Space for Thai
นิศาชล คำลือ
นักบินอวกาศที่เคยถูกส่งไปสำรวจอวกาศ ส่วนใหญ่มักเป็นนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร หมอ และทหาร แต่คุณผู้อ่านเคยลองจินตนาการเล่น ๆ บ้างหรือไม่ ว่าหากนักบินอวกาศเหล่านั้นคือ เลโอนาร์โด ดา วินชี หรือปาโบล ปีกัสโซ ห้วงอวกาศที่พวกเขาได้เห็นจะถูกบอกเล่าออกมาแบบไหน
ทองวรรณ ชัยวงศ์ อายุ 30 ปี จากเชียงราย เธอเป็นหนึ่งในจิตรกรไทยเพียงไม่กี่คนที่หลงไหลในการสำรวจอวกาศ โดยเธอได้ถ่ายทอดความชอบของเธอออกมาผ่านเส้นและสี แต่สิ่งที่ทำให้ผู้เขียนรู้สึกว่าเธอพิเศษจนอยากนำเรื่องราวของเธอมาเล่าคือ เธอวาดรูปเหล่านั้นขึ้นมาโดยอิงจากข้อมูลทางดาราศาสตร์
มันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่าสนใจมากเลยทีเดียว โดยเฉพาะในประเทศที่แบ่งแยกการศึกษาออกเป็น 2 สาย อย่างชัดเจน คือ สายวิทย์ และสายศิลป์ ทั้งนี้ เรายังมีค่านิยมที่เชื่อกันว่าเด็กสายวิทย์เป็นเด็กฉลาด ในขณะที่เด็กสายศิลป์เป็นเด็กโง่
ผู้เขียนเป็นเด็กสายวิทย์ที่ไม่เคยรู้สึกว่าระบบแบ่งสายนี้มันพิกลพิการ จนกระทั่งในบ่ายวันหนึ่ง
“สวยจัง อยากวาดเก่งแบบแกบ้าง” ผู้เขียนในวัย 13-14 ปี กล่าวชมภาพวาดของเพื่อนสนิทที่ชอบวาดรูปให้เห็นอยู่บ่อย ๆ จนผู้เขียนแอบกลายเป็นแฟนคลับภาพที่เพื่อนวาด
“แต่ถ้าเลือกได้ฉันอยากเก่งคณิต เก่งฟิสิกส์แบบแกมากกว่า” แล้วเรา 2 คน ก็ปล่อยให้ความเงียบครอบงำ ผู้เขียนจมอยู่กับความคิด ขณะที่เพื่อนนั่งวาดภาพต่อไปเรื่อย ๆ
ผู้เขียนจำคำพูดของเพื่อนในบทสนทนาดังกล่าวไม่ได้เป๊ะ ๆ แต่จำความรู้สึกได้แม่นยำ เพราะนั่นเป็นครั้งแรกที่ผู้เขียนรู้สึกโกรธระบบ โกรธแนวคิด โกรธค่านิยม และอะไรก็ตามที่ทำให้เพื่อนของผู้เขียนรู้สึกต่อตนเองแบบนั้น
เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามีเด็กจำนวนมากที่เติบโตมาโดยการถูกยัดเยียดคำว่าโง่เข้าไปในสมอง และมันยิ่งน่าสลดใจเพราะมีเด็กจำนวนมากเชื่อว่าตนเองโง่จริง ๆ เพียงเพราะมีความถนัดที่ไม่ตรงตามมาตรฐานที่สังคมกำหนด จึงได้ละทิ้งพรสวรรค์ของตนไป
ทันทีที่ได้ยินเรื่องของคุณทองวรรณและได้เห็นผลงานของเธอ ผู้เขียนสงสัยทันทีว่าเธอเติบโตมาอย่างไร และโลกที่เธอมองเป็นแบบไหน บทสนทนาระหว่างนักเขียนและจิตรกรจึงได้เริ่มต้นขึ้น
“เดอะเกรทคอนจังชั่น” เป็นภาพแรกที่เธอหยิบยกมาเล่าให้ผู้เขียนฟังด้วยน้ำเสียงที่สดใส โดยเป็นภาพที่เธอได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพเขียนของโยฮันเนส เคปเลอร์ นักคณิตศาสตร์และนักดาราศาสตร์ชาวเยอรมัน ผู้ค้นพบว่าดาวเคราะห์โคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี และตั้งกฎการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์จำนวน 3 ข้อ ขึ้นมา
ภาพดังกล่าวเป็นภาพแผนที่ระบบสุริยะ มีดวงอาทิตย์เป็นจุดศูนย์กลาง ล้อมรอบด้วยดาวเคราะห์และกลุ่มดาว 12 ราศี พื้นหลังเป็นสีแดงสด ถูกแต่งแต้มลวดลายต่าง ๆ ด้วยสีทองอร่าม และเติมลวดลายตกแต่ง ซึ่งมีความเป็นไทยล้านนาลงไป
แม้ผู้เขียนจะถามถึงภาพที่ชอบที่สุดเพียงภาพเดียว แต่เธอก็ยืนกรานว่าเธอไม่สามารถเลือกได้ โดยภาพต่อมาคือ “วัฏฏกาล” เป็นภาพแผนที่ระบบสุริยะอีกเช่นกัน แต่มีรายละเอียดที่แตกต่างออกไป และใช้คู่สีดำกับทอง
ผลงานของเธอแทบทุกชิ้นถูกใส่ความเป็นทองวรรณลงไปอย่างโจ่งแจ้ง บ้างก็ผ่านตัวอักษรไทยล้านนา บ้างก็ผ่านลวดลายไทย ราวกับว่าเธอไม่เคอะเขินที่จะประดับความเป็นตัวเองลงไปในทุกชิ้นงาน ซึ่งนั่นมันทำให้งานของเธอมีเสน่ห์อย่างเหลือเชื่อ แน่นอนว่าไม่ได้มีผู้เขียนเพียงคนเดียวที่มองเห็นเสน่ห์นี้ งานของเธอล้วนขายดีเป็นเทน้ำเทท่า
คุณผู้อ่านที่รัก คุณเคยจินตนาการถึงระบบการศึกษาไทยที่ผู้สอนช่วยนักเรียนตามหาสิ่งที่เรียกว่าพรสวรรค์และสนับสนุนนักเรียนไปจนสุดทางบ้างหรือไม่ เราตัดฝันนักบินอวกาศไทยไปกี่คนแล้วด้วยคำว่าไกลเกินไป? เราทำลายจิตรกรระดับโลกไปเท่าไหร่แล้วด้วยคำว่าไร้สาระ?
และมันน่าขันสิ้นดีที่เรามานั่งแบ่งสายศิลป์ออกจากสายวิทย์ พร้อมกับตราหน้าเด็กกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งว่าโง่ ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริงแล้ว มันเป็นศาสตร์ที่อยู่ร่วมกันได้ ยกตัวอย่าง ในยุคเรเนซองค์ซึ่งเป็นยุคสมัยที่รุ่งเรืองมากยุคหนึ่งของยุโรป เป็นยุคที่ผู้คนก้าวออกจากแนวคิดของยุคกลาง พยายามฟื้นฟูทั้งศิลปะและวิทยาการไปพร้อม ๆ กัน เกิดเป็นมรดกทางปัญญาที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
เหตุผลที่ผู้เขียนและใครอีกหลาย ๆ คนหลงรักในภาพวาดของคุณทองวรรณ คงเป็นเพราะมันไม่ใช่แค่ผืนผ้าใบที่มีเส้นและสีธรรมดา แต่มันคือหลักฐานว่าศิลปะและวิทยาศาสตร์สามารถอยู่ร่วมกันได้
“คิดว่าศิลปะจะมีบทบาทต่อการสำรวจอวกาศหรือชีวิตในอวกาศของมนุษย์อย่างไร” ผู้เขียนถามออกไปอย่างไม่ได้อ้อมค้อม คำตอบของเธอในส่วนท้ายนี้ไม่ได้ยาวนัก แต่ทว่าสมเหตุสมผลมากพอให้ผู้เขียนไม่จำเป็นต้องขยายความอะไรอีก
หากให้พูดกันตามตรง ศิลปศาสตร์คงไม่ได้มีผลต่อการสำรวจอวกาศหรือชีวิตของมนุษย์ในยุคอวกาศโดยตรง เมื่อเทียบกับวิศวกรรมศาสตร์ และอื่น ๆ
แต่มันเป็นไปไม่ได้เลยที่มนุษย์จะใช้ชีวิตอยู่โดยไร้ซึ่งศิลปะ