เราต้องใช้ความเร็วเท่าไร…
เพื่อให้รอดจากการตกขบวนรถไฟที่มุ่งหน้าสู่ระเบียบโลกใหม่ หลัง ‘สงครามไวรัส’?
นี่อาจเป็นคำถามที่พุ่งทะลุแซงหน้าทุกคำถาม เมื่อผู้แต่งหนังสือเรื่อง China Next Normal อย่าง ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ชวนเราตั้งคำถามจากการวิเคราะห์ยุทธศาสตร์วิถีการเดินแบบหมากล้อมของจีนในยุคที่โลกเปลี่ยนไวที่สุด
และคงต้องยอมรับว่าจุดตัดของระเบียบโลกเก่า-ใหม่นี้หนีไม่พ้นเจ้าไวรัสคล้ายมงกุฎตัวกลม ๆ ‘โควิด-19’ ที่เข้ามาเร่งออกแกมบังคับให้โลกต้องหมุนไวกว่าเดิม ซึ่งไม่ใช่แค่เราจะตั้งรับกับ New Normal ได้อย่างไร แต่ต้องคิดกันไปไกลจนถึงขั้น Next Normal เลยทีเดียว
พ่อค้าม้าในฤดูหนาว
ด้วยภาษาที่อ่านง่ายและเนื้อหาเปิดโลกได้ฉายภาพการเปลี่ยนผ่านและการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสใหม่ผ่านนิทานโบราณของจีนไว้อย่างน่าสนใจ
นิทานเริ่มเรื่องด้วยการมาเยือนของฤดูหนาวและวิกฤตม้าหายากในฤดูนี้ ก่อนจะเข้าสู่วิธีการรับมือและการมองเห็นโอกาสของพ่อค้าม้าทั้ง 3 คน คนที่ 1 เลือกเปลี่ยนอาชีพค้าม้าและหันหน้าสู่วิถีเกษตรกรรม คนที่ 2 ด้วยการกัดฟันสู้ “เราต้องหาม้ามาขายให้ได้” ไม่ว่าจะหายากหรือลำบากแค่ไหน ส่วนคนสุดท้าย หลายคนบอกว่าเขาบ้าที่เอาแต่ปลูกหญ้าเต็มไปหมด
และนิทานก็จบลงด้วยคนที่ถูกหาว่าบ้าแต่กลับกลายเป็นเศรษฐีจากการขายม้าที่เดินมากินหญ้าหลังจากฤดูหนาวผ่านพ้น ซึ่งก็คงเหมือนกับสถานการณ์ปัจจุบันที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตโรคระบาดครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่
และในขณะที่ไทยมีแนวโน้มพูดถึงวิธีการของพ่อค้ามาคนที่ 1 มากที่สุด และอเมริกาที่ก็กำลังมุ่งหน้าสู้วิกฤตพร้อมเยียวยาเศรษฐกิจแบบไม่ถอย แต่ดูเหมือนจีนจะมองออกว่าควรเดินตามพ่อค้าม้าคนไหนมากที่สุด
“จีนกำลังเชื่อมวิกฤตระยะสั้นเข้ากับการปรับตัวระยะยาว” คำพูดของนักเขียนปรากฎเป็นตัวหนังสือบอกไว้
อ่านได้ยังไม่ถึงครึ่งเล่มก็เจอจุดที่น่าจับตาว่าจีนจะเดินด้วยลีลาแบบไหน จนบรรทัดที่เราจับใจได้ว่า จีนต้องแปลงวิกฤตโควิดให้เป็นโอกาสให้ได้อย่างน้อย 3 ประการ คือ
หนึ่ง อาศัยโควิดเป็นเครื่องเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมดิจิทัล!
จีนหยิบฉวยโอกาสจากโควิดเปลี่ยนสังคมเดิมไปสู่สังคมดิจิทัล (Digitalization) และสังคมอัจฉริยะ(Intelligentization) อย่างเต็มตัว เห็นได้จากนวัตกรรมแอปพลิเคชันที่สามารถวิเคราะห์ว่าผู้คนอยู่ในระดับความเสี่ยงไหนจากโรคโควิด-19 เพียงแค่ทุกคนกรอกข้อมูลลงบนแอปฯ ในมือถือ ซึ่งเราขอเรียกวิธีการนี้ว่า ‘ยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว’ เพราะรัฐบาลจีนได้ข้อมูลทำ Big Data จนสามารถเชื่อมและแชร์ข้อมูลกันระหว่างเมือง รวมไปถึงโอกาสเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจหน้าร้านสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ โดยที่นักลงทุนก็เซฟเงินค่าโฆษณาเพราะทุกคนต่างพากันกระโจนเข้ามาเพื่อให้ตัวเองหายใจได้นานท่ามกลางวิกฤต แถมยังเพิ่มโอกาสให้กับยุทธศาสตร์ หยวนดิจิทัล (Yuan Digital)
สอง การลงทุนรอบนี้ขอเปลี่ยนแผนใหม่ ด้วยการเอาเงินไปลงทุนกับ ‘ก้อนเมฆ’
หลายคนอาจจะยัง งง ๆ ว่าทำไมจีนต้องลงทุนกับก้อนเมฆ แต่ก่อนที่เราจะเอาคำตอบจากหนังสือมาเฉลย เราขอย้อนกลับไปในช่วง ‘วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์’ ก่อน
ในปี 2008 ทุกประเทศได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ซึ่งจีนได้เลือกยิงบาซูก้าการคลังด้วยการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน อย่างถนน รถไฟ สะพาน จะเห็นได้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจีนมีเมืองใหม่เกิดขึ้นจำนวนมากและความเป็นอยู่ของชาวจีนก็ดีขึ้น ไปจนถึงการมีแลนด์มาร์คใหม่เกิดขึ้นมากมาย อย่าง สนามบิน Beijing Daxing International Airport ที่ติด 1 ใน 5 สนามบินที่ใหญ่ที่สุดในโลก หรือจะสะพานข้ามทะเลที่ยาวที่สุดในโลก NKZMB ที่เชื่อมระหว่างฮ่องกง-มาเก๊า-จู่ไห่ และอีก 9 เมืองในมณฑลกวางตุ้งของจีนอีก และพอมาถึงปัจจุบันวิกฤตโควิด หากจีนจะเลือกเดินทางเดิมก็คงไม่ต่างจากวิธีของพ่อค้าม้าคนที่ 2 สักเท่าไร การเดินหมากครั้งถัดไปรัฐบาลสีจิ้งผิงจึงตั้งพิกัดที่มุ่งไปที่ด้านดิจิทัล ระบบ Cloud และ 5G
สาม เดินเครื่องเพิ่มชนชั้นกลาง เราจะขอยืนด้วยขาของตัวเอง Made in China, Use in China!
หากไทย คือ อู่ข้าวอู่น้ำโลก จีนก็คงถูกขนานนามว่า โรงงานโลกขนาดใหญ่ ดังนั้นสัดส่วนของเศรษฐกิจจีนเติบโตได้ด้วยการส่งออกและการลงทุน เราเชื่อว่าจำนวนประเทศ 192 ประเทศในโลกต้องมี Made in China อย่างน้อย 1 โปรดักส์แน่นอน
แต่ดูเหมือนโปรดักซ์ Made in China จะเดินต่อยาก ซึ่งก็เห็นชัดเจนได้จากทุกประเทศต่างปิดประตูบ้านของตัวเอง ไปจนถึงสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ ที่ยิ่งตอกย้ำให้จีนต้องยกระดับสินค้าและกระตุ้นการบริโภคในประเทศ พร้อมกับออกแพ็คเกจคู่ขนานอย่างนโยบายเพิ่มชนชั้นกลางด้วยการแก้ปัญหาความจน เพื่อเพิ่มพลังบริโภคในประเทศที่จะเพิ่มขึ้นอีกราวๆ 600 ล้านคนจากคนชนชั้นล่างของจีน
การเดินหมากของจีนทั้ง 3 ประการสามารถเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เราได้เห็นกันจริง ๆ ว่า…
“ในวิกฤตมีโอกาสเสมอ” เหมือนคำว่าวิกฤตในภาษาจีน 危急 (wéijí/เวยจี่) ที่ประกอบไปด้วย คำแรก 危 (wéi/เวย) ที่แปลว่า ‘อันตราย’ และ 急 (jí/จี่) ที่มีความหมายว่า ‘โอกาส’ นั่นเอง
ปรากฎการณ์ประชากรหด VS สังคมสูงวัย
เป็นที่รู้กันว่าจีน คือ ฐานแรงงานราคาถูก และทรัพยากรมนุษย์คือตัวเดินเครื่องความเป็นประเทศ แต่ในวันที่จีนกำลังจะยกระดับแรงงานก็ยังต้องตั้งรับการขาดแคลนกำลังคน ซึ่งถ้าอิงตามหนังสือที่อาจารย์อาร์มเขียนไว้ แรงงานจีนจะหายไป 200 ล้านคน ภายในปี 2050 กับคาราวานแรงงานที่หายไปและประชากรก็พาไชน่าเข้าสู่สังคมสูงวัยพอดี โดยเริ่มจาก 2001 ที่อัตราส่วนของวัยเกษียณและวัยทำงานสูงขึ้นเป็นครั้งแรก โดยที่คาดว่าในปี 2041 ประชากรที่มีอายุมากกว่า 80 จะสูงถึงร้อยละ 5 ของประชากรจีน
ซึ่งพอเรานั่งอ่านๆ ไปก็รู้สึกว่าจะเข้าใกล้ประเทศไทยเข้าไปทุกที แต่สังคมสูงวัยไทยคงมาถึงก่อนและหากจะให้นับเวลาถอยหลังก็เหลือเพียงเวลาไม่ถึง 100 วันแล้ว (เริ่มต้นที่ปี 2021)
ตัวเลขกว่า 12 ล้าน หรือร้อยละ 17 คือ จำนวนผู้สูงอายุในไทย จึงมีความเป็นไปได้ว่าคนไทยส่วนใหญ่จะ “แก่ก่อนรวย” และ “จนก่อนตาย” เสียดายที่ในหนังสือไม่ได้ขยายความต่อว่าจีนรับมือกับปัญหานี้อย่างไรในบท “เปิดหกเทรนด์โครงสร้างประชากร” แต่เรากลับเห็นความหวังเมื่ออ่านไปจนถึงบทสุดท้ายที่บอกเล่าวิธีการหว่านเมล็ดพันธุ์ของจีน
“ข้าพเจ้าต้องเรียนรัฐศาสตร์และการทหาร เพื่อที่ลูกของข้าพเจ้าจะได้มีอิสระที่จะเลือกเรียนคณิตศาสตร์และปรัชญา และเพื่อที่ลูกของเขาจะได้มีอิสระที่จะเลือกเรียนศิลปะและดนตรี”
ประโยคสุดกินใจของจอห์น อดัม (John Adams) ปรากฎในบทสุดท้ายของหนังสือที่เปิดชื่อเรื่องด้วยคำถาม ว่า “คนจีนรุ่น 00 เลือกเรียนอะไร?”
รุ่น 00 ก็คือเด็กที่เกิดหลังปี 2000 ที่ทั้งคนจีนและในหนังสือบอกไว้ ซึ่งเด็กรุ่น 00 จะเข้ามหาวิทยาลัยในปี 2018 และจบออกมา ในปี 2021 (บวกลบ) โดยที่ผลการสอบของรุ่น 00 ก็แตกต่างออกไป เพราะเด็กรุ่นนี้ไม่ได้สนใจสายเศรษฐศาตร์และการเงินที่เคยเป็นอันดับหนึ่งในสมัยรุ่นพ่อแม่
‘ความนิยมใหม่ของเด็กจีน’ ได้เปลี่ยนเป็นตามความชอบ ความสนใจ มากกว่าเรื่องรายได้และความมั่นคงในอาชีพ แต่พอมองกลับมาที่ไทยก็ดูคล้ายๆ กันอยู่ว่าเด็กไทยหลายคนเลือกเรียนตามสิ่งที่ชอบและสนใจ แต่จุดตัด คือ เด็กไทยอาจต้องคำนึงถึงความมั่นคงในอาชีพการงานอยู่
ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง (Beijing Normal University) พบว่า ‘ความนิยมใหม่ของเด็กจีน’ คือการที่พวกเขาเลือกเรียนแบบตามใจ ที่คนรุ่นก่อนไม่มีโอกาสได้ใส่ใจเพราะกฎสังคมที่ทำให้ต้องคำนึงถึงประมาณของรายได้และความมั่นคงในอาชีพเป็นตัวตั้ง
ซึ่งปัจจุบันสายศิลป์ได้รับความนิยมสูงขึ้นโดยเฉพาะสาขาประวัติศาตร์ที่มีคะแนนสอบเข้าที่สูงขึ้น พร้อมกับสาขาจิตวิทยาที่ไต่ขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ในสายวิทย์ โดยที่สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึง Next Normal ของสังคมจีนที่ความหนาของชนชั้นกลางมีมากขึ้น จากการเด็กรุ่นใหม่ไม่ต้องกังวลเรื่องสร้างเนื้อสร้างตัวอีกต่อไป เพราะอิสระที่คนจีนรุ่นเก่าได้ย่อมแลกไปก็เพื่อสร้างสังคมที่ดีกว่าให้คนรุ่นหลัง ดั่งที่ประโยค จอห์น อดัม (John Adams) ที่เราได้กล่าวไว้ข้างต้นนั่นเอง
เนื้อหาที่เราเลือกหยิบยกขึ้นมาเป็นเพียงแค่ยุทธศาสตร์ อุปสรรค และจุดเติบโตใหม่ของจีน ส่วนหนึ่งที่เราได้อ่านจากหนังสือเล่มนี้เท่านั้น ซึ่งยังมีมิติอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมากในหนังสือ China Next Normal อย่างการจัดระเบียบขั้วอำนาจโลกแบบหยินหยาง หรือแผนยุทธศาสตร์เดินเกมหมากล้อมหมากรุกของ มหาอำนาจจีน-อเมริกาที่ยังไม่อาจฟันธงได้ว่า ใครจะเป็นเจ้าของขั้วอำนาจใหม่ ?
PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ขึ้นไว้บนเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี