ราชาเงินผ่อน แปลงเงินกู้เป็นเงินออม - Decode
Reading Time: 2 minutes

ถ้าคุณเป็นนักฝาก จะมีอะไรสำคัญไปกว่าดอกเบี้ย ยิ่งสูงยิ่งดี

ถ้าคุณเป็นนักกู้ จะมีอะไรสำคัญไปกว่าดอกเบี้ย ยิ่งต่ำยิ่งกู้

ถ้าคุณเป็นนักลงทุน จะมีอะไรสำคัญไปกว่า ดอกเบี้ย/ผลตอบแทน ยิ่งเสี่ยง ยิ่งได้

และถ้าคุณไม่ค่อยมีเงิน การดูแลเงินที่คุณมี จะสำคัญมากเป็นพิเศษ

คุณคิดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่ำสุดควรเป็นเท่าไหร่…?

คุณอาจจะคิดว่า อย่างมากก็ 0 % มันไม่ควรจะต่ำสุดไปมากกว่านี้ที่จะยอมรับได้ถ้าจะฝากเงินสดไว้ในบัญชีธนาคารเฉยๆ และคงไม่มีใครคิดจะยอมให้ดอกเบี้ยเงินฝากของตัวเองติดลบแน่ ๆ แต่ที่แน่ ๆ เรากำลังพูดถึง ความเป็นจริงที่กลับหัวกลับหางในความจำเป็นของคนที่มีเงินเพียงหยิบมือ จากหนังสือ The Poor and Their Money : การเงินคนจน เขียนโดยเซียนไมโครไฟแนนซ์อย่าง “สจวร์ต รัทเทอร์ฟอร์ด” นักวิจัย ที่ปรึกษา และผู้ประกอบการด้านไมโครไฟแนนซ์ มีชั่วโมงบินในแวดวงการเงินมากกว่า 40 ปี กับเพื่อนสนิท “สุขวินเดอร์ อาโรรา” เขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอธิบายความจำเป็นของการจัดการเงินของคนจน

โดยความตั้งใจไม่ใช้ศัพท์แสง ไม่ใส่ตัวย่อ ไม่มีเชิงอรรถให้ยืดยาว และไม่ใช่หนังสือฮาวทูสำหรับการทำไมโครไฟแนนซ์ เพราะในเมื่อผู้เล่นหลักของหนังสือคือ ผู้ใช้บริการ ปรากฏชัดในบทท้าย ๆ แสดงเจตนาของผู้เขียนที่ต้องการให้เข้าใจเงื่อนไขและประวัติศาสตร์ไมโครไฟแนนซ์ที่สลับซับซ้อนผ่านความละเมียดของบทสนทนาจากการทำวิจัยของ “สจวร์ต” มายาวนาน 30 ปีใน 3 ทวีปทั่วโลก จึงเป็นเหตุผลที่เราเลือกหยิบเล่มนี้ขึ้นมาเสนอให้ผู้อ่านกดSaveลงใน PlayRead ส่วนตัว สำหรับใครก็ตามที่อยากเข้าใจโลกการเงินของคนมีเงินน้อย  

โปรดเตรียมเครื่องคิดเลขและรัดเข็มขัดให้แน่นค่ะ! เรากำลังมุ่งหน้าทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองวิชัยวาทะ ประเทศอินเดีย เพื่อพบกับ ชโยธี หญิงวัยกลางคนที่พอรู้หนังสืออยู่บ้าง หาเลี้ยงชีพด้วยการเดินสายรวบรวมเงินฝาก สะสมชั่วโมงบินจากความไว้ใจให้ดูแลเงินออมของลูกค้า

ลูกค้าของเธอคือ ชาวสลัมซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง

เธอแจกบัตรให้กับลูกค้าทุกคนของเธอ ลองนึกภาพตามค่ะว่า บัตรใบนี้ตีตาราง 220 ช่อง (แนวนอน 11 แถว และแนวตั้ง 20 แถว) เป็นอันว่า ตกลงจะออมเงินกัน

ลูกค้าบางคนอาจจะตกลงออมวันละ 5 รูปี ติดกัน 220 วัน ชโยธีก็เขียนเลข 5 ทุกวันจนครบ 220 วัน ก็เท่ากับว่าลูกค้ารายนั้นออมได้ 1,100 รูปี หรือคิดเป็นเงิน 500 บาท พอครบกำหนด 220 วันลูกค้าจะได้เงินที่ออมไว้คืนทั้งก้อน

เพียงแต่ประเด็นไม่ได้อยู่ที่…ลูกค้าในสลัมได้เงินออมคืนตามกำหนด

แต่อยู่ที่ลูกค้ายอมจ่ายดอกเบี้ยจากการฝากเงินให้กับชโยธี “นักรวบรวมเงิน” จึงชัดเจนว่า พวกเขาได้เงินคืนน้อยกว่าที่ฝากเข้าไป จาก 1,100 รูปี ที่ลูกค้าออมได้ในเวลา 220 วัน เธอได้รับค่าตอบแทนติดลบ 100 รูปี หรือติดลบร้อยละ 18

นั่นคือ ลูกค้ายอมจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 18 ให้ชโยธี ตลอดระยะเวลา 220 วัน

………………………………………

แล้วคุณคิดว่า ดอกเบี้ยที่แท้จริงจะเป็นเท่าไหร่…?

เราสามารถคำนวณดอกเบี้ยที่แท้จริงที่ลูกค้าของชโยธีได้รับ

เท่ากับว่า เขาจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 30 ตลอดระยะเวลา 365 วัน

………………………………………

มีอะไรดลใจให้คนออมเงินยอมรับเงื่อนไข “ดอกเบี้ยติดลบ” แบบนี้ได้ หนังสือเล่มนี้มีคำตอบให้เราสองแบบคือ คำตอบที่หนึ่งมาจากนักเศรษฐศาสตร์ บอกว่า “อัตราดอกเบี้ยนี้ผิดปกติมาก แปลว่าตลาดต้องไม่สมบูรณ์แน่ ๆ” ต่อให้ชาวสลัมจะใช้ชีวิตห่างจากธนาคารแค่ไม่กี่ก้าว ธนาคารก็ดูห่างไกลเกินกว่าที่ชาวสลัมจะสนใจ และธนาคารเองก็ไม่อยากได้เงินฝากน้อยนิด 5 รูปีต่อวัน ถ้าไม่นับชโยธีแล้ว ชาวสลัมมีแหล่งเงินออมน้อยมากถึงมากที่สุด

คำตอบที่สอง มาจากตัวผู้ใช้ระบบเอง และคำตอบนี้ฉายให้เห็นว่า ธรรมชาติของความต้องการบริการเงินออมของพวกเขา บางคนกำลังออมเงินเพื่อเตรียมจ่ายค่าเล่าเรียนและค่าเสื้อผ้าให้ลูกวัยเรียน 2 คน เขารู้ว่าต้องใช้เงิน 800 รูปีตอนต้นเดือนก.ค.ไม่อย่างนั้นลูกจะไม่ได้ไปโรงเรียน และกลายเป็นบทสนทนาปลายเปิดของอีกหลายคำถามในหนังสือเล่มนี้

สจวร์ต : เธอเข้าใจไหมว่ากำลังจ่าย 30 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ในการใช้บริการออมเงินกับชโยธี

คุณแม่ลูกสอง : รู้ว่าจ่ายแพง ถ้าไม่มีชโยธีก็จะส่งลูกไปเรียนหนังสือไม่ได้

ความคิดนี้ช่วยให้เราเข้าใจว่า ทำไมคนจนถึงกล้ายอมรับ ความเสี่ยง ของการออมเงินไว้กับนักรวบรวมเงินฝากที่ไม่มีใบอนุญาตในเมื่อไม่มีวิธีที่ปลอดภัยในการออม สำหรับผู้อ่านแล้ว จุดเปลี่ยนจากการอ่านเล่มนี้คือ เลนส์ของมุมมองที่เปลี่ยนไป เพราะการจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากมากถึงร้อยละ 30 ต่อปี เรากำลังมองในเลนส์ของ “นักลงทุน” แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น มีเหตุผลที่เราจะมองคนที่มีเงินน้อยนิดเหล่านี้ในฐานะ “คนธรรมดา” ที่ต้องการบริการทางเงินที่ตอบโจทย์ “ความปลอดภัย”

เพราะ…ถ้าเราใช้ชีวิตในบ้าน ไม่มีรั้วรอบขอบชิด การหาที่ปลอดภัยสำหรับการออมเงินไม่ใช่เรื่องง่าย เหรียญที่ขุดหลุมฝังไว้ใต้ดินหรือหยอดลงกระปุกลูกหมู หรือธนบัตรที่เสียบซ่อนไว้ใต้ขื่อหลังคา ล้วนแต่เสี่ยงสูญหายและถูกขโมย ความเสี่ยงทางกายภาพอาจเป็นปัญหาขั้นต่ำสุดของคนจน และที่โหดกว่านั้น คือการเก็บเงินสดให้พ้นจากเสียงเพรียกหาเงินที่มีอยู่มากมาย ไม่ว่าจะญาติหรือเพื่อนบ้านที่ตกตระกำลำบาก เสียงของลูกที่หิวโหยป่วยไข้ เสียงของสามีขี้เมา ไปจนถึงเสียงของเจ้าของบ้าน เจ้าหนี้ และขอทาน คนจนจึงเสียเปรียบเวลาจัดการเงินกระเป๋า

ถ้าเราไม่รู้อะไรมากเกี่ยวกับการจัดการชีวิตของคนจน เราอาจจะคิดเอาเองว่า “จนเกินกว่าจะออม” หรืออาจจะคิดว่า คนจนต้องการเงินกู้  การฝากเงินน่าจะเป็นทางเลือกสุดท้ายที่เขาต้องการ

ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่คิดแบบนั้น ยินดีด้วยคุณควรอ่านหนังสือเล่มนี้ เพราะมันเป็นเหตุผลเดียวที่จะทำให้เราตาสว่างขึ้นกับเหรียญสองด้านของเงินฝากกับเงินกู้ ในระนาบเดียวกัน ซึ่งสจวร์ต หยิบยกเรื่องราวของเงินกู้กับเงินออมเป็นเรื่องเดียวกันได้อย่างง่ายดาย ด้วยวิธีคิดง่าย ๆ ว่า การออมกับการกู้แม้จะเป็นเหรียญสองด้านของบริการทางการเงิน แต่ทั้งผู้ออมกับผู้กู้ต่างกันเพียงแปลงเงินสดที่น้อยนิดให้เป็นเงินก้อน ไม่ว่าเงินก้อนนั้นจะได้ด้วยการผ่อนคืนเป็นงวด ๆ (การกู้) หรือได้มาจากการสะสมไประยะหนึ่ง (การออม) สจวร์ต กำลังชี้ให้เห็นว่า เป้าหมายอยู่ที่การปรับกระแสเงินระหว่างผู้กู้กับผู้ออมให้ราบรื่นและสะดวกต่างหากล่ะ

เพราะพอถึงจุดหนึ่งที่คนจนต้องการใช้เงินก้อน  ซึ่งไม่ได้แปลว่า การจ่ายของคุณทุกเรื่องเป็นเงินก้อนเล็ก ๆ การจ่ายหลายอย่างอาจจะเป็นแบบนั้น คุณอาจจะซื้ออาหารและเสือ้ผ้าทีละนิด แต่บางครั้งคนจนก็ต้องการใช้เงินก้อนใหญ่มากน้อยแล้วแต่เหตุการณ์ตามวงจรชีวิต ตั้งแต่แต่ คลอดลูก ลูกเข้าโรงเรียน สร้างบ้าน เป็นม่าย สูงวัยขึ้น ฯลฯ ทำให้จำเป็นต้องใช้เงินสดมากกว่าเงินที่หามาได้ การหาหลักประกันได้ว่า จะเข้าถึงเงินสดในเวลาฉุกเฉินอาจจะช่วยคนจนได้หลายล้านคน

สจวร์ต ในฐานะ “ผู้เขียน” ยืนยันหลักฐานนี้กับฉันในฐานะ “ผู้อ่าน” จากสมุดบันทึกของคนจน ในฐานะ “ผู้จัดการเงิน” ไม่มีครอบครัวไหนในบรรดา 300 ครัวเรือน ที่ติดตามการใช้ชีวิตแบบ “หาเช้ากินค่ำ” จะใช้เงินที่หามาได้หมดไปทันทีที่ได้เงินมา ในจังหวะเวลาที่รายได้กับรายจ่ายออกนั้น มันมีการ “จัดการ” แปลว่า เงินถูกผลักและดึงผ่านการออมหรือการกู้ ด้วยวิธีฝาก ถอน ให้กู้ และจ่ายหนี้

ยิ่งคนที่มีเงินน้อยที่สุด ยิ่งต้องการบริการทางเงินมากที่สุด สมุดบันทึกพาเราข้ามกาลเวลา หลับตาและฟังเสียงผู้หญิงสองสามคนคุยกัน

หญิงคนหนึ่ง   : “ฉันไม่ชอบเลยที่ต้องยุ่งวุ่นวายเรื่องเงิน วิ่งหาที่กู้ แล้วก็ต้องมองเงินที่ฉันเก็บหอมรอมริบหายวับไปเวลามีคนมาขอกู้ มันไม่ใช่เรื่องสนุกเลย แต่ฉันจะทำอะไรได้ล่ะ เวลาที่คุณจน คุณก็ต้องทำแบบนี้”

หญิงอีกคนหนึ่ง : ล่าว่า ต้องหมกหมุ่นกับการจัดการเงินมาก “เรานอนลืมตาโพลงตอนกลางคืน กังวลเรื่องเงิน”

หญิงคนที่สาม : “เราไม่กลัวเลยว่าจะลืมว่า กู้เงินมาหรือให้คนอื่นยืมไปเท่าไหร่ ตัวเลขพวกนี้ฝังลึกอยู่ในใจ”

ถ้าเราจะคิดว่า มันเป็นบทสนทนาที่เราเองอาจมีประสบการณ์ร่วม “ก่อนสิ้นเดือน” หรือ “ก่อนสิ้นปี” เราก็กำลังมองคนจนเป็นคนธรรมดา ๆ คนหนึ่ง ที่ต้องการบริการทางเงินที่ฟังก์ชันกับชีวิตไม่แพ้กัน

เพราะสำหรับคนที่ไม่ค่อยมีเงินแล้ว (ตามนิยามคนจนของหนังสือเล่มนี้)

จะมีอะไรสำคัญไปกว่า การดูแลเงินที่คุณมี และดอกเบี้ยไม่ใช่เงื่อนไขของทั้งหมด

………………………………………………

สนทนาภาษาคนมีเงินน้อย กับพี่ยุ้ย – สฤณี อาชวานันทกุล ผู้แปล The Poor and Their Money

ในห้วงยามของความไม่แน่นอน ซึ่งจับต้องได้ในรูปนามของ “ความจนลง” ของคนไทยจำนวนไม่น้อย The Poor and Their Money จึงมาถูกที่ถูกจังหวะ ราวกับการเดินทางของกาลเวลาที่หมุนย้อนกลับไปจากจุดเดิมเพียงหลัก “เมตร” หนังสือเล่มนี้ บทสนทนานี้ อาจเป็นหนึ่งในความหวังของการตั้งหลักไมล์ประเทศไทย เพื่อไปไกลจากจุดเดิม ไม่ว่าคุณจะมีจุดยืนทางการเมืองอย่างไร หรืออยู่ในสถานะและชั้นชนไหน

ภัทราภรณ์ : มีเหตุผลอะไรที่เงินงวดกับความถี่ของการผ่อนส่งจะสำคัญไปกว่าดอกเบี้ย

สฤณี : เพราะถ้าคุณเป็นชนชั้นกลางที่มีรายได้ประจำที่แน่นอน การจ่ายหนี้ย่อมแตกต่างจากคนจน เพราะคนจนมีเงินน้อย และไม่สม่ำเสมอ ไม่มานั่งคิดหรอกว่า ดอกเบี้ยในการชำระหนี้จะเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของเงินกู้ หรือบางทีคำนวณออกมาแล้วอาจจะเป็น 100 % หรือ 200 % ก็แล้วแต่

แต่ขอให้ผ่อนได้ 100 บาท 200 บาท ก็พอ

ดังนั้นดอกเบี้ย จึงไม่ได้สำคัญไปกว่า เงินงวด และความถี่ในการผ่อนส่ง

ภัทราภรณ์ : ในฐานะที่พี่ยุ้ยเคยทำวิจัยเกี่ยวกับการเงินชุมชน หนี้นอกระบบและพฤติกรรมทางการเงินของคนจน เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้มีอะไรที่เหมือนหรือต่างออกไปจากกรณีคนจนในประเทศไทย

สฤณี : ต้องยอมรับว่า สจวร์ต รัทเทอร์ฟอร์ด เขาเป็นเซียนไมโครไฟแนนซ์ ชั่วโมงบินสูงเพราะอยู่ในวงการนี้มานานกว่า 4 ทศวรรษ ขณะที่สุขวินเดอร์ อาโรรา ก็เป็นเพื่อนคู่คิดของเขาที่เขียนหนังสือเล่มนี้มาด้วยกัน ทั้งคู่ทำงานอย่างหนักในการวิจัยมานานกว่า 30 ปี ใน 3 ทวีปทั่วโลกโดยกรณีส่วนใหญ่เน้นไปทางเอเชีย ทวีปที่ผู้เขียนทั้งสองคนทำงานสะสมหลักฐานเพื่อยืนยันความคิดร่วมกัน ดังนั้นแหล่งข้อมูลคือบทสนทนากับคนจนตลอดหลายปี บางครั้งบทสนทนาเกิดขึ้นในบทบทของงานศึกษาวิจัยมาอย่างรัดกุม อย่าง “สมุดบันทึกการเงิน”

ในเล่มนี้ผู้เขียนอธิบายรูปแบบการให้บริการของตัวกลางฐานรากที่น่าทึ่งและหลากหลาย ตั้งแต่กลไกที่คนจนออกแบบขึ้นมาช่วยเหลือกันเอง เช่น วงแชร์ ชมรมออม กลุ่มออมทรัพย์ ไปจนถึงกลไกกึ่งในระบบและบริการทางการเงินในระบบที่มีคนนอกชุมชนเข้ามาช่วยจัดตั้งหรือให้บริการ อย่าง โรงรับจำนำ สหกรณ์ออมทรัพย์ และสถาบันการเงินขนาดเล็กหรือไมโครไฟแนนซ์

หากโยงกลับมาที่ประเทศไทยก็จะพบว่า มีบริการทางการเงินนอกระบบที่คล้ายคลึงกันอยู่บ้าง เช่น วงแชร์ , กลุ่มออมทรัพย์,สัจจะออมทรัพย์ ซึ่งต้องใช้ความสม่ำเสมอในการส่งเงิน และอีกด้านหนึ่งคนจนต้องการตัวกลางด้านการเงินส่วนบุคคลที่จะช่วยให้พวกเขาแปลงเงินออมให้เป็นเงินก้อนอย่างเป็นระบบ

ภัทราภรณ์ : เลนส์ในการมอง “คนจนในฐานะลูกค้ามือเติบ” สัมพันธ์กับเครื่องมือทางการเงินอย่างไร

สฤณี : เพราะ “ยิ่งจน ยิ่งต้องการบริการทางการเงินที่ตรงจุดและตรงความต้องการ” ซึ่งเป็นเสน่ห์ของหนังสือเล่มนี้ และเชื่อว่า จะกระตุ้นเตือนให้หันกลับมามองความต้องการของคนจน และตั้งคำถามถึง การออกแบบบริการที่วางพวกเขาเป็นศูนย์กลาง

มันจึงเป็น 174 หน้าที่คุณจะเห็นแก่นสาร เนื้อหา ทุกบรรทัดโดยไม่ต้องสรุปความ

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ขึ้นไว้บนเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี