ขยายประเด็น
นวลน้อย ธรรมเสถียร
ผ่านไปเกือบยี่สิบปีแล้วสำหรับเหตุการณ์ตากใบซึ่งจะว่าไปแล้วได้กลายมาเป็นหมุดหมายอย่างสำคัญในยามที่เราพูดกันถึงความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้กับความแน่นิ่งของการแก้ไขความคับข้องใจที่เกิดจากเหตุการณ์การตายหมู่นี้ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นล่าสุดก็คือการแสวงหาหนทางใหม่ ๆ เพื่อเยียวยาตัวเองของประชาชน
ที่ผ่านมาเรามักได้ยินผู้คนจำนวนหนึ่งพูดถึงปัญหาในอดีตด้วยความคิดว่า สังคมไม่ควรรื้อฟื้นความทรงจำที่เจ็บปวดขึ้นมาอีกเพราะจะเป็นการกระพือความแตกแยก วิธีคิดนี้ถูกใช้ไปครอบงำการพยายามแสวงหาความจริงเพื่อเยียวยาความไม่เป็นธรรมเรื่อยมา ประสบการณ์ตรงของผู้เขียนที่เคยสัมภาษณ์ผู้เสียหายจากความรุนแรงหลายกรณีพบว่า ผู้คนที่ถูกกระทำจะพูดถึงความต้องการสองเรื่องสำคัญ หนึ่งก็คือความเป็นธรรม สองคือความจริง เรื่องเงิน พวกเขารับตามสภาพ เรื่องน้ำใจ แน่นอนพวกเขายินดี แต่สองสิ่งแรกคือ สิ่งที่พวกเขาต้องการมากที่สุด
อาจเป็นเพราะการที่เหตุการณ์ใกล้จะครบยี่สิบปีในเดือนตุลาคมปีนี้ ความรู้สึกในเรื่องเวลาจึงมีผลเร่งรัดให้เกิดปฏิกิริยาชนิดที่เดิมทีมีความเป็นไปได้น้อย ด้านหนึ่ง เวลานี้มีกลุ่มญาติผู้เสียหายจำนวนหนึ่งรวมตัวกันแต่งตั้งทนายความยื่นฟ้องร้อง จนท.ด้วยตัวเอง จนท.ที่ถูกฟ้องมีจำนวน 10 ราย ล้วนแล้วแต่เป็น จนท.ระดับสูงที่เคยทำงานในพื้นที่ทั้งสิ้น ในวันที่ 24 มิ.ย.นี้เราจะได้รับรู้กันว่าคดีนี้จะเป็นคดีหรือไม่จากการไต่สวนของศาล ส่วนอีกด้าน ก็มีกลุ่มนักวิชาการกลุ่มหนึ่งได้เริ่มเก็บข้อมูลจากญาติผู้เสียหายเพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงและความทรงจำของคนเหล่านั้นไปจัดทำบันทึกเพื่อให้เป็นบทเรียนของสาธารณะ เท่าที่ผู้เขียนมีข้อมูล ความพยายามสองเรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกัน แต่ความที่เรื่องตากใบเป็นเหมือนดั่งสัญลักษณ์ของปัญหาความไม่เป็นธรรมในช่วงยี่สิบปีมานี้ และที่ผ่านมามีความพยายามอย่างมากที่จะทำให้เกิดทั้งสองเรื่องแต่ไม่เคยเป็นรูปเป็นร่างมาก่อนจนถึงเวลานี้
ในเรื่องของคดีนั้นเราได้ยินมานานว่าชาวบ้านต้องการฟ้องแต่ก็ไม่เคยเกิด ในขณะที่ตัวผู้เสียหายกรณีตากใบเองก็หวาดกลัวไม่กล้าเปิดตัว กล่าวเฉพาะในเรื่องของคดี ผู้เขียนเชื่อว่า การที่อายุการจะดำเนินการให้เป็นคดีอาญาใกล้จะหมดลงมีผลเปลี่ยนพลวัตการเคลื่อนไหว เพราะความรู้สึกที่ว่าประตูในการจะแสวงหาความเป็นธรรมกำลังจะปิดลงทำให้หลาย ๆ คนกล้ามากขึ้น เมื่อบวกกับความรู้สึกว่า การรอให้กลไกรัฐขยับตัวไม่มีทางเป็นไปได้แล้ว จึงเกิดอาการดังที่ทนายความในคดีคนหนึ่งยืนยันกับผู้เขียนว่า “ชาวบ้านเขาไม่กลัวแล้ว” เมื่อชาวบ้านตากใบ (จำนวนหนึ่ง) ไม่กลัวอีกต่อไป งานเดินหน้าแสวงหาความเป็นธรรมก็เกิดขึ้นได้จากฝ่ายประชาชน เพราะเรื่องเช่นนี้ต้องการเจ้าภาพ
