น ๆ เช่น งานของ Paul Chambers และ Napisa Waitoolkiat (2016) และ Supalak Ganjanakhundee (2022)

ส่วนงานกลุ่มที่สามคือ งานเชิงประวัติศาสตร์ที่ย้อนกลับไปทำความเข้าใจการก่อตัวของอำนาจทางการเมืองและอุดมการณ์ของกองทัพว่าถือกำเนิดและเปลี่ยนแปลงมาอย่างไร นับตั้งแต่ยุคการสร้างกองทัพสมัยใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 6 พร้อมกับการสร้างแนวคิด “ทหารของพระราชา” ความพยายามของคณะราษฎรในการสร้างสำนึกใหม่ที่มาพร้อมกับภารกิจใหม่ของกองทัพในฐานะ “รั้วประชาธิปไตย” ของรัฐประชาชาติ รวมถึงยุทธวิธีการครองอำนาจของกองทัพในยุครัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร งานในกลุ่มนี้ที่สำคัญคือ เทพ บุญตานนท์ (2559, 2565) ปรัชญากรณ์ ลครพล (2564) และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ (2566)

นอกจากงาน 3 กลุ่มนี้ยังปรากฏความพยายามที่จะศึกษาบทบาททางเศรษฐกิจและธุรกิจของกองทัพด้วย (แต่ยังถือว่าเป็นประเด็นที่ยังแทบไม่มีการต่อยอดมากนัก) ได้แก่งานของ Paul Chambers และ Napisa Waitoolkiat (2017) และ Kanda Naknoi (2020)  

งานวิชาการทั้ง 3 กลุ่มดังกล่าวบวกกับการศึกษาเรื่องธุรกิจของกองทัพช่วยทำให้สังคมรับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับกองทัพมากยิ่งขึ้น สมควรที่จะมีการสนับสนุนและผลักดันให้มีการศึกษาต่อยอดต่อไป

ซึ่งหนังสือ ในนามของความมั่นคงภายใน เข้ามาช่วยเติมเต็มและเปิดมิติใหม่ ๆ ของการศึกษาบทบาทและอำนาจของกองทัพให้กว้างออกไป เพราะงานวิจัยชิ้นนี้ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่การศึกษาผู้นำและความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ภายในกองทัพ หรือโครงสร้างและวัฒนธรรมองค์กรของกองทัพดังที่งานชิ้นอื่น ๆ แต่เปลี่ยนแนวทางการศึกษาไปที่ความพยายามของกองทัพในการขยายบทบาทเข้ามาในปริมณฑลทางสังคม ซึ่งไม่ใช่ภารกิจโดยตรงของกองทัพอย่างการป้องกันประเทศ

ข้อถกเถียงหลักของหนังสือเล่มนี้ ซึ่งผู้เขียนคิดว่าเป็นคุณูปการสำคัญ คือการชี้ให้เห็นว่า ภารกิจป้องกันความมั่นคงภายใน (มิใช่ปกป้องประเทศจากอริราชศัตรูภายนอก) คือ เหตุผลหลักของการดำรงอยู่ของกองทัพ และภารกิจนี้ถูกนำมาใช้สร้างความชอบธรรมให้กับการขยายขอบเขตอำนาจและหน้าที่ของกองทัพมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังการรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา

ในความเป็นจริงเมื่อสิ้นสุดสงครามเย็น ซึ่งมาพร้อมกับการหมดไปของภัยคุกคามคอมมิวนิสต์ บทบาทของกองทัพในด้านความมั่นคงภายในควรจะหมดไป และภารกิจนี้ควรจะถูกถ่ายโอนไปให้พลเรือนเพื่อรับมือกับภัยคุกคามใหม่ ๆ ที่มาพร้อมกับโลกยุคโลกาภิวัฒน์ เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มสูงขึ้น ปัญหายาเสพติดที่แพร่ระบาด อาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่ซับซ้อนและมีลักษณะข้ามพรมแดน ฯลฯ

แต่หนังสือชี้ให้เห็นว่าผู้นำกองทัพไทยได้ฉวยใช้แนวคิดเรื่องภัยคุกคามความมั่นคงแบบใหม่มาให้ความชอบธรรมกับการขยายอำนาจของตนเอง การนิยามความมั่นคงภายในอย่างครอบจักรวาลถูกนำมาใช้รองรับการเข้ามามีบทบาททางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมอย่างกว้างขวาง รวมถึงการตั้งงบประมาณมหาศาลมารองรับภารกิจที่ไม่ใช่ภารกิจทางการทหารของกองทัพ ตั้งแต่การจัดระเบียบทางสังคม การแก้ไขปัญหายาเสพติด การขจัดผู้มีอิทธิพล การพัฒนาสุขภาพประชาชน การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติและการฟื้นฟูประชาธิปไตย เป็นต้น

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ มิใช่เพียง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) (ซึ่งทำหน้าที่เป็นกลไกด้านการเมืองของกองทัพไทย) เท่านั้นที่ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาพร้อมกับการเพิ่มบุคลากรและงบประมาณ แต่ทหารทุกเหล่าทัพก็มีการตั้งภารกิจและงบประมาณขยายออกไปอย่างมากหลังการรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา มีการจัดตั้งขบวนการมวลชนทั่วประเทศ มีกิจกรรมการสอดส่องการแสดงความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ รวมถึงในโลกออนไลน์ กิจกรรมที่เกี่ยวกับการทำสงครามจิตวิทยา กิจกรรมด้านการจัดอบรมชาวบ้านเพื่อปลูกฝังอุดมการณ์ ฯลฯ

สำหรับใครที่สนใจรายละเอียดเจาะลึกถึงวิธีคิด ปฏิบัติการ และวิธีการที่กองทัพใช้ในการแทรกซึมและควบคุมสังคม ขอแนะนำให้อ่านเพิ่มเติมจากหนังสือ และหาคำตอบด้วยตนเองว่า เหตุใดประเทศไทยจึงเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศจำนวนน้อยในโลกที่กองทัพยังมีอำนาจและอิทธิพลทางการเมืองและสังคมอย่างสูง (นอกจากไทยก็มีไม่กี่ประเทศ เช่น เมียนมา อียิปต์ บูร์กินาฟาโซ กินี ซูดาน ที่เราพบเห็นปรากฏการณ์เช่นนี้)

หลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้จบ ประเด็นที่ผู้เขียนนำมาขบคิดต่อคือ เหตุใดกองทัพจึงพยายามแผ่ขยายอำนาจและบทบาทเข้ามาในกิจการของพลเรือนซึ่งไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของกองทัพ ผมคิดว่ามันสะท้อนถึงความหวั่นวิตกของผู้นำกองทัพและชนชั้นนำไทยที่ต้องพึ่งพิงกองทัพเป็นกลไกค้ำจุนอำนาจ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองที่เกิดขึ้นอย่างมหาศาลและรวดเร็วตั้งแต่ทศวรรษ 2540 ทั้งการก่อตัวของพรรคการเมืองขนาดใหญ่ การเกิดขึ้นของขบวนการมวลชนที่มีฐานในชนบท จิตสำนึกประชาธิปไตยที่พัฒนาขึ้นในกลุ่มประชาชนทุกเพศทุกวัย และระบบคุณค่าที่เปลี่ยนไปในสังคมปัจจุบัน นำมาสู่ความรู้สึกไม่มั่นคง (insecurity) ในอำนาจของชนชั้นนำเดิมที่กองทัพเป็นฐานสำคัญ

การรัฐประหารของทหารคือ เครื่องมือเก่าแก่ที่ชนชั้นนำรู้จักและคุ้นเคยที่สุดในการหยุดยั้งกระแสการเปลี่ยนแปลงที่ตนควบคุมไม่ได้ เปรียบเสมือนยาแรงหรือการล้มกระดานเพื่อเซตซีโร่ใหม่ แต่จะทำรัฐประหารซ้ำ ๆ บ่อยเกินไปย่อมกระทบต่อภาพลักษณ์และความชอบธรรมของกองทัพและชนชั้นนำโดยรวม กองทัพและชนชั้นนำจึงต้องสร้างโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ขึ้นมา เพื่อช่วยกระชับอำนาจและควบคุมสังคมการเมืองเพื่อสร้างหลักประกันว่า แม้ในยามที่คณะรัฐประหารและผู้นำคณะรัฐประหารไม่ได้กุมอำนาจรัฐโดยตรงแล้ว ก็ยังมีกลไกอำนาจรองรับในการควบคุมสังคมไปในทิศทางที่พวกเขาปรารถนาได้

ถึงที่สุดแล้ว การแผ่ขยายอำนาจของกองทัพผ่านการนิยาม “ความมั่นคงภายใน” เพื่อให้ความชอบธรรมกับการขยายบทบาทของตน จึงสะท้อนความเปราะบางของชนชั้นนำไทยและรัฐไทย

หากเราจะนิยามภัยความมั่นคงของชาติในแบบสากล ภัยคุกคามของชาติไม่ใช่พรรคการเมือง ไม่ใช่การรวมกลุ่มของประชาชน และไม่ใช่การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน แต่คือ ปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมที่หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจะบั่นทอนความเข้มแข็งของชาติ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ได้แก่ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ปัญหาโครงสร้างประชากรที่สังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยยังติดกับดักรายได้ปานกลาง ประชากรเกิดน้อยซึ่งจะทำให้ขาดแคลนแรงงานในอนาคต ปัญหาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติทรุดโทรม ปัญหากระบวนการยุติธรรมที่ไม่เสมอภาคและการขาดหลักนิติรัฐ

ภาครัฐที่รวมศูนย์อำนาจมากจนเกินไปและไม่กระจายอำนาจ ภัยความมั่นคงที่มาจากปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านี้เป็นปัญหาที่ซับซ้อนซึ่งในประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกได้มอบหมายภารกิจเหล่านี้ให้อยู่ในมือของภาครัฐที่เป็นราชการพลเรือนร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคมเพื่อช่วยกันแก้ปัญหา มิใช่อยู่ในการควบคุมของกองทัพและผู้นำทหารซึ่งควรมีภารกิจหลักในกิจการด้านการทหารและการป้องกันประเทศ

มองในแง่นี้ การแทรกแซงทางการเมืองของกองทัพตั้งแต่การรัฐประหาร 2549 และ 2557 ถือเป็นสาเหตุสำคัญที่มาซ้ำเติมปัญหาความมั่นคงของชาติ เพราะทำให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกของคนในชาติมากขึ้นจากการใช้กำลังเข้ามาแทรกแซงการเมืองโดยขัดหลักการประชาธิปไตยและทำลายหลักนิติรัฐ และทำให้ความมั่นคงของชาติ รวมถึงหนทางรับมือกับภัยความมั่นคงถูกนิยามอย่างจำกัด และคับแคบจากมุมมองของผู้นำกองทัพ แทนที่จะถูกนิยามจากภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมร่วมกัน

อ้างอิง

เทพ บุญตานนท์ (2559), การเมืองในการทหารไทยสมัยรัชกาลที่ 6 (กรุงเทพฯ: มติชน).

เทพ บุญตานนท์ (2565), ทหารของพระราชากับการสร้างสำนึกแห่งศรัทธาและภักดี (กรุงเทพฯ: มติชน).

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ (2566), เนื้อในระบอบถนอม (กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน).

ปรัชญากรณ์ ลครพล (2564), กองทัพคณะราษฎร: ล้อมรั้วประชาธิปไตยในยุคปฏิวัติสยาม (กรุงเทพฯ: มติชน).

สุรชาติ บำรุงสุข (2541), ทหารกับประชาธิปไตยไทย: จาก 14 ตุลาฯ สู่ปัจจุบันและอนาคต (กรุงเทพฯ: ศูนย์วิจัยและผลิตตำรา มหาวิทยาลัยเกริก).

สุรชาติ บำรุงสุข (2542), ปรับโครงสร้างกลาโหม: ประเด็นปัญหา ข้อพิจารณา (กรุงเทพฯ: โครงการศึกษาด้านการทหาร ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย).

สุรชาติ บำรุงสุข (2558), เสนาธิปไตย: รัฐประหารกับการเมืองไทย (กรุงเทพฯ: มติชน).

Kanda Naknoi (2020), “The Economic Role of the Thai Military: A Commercial Logic to Coups?” in Praetorians,     Profiteers or Professionals? Studies on the Militaries of Myanmar and Thailand, edited by Michael J   Montesano, Terence Chong, Prajak Kongkirati (Singapore: ISEAS-Yusof Ishak Institute).

Gregory Raymond (2018), Thai Military Power: A Culture of Strategic Accommodation (Copenhagen: NIAS

Press).

Paul Chambers and Napisa Waitoolkiat (2016), “The Resilience of Monarchised Military in Thailand,” Journal of Contemporary Asia, 46:3, 425-444.

Paul Chambers and Napisa Waitoolkiat (eds.) (2017), Khaki Capital: The Political Economy of the Military in

Southeast Asia (Copenhagen: NIAS Press).

Supalak Ganjanakhundee (2022), A Soldier King: Monarchy and Military in the Thailand of Rama X (Singapore:

ISEAS-Yusof Ishak Institute)

หนังสือ: ในนามของความมั่นคงภายใน
ผู้เขียน: พวงทอง ภวัครพันธุ์
สำนักพิมพ์: ฟ้าเดียวกัน