ก้อนอิฐในมือสามัญชน
เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร
สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม
แพลตฟอร์มเดลิเวอรี่นั้น ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเพียง “นายหน้า” จับคู่ผู้ให้และผู้รับบริการ ตามความเข้าใจทั่วไปเท่านั้น ในมุมมองด้านแรงงานเชิงวิพากษ์ แพลตฟอร์มเหล่านี้ยังทำหน้าที่เป็นผู้ซื้อ “กำลังแรงงาน” ที่ถูกเสนอขายโดยพนักงานขนส่งหรือไรเดอร์ผ่านช่องทางที่บริษัทแพลตฟอร์มเป็นผู้พัฒนาระบบขึ้น มองจากเลนส์ของการจ้างงานแล้วแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่จึงเป็นแพลตฟอร์มแรงงาน เพราะมีบทบาทไม่ต่างจากนายหน้าจัดหางาน ที่คอยจัดหาคนงานแบบจ้างเหมาช่วงให้กับร้านค้า ทั้งที่เป็นและไม่เป็นสมาชิกของแพลตฟอร์ม เพียงแต่บริษัทแพลตฟอร์มเหล่านี้ได้แต่งหน้าแต่งตัวซะใหม่ เรียกขานตัวเองและพนักงานด้วยศัพท์แสงที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ที่สำคัญ พวกเขาสามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้โดยนำเอาเทคโนโลยีดิจิตัลที่เราไม่คุ้นชินมาบดบังอำพรางกระบวนการจ้างงานแบบ outsourcing จนแทบจดจำเค้าโครงเดิมไม่ได้
โมเดลการจ้างงานของแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ในประเทศไทยจึงทำให้เกิด “คนงานสายพันธุ์ใหม่” ที่เหมือนผ่านการปฏิสนธิของแรงงานสองกลุ่มที่มีปัญหาด้านสิทธิแรงงานมานาน ได้แก่ คนงานจ้างเหมาช่วง และคนงานประเภทที่รับมอบหมายงานแบบครั้งเดียวจบ (gig worker) ที่ได้รับค่าตอบแทนรายชิ้น (piece rate)
ระบบค่าตอบแทนรายชิ้นเกิดขึ้นก่อนหน้าที่จะมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมด้วยซ้ำ ฝ่ายที่สนับสนุนการจ่ายค่าแรงต่อชิ้นมักอ้างว่าวิธีนี้ทำให้เกิดแรงจูงใจในการทำงานสูงสุด ในความเป็นจริง คนงานต้องขูดรีดตัวเองโดยไม่หยุดพักทานอาหาร ดื่มน้ำหรือเข้าห้องน้ำ เพื่อแลกกับค่าตอบแทนส่วนเพิ่ม และต้องทำงานอย่างเร่งรีบและยาวนานขึ้น ส่งผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพของคนทำงานในระยะยาว ตัวอย่างงานวิจัยเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนเป็นรายชิ้นในอุตสาหกรรมสิ่งทอ โดยองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ [1] ในปี 2018 ชี้ว่าในประเทศกำลังพัฒนา คนงานที่ได้รับค่าตอบแทนแบบรายชิ้น มักเป็นกลุ่มที่เปราะบางที่สุด เพราะต้องทำงานในสภาพการทำงานและรูปแบบการจ้างที่ไม่เป็นทางการ การนำระบบค่าตอบแทนรายชิ้นมาใช้ในโมเดลของธุรกิจแพลตฟอร์มจึงเป็นการถอยหลังกลับไปสู่รูปแบบของการจ้างงานที่ต่ำกว่ามาตรฐานแรงงานสากล
อันที่จริง แพลตฟอร์มอาจจ่ายค่าตอบแทนให้กับคนงานอย่างเช่นไรเดอร์ส่งอาหาร ด้วยค่าแรงขั้นต่ำต่อช่วงเวลาเช่น รายวันหรือรายชั่วโมง [2] บวกค่าแรงจูงใจ เช่นตัวอย่างของแพลตฟอร์มขนส่ง “เดลิเวอรู (deliveroo)” ในอังกฤษ ที่เคยให้ค่าตอบแทนอัตราคงที่ต่อชั่วโมง (7 ปอนด์สเตอริงหรือประมาณ 280 บาท) บวกกับโบนัสของแต่ละรอบ (1 ปอนด์สเตอริงหรือประมาณ 40 บาท) และค่าน้ำมันต่างหากในกรณีที่เป็นไรเดอร์ขับสกู๊ต ค่าตอบแทนขั้นต่ำต่อช่วงเวลานั้นมีผลดีต่อไรเดอร์ตรงที่พวกเขาได้ “ค่ารอ” ขณะอาหารกำลังปรุง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของไรเดอร์จำนวนมาก ช่วยลดปัญหาต้องเร่งรีบส่งอาหารจนเกิดอุบัติเหตุ อย่างไรก็ตาม แพลตฟอร์มได้ประโยชน์จากการจ่ายค่าตอบแทนแบบรายชิ้น ตรงที่สามารถกำกับหรือควบคุมการทำงานส่งอาหารของไรเดอร์ได้มากยิ่งขึ้น ระบบค่าตอบแทนรายชิ้นจึงเพิ่มอำนาจการควบคุมสั่งการของแพลตฟอร์มต่อไรเดอร์ให้สูงมากขึ้น
ในปี 2559 เมื่อผู้บริหารเดลิเวอรูของอังกฤษ ได้ประกาศแผนการเปลี่ยนระบบการจ่ายค่าตอบแทนให้กับไรเดอร์ในกรุงลอนดอน จากอัตราคงที่รายชั่วโมงไปเป็นระบบค่าส่งต่อรอบ ซึ่งถือเป็นการจ่ายค่าตอบแทนรายชิ้นนั้น ไรเดอร์ในกรุงลอนดอนจำนวนหลายร้อยคน ออกมารวมตัวกันประท้วง “ปิดแอ็ป”เพื่อแสดงความไม่พอใจ และต่อต้านนโยบายดังกล่าว ป้ายประท้วงที่เขียนว่า “พวกเราต้องการสิ่งเดียวกัน 8 ปอนด์ต่อชั่วโมง บวก 1 ปอนด์ต่อออเดอร์” นั้น สะท้อนถึงทั้งความต้องการที่ชัดเจนและความตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหากปล่อยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีการคำนวณค่าตอบแทน โดยเฉพาะผลกระทบต่อรูปแบบการทำงานและอำนาจต่อรองในอนาคต
ทางฝ่ายผู้บริหารของเดลิเวอรูเองอ้างว่า “นี่เป็นแค่การทดลอง”, “ไม่ใช่การลดค่าแรง แต่เป็นการเปลี่ยนวิธีการคำนวณ” และ “ขอให้ยุติการชุมนุม ทางบริษัทยินดีเจรจากับทุกคนเป็นรายๆ ไป”
แต่ไรเดอร์กลุ่มนี้ชุมนุมอย่างต่อเนื่องหน้าสำนักงานของเดลิเวอรูเป็นเวลาถึงสี่วัน ปฏิเสธที่จะยอมรับระบบค่าตอบแทนรายชิ้น โดยไม่ยอมเจรจากับผู้บริหารในประเด็นดังกล่าว แถมยังยื่นข้อเสนอให้ผู้บริหารแพลตฟอร์มปรับอัตราค่าตอบแทนรายชั่วโมงให้สูงยิ่งขึ้นจากเดิม เป็นอัตราค่าจ้างเพื่อชีวิต (living wage) 8.75 ปอนด์หรือประมาณ 351 บาท [3]
ในที่สุด ผู้บริหารต้องยอมประนีประนอม โดยชะลอการปรับใช้นโยบายใหม่กับไรเดอร์ที่จะสมัครงานใหม่ในอนาคตเท่านั้น
สิ่งที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือ ในขณะที่ไรเดอร์ของเดลิเวอรูกำลังชุมนุมประท้วงต่อเนื่องอยู่นั้น องค์กรแรงงาน IWGB (Independent Workers of Great Britain) ได้ทำการระดมทุนโดยเรี่ยรายเงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือให้กับไรเดอร์ที่ต้องขาดรายได้ในระหว่างที่หยุดงานเหล่านี้ ทำให้พวกเขาสามารถหยุดงานต่อเนื่องจนบีบให้ผู้บริหารต้องประนีประนอมด้วย ดังนั้น ไรเดอร์กลุ่มนี้จึงไม่อาจได้มากซึ่ง ชัยชนะเล็กๆ นี้หากพวกเขาไม่มีหลักประกันรายได้ขั้นต่ำ ในระหว่างที่ต้องสูญเสียหรือประสบความไม่แน่นอนทางรายได้ เช่นในกรณีของการหยุดงาน ดังนั้น ค่าตอบแทนแบบคงที่เช่น ค่าส่งรายวัน นอกจากจะเป็นหลักประกันรายได้ของไรเดอร์ ที่ช่วยดูดซับความไม่แน่นอนของคำสั่งซื้อของลูกค้าในแต่ละวันแล้ว ยังเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นต่อการใช้สิทธิ เช่น สิทธิในการปฏิเสธ รวมถึงยังเป็นปัจจัยพื้นฐานในการสร้างอำนาจต่อรองแบบรวมหมู่ของพวกเขาอีกด้วย
ขณะที่โมเดลธุรกิจแบบแพลตฟอร์มกำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุนและสตาร์ทอัพ รูปแบบการดำเนินธุรกิจแบบแพลตฟอร์มมีโอกาสที่จะขยายตัวจนกลายเป็นโมเดลธุรกิจกระแสหลัก สิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่กันไปคือ การเติบโตขึ้นของการจ้างงานแบบยืดหยุ่นและแนวโน้มที่งานส่วนใหญ่จะกลายเป็นงานที่ไม่มั่นคง (informalization) มากยิ่งขึ้น
อำนาจในการกำหนดราคา คือ ที่มาของอำนาจในการกำหนดค่าจ้าง
นอกจากอำนาจของแพลตฟอร์มในการกำหนดและเปลี่ยนแปลงค่าจ้างแล้ว อำนาจของแพลตฟอร์มในตลาดยังมาจากความสามารถในการกำหนดราคาสินค้าบริการในแบบ “ราคาพลวัตร (dynamic pricing)” ซึ่งแพลตฟอร์มแรงงานนำระบบอัลกอริทึม สมองกล AI และระบบ machine learning ร่วมกันคำนวณราคาสินค้าบริการแบบเวลาจริง (real time)
ราคาแบบพลวัตรนั้น เกิดจากการคำนวณราคาสินค้าที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สะท้อนความต้องการซื้อสินค้าบริการในแต่ละช่วงเวลาเช่น ในแต่ละวันหรือฤดูกาล โดยใช้ฐานข้อมูลพฤติกรรมการบริโภคของลูกค้าขนาดมหาศาล ทำให้แพลตฟอร์มสามารถทำนายว่าควรเก็บค่าสินค้าบริการกับลูกค้าแต่ละคนในอัตราเท่าใด เพราะรู้ว่าผู้บริโภคแต่ละรายนั้นมีความอ่อนไหวต่อการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของราคาสินค้าบริการอย่างไร (ในภาษาเศรษฐศาสตร์เรียกว่า ความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคา) ยิ่งไปกว่านั้น จากฐานข้อมูลดังกล่าว แพลตฟอร์มยังสามารถคาดการณ์ถึงการตอบสนองของซัพพลายเออร์ หรือร้านค้า/ร้านอาหารที่เป็นสมาชิก ต่อการเปลี่ยนแปลงค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บเพิ่มขึ้นด้วย
Surge pricing เป็นอีกคำที่มักนิยมใช้เรียกการคำนวณราคาแบบพลวัตรของแพลตฟอร์มขนส่ง ในมุมของผู้บริโภค เราเข้าใจดีถึงการเพิ่มขึ้นของราคาค่าบริการขนส่งในช่วงเวลาเร่งด่วน หรือในช่วงเวลาที่มีความต้องการเป็นพิเศษ ในฝั่งของคนทำงาน แพลตฟอร์มอย่างอูเบอร์มีระบบที่แจ้งเตือนผู้ขับเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของความต้องการเรียกรถในบางพื้นที่อย่างรวดเร็ว ทำให้ค่าตอบแทนของคนขับรถสูงตามไปด้วย
นอกจากการคำนวณราคาแบบพลวัตรจะสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงของราคาสินค้าบริการในระยะสั้นคือในแต่ละช่วงเวลาของวันหรือในแต่ละฤดูกาลแล้ว ราคาของสินค้าบริการยังมีวัฏจักรหรือวงจรชีวิตในระยะกลางหรือระยะยาวที่ผูกติดกับช่วงเวลาของการดำเนินธุรกิจด้วย ทั้งนี้ ในบทความของบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจ McKinsey & Company ที่ชื่อว่า “ผู้ค้าปลีกสามารถขับเคลื่อนการเติบโตอย่างมีกำไรผ่านระบบคำนวณราคาพลวัตรอย่างไร”[4] ได้เสนอตัวอย่างของรูปแบบการคำนวณและเก็บราคาสินค้า 5 แบบ ตามความสัมพันธ์ของราคาต่อปัจจัยต่างๆ เช่น ช่วงแนะนำสินค้าใหม่ ความอ่อนไหวของอุปสงค์ต่อราคา ความรับรู้เรื่องราคาของผู้บริโภค ราคาของคู่แข่ง และช่องทางการจำหน่าย ตามลำดับ (ดังที่แสดงในภาพ)
ผู้เขียนบทความดังกล่าวเสนอว่าแพลตฟอร์มค้าปลีกอย่างเช่น แพลตฟอร์มขนส่งนั้นจะต้องนำวิธีการคำนวณราคาทั้ง 5 แบบมาประกอบกัน เมื่อเราพิจารณาลักษณะการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าตามช่วงเวลาตั้งแต่ปีที่ 1 จนถึงปีที่ 4 ตามตัวอย่างที่แสดงในภาพ จะเห็นว่าการปรับขึ้นลงของราคาสินค้าและค่าจ้างป็นวัฏจักรของสินค้าซึ่งเกิดจากวางแผนการตลาดของแพลตฟอร์ม หากนำข้อมูลนี้มาเปรียบเทียบกับวงจรราคาของค่าบริการและค่าจ้างในตลาดขนส่งแบบแพลตฟอร์มของบ้านเรา ที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงหนึ่งและลดลงมาเรื่อยๆ จนถึงจุดต่ำสุด ก็ดูเหมือนจะคล้ายคลึงกับเพิ่มขึ้นและลดลงของราคาค่าบริการที่เราสังเกตเห็นในตลาด
บทความดังกล่าวเตือนว่าธุรกิจแพลตฟอร์มจะประสบความสำเร็จในการทำกำไรสูงสุดหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความสามารถและความชำนาญของผู้บริหารที่จะเลือกรูปแบบการคำนวณราคาที่เหมาะสมกับสินค้าบริการของตน และการนำระบบการคำนวณใช้งานจริง ข้อมูลจำนวนมากและเทคโนโลยีที่ทันสมัยจึงไม่ได้เป็นหลักประกันความสำเร็จ เพราะระบบอัลกอริทึมเพียงทำหน้าที่ประเมินราคาเสนอแนะให้ทำการตัดสินใจอีกขั้นหนึ่ง
ประเด็นที่สำคัญก็คือ เมื่อธุรกิจแพลตฟอร์มเช่น แพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ส่วนใหญ่ในตลาดของบ้านเรา นำเอาค่าตอบแทนหรือค่าส่งของไรเดอร์ไปผูกไว้เป็นสัดส่วนของราคาสินค้าบริการที่เรียกเก็บจากผู้บริโภคในตลาด ซึ่งราคาสินค้านี้เปลี่ยนแปลงไปตามพลวัตรของตลาดแล้ว นั่นเท่ากับว่าค่าตอบแทนของไรเดอร์ย่อมผันผวนหรือปรับเปลี่ยนไปตามกลไกของตลาดและการตัดสินใจในเชิงธุรกิจของแพลตฟอร์ม ในช่วงที่ราคาสูง อาจไม่มีปัญหาอะไร แต่ตามที่วัฏจักรสินค้าแสดงให้เห็น ในช่วงที่ราคาสินค้าลดลงต่ำสุด ไรเดอร์ก็อาจประสบกับปัญหาค่าตอบแทน ต่ำกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด ไม่เพียงพอต่อการยังชีพและการประกันสิทธิขั้นพื้นฐาน
ในมุมมองมหภาค หากธุรกิจแพลตฟอร์มสามารถกำหนดค่าตอบแทนของคนงาน เช่น ไรเดอร์ ด้วยระบบดังกล่าวโดยไม่ต้องยึดโยงกับกฎระเบียบในการคุ้มครองคนงานแล้ว นั่นเท่ากับว่า เรายอมรับระบบการคำนวณค่าจ้างแบบใหม่ในระบบเศรษฐกิจดิจิตอล ซึ่งการตัดสินใจเชิงธุรกิจของแต่ละบริษัท เป็นอำนาจตัดสินใจเด็ดขาดในการกำหนดค่าจ้างหรือค่าตอบแทนของคนทำงาน
ตั้งแต่ปลายปี 2562 “ไรเดอร์” ของแพลตฟอร์มขนส่งค่ายแกร็บได้รวมตัวกันประท้วงค่ารอบหรือค่าส่งที่ถูกปรับลดลงในหลายจังหวัดทั่วประเทศ เช่น ในเดือนพฤศจิกายน 2562 ไรเดอร์ในหลายจังหวัดของภาคอีสาน เช่น โคราช อุดรธานีและขอนแก่น ประท้วงค่ารอบที่ถูกปรับลดลงพร้อมทั้งระยะทางที่ต้องทำงานไกลขึ้น ในเดือนมกราคม 2563 ไรเดอร์แกร็บฟู๊ดประมาณ 100 ร้อยคนในภูเก็ต รวมตัวกันปิดโทรศัพท์ไม่รับงาน เพื่อเรียกร้องขอเพิ่มค่ารอบเช่นกัน และในเดือนสิงหาคม ปีนี้ ไรเดอร์ที่พัทยารวมตัวกันประท้วงเรียกร้องให้แกร็บฟู๊ดปรับเพิ่มค่ารอบ และเป็นที่มาของภาพข่าวของข้อความจากป้ายประท้วงว่า “แกร็บหน้าเลือด” ก่อนที่จะมีการชุมนุมของไรเดอร์นับพันที่หน้าตึกศรีภูมิ สำนักงานใหญ่ของแกร็บ ในอีกไม่กี่วันหลังจากนั้น เป็นต้น
เป็นที่น่าสังเกตุว่าข้อเรียกร้อง 6 ข้อที่ตัวแทนกลุ่มไรเดอร์ยื่นต่อผู้บริหารของแกร็บในการชุมนุมใหญ่หน้าตึกศรีภูมิ ในวันที่ 10 ตุลาคม 2563 นั้นไม่มีข้อเรียกร้องเรื่องค่ารอบหรือค่าตอบแทนแต่อย่างใด ทั้งที่ไรเดอร์ของแพลตฟอร์มสีเขียวนี้มีการชุมนุมเรียกร้องเพื่อต่อต้านการลดค่ารอบ หรือเรียกร้องให้ปรับค่ารอบเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด คำอธิบายหนึ่งที่ผมได้ฟังจากตัวแทนไรเดอร์ คือ นอกจาก ไรเดอร์รู้สึกถึงความเดือดร้อนในประเด็นอื่นที่ใกล้ตัวมากกว่า เช่น การบังคับซื้ออุปกรณ์หรือการบังคับให้ไรเดอร์ที่ออกนอกพื้นที่ต้องรับบริการทุกรูปแบบคือ ส่งอาหาร ส่งคนและส่งของแล้ว การเรียกร้องเรื่องค่ารอบนั้นเป็นเรื่องที่อาจจะ “ไกลตัว” ในความหมายว่าเป็นไปได้ยากกว่า และอาจส่งผลสะท้อนกลับมาหากลุ่มไรเดอร์เอง เพราะค่ารอบของไรเดอร์ถูกนำไปผูกโยงกับค่าบริการขนส่งที่แพลตฟอร์มเก็บจากผู้บริโภคโดยตรง พูดง่ายๆว่า ไรเดอร์เองไม่ต้องการเรียกร้องในประเด็นที่ตนเองรู้สึกว่าไม่สามารถต่อรองได้ ในเชิงโครงสร้างของตลาด อำนาจต่อรองเรื่องค่าตอบแทนจึงเสมือนว่าอยู่ในมือของธุรกิจแพลตฟอร์มอย่างเบ็ดเสร็จ
