เรื่องไม่เงียบของ 'พี่ณี' คนขายกาแฟไปไกลถึงการเมืองแห่งความหวัง - Decode
Reading Time: 3 minutes

ชาวบ้าน ชาวช่อง

ศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา

ทุกวันนี้หากหันไปคุยกับคนรอบตัว รวมถึงชาวบ้านในชุมชน หัวข้อสนทนาคงหนีไม่พ้นเรื่องที่คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ไม่สามารถได้คะแนนเสียงจากสมาชิกรัฐสภามากพอที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่

คนจำนวนไม่น้อยย่อมรู้สึกหงุดหงิด หดหู่ เพราะความหวังที่ได้ “กลิ่นไอความเจริญ” หลังจากตกอยู่ในความมืดมิดของยุค คสช.มา ถึง 9 ปี กำลังมลายไป เหมือนจะต้องจมปลักอยู่ที่เดิม ปล่อยให้ประเทศเพื่อนบ้านทยอยแซงหน้าไป และหากย้อนไปตั้งแต่การรัฐประหารปี 2549 ที่สังคมมีความขัดแย้งแบ่งขั้วจนเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การศึกษาไทย ต้องหยุดชะงัก ก็ต้องถือว่า สังคมไทยตกอยู่ในความมืดมิดมานานมาก จนสิ่งผิดปกติกลายเป็นเรื่องปกติ เช่น สว.ที่มาจากการแต่งตั้ง ไม่รู้สึกกระดากอายกับการใช้อำนาจสวนทางกับผลการเลือกตั้ง

บรรยากาศสังคมเช่นนี้ ชวนให้นึกถึงนักมานุษยวิทยาร่วมสมัยคนหนึ่ง คือ เชอร์รี ออตเนอร์ (Sherry Ortner) ที่ตั้งข้อสังเกตไว้เมื่อสิบปีที่แล้วว่า งานมานุษยวิทยาที่ผ่านมามักมุ่งแต่หัวข้อที่เป็นด้านมืดมิด หดหู่ เช่น การกดขี่ การเอารัดเอาเปรียบ ความทุกข์ทน จนนำไปสู่ความรู้สึกถึงความกลัว ความสิ้นหวัง เธอเรียกงานแนวนี้ว่า มานุษยวิทยาสายดาร์ก (dark anthropology) และเชิญชวนให้นักมานุษยวิทยาหันมาสนใจศึกษาเรื่องบวก ๆ เช่น สุขภาวะ คุณค่า จริยธรรม ความห่วงใย ความเห็นอกเห็นใจ เรื่องที่ทำให้เกิดความหวัง การเปลี่ยนแปลง เรียกรวมว่าเรื่องที่น่ายินดี (anthropologies of the good)[i]

ตัวผมเองสนใจศึกษาคนชายขอบอย่างคนไร้บ้าน คนในชุมชนแออัด และก็สนใจการเคลื่อนไหวของชาวบ้านที่ถูกเอาเปรียบ ในเชิงแนวคิดมานุษยวิทยาผมสนใจเรื่อง ความทุกข์ทนทางสังคม (social suffering) และความรุนแรงรูปแบบต่าง ๆ งานเขียนในคอลัมน์ #ชาวบ้านชาวช่อง ก็ถ่ายทอดปัญหาเสียส่วนใหญ่ ฟังดูก็สายดาร์กไม่เบา

แต่ความจริงแล้ว ผมสนใจความสุขของคนทีเดียว ยิ่งเป็นคนรายได้น้อย ๆ ผมยิ่งสนใจว่าเขาหาความสุขจากที่ไหน วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของผมว่าด้วยเรื่อง คนไร้บ้านในเมืองมะนิลา ก็เริ่มต้นจาก ประโยคที่คนไร้บ้านชอบพูดว่า ชีวิตของพวกเขา “ลำบากแต่มีความสุข” คอลัมน์ ชาวบ้านชาวช่องต่อไปนี้สัก 3-4 ตอน ผมจะว่าด้วยเรื่อง แง่มุมอันงดงาม ชีวิตที่มีหวังของคนจน

คนขายกาแฟธรรมดาที่ดังถึงอินโดนีเซีย

สามสี่ปีที่ผ่านมาที่ผมขลุกอยู่กับประเด็นคนจนเมือง โดยเฉพาะชุมชนที่กำลังเดือดร้อนจากโครงการพัฒนาต่าง ๆ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ผมพยายามคุยกับชาวบ้านในชุมชนโดยละเอียด เพราะต้องการเก็บข้อมูลว่า อาชีพของชาวบ้านช่วยเกื้อหนุนชีวิตของคนเมืองอย่างไร ที่ชุมชนหลังโรงพยาบาลเดชา (ทุกวันนี้ไม่มีโรงพยาบาลเดชาแล้ว แต่เป็นโรงพยาบาลพญาไท 1) ย่านประตูน้ำ-ใบหยก ทำให้ผมรู้จักพี่ณี – คนขายกาแฟ หญิงผมสั้นวัยห้าสิบเศษ รูปร่างท้วม แต่ทะมัดทะแมง กับพี่ช้าง สามีหน้าตาดูขรึม ๆ แต่มีมุกตลกให้ได้ยินเสมอ เย็นวันไหน ถ้าผมไปที่ชุมชนหลังโรงพยาบาลเดชา พี่ณีจะคอยมองว่าเมื่อไหร่ผมจะเดินผ่านหน้าบ้าน แล้วก็ยื่นกาแฟดำไม่ใส่น้ำตาลให้ผมเสมอ ตามประสาคนขายกาแฟเป็นอาชีพ

ผมรู้จักพี่ณีมากขึ้น เมื่อผมกับนักศึกษาตั้งใจจะเก็บภาพชีวิตการทำงานของคนในชุมชน พี่ณีกับพี่ช้างตอบรับด้วยความเต็มใจ พร้อมบอกว่า “ต้องมาตั้งแต่ตีสามนะ พี่ตื่นตั้งแต่ตีสาม” ผมฟังแล้วยังไม่เชื่อว่า ทำไมจะต้องตื่นตั้งแต่ตีสาม ใครกันจะมาซื้อกาแฟกินกลางดึก ถึงวันนัดหมายผมกับลูกศิษย์ในทีมมาถึงตามเวลาที่นัดหมายถึงเข้าใจว่า น้ำร้อนหม้อใหญ่ใส่รถเข็นนั้น จะต้องใช้เวลาต้มนานกว่าจะเดือด พร้อมกับเตรียมอุปกรณ์ขายอย่างอื่น จนได้เวลาสักตีสี่ พี่ช้างก็เข็นรถขายกาแฟ ลัดเลาะจากริมทางรถไฟ เลี้ยวซ้ายสองครั้งแล้วเลี้ยวขวาอีกครั้งก็ถึงที่จอดรถเข็นประจำ ที่หัวมุมหน้าร้านขายกิฟต์ชอป ก่อนทางแยกเข้าโรงแรมใบหยก

ทั้ง ๆ ที่ฟ้ายังมืด ย่านตึกใบหยกคึกคักด้วยผู้คนแล้ว คนกลุ่มแรกที่เป็นลูกค้าพี่ณี ก็คือ บรรดาคนงานที่มากางเต็นท์สำหรับพ่อค้าแม่ค้าตลาดนัด พวกเขาได้กาแฟพี่ณี-พี่ช้าง ช่วยปลุกความกระปรี้กระเปร่าขณะที่ฟ้ายังมืดมิด ลูกค้ากลุ่มต่อมาจึงเป็น บรรดาพ่อค้าแม่ค้า ที่มาขายเสื้อผ้า แล้วจึงเป็นกลุ่มลูกค้าที่มาจับจ่ายเลือกเสื้อผ้า ช่วงเวลาตั้งแต่ 6 โมงถึง 9 โมงเช้า นับเป็นช่วงเวลาที่คราคร่ำไปด้วยผู้คน

ก่อนหน้านี้ผมไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า ถนนรอบ ๆ ตึกใบหยกนั้น ช่วงเช้าเป็นตลาดนัด ที่คนขายเสื้อผ้า บางคนเป็นผู้ผลิตเองนำเสื้อผ้ามาแขวนขาย ลูกค้าที่มาซื้อไม่ใช่ผู้บริโภครายย่อยที่ซื้อมาใส่เอง ส่วนใหญ่มาซื้อจำนวนมากเพื่อไปขายต่อ เสื้อผ้าที่แขวน ๆ ให้ดูนั้นเพื่อโชว์แบบเท่านั้น เวลาซื้อจะซื้อกันเป็นถุงใหญ่ มากกว่านั้น ลูกค้าที่มาซื้อก็ไม่ได้มีแต่คนไทยเท่านั้น พ่อค้าคนกลางจากต่างประเทศ มากหน้าหลายตา มาดูแบบและสั่งซื้อจำนวนมากกลับไปขายต่อในประเทศตัวเอง ทั้งจากตะวันออกกลาง แอฟริกา อินเดีย และอินโดนีเซีย

วันหนึ่ง ผมเจอพี่ณีตอนเย็น พี่ณียื่นโทรศัพท์ให้ดูรูปในโทรศัพท์ เป็นภาพผู้หญิงสาวหน้าตาเอเชียค่อนไปทางจีนถ่ายรูปกับแก พร้อมบอกว่า ทุกวันนี้ ขายดีมาก ไม่ใช่แค่กับคนไทย แต่กับคนต่างชาติโดยเฉพาะจากอินโดนีเซีย มาจากไหนก็ไม่รู้ “เขาไม่ได้แค่ซื้อกาแฟนะ แต่มาขอถ่ายรูปด้วย บางคนเรียกเราว่าแม่ มากอดเราทั้ง ๆ ที่ตัวเรามีแต่เหงื่อ”

แน่นอนฟังเช่นนี้แล้วก็อดสงสัยไม่ได้ ทำไม จึงมีคนจากอินโดนีเซียมาขอถ่ายรูปกับแม่ค้ารถเข็นอย่างพี่ณี คำตอบก็เพราะครั้งหนึ่งมีชาวอินโดนีเซียที่มาเลือกซื้อเสื้อผ้ากลับไปขายที่ประเทศตัวเอง แต่ถูกล้วงกระเป๋า เงินหมดตัว พี่ณีเห็นดังนั้น ไม่ได้แค่ให้กินกาแฟ แต่ให้เงินสาวผู้เคราะห์ร้าย 500 บาท ติดตัว “ตอนนั้นเราไม่ได้คิดอะไรหรอก เขาเป็นลูกค้ากินกาแฟเราอยู่แล้ว เคยเห็นหน้า เห็นเขาเดินมา หน้าสะอื้น ถูกล้วงกระเป๋า เลยล้วงเงินจากในเอี้ยมขายของให้เขาไปห้าร้อย…อีกสองอาทิตย์เขากลับมา เอาเงินมาคืน ขอบคุณเราใหญ่ แต่เราไม่คิดอะไรเลย ตอนให้เขา อยากจะช่วยเขาเฉย ๆ”

มากกว่านั้น หญิงชาวอินโดนีเซียผู้นี้ไปโพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์ในประเทศอินโดนีเซีย ว่า เจอเหตุร้ายถูกล้วงกระเป๋า แต่มีคนขายกาแฟมีน้ำใจให้เงินช่วยเหลือ เชิญชวนให้ใครที่มาประตูน้ำให้มาอุดหนุนกาแฟร้านนี้ ทำให้พี่ณี เป็นที่รู้จักในหมู่ชาวอินโดนีเซีย ไม่ต่างกับคนไทย ที่แนะนำกันว่า จะไปสิงคโปร์ต้องไปกินข้าวมันไก่ร้านไหน จะไปปีนังต้องไปต่อคิวกินขนมหวานร้านข้างถนนตรงไหน

กว่าจะมีวันนี้… กว่าจะมีที่จอดรถเข็นเล็ก ๆ ในเมือง

ชีวิตวันนี้ของพี่ณีแม้จะไม่ได้มั่งคั่งเป็นมหาเศรษฐี แต่ถือว่า เป็นชีวิตที่มีความสุขลงตัว รายได้ประจำวัน จากการขายกาแฟและน้ำดื่มตั้งแต่ตีสี่ถึงสิบเอ็ดโมงเช้า ในราคาที่ถูกกว่ากาแฟมีแบรนด์แฟรนไชส์ครึ่งต่อครึ่ง มีลูกค้าเป็นคนเดินดินธรรมดา วันหนึ่งมีเงินเหลือเข้าบ้านมากกว่าหนึ่งพันบาท นับว่าอยู่ในเกณฑ์ที่เหนือกว่ารายได้เฉลี่ยของคนในชุมชนแออัด

บ้านที่อยู่แม้จะเป็นบ้านไม้ชั้นเดียวอยู่ริมทางรถไฟ แต่ก็ “เหมาะสม” กับวิถีชีวิตของพี่ณี คือ อยู่ใกล้กับที่ขายของในระยะที่สามารถเข็นรถออกมาได้ และก็เป็นบ้านแนวราบ ไม่ได้เป็นห้องในอะพาร์ตเมนต์แคบ ๆ จึงมีหน้าบ้านจอดรถเข็น สามารถตั้งเตาต้มน้ำได้สะดวก พร้อมวางอุปกรณ์ขายของ ลังน้ำแข็งขนาดใหญ่ และวัตถุดิบต่าง ๆ พี่ณีมาอยู่ที่นี่ได้ก็เพราะลุงอ้วนคนขายก๋วยเตี๋ยวอยู่ใกล้ ๆ แนะนำให้มาเช่าอยู่ ก่อนที่เจ้าของเดิมย้ายออกจึงได้ขอซื้ออาศัยต่อ

ชีวิตบากบั่นของพี่ณีและพี่ช้าง ทำให้มองเห็นความหวังอนาคตที่ดีกว่าเดิม เพราะสามารถส่งลูกเรียนจบมหาวิทยาลัยได้สองคนแล้ว ลูกชายคนโตจบนิติศาสตร์ เพิ่งสอบอบรมว่าความผ่านเป็นทนาย ส่วนลูกสาวคนรองก็เรียนจบครุศาสตร์ ทำงานเป็นครูสอนโรงเรียนเอกชนคงเหลือลูกคนเล็กที่ยังเรียนชั้น ม.ปลาย ไม่เพียงเท่านี้ พี่ณียังช่วยดูแลครอบครัวน้องสาวที่มีลูกชายป่วยเป็นโรคประจำตัว เข้าออกโรงพยาบาลตั้งแต่เด็ก แต่ละเดือนมีเงินเก็บสำหรับบั้นปลายในชีวิต

แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ไม่ได้ง่าย สำหรับผู้หญิงที่เติบโตในครอบครัวชาวอีสานที่มีฐานะยากจน พี่ณีเป็นลูกคนที่ 5 ในบรรดาพี่น้องที่มีด้วยกัน 8 คน เรียนจบแค่ชั้นประถม 6 ราวอายุ 13 ปี ก็เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ เริ่มต้นด้วยการช่วยพี่สาวที่เข้ามาอยู่ก่อนขายส้มตำ ย่านประตูน้ำ ก่อนที่พี่สาวจะแนะนำให้ไปทำงานเป็นลูกมือร้านอาหารที่บางลำภูได้ค่าจ้างวันละ 100 บาท หรือเดือนละ 3,0000 บาท “ในสมัยนั้น 3,000 ถือว่าเยอะนะ แล้วกินอยู่กับเขาเลย” ทำงานได้ปีหรือสองปี ก็กลับมาช่วยพี่สาวอีกคน ขายลอดช่อง ขายน้ำ เพราะจะได้ช่วยดูลูกพี่สาวที่ยังแบเบาะไปด้วย และก็เริ่มเรียนรู้ชีวิตแม่ค้าที่นี่

ช่วงที่พี่ณีช่วยพี่สาวขายน้ำ ปกติพี่สาวขายถึงหนึ่งทุ่มแล้วเก็บร้าน ความขยันของพี่ณี ก็คือ ขอพี่สาวขายน้ำ ที่เดียวกันหลังจากพี่สาวขายน้ำ เพราะการหาที่ขายของไม่ง่าย ประกอบกับร้านข้าง ๆ ที่ขายน้ำพริกแต่ที่พักอยู่ไกลไม่ได้ขายข้าวสวยด้วย พี่ณีก็หุงข้าวสวยใส่ถุง ๆ ละ 3 บาท ขาย พอเป็นรายได้เดือนละหมื่นกว่าบาทส่งให้พ่อแม่ที่บ้าน

แม้มีครอบครัวแล้ว พี่ณี ก็ยังช่วยพี่สาวเลี้ยงหลานจนเด็กโตพอจะเข้าโรงเรียนแล้ว พี่ณีจึงเริ่มหาที่ทางจะขายน้ำมีรายได้ของตัวเองนอกจากช่วยพี่สาวขาย แต่ปัญหาของคนขายของก็คือ ทำเลที่จะจอดรถเข็นขายของหายาก เพราะทุกตารางนิ้วล้วนมีคนจับจอง ครั้นไปจอดที่ทางเท้าก็ต้องมีปัญหากับเทศกิจ ถูกไล่ ถูกจับ ถูกยึดอุปกรณ์ทำมาหากินก็ไม่มีเงินไปเสียค่าปรับและไถ่ของ คนรู้จักเห็นใจจึงไปช่วยไถ่ของมาให้มีอุปกรณ์ทำมาหากิน

หลังจากนั้น ก็พยายามเข็นรถหาที่ขายในพื้นที่ย่านประตูน้ำ ที่แม้จะดูเป็นถนน แต่เป็นพื้นที่ของเอกชน ต้องถูก รปภ.ไล่ ไม่เว้นแต่ละวัน

พี่มัส น้องสาวของพี่ณี เล่าให้ผมฟังว่า “ตอนหนูไปช่วยพี่สาวขายวันแรก หนูได้ยิน รปภ. ไล่เราเหมือนหมูเหมือนหมา ใช้คำหยาบ ๆ เลยนะ มาชี้หน้า หนูงงจริง ๆ แค่ขายของต้องด่ากันขนาดนี้เลยเหรอ แล้วบอกกับพี่สาวว่า ทนได้ยังไงวะ ให้เขาด่าอย่างนี้”

ส่วนพี่ณีตอบว่า “พี่ก็บอกน้องว่า ถ้าไม่ทนแล้วเราจะมีกินเหรอ”

หลังจากพยายามยื้อและตื้อ จนกระทั่ง เจ้าของโครงการหนึ่งในย่านประตูน้ำ ไหว้วานพี่ณี ให้ช่วยเอาน้ำไปบริการแจกแก่กลุ่มผู้ชุมนุมช่วงปี 2557 ซึ่งพี่ณีก็ทำอย่างขันแข็ง กระทั่งเจ้าของโครงการจึงอนุญาตให้พี่ณีขายน้ำในพื้นที่ของโครงการได้ ตั้งแต่นั้นมาจึงได้ที่ขายของพอตั้งตัวได้ จากนั้น เพื่อความมั่นคงก็เริ่มหาที่จอดรถเข็นอย่างเป็นระบบ คือเสียค่าเช่าที่จอดรถเข็น เดิมช่วงโควิด-19 เสียเดือนละ 10,000 บาท แต่ช่วงโควิดลูกค้าน้อยลงมาก เจ้าของโครงการจึงลดให้เหลือเดือนละ 4,000 บาท หลังโควิดปรับขึ้นมาอีกเล็กน้อย แต่ก็สู้ไหว

แม้ทุกวันนี้จะยังอาศัยอยู่ในชุมชนแออัด แต่พี่ณีก็พูดด้วยความภูมิใจถึงอาชีพการงานของตัวเองว่า “ถ้าเราไม่ขายตรงนี้ เราก็ไม่มีปัญญาส่งลูกเรียนเป็นทนาย เราไม่มีโอกาสได้เรียนสูง ก็อยากให้ลูกเราได้เรียนสูง ๆ”  มากกว่านั้น ชุมชนที่พี่อยู่ บางครั้งก็มีนักท่องเที่ยวเดินผ่าน บางคนโดยเฉพาะองค์กรทางศาสนามีของมาแจกให้ชุมชนแล้วถ่ายรูป พี่ณี บอกพวกเขาด้วยความรักในศักดิ์ศรี

“เราบอกเขาว่า จะถ่ายรูปก็ถ่ายนะ บ้านเขาคงไม่มีชุมชนริมทางรถไฟแต่อย่าเอาไปเขียนว่า คนสลัม จนไม่มีอะไรจะกิน เราไม่ได้ลำบากขนาดนั้น อย่าทำให้มันแย่เกินจริง”


คนสลัมก็มีศักดิ์ศรี การเมืองดีสร้างได้ รอได้ มาถึงได้.


[i] Ortner, S. B. (2016). Dark anthropology and its others: Theory since the eighties. HAU: Journal of Ethnographic Theory6(1), 47-73.