อย่า “อยู่เป็น”
อย่า “ไหลตามน้ำ”
อย่าเป็น “ฟันเฟือง” ของรัฐบาลเบ็ดเสร็จนิยม
เพราะการ “ต้องยอมทำตาม” ไม่มีอยู่จริง
พวกเราล้วนต้องอยู่กับตัวเอง
เราทำงานให้ปีศาจ แต่ก็ไม่ได้ขายวิญญาณให้เขา
นี่เป็นถ้อยคำและใจความสำคัญที่อยู่ในหนังสือชื่อยาว – อ่านยาก “ความรับผิดชอบส่วนบุคคลของมนุษย์ใต้เผด็จการ” แปลโดยเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาลและวศินี พบูประภาพ เขียนโดยฮันนาห์ อาเรนท์
แม้แต่เนติวิทย์เองยังยอมรับว่าอ่านยาก
อ่านยากแต่ก็อยากให้อ่านเพราะน่าอ่านมาก
สอดคล้องยิ่งกับยุคสมัยในสังคมเผด็จการ – ราชการเป็นใหญ่
“ระบบราชการเป็นระบบที่ไม่ได้ถูกปกครองโดยใคร และด้วยเหตุผลนี้ มันจึงเป็นรูปแบบการปกครองที่มีความเป็นมนุษย์น้อยที่สุดและก็โหดร้ายทารุณที่สุดระบบหนึ่ง” ในหนังสือบอกไว้
ใช่หรือไม่ ? ไม่ต้องตอบก็ได้
ฮันนาห์ อาเรนท์ เขียน “Personal Responsibility Under Dictatorship” ในปี 1964 หลังการไต่สวนไอซ์มานน์ เจ้าหน้าที่ระดับสูงนาซีเยอรมันที่มีส่วนก่ออาชญากรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว
เธอพยายามจะชี้ให้เห็นความมีอยู่ของตรรกะวิบัติ
ไอซ์มานน์บอกว่าเขาไม่มีทางเลือก
ขณะที่ศาลบอกว่า ไอซ์มานน์มีทางเลือกหลายทาง ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง
การพิจารณาคดีอาชญากรสงครามและการถกเถียงเรื่องความรับผิดชอบส่วนบุคคล จำเลยและทนายของเขามักอุทธรณ์ด้วยการอ้างว่าอาชญากรรมของพวกเขาเป็น “การกระทำของรัฐ” หรือบอกว่าพวกเขาทำตาม “คำสั่งที่สูงกว่า”
ขณะที่ผู้พิพากษาโต้ว่า “คำสั่งที่สูงกว่า” ไม่สามารถเป็นข้ออ้างในการทำอาชญากรรม
“ถ้าฉันไม่ทำ ยังไงเสียก็มีคนอื่นทำแทนอยู่ดี” นี่คือส่วนหนึ่งของทฤษฎีฟันเฟือง
ทนายฝั่งจำเลยพยายามบอกว่า ไอซ์มานน์ก็เป็นแค่ฟันเฟืองเล็กๆ
ผู้พิพากษาชำแหละการอ้างเรื่องฟันเฟืองโดยประกาศว่าในศาลไม่มีการพิจารณาตัวระบบ หรือสำนึกทางประวัติศาสตร์ ลัทธิความเชื่อ แนวคิดเกลียดชังยิว
ณ ที่นี้ จะพิพากษาที่ตัวบุคคล
คำถามของศาลที่ถามจำเลยจึงเป็น “ใช่คุณ ที่มีชื่อนี้ – วันเกิดนี้ – สถานที่เกิดนี้ซึ่งพิสูจน์ได้ ได้ก่ออาชญากรรมตามที่กล่าวหาหรือไม่ ทำไมคุณถึงทำเช่นนั้นลงไป ? ”
คำตอบว่า “ข้าพเจ้าเป็นแค่ฟันเฟือง” จึงเป็นสิ่งที่ไม่มีมูลรองรับ
เพราะศาลได้แปร “ฟันเฟือง” ไปสู่ความเป็น “ มนุษย์”
และชี้ให้เห็นถึงประเด็น “ความรับผิดชอบส่วนบุคคล”
“ในองค์กรอาชญากรรมทั้งหลายส่วนใหญ่ ฟันเฟืองตัวเล็กๆ นั่นแหล่ะคือตัวก่ออาชญากรรมใหญ่” หนังสือกล่าว
น่าสนใจว่า ทำอย่างไรในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เราจะสามารถรักษาไว้ซึ่งความเป็นนายของตัวเอง รับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง ภายใต้เผด็จการ ใต้ความกดดันบีบบังคับ
แม้แต่ในสภาพแวดล้อมที่กฏหมายล้วนเป็นอาชญากรรม ทุกการกระทำตามศีลธรรมล้วนผิดกฏหมาย
ฮันนาห์ อาเรนท์คลี่ให้เห็นว่าผู้พิพากษาในศาลกรุงเยรูซาเล็ม รวมถึงศาลอื่นๆ หลังสงครามได้สะท้อนมุมมองการมองโลกในแง่ดีออกมา ผ่านการตัดสินของพวกเขา โดยได้วางสมมติฐานว่า
“มนุษย์มีปัญญาอย่างหนึ่งที่เป็นอิสระ ที่ไม่ขึ้นกับกฏหมายหรือความเห็นสาธารณะ เราใช้ปัญญานี้ตัดสินความผิดชอบชั่วดีในทุกการกระทำอันฉับพลันและริเริ่มเจตนาใหม่ได้ทุกๆ โอกาส”
“ปัญญานี้ฝังอยู่ในตัวเรามานับทศวรรษและจะไม่สามารถหายไปได้ในทันทีทันใด”
ขณะที่ระเบียบ ชุดจารีต และขนบธรรมเนียมสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ต่างกับการที่ผู้คนเปลี่ยนมารยาทบนโต๊ะอาหาร
ฮันนาห์ อาเรนท์ บอกว่า พวกเราล้วนแต่ต้องอยู่กับตัวเอง
คนที่มีความรับผิดชอบส่วนบุคคล เมื่อถูกบีบให้มีส่วนร่วมในการก่ออาชญากรรม พวกเขาเลือกที่จะตายมากกว่า คือพวกเขาปฏิเสธการฆาตกรรมไม่ใช่เพราะยึดมั่นต่อบัญญัติที่ว่า “เจ้าต้องไม่ฆ่า” แต่เป็นเพราะพวกเขาไม่เต็มใจจะมีชีวิตอยู่กับฆาตกร ซึ่งก็คือตัวพวกเขาเอง
เธอบอกว่าคนแบบนี้ คือคนที่ต้องการใช้ชีวิตโดยเปิดเผยกับตัวเองได้ เป็นหนึ่งเดียวกับตัวเองได้ พวกเขาใช้ชีวิตโดยมีบทสนทนาเงียบๆ ระหว่างฉันกับตัวฉัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเรียกมาตั้งแต่สมัยที่โสกราตีสและเพลโตว่า “การคิด”
ภายใต้สถานการณ์แบบนี้ คนที่ยึดถือคุณค่าและเคร่งครัดต่อบรรทัดฐานและมาตรฐานทางศีลธรรมอาจไม่ใช่คนที่พึ่งพาได้ เพราะบรรทัดฐานและมาตรฐานทางศีลธรรมเปลี่ยนแปลงได้เพียงชั่วข้ามคืน ผู้ที่จะเป็นที่พึ่งได้มากกว่า คือนักสงสัยและคนที่ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ไม่ใช่เพราะการมองโลกในแง่ร้ายเป็นเรื่องดี แต่เพราะพวกเขามักจะตรวจสอบทุกสิ่งและตกผลึกความคิดด้วยตัวพวกเขาเอง
สรุปว่าคนที่พึ่งพาได้ดีที่สุดก็คือ คนที่รู้อยู่ในใจไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ตราบใดที่เรายังมีชีวิตอยู่ เราล้วนแต่ต้องอยู่กับตัวของเราเอง เมื่อคิดอย่างนี้ ก็จะทำให้ “เรา” เก็บรักษาพลังความเข้มแข็งจนหยดสุดท้ายไว้ได้ ภายใต้สถานการณ์อันสุดขั้ว
“การต้องยอมทำตาม” ฮันนาห์ อาเรนท์ว่ามันไม่มีอยู่จริงทั้งในแง่ของการเมืองและศีลธรรม
ดังนั้น จึงไม่ควรตั้งคำถามสำหรับผู้ที่ยินยอมทำตามคำสั่งที่ไม่ควรจะเป็นว่า “ทำไมคุณถึงยินยอมทำตาม”
แต่ควรเปลี่ยนเป็นถามว่า “ทำไมคุณถึงสนับสนุนเขา?”
นั่นสิ ทำไม?
คำถามถึงความรับผิดชอบส่วนตัวในฐานะมนุษย์คนหนึ่งภายใต้เผด็จการ
จึงเป็นประเด็นท้าทายของสังคมไทยที่มาถูกเวลาและมีความหมาย
ในขณะที่ทั้งสังคมกำลังประลองกำลังกันในทางความคิด
ท้ายที่สุด ไอซ์มานน์ถูกตัดสินว่าผิดจริงและถูกประหารชีวิตในปี 1962
ตอนท้ายของหนังสือ ฮันนาห์ อาเรนท์ระบุว่าถ้าเราสามารถทำลายถ้อยคำ “ยินยอมทำตาม” ซึ่งเป็นคำอันตรายไปได้
“เรา” ก็จะได้ศักดิ์ศรีหรือเกียรติของ “มนุษย์” กลับคืนมา
เนติวิทย์แปลและเผยแพร่หนังสือเล่มนี้ในปี 2020 เขาระบุว่าว่า ความดีงามจากหนังสือ เขาอุทิศให้ “สวี่ จางรุ่น” ศาสตราจารย์นิติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยชิงหวา ผู้ท้าทายเผด็จการสีจิ้นผิงและ “ทนายอานนท์ นำภา” ความกล้าหาญของทั้งสองท่านเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในเวลานี้
PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ขึ้นไว้บนเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี