บัตรคนจนผลักสวัสดิการไทยให้ล้าหลัง - Decode
Reading Time: < 1 minute

ประกายไฟลามทุ่ง

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

เมื่อก้าวเข้าสู่ช่วงเทศกาลการเลือกตั้ง ในปี 2566 สิ่งที่เราจะเห็นทั่วไป คือป้ายหาเสียงว่าด้วยเคลื่อนเงื่อนไขสวัสดิการ การยกระดับคุณภาพชีวิต รวมถึงประเด็นปากท้อง เราจะเห็นได้ว่านโยบายด้านสวัสดิการกลายเป็นนโยบายหลักของทุกพรรค ที่ถูกหยิบยกมานำเสนอในช่วงเวลาไม่กี่เดือนก่อนการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่จำเป็นต้องตั้งข้อสังเกตแม้ว่าประชาชนในสังคมจะมีความเข้าใจในเรื่องสวัสดิการพื้นฐาน และมีขบวนการการเรียกร้องเพื่อรัฐสวัสดิการ มาอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา นับรวมถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในช่วงปี 2563-2564 แต่ก็จะพบว่าข้อเสนอของพรรคการเมืองส่วนหนึ่งก็ยังเป็นข้อเสนอด้านสวัสดิการที่ยังไม่ได้สะท้อนความก้าวหน้าเท่าที่ควร

ในบทความนี้ จะชวนพิจารณาถึงฐานความคิด ที่สะท้อนความเป็นอนุรักษนิยมด้านสวัสดิการผ่านสองนโยบายคือ นโยบายระบบสวัสดิการแบบคูปอง และระบบสวัสดิการที่ผูกกับการพิสูจน์ความจน

เมื่อพูดถึงรูปแบบสวัสดิการ เราสามารถแบ่งเฉดสีความคิดอุดมการณ์ทางการเมือง ควบคู่กับระบบสวัสดิการไปได้พร้อมกัน รูปแบบสวัสดิการที่มีความก้าวหน้าที่สุดก็คือรูปแบบสวัสดิการถ้วนหน้าที่ทุกคนได้รับสวัสดิการในฐานะสิทธิพื้นฐาน ไม่มีการแบ่งแยกตามอาชีพ ฐานะทางเศรษฐกิจ ภาษีที่เสีย โดยถือว่าเป็นสวัสดิการที่ได้รับตามช่วงวัยเป็นสิทธิพื้นฐาน ขณะที่ระบบสวัสดิการที่ก้าวหน้าน้อยกว่าได้แก่ระบบประกันสังคมที่เน้นการให้สวัสดิการผ่านเงื่อนไขของอาชีพและลักษณะการจ้าง ส่วนระบบสวัสดิการที่แย่ที่สุดคือระบบที่เน้นการรับผิดชอบตัวเองผ่านกลไกตลาดและรัฐจัดสวัสดิการแบบเน้นเฉพาะกลุ่มคนจน หรือการให้สวัสดิการแบบมีเงื่อนไขที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งส่วนมากจะเป็นสวัสดิการที่มีปริมาณและสิทธิประโยชน์น้อยกว่า ลักษณะสวัสดิการที่มีเงื่อนไขแบบเจาะจงส่วนมากแล้วมีประสิทธิภาพต่ำและไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำได้

ปมปัญหาสวัสดิการแบบเจาะจง

ประเทศไทยคุ้นชินกับระบบสวัสดิการในลักษณะนี้ เพราะมีฐานความคิดว่าสวัสดิการไม่ใช่เรื่องของทุกคนเป็นเรื่องของเพียงแค่คนจนที่น่าสงสารเท่านั้น การออกแบบสวัสดิการจึงวางอยู่บนเงื่อนไขสามอย่าง

1.สวัสดิการเป็นเรื่องทางด้านศีลธรรม ระหว่างคนที่มีมากกว่าคนที่สมบูรณ์พร้อมสละให้แก่คนที่ยากจนที่น่าสงสาร 2.เป็นเรื่องของงบประมาณ งบประมาณสวัสดิการจึงถูกวางไว้ในฐานะงบประมาณชั่วคราว ไม่มีหลักเกณฑ์ ใช้แก้ไขเป็นรายกรณีไป เพราะมีความกลัวว่า ถ้าเกิดให้สวัสดิการที่มากเกินไป จะส่งผลให้คนมีศีลธรรมที่ไม่ดี แต่นั่นก็เป็นเพียงแค่ศีลธรรมของนายทาสที่มีต่อทาสเท่านั้น 

และ 3. ระบบนี้ ถูกออกแบบมา ผ่านเงื่อนไขที่มีความสลับซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นบัตรที่ต้องมีการพิสูจน์ความจน หรือการออกแบบคูปองที่มีเงื่อนไขที่ต้องใช้ชีวิต ตามแบบฉบับที่ชนชั้นนำปรารถนา เช่น เอาไปซื้อหนังสือ กินอาหารที่มีประโยชน์ ราวกับว่า คนจนหรือคนส่วนใหญ่ ของประเทศนี้ ไม่มีวิจารณญาณมากเพียงพอในการใช้สวัสดิการ ระบบการคัดกรองที่มีเงื่อนไขแบบนี้แม้จะใช้เทคโนโลยีที่มีความทันสมัยเข้ามา แต่ก็ไม่ต่างจาก การต่อแถวคุกเข่ารับทุนการศึกษาที่เคยมีมาในอดีตแต่อย่างใด

เราจะเห็นได้ว่า จะมีพรรคการเมืองที่มีนโยบายหาเสียงในลักษณะนี้ ผ่านการเชื่อว่าถ้ามีระบบคูปอง โดยรัฐบาลเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขการใช้คูปอง เช่นให้คนไปซื้อหนังสือนิทาน ซื้ออาหาร ที่มีคุณประโยชน์ จะดีกว่าการให้เงินเปล่าเปล่าแบบไม่มีเงื่อนไข ทั้ง ๆ ที่มูลค่าในคูปองนั่นไม่เพียงพอในการที่จะเปิดโลกหรือเปลี่ยนชีวิตผู้คนได้แต่อย่างใดลักษณะเช่นนี้ก็คล้ายกับ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ใช้มา มากกว่าสี่ปี รวมบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ว่านี้ นอกจากต้องมีการลงทะเบียนพิสูจน์สิทธิ์ว่าเป็นคนจน ตรงตามเงื่อนไขที่รัฐบาลกำหนด การใช้ สวัสดิการดังกล่าวยังมีเงื่อนไข ที่มีความสลับซับซ้อน และเป็นการเอื้อให้เกิดความไม่โปร่งใสเชิงนโยบายหลายประการ รวมถึงไม่สามารถที่จะใช้สิทธิดังกล่าวตรงกับความต้องการที่ตนเองต้องการพื้นฐานจริง ๆ

นโยบายรัฐสวัสดิการสิ่งที่ควรเป็น

หลักการนโยบายรัฐสวัสดิการที่พึงเป็น ในฐานะประชาชนผู้ติดตามการเลือกตั้งและการนำเสนอนโยบาย

1. จะต้องคำนึงว่าลักษณะสวัสดิการนั้นเป็นสวัสดิการถ้วนหน้า ที่ให้ทุกคนอย่างเสมอภาคกัน ไม่ได้ให้เฉพาะเพียงแค่คนจนหรือคนประกอบอาชีพใดอาชีพหนึ่งเท่านั้น สวัสดิการถ้วนหน้ามีประสิทธิภาพในการลดความเหลื่อมล้ำ มากกว่าสวัสดิการแบบสงเคราะห์หรือการให้เฉพาะคนจน

2. สวัสดิการนั้น จะต้องมากพอ ต่อการที่จะแก้ไขปัญหาทั้งในระดับปัจเจกชนและในระดับสังคม กล่าวคือ ถ้าเงินสวัสดิการที่ได้รับมีมูลค่าน้อยเกินไป ก็จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คนได้ ดังนั้นนโยบายที่ดีจึงไม่ควรจะเข้มงวดกับประชาชนคนทั่วไปแต่ควรจะเข้มงวดกับรัฐ ในการที่จะจัดเก็บภาษีจากกลุ่มคนมั่งคั่งในสังคมเพื่อมากระจายสู่สังคมอย่ากลัวว่าประชาชนจะได้รับสวัสดิการมากเกินไป

3. ลักษณะสวัสดิการไม่ควรมีเงื่อนไขที่ซับซ้อนและเป็นเงื่อนไขที่วางจากคนที่อยู่บนหอคอยงาช้าง โดยดูแคลนว่าประชาชนไม่สามารถตัดสินใจอะไรเองได้ประชาชน จะใช้เงินเพื่อสนับสนุนพฤติกรรมที่ไม่ดี เช่น เอาไปกินเหล้าเอาไปสูบบุหรี่เกียจคร้านไม่ทำงาน เพราะความเป็นจริงแล้วชนชั้นนำและเครือข่ายของพวกเขาก็ได้รับสวัสดิการกันอย่างมากมาย ได้รับนโยบายที่ปรนเปรอให้สะสมความมั่งคั่งได้อย่างมากล้น พวกเขายังไม่เคยเหน็ดเหนื่อยที่จะขยายความมั่งคั่งของตัวเองเลย ดังนั้น การกลัวว่าประชาชนจะได้รับสวัสดิการมากเกินไปจึงไม่ได้เป็นข้ออ้าง ด้วยเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจเลยแต่เป็นเพียงแค่ข้ออ้างทางด้านศีลธรรมอย่างเดียวเท่านั้น