ในความเคลื่อนไหว
รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ
ในช่วงนี้มีการเผยแพร่กระแสความเชื่อที่ว่าประเทศสหรัฐฯ เข้ามาแทรกแซงการเมืองไทยในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการแทรกแซงการเลือกตั้งเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนรัฐบาล ความพยายามเข้ามาตั้งฐานทัพ การเข้ามาแทรกแซงนโยบายทางการเมืองภายในเกี่ยวกับกฎหมายและสิทธิมนุษยชน ฯลฯ หากใครที่ติดตามความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐฯ มาอย่างต่อเนื่อง ย่อมเข้าใจว่าความเชื่อที่ว่านี้มิได้วางอยู่บนฐานข้อเท็จจริง และไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นจริง เรื่องเล่าหลายประการเข้าข่ายจินตนาการที่ถูกปรุงแต่งขึ้นเอง บางเรื่องเข้าข่ายการบิดเบือนข้อมูล จับแพะชนแกะ กระทั่งจงใจสร้างข่าวลวง
คำถามที่สังคมควรจะถามคือ เหตุใดจึงมีความพยายามผลิต เผยแพร่ และโหมกระพือทฤษฎีสมคบคิด (conspiracy theory) ดังกล่าวในระยะเวลานี้ที่การเมืองไทยกำลังอยู่ในช่วงเวลาของการตั้งรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง และการปลุกกระแส “อเมริกาแทรกแซงไทย” เอื้ออำนวยให้กลุ่มการเมืองใดได้ประโยชน์ และจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับสหรัฐและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค
บทความนี้จะพาย้อนกลับไปในอดีตในยุคสมัยสงครามเย็นเพื่อนำบทเรียนในช่วงเวลาดังกล่าวกลับมาส่องสะท้อนเป็นบทเรียนให้กับสังคมไทยในปัจจุบัน
ยุคสมัยอเมริกันในไทย
เหตุผลหนึ่งที่คนไทยจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะคนในเจเนอเรชั่นเบบี้บูมเมอร์มีแนวโน้มจะเชื่อในทฤษฎีเรื่องอเมริกากำลังเข้ามาแทรกแซงไทยในปัจจุบัน ก็เพราะประสบการณ์ในอดีตของไทยเอง บวกกับบทบาทของมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ในการเมืองโลกตั้งแต่ช่วงสงครามเย็นเป็นต้นมาที่สหรัฐฯ วางบทบาทตัวเองเป็นผู้นำของฝ่ายที่เรียกว่า “โลกเสรี” เข้าไปมีอิทธิพลในประเทศต่าง ๆ มากมาย
ในยุคสงครามทางอุดมการณ์ระหว่างค่ายคอมมิวนิสต์ที่มีประเทศสหภาพโซเวียตเป็นผู้นำ และค่ายทุนนิยมเสรีที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ ซึ่งได้ส่งผลกระทบพัดพาให้นานาประเทศถูกดึงเข้าไปสู่สงครามดังกล่าวในระดับที่มากน้อยแตกต่างกันไป ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยของเราได้เข้าไปพัวพันกับสงครามเย็นของมหาอำนาจทางการเมืองสองค่ายอย่างลึกซึ้งผ่านสงครามอินโดจีน ซึ่งได้ทวีความตึงเครียดสูงสุดในช่วงทศวรรษ 2500-2510 โดยรัฐบาลไทยในยุคนั้นดำเนินนโยบายต่างประเทศในฐานะพันธมิตรที่สำคัญที่สุดของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาค
ความสัมพันธ์ทางการเมืองที่แนบแน่นระหว่างไทยกับสหรัฐฯ นั้น เริ่มขึ้นอย่างจริงจังพร้อมกับการขึ้นมามีอำนาจของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2500 สฤษดิ์หันเหนโยบายต่างประเทศของไทยจากที่ค่อนข้างวางตัวเป็นอิสระและมีระยะห่างกับสหรัฐฯ นำพาไทยเข้าสู่อ้อมกอดของอเมริกาอย่างสนิทแนบแน่น ตัวจอมพลสฤษดิ์เองเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบให้กองทัพไทยเปลี่ยนแปลงไปเป็นแบบอเมริกัน (ทั้งในแง่รูปการจัดตั้ง หลักความเชื่อมูลฐาน การฝึกอบรม อาวุธยุทโธปกรณ์และอื่น ๆ ) หลังจากไปเยือนวอชิงตันเมื่อปี 2493 ความผูกพันใกล้ชิดกับอเมริกามาเกือบทศวรรษก่อนยึดอำนาจดังกล่าว ทำให้การเชื่อมโยงประเทศไทยเข้ากับสหรัฐฯ พัฒนาไปอย่างรวดเร็วในยุคของจอมพลสฤษดิ์ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองก็ได้พัฒนาไปอย่างลึกซึ้งในระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน กระทั่งนักวิชาการบางคนเรียกรัฐไทยในยุคนั้นว่าเป็น “รัฐบริวาร” ของสหรัฐฯ และเรียกยุคสมัยดังกล่าวว่าเป็น “ยุคอเมริกันในไทย”
ในยุคจอมพลสฤษดิ์ต่อเนื่องมาถึงยุคจอมพลถนอม กิตติขจร ประเทศไทยสูญเสียอำนาจอิสระในการกำหนดนโยบายต่างประเทศของตนเอง กระทั่งสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดน เพราะรัฐบาลอนุญาติให้สหรัฐฯ เข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศถึง 7-8 แห่งโดยปกปิดไม่ให้สื่อมวลชนและประชาชนรับรู้เป็นเวลาหลายปี ฐานทัพเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือและอีสาน ได้แก่ ฐานทัพที่ตาคลี(นครสวรรค์) ฐานทัพโคราช ฐานทัพนครพนม ฐานทัพอุดรธานี ฐานทัพอุบลราชธานี ฐานทัพน้ำพอง(ขอนแก่น) และฐานทัพอู่ตะเภา ซึ่งถูกใช้เป็นฐานรองรับเครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดใหญ่ B-52 (สร้างเสร็จในปี 2509) นอกจากนั้นรัฐบาลทหารไทยยังอนุญาตให้สหรัฐฯ ใช้ฐานทัพไทยสำหรับปฏิบัติการสอดแนม ลาดตระเวนทางอากาศ รวมทั้งการค้นหาและกู้ภัยเหนือดินแดนของลาวและเวียดนาม งานศึกษาค้นคว้าพบว่าประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของการโจมตีทิ้งระเบิดของสหรัฐฯ ในช่วงสงครามเวียดนามมาจากเครื่องบินรบสหรัฐฯ ที่บินออกจากฐานทัพในไทย นอกจากนั้น รัฐบาลทหารของจอมพลถนอมยังอนุญาตให้ทหารสหรัฐฯ เข้ามาประจำการในไทยมากกว่า 4 หมื่นนายเพื่อปฏิบัติการทางทหาร (นำไปสู่การเฟื่องฟูของสถานบันเทิง ถนนรัชดา พัทยา ฯลฯ ซึ่งถ้ามีเวลาจะหาโอกาสเล่าเป็นบทความแยกต่างหากอีกชิ้นหนึ่ง)
ความสัมพันธ์ดังกล่าวที่สหรัฐฯ เป็น “พี่ใหญ่” และไทยรับบทเป็น “ลูกน้อง” ถูกมองว่าเป็นความสัมพันธ์แบบ “วิน-วิน” จากชนชั้นนำทั้งไทยและสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯ ได้ไทยเป็นศูนย์บัญชาการต่อต้านคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคที่ไว้ใจได้ ส่วนชั้นนำไทยได้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ การทหาร และการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ช่วยค้ำจุนระบอบเผด็จการทหารให้มั่นคง
ยุคสมัยดังกล่าว คือ ยุคสมัยของประวัติศาสตร์บาดแผลที่ไทยถูกดึงเข้าไปทำสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งที่ไม่ได้มีความบาดหมางกันแต่อย่างใด
ฉะนั้นถ้าถามว่ายุคสมัยใดในประวัติศาสตร์ที่สหรัฐฯ เข้ามาแทรกแซงไทยอย่างเข้มข้นที่สุด ก็คือยุคเผด็จการทหารสมัยสฤษดิ์-ถนอม (พ.ศ. 2500-2516) ที่เกิดขึ้นได้เพราะระบอบการปกครองขาดความเป็นประชาธิปไตย มีการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารไม่ให้ประชาชนรับรู้ สื่อถูกเซนเซอร์จนไม่สามารถรายงานความจริง และไม่มีพรรคการเมืองและรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในการตรวจสอบการกำหนดนโยบายของรัฐบาล
ยุคแห่งความโรยรา
หลังสิ้นสุดสงครามเวียดนาม ประเทศไทยก็ค่อย ๆ หมดความสำคัญทางยุทธศาสตร์สำหรับสหรัฐฯ กองกำลังทหารอเมริกันถอนตัวออกจากไทยรวมถึงยุติการใช้ฐานทัพในประเทศไทยสำหรับปฏิบัติการทางการทหาร คงเหลือความสัมพันธ์ทางการค้า และความร่วมมือทางเศรษฐกิจเป็นด้านหลัก แน่นอนว่าการซ้อมรบและความสัมพันธ์ระหว่างทหารต่อทหารนั้นดำเนินสืบเนื่องมาในฐานะพันธมิตรที่เก่าแก่ และผู้นำทหารไทยจำนวนมากก็ยังคงได้รับการฝึกฝนและการศึกษาจากสถาบันวิชาการทางทหารจากสหรัฐฯ ในยุคร่วมสมัยนี้อิทธิพลของสหรัฐฯ ที่มีต่อประเทศไทย ลดน้อยถอยลงตามลำดับ ในบางยุคสมัยถึงกับเข้าขั้นห่างเหิน งานวิจัยที่ฉายภาพความเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างละเอียดลึกซึ้งที่สุดคือ หนังสือเรื่อง Thailand: Shifting Ground Between the US and a Rising China โดย Benjamin Zawacki ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาค เขาชี้ให้เห็นว่าด้วยเหตุปัจจัยหลายประการประกอบกัน ทั้งการเมืองภายในของไทย การเมืองภายในของสหรัฐฯ และสภาพแวดล้อมทางการเมืองระหว่างประเทศในช่วงตั้งแต่ทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา ทำให้สหรัฐฯ วางนโยบายที่ไม่ชัดเจน และขาดความคงเส้นคงวาต่อประเทศไทย เนื่องจากอเมริกามีเป้าหมายสองประการในการกำหนดนโยบายต่อไทยและภูมิภาคเอเชียที่บ่อยครั้งสองนโยบายนี้ก็ขัดแย้งกัน หนึ่งคือ การส่งเสริมประชาธิปไตย และสองคือ การรักษาเสถียรภาพและสถานะของสหรัฐฯ ในภูมิภาค
ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับไทยซับซ้อนยิ่งขึ้นเมื่อทหารไทยทำรัฐประหารซ้ำถึง 2 ครั้งในปี 2549 และ 2557 บวกกับการที่จีนผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจใหม่ที่พยายามเข้ามามีอิทธิพลในไทยและอาเซียนแทนที่สหรัฐฯ สถานการณ์ใหม่นี้ทำให้ผู้กำหนดนโยบายต่างประเทศของอเมริกาต้องพยายามหาสมดุลในการกำหนดนโยบาย เพราะตระหนักดีว่าหากกดดันไทยมากจนเกินไปก็จะทำให้ไทยหันไปหาจีนมากขึ้น ดังที่ปรากฏชัดเจนว่าตั้งแต่การรัฐประหาร 2557 ของ คสช.เป็นต้นมา ชนชั้นนำไทยได้กระชับความสัมพันธ์ทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง และการทหารกับจีนอย่างเหนียวแน่นมากขึ้น ทั้งในการซ้อมรบ การซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ฯลฯ
เราจึงได้เห็นปรากฏการณ์ที่รัฐบาลสหรัฐฯ มิได้วิจารณ์การยึดอำนาจแบบผิดกฎหมายของกองทัพไทยอย่างจริงจัง มีเพียงการแสดงความผิดหวัง และตัดความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจบางส่วนหลังการรัฐประหารของคสช. แต่สุดท้ายสหรัฐฯ ก็หันมารื้อฟื้นความสัมพันธ์กับรัฐบาลรัฐประหารของไทยอย่างรวดเร็ว พล.อ ประยุทธ์ได้รับการเชิญให้ไปเยือนทำเนียบขาวในปี 2560 พบกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และหลังจากนั้นผู้นำระดับสูงของทั้งสองฝ่ายก็มีการเดินทางและพบปะกันอีกหลายครั้งจนมาถึงยุคประธานาธิบดีโจ ไบเดน ท่าทีของสหรัฐฯ ที่เปิดแขนต้อนรับผู้นำที่มาจากการรัฐประหารของไทย ถูกวิจารณ์จากนักสิทธิมนุษยชนและกลุ่มที่เรียกร้องประชาธิปไตยว่าเห็นแก่ผลประโยชน์ด้านการค้ามากกว่าที่จะยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย
กลุ่มที่ยังส่งเสียงเรียกร้องกดดันไทยอยู่บ้างในประเด็นสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย คือ ส.ส. และ ส.ว. บางคน (ทั้งพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกัน) ที่นำเสนอญัตติในสภาให้มีการถกเถียงอภิปรายเรื่องนี้ ซึ่งนักการเมืองสหรัฐฯ ก็เสนอญัตติมากมายเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศอื่น ๆ เป็นประจำเมื่อมีการประชุมสภา ซึ่งเราต้องไม่สับสนระหว่างการเสนอญัตติอภิปรายในสภากับนโยบายที่เป็นจริงของรัฐบาล
ความเป็นจริงจึงตรงข้ามกับทฤษฎีสมคบคิดที่กล่าวว่าอเมริกาพยายามเข้ามาแทรกแซงการเมืองไทยเพื่อสนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตยเพื่อผลักดันการเปลี่ยนระบอบการปกครองของไทย ในความเป็นจริงรัฐบาลวอชิงตันมีความสัมพันธ์ที่ดีและใกล้ชิดกับชนชั้นนำของไทยในทุกวงการ ซึ่งสืบสานกันมาอย่างยาวนาน และเป้าหมายสำคัญที่สุดของอเมริกาที่มีต่อไทยตั้งแต่ยุคสงครามเย็น ไม่ใช่การส่งเสริมประชาธิปไตย แต่คือ เสถียรภาพและระเบียบอำนาจที่มั่นคง เพราะสภาวะดังกล่าวจะตอบสนองต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ได้ดีที่สุด โดยเฉพาะในยุคที่ต้องแข่งขันช่วงชิงการนำกับยักษ์ใหญ่อย่างจีน
ความวุ่นวาย ความไร้เสถียรภาพทางการเมือง หรือสงคราม คือ ความไร้ระเบียบที่ไม่มีประโยชน์ต่อทั้งฝ่ายชนชั้นนำไทยและผู้นำวอชิงตัน ซึ่งการสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงในไทยกระทำผ่านช่องทางของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการทูตเป็นหลัก เป็นเรื่องปรกติที่ทั้งรัฐบาลจีนและสหรัฐฯ ต่างพยายามดึงไทยเข้าไปเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิด ผู้นำของไทยมีหน้าที่ต้องรักษาสมดุลในการวางนโยบายต่างประเทศที่ทั้งเคารพหลักสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และผลประโยชน์รวมของประเทศชาติ โดยไม่ตกเป็น “รัฐบริวาร” ของมหาอำนาจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
สำคัญที่สุดคือ สื่อมวลชนและบุคคลสาธารณะพึงระวังการสร้างและเผยแพร่ “ข่าวลวง” และทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ปราศจากข้อเท็จจริงรองรับ เพราะเป็นการกระทำที่ทั้งอันตรายและขาดความรับผิดชอบต่อประเทศชาติ
อ้างอิง
ประจักษ์ ก้องกีรติ, และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ: การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษา (ฟ้าเดียวกัน,
2556).
Benjamin Zawacki, Thailand: Shifting Ground Between the US and a Rising China (Bloomsbury, 2021).
Daniel Fineman, A Special Relationship: The United States and Military Government in Thailand,1947-1958 (University of Hawaii Press, 1997).
Mike Rattanasengchanh, “The United States’ Complicated Relationship with Thailand and
Democracy,” Thaidatapoints, April 11, 2019.
Sebastian Strangio, “Thai PM Meets US Defense Secretary in a Bid to Advance Security Ties,” The Diplomat, June 14, 2022.