มายาคติ 'ความสำเร็จ' - Decode
Reading Time: 2 minutes

ในความเคลื่อนไหว

รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ

ความเชื่อทั่วไปที่แพร่หลายในหลายสังคมโดยเฉพาะในสังคมไทยคือ ความสำเร็จในชีวิตเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากตัวปัจเจก ไม่ว่าจะมาจากการทำงานหนักขยันอดทน หรือไม่เช่นนั้นก็เกิดจากความสามารถพิเศษส่วนบุคคลที่มักจะเรียกกันว่าพรสวรรค์ ความเชื่อเช่นนี้มีส่วนกำหนดการศึกษา ค่านิยมและรูปแบบในการเลี้ยงลูก รวมถึงทัศนคติในการดำรงชีวิต ดังที่เราเคยได้ยินกันอยู่เสมอว่าความขยันคือกุญแจสู่ความสำเร็จ ไม่เลือกงานไม่ยากจน และทุกอย่างเริ่มต้นได้ที่ตัวของเรา

ความเชื่อเช่นนี้พบเห็นได้ตามโฆษณา ละครทีวี หรือคำให้สัมภาษณ์ของคนดังที่ประสบความสำเร็จในชีวิตตามหน้านิตยสารและเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่บอกเราการดิ้นรน ปากกัดตีนถีบ และอดทนฝ่าฝันอุปสรรคต่าง ๆ จนไต่บันไดความสำเร็จขึ้นมาจนถึงจุดสูงสุด

บนฐานความเชื่อและทัศนคติเช่นนี้ นำไปสู่การมองมนุษย์แยกออกจากสังคมและสภาพแวดล้อมรอบตัวเรา เสมือนว่าบุคคลแต่ละคนคืออะตอมที่แยกขาดจากกัน และแยกขาดจากหน่วยทางสังคมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวที่เราเกิด ประเทศที่เราอาศัย ชุมชนที่เราเติบโตมา ครู เพื่อนร่วมชั้นและบรรยากาศในโรงเรียนที่พ่อแม่ส่งเราเข้าเรียน รวมถึงมหาวิทยาลัยที่เราร่ำเรียนและจบการศึกษามา สังคมที่เชื่อในเรื่องความสำเร็จของปัจเจกเกิดจากปัจเจกเองจึงสร้างสภาวะที่ทุกคนแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตายตั้งแต่เด็กจนโต (เมื่อก่อนแข่งกันจริงจังตอนประถมหรือมัธยม ปัจจุบันสนามการแข่งขันเริ่มตั้งแต่อนุบาลเสียแล้ว) เพราะทุกคนคือคู่แข่งของกันและกัน และลู่วิ่งที่จะพาเข้าสู่เส้นชัยนั้นเป็นลู่วิ่งที่เราต้องวิ่งไปเพียงลำพัง

แต่ความสำเร็จในชีวิตของปัจเจกคนหนึ่งมาจากความสามารถหรืออัจฉริยภาพของตัวปัจเจกเองจริง ๆ หรือ?

หนังสือเรื่อง The Tyranny of Merit: What’s Become of the Common Good? (แปลเป็นไทยแล้วในชื่อ “เผด็จการความคู่ควร” โดยสฤณี อาชวานันทกุล) พยายามชวนคนอ่านให้ขบคิดกับประเด็นนี้อย่างจริงจัง ผู้เขียนคือ ไมเคิล แซนเดล

นักปรัชญาที่มีชื่อเสียงจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เจ้าของผลงานอ่านสนุกและขายดีอย่างเรื่อง the Justice (ความยุติธรรม) ยกตัวอย่างปรากฎการณ์หลายอย่างในสังคมอเมริกาที่เขาอาศัยอยู่มาชวนให้คนอ่านตั้งคำถามกับนิยามความสำเร็จ (และความล้มเหลว) ในชีวิตแบบปัจเจกนิยมนี้ ซึ่งเมื่ออ่านจบแล้ว ผู้อ่านคนไทยคงอดอุทานไม่ได้ว่า แทบไม่ต่างอะไรกับสังคมไทยจริง ๆ

แซนเดลชี้ให้เห็นว่าสังคมแบบอเมริกันมีความเชื่อเช่นนี้อย่างฝังรากลึก ดังคำกล่าวที่ว่า “คนทุกคนจะไปได้ไกลเท่าที่พรสวรรค์และการทำงานหนักของพวกเขาจะพาไป ไม่ว่าพวกเขาจะมาจากจุดเริ่มต้นใดก็ตาม” หรือพูดอีกแบบหนึ่งคือทุกคนสามารถก้าวจากดินสู่ดาว

แต่ความเชื่อเช่นนี้มันจริงหรือเป็นเพียงแค่มายาคติที่มีไว้กล่อมเกลาผู้คน เพื่อบดบังไม่ให้คนตั้งคำถามถึงปัจจัยเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมและการเมืองที่ใหญ่กว่านั้น

เริ่มจากแค่ว่า ทุกคนมีโอกาสที่เท่าเทียมกันในการก้าวจากดินสู่ดาวจริงหรือไม่ ข้อเท็จจริงที่แซนเดลชี้ให้เห็น (ซึ่งนักการศึกษาจำนวนมากก็ชี้ให้เห็นมานานแล้ว) นั้นตรงกันข้าม ข้อมูลชี้ว่านักศึกษาที่เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐฯ นั้นส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวยกว่าค่าเฉลี่ยของสังคม และยิ่งนานวันเข้าสัดส่วนของเด็กจากครอบครัวที่ยากจนก็ฝ่าฟันเข้าเรียนมหาวิทยาลัยชั้นนำได้น้อยลงไปเรื่อย ๆ

แน่นอนว่าปริญญาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำอย่างเยล ฮาร์วาร์ด สแตนฟอร์ด พรินซ์ตัน ย่อมเป็นใบเบิกทางชั้นดีให้นักศึกษาจากครอบครัวที่ร่ำรวยเหล่านี้ได้งานที่ดีและค่าตอบแทนสูงกว่าคนทั่วไป และย่อมทำให้ก้าวหน้าไปในชีวิตหลังจากนั้นได้รวดเร็วมากกว่าคนอื่น ในแง่นี้การศึกษาไม่ใช่เครื่องมือในการลดความเหลื่อมล้ำอย่างที่นักการศึกษาหลายคนเคยเชื่ออีกต่อไป แต่มันกลับกลายเป็นเครื่องมือในการผลิตซ้ำความเหลื่อมล้ำให้ถ่างกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ มันกลายเป็นจักรกลของการคัดแยกและตัดสินคน

ประเด็นที่น่าสนใจคือ แซนเดลบอกว่าสังคมที่เชื่อในเรื่องความสำเร็จมาจากความสามารถของปัจเจกถูกทำให้มองไม่เห็นสิ่งเหล่านี้ คนที่ประสบความสำเร็จก็ถูกปลูกฝังว่ามันมาจากความสามารถส่วนตัวของพวกเขา/เธอแต่เพียงลำพัง

เราคงไม่ปฏิเสธว่าความสามารถกำหนดความสำเร็จในช่วงชีวิตของคนแต่ละคนอย่างแน่นอน (ไม่นับพวกที่โกงหรือเอาเปรียบแล้วประสบความสำเร็จ ซึ่งคนกลุ่มนี้มีแน่นอน แต่เราคงไม่อยากดำเนินรอยตามและออกแบบสังคมให้คนมุ่งสู่การโกง) แต่ความสามารถนั้นมาจากไหน? แซนเดลบอกว่า มันไม่ได้ลอยมาจากฟากฟ้า แต่มันมาจากสภาพแวดล้อมทางสังคมและ “มือที่มองไม่เห็น” ของใครต่อใครมากมาย  ลำพังแค่การเกิดในครอบครัวที่มีฐานะก็กำหนดชะตาชีวิตของคนได้อย่างมากมายแล้ว เด็กสองคนที่มีสมองฉลาดปราดเปรื่องและพื้นฐานทางรูปร่างหน้าตาเหมือนกัน แต่เกิดในครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่างกันมาก โอกาสที่เด็กที่เกิดในครอบครัวที่มั่งคั่งร่ำรวยจะประสบความสำเร็จมากกว่าเด็กอีกคนที่เกิดในครอบครัวยากจนก็ต่างกันหลายเท่า เพราะสามารถเข้าถึงทรัพยากรการเรียนรู้ทุกอย่างได้ ได้เรียนพิเศษ เสริมทักษะดนตรีกีฬา ซื้ออุปกรณ์เพื่อการศึกษา เดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศเปิดหูเปิดตา เรียนภาษาต่างประเทศ ฯลฯ

ยิ่งสังคมเหลื่อมล้ำสูงเท่าใด ความสามารถของคน ๆ หนึ่งถูกกำหนดมาจากฐานะของครอบครัวมากยิ่งขึ้นเท่านั้น สังคมไทยเองก็เป็นเช่นนั้น ความเหลื่อมล้ำในสังคมทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษา ตัวเลขชี้ชัดว่าโอกาสที่เด็กที่มาจากครอบครัวฐานะดีจะมีโอกาสเข้าเรียนและเรียนจบมหาวิทยาลัยนั้นสูงกว่าเด็กจากครอบครัวยากจนหลายเท่า ยังไม่ต้องพูดถึงคุณภาพของโรงเรียนและสถาบันการศึกษาที่ไม่เท่าเทียมกันโดยเฉพาะระหว่างกรุงเทพกับจังหวัดอื่น ๆ ระหว่างเขตเมืองกับเขตชนบท ก็ผลิตซ้ำช่องว่างทางสังคมให้ถ่างออกไปยิ่งขึ้น

ทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นความผิดของเด็กทั้งสองคนเลย เพราะคนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่สังคมที่เชื่อว่าทุกอย่างเริ่มต้นที่ปัจเจก ย่อมส่งผลต่อวิธีคิด เด็กที่มาจากครอบครัวร่ำรวยจะถูกสอนให้เชื่อว่าที่เขาสำเร็จเพราะตัวเขาเองและมันคู่ควรแล้ว เด็กที่ยากจน และดังนั้นจึงขาดโอกาสหลายอย่างในชีวิต แต่เขาจะถูกสอนให้โทษตัวเอง ว่าไม่ฉลาดเอง หัวไม่ดี ไม่ขยันเพียงพอ ชีวิตจึงล้มเหลว และเขาคู่ควรกับความล้มเหลวนั้น

ระบบการศึกษาที่เน้นการแข่งขันอย่างบ้าคลั่งเพราะลู่ทางของความสำเร็จนั้นมีลู่ทางเดียวคือ แข่งกันเข้ามหาวิทยาลัยดี ๆ เพื่อได้วุฒิบัตรที่สังคมรับรอง จึงคัดกรองคนออกเป็นสองกลุ่ม – ผู้ชนะกับผู้แพ้ – แต่ที่แย่ไปกว่านั้นคือ สังคมแบบนี้ส่งมอบความเครียดให้กับทั้งผู้ชนะและผู้แพ้ ในอเมริกาและในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง (เช่นเกาหลีใต้ ) เกิดค่านิยมในการเลี้ยงลูกแบบ “เฮลิคอปเตอร์” คือ พ่อแม่คาดหวังจากลูกตั้งแต่เด็ก พาไปเรียนพิเศษและทำกิจกรรมพิเศษไม่เว้นวันหยุด จากกิจกรรมหนึ่งไปอีกกิจกรรมหนึ่งแบบแทบไม่ได้หายใจ คาดหวังว่าลูกต้องบินสูงขึ้นเรื่อย ๆ เด็กที่ประสบความสำเร็จจึงสะสมความเครียดที่ถูกคาดหวังจากพ่อแม่และตัวเองว่าหากบินตกลงมา ส่วนเด็กที่ล้มเหลวในระบบแบบนี้ก็ย่อมสูญเสียความเชื่อมั่นและคุณค่าในตัวเอง จึงไม่น่าแปลกใจที่เยาวชนคนหนุ่มสาวขาดความสุขในชีวิตและประสบกับภาวะซึมเศร้าสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในยุคปัจจุบัน

เราจะมีหนทางออกจากภาวะเช่นนี้ได้อย่างไร? คำตอบคือ คงจะต้องเริ่มจากการเปลี่ยนค่านิยมในการวัดความสำเร็จในชีวิตว่าจะต้องมีสูตรสำเร็จที่เหมือนกันสำหรับทุกคน เลิกผูกผลสัมฤทธิ์ในการศึกษากับคุณค่าในชีวิตของตนเอง และที่สำคัญคือเลิกเชื่อในมายาคติว่าความสำเร็จ/ความล้มเหลวของเราเกิดจากตัวเราเพียงลำพัง ถ้าสังคมดี เด็กทุกคนจะเริ่มต้นจากจุดสตาร์ทที่ไม่ต่างกันมากเกินไป ถ้าคนส่วนใหญ่มองเห็นว่าปัจจัยเชิงโครงสร้างนั้นสำคัญ ก็จะนำมาสู่พลังในการผลักดันให้มีการเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจและระบบการศึกษาที่เหลื่อมล้ำ

หันมาเน้นการสร้างสนามการแข่งขันที่เท่าเทียม และสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงทรัพยากรการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพตนเองได้อย่างเท่าเทียม แซนเดล พูดถึงการให้รัฐลงทุนกับ “สินค้าสาธารณะ” ไม่ว่าจะเป็นสวนสาธารณะ ห้องสมุดสาธารณะ หอศิลป์ ที่พักผ่อนหย่อนใจ แหล่งการเรียนรู้ นอกจากนั้น เราคงต้องลดความเหลื่อมล้ำของคุณภาพโรงเรียนไม่ให้ห่างกันมากจนเกินไป เด็กที่เกิดนอกเมืองหลวงและนอกเมืองจะได้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพในชีวิตได้อย่างเต็มกำลัง และรัฐควรสร้างสวัสดิการทางสังคมเพื่อให้เด็กที่เกิดในครอบครัวที่ยากจนไม่ต้องตกอยู่ในสถานะผู้แพ้ตลอดกาล

ทั้งหมดนี้เรากำลังพูดถึงการออกแบบสังคมแบบใหม่และการสร้างค่านิยมแบบใหม่ ทั้งในเรื่องการศึกษา งาน ความสำเร็จ และความสุขในชีวิต ซึ่งคงต้องช่วยกันผลักดันอีกยาวนาน

หนังสือ: เผด็จการความคู่ควร แปลจากหนังสือ: The Tyranny of Merit
นักเขียน: Michael J. Sandel
ผู้แปล: สฤณี อาชวานันทกุล
สำนักพิมพ์: Salt Publishing

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี