คนทำงาน
ฉัตรชัย พุ่มพวง
คำว่า “ประชาธิปไตย” ถ้ามีโอกาสได้เรียนวิชาสังคม ครูจะสอนประมาณว่า เป็นระบบการเมืองที่คนบริหารประเทศมาจากการเลือกตั้งของประชาชนทุกคน ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้การบริหารผลประโยชน์และทรัพยากรทุกมิติจะสะท้อนความต้องการของประชาชนที่เลือกเขาเข้ามาและในจุดนึงคนในสังคมโดยรวมก็จะมีคุณภาพชีวิตที่กินดีอยู่ดีขึ้นตามลำดับ… เลือกเข้ามาแล้วบริหารห่วยแตกประชาชนสามารถเลือกใหม่ได้ทุก 4 ปี หรือถ้าห่วยจัด ๆ จนไม่อาจทนได้ก็สามารถรวมตัวกันออกมาประท้วงเพื่อขับไล่ให้ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ได้ หรือจะรณรงค์ประท้วงกดดันให้รัฐบาลนั้นแก้ปัญหาตามที่ต้องการระหว่างช่วง 4 ปีนั้นก็ได้ ระบบนี้เป็นระบบที่มีเรื่องหลักประกันสำหรับทุกคนในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคเท่าเทียม… ซึ่งก็ฟังดูเป็นระบบที่ดีต่อคนส่วนใหญ่
จำได้แม่นเลยว่าในหนังสือวิชาสังคมที่ครูมัธยมต้นสอนจะมีวลีที่โด่งดังของอับราฮัม ลินคอร์นที่กล่าวไว้ว่า
“รัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน”
ซึ่งเป็นส่วนนึงของสุนทรพจน์ในช่วงสงครามกลางเมืองอเมริกาที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งเรื่องการยกเลิกระบบทาส ครูบอกว่าประโยคสั้น ๆ นี้อธิบายระบอบประชาธิปไตยได้เข้าใจง่ายดี ให้จำไว้นะ…
ตัดภาพมานอกห้องเรียน ประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัยระยะใกล้เริ่มต้นตั้งแต่ยุคไทยรักไทย มีเสื้อเหลือง กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแต่เรียกร้องการรัฐประหาร 19 กันยา 49 ชูอุดมการณ์กษัตริย์นิยมปราบนักการเมืองโกงอย่างเข้มข้น ไล่มากระทั่งเกิดเป็นคนเสื้อแดง มาถึง สลิ่ม กปปส.ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง การรัฐประหาร 22 พฤษภา 57 จนมาถึงขบวนการประชาธิปไตยในปัจจุบันที่มีสัญลักษณ์เป็นเสื้อดำและการชู 3 นิ้วมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อคือ
1.เผด็จการประยุทธ์ออกไป
2.เขียนรัฐธรรมนูญใหม่โดยประชาชน
3.ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
โดยจุดเริ่มปะทุน่าจะเป็นราว ๆ ช่วงที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ ทำให้การเคลื่อนไหวรอบใหม่ของนักเรียน นักศึกษา ประชาชน แรงงาน คนทำงาน ฝ่ายประชาธิปไตยก่อตัวขึ้นอย่างชัดเจน นอกจาก 3 ข้อเรียกร้องนั้นยังมีคำใหม่ที่กลายเป็นคำกระแสหลักในหมู่คนหัวก้าวหน้าและฝ่ายประชาธิปไตยคือคำว่า “รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า”
จะเห็นว่า ประเทศเรามีประชาธิปไตยแบบลุ่ม ๆ ดอน ๆ หรือมีประชาธิปไตยน้อยมาก เรามาเริ่มต้นด้วยการร่ายยาวถึงความเหลื่อมล้ำ ความทุกข์ยากของคนส่วนใหญ่ในสังคมนี้กันก่อน
คนเขียนคาดเดาว่าถ้าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยจะเข้าใจดีว่าข้อเรียกร้องทั้ง 3 รวมถึงเรื่องรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการแก้ปัญหาของประเทศนี้ ซึ่งต้องพูดให้ชัดคือ
“โจทย์เรื่องการกินดีอยู่ดีมีคุณภาพชีวิตที่อุดมสมบูรณ์ของประชาชนคน 99% คนส่วนใหญ่ของสังคม”
เพราะตอนนี้สังคมไทยกลายเป็นสังคมที่เหลื่อมล้ำติดอันดับท็อปของโลก คนส่วนใหญ่แทบไม่มีอะไรเลย มีก็แต่หนี้สินที่เกิดจากการบริโภควันต่อวันหรือเดือนชนเดือน ในขณะที่คน 1% อย่างพวก เจ้าสัว นายทุน นายพล และเจ้านายศักดินา รวยแบบสับโดยเฉพาะบางคนบางตระกูลที่รวยถึงขั้นติดอันดับท็อปของโลก
จากรายงานสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระบุว่าจากจำนวนลูกจ้างที่มีสังกัดประจำทั้งเอกชนและภาครัฐจำนวน 18 ล้านคนนั้น พบว่า
คนที่มีค่าจ้างต่อเดือนต่ำกว่า 10,000 บาทมีมากที่สุดคือ 42.2%
เท่ากับว่าคน 7.65 ล้านคน มีรายได้ต่อเดือนไม่ถึง 10,000 บาท
คนที่มีค่าจ้างต่อเดือน 10,000-14,999 บาท คือ 20.9%
เท่ากับว่าคน 3.76 ล้านคน มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือนแต่ก็ไม่ถึง 15,000 บาท
จากข้อมูลส่วนนี้สรุปได้ว่าคนทำงานจำนวน 11.41 ล้านคน มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท
และยังมีแรงงานนอกระบบอีก 19.6 ล้านคน ที่กระจายอยู่ในภาคส่วนต่าง ๆ โดยแบ่งเป็น
ภาคการเกษตร ป่าไม้ และการประมง 58%
การขายส่ง ขายปลีกและการซ่อมยานยนต์ 17%
ธุรกิจพักแรมและบริการด้านอาหาร 8%
ภาคการก่อสร้าง 4%
คน 19.6 ล้านคนเหล่านี้ค่าแรงน้อยมากอาจจะเรียกได้ว่าไม่สามารถอยู่อย่างเป็นผู้เป็นคน สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่มีชีวิตร่วมสมัยในปี 2023 ได้ อยู่อย่างขัดสนและยากจน ยกตัวอย่างเช่น
ในภาคเกษตรกรรมมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ราว 5,400 บาทต่อเดือน
ในภาคการผลิตมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 7,600 บาทต่อเดือน
ในภาคบริการและการค้ามีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 7,400 บาทต่อเดือน
สรุปในส่วนนี้ก็คือ คน 19.6 ล้านคนนี้ค่าแรงหรือรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่ถึง 10,000 บาท เพื่อภาพจินตนาการที่ชัดขึ้น พอเราลองเอาไปรวมแบบคร่าว ๆ กับคน 11.41 ล้านคนที่พูดถึงไปก่อนหน้า
เราจะได้ตัวเลข 31 ล้านคนที่รายได้ต่อเดือนไม่ถึง 15,000 บาท
ก็คือเกือบทั้งหมดของคนวัยทำงานที่มีอยู่ประมาณ 40 ล้านคนหรืออาจจะเรียกได้ว่าประเทศนี้คนครึ่งค่อนประเทศมีรายได้ไม่ถึง 15,000 บาทต่อเดือน ในขณะที่ค่าครองชีพราคาขึ้นไม่หยุด หมูกิโลกรัมละเกือบ 200 บาท เทียบกับค่าแรงขั้นต่ำแค่ 300 กว่าบาท คนส่วนใหญ่จะมีชีวิตที่มีความสุขสมบูรณ์ได้ยังไง?
เราไม่รู้ว่าต้องรออีกกี่สิบปี หรืออีกกี่รัฐบาล รายได้ของคนทำงานส่วนใหญ่จึงจะเพิ่มขึ้นมาแตะ 15,000 บาทโดยถ้วนหน้า (โดยที่นับรวมอัตราเงินเฟ้อไปแล้ว คืออำนาจการซื้อเทียบเท่าปัจจุบัน)
แน่นอนว่าในยุคที่ค่าครองชีพ ข้าวปลาอาหาร แก๊สหุงต้ม น้ำมัน ของใช้อุปโภคบริโภคแพงขึ้น อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นทุกปีโดยเฉพาะปี 2565 ที่ผ่านมา ข้อมูลข่าวจากกรุงเทพธุรกิจรายงานว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2565 จะอยู่ระหว่าง 5.5-6.5%
เพราะฉะนั้นจึงยิ่งทำให้รายได้ของคน 31 ล้านคนมีมูลค่าและพลังอำนาจในการจับจ่ายสิ่งของต่าง ๆ ลดน้อยลงมาอีก ซึ่งแต่เดิมก็ไม่ได้จะพออยู่แล้ว
ด้วยพื้นฐานรายได้อันน้อยนิดจึงนับได้ว่าคนส่วนมากในสังคมไทยมีความเปราะบางมาก ถึงแม้จะเป็นสถานการณ์ปกติก็ยากมากแล้วที่จะมีอนาคตที่มีความสุขได้ แต่ทุกคนก็ยังต้องมาเจอกับสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในวงกว้าง ตามมาด้วยสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนทำให้ทุกอย่างยิ่งแย่เข้าไปอีก
ทั้งหมดจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อสถานการณ์ “หนี้ครัวเรือน” ที่ย่ำแย่มากขึ้นเรื่อย ๆ ในปี 2566 หนี้ครัวเรือนไทยโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 500,000 บาทต่อครัวเรือน และยังไม่ได้นับรวมหนี้นอกระบบอีกซึ่งบางส่วนจากบทความ “หนี้นอกระบบในประเทศไทยเป็นอย่างไร” ของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ให้ข้อมูลไว้ว่า
จากการเก็บตัวอย่าง 4,628 ตัวอย่าง
แบ่งกลุ่มตามรายได้
กลุ่มรายได้ไม่เกิน1-5,000 บาท มีหนี้เฉลี่ย 32,800 บาท
กลุ่มรายได้ 5,001-10,000 บาท มีหนี้เฉลี่ย 25,400 บาท
กลุ่มรายได้ 10,001-20,000 บาท มีหนี้เฉลี่ย 73,000 บาท
แบ่งกลุ่มตามอาชีพ
เกษตรกร มีหนี้เฉลี่ย 90,000 บาท
ค้าขาย มีหนี้เฉลี่ย 33,000 บาท
อาชีพอิสระ มีหนี้เฉลี่ย 18,000 บาท
รับจ้าง/ลูกจ้าง มีหนี้เฉลี่ย 31,000 บาท
พนักงานเอกชน มีหนี้เฉลี่ย 46,000 บาท
จากข้อมูลจะเห็นว่าไม่ว่าจะเป็นสถิติแบบหนี้ในระบบที่เป็นหนี้จากสถาบันทางการเงินที่มีการส่งข้อมูลให้ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือหนี้นอกระบบที่ไม่มีข้อมูลอย่างเป็นทางการ เราก็ประเมินได้คร่าว ๆ ว่า คนทำงานโดยทั่วไปที่แบ่งตามลักษณะอาชีพในภาคส่วนต่าง ๆ และแบ่งตามกลุ่มรายได้โดยเฉพาะช่วงรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งมีมากถึง 31 ล้านคนมีโอกาสสูงที่แทบทุกคนจะเป็นหนี้หลายหมื่น หรือบางคนอาจจะมีหนี้เป็นแสน
ยังไม่นับปัญหาเรื่องความเครียดสะสม สุขภาพจิต สุขภาพกายที่ถูกระบบนี้ใช้งานอย่างหนัก อยากชวนทุกคนจินตนาการว่า ถ้าเราต้องทำงานวันละ 2 งาน ต้องทำอาทิตย์ละ 7 วัน วันละ 12-14 ชั่วโมงตลอดเวลา เพราะค่าแรงเงินเดือนปกติน้อยเกินไปต้องทำโอที หรืองานเดียวมันไม่พอ ปีนึงถ้าโชคดีอาจจะได้หยุดแค่ 5-6 วันจาก 365 วัน คิดว่ามันเป็นชีวิตที่ดีมีความสุขสมบูรณ์หรือไม่? ในความเป็นจริงมีคนจำนวนมากที่ต้องทำงาน 6-7 วันต่ออาทิตย์ หรือหลายครั้งก็ต้องทำมากกว่า 1 งานเพื่อให้มีเงินเพียงแค่พอกิน เลี้ยงลูก หรือส่งกลับบ้าน
