'ซ่อมสุข' ปฐมพยาบาลบาดแผลทางอารมณ์ - Decode
Reading Time: < 1 minute

ภายใต้รอยยิ้ม : ) ไม่ได้แปลว่าทุกอย่างราบรื่น ภายใต้ความสุขก็ไม่ได้หมายความว่าเราไม่มีบาดแผล กับคำพูดที่ว่ายิ่งโตยิ่งมีแผล นั่นจริงยิ่งกว่า การถูกปฏิเสธ , ความเหงา , การสูญเสียและเหตุการณ์สะเทือนใจ , ความรู้สึกผิด , การครุ่นคิด , ความล้มเหลว และความเคารพในตัวเองต่ำ ล้วนมีอนุภาพมหาศาลในการสร้างบาดแผลทางอารมณ์ ข้อสำคัญคือบ่อยครั้งที่เราเห็นแผลทางอารมณ์ก็ต่อเมื่อมันเน่า ส่งกลิ่นรบกวนคนรอบข้าง แน่นอนบาดแผลทางอารมณ์มันไม่ได้มีรอยถลอกหรือเลือดไหล กว่าที่หลายคนจะรู้ตัวก็มักจะเกินศักยภาพการปฐมพยาบาลด้วยตัวเองซะแล้ว 

เราเคยคุยกับจิตแพทย์ในไทยที่ทำงานมาไม่ต่ำกว่า 10 ปีหลายต่อหลายคน พวกเขาพูดเหมือนกันว่า ผู้ป่วยทางอารมณ์อย่างโรคซึมเศร้า หรือโรคอื่น ๆ ต่างเคยอยู่ในภาวะแผลทางอารมณ์ที่มีรอยถลอก แค่ทายาเองก็น่าจะหาย แต่อย่างที่บอกเพราะการรู้สึกตัวว่ามีแผลถลอกทางอารมณ์มันไม่ง่าย ระบบการศึกษาไทยก็ไม่มีตัวคัดกรอง ไม่ได้ให้เครื่องมือคัดกรองกับเราด้วย สังคมทุนนิยมที่ชีวิตส่วนมากอยู่กับงานและการแข่งขันนอกบ้าน ซึ่งทำให้สมาชิกในครอบครัวอยู่คนละไทม์โซน แผลเลยใหญ่โตจนต้องพึ่งจิตแพทย์ ใครมีศักยภาพก็อาจมีโอกาสหายมากกว่า เพราะการพบจิตแพทย์แต่ละครั้งมีต้นทุนต้องจ่าย 

ภาพที่เล่ามาทั้งหมดเป็นที่มาของแรงบันดาลใจในการหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาเล่า สำหรับ PlayRead สัปดาห์นี้ บนความเชื่อที่ว่าเราทุกคนควรวินิจฉัยอาการบาดเจ็บทางอารมณ์ของเราได้ และควรมียาสามัญประจำตัว ควรมีวิธีการปฐมพยาบาลทางอารมณ์พกใส่กระเป๋าในทุกวันท่ามกลางสภาพสังคมที่บีบรัดเต็มไปด้วยหลุมบ่อที่อาจทำให้เราตกกระแทกแผลแตกเอาง่าย ๆ 

เนื้อหาทั้งหมดใน Emotional First Aid ซ่อมแซมสุขที่สึกหรอ ได้ถ่ายทอดประสบการณ์และคำแนะนำวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดย กาย วินซ์  จิตแพทย์ที่ให้ความสำคัญกับสุขภาวะทางจิตใจ รายละเอียดของเนื้อหาสกัดออกมาจากการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างตามหลักคิดทางวิทยาศาสตร์ มีการตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการว่ามีความน่าเชื่อถือ ในบรรดาบาดแผลทางอารมณ์ทั้ง 7 ที่เขียนไว้ในหนังสือเล่มนี้ มีวิธีการรักษาหลายระดับ หลายแบบแตกต่างกันออกไป เราเลือกเปิดแผลความเหงารีวิวให้ฟัง เพราะเข้าใจว่าเป็นบาดแผลที่ผู้คนมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา กระทั่งหลายคนปฏิเสธที่จะรักษา เมินเฉยต่อความเหงา ก็เพราะมองว่ามันธรรมดาไง !

แต่เชื่อเราเถอะ ความเหงามันร้ายกว่าที่คุณรู้สึก มันร้ายลึกตรงที่เศษส่วนของความเหงา คือตัวเราเป็นคนประกอบสร้างรอยแผล

คำเตือน ! โปรดระวังแผลในต่อมความเหงาอักเสบ

โลกเราหดเล็กลงจากโซเชียลมีเดีย เราสามารถสานสัมพันธ์-เชื่อมโยงกับผู้คน เพียงแค่การคลิ๊ก พิมพ์หรือ การปัดจากปลายนิ้ว แต่เชื่อเถอะว่าผู้คนกำลังเผชิญกับความเหงามากกว่าครั้งไหน ๆ  

คุณตีความความเหงาว่าอะไร ? 

สำหรับคุณ ความเหงามีหน้าตาแบบไหนกันแน่ ? 

หนังสือเล่มนี้พูดถึงความเหงาที่ไม่ได้หมายความเพียงความโสด ไม่ใช่ทุกคนที่อยู่คนเดียวจะเหงา และไม่ใช่คนเหงาทุกคนที่อยู่คนเดียว

กาย วินซ์ จิตแพทย์ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เปรียบเปรยไว้ว่า ความเหงากับการสูบบุหรี่มีอะไรเหมือนกันความเหงาส่งผลกระทบที่น่าวิตกต่อสุขภาพ มันเปลี่ยนแปลงการทำหน้าที่ของระบบหัวใจและหลอดเลือด(อาจนำไปสู่โรคความดันโลหิตสูง ดัชนีมวลกายที่เพิ่มขึ้น และคอเลสเตอรอลที่สูงขึ้น)และระบบต่อมไร้ท่อเพิ่มฮอร์โมนความเครียด มีตัวอย่างงานศึกษาเรื่องสุขภาพของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งพบว่า คนที่เหงาจะตอบสนองต่อวัคซีนไข้หวัดใหญ่น้อยกว่าคนที่ไม่เหงาอย่างมีนัยยะสำคัญ ความเหงายังเป็นสาเหตุให้ความสามารถทางจิตใจอ่อนแอลง ส่งผลต่อการตัดสินใจ ความคิด การนอนไม่หลับและมันมีผลเรื้อรังที่ทำให้อายุขัยเฉลี่ยสั้นลง พอ ๆ กับการทำงานของบุหรี่ 

แตกต่างตรงที่ความเหงาแทบไม่แสดงอาการในระยะฟักตัว มันไม่ยอมแสดงอาการหรือกระตุ้นความรู้สึกว่านี่เป็นเรื่องเร่งด่วน บุหรี่มีคำเตือนข้างซองว่าอย่าสูบเกิน 2 ซองต่อวัน แต่น้อยคนที่จะตระหนักถึงอันตรายของการสูดลมหายใจเอาความโดดเดี่ยวทางสังคมเข้าไป ความเหงาติดต่อถึงกันได้และก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพร้ายแรง โชคร้ายที่มันเป็นหนึ่งในอาการบาดเจ็บทางจิตใจที่ถูกละเลยมากที่สุด สาเหตุส่วนหนึ่งของความเหงา คือ กล้ามเนื้อความสัมพันธ์ของเราอักเสบ

ถ้าคุณมุมมองหรือคาดการณ์ถึงความคิดในมุมลบของคนอื่นก่อนเสมอ ลองใช้วิธีการรักษา A ถอดแว่นตาที่ย้อมสีเนกาทีฟออก เพราะความเหงาทำให้เกิดอาการหวาดระแวงตลอดเวลาและพลาดโอกาสสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมใหม่ ๆ เช่นหากถูกเชิญไปงานเลี้ยงคนเหงาอาจปฏิเสธเพราะจินตนาการเห็นภาพตัวเองยืนเขิน ๆ คนเดียว ทั้งที่นั่นอาจเป็นจินตนาการที่ตรงข้ามกับความเป็นจริง วิธีนี้ต้องอาศัยความกล้าเป็นอาวุธต่อสู้กับการมองโลกในแง่ร้าย 

ความเหงาทำให้เราสานสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ ด้วยความระมัดระวัง เต็มไปด้วยความเคลือบแคลงสงสัยคนอื่น ๆ มักมองเห็นความลังเลใจของเราอย่างชัดเจนจนทำให้พวกเขาถอยห่างอารมณ์แย่ ๆ ของคุณ คุณจะก็รู้สึกผิดหวังกับตัวเองมาก ๆ และจากนั้นก็จะสรุปผลลัพธ์ว่าถูกแล้วที่เคลือบแคลงสงสัย คุณมักไม่เข้าใจว่าความคาดหวังของคุณก่อความคาดหวังที่เป็นความจริงขึ้นมา ถ้าคุณมักมีคำปฏิเสธไปร่วมกิจกรรมทางสังคมที่ฟังไม่ขึ้น มักยืนกอดอก ล้วงเงินในกระเป๋านานเกินเหตุ แสร้งสนใจข้อความทางโทรศัพท์ทั้งที่ไม่มีอยู่จริง หรือ สารภาพความผิดความไม่มั่นคงทางใจให้คนที่เพิ่งเจอกันครั้งแรกฟัง ลองใช้วิธีการรักษา B ระบุพฤติกรรมซ้ำเติมตัวเองของคุณ

และเพราะความเหงาและความโดดเดี่ยวทางสังคมทำให้กล้ามเนื้อการรับมุมมองของคุณอ่อนแอ แต่ในความสัมพันธ์เป็นเรื่องการให้และการรับเสมอ การที่จะประสบความสำเร็จเรื่องสานสัมพันธ์จะต้องรับสาร ตีความมุมมองของอีกฝ่ายอย่างถูกต้องตรงไปตรงมา ถ้าคุณกำลังอยู่ในภาวะเจ็บป่วยจากความเหงาจนทำให้ตีความความคิดของคนอื่นผิดเพี้ยนเสมอ ลองใช้วิธีรักษา C ด้วยการมองเรื่องราวจากมุมของอีกฝ่าย 

ภาวะความเหงาเป็นความปวดร้าวทางอารมณ์ที่ตัวเรามีส่วนสร้างประกอบสร้างขึ้นมา จริง ๆ วิธีการรักษาและวิเคราะห์จำแนกสาเหตุของแผลความเหงายังมีอีกสองสามข้อ แต่ละคนถูกจริตกับการรักษาในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป และไม่ว่าคุณจะเลือกรักษาความเหงาด้วยวิธีไหน โปรดอย่าลืมว่า ไม่ควรปล่อยให้ความเหงากินเวลาชีวิตเรานานนัก อย่าลืมว่าความเหงานับเป็นบาดแผลที่น่ากลัว ลุกลามเร็ว เน่าง่าย รักษานาน 

ไม่มียาปฏิชีวนะทางอารมณ์ 

สำหรับเรา Emotional First Aid ซ่อมแซมสุขที่สึกหรอ ของ กาย วินซ์  กำลังทำหน้าที่เป็นตู้ยาสำหรับปฐมพยาบาลรอยแผลทางอารมณ์ที่สั่นสะเทือนความสุขของเราในช่วงเวลาเดือนเต็ม ๆ ที่ทดลองทำแบบฝึกหัดตามขั้นตอนการปฐมพยาบาลเบื้องต้น อย่างน้อยวันนี้เราก็ได้เข้าใจอารมณ์ของตัวเองมากขึ้นกล้ามเนื้อรับมุมมองของเราแข็งแรงขึ้นมาก เป็นช่วงเวลาที่เราพูดกับตัวเองชัดเจนขึ้น เมื่อถามว่า ตอนนี้เรากำลังอยู่ในมวลอารมณ์แบบไหน เราสามารถตอบตัวเองได้ตรงไปตรงมา และนั่นนำพาความสุขบางส่วนที่ไม่เคยรู้ว่าหายไปกลับมาด้วยเช่นกัน 

ถึงตรงนี้ต้องยอมรับว่า หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่ยาปฏิชีวนะ อ่านจบ ฝึกครั้งเดียวไม่ได้แปลว่าบาดแผลของเราหายดี มันอาจแค่ไม่อักเสบ แต่อย่างว่าเรามักเจออุบัติเหตุทางอารมณ์ได้ในทุกที่ทุกเวลา การหยิบยาออกมาปฐมพยาบาลตัวเองก่อนอาการเรื้อรังบ่อย ๆ มันจะกลายเป็นการกายบริหารกล้ามเนื้อความสัมพันธ์ไปจนถึงกล้ามเนื้อพฤติกรรมความคิดของเรา และเมื่อไรที่กล้ามเนื้อของคุณจดจำวิธีการรักษาจนฝังในเนื้อหนัง อย่าลืมแบ่งปันวิธีดี ๆ ให้คนที่คุณรัก คนใกล้ตัว หรือแม้แต่คนที่บังเอิญพบกัน หากถึงวันนั้นหมายความว่า ตู้ยาได้แปลงร่างกลายเป็นโล่ป้องกันรอยถลอกทางอารมณ์ไปซะแล้ว 

หนังสือ: Emotional First Aid ซ่อมแซมสุขที่สึกหรอ 
นักเขียน : กาย วินซ์  แปลโดย ลลิตา ผลผลา
สำนักพิมพ์: Be(ing) 

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี