The Passenger
โรสนี นูรฟารีดา
7 ปีที่แล้ว…
ยายอายุ 90 ปี
ยายไม่รู้ว่ารัฐประหารคืออะไร
ในค่ำคืนที่ประชาชนถูกปล้นประชาธิปไตย
ยายบอกว่า “ถ้าทีวีไม่มีอะไรดูก็ปิดเถอะ”
ยายไม่ชินกับเพลงปลุกใจรักชาติที่ส่วนกลางเปิดวนซ้ำไปซ้ำมาผ่านสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง
ยายไม่รู้จักเพลงต้นตระกูลไทยและเพลงอื่น ๆ
ไม่ว่ามันจะโบราณขนาดไหน
“นกคูดขูดพร้าวเฉียว ๆ
นั่งกินคนเดียว
ไม่แบ่งน้าเณรเรามั่งเหอ
น้าเณรไปไหน…
น้าเณรเราไปไชยา
ได้ลูกวัวมา
ตั้งชื่อ ‘บินหลาหางดอก’ ”
เสียงเพลงร้องเรือของยายแว่วมากับลมในฤดูกาลเปลี่ยนถ่ายอำนาจ
เพลงกล่อมเด็กพื้นบ้านที่ยายเคยร้องกล่อมลูก ๆ
30 ปีผ่านไป… มันถูกรื้อค้นออกมาจากกรุความทรงจำ
กลายเป็นเพลงเดียวในบ้านที่ยายใช้ร้องกล่อมหลาน ๆ
และอีก 30 ปีต่อมา… ยายก็ใช้เพลงนี้ร้องกล่อมเหลน ๆ ด้วย
บางพยางค์พร่าเลือนออกเสียงไม่ชัด
คำหนึ่งจึงกลายไปเป็นอีกคำ
เป็นความทรงจำร่วมของลูกหลาน
ที่ไม่เคยมีใครถามหาคำร้องต้นฉบับ
ยายไม่เคยรู้จักคำว่า ภาษี
แต่รู้จักคำว่า ‘รายดิน’
ชาวนาอย่างยายรู้ว่า ต้องจ่ายเงินให้หน่วยงานของรัฐ
เนื่องจากการครอบครองที่ดิน
แต่ไม่เคยรู้ว่า ‘รายดิน’ ถูกนำไปใช้ทำประโยชน์อะไรบ้าง
เมื่อถึงฤดูกาลเลือกตั้ง
ใครต่อใครพากันมาที่บ้านเพื่อไหว้ยาย
ยายรับไหว้ทุกคนด้วยรอยยิ้ม “หวัดดีลูก หวัดดี”
เรียกนักการเมืองผู้เห็นหัวยายในฤดูกาลนี้เท่านั้นว่า ‘ลูก’ ทุกคำ
และไม่เคยตั้งคำถามว่า ช่วงเวลาอื่น ๆ ของปีคนเหล่านี้หายหน้าไปไหน
ยายไม่รู้จักคำว่า ‘ประชาธิปไตย’
แต่ไปยื่นบัตรประชาชน
ปั๊มลายนิ้วมือ
เข้าคูหาหยิบปากกา
ยายอ่านเขียนภาษาไทยไม่ออก
แต่รู้ว่าถ้ามีคนช่วยกากบาทให้ใครเยอะ คนนั้นจะได้ตำแหน่ง
ตำแหน่งที่ยายไม่รู้จักชื่อ
แต่รู้ว่าคนที่แวะมาหาไม่มีใครอยากปล่อยให้หลุดมือ
“นกคูดขูดพร้าวเฉียว ๆ
นั่งกินคนเดียว
ไม่แบ่งน้าเณรเรามั่งเหอ…”
เสียงเพลงร้องเรือของยายแว่วมาอีกครั้งกลางคลื่นคนบนถนนในเมืองหลวง
นกคูดตัวไหนกำลังขูดมะพร้าว
ยายไม่เคยเฉลย
แต่คำว่า ‘นั่งกินคนเดียว’ นั้นแจ่มแจ้งโดยไม่ต้องอธิบายเพิ่ม