บทสรุป พ.ร.บ.กยศ.ที่ถูกลดเพดานโดยวุฒิสภาแต่งตั้ง - Decode
Reading Time: < 1 minute

ประกายไฟลามทุ่ง

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ร่างพระราชบัญญัติ กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ถูกนำเสนอท่ามกลางกระแสการถกเถียงที่เกิดขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคมปี 2565 การรวมตัวของคนรุ่นใหม่ที่เรียกร้องกระบวนการล้างหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษา อันเป็นแนวทางที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ภายใต้การนำของประธานาธิบดี โจ ไบเดน การถกเถียงเรื่องกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา เกิดขึ้นพร้อมกันกับร่าง พ.ร.บ.กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ที่นำเสนอโดยพรรคภูมิใจไทยได้ผ่านการลงคะแนนวาระ 3 โดยสภาผู้แทนราษฎร โดยมีรายละเอียดสำคัญคือ การลดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับเป็นศูนย์ ซึ่งนับเป็นการตอบสนองต่อปัญหาที่มีการเรียกร้องอย่างต่อเนื่อง จากปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ความเหลื่อมล้ำในการศึกษาระดับสูงที่ได้มีหลายสื่อติดตามประเด็นนี้

ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบ ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ชอบหรือไม่ชอบพรรคภูมิใจไทย แต่กฎหมายฉบับนี้ได้ถูก ‘ผ่าน’ โดยสภาผู้แทนราษฎรถึงสามวาระ มีการถกเถียงในระดับกรรมาธิการไปเรียบร้อย แม้จะไม่ได้เป็นกฎหมายฉบับที่ก้าวหน้าที่สุด แต่ก็สะท้อนปัญหาที่สะสมมา มีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ถูกยึดที่ดิน ยึดบ้านเพราะดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ การใช้แนวทางการเป็นหนี้ สำหรับผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้เข้าถึงการศึกษาระดับสูงในภาพใหญ่เหมือนเป็นการลงโทษและโบยตีมากกว่าการสร้างโอกาส

นอกจากนี้ กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษายังเสียเงินจ้างทนายมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาทในรอบสิบปี เพื่อติดตามหนี้ที่มีแนวโน้มไม่สามารถนำมาคืนได้ ซึ่งหากพิจารณาในแง่นี้ก็จะพบว่าการบริหาร กยศ. ในฐานะการจัดการนโยบายสาธารณะมีปัญหา เพราะแม้จะเป็นรัฐบาลอำนาจนิยม หรือขาดความรู้เรื่องการบริหารจัดการ การนำเงินพันล้านบาทในแต่ละปีไปหมุนกับการจ้างทนาย เพื่อตามเงินที่ไม่มีวันได้กลับคืนมา ย่อมไม่สมเหตุสมผลแน่นอน

หรือถ้าพูดง่าย ๆ สภาย่อมไม่มีทางอนุมัติงบประมาณในลักษณะนี้แน่นอน แต่เมื่อการบริหาร กยศ.มีลักษณะเป็นกองทุนที่ไม่ได้ถูกตรวจสอบโดยอำนาจของประชาชน จึงก่อให้เกิดการบริหารจัดการที่น่าสงสัย

กลับมาที่ ร่าง พรบ. กยศ.ฉบับล่าสุด เมื่อผ่านสภาผู้แทนราษฎรไปแล้วและจะเข้าวุฒิสภา ซึ่งกลายเป็นปัญหา เพราะอย่างที่ทราบกันว่า  วุฒิสภามาจากการแต่งตั้ง 100%  ในช่วงกว่าสี่ปีที่ผ่านมา มีกฎหมายที่ได้ผ่านมาถึงวุฒิสภา ‘น้อยมาก‘ และในอายุสภาไม่ถึงครึ่งปีที่เหลือ ตามหลักการวุฒิสภาควรที่จะเห็นชอบกับร่างของสภาผู้แทนราษฎร เพราะที่มาของอำนาจต่างกัน และยืนยันหลักการที่สภาผู้แทนราษฎรได้ลงคะแนนและมีการศึกษาประเด็นดังกล่าวร่วมกัน

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงสิ้นปี 2565 วุฒิสภากลับมีมติแก้ไขร่าง โดยยืนยันการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ และลดเฉพาะเบี้ยปรับ ซึ่งนับว่าเป็นการลดเพดานข้อเสนอ และมีการตั้งกรรมาธิการเพื่อศึกษาเรื่องนี้เป็นระยะเวลาสั้นนักเมื่อเทียบกับการศึกษาของสภาผู้แทนราษฎร แม้ในทางเศรษฐศาสตร์เชิงนโยบายอาจมีคนบอกว่า ไม่มีความแตกต่างกันมากนัก และทางวุฒิสภาก็ยืนยันหลักการดอกเบี้ย ไม่เกิน 1% ถ้ารัฐบาลชุดหน้ามาก็สามารถกำหนดดอกเบี้ยเป็น ‘ศูนย์’ ก็ได้ แต่คำถามสำคัญคือ

1.จุดนี้เป็นปัญหาในทางการเมืองว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เปิดโอกาสให้มี ส.ว. แต่งตั้งเลือกนายกรัฐมนตรีได้ยังไม่พอ ส.ว.ยังมีอำนาจในการปรับแต่งข้อเสนอของสภาผู้แทนราษฎร และกรณีนี้ทำให้ประชาชนเป็นผู้เสียประโยชน์

2.อายุสภาเหลือน้อย หากสภาไม่รับร่าง ส.ว.ที่เสนอมาแม้จะเป็นการลดเพดานเรื่องนี้ แต่ถ้าร่างฯนี้ตกไปก็ต้องเริ่มกันใหม่ และมีแนวโน้มที่จะไม่ทันต่อในอายุของสภาฯชุดนี้ สภาฯจึงจำเป็นต้องรับร่างฯฉบับนี้ อย่างน้อยให้มีการปรับเปลี่ยนแก้ไข

3.เป็นเรื่องน่าเศร้าที่พรรคการเมืองที่เคยต่อต้านการสืบทอดอำนาจ โดยเฉพาะ อำนาจของ ส.ว.อย่างแข็งขัน กลับเห็นชอบร่างฯนี้ เพียงเพราะว่ามีหลักการคล้ายกับที่พรรคตนเองมีจุดยืนเรื่องนี้

แต่ในการอภิปรายร่างฯ ของส.ว.เราก็เห็นความก้าวหน้าที่สำคัญ มี ส.ส. 11 คนที่ปฏิเสธไม่รับหลักการร่างของ ส.ว. และมีหลายท่านที่ประกาศจุดยืนว่า ‘กยศ.มีปัญหา’ สมัยหน้าถ้าพวกเขามีโอกาสเป็นรัฐบาลจะล้างหนี้ กยศ.ทันทีเพราะ มันคืออุปสรรคของการเติบโตของชนชั้นกลางต่างจังหวัด เป็นอนุสาวรีย์ของความเหลื่อมล้ำ และเป็นการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาแบบไม่ตรงจุด ซึ่ง ส.ส ที่ยืนยันเรื่องนี้ คือ ส.ส.พรรคเพื่อไทย จากกาฬสินธุ์ ลพบุรี และลำพูน ส่วนพรรคประชาชาติก็ยืนยันการล้างหนี้ทันที

หรือเท่ากับว่าตอนนี้มีพรรคการเมืองคือ พรรคเสรีรวมไทย (นโยบายพรรค) พรรคประชาชาติ (นโยบาย การสัมภาษณ์แกนนำและ ส.ส. อภิปราย) พรรคเพื่อไทย (ส.ส. อภิปราย)

ย้อนกลับไปสามเดือนก่อน ใครจะคิดว่าจะมี ส.ส.กล้าประกาศล้างหนี้กยศ.ในสภาฯ วันนี้เพดานขยับแล้ว แม้จะถูกลดเพดานโดยวุฒิสภาแต่งตั้ง เรื่องนี้เป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า เมื่อประชาชนส่งเสียงเราถึงจะมีสิทธิกลับมา แม้เสียงตะโกนของประชาชนสุดท้ายจะถูกกรบด้วยเสียงกระซิบของชนชั้นนำ แต่แม้เราจะไม่ได้ทุกอย่าง แต่เราก็จะใกล้กับเส้นทางสู่ความเสมอภาคมากขึ้น ถ้าเราส่งเสียงเราอาจจะพอได้อะไรบ้าง แต่ถ้าเราเงียบเสียงและจำยอมเราจะไม่มีวันได้อะไรเลย

เส้นทางเดินทางของเครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อล้างหนี้เพื่อการศึกษา และผลักดันให้มหาวิทยาลัยเรียนฟรี แม้จะยังไม่ชนะในวันนี้แต่ถือว่าได้เปลี่ยนความคิดของประเทศนี้ไปไม่มากก็น้อย

เป็นกำลังใจให้ให้แก่คนหนุ่มสาวผู้มีความฝันจะเห็นสังคมเสมอภาคทุกคน