ถ้าใครต้องเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ทำงานหนักจนป่วย หรือประสบอุบัติเหตุทุพพลภาพทำงานเดิมต่อไม่ได้ ก็อาจถูกทิ้งให้กลับไปป่วยไปตายที่ชนบททั้ง 75 จังหวัดของประเทศนี้ และอาจกลายเป็นภาระของคนสูงอายุในครอบครัวที่ต้องมาดูแลต่อ โดยคนสูงอายุเหล่านั้นก็อาจจะมีเพียงแค่เบี้ยยังชีพคนชราแค่หลักร้อยเป็นหลักประกันชีวิตในแต่ละเดือน…
ชีวิตของคน 99% เลวลงเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในช่วงของรัฐบาลเผด็จการปัจจุบัน จริง ๆ คำว่า “รัฐบาลเผด็จการ” แปลให้ชัด ๆ มันคือรัฐบาลของคน 1% โดยคน 1% เพื่อคน 1%
ซึ่งคน 1% มันแปลว่าทุกสิ่งที่เป็นอยู่มันตรงข้ามกับคำพูดของลินคอร์นเมื่อตอนต้นเลย…
จากหลักฐานเชิงประจักษ์ที่บอกไปก่อนหน้านี้จากสถิติที่ยกมาคนทำงานประมาณ 31 ล้านคนที่มีค่าแรงต่อเดือนน้อยกว่า 15,000 บาท แถมในแต่ละครัวเรือนมีหนี้เฉลี่ย 500,000 บาทต่อครัวเรือนและหนี้นอกระบบอีก มีการประเมินว่ากว่า 2 ล้านครัวเรือนกว่าจะหลุดจากหนี้อาจจะต้องใช้เวลาเกิน 10 ปี ถ้าสถานการณ์เศรษฐกิจการเมืองยังคงแย่สำหรับคน 99% แบบนี้ต่อไป… ซึ่งหนี้มันจะหมดได้ยังไงถ้ารายได้มันยังคงไม่เพียงพอ ค่าแรงขั้นต่ำยังถูกแช่แข็งอยู่แบบนี้ ค่าแรงเงินเดือนที่แสนน้อยนิดและราคาสินค้าอุปโภคบริโภคต่าง ๆ ที่ขยับแพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นสาเหตุหลัก ๆ ของหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้น เมื่อรายได้ไม่ทันรายจ่ายทุกคนก็มีโอกาสที่จะต้องกู้หนี้ยืมสิน
ก่อนจะเข้าสู่ข้อเสนอทั้งรูปแบบและวิธีการในเรื่องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเพื่อแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตของคน 99% เราต้องถามคำถามที่สำคัญที่สุดก่อนคือ ใครเป็นคนสร้างสังคมนี้? และใครเป็นคนขับเคลื่อนสังคมนี้?
คำตอบคือ “แรงงานคนทำงาน” รวมถึงคนทำงานในอดีตก่อนหน้านี้ซึ่งปัจจุบันเป็นคนชราหรือกำลังจะเป็นคนชรา ซึ่งคนเหล่านั้นก็คือพ่อแม่ปู่ย่าตายายของพวกเรา ส่วนพวกเราตอนนี้ก็คือคนทำงานในตอนนี้ที่จะต้องทำงานไปอีกหลายสิบปีก่อนหมดสภาพและเกษียณ…
ถ้าใครจะเถียงว่าไม่จริง แรงงาน ไม่ได้สร้างทุกอย่าง คน 1% ต่างหากที่สร้างทุกอย่าง ก็ต้องลองทำงานคนเดียวดู ลองให้เจ้าสัวทำงานทุกอย่างของร้านสะดวกซื้อเป็นพันสาขาทั่วประเทศพร้อมกันดู โดยไม่มีพนักงาน 2-3 หมื่นคน หรือให้เจ้าของโรงงานมาทำทุกอย่างแทนแรงงานหลายร้อยหลายพันคนดู หรือให้เจ้าที่ดินทำนาทั้งหมดเองแทนเกษตรกรเรือนแสนเรือนล้าน จะพืชผลทางการเกษตร จะปศุสัตว์ ที่เป็นพื้นฐานของอาหารของสังคม ก็ถูกสร้างด้วยหยาดเหงื่อและมันสมองของพวกเรา รวมถึงงานต่าง ๆ อีกนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นงานบริการ งานในโรงเรียน ในโรงพยาบาล งานขนส่ง งานออกแบบ งานบันเทิง กองถ่าย เรียกได้ว่างานทุกงาน คนทำงาน แรงงานเป็นคนทำทั้งสิ้น
นอกจากนั้นไม่ว่าเป็นจะโรงงาน ร้านค้า จะบริษัท จะวัด จะวัง พวกเราคนทำงานก็เป็นสร้างมันขึ้นมาทั้งนั้น เศรษฐกิจทั้งหมดพวกเราก็เป็นคนร่วมกันขับเคลื่อนมันไปในทุก ๆ วัน สังคมมนุษย์มันสร้างขึ้นจากการทำงานเป็นทีมของคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่คน 1% อย่างที่สื่อและเรื่องเล่ากระแสหลักหล่อหลอมหลอกลวงพวกเรา…
คำถามต่อไปคือ “ทำไมคนที่สร้างทุกอย่าง และทำให้สังคมเศรษฐกิจมันขับเคลื่อนไปได้ ถึงได้ค่าตอบแทนแบบอนาถา”
ติดตามต่อได้ที่ ชีวิตที่ดีกว่าของคน 99%ที่เต็มไปด้วยเครื่องหมาย “คำถาม”