คุณเห็นอะไรในภาพนี้…
แน่นอนว่า ถ้ามองด้วยตาเปล่า รูปนี้คือรูปของยอดภูเขาน้ำแข็ง ที่มักจะถูกนำไปเปรียบเทียบกับอะไรหลาย ๆ อย่าง ซึ่งในส่วนที่เป็นยอดจะเป็นส่วนที่โผล่ออกมาให้เราได้เห็น แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ของน้ำแข็งที่เรามองไม่เห็นนั้นอยู่ที่ด้านล่าง ตัวอย่างที่คนมักเอาภาพนี้ไปใช้อาจจะเป็นการเปรียบเทียบกับคนที่เราเห็นภายนอกว่าเขาประสบความสำเร็จ แต่ภายใต้ภูเขาน้ำแข็งนั้นอาจเป็นสาเหตุ หรือปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่นำพามาซึ่งความสำเร็จนั้น
แต่สำหรับหนังสือเล่มนี้ .. ลบบาดแผลลึกสุดใจ: วิทยาศาสตร์เบื้องหลังภาวะเครียดเป็นพิษ และแนวทางเยียวยาแผลใจวัยเยาว์ เราขอให้ยอดภูเขาน้ำแข็งเป็นผลลัพธ์ทางกายภาพที่แสดงออกมาทางร่างกาย เช่น ความเตี้ย ความอ้วน โรคภัยต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือด ภูมิแพ้ ฯลฯ ซึ่งอาการทางกายภาพเหล่านี้ มองแบบผิวเผินอาจคิดว่าเป็นโรคที่มาจากปัจจัยอื่น ๆ ที่คุณหมอหลาย ๆ ท่านที่ได้ตรวจอาจทำการรักษาโดยการให้ยา แล้วหากอาการดีขึ้นก็จะจบไป
แต่ไม่ใช่สำหรับ นาดีน เบิร์ก แฮร์ริส กุมารแพทย์และผู้ก่อตั้ง Center for Youth Wellness ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ที่มองปัญหาเหล่านี้ลึกลงไปกว่านั้น คุณนาดีนศึกษางานวิจัยต่าง ๆ มากมาย รวมถึงการทดลอง จนได้ข้อค้นพบว่า เบื้องหลังโรคภัยทั้งหลายเหล่านั้นเกิดขึ้นมาจากประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก และภาวะความเครียดเป็นพิษ
โดยปกติแล้วเรามักจะคิดว่าเรื่องนี้ คนที่ศึกษาวิจัยน่าจะเป็นนักจิตวิทยา นักบำบัด แต่ไม่ใช่เลยเรื่องนี้ดำเนินการโดยอายุรแพทย์สองคน (หนึ่งในนั้นคือคุณนาดีน) ที่เฝ้าสังเกต ศึกษา วิจัย หาเหตุความเชื่อมโยงถึงเหตุการณ์เลวร้ายในวัยเด็กกับโรคร้ายต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง
กลับมาที่รูปยอดภูเขาน้ำแข็ง หากเปรียบว่ายอดภูเขาน้ำแข็งเป็นอะไรที่เห็นได้จากภายนอกแล้ว เรือไททานิคก็คงเหมือนกับปัจจัยภายนอกที่มากระทำความรุนแรงกับภูเขาน้ำแข็ง ซึ่งความรุนแรงที่ว่านี้อาจเป็นความรุนแรงที่ไม่ได้โดนกระทำโดยตรงเท่านั้น แต่อาจเป็นคำพูด หรือการกระทำที่เมินเฉย การทอดทิ้ง เพียงเท่านี้ก็ถือเป็นความรุนแรงแล้ว เมื่อภูเขาโดนกระแทก โครงสร้างภายในของภูเขาก็เกิดความสั่นคลอน ทำให้เซลล์ภายในเกิดอาการอักเสบ หรือก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ขึ้น แม้ทางกายภาพภายนอกของร่างกายอาจไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง แต่แท้ที่จริงแล้วในระดับเซลล์การเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นแล้ว
จากหนังสือ Toxic Parent มูฟออนชีวิต ถอนพิษพ่อแม่เผด็จการ ที่เราเคยเขียนถึงไปนั้น ที่ทำให้รู้ว่าการที่พ่อแม่เป็นพิษส่งผลอย่างไรต่อสภาพจิตใจของลูก แต่หนังสือเล่มนี้มองลึกลงไปกว่านั้น ความ Toxic นี้อาจส่งผลเสียไปถึงระบบเซลล์ จนส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโต พัฒนาการของเด็กเลยก็ว่าได้ นอกจากประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กที่เกิดจากครอบครัวแล้ว ปัจจัยภายนอก อย่างเช่น สภาพแวดล้อมรอบ ๆ บ้านก็ส่งผลด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ถ้าเด็กคนหนึ่งโดนคนในบ้านล่วงละเมิดทางเพศ แล้วมาเจอสังคมในชุมชน ที่ผู้คนเพิกเฉย ไม่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือต่อเหตุการณ์ดังกล่าวอีก ก็เท่ากับเป็นการซ้ำเติมให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก
ที่กล่าวว่าความ Toxic นี้มันส่งผลเสียถึงระดับเซลล์ มันถึงได้อย่างไรนะ ในหนังสือเล่มนี้ได้ยกตัวอย่างหลายเคสมาอธิบายให้เราพอเห็นภาพ จะขอยกมาหนึ่งตัวอย่าง คือ เมื่อเด็กคนหนึ่งพบเจอเหตุการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก เช่น การที่พ่อพูดจาดูถูกและทำร้ายร่างกายแม่ แม้ว่าจะไม่ได้มากระทำโดยตรงกับเด็ก แต่เมื่อเด็กเห็น เด็กได้ยิน และหากพบกับเหตุการณ์แบบนี้บ่อย ๆ ซ้ำ ๆ ทำให้เกิดภาวะความเครียดได้ และความเครียดนี้ก็ส่งผลต่อระดับคอร์ติซอล (ฮอร์โมนความเครียดที่อยู่ในต่อมหมวกไต) ซึ่งทำให้การหลั่งคอร์ติซอลผิดปกติได้ เมื่อการตอบสนองต่อความเครียดถูกกระตุ้นบ่อยเกินไป ส่งผลให้ตัวควบคุมอุณหภูมิความเครียดของร่างกายชำรุด จนทำให้เจ้าคอร์ติซอลไหลไปทั่วร่างกาย ยิ่งหากเด็กได้รับเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความเครียดบ่อย ๆ ความเสี่ยงที่ความเครียดจะกลายเป็นพิษก็จะยิ่งสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างและหน้าที่ของสมอง รวมถึงระบบภูมิคุ้มกันและฮอร์โมนที่กำลังมีพัฒนาการ การอ่านและถอดดีเอ็นเอก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน จะเห็นได้ว่าผลกระทบในทางชีววิทยามันจะเชื่อมโยงกันไปหมด ระบบภูมิคุ้มกันจะเชื่อมโยงกับสิ่งที่เกิดขึ้นและเชื่อมโยงไปที่ระบบหัวใจและหลอดเลือดโดยที่เราไม่รู้ตัว หลังจากนั้น.. ก็น่าจะพอเดาออกว่าร่างกายของเด็กคนนั้นน่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง
หนึ่งในวิธีการรักษาเยียวยาภาวะต่าง ๆ เหล่านี้ในหนังสือเล่มนี้ได้พูดถึงการทำสมาธิ การเจริญสติ ควบคู่ไปกับการคุมอาหาร การออกกำลังกาย ที่สามารถช่วยทุเลาอาการต่าง ๆ ลงได้
นอกจากการหาสาเหตุของการเกิดภาวะความเครียดเป็นพิษ และการหาวิธีการเยียวยาแล้วคุณนาดีนคิดว่าหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุด คือการหาวิธีป้องกัน ด้วยวิธีการคัดกรองประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก ก่อนที่จะเข้ารับรักษาในขั้นตอนต่อ ๆ ไป หากว่าทำแบบคัดกรองออกมาแล้ว มีแนวโน้มว่ามีประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กมาก เจ้าหน้าที่จะได้ทำการรักษาได้อย่างถูกต้อง ซึ่งในกระบวนการบำบัดนั้นส่วนมากจะเป็นการเข้ารับบำบัดทั้งตัวเด็ก และผู้ปกครอง ยิ่งคัดกรองแล้วค้นพบว่ามีประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กเร็วเท่าไหร่ การได้รับเข้าบำบัดยิ่งได้ผลดีขึ้นเท่านั้น แต่ในผู้ใหญ่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีหนทางในการรักษาเพียงแต่ว่าอาจจะใช้ระยะนานกว่าและค่าใช้จ่ายแพงกว่าเด็กก็เท่านั้นเอง
การป้องกันนอกจากมุมส่วนตัวในครอบครัวแล้ว ควรมองในมุมกว้างด้วย เพราะนอกจากคนในครอบครัว บริบทรอบ ๆ สังคมที่เราอยู่ก็มีผล ซึ่งในการป้องกัน ควรเกิดจากความร่วมมือกันในหลายส่วน ทั้งจากในชุมชน จนถึงนโยบายในภาพใหญ่
อ่านไปแล้วก็รู้สึกอิจฉาที่ในชุมชนเบย์วิวฮันเทอร์สพอยต์ ซานฟรานซิสโก มีคลินิกของคุณนาดีนอยู่ เพราะผู้ป่วยสามารถเข้ารับการบำบัดได้อย่างทันท่วงนี้ แต่ในบริบทของสังคมไทยล่ะ เรามีสถานที่อะไรทำนองนี้บ้างหรือเปล่า หรือมีหน่วยงานอะไรเข้ามาช่วยเหลือสถานการณ์แบบนี้บ้างไหม เมื่อวันก่อน (9 ก.ค. 65) ทางสำนักพิมพ์ Bookscape ได้จัดงานเสวนาออนไลน์ เรื่อง “เด็กที่เจ็บปวดคือผู้ใหญ่ที่เจ็บป่วย”
ซึ่งได้พูดคุยถึงเรื่องดังกล่าวในบริบทของสังคมไทย ในการพูดคุยนั้นได้กล่าวถึงว่า การกระทำความรุนแรงในครอบครัว มักถูกทำให้เป็นเรื่องส่วนตัว ทำให้สังคมภายนอกไม่กล้ายุ่ง
นโยบายของรัฐก็พูดถึงการส่งเสริมการกลับมาเป็นครอบครัว ทั้ง ๆ ที่ในบางครั้งบางครอบครัวกระทำความรุนแรงกัน แต่สังคมก็ยังจะให้คงความเป็นครอบครัวไว้ ทั้ง ๆ ที่ในบางครั้งการทนอยู่อาจทำให้เกิดภาวะเป็นพิษและส่งผลเสียกับคนในครอบครัวมากกว่าเดิม สังคมมัวแต่ Romanticize กับความเป็นครอบครัว
การเกิดความรุนแรงในครอบครัว เด็กบางคนอาจจะส่งต่อความรุนแรงให้คนอื่น หรือบางคนอาจไม่ได้ส่งต่อความรุนแรง แต่จะเอาความรุนแรงนั้นมาทับถมตัวเองจนทำให้สุขภาพกาย-ใจแย่ กับอีกกลุ่มนึงที่เลือกเยียวยาตัวเองหาทางออก หาจิตแพทย์ ออกมาจากบ้าน ซึ่งคนภายนอกอาจไม่เข้าใจว่าทำไมเด็กกลุ่มถึงเลือกทำแบบนั้น ทั้งที่จริง ๆ แล้วเบื้องหลังเขาโดนกระทำความรุนแรงจากคนในครอบครัวมา หรือแม้กระทั่งเรื่องการโดนล่วงละเมิดทางเพศของคนในครอบครัว เด็กบางคนเพิ่งจะมารู้ตัวตอนโตว่าสิ่งที่เขาโดนกระทำมาตอนเด็ก ๆ คือการล่วงละเมิดทางเพศ
สิ่งที่ทุกคนสามารถช่วยเหลือเด็กได้ถ้าในระดับส่วนบุคคล คือการไม่นิ่งเฉย พบเจอการกระทำความรุนแรงควรแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างสายด่วน 1300, 1387 ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)
อย่ามองว่าไม่ใช่เรื่องของตัวเอง การที่เราไม่นิ่งเฉย ถือว่าเราเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยหยุดการส่งต่อความรุนแรงแล้ว
Link รับชมงานเสวนาย้อนหลัง https://fb.watch/eQxCdTWpMY/
หนังสือ ลบบาดแผลลึกสุดใจ: วิทยาศาสตร์เบื้องหลังภาวะเครียดเป็นพิษ และแนวทางเยียวยาแผลใจวัยเยาว์
ผู้เขียน Nadine Burke Harris, M.D.
สำนักพิมพ์ Bookscape
PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ขึ้นไว้บนเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี