ในความเคลื่อนไหว
รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ
เป็นเวลานานร่วมเดือนแล้วที่ประชาชนในอิหร่าน ในหลายเมืองทั่วประเทศออกมาชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาล นักสังเกตการณ์และผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการเมืองอิหร่านกล่าวว่านี่คือการแสดงพลังของประชาชนอิหร่านที่ต่อเนื่องยาวนาน กว้างขวาง และทรงพลังที่สุดในรอบหลายสิบปีนับตั้งแต่มีการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศมาสู่ระบอบเผด็จการรัฐศาสนาในปี ค.ศ. 1979 ที่คณะผู้นำสูงสุดที่เป็นกลุ่มผู้นำศาสนาได้รวบอำนาจการปกครองประเทศอย่างเบ็ดเสร็จ
การลุกฮือของประชาชนครั้งประวัติศาสตร์นี้มีชนวนเหตุมาจากการตายอย่างมีเงื่อนงำของมาห์ซา อามินี
หญิงสาววัย 22 ปีที่ถูกกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐที่เรียกว่า “ตำรวจศีลธรรม” (morality police) จับกุมในวันที่ 13 กันยายนในข้อหาสวมฮิญาบหรือผ้าคลุมหน้าไม่เรียบร้อย ทางตำรวจออกมาปฏิเสธว่าอามินีเสียชีวิตเนื่องจากหัวใจวาย แต่ผลการชันสูตรศพชี้ว่าเธอตายจากการที่ศีรษะถูกตีด้วยของแข็ง ข่าวคราวการเสียชีวิตของเธอทำให้เกิดการประท้วงลุกลามไปทั่วประเทศอย่างที่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อน
คลื่นของการประท้วงในลักษณะไฟลามทุ่งเช่นนี้ เคยปรากฏให้เห็นแล้วในเหตุการณ์อาหรับสปริง เมื่อวัยรุ่นตูนีเซียรายหนึ่งเผาตัวตาย เนื่องจากภาวะกดดันทางเศรษฐกิจและการหางานทำเพื่อจุนเจือครอบครัวของเขา กลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวที่นำไปสู่การล้มลงของระบอบเผด็จการอำนาจนิยมในหลายประเทศทั่วภูมิภาค ตั้งแต่ตูนีเซียไปจนถึงอียิปต์
ลำพังเหตุการณ์เดียวที่มักถูกเรียกว่าน้ำผึ้งหยดเดียวย่อมไม่อาจสั่นคลอนหรือโค่นล้มระบอบการเมืองได้ หากไม่มีความไม่พอใจอย่างกว้างขวางของประชาชนสะสมเป็นทุนเดิมอยู่ก่อน ความตายของอามินีก็เช่นกัน
ความตายของเธอปลุกให้เกิดคลื่นแห่งความโกรธของประชาชนพัดพาไปอย่างรวดเร็วและกว้างไกล เพราะมันตอกย้ำถึงโครงสร้างการเมืองแบบเผด็จการ พฤติกรรมที่โหดร้ายและใช้ความรุนแรงกับประชาชนของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นกิจวัตร และวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ในสังคมอิหร่านที่ดำรงอยู่มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน มันคือปัญหาเชิงโครงสร้างที่ผู้หญิงทุกวัยต้องประสบพบเจออยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน หลายรายตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงทั้งทางตรงและทางอ้อม หลายครอบครัวมีลูกสาวที่ถูกจับกุม ซ้อมทรมาน และสังหารเสียชีวิตจากเจ้าหน้าที่รัฐโดยไม่เคยสามารถเรียกร้องหาความยุติธรรมจากใครได้
จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่าในการประท้วงครั้งนี้ ผู้ที่ออกมาชุมนุมเป็นแนวหน้าในช่วงแรกคือกลุ่มผู้หญิง พวกเธอบอกว่า “พอกันที” (“enough is enough”) กับระบอบชายเป็นใหญ่ที่ปฏิบัติกับผู้หญิงราวกับเป็นทรัพย์สมบัติส่วนตัวของพ่อและสามี จำกัดเสรีภาพของผู้หญิงทั้งในการเดินทางไปไหนมาไหน การศึกษา โอกาสในการมีงานทำ การแต่งงาน กระทั่งสิทธิในการแต่งกาย ในการชุมนุมหลายจุดย่อย ๆ ที่ไม่ใช่แค่ในเมืองใหญ่อย่างเตหะราน เราได้เห็นภาพผู้หญิงอิหร่านออกมาถอดผ้าคลุมศีรษะอย่างเปิดเผยท้าทาย บางคนเผาผ้าคลุมเหล่านั้นเพื่อประท้วงกับกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิของพวกเธอ สโลแกนที่ถูกขับขานในการเคลื่อนไหวครั้งนี้คือ “ผู้หญิง ชีวิต และเสรีภาพ” (Women, Life, Freedom)
ผู้หญิงอิหร่านกำลังต่อสู้มิใช่เพื่ออะไรอื่น แต่เพื่อสิทธิขั้นพื้นฐานในร่างกายและชีวิตของตนเอง และเพื่อศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ การลุกขึ้นมาประท้วงครั้งนี้ต้องใช้ความกล้าหาญอย่างมากเพราะอิหร่านเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการอย่างเข้มข้นที่สุดประเทศหนึ่งในโลก (ก่อนหน้าที่จะเกิดสงครามรัสเซียรุกรานยูเครน อิหร่านเป็นประเทศที่ถูกบอยคอตจากนานาชาติมากที่สุด)
สิ่งที่น่าประทับใจและน่าสนใจในการต่อสู้ครั้งนี้คือ ผู้ชายจำนวนมากทั้งสูงวัยและรุ่นหนุ่มออกมาสนับสนุนการเรียกร้องสิทธิของผู้หญิง ไม่ได้ปล่อยให้พวกเธอสู้อย่างโดดเดี่ยว นอกจากนั้นคนในวงการกีฬาและแวดวงสังคมต่าง ๆ รวมถึงชาวอิหร่านที่อพยพหนีภัยเผด็จการออกนอกประเทศไปหลายปีก็ต่างออกมาร่วมสนับสนุนการชุมนุมประท้วงครั้งนี้อย่างกว้างขวาง มีการเดินขบวนของชาวต่างชาติในหลายเมืองใหญ่ทั่วโลกเพื่อแสดงจุดยืนเคียงข้างผู้ชุมนุมและประณามการใช้ความรุนแรงของรัฐบาลอิหร่านที่ปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรงป่าเถื่อน นอกจากนั้นยังมีแคมเปญที่ผู้หญิงทั่วโลกออกมาตัดผมตัวเองแล้วถ่ายคลิปวิดีโอลงโซเชียลมีเดียเพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับการต่อสู้ของผู้หญิงอิหร่าน
จากที่การชุมนุมประท้วงเริ่มด้วยกลุ่มผู้หญิงและเยาวชนเป็นกลุ่มเล็ก ๆ เพื่อให้รัฐต้องรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของอามินี และเรียกร้องเสรีภาพของผู้หญิง ตอนนี้ประเด็นขยายไปสู่ประเด็นปัญหาปากท้อง ค่าแรง การคอร์รัปชันและการใช้อำนาจตามอำเภอใจของเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมือง ความรุนแรงของตำรวจ และลามไปถึงการประท้วงต่อต้านระบอบการปกครองทั้งระบอบ ผู้ที่เข้าร่วมชุมนุมไม่ได้จำกัดแค่ผู้หญิง แต่ครอบคลุมคนทุกเพศทุกวัยทุกอาชีพ สะท้อนความอึดอัดไม่พอใจต่อระบอบอย่างกว้างขวาง
สื่อโซเชียลกลายเป็นเครื่องมือที่มีพลังมากในการประท้วงรัฐเผด็จการอิหร่านครั้งนี้ เนื่องจากสื่อในประเทศถูกคุมโดยรัฐอย่างเข้มงวด และสื่อต่างชาติถูกห้ามไม่ให้ทำข่าว ช่องทางอย่างทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก และ Tiktok ถูกนำมาใช้เพื่อเผยแพร่ภาพความทารุณโหดร้ายของตำรวจ และส่งต่อภาพการแสดงออกของผู้ประท้วงออกไปทั่วโลก แม้ว่ารัฐบาลอิหร่านพยายามจะเข้าแทรกแซงและเซ็นเซอร์ช่องทางเหล่านี้ แต่ก็ไม่สามารถปิดกั้นได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งก็ไม่ต่างจากรัฐบาลเผด็จการในหลายประเทศ
สังคมอิหร่านนั้นเป็นสังคมที่คนหนุ่มสาวอายุต่ำกว่า 30 ปี คิดเป็นสัดส่วนประชากรสูงถึงร้อยละ 60 พวกเขา/เธอคือคนที่โตมาพร้อมกับค่านิยมและความคิดความเชื่อแบบใหม่ พวกเขามองไม่เห็นอนาคตตนเองภายใต้ระบอบการปกครองแบบเผด็จการศาสนาที่พวกเขามองว่าทั้งกดขี่และล้าหลัง คนหนุ่มสาวหลายคนกล่าวว่าที่ออกมาประท้วงครั้งนี้ เพราะไม่ต้องการยอมจำนนต่อระบอบนี้เหมือนที่คนรุ่นปู่ย่าตายายและรุ่นพ่อแม่เคยยอมมาก่อน
ภาพที่ผู้นำสูงสุดและคณะผู้ปกครอง (ผู้ชายสูงวัยทั้งหมด) คงไม่คาดคิดว่าจะได้เห็น คือ ภาพนักเรียนวัยประถมในหลายโรงเรียนลุกขึ้นมาปลดรูปของผู้นำสูงสุด อยาตอลเลาะห์ คาเมเนอี ผู้เป็นประมุขของรัฐ ลงจากผนังของโรงเรียน บางคนชูนิ้วกลางให้ผู้นำสูงสุด และพากันเดินขบวนในโรงเรียนเพื่อประท้วงร่วมกับประชาชนกลุ่มอื่น ๆ การเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐครั้งนี้จึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่ชนชั้นกลางเหมือนการประท้วงการเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรมในปี ค.ศ. 2009 หรือการประท้วงของกลุ่มแรงงานในการประท้วงเรื่องค่าครองชีพในช่วงปี 2017-2018 นักวิชาการบางคนเรียกปรากฎการณ์ทางการเมือง ณ ขณะนี้ว่าการปฏิวัติทางสังคม ซึ่งไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นในประเทศอิหร่านที่ระบอบการปกครองแบบเทวาธิปไตยที่กลุ่มผู้นำศาสนาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่มีอำนาจปกครองประเทศอย่างแท้จริงเหนือประธานาธิบดีและรัฐสภาที่กลุ่มผู้นำศาสนาคัดสรรมาให้ประชาชนเลือกอีกต่อหนึ่ง สามารถครองอำนาจมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 43 ปีแล้ว
การโค่นล้มระบอบเผด็จการแบบรัฐศาสนาไม่ใช่เรื่องง่ายแต่อย่างใด คลื่นการประท้วงมิใช่ไม่เคยเกิดในสังคมอิหร่านมาก่อน แต่มันถูกทำให้มอดดับไปด้วยความรุนแรงของรัฐ ครั้งนี้ รัฐบาลอิหร่านก็ตอบโต้การชุมนุมอย่างสันติของประชาชนด้วยการปราบปรามอย่างรุนแรง ทั้งใช้แก๊สน้ำตา กระบอง และกระสุนจริง ตำรวจศีลธรรม อันธพาล ตำรวจนอกเครื่องแบบ และตำรวจหน่วยควบคุมฝูงชนถูกระดมกำลังออกมาบนท้องถนนอย่างเต็มกำลังเพื่อยุติการต่อสู้ของประชาชน รัฐบาลยังใช้สื่อโจมตีผู้ชุมนุมว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบและสร้างข่าวบิดเบือนว่าผู้ชุมนุมทำร้ายตำรวจ
ณ ขณะที่เขียนบทความนี้ องค์กรสิทธิมนุษยชนประเมินว่าผู้ชุมนุมประท้วงถูกรัฐสังหารเสียชีวิตจากการปราบปรามไปแล้วกว่า 244 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีเยาวชนถึง 32 ราย อีกกว่า 12,500 ถูกควบคุมตัว
รัฐเทวาธิปไตยในอิหร่านอาจจะไม่ล้มลงไปในระยะเวลาอันใกล้ เพราะกลไกรัฐยังทำงานเป็นปึกแผ่นและหน่วยงานด้านความรุนแรงอย่างตำรวจและทหารยังคงไม่แตกแถวในการสนับสนุนผู้นำสูงสุด แต่คลื่นของการประท้วงของประชาชนอิหร่านในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า สังคมอิหร่านยากที่จะกลับไปเหมือนเดิมอีกต่อไป และรัฐที่ต้องปกครองประชาชนด้วยความรุนแรงแต่สูญเสียอำนาจในการครองจิตใจของประชาชนนั้นย่อมไม่อาจปกครองได้อย่างสงบและยั่งยืน