ผู้เขียนจำได้ว่า ตั้งแต่การแถลงข่าวครั้งแรกของคณะ จนท.ที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมที่ตากใบเมื่อเกือบยี่สิบปีที่แล้ว หนนั้นเริ่มปรากฏกลิ่นอายของการวางกรอบผ่านการขอความร่วมมือสื่อด้วยคำว่า “ขอให้เป็นเรื่องภายใน” การเคลื่อนไหวในช่วงแรกของผู้เสียหายกรณีตากใบจำกัดวงอยู่ที่การแสวงหาการเยียวยาและการดิ้นรนเพื่อสู้คดีของกลุ่มชาวบ้านที่ถูกฟ้อง หลายคนรู้สึกว่ามีภาพความเป็นปฏิปักษ์กับรัฐเป็นชนักปักหลังพวกเขาจึงระมัดระวังตัวเสมอมา จนกระทั่งรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ถอนฟ้องและนายกรัฐมนตรีขอโทษประชาชน แต่กระนั้นกลุ่มผู้เสียหายยังคงไม่กล้า การจัดงานรำลึกแต่ละครั้งก็ทำในนามของการทำบุญให้ผู้เสียชีวิตเป็นหลัก ดังนั้นในแง่ของการสื่อสาร เรื่องราวของตากใบจึงมีกรอบที่มองไม่เห็นกดทับการสื่อสารตลอดมา
การเรียกร้องหาความเป็นธรรมดังมาจากคนกลุ่มอื่น ๆ เช่น กลุ่มคนหนุ่มสาวนักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองในพื้นที่ที่จัดงานเชิงสัญลักษณ์ในแต่ละปี เพราะกิจกรรมเหล่านั้นก็กลายไปเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขาถูกจับตาจาก จนท. การรื้อฟื้นกรณีตากใบถูกเชื่อมโยงเข้าไปกับการสร้างความแตกแยก มีกลิ่นอายของการต่อต้านรัฐโดยปริยาย ทั้งที่เรื่องนี้เป็นเรื่องของการทวงถามความเป็นธรรมจากการถูกละเมิดสิทธิครั้งใหญ่ การกลบฝังเรื่องราวตากใบต่างหากที่เป็นบ่อเกิดของความแตกแยกและบั่นทอนศรัทธาใด ๆ ที่ประชาชนมีกับรัฐและกระบวนการยุติธรรม
ในแง่ของการแสวงหาความจริงก็หยุดชะงักตั้งแต่ที่มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงไปแล้วก็ไม่ปรากฏว่ามีการทำอะไรเพิ่มเติมอีก อ่านคำสั่งไต่สวนการตายก็ไม่ปรากฏว่าได้ข้อมูลใหม่ที่สำคัญเพิ่มเติมไปจากรายงานของคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ที่ทำไปแล้ว ในระยะหลังการพูดถึงความสูญเสียกรณีตากใบถูกลดเนื้อหาลงเหลือเพียงเรื่องคนตาย 85 คน ทั้งที่อันที่จริงยังทำให้มีคนบาดเจ็บ พิการ ขาดโอกาสในชีวิตอีกจำนวนไม่น้อย ยังไม่นับคนที่ได้รับผลกระทบด้านจิตใจทั้งในวงแคบและวงกว้าง
ข้อมูลรายละเอียดของเหตุการณ์ตากใบในเวลานี้มีรายงานให้ใช้อ้างอิงได้เพียงสองสามฉบับด้วยกันเท่าที่ผู้เขียนจำได้ และล้วนแล้วแต่เป็นรายงานที่ทำในช่วงแรก ๆ หลังเหตุการณ์ ชุดแรกก็คือรายงานของคณะกรรมการอิสระที่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตรตั้งขึ้นมาเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง นำโดยนายพิเชต สุนทรพิพิธ อดีตผู้ตรวจการรัฐสภา ถือได้ว่าเป็นรายงานฉบับทางการมากที่สุด มีรายละเอียดมากที่สุดเพราะรวบรวมของหลาย ๆ รายเข้าไว้ด้วยกันและเชื่อได้ว่ารายงานนี้จะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต แต่เอาเข้าจริงรายงานฉบับนี้หาได้ไม่ง่ายนักเพราะเท่าที่เห็นยังไม่ปรากฏว่ามีใครนำเข้าระบบอินเตอร์เน็ต มีแต่ข้อเขียนที่เป็นการสกัดข้อมูลจากรายงานเพื่อนำมาเผยแพร่ต่อ รายงานฉบับที่สองเป็นของคณะอนุกรรมการรวบรวมข้อมูลกรณีเหตุการณ์รุนแรงในภาคใต้ที่ตั้งโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติหรือ กสม. ซึ่งฉบับนี้ยังพอหาและดาวน์โหลดกันได้ นอกจากนี้ยังมีรายงานอีกฉบับหนึ่งสั้น ๆ ของ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตวุฒิสมาชิกซึ่งได้ร่วมตรวจสอบกรณีนี้กับคณะกรรมการตรวจสอบของวุฒิสภา
แม้แต่รายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบเหตุการณ์ชุดนายพิเชต หากอ่านให้ดีจะพบว่ามีข้อจำกัดหลายประการ วัตถุดิบที่เป็นแหล่งข้อมูลที่จะนำมาตรวจสอบมีจำกัด การให้ข้อมูลของ จนท.ก็จำกัดเช่นเดียวกัน แต่กระนั้นก็มีข้อเสนอหลายอย่างซึ่งควรจะได้รับการสานต่อรวมทั้งต้องแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ในเมื่อผ่านมาร่วมยี่สิบปี แต่ไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินการเพิ่มโดยภาครัฐ การฟ้องร้องคดีตากใบโดยกลุ่มผู้เสียหาย อย่างน้อยที่สุด ก็น่าจะเป็นการเปิดทางให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมมากไปกว่าที่ปรากฏในรายงาน ซึ่งควรจะเป็นจุดเริ่มต้นไม่ใช่บทสรุป
กรณีตากใบนั้นเริ่มต้นด้วยการที่มีประชาชนไปชุมนุมเมื่อ 25 ต.ค.2547 ที่หน้า สภอ.ตากใบ นราธิวาส เรียกร้องให้จนท.ปล่อยตัวสมาชิกชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านหรือ ชรบ. 6 คนที่ถูกจับ ชรบ.ทั้งหกให้การว่าถูกปล้นปืนแต่ จนท.อ้างว่าอันที่จริงแล้วพวกเขาเอาอาวุธไปให้ผู้ก่อเหตุเอง ข้อมูลของ จนท.ระบุว่าในวันนั้นประชาชนไปชุมนุมที่หน้า สภอ.ตากใบในลักษณะคล้ายกับมีการจัดตั้งกันมา เริ่มจากจำนวนราว 300 คนจากในช่วงก่อนเที่ยง และเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นหลักพันในช่วงบ่ายต้น ๆ ในระหว่างนั้น จนท.เริ่มไหวตัวจึงเริ่มสกัด เพื่อไม่ให้ประชาชนเข้าพื้นที่ไปร่วมการชุมนุมแต่ไม่สำเร็จ สิ่งที่ทำสำเร็จกลับกลายเป็นการสกัดทางออกของคนที่เข้าไปในพื้นที่ชุมนุมแล้ว เพื่อจะทำกิจธุระอย่างอื่นทำให้คนเหล่านี้ออกจากพื้นที่ไม่ได้มากกว่า แต่แน่นอนว่าคนที่ไปเพื่อชุมนุมจริง ๆ นั้นมี รวมทั้งมีคนที่ไปร่วมเพราะเข้าใจผิดคิดว่ามีการแจกของและเหตุผลอื่น ๆ หลายประการ ฯลฯ
รายงานระบุว่า จนท.พยายามอย่างหนักมากที่จะต่อรองกับผู้ชุมนุมให้สลายตัวและยังพยายามจะไปประกันตัว ชรบ.ที่ถูกจับไปเพื่อสลายเงื่อนไขการชุมนุม แต่ติดขัดที่เป็นวันหยุดทำให้ทำไม่ได้ อย่างไรก็ตาม การต่อรองเพื่อให้ผู้ชุมนุมสลายตัวที่ดำเนินการหลายทาง ไม่ว่าจะผ่านผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา ญาติ ชรบ. มี จนท.ระดับสูงในพื้นที่ผลัดกันไปต่อรอง ที่ทำด้วยภาษาถิ่นก็มี แต่ทั้งหมดนี้ล้วนไม่ได้ผลอันใดเพราะพบกับอาการอัน “กราดเกรี้ยว” ของผู้ชุมนุมที่แสดงออกด้วยการโห่ฮาใส่ ไม่รับฟัง ทั้งยืนกรานให้ปล่อยตัวทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข กรรมการอิสระบันทึกไว้ว่า ผู้นำศาสนารายหนึ่งถึงกับบอก จนท.ว่า ไม่ต้องเจรจาแล้วเพราะไม่ได้ผล และว่าคนชุมนุมเป็นคนมาจากที่อื่นไม่ใช่คนตากใบ ประการหลังนี้ผู้เขียนตีความเอาว่า เป็นเหตุผลที่เอามาอธิบายว่า การเป็นคนต่างถิ่นจึงอาจจะทำให้สื่อสารกันไม่เข้าใจ และยังมีนัยว่าเป็นการกระทำของคนนอกที่มีเป้าหมายบางอย่างที่ไม่เกี่ยวพันกับพื้นที่ แต่ถ้าดูข้อมูลที่จำแนกที่มาของผู้ชุมนุมโดยคณะกรรมการอิสระก็ค่อนข้างชัดเจนว่านี่เป็นเรื่องในระดับท้องถิ่น กล่าวคือในบรรดาคนที่ถูกจับกุมในภายหลังพบว่ามีผู้ชุมนุมจากปัตตานี 11 คน ยะลา 1 คน ที่เหลือมาจากนราธิวาสทั้งสิ้น โดยมาจากตากใบถึง 378 คน ที่เหลือมาจากอำเภอใกล้เคียงทั้งสิ้น
รายงานทุกฉบับกล่าวถึง จนท.ว่ามีความวิตกกังวลอย่างมากเกรงว่าสถานการณ์จะลุกลามเพราะเชื่อว่าผู้ไปชุมนุมหนนี้ต้องการยั่วยุให้เกิดอาการคุมไม่ได้จนบานปลายใหญ่โต จนท.ตีความจากการที่บอกว่า ผู้ชุมนุมนัดกันมาเป็นกลุ่ม มีท่าทีแข็งกร้าวไม่รับฟังเหตุผลของฝ่าย จนท. ที่เป็นเพดานสำหรับ จนท.คือการที่มีความพยายามบุกเข้าไปในสถานีตำรวจ พยายามจะทะลุเครื่องกีดขวางเข้าไป และมีการขว้างปาก้อนหิน สิ่งของต่าง ๆ เข้าใส่ อาการนี้ทำให้ตัดสินใจว่าจะต้องสลายการชุมนุม จนท.ระบุว่าได้ประกาศเตือนแต่เสียงที่สับสนในที่ชุมนุมอาจทำให้หลายคนไม่ได้ยิน ในช่วงกลางวัน จนท.เริ่มสลายการชุมนุมโดยเริ่มต้นด้วยการฉีดน้ำ ต่อด้วยแก๊สน้ำตา ในเวลานั้นผู้ชุมนุมที่ต้องการออกจากพื้นที่หลายคนบอกว่าออกไม่ได้แล้วเพราะถูกปิดกั้นทุกทิศทาง บ้างหนีลงน้ำแต่ก็ไม่พ้น แล้วจากนั้น จนท.ก็เริ่มยิงด้วยกระสุนจริง ซึ่ง จนท.ได้ให้ข้อมูลกับผู้ตรวจสอบทุกชุดว่าเป็นการยิงขู่ขึ้นฟ้า แต่กลายเป็นว่ามีคนตาย 6 คนในที่เกิดเหตุ อีกหนึ่งตายใน รพ. รวมแล้วเป็น 7 และในจำนวนนี้ 5 คนถูกยิงที่ศีรษะ คณะกรรมการอิสระเองที่ตรวจสอบผ่านคลิปของสื่อพบว่า มี จนท.อย่างน้อยหนึ่งคนยิงใส่ผู้ชุมนุมในระดับต่ำ รายงานของกรรมการอิสระและ กสม.ต่างพูดถึงประเด็นนี้ว่า เป็นการใช้มาตรการสลายการชุมนุมที่รุนแรงเกินพอดี
อีกประเด็นหนึ่งที่ จนท.อ้าง ก็คือเรื่องที่ว่าในกลุ่มผู้ชุมนุมมีอาวุธ โดยระบุหลักฐานว่าในการสลายการชุมนุมมีจนท.บาดเจ็บสิบสี่คน หนึ่งในนั้นถูกยิงที่ขา แต่ความสูญเสียของ จนท.ส่วนใหญ่มาจากการถูกขว้างปา ที่ถูกทำร้ายด้วยอาวุธไม่ได้แสดงให้เห็นว่าฝ่ายผู้ชุมนุมมีอาวุธมากมาย หลักฐานถัดมาก็คือได้มีการงมอาวุธขึ้นมาจากแม่น้ำตากใบที่อยู่ด้านหน้าสถานีตำรวจซึ่งก็ได้อาวุธมาเป็นจำนวนไม่น้อย แต่ความน่าเชื่อถือของเรื่องนี้ลดลงไปเพราะเป็นการงมในวันรุ่งขึ้น ทั้งคณะกรรมการอิสระชุดนายพิเชต และคณะอนุกรรมการของ กสม.ต่างอ้างคำให้สัมภาษณ์ผู้ชุมนุมรายหนึ่งที่บอกว่า หากผู้ชุมนุมมีอาวุธมากดังว่าจริง ฝ่าย จนท.คงเสียหายมากกว่าที่ปรากฏหลายเท่า คณะกรรมการอิสระสรุปว่าผู้ชุมนุมอาจจะมีอาวุธจริงแต่จำนวนน้อย ซึ่งข้อสรุปนี้ก็เท่ากับว่าข้ออ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมในการสลายการชุมนุมด้วยการใช้กระสุนจริงเป็นประเด็นที่ยังอ่อนไป
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการอิสระคล้อยตาม จนท.ว่าการชุมนุมหนนั้นมีการจัดตั้ง ผู้ชุมนุมบางส่วนขว้างปาก้อนหินเข้าใส่อาคารทำให้หน้าต่างได้รับความเสียหาย แต่เมื่อประเมินสภาพภายในกลับไม่พบความเสียหายที่มากกว่านั้น อีกประการหนึ่งคณะกรรมการอิสระพยายามหาข้อเท็จจริงในเรื่องว่า มีคำสั่งสลายการชุมนุมก่อนหรือว่ามีการทำร้าย จนท.ก่อน ข้อมูลในส่วนนี้ดูเหมือนยังสรุปไม่ได้เพราะมีผู้สนับสนุนทั้งสองประเด็น แต่ในรายงานของคณะอนุกรรมการของ กสม.ระบุว่า การขว้างปาสิ่งของใส่ จนท.เริ่มหลังการฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุม
รายงานทั้งของกรรมการอิสระและ กสม.ระบุว่าในช่วงต้น จนท.ไม่ได้คิดจะจับทั้งหมดแต่คิดว่าจะรวบแกนนำเพียง 20 – 30 คนซึ่งส่วนใหญ่อยู่แถวหน้าของการชุมนุม จึงเตรียมรถไว้เพียง 4 คัน แต่หลังจากที่สั่งสลายการชุมนุมก็พบว่าผู้คนที่หมายตาเอาไว้นั้นได้ปะปนกันไปกับคนอื่น ๆ หมดแล้ว จึงเปลี่ยนไปใช้วิธีจับกุมคนทั้งหมดเพื่อจะเอาไปกรองทีหลัง กลายเป็นที่มาของการกวาดจับผู้ชายทั้งหมดและปล่อยผู้หญิงและเด็กกลับบ้าน คนถูกจับมีจำนวน 1,370 คน ซึ่งจำนวนขนาดนี้ทำให้ต้องหาสถานที่สำหรับควบคุมตัวซึ่ง จนท.ได้เลือกที่ค่ายอิงคยุทธบริหารซึ่งห่างจากตากใบไป 150 กม. และต้องจัดเตรียมรถเพิ่มเติมซึ่งในเวลากระทันหันก็ทำให้หาได้ไม่พอ รวมทั้งต้องเตรียมดูแลคนกว่าพันสามร้อยที่จะถูกควบคุมตัวในค่ายด้วย
น่าคิดว่า หากเรื่องเร่งด่วนที่เป็นปัญหาหลักในเวลานั้นคือการควบคุมสถานการณ์เอาให้ได้ด้วยเป้าหมายจะป้องกันไม่ให้เหตุการณ์บานปลาย การสลายการชุมนุมและเคลียร์คนออกจากพื้นที่ก็น่าจะถือว่าเพียงพอแล้วหรือไม่ การกวาดจับคนกว่าพันสามร้อยในสภาพไม่พร้อมรับเป็นเงื่อนไขนำไปสู่ปัญหาในเวลาต่อมา
สิ่งที่ต้องคิดมากกว่าความไม่พร้อมทางกายภาพคือทัศนะของ จนท. รายงานของคณะกรรมการอิสระและของ กสม.พูดไว้ตรงกันว่ากลุ่มคนที่ถูกจับนั้น หลายคนถูกทำร้ายร่างกายตั้งแต่ก่อนขึ้นรถ มีทั้งถีบและตีด้วยพานท้ายปืน พวกเขาถูกสั่งให้ถอดเสื้อออก ใช้เสื้อหรือไม่ก็เชือกมัดมือไพล่หลัง บางทีก็มัดติดกันเป็นกลุ่ม เมื่อจะเคลื่อนย้ายก็สั่งให้พวกเขาคืบตัวไปบนพื้นท่ามกลางแดดบ่ายที่ร้อนจัดและในวันที่ผู้คนเหล่านั้นอดน้ำและอาหารมาทั้งวัน การขึ้นไปบนรถและนอนคว่ำหน้าซ้อนทับกันในขณะที่มือถูกมัดไว้ด้านหลังนับว่าเป็นท่วงท่าที่ทำให้คนไม่มีหนทางจะช่วยเหลือตัวเองอย่างใดได้ รายงานของคณะกรรมการอิสระและของ กสม.ต่างบันทึกข้อมูลจากผู้รอดชีวิตว่า บนรถบรรทุก เมื่อคนข้างล่างถูกซ้อนทับจนทนไม่ไหวและร้องขอความช่วยเหลือ ก็จะมีคนถูกทำร้ายโดยทหารที่คุมรถซึ่งมีคันละราว 4 – 5 คน นี่เป็นประเด็นที่คณะกรรมการระบุอย่างชัดเจนว่าต้องมีการสอบสวนและเอาผิด รายงานชี้ว่า การให้ จนท.ทหารพราน ทหารเกณฑ์เข้าร่วมจัดการผู้ชุมนุมเป็นความผิดพลาดเพราะขาดประสบการณ์
อันที่จริงเรื่องการเคารพชีวิตและศักดิ์ศรีมนุษย์นั้นไม่ใช่เรื่องที่ต้องการประสบการณ์พิเศษพิสดารอันใด
ปัญหาของ จนท.คือมีรถไม่พอ กล่าวคือมีประมาณ 25 – 28 คันซึ่งต้องรองรับคนจำนวนกว่าพันสามร้อยคน ความผิดพลาดแรกเห็นได้ชัดที่การลำเลียงคนขึ้นรถว่าทำกันอย่างไม่เป็นกระบวนกล่าวคือไม่มีการเฉลี่ยคนทั้ง ๆ ที่รู้ว่ามีรถไม่มาก กลายเป็นว่าคันหลัง ๆ แออัดยัดเยียด และยังให้นอนทับซ้อนกันไป คณะกรรมการอิสระได้ข้อมูลจากนายตำรวจรายหนึ่งที่ไปปฏิบัติงานที่ค่ายระบุว่ารถคันแรกเป็นคันเดียวเท่านั้นที่ผู้ถูกจับกุมได้นั่งไป คันอื่น ๆ ล้วนนอนไปทั้งสิ้น ที่สำคัญในรถคันแรกแม้จะนั่งกันไปแต่ยังปรากฏว่ามีคนตายหนึ่งคน บุคคลคนนั้นไม่ได้ตายเนื่องจากการถูกกดทับ แต่ตายเพราะถูกทำร้ายด้วยวัตถุที่แข็ง ขณะที่การเดินทางล่าช้าเพราะระหว่างทางถูกโรยตะปูเรือใบ แต่เมื่อไปถึงที่หมายก็ยังมีปัญหากล่าวคือถนนแคบทำให้ต้องรอกันทำให้ล่าช้าในการเอาคนลงจากรถ เช่น รถคันแรกที่ไปถึงทุ่มครึ่ง กว่าจะเอาคนลงได้หมดก็คือสองทุ่ม ขณะที่รถกลุ่มที่สองไปถึงสี่ทุ่มครึ่ง กว่าจะเอาคนลงจากรถได้ก็คือตีหนึ่ง
รายงานระบุว่ายกเว้นคันแรกที่มีคนตายเพราะถูกของแข็งหนึ่งคนแล้ว คันอื่น ๆ มีคนตายมากขึ้นเรื่อย ๆ ในคันที่มีคน 70 คน เสียชีวิต 20 ที่เสียชีวิตมากที่สุดคือรถที่บรรทุก 90 คน กล่าวคือมีคนตาย 23 คน ที่ตายมากล้วนเป็นรถคันหลัง ๆ ที่บรรทุกคนจำนวนมาก ๆ ทั้งสิ้น คณะกรรมการชี้ว่า แม้ว่าจะพบเห็นแต่หัววันว่ามีคนตายแต่ก็ไม่ได้มีการกลับลำเร่งรัดให้ปรับเปลี่ยนในรถคันหลัง ๆ เพื่อลดทอนความเสียหาย นี่เป็นจุดบกพร่องสำคัญในสายตาของคณะกรรมการอิสระ
ประเด็นสำคัญคือความตายหนนี้ ทั้งคณะกรรมการอิสระและรายงานของ กสม.ต่างพูดว่ามาจากการ “ขาดอากาศหายใจ” แต่เป็นการขาดอากาศหายใจจากการถูกกดทับที่มีผลให้กล้ามเนื้อล้มเหลวไม่ทำงาน ทำให้ไม่สามารถหายใจได้ สาเหตุหลักก็เพราะต้องแบกรับน้ำหนักของคนที่อยู่ด้านบน ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าจำนวนคนตายสัมพันธ์กับจำนวนคนที่บรรทุก ยิ่งบรรทุกมากยิ่งตายมาก ความตายหนนี้จึงสัมพันธ์กับวิธีการขนย้ายโดยตรง คำว่าขาดอากาศหายใจ จึงเป็นผลพวงของการหายใจไม่ได้เพราะถูกกดทับ ไม่ใช่เพราะอยู่ในที่ที่อากาศไม่เพียงพอ
ความสับสนของข้อมูลหลายส่วนบอกให้เรารู้ว่าการทำงานของ จนท.ในการจัดการผู้ถูกจับกุมหนนั้นหละหลวมมาก ลำพังตัวเลขจำนวนรถว่ามีกี่คันแน่ก็สรุปไม่ได้เพราะแต่ละหน่วยงานมีตัวเลขต่างกันทำให้ในที่สุดคณะกรรมการบันทึกว่าใช้รถ 25 – 28 คัน การจะกำหนดเวลาในการเคลื่อนย้ายก็มีข้อมูลต่าง ๆ กันไป รายงานของคณะกรรมการบอกว่ารถกลุ่มแรกสี่คันไปถึงค่ายอิงคยุทธเวลา 19.30 น. แต่ยอมรับว่า จนท.รายงานนายกรัฐมนตรีเป็นหนึ่งทุ่ม อีกจุดหนึ่งในรายงานกลับบอกว่ารถคันแรกไปถึงค่ายเวลา 17.40 น. ส่วนกลุ่มที่สองออกเดินทาง 19.00 ไปถึง 22.00 น. บางจุดบอกว่าไปถึง 23.00 น. ยังมีบางคันให้ข้อมูลว่า ออก 18.00 ไปถึง 21.00 บางคันออก 21.00 ไปถึง 02.00 อีกด้าน ไม่ปรากฏว่ามีบันทึกรายละเอียดผู้ถูกจับกุมจาก จนท.
การสอบถามข้อมูลจาก จนท.หลายกรณีดูจะไม่ได้อะไรเท่าที่ควร เช่น กรรมการอิสระใส่ข้อมูลไว้ในรายงานว่าพลขับมีช่องที่ทำให้มองเห็นสภาพด้านหลังของรถได้ แต่เมื่อสอบถาม พลขับรายหนึ่งบอกว่าไม่ได้มองจึงไม่เห็นอะไร เมื่อลงจากรถก็ไปคุยกับเพื่อนทหารรายอื่น แพทย์ในโรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธให้ข้อมูลว่า ยุ่งกับการรักษาคนบาดเจ็บจนไม่เห็นอะไรอื่น น่าสังเกตว่า จนท.ทหารทุกรายให้คำตอบในทางแคบมาก นอกจากนี้ยังมีข้อบ่งชี้ว่ามีการให้ข้อมูลเท็จ เช่น ผู้ทำรายงานได้สัมภาษณ์ผู้ถูกจับกุม 92 ราย ทั้งหมดบอกว่าต้องนอนไประหว่างการขนย้ายและมีเพียงคนเดียวที่ได้นั่ง แต่ จนท.ทหารกลับให้ข้อมูลว่าทุกคนยืนหมด
คณะกรรมการอิสระเห็นว่าเจ้าหน้าที่ไม่มีเจตนา เป็นความผิดพลาดอันเกิดจากความไม่ใส่ใจ แต่อนุกรรมการของ กสม.ระบุอย่างชัดเจนว่าความไม่ใส่ใจนั้นเองคือปัญหาเพราะส่อถึงทัศนะที่ไม่เห็นว่าจะต้องปฏิบัติต่อผู้ถูกจับกุมอย่างเคารพในศักดิ์ศรีและชีวิตของคนเหล่านั้น โดยส่วนตัวผู้เขียนเชื่อว่า การเริ่มต้นทัศนะในการทำงานด้วยการมองคนเหล่านั้นว่าเป็น “ศัตรู” คือธงหลักที่ทำให้ปฏิบัติการทั้งหมดมีปัญหา บวกกับระบบวิธีการทำงานของ จนท.ทหารที่เป็นคนรับผิดชอบหลักซึ่งปรากฏชัดในรายงานว่าไม่ควรเป็นระบบที่จะนำมาใช้รับผิดชอบงานที่เกี่ยวพันกับพลเรือนเช่นนี้ เห็นได้ด้วยว่าแม้พบว่ามีคนตายจำนวนมากแล้วก็ยังดำรงวิธีคิดของการจัดการ “ฝ่ายตรงข้าม” ต่อไป มีความพยายามฟ้องร้องผู้ชุมนุม 59 คนจนกระทั่งมามีการถอนฟ้องเพราะผู้นำมีเจตนารมณ์ทางการเมืองในการปรองดอง แต่การปรองดองที่แท้จริงก็ยังไม่เกิดเพราะขาดการแสดงความรับผิดชอบจนปัญหาความไม่เป็นธรรมยังค้างคาเพราะพฤติกรรมลอยนวลพ้นผิด ในขณะที่การเยียวยาด้วยความจริงก็ยังไม่ทะลุ เพราะหยุดอยู่แค่รายงานของคณะกรรมการอิสระเท่านั้น