ความแปลกใหม่กลายเป็น “ข้อยกเว้น” จากการกำกับดูแล
ไม่ใช่เรื่องยากที่จะมองเห็นว่าอำนาจของแพลตฟอร์มในการกำหนดทั้งค่าจ้างและราคาสินค้านั้น เป็นอำนาจเหนือตลาดที่เอื้อให้เกิดความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม กระแสความแปลกใหม่อันเกิดจากเทคโนโลยีดิจิตัล ทำให้สังคมโดยรวม ผู้กำหนดนโยบายและนักการเมืองในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย มองธุรกิจแพลตฟอร์มในแบบพิเศษหรือเป็นกรณียกเว้น
ผมคิดว่าไม่เกินเลยไปที่จะกล่าวว่าในประเทศไทย บริษัทแพลตฟอร์มสามารถดำเนินธุรกิจบนสูญญากาศของการกำกับดูแล โดยปลอดจากความรับผิด (accountability) เกือบสิ้นเชิง ทั้งนี้ การทำงานของอัลกอริทึมที่ซับซ้อนและเข้าใจยากสำหรับบุคคลทั่วไป มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้เกิดปรากฏการณ์ “ยกเว้นนิยมต่อธุรกิจแพลตฟอร์ม (platform exceptionalism)” นี้
การผงาดขึ้นของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มจึงคล้ายคำประกาศถึงการกลับมาของ “ลัทธิเศรษฐกิจตลาดเสรี” ของศตวรรษที่ 18 ที่มีรากศัพท์จากภาษาฝรั่งเศส อันมีความหมายถึงการปล่อยให้เอกชนดำเนินการโดยเสรี ปลอดจากการแทรกแซง (laissez faire) ในประเทศไทยเช่นเดียวกับในหลายประเทศ สูญญากาศของการกำกับดูแลนี้ เปิดโอกาสให้เจ้าของธุรกิจมีอิสระภาพอย่างเต็มที่ที่จะทดลองหารูปแบบที่เหมาะที่สุด ตั้งแต่เรื่องวิธีการคำนวณและการจ่ายค่าตอบแทนของไรเดอร์ รวมถึงการกำหนดกะ (shift) และชั่วโมงการทำงาน ฯลฯ ไรเดอร์จำนวนมากจึงกลายเป็น “หนูทดลอง” ของธุรกิจรูปแบบใหม่ที่กำลังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐโดยการยกเว้นจากการกำกับดูแล
อ้างอิง
[1] https://www.ilo.org/wcmsp5/groups/public/—ed_dialogue/—dialogue/documents/publication/wcms_663063.pdf
[2] ในหลายประเทศ กฎหมายกำหนดค่าแรงขั้นต่ำเป็นรายชั่วโมง ต่างจากประเทศไทยที่มีค่าแรงขั้นต่ำรายวัน ปัจจุบัน มีผู้เสนอให้ประเทศไทยนำระบบค่าจ้างแบบรายชั่วโมงมาใช้บ้าง ผู้เขียนเห็นว่าจะส่งผลให้เกิดการจ้างงานแบบชั่วคราวมากยิ่งขึ้น
[3] หนังสือ Riding for Deliveroo: Resistance in the New Economy (2019) เขียนโดย Callum Cant, สำนักพิมพ์Polity
[4] “How retailers can drive profitable growth through dynamic pricing,” https://www.mckinsey.com/industries/retail/our-insights/how-retailers-can-drive-profitable-growth-through-dynamic-pricing