สมุดบันทึกความดี คุณยังทันได้จดส่งครูกันไหม เราทันนะ ตอนนั้นยังเด็กอยู่ชั้นประถมศึกษา จำได้ว่าไม่ได้ตั้งคำถามหรอกว่าทำไมต้องบันทึกความดี หรือแม้กระทั่งยังไม่ฉุกคิดว่าความดีที่ว่าหน้าตาเป็นแบบไหน ดีในความหมายของใคร แต่อาจเพราะโลกของเด็กน้อยวัยหลักหน่วย ภายใต้เพลงเด็กเอ๋ย…เด็กดีต้องมีหน้าที่ 10 อย่างด้วยกัน ทำให้ขมวดไปแบบเด็ก ๆ ว่า ความดีคงหน้าตาเหมือนในเพลง
พจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน (2542) ให้ความหมายว่า
คนดี (น.) หมายถึง คนที่มีคุณความดี, คนที่มีคุณธรรม
ความดี (ว.) หมายถึง ลักษณะที่เป็นที่ต้องการ, น่าปรารถนา, น่าพอใจ
ถึงวันนี้กับสังคมไทยใน พ.ศ.2566 ไม่ช้าเกินไปที่เราจะตั้งคำถามกับคำว่า คนดี, ความดี เพราะระยะนี้คำว่าเลือกคนดีเข้าสภาฯ เลือกคนดีเป็นนายก ให้คนดีปกครองบ้านเมือง ทุกคนคงได้ยินคำเหล่านี้กันบ่อยขึ้นจากกระแสการเลือกตั้งที่กำลังใกล้เข้ามาแล้ว
เช้าวันนี้เราตื่นมาพร้อมเปิดรายการข่าวอัพเดทเรื่องราวการบ้านการเมือง สะดุดทันทีที่พิธีชายท่านหนึ่งพูดขมวดท้ายข่าว สว. ยกมือผ่านให้แจกเงิน 500 บาท ช่วยหนุนคนไทยออกไปเลือกตั้งว่า “เอาล่ะยังไงก็ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง เลือกคนดีเข้าสภาฯ นะครับ” ไม่ผิด! เขาไม่ได้พูดอะไรผิด แต่เหมือนคำว่าคนดีกลายเป็นผีที่น่ากลัวสำหรับเรา และเช้าตรู่วันนี้มันหลอกเราจนได้ ส่วนหนึ่งอาจเพราะหนังสือให้คนดีปกครองบ้านเมือง ของอาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ กำลังทำงาน
9 ปีที่ผ่านมา การเมืองวัฒนธรรมของขวาไทยผ่านวาทกรรมคนดี ฝังรากดูดซึมเข้าสู่ใจกลางสังคมไทยแบบแยกไม่ขาด คนดีมีที่ทางและผูกโยงกับอำนาจอย่างชัดเจน คนดังในหน้าข่าวจำนวนไม่น้อยที่ขึ้นเวที กปปส. ยังอยู่ในสภาฯ บ้างก็เป็นแบคอัพทางการเมืองของพรรคฝ่ายขวาที่เคยเกื้อหนุนกัน คนดียังคงอยู่ในหลายสถานะ ความดียังถูกนิยามแบบผิดเพี้ยน การเลือกตั้งที่มักใช้คำรณรงค์ว่า ให้เลือกคนดีเข้าสภาฯ ในสภาวการณ์ของสังคมไทยปัจจุบันจึงไม่เท่ากับความหวัง
หน้ากากคนดี คือ ฉายาที่สื่อมวลชนตั้งให้ พลเอกประยุทธ์ ในปี 2565 ชอบไม่ชอบก็เรื่องหนึ่ง แต่เรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้คือการขึ้นสู่อำนาจของนายกคนที่ 29 มาพร้อมกับการติดแบรนด์คนดี โดยมีการเคลื่อนไหวของมวลมหาประชาชนเป็นหีบห่อ คนดีถูกทำให้เป็นสินค้าพรีเมี่ยมที่กินความหมายเฉพาะพวกเรา ส่วนพวกเขาที่เห็นต่างคือคนชั่ว อสูรกาย
การต่อสู้ของเราเพื่อสร้างชาติ…เพราะเราเป็นพลเมืองดี นี่คือการต่อสู้ของพลเมืองดีให้โลกจารึก ประวัติศาสตร์จารึกว่าพลเมืองดีลุกขึ้นต่อสู้และเอาชนะอธรรม มือเปล่า ๆ ของเราจะเอาชนะมารให้ได้
ท้ายคำปราศรัยของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ 8 พ.ย. 2556 เวทีราชดำเนิน
ขณะนี้ไม่ใช่การต่อสู้ระหว่างพรรคการเมืองเป็นการต่อสู้ระหว่างเผด็จการทรราชย์นายทุนกับประชาชนทั้งประเทศ เป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายคนชั่วกับฝ่ายคนดี เพราะฉะนั้นไม่มีที่ตรงกลางให้ท่านยืน ต้องเลือกข้างยืนว่าจะเอาชั่วหรือว่าเอาดี
ส่วนหนึ่งของคำปราศรัย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ , 2 ธันวาคม 2556 เวทีศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ
เสียงนกหวีดและการโห่ร้องของผู้คนบนท้องถนน ภายใต้การเคลื่อนไหวของกลุ่ม กปปส. เริ่มต้นขึ้นด้วยเป้าหมายขับไล่รัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่หลังการยุบสภาเปิดทางให้มีการเลือกตั้ง เป้าหมายใหม่ของ กปปส.ถูกปักหมุดอยู่ที่ต้องปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง จากนั้นมีการประกาศเจตนารมย์สู่สาธารณะว่าถ้ารักประชาธิปไตย ต้องไม่ไปเลือกตั้ง มีการขัดขวางการเลือกตั้งโดยขบวนการประชาชนและความรุนแรงรูปแบบใหม่ ทำให้การเตรียมการและการจัดเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เต็มไปด้วยอุปสรรคและความรุนแรง ภาพการกระชากคอเสื้อประชาชนที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันนั้น เป็นหนึ่งในบันทึกความรุนแรงที่เกิดขึ้น การเลือกตั้งเมื่อปี 2557 ถูกจดจำในฐานะการเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยความรุนแรงมากที่สุดในประวัติศาสตร์
ภาพของมือปืนป๊อปคอร์น ถล่มยิงที่แยกหลักสี่ก่อนการเลือกตั้งเป็นภาพความรุนแรงที่ถูกกลุ่มคนดีชื่นชมว่าเป็นองครักษ์ปกป้องประเทศไทย แม้เหตุการณ์ครั้งนั้นจะมีทั้งคนบาดเจ็บและมีคนเสียชีวิต ประเด็นนี้ในทางคดีมีความเคลื่อนไหวศาลอาญาตัดสินความผิดมือปืนป๊อปคอร์นเมื่อปี 2559 แต่อีกมุมปรากฏภาพผู้ชุมนุมนัดหมายสวมเสื้อ “Popcorn Super Hero” รวมทั้งมีการระดมเงินช่วยเหลือ แกนนำ กปปส. ออกมาโพสต์ข้อความให้กำลังใจ อดีตพระพุทธอิสระแสดงตัวจะช่วยเหลือ
ส่วนภาพใหญ่เรื่องการเลือกตั้งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การเลือกตั้งทั่วไปที่เกิดขึ้น เป็นโมฆะไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ การเมืองไทยเข้าสู่ภาวะสุญญากาศ ระหว่างนั้นความรุนแรงบนท้องถนนยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง จนเป็นเหตุให้กองทัพอ้างเหตุผลเข้าทำรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
การจะเข้าใจปรากฏการณ์ความรุนแรงในวิกฤตการเมืองไทยร่วมสมัย จำเป็นต้องเข้าใจว่าความรุนแรงที่ใช้โดยขบวนการ กปปส. เป็นความรุนแรงที่ไม่ได้มีลักษณะ เป็นกลไกที่ใช้เพราะเหตุผลทางยุทธศาสตร์แบบการทหารเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมืองเท่านั้น แต่เป็นความรุนแรงที่มีการให้ความหมายรองรับและมีมิติของศีลธรรมกำกับ กล่าวคือขบวนการ กปปส. เชื่อว่ามาตรการรุนแรงที่เกิดขึ้นจากฝ่ายตนนั้นถูกต้องชอบธรรม เพราะใช้เพื่อกำจัดระบบการเมืองและนักการเมืองที่ชั่วร้าย กล่าวได้ว่ามีการลดทอนความเป็นมนุษย์และการทำให้ฝ่ายตรงข้ามเป็นปีศาจ [ หน้า 60 , หนังสือให้คนดีปกครองบ้านเมือง]
งานเขียนที่อ้างอิงหลักคิดทางวิชาการของอาจารย์ประจักษ์เล่มนี้ ศึกษาการเคลื่อนไหวของ กปปส. โดยอธิบายมรดกนกหวีดผ่าน 3 ทฤษฎี คือ การลดทอนความเป็นมนุษย์ ความรุนแรงเชิงศีลธรรม และอนารยะสังคม ซึ่งทำให้เห็นความหมายที่ถูกซ้อนระหว่างการสื่อสารของแกนนำบนเวทีไว้ชัดเจน เราจะหลุดจากวงจรคนดีไปได้อย่างไรความหวังจากการเลือกตั้ง 2566 จะปรากฏได้อย่างไร เมื่อคนจำนวนมากยังเชื่อแบบเดิม ติดอยู่ในวังวนความเกลียดชังป้ายสีแบบแบ่งพวกเขา-พวกเรา โดยแทบไม่มีเส้นตรงกลางเพื่อคนเห็นด้วยเพียงบางส่วนไว้พูดคุยทำความเข้าใจ ความเกลียดชังถูกผูกโยงกับหลักศีลธรรมความเชื่อทางพุทธศาสนาและความกตัญญูต่อชาติซึ่งเป็นคุณค่าเดิมที่คนไทยกอดไว้แน่น
ด้านหนึ่งเมื่ออ่านจบ มันชวนเรานึกย้อนไปถึงการปาฐกถาพิเศษ ของ อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในงาน ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ ครั้งที่ 16 เมื่อปี 2561 ช่วง 3 ปี หลังการรัฐประหารปี 2557 ครั้งนั้นเป็นการพูด ๆ ถึงสังคมไทยภายใต้วาทกรรม คนดี ช่วงหนึ่งอาจารย์เสกสรรค์ ท่านชี้ให้เห็นว่า ความเป็นคนดีในบริบทไทยมักมีนัยเรื่องความสัมพันธ์ทางอำนาจค่อนข้างมากและคนไทยยังผูกโยงอยู่กับการเมืองไทย
“…จะว่าไปความเป็นคนดีในทางธรรมนั้น จะต้องไม่ยึดติดในความดีของตน ไม่โฆษณาตัวเอง และไม่ยกตนข่มท่าน เพราะมันจะพาย้อนกลับไปสู่การขยายอัตตาตัวตน ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับจุดหมายในการทำดี เพื่อการหลุดพ้นทางจิตวิญญาณ แต่ผมเข้าใจว่าความเป็นคนดีที่พูดถึงกันบนเวทีขับไล่รัฐบาลพลเรือนไม่ได้เป็นเรื่องเช่นนี้ หากเป็นการเอาความเป็นคนดีมาใช้สร้างอัตตารวมหมู่ เป็น Collective Ego ซึ่งก่อเกิดเป็นอัตลักษณ์ของกลุ่มผู้ประท้วง ขณะเดียวกันก็กดเหยียดฝ่ายตรงข้ามให้มีฐานะต่ำกว่าในทางศีลธรรม อันนี้แน่นอนเป็นการปูทางไปสู่การจะทำอย่างไรก็ได้ จะจัดการอย่างไรก็ได้ กับฝ่ายที่ถูกระบุไว้แล้วว่าเป็นคนไม่ดี ”
ความรุนแรงจำนวนมากในการชุมนุมปี 2557 ถูกกระทำในนามของศีลธรรม เพื่อธำรงค์ไว้ซึ่งระเบียบแบบแผนหรือสิ่งที่สังคมนั้น ๆ ยึดถือ คนที่เห็นต่างตายถูกด้อยค่า คนที่มีความคิดความเชื่อเดียวกันตายถูกยกย่องว่าเสียสละเพื่อชาติเพื่อแผ่นดิน น่าเศร้า ยิ่งหดหู่เมื่อต้องยอมรับว่าสิ่งนี้เกิดขึ้น
วาทกรรมการเมืองโดยคนดีคือการสร้างการเมืองแบบปราศจากความรับผิดชอบเป็นการผลิตซ้ำระบบการปกครองแบบอำนาจนิยมแบบไทยที่มอบอำนาจสูงสุดเด็ดขาดให้ผู้มีอำนาจโดยกล่อมเกลาให้ประชาชนไว้ใจรัฐบาลที่ปกครองโดยคนดี เชื่อว่าคนดีจะใช้อำนาจเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมอย่างไร้ซึ่งกิเลสตันหา… เชื่อว่าคนดีจะไม่คอรัปชั่น แต่จะกำกับตรวจสอบตนเองและมีมโนธรรมสำนึกที่ดี การเมืองแบบนี้ประชาชนถูกวางบทบาทให้เป็นผู้ตามที่ดีเป็นผู้น้อยที่อยู่ในโอวาทของรัฐเป็นราษฎรที่คอยเชื่อฟังรัฐทำตามคำสั่งของรัฐโดยไม่ต้องกระตือรือร้นเข้ามามีส่วนร่วมในพื้นที่การเมืองเพราะจะทำให้บ้านเมืองวุ่นวายขาดความเป็นระเบียบเรียบร้อย [ หน้า 126 , หนังสือให้คนดีปกครองบ้านเมือง]
ภาพวาทกรรมคนดีถูกสะท้อนชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ และชวนให้เรานึกย้อนถึงตัวเองในช่วงเวลานั้น เราในวันนั้น ในฐานะนักข่าวป้ายแดงสายตายังพร่ามัว เรายืนอยู่ในจุดที่มองไม่เห็นความซับซ้อนของสถานการณ์วันที่เกิดการรัฐประหาร เราได้รับโอกาสไปร่วมสังเกตการณ์ท่ามกลางนักข่าวทุกสำนัก นายตำรวจ นายทหารจำนวนนับร้อยที่สโมสรทหารบก การรายงานข่าวช่วงความขัดแย้งจนถึงช่วงก่อนการรัฐประหาร จมอยู่กับสถานการณ์รายวัน ในขณะที่คนดีแทรกซึมลงลึกอยู่ในทุกบทสนทนา จากวันนั้นถึงวันนี้ คนดียัง Never Dies และประเทศไทยยังคงอยู่ภายใต้การบริหารของนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ ตู่
เพลงคนดีไม่มีวันตาย ติดชาร์ตเพลงในดวงใจนายก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยให้สัมภาษณ์ว่า เปิดฟังทุกครั้งเวลาที่เหนื่อย ท้อแท้
ปัจจุบันสังคมไทยกำลังจดจ่อกับการเลือกตั้งที่คาดว่าจะมาถึงในช่วง 3 เดือน นับจากบทความนี้ได้พบปะกับผู้อ่าน นี่จึงเป็นช่วงเวลาที่ดีที่จะชวนให้คนสายตาสั้นมองเห็นในระยะยาว ชวนคนที่มองไม่ชัดเห็นให้ถนัดขึ้นจากหนังสือเล่มนี้
แท้จริงเราต้องการเลือกคนดีเข้าสภาฯ หรือเราต้องการคนที่ประชาชนสามารถต้องตรวจสอบได้ คนดีแท้ คนโปร่งใส คนจริงใจนั้นใครนิยาม หากแกนแท้ของประชาธิปไตยไม่ใช่การวัดดี-ชั่ว เราจะมัวเลือกคนดีเข้าสภา แทนที่จะดึงผู้คนกลับเข้าสู่วงโคจรของประชาธิปไตย ที่ให้พื้นที่คนส่วนน้อยและคนส่วนใหญ่อย่างไม่ด้อยค่ากันหรือ
การเชื่อฟังและจำยอมทำตาม กับการได้มีส่วนร่วม มันช่างเป็นรสชาติที่แตกต่างกัน
หนังสือ : ให้คนดีปกครองบ้านเมือง การเมืองวัฒนธรรมของขวาไทย
ผู้เขียน : ประจักษ์ ก้องกีรติ
สำนักพิมพ์ : ฟ้าเดียวกัน
PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี