ฝังแน่น ซึม(ลึก)มานาน ศาสนาและการเมือง - Decode
Reading Time: 2 minutes

ร่องรอยความเชื่อ ไสยศาสตร์ หรือ ศีลธรรมตามหลักพุทธศาสนาในอณูการเมืองไทย เป็นเรื่องที่คนทั่วไป อาจมองเห็นไม่ชัด ซึ่งอาจต้องบอกกันตั้งแต่ต้นว่าเมื่อคุณมองเห็นไม่ชัดไม่ได้แปลว่ามันไม่มี

ภารตะ-สยาม ศาสนาต้อง(ไม่)ห้ามเรื่องการเมือง ที่เขียนโดย อาจารย์คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง เหมือนการติวข้อสอบ GAT เชื่อมโยง เราหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาด้วยคำถามฉงนในใจ ทำไมหนุ่ม-สาวต่างทยอยหันหลังให้ศาสนา ความเชื่อ ความศรัทธากลายเป็นสิ่งล้าสมัยในสายตาคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อย

เอาเข้าจริงเขาและเธอยึดโยงตัวเองอยู่กับอะไร เพราะเข้าไม่ถึงแก่นแท้ของศาสนาอย่างนั้นหรือ แต่อีกด้านเราอาจต้องมองย้อนกลับมาตั้งคำถามด้วยว่า ศาสนายังจำเป็นหรือยังคงฟังก์ชันกับโลกในวันนี้และวันพรุ่งนี้อยู่หรือเปล่า ?

หรือแท้จริงแล้ว ศาสนาเป็นเรื่องที่อยู่ไกลออกไปจากโลกของศาสนิก เหลือไว้เพียงความเชื่อที่กำหนด กำกับโดยองค์กร บางองค์กร ที่มีลักษณะโครงสร้างคล้ายสถาบันรัฐ แต่โดยแก่นแล้วเวลาที่บอกว่าเราเป็นศาสนิก ไม่ได้แปลว่าเราแค่ร่วมประกอบพิธีกรรมหรือยอมรับความเชื่อนั้น ๆ แต่หมายถึงเรารับเอามุมมองที่มีต่อชีวิตเข้ามาอยู่ในตัวเราด้วย

ทางโลกและทางธรรม 

การเมืองเป็นเรื่องไกลตัวมีแต่ความวุ่นวายแย่งชิงอำนาจ และในเมื่อพระเป็นผู้ละแล้วซึ่งทางโลก การเมืองคงเป็นกิเลสแรกที่พระต้องตัดทิ้ง เพราะทางโลกทางธรรมมันคนละส่วน นี่คงเป็นกรอบคิดที่พุทธศาสนิกชนไทย ที่ได้พบเห็นกันบ่อย ๆ ตามคอมเมนต์ในโลกออนไลน์และออฟไลน์ หลายคนอาจคิดว่ามันเป็นกรอบปฏิบัติที่แท้ ของพุทธศาสนา พระดีควรมีวัตรปฏิบัติแบบนี้ 

พระต้องหนีห่างจากทางโลกและการเมืองจริงหรือ ?

เราเป็นผู้ที่ไม่ได้รู้จักพุทธศาสนาเกินไปกว่าที่เคยเรียนมาในวิชาภาคบังคับ ปฏิเสธไม่ได้ว่าพุทธศาสนาเถรวาทแบบไทยฝังลึก จนเผลอคิดว่านี่คือหนทางที่ดีที่สุด

หนังสือเล่มนี้จึงทำหน้าที่เป็นสะพาน ทำให้พบวัตรปฏิบัติของพุทธนิกายมหายาน ผ่านเรื่องราวของ องค์ทะไลลามะ ท่านเคยตรัสในทำนองว่า ผู้คนที่ปฏิบัติการณ์ทางการเมืองเพื่อให้สังคมที่ดีขึ้นนั้น คือการปฏิบัติอย่างโพธิสัตว์เลยทีเดียว สำหรับองค์ทะไลลามะแล้วการเมืองไม่ใช่สิ่งเลวร้ายในตัวมันเอง หากเราเข้าไปด้วยท่าทีที่ถูกต้องและไม่ได้มองว่าพุทธศาสนาต้องลอยสูงเด่นดูเหนือเรื่องพวกนี้ 

ศาสนาส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะมุ่งสู่ความบริสุทธิ์บางอย่างแนวโน้มนี้ทำให้ผู้ปฏิบัติมักค่อย ๆ ปลีกตัวออกจากชีวิตแบบสามัญ หรือเชื่อว่าศาสนาต้องไม่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตและทางโลกย์ ๆ ซึ่งทั้งหมดผูกโยงอยู่กับการทำดีเป็นคนดี เรื่องนี้ยังขายได้ในหมู่ชนชั้นกลาง

แต่คำถามคือ หากเรื่องการเมืองนั้น ๆ ส่งผลให้เกิดประโยชน์กับพลเมืองหรือศาสนิก ศาสนามิใช่หรือ ที่ควรออกมาป่าวประกาศ เทศนา ชักจูงผู้คนให้ไปอยู่ในเขตแดนอันเป็นประโยชน์นั้น หนึ่งในกรณีที่อาจารย์คมกฤชยกเป็นตัวอย่าง เอาไว้ คือ ช่วงกิจกรรมเดินทะลุฟ้า ซึ่งมีคนหลากหลายอาชีพร่วมเดินเท้าจากโคราชถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยพร้อมพระภิกษุสงฆ์ 2 รูป

“ผมชอบภาพนี้มาพอดีคือสิ่งที่พระตั้งแต่สมัยพุทธกาลทำ คือท่องไปเพื่อประโยชน์และความสุขของผู้อื่น เช่นนี้จะไม่ใช่ประโยชน์และความสุขของผู้อื่นได้อย่างไร เพราะข้อเรียกร้องดังกล่าวหากสำเร็จจะเป็น ประโยชน์แก่ผู้คนอีกมาก และยังได้สละความยึดมั่นในตัวตนที่จะแสวงเฉพาะความสงบสุขส่วนตัว มาสู่การทำเพื่อสังคมผ่านการจารึกในป่าปูนกับคนทุกข์ยากอีกมากมาย”

กรณีที่พระสงฆ์องค์เจ้าออกมาเดินขบวนร่วมกับฝ่ายเห็นต่างกับรัฐ หรือเทศนาธรรมที่มีเนื้อหาค่อนมาทางฝ่ายประชาธิปไตย พระชั้นผู้ใหญ่ในมหาเถรสมาคม จะออกมาร่อนหนังสือจัดการได้แบบฉึบฉับพร้อมคำยอดฮิต  “ ไม่ใช่กิจของสงฆ์” ก่อนถึงจับสึกออกจากผ้าเหลือง

แต่ถ้าสูดหายใจลึก ๆ ลองนึกดูดี ๆ ถ้าความทรงจำของพวกคุณไม่โกหก หรือหลับหูหลับตาจนเกินไป ก็จะพบว่าที่ผ่านมามีพระสงฆ์ในขั้วการเมืองอื่นที่ออกมาเคลื่อนไหวเช่นกัน มหาเถรสมาคมมีท่าทีกับพระเหล่านี้อย่างไร ท่านอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักประวัติศาสตร์คนสำคัญของไทย เคยกล่าวในทำนองว่า พระสงฆ์ไทยยุ่งเกี่ยวกับการเมืองโดยออกตัวว่าไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเสมอ 

“เราได้เห็นพระสมณศักดิ์สูงทำพิธีอวยพรให้กับผู้นำของรัฐที่เป็นเผด็จการอย่างหน้าชื่นตาบาน แต่ในขณะเดียวกัน เราได้เห็นสำนักงานพุทธศาสนาเร่งให้ต้นสังกัดเอาผิดกับสามเณรเล็ก ๆ ที่ไปชุมนุม”

ด้านหนึ่งเราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ปีพุทธศักราช 2538 มีประกาศจากมหาเถรสมาคมอ้างอำนาจจาก พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ปี 2505 ซึ่งประกาศในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี  ห้ามพระ-สามเณรไปยุ่งเกี่ยวกับการชุมนุมหรืออภิปรายขยายความเรื่องการเมืองทั้งในวัดและนอกวัด

แต่อาจารย์คมกฤช ขยายความว่า เรื่องนี้อาจจะเกิดขึ้นจากกรณีที่พระชั้นผู้ใหญ่กลัวว่าพระสงฆ์จะไปช่วยนักการเมืองหาเสียง แต่ปัจจุบันกินความประกาศลากยาวมาถึงกรณีการชุมนุมด้วย

ความเชื่อทางศาสนาถูกผูกโยง แทรกซึมกับการเคลื่อนทัพทางการเมืองเสมอ ๆ ชัดเจนจนอดไม่พูดถึงไม่ได้ ไม่พ้น องค์พระสยามเทวาธิราชบนยอดอาคารรัฐสภาเกียกกาย แม้จะถูกอธิบายว่าเป็นอาคารหลังใหม่ร่วมสมัย แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการจำนวนมาก โดยเฉพาะในแง่มุมที่ไม่ควรนำศีลธรรมทางศาสนามา บังคับใช้ให้กลายเป็นนโยบายของรัฐ ซึ่งขัดกับหลักประชาธิปไตยที่ไม่ควรให้ความเชื่อทางศาสนาอยู่เหนือความเชื่ออื่น ๆ 

เทพ เท่ากับ คน 

ส่วนใหญ่ของหนังสือเล่มนี้ เขียนเชื่อมโยงไปถึงแหล่งความเชื่อที่เก่าแก่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลกอย่างในอินเดีย ส่วนที่น่าตั้งคำถามกลับมาที่บริบทของไทยมากที่สุด คงเป็นคำอธิบายเรื่องเทพเจ้าฮินดูมีสถานะเท่ากับคน เพราะเทพที่มีรูปเคารพในอินเดียก็ต้องทำตามกฏหมายบ้าน 3 เรื่อง โดยยึดหลักว่าเมื่อเทพเจ้ามีรูปเคารพ สื่อความได้ว่ามีอารมณ์ความรู้สึก เจตจำนงและรู้คิด ดังนั้นเทพเจ้าของฮินดูก็มีสิทธิในการครอบครองกรรมสิทธิ์ในเทวสถานที่ประทับอยู่มีผู้ที่คอยจัดการทรัพย์สินคือพราหมณ์ มีสิทธิฟ้องร้องหรือถูกฟ้องร้องตามกฏหมาย และต้องจ่ายภาษี 

นอกจากประเด็นนี้จะชัดเจนว่า เทพ หรือ เทวดา ในเมืองเก่าแก่อย่างอินเดียจึงมีสถานะเท่ากับคน ด้านหนึ่งยังอยู่ภายใต้กฏหมายและหลักการประชาธิปไตยที่ทุกสิ่งถูกปฏิบัติอย่างเท่าเทียม

ประชาธิปไตยไม่เต็มใบของไทยคือการไม่แยกศาสนาออกจากสถาบันรัฐ  ในช่วงท้ายของหนังสือเล่มนี้อาจารย์คมกฤช เขียนถึงข้อเสนอปฏิรูปศาสนาไปพร้อมกับการเมือง หลัก ๆ คือให้สังคมตั้งคำถามกับนโยบายทาง ศาสนาที่ไหลมาในช่วงการเลือกตั้ง โดยล้วนแล้วเป็นนโยบายที่ไม่ครอบคลุมคนทุกคนในประเทศ มีข้อเสนอถึงความฝันที่อยากจะเห็นฌาปนสถานของผู้ไม่นับถือศาสนาในประเทศไทย การเลิกใช้คำราชาศัพท์กับพระพุทธะ และสร้างรัฐฆราวาสแบบอินเดีย 

ทั้งหมดล้วนเป็นเรื่องใหม่และคงเป็นเรื่องใหญ่ไม่น้อยสำหรับสังคมไทย แต่ก็ท้าทายมากและชวนขับเคลื่อนเรื่องนี้ ในช่วงอายุของเรา เสียดายที่บทความนี้ไม่อาจเขียนกินเนื้อหาออกไป ถึงการช่วงชิงความหมายจากความเชื่อ และไสยศาสตร์ระหว่างการเคลื่อนไหวของคณะราษฎรและฝ่ายชนชั้นนำไทย แต่อยากจะทิ้งปมที่น่าตื่นเต้นไว้ตรงนี้ และฝากผู้อ่านค้นหากันต่อกับหนังสือเล่มนี้ ภารตะ-สยาม ศาสนาต้อง(ไม่)ห้ามเรื่องการเมือง?  

สุดท้ายนี้เราทิ้งท้ายด้วยคำนิยมของ อาจารย์วิจักขณ์ พานิช ที่ว่า ทั้งศาสนาและการเมืองต่างต้องการ ‘หัวใจความเป็นมนุษย์’ ที่จะช่วยแปรเปลี่ยนศาสนาและการเมืองให้หลุดพ้นจากอำนาจของอัตรา สู่การเป็นพลังแห่งการตื่นรู้

หนังสือ:  ภารตะ-สยาม ศาสนาต้อง(ไม่)ห้ามเรื่องการเมือง? 

ผู้เขียน: คมกฤช อุ่ยเต็งเค่ง 

สำนักพิมพ์: มติชน

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี