หลาย ๆ คนคงเคยได้ยินเรื่องลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ (Maslow’s hierarchy of needs) สำหรับคนที่ไม่เคยอ่านหรือได้ยินมาก่อน ทฤษฎีของมาสโลว์นั่นเป็นการเล่าพัฒนาลำดับความต้องการของปัจเจกบุคคล โดยแบ่งออกเป็นห้าขั้น โดยเมื่อเติมเต็มความต้องการขั้นหนึ่งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตัวปัจเจกบุคคลจะเคลื่อนสู่ความต้องการขั้นต่อไป
ทฤษฎีนี้นับว่าไม่ได้เป็นที่รับรู้จำกัดเฉพาะแวดวงจิตวิทยาเท่านั้น หากแต่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในสังคม หากแต่เราอาจจะเถียงได้ว่าทฤษฎีของมาสโลว์ไม่ได้สมบูรณ์แบบ ที่จริงตัวทฤษฎีนี้ถูกวิพากษ์ในหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือตัวลำดับขั้นนั้นอาจไม่ตรงกับความเป็นจริง บางลำดับอาจจะสลับกัน หรืออาจจะถึงไม่เป็นลำดับขั้นเสียด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ตามผู้เขียนพบว่าถึงทฤษฎีนี้ ถึงจะมีข้อที่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้มาก แต่สามารถเอามาอ่านหนังสือเล่มหนึ่งได้ และให้ภาพได้กว้างกว่านั้น ไม่ว่าจะในเชิงวิพากษ์หรืออื่น ๆ หนังสือเล่มนั้นเป็นการ์ตูน ชื่อว่า Chainsaw Man
การ์ตูนโชเน็นที่ไม่ค่อยจะโชเน็น
สำหรับคนที่ติดตามวงการการ์ตูนญี่ปุ่นย่อมไม่มีใครไม่รู้จักนิตยสารโชเน็นจัมป์ การ์ตูนหลาย ๆ เรื่องที่มีชื่อเสียงตามหน้าสื่อก็มาจากนิตยสารเล่มนี้ ไม่ว่าจะเป็นดราก้อนบอล วันพีช นารูโตะ หรือกระทั่งดาบพิฆาตอสูร ทั้งหมดล้วนแต่เป็นการ์ตูนที่ลงในนิตยสารนี้ และ Chainsaw Man ตีพิมพ์ในนิตยสารดังกล่าวไม่ต่างกัน
หากแต่เมื่อเทียบกับการ์ตูนที่ลงนิตยสารเดียวกันแล้ว คงบอกได้ว่า Chainsaw Man มีความแตกต่างบางอย่าง สำหรับการ์ตูนของจัมป์ (โชเน็นจัมป์) โดยทั่วไปมักจะมีแก่นเป็นเรื่องของมิตรภาพ ซึ่งหลายครั้งในการ์ตูนแนวนี้มิตรภาพทรงพลังมากจนสามารถชนะได้ทุกสิ่ง
หาก Chainsaw Man ไม่ได้เป็นเช่นนั้น แน่นอนมีองค์ประกอบของการ์ตูนโชเน็นอยู่ แต่แก่นหลักที่มักปรากฏในการ์ตูนโชเน็นกระแสหลักโดยเฉพาะจัมป์อย่างเรื่องมิตรภาพ กลับถูกกลบลงไปด้วยประเด็นอื่นแทน ทำให้หากอ่าน Chainsaw Man หลาย ๆ คนคงรู้สึกได้ว่าการ์ตูนเรื่องนี้เป็นการ์ตูนจัมป์ ที่ไม่ค่อยจะเป็นการ์ตูนจัมป์เอาเสียเลย ซึ่งตรงกับเจตนาของฟูจิโมโตะ ทัตสึกิ ที่ต้องการจะเขียนการ์ตูนลงนิตยสารโชเน็นจัมป์ โดยที่คงกลิ่นอายของตัวเองเอาไว้ ไม่ถูกกลืนไปโดยตัวนิตยสาร[1]
นั่นทำให้องค์ประกอบที่ Chainsaw Man มีเหมือนการ์ตูนจัมป์ทั่ว ๆ ไป ส่วนมากเป็นแค่ตัวละคร หรือโครงแบบหยาบ ๆ ส่วนประเด็นแทบจะไม่มีพูดถึงเรื่องมิตรภาพ เพราะมีประเด็นบางอย่างที่กลบพลังมิตรภาพไปจนกลายเป็นกลิ่นเบา ๆ ที่ลอยมาตามลม ประเด็นนั้นคือเป้าหมายกับความต้องการจริง ๆ ในชีวิต
เมื่อเป้าหมายไม่เท่ากับความต้องการ
Chainsaw Man เล่าเรื่องของเด็นจิ เด็กหนุ่มชีวิตอนาถาที่รับมรดกเป็นหนี้สินจากพ่อที่ตายไป เลยต้องทำงานสารพัด กระทั่งวันหนึ่งได้พบกับปีศาจชื่อว่าโปจิตะ และได้ทำสัญญากันจนเด็นจิสามารถแปลงร่างเป็นปีศาจเลื่อยยนต์ และคอยล่าปีศาจตามคำสั่งของทางการ
ด้วยเนื้อเรื่องและจังหวะที่แปลก พร้อมเซตติ้งของเรื่องที่สร้างสรรค์แต่ประหลาด ทำให้หลาย ๆ คนคงเผลอคิดเป็นภาษาพูดไม่ได้ว่า คนเขียน Chainsaw Man “ดมกาว” มาเขียน แต่ภายใต้เนื้อเรื่องสุดเมานี่ Chainsaw Man ได้ซ้อนประเด็นไว้จำนวนมากอย่างแยบยล
โดยหากเราอ่านหรือเสพสื่อต่าง ๆ จะพบว่าเป็นเรื่องปกติที่ตัวละครตามสื่อจะมีแรงขับหรือเป้าหมายเป็นของตัวเอง กรณีการ์ตูนโชเน็นอาจจะเป็นเป้าหมายในเชิงที่ว่าแข็งแกร่งที่สุด เห็นได้จากการเป็นราชาโจรสลัดของลูฟี่จากวันพีช หรือเป็นโฮคาเงะของนารูโตะ หากแต่ตัวเอกของ Chainsaw Man อย่างเด็นจินั้น กลับไม่ได้มีเป้าหมายอะไรแบบนั้น
เนื่องจากชีวิตสุดรันทดที่มีหนี้สินหลายสิบล้าน ทำให้ตลอดมาเด็นจิต้องทำการหากินกับทุก ๆ อย่างแม้แต่ให้กินบุหรี่เพื่อเศษเงินเพียงร้อยเยนก็พร้อมที่จะทำ ส่วนเรื่องอื่นนั้นเด็นจิไม่มีเวลาจะคิด สำหรับเขาแค่กินอิ่มสามมื้อนับว่าเป็นเรื่องที่โชคดีเอามากๆ แล้ว
ซึ่งหากเรามองเป็นทฤษฎีของมาสโลว์ เด็นจิคือคนที่ไม่ได้รับการเติมเต็มความต้องการพื้นฐานเสียด้วยซ้ำ ด้วยลักษณะดังกล่าวทำให้แรงขับของเด็นจิเป็นสิ่งที่พื้นฐานเอามาก ๆ จนหลายครั้งมีสภาพไม่ต่างจากสัตว์ ส่วนนี้เห็นได้จากการออกแบบตัวละคร ซึ่งฟูจิโมโตะวาดฟันของเด็นจิเป็นเขี้ยว เพื่อขับเน้นความดิบในส่วนนี้
และเนื่องจากมีแรงขับแบบสัตว์ ทำให้สิ่งที่เด็นจิต้องการนั้นมีเพียงอาหาร และเรื่องทางเพศ Chainsaw Man หลายคนรู้สึกว่าการ์ตูนเรื่องนี้มีส่วนที่ดูขัดกับความคิดเรื่องเพศในปัจจุบัน แต่เป็นเฉพาะกับตัวละครเด็นจิเท่านั้น โดยเป้าหมายแรกทันทีที่เด็นจิได้เป็นนักล่าปีศาจของทางการ จริง ๆ ไม่มีอะไรมากไปกว่าการได้จับหน้าอกของผู้หญิงสักคน
โดยเด็นจิได้พยายามอยู่หลายตอนกว่าที่จะได้จับหน้าอก แต่เมื่อได้จับจริง ๆ ก็พบว่าสิ่งที่เป็นกับสิ่งที่หวังไว้ไม่ได้เหมือนกันอย่างที่คิด
ความผิดหวังจากการจับหน้าอกของเด็นจิ นั่นไม่ได้เป็นกรณีเดียว ส่วนใหญ่เป้าหมายของตัวละครในเรื่องล้วนแต่ไม่ได้รับการตอบสนอง หากแต่การไม่ได้รับการตอบสนองอาจจะไม่ได้หมายความว่าชีวิตของตัวละครนั้นล้มเหลว เพราะบางทีการที่ไปถึงความฝันหรือเป้าหมาย อาจไม่ได้ตอบสนองความต้องการจริง ๆ ของตัวละคร
หนึ่งในกรณีที่สำคัญคือตัวละครในเรื่องอย่างฮายาคามะ อาคิ ตลอดทั้งเรื่องอาคิมีเป้าหมายคือการล้างแค้นให้กับครอบครัวที่เสียไป แต่สุดท้ายก็ล้มเหลว หากแต่การพยายามของอาคิต่อให้สำเร็จก็อาจไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการจริง ๆ ของเขา การที่ครอบครัวของเขาถูกฆ่า ทำให้เขาโกรธแค้นที่โดนพรากสิ่งที่สำคัญไป นั่นก็คือ หากแต่สุดท้ายแม้จะล้มเหลว แต่อาคิก็ได้เติมเต็มความต้องการที่เขาลืมคิดมาตลอด นั่นคือการได้มีครอบครัวอีกครั้ง
สำหรับ Chainsaw Man ความสัมพันธ์ที่โดดเด่นที่สุดคงหนีไม่พ้นความสัมพันธ์ของอาคิ เด็นจิ และมนุษย์ปีศาจที่ชื่อว่าพาวเวอร์ ซึ่งทั้งสามค่อย ๆ สร้างความสัมพันธ์ในรูปแบบที่เป็นครอบครัวขึ้นมา แม้ทั้งสามคนอาจจะเข้ากันไม่ได้ในตอนแรก แต่นานไปกลายเป็นความผูกพัน ในกรณีนี้เราอาจจะอธิบายได้ว่าจริง ๆ แล้วความต้องการของคนเราอาจไม่ตรงกับเป้าหมายใหญ่โตในชีวิตที่เราตั้งไว้ ความต้องการของคนเราอาจจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ ซึ่งเราขาดตกไปโดยไม่รู้ตัว และใน Chainsaw Man ตัวละครหลายตัวก็ขาดตกในเรื่องความต้องการเล็ก ๆ
อย่างเช่นปีศาจซึ่งเป็นเจ้าของชื่อเรื่องอย่างปีศาจเลื่อยยนต์หรือโปจิตะก็มีความฝันง่ายๆ ที่ไม่เคยบรรลุ โดยมันได้บอกกับเด็นจิตัวเอกในเรื่องว่า
“เด็นจิ…ความฝันของฉันน่ะ คือการได้รับกอดจากใครสักคน”
ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าในเรื่องโปจิตะแข็งแกร่งเกินไป และเพราะความแข็งแกร่งนั้น ทำให้ไม่มีใครอยากจะเข้าใกล้โปจิตะ การได้รับอ้อมกอดจึงเป็นสิ่งที่เหนือฝันมาก ๆ และคนที่เติมเต็มข้อนี้กลับไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็นคนที่ขาดทุกความต้องการพื้นฐานของมนุษย์อย่างเด็นจิ ซึ่งหากมองแบบมาสโลว์ การ์ตูนเรื่องนี้ก็พยายามจะบอกให้เราเติมเต็มความต้องการจริง ๆ ของตัวเองเพื่อพัฒนาในระดับบุคคล
แม้ว่า Chainsaw Man จะพยายามบอกเราว่า ไม่จำเป็นต้องตั้งเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ เราก็สามารถมีชีวิตอย่างมีความสุขได้ หากได้รับการเติมเต็มในสิ่งที่เราต้องการจริง ๆ ซึ่งหลายคนคงคิดว่าข้อเสนอนี้ช่างเป็นข้อเสนอที่ดูจะไม่มีความทะเยอทะยานเอาเสียเลย หากการ์ตูนเรื่องนี้ก็ไม่ได้ไว้วางใจกับข้อเสนอของตัวเองเสียทีเดียว Chainsaw Man ได้วิพากษ์ตัวเองด้วยเช่นกัน ซึ่งนั่นแสดงออกผ่านตัวร้ายหลักของเรื่องซึ่งก็คือปีศาจควบคุม
เลี้ยงให้โต กล่อมให้เชื่อง ความกลัวและการควบคุม
ดังที่กล่าวไว้ในส่วนของเนื้อเรื่อง Chainsaw Man เป็นโลกที่เต็มไปด้วยปีศาจ หากแต่ปีศาจใน Chainsaw Man ล้วนแต่เป็นภาพบุคลาธิษฐานของความกลัว ยิ่งมีผู้คนกลัวกันมากเท่าไหร่ พลังของปีศาจก็จะทวีคูณมากขึ้นเท่านั้น
ตัวอย่างที่สำคัญคือ ปีศาจปืน ซึ่งเป็นเป้าหมายของตัวละครในเรื่องเกือบทั้งหมด ปีศาจปืนที่อาศัยความกลัวของคนต่ออาวุธปืนจนมีพลังมหาศาลชนิดที่ปรากฏตัวเพียงห้านาที สามารถฆ่าผู้บริสุทธิ์ไปกว่าหนึ่งล้านคนทั่วโลก
หากแต่ปีศาจนั้นไม่จำกัดอยู่เฉพาะกับสิ่งที่เป็นวัตถุแตะต้องได้เท่านั้น ปีศาจซึ่งเป็นตัวแทนความกลัวใน Chainsaw Man ครอบคลุมไปจนถึงเรื่องที่เป็นนามธรรมหรือแนวคิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอนาคต นรก หรือคำสาป รวมไปถึงสิ่งที่เรียกว่าการควบคุม ซึ่งสำหรับเนื้อเรื่องในภาคแรกของ Chainsaw Man เราอาจสามารถกล่าวได้ว่าตัวร้ายที่สำคัญที่สุดจริง ๆ นั้นก็คือ ปีศาจควบคุมนี่เอง
เมื่อพูดถึงการควบคุมหลายคนอาจจะคิดว่า การควบคุมต้องใช้กฎระเบียบหรืออาจจะถึงขั้นใช้กำลังหากจำเป็น ทว่าการควบคุมอาจจะไม่ได้ทำงานแบบทื่อ ๆ เพียงอย่างเดียว การควบคุมสามารถเป็นไปอย่างแยบยลและโดยละม่อม
บางทีเราอาจจะรู้สึกว่ามีอิสรภาพ โดยที่ถูกควบคุมโดยใครบางคนเสียด้วยซ้ำ
ในเรื่องกลวิธีที่ปีศาจควบคุมใช้ ไม่ใช่การขู่บังคับ หากแต่เริ่มจากการเติมเต็มความต้องการพื้นฐานในสิ่งที่ขาดไป โดยการ์ตูนเรื่องนี้ได้ให้ภาพการควบคุมเหมือนการเลี้ยงสุนัข ให้อาหาร ให้ที่พัก มอบความรัก และสุดท้ายมันก็จะซื่อสัตย์กับคุณเอง
ซึ่งการเติมเต็มความต้องการพื้นฐานนี้เองที่เปิดโอกาสให้คนหลาย ๆ กลุ่ม หลายเจตนา สามารถเติบโตแพร่ขยายอิทธิพลขึ้นมาได้ อย่างในช่วง Interwar หรือระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 กับครั้งที่ 2 ส่วนหนึ่งที่กลุ่มขวาจัดและซ้ายจัดในยุโรปขณะนั้นเติบโตขึ้นมาได้นั้นเป็นเพราะเศรษฐกิจไม่ดี จนคนไม่มีอันจะกิน และรัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องปากท้องให้ดีขึ้นได้ เมื่ออุดมการณ์ทางการเมืองเหล่านี้ได้หยิบยื่นโอกาสให้พวกเขา ไม่ว่าจะในรูปของเม็ดเงินหรือว่าคำมั่นสัญญา มีหรือที่พวกเขาจะไม่รับไว้
พลังอำนาจของปีศาจควบคุมในเรื่องนี้จึงแสดงออกโดยที่แทบดูไม่ใช่การบังคับแม้แต่น้อยใน Chainsaw Man ปีศาจควบคุมสำแดงพลังในรูปแบบของความใคร่ โดยทุกคนจะปฏิบัติต่อปีศาจควบคุมเพราะต้องการความรักจากมัน
อีกนัยหนึ่งสำหรับ Chainsaw Man อ่านได้ว่าการโดนควบคุมจึงเป็นการทำให้มนุษย์ไม่ต่างจากสัตว์ก็ต้องการได้รับการเติมเต็มเพื่อถูกใช้เป็นประโยชน์ให้กับบุคคลหนึ่งมีแต่ทำให้เกิดสภาวะพึ่งพิง ในกรณีของปีศาจควบคุมกับเด็นจิ ปีศาจควบคุมดูแลเด็นจิอย่างดี จนถึงขั้นที่เด็นจิไม่อยากคิดอะไรเป็นของตัวเอง ปล่อยให้ปีศาจควบคุมคิดให้เลยทีเดียว
การเติมเต็มความต้องการพื้นฐานของปัจเจกบุคคล จึงไม่ได้รับประกันว่าจะทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์ บางทีอาจจะเป็นไปเพื่อทำให้มนุษย์มีสภาพไม่ต่างจากสัตว์ที่ถูกทำให้เชื่องก็ได้
และบางทีเรื่องแบบนี้อาจจะไม่ได้อยู่แค่ในการ์ตูน ชีวิตจริงก็อาจจะเจอได้ไม่ต่างกัน
อ้างอิง
What Maslow Missed
Praise & Criticism: Hierarchy of Needs (Maslow)
[1] ดูเพิ่มเติมใน
Interview: Chainsaw Man Creator Tatsuki Fujimoto
PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี