สงครามและสันติภาพ: ประวัติศาสตร์การต่อต้านสงครามในสังคมไทย - Decode
Reading Time: 2 minutes

ในความเคลื่อนไหว

รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ

แม้ว่าตั้งแต่ต้นปี 2565 นักวิเคราะห์การเมืองระหว่างประเทศหลายรายจะหวั่นเกรงถึงภัยสงครามที่อาจจะเกิดขึ้นโดยรัสเซีย แต่ก็ไม่มีใครคาดคิดว่าสุดท้ายรัสเซียภายใต้การนำของวลาดีมีร์ ปูตินจะตัดสินใจบุกยูเครนจริง ๆ

สงครามครั้งนี้ถูกผู้นำและประชาชนทั่วโลกคัดค้านอย่างกว้างขวาง เพราะเป็นสงครามที่ไม่ชอบธรรม ผิดหลักกฎหมายระหว่างประเทศ เนื่องจากเป็นการรุกล้ำอธิปไตยทางดินแดนของรัฐชาติอื่น นอกจากข้ออ้างทางประวัติศาสตร์และเหตุผลทางการเมืองของผู้นำรัสเซียซึ่งปราศจากความชอบธรรม ใครที่เรียนหรือศึกษาการเมืองระหว่างประเทศคงทราบว่าหลักอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนของรัฐชาตินั้นเป็นหลักการสำคัญที่ธำรงรักษาความสงบและระเบียบของโลกเอาไว้ กว่าจะบรรลุซึ่งข้อตกลงและการยอมรับร่วมกันในหลักการนี้ โลกได้ผ่านวิวัฒนาการมาอย่างยาวนาน มีบทเรียนมานับครั้งไม่ถ้วน โดยเฉพาะจากสงครามโลกครั้งครั้งที่ 1 และ 2 ในศตวรรษที่ 20 และสงครามระหว่างประเทศอีกหลายสมรภูมิในช่วงสงครามเย็นและหลังจากนั้น

สงครามสร้างแต่ความสูญเสีย ความพลัดพราก และบาดแผล ไม่ว่าจะเป็นบาดแผลทางร่างกาย จิตใจ ความสัมพันธ์ทางสังคม คุณภาพชีวิต และกิจกรรมทางเศรษฐกิจ  

ภาพ : AFP

คนที่แบกรับผลกระทบจากสงครามมากที่สุด ก็คือประชาชนธรรมดา ที่ไม่ได้มีส่วนในการตัดสินใจ ไม่ได้มีส่วนในความขัดแย้ง กระทั่งไม่ได้บาดหมางหรือเกลียดชังเพื่อนบ้านที่ผู้นำของตนไปรุกราน ผู้นำมักจะปลุกกระแสชาตินิยมและโหมกระพือการเมืองแห่งความหวาดกลัวเพื่อรองรับสงครามที่ตนเป็นผู้ก่อ เพื่อเหตุผลทางอำนาจและผลประโยชน์ ในทางรัฐศาสตร์มีการศึกษาจำนวนมากที่ชี้ว่าผู้นำแบบอำนาจนิยม (autocrat leaders) มักใช้สงครามเพื่อกระชับอำนาจทางการเมืองภายในประเทศและเบี่ยงเบนปัญหาความไม่ชอบธรรมในการบริหารประเทศของตนเอง

ท่ามกลางสถานการณ์ที่กำลังพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ยังไม่มีใครทราบว่าสงครามรุกรานยูเครนของรัสเซียครั้งนี้จะจบลงอย่างไร จะขยายตัวไปเป็นสงครามที่ขยายวงกว้างมากขึ้น หรืออาจจะจบลงที่โต๊ะเจรจา แต่ระหว่างที่เขียนบทความนี้ ผลกระทบที่เกิดกับผู้คนก็มากมายมหาศาลเสียแล้ว มีชาวยูเครนประมาณครึ่งล้านคนต้องอพยพหนีภัยสงครามออกจากดินแดนบ้านเกิดตนเอง บ้านเรือนพังย่อยยับ เศรษฐกิจหยุดชะงัก ครอบครัวพลัดพราก และทุกคนใช้ชีวิตอยู่ด้วยความเครียดและวิตกกังวล

ภาพ: AFP

ในยามนี้ทั่วโลกกำลังส่งเสียงเรียกร้องให้ผู้นำรัสเซียยุติสงครามและถอนกำลังออกจากยูเครนทันที เพื่อเปิดทางให้สันติภาพ มีการกดดันด้วยมาตรการต่าง ๆ ทั้งการบอยคอต การแซงก์ชันทางเศรษฐกิจ การกดดันทางการทูตและการเมืองระหว่างประเทศ รวมถึงการนัดชุมนุมเดินขบวนคัดค้านสงครามซึ่งกำลังเกิดขึ้นในหลายเมืองใหญ่ทั่วโลก ทำให้ผู้เขียนอยากจะชวนทุกคนย้อนกลับไปดูว่าในอดีตที่ผ่านมาสังคมไทยก็มีประวัติศาสตร์ที่น่าชื่นชมของการแสดงออกทางมนุษยธรรมร่วมกับคนทั่วโลกคัดค้านสงครามและเรียกร้องสันติภาพ นับเป็นประวัติศาสตร์ที่ควรค่าแก่การบันทึกและเล่าต่อ

“กบฎสันติภาพ 2495”

การเคลื่อนไหวครั้งประวัติศาสตร์นี้เป็นเหตุการณ์ที่คนไทยส่วนใหญ่น่าจะลืมไปแล้วหรือกระทั่งไม่เคยรู้จัก โดยบริบทขณะนั้นคือ ในปี 2493 เกิดสงครามขึ้นในคาบสมุทรเกาหลีที่ถูกแบ่งประเทศออกเป็นเหนือและใต้ ขณะนั้นรัฐบาลไทยภายใต้การนำของจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นพันธมิตรกับรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ตัดสินใจส่งทหารไทยหลายพันนายไปร่วมรบในสงครามเกาหลี เพราะถูกร้องขอจากสหรัฐฯ ให้ช่วยรบในสงครามเพื่อ “ต่อต้านการแผ่ขยายอิทธิพลของคอมมิวนิสต์”

ขบวนการสันติภาพ เป็นขบวนการเคลื่อนไหวของปัญญาชน ต่อต้านรัฐบาลจอมพล ป.ที่ลงนามในสัญญาเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ และส่งทหารไปร่วมรบในสงครามเกาหลี

จากการตัดสินใจดังกล่าว ทำให้มีคนไทยจำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วย เนื่องจากมองว่าประเทศไทยไม่ใช่คู่ขัดแย้ง และปัญหาในเกาหลีเป็นปัญหาภายในของคนในชาติเกาหลี การทำสงครามมีแต่จะสร้างความสูญเสียให้ขยายในวงกว้างรวมถึงชีวิตของทหารไทย จึงมีการจัดตั้ง “คณะกรรมการสันติภาพ” ขึ้น มีนายแพทย์เจริญ สืบแสง เป็นประธานคณะกรรมการ กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ “ศรีบูรพา” นักเขียนชื่อดัง (เจ้าของผลงานเรื่อง ข้างหลังภาพ) และพระมหาดิลก สุวรรณรัตน์ เป็นรองประธาน กรรมการมาจากคนหลากหลายสาขาอาชีพมีทั้งนักหนังสือพิมพ์ นักการเมือง ทนายความ นักศึกษา รวมถึงนายทหาร จุดประสงค์ก็เพื่อต่อต้านสงคราม และต่อต้านรัฐบาลสหรัฐอเมริกาซึ่งสนับสนุนสงครามเกาหลี พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลไทยถอนตัวจากสงครามเกาหลี ในหมู่คนหนุ่มสาวก็มีความตื่นตัว โดยมีการก่อตั้ง “คณะกรรมการสันติภาพนักศึกษา” ขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ขบวนการสันติภาพนี้มีแผนจะส่งตัวแทนไปร่วมประชุมกับตัวแทนประเทศอื่นในหลายประเทศเพื่อเรียกร้องสันติภาพ แต่ก็ถูกรัฐบาลจอมพล ป. จับกุมทั้งหมด และถูกตั้งข้อหาว่าร่วมกันยุยงก่อให้เกิดความแตกแยกและความไม่สงบขึ้นในบ้านเมืองและมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ การกวาดล้างจับกุมครั้งใหญ่นี้เกิดขึ้นในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2495 วันดังกล่าวจึงถูกเรียกขานว่าเป็นวัน “กบฏสันติภาพ” ซึ่งก็แปลกดีที่การเรียกร้องสันติภาพกลายเป็นกบฏไปเสียได้ ที่น่าตกใจคือสมาชิกขบวนการสันติภาพหลายคนถูกตัดสินจำคุกถึง 20 ปี

หนึ่งในคนที่ถูกจับกุมในเหตุการณ์นี้คือ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภรรยานายปรีดี พนมยงค์ ผู้นำคณะราษฎร      โดยเจ้าตัวได้บันทึกถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ไว้ว่า “ปาล [บุตรชาย] ได้ขอให้ข้าพเจ้าร่วมเซ็นชื่อคัดค้านสงคราม เรียกร้องสันติภาพสากล ข้าพเจ้าเซ็นชื่อในกระดาษที่มีผู้ลงนามก่อนหน้านี้อย่างไม่รีรอ ไม่ต้องปลุกระดม ไม่ต้องอธิบายเหตุผล ข้าพเจ้ายังจําเหตุการณ์ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้  ภาพทหารญี่ปุ่นยาตราทัพเข้ามาในแผ่นดินไทย ภาพเปลวไฟสีแดงฉานจากระเบิดที่ทิ้งลงตรงสถานีรถไฟบางกอกน้อย  ภาพตัวเองที่ต้องอุ้มลูกสาวคนเล็กลงหลุมภัยอย่างชุลมุน ภาพของคนที่ต้องสูญเสียผู้เป็นที่รักในยามสงคราม”[1]

“ขบวนการคัดค้านสงครามเวียดนาม”

ขบวนการนี้นำโดยคนหนุ่มสาวในยุคก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ยุคนั้นไทยถูกปกครองด้วยรัฐบาลเผด็จการทหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งชักพาสังคมไทยให้เข้าไปร่วมกับสงครามในอินโดจีนที่นำโดยสหรัฐฯ รัฐบาลแอบอนุญาต (โดยปกปิดคนไทยเป็นเวลาหลายปี) ให้สหรัฐฯ เข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศไทยถึง 7 แห่งเพื่อให้ทหารอเมริกันบรรทุกระเบิดใส่เครื่องบินรบไปทิ้งในประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างลาว เวียดนาม และกัมพูชา มีการประเมินว่า 80% ของระเบิดที่ทิ้งในสงครามเวียดนามมาจากเครื่องบินรบที่บินออกไปจากฐานทัพในไทย (สนามบินอู่ตะเภาเป็นหนึ่งในนั้น) นอกจากนั้นแล้วรัฐบาลยังเปิดให้กองทัพสหรัฐฯ ส่งทหารมาประจำการในไทยหลายหมื่นนาย และรัฐบาลยังส่งทหารไปช่วยสหรัฐฯ รบในสงครามครั้งนี้จำนวนมากโดยสหรัฐฯ เป็นคนออกค่าใช้จ่ายให้ การที่เราไปทำสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านจนมีการบาดเจ็บล้มตายทั้งในฝั่งทหารไทยและทหารลาว กัมพูชา และเวียดนาม และการไปสนับสนุนสหรัฐฯ ให้โจมตีเพื่อนบ้านทั้งที่เขาและเราไม่มีความขัดแย้งกันเป็นการส่วนตัว ทำให้เกิดบาดแผลในความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเพื่อนบ้านของเรายาวนานหลังจากนั้น

ขบวนการนักศึกษาที่กำลังตื่นตัวทางการเมืองในยุคนั้นจึงเคลื่อนไหวคัดค้านสงครามเวียดนามร่วมกับคนหนุ่มสาวทั่วโลก ยุคนั้นเป็นยุคที่เรียกกันว่ายุคบุปผาชน ยุคแห่งความตื่นตัวของพลังคนหนุ่มสาว การเรียกร้องสิทธิมนุษยชน สิทธิสตรี ปัญหาสิ่งแวดล้อม และประชาธิปไตย โดยมีสโลแกน “Make Love, Not War” เป็นสโลแกนที่รู้จักกันดี นักศึกษาสหรัฐฯ ในหลายมหาวิทยาลัยเดินขบวนประท้วงทั่วประเทศเพื่อให้รัฐบาลของตนยุติสงครามในอีกซีกโลกหนึ่งและหยุดส่งทหารอเมริกันไปตายในสงครามที่พวกเขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง คลื่นการประท้วงสงครามแพร่ขยายไปทั่วโลก ผ่านบทกวี เพลง หนัง ละคร นิยาย และการชุมนุมบนท้องถนน นักศึกษาในไทยก็มีการจัดนิทรรศการให้ความรู้ จัดสัมมนา และชุมนุมคัดค้านสงครามเวียดนาม ในยุคนี้วัฒนธรรมแขนงต่าง ๆ โดยเฉพาะวรรณกรรมมีบทบาทอย่างสูงในการเผยแพร่แนวคิดการประท้วงสงคราม  โดยคนหนุ่มสาวในไทยและทั่วโลกมองว่าสหรัฐฯ ทำตัวเป็นจักรวรรดินิยมสมัยใหม่ที่ใช้สงครามเป็นเครื่องมือแผ่ขยายอิทธิพลความเป็นมหาอำนาจของตนไปครอบงำประเทศที่ด้อยอำนาจกว่า

การคัดค้านสงครามเวียดนามยังเชื่อมโยงนักศึกษาปัญญาชนในยุค 2510 ให้เกิดความรู้สึกต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารไปด้วย เพราะพวกเขาพบว่าประชาชนไม่มีส่วนในการตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญต่อชะตากรรมของประเทศชาติอย่างการตั้งฐานทัพหรือการส่งทหารไทยไปรบแม้แต่น้อย แถมยังถูกรัฐบาลปิดบังความจริงมาตลอด ทั้งสองประเด็นทำให้พวกเขาตระหนักชัดถึงความไม่เป็นประชาธิปไตยของรัฐบาลจอมพลถนอม ทั้งยังมองว่าการที่รัฐไทยเข้าไปเกี่ยวพันกับสงครามอินโดจีนนั้น เป็นเพราะธรรมชาติของผู้นำทหารที่มักจะตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยวิธีทางการทหารมากกว่าวิธีการทางการเมืองหรือการทูต รัฐบาลทหารจึงทำให้ประเทศต้องตกอยู่ในภาวะหมิ่นเหม่ต่อการเสีย “เอกราช” และ “อธิปไตย”

การเรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตยของนักศึกษาในยุคนั้นจึงมิได้เกิดจากหลักการนามธรรม แต่สั่งสมจากสภาพความเป็นจริงที่พวกเขาตระหนักว่าสิทธิเสรีภาพคือ เครื่องมือสำคัญต่อการปกป้องผลประโยชน์และอธิปไตยของชาติจากมหาอำนาจต่างชาติที่ร่วมมือกับผู้นำเผด็จการของไทย ดังที่ข้อเขียนในวารสารของนักศึกษาชิ้นหนึ่งเขียนไว้ว่า

“ถ้าจะถือว่าชีวิตมหาวิทยาลัย มิใช่เป็นเพียงการมาเรียน จมอยู่กับตำราเพื่อปริญญาบัตร การสนใจในปัญหาสภาพแวดล้อม ทั้งปรากฏการณ์ทางการเมือง สังคมและการศึกษาก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งยวดแล้ว ฐานทัพอเมริกันในไทยก็เป็นประหนึ่งคำถามที่ต้องการคำตอบ หรือ[เป็น]สัญลักษณ์แห่งความอัปยศของชาติเอกราชเล็ก ๆ ที่ท้าทายความรับผิดชอบของนักศึกษา เราไม่หวังปฏิกิริยาใด ๆ จากรัฐบาล… สิ่งที่หวังในวันนี้สำหรับชาวมหาวิทยาลัย คือการผนึกกำลังกันขับไล่ฐานทัพอเมริกันออกไปจากประเทศไทยอย่างจริงจังและต่อเนื่อง นั่นต่างหากคือภารกิจของชาวมหาวิทยาลัยในปี 2516 และตลอดไปจนกว่าจะพบความสำเร็จ[2] 

ไม่นาน หลังข้อเขียนชิ้นนี้ตีพิมพ์ ก็เกิดการเดินขบวนครั้งประวัติศาสตร์ที่เรียกว่า “14 ตุลา” ที่ทำให้ระบอบเผด็จการทหารของจอมพลถนอมล้มลง หลังจากนั้น การเดินขบวนคัดค้านฐานทัพสหรัฐฯ ยิ่งเข้มข้นขึ้น จนกองกำลังทหารสหรัฐฯ ถูกถอนออกไปจากประเทศไทยในท้ายที่สุด 

“การคัดค้านสงครามบุกอิรักของสหรัฐฯ”

การคัดค้านสงครามครั้งล่าสุดในไทยเกิดขึ้นในปี 2546 เมื่อเกิดสงครามอิรัก ซึ่งสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช นำกำลังเข้ารุกรานและยึดครองอิรัก โดยอ้างข้อมูลว่าอิรักครอบครองอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างร้ายแรง (the weapon of mass destruction) ซึ่งเป็นอันตรายต่อสันติสุขของนานาชาติ (ต่อมาภายหลังพิสูจน์ได้ว่าข้อมูลนี้เป็นข้อมูลเท็จที่สหรัฐฯ กุขึ้นเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการทำสงคราม) นอกจากเหตุผลเรื่องอาวุธแล้ว ฝ่ายสหรัฐฯ ยังกล่าวหาประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน ของอิรักว่าให้การสนับสนุนขบวนการก่อการร้ายที่โจมตีสหรัฐฯ (ทั้งที่ไม่มีหลักฐานเชื่อมโยงที่ชัดเจน) นอกจากนั้นยังมีการอ้างว่าสหรัฐฯ ทำสงครามบุกอิรักเพื่อช่วยกำจัดระบอบเผด็จการ ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลซัดดัม และมอบประชาธิปไตยให้กับประชาชนอิรัก

การบุกอิรักของสหรัฐฯ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอังกฤษ ณ ขณะนั้น ได้รับการคัดค้านจากประชาคมโลกอย่างกว้างขวางเพราะเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ และรุกล้ำอำนาจอธิปไตยของชาติอื่น การชุมนุมต่อต้านสงครามเกิดขึ้นตั้งแต่การรุกรานยังไม่เริ่ม ทั้งที่ลอนดอนและวอชิงตัน ดีซี ซึ่งมีผู้เข้าร่วมสูงถึง 300,000–500,000 คน

ที่สำคัญคือ มีการนัดหมายชุมนุมต่อต้านสงครามครั้งใหญ่พร้อมกันทั่วโลก ในวันที่ 15–16 กุมภาพันธ์ 2546 ผลปรากฏว่าประชาชนหลายล้านคนใน 800 เมืองทั่วโลกทั้งในสหรัฐฯ ยุโรป ลาตินอเมริกา แอฟริกา ตะวันออกกลางพากันออกมาเดินขบวนประท้วงต่อต้านสงครามอิรัก ซึ่งการแสดงพลังในนามของมนุษยธรรมและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันระดับโลก (global solidarity) ครั้งนี้ได้ถูกจารึกไว้ว่าเป็นการชุมนุมประท้วงคัดค้านสงครามที่มีคนเข้าร่วมมากที่สุดในประวัติศาสตร์โลก

ที่น่าภูมิใจคือ สังคมไทยเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์ดังกล่าว ภาคประชาชนไทยจัดชุมนุมเพื่อสันติภาพทั้งที่หน้าสถานทูตอเมริกาและที่อื่น ๆ มีการบอยคอตสินค้าของสหรัฐฯ และในวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์ ก็มีการนัดชุมนุมในกรุงเทพฯ โดยมีคนเข้าร่วมอย่างคึกคักเข้มแข็งทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ชาวไทยหลากหลายศาสนาและเชื้อชาติ รวมถึงพระสงฆ์ที่มาร่วมปราศรัยคัดค้านสงครามด้วย

ภาพ : AFP

ประวัติศาสตร์เวียนมาถึงจุดที่โลกเข้าสู่สงครามอีกครั้ง เพราะอำนาจและผลประโยชน์ของผู้นำที่ไม่รับฟังเสียงทักท้วงของประชาคมโลก จึงเป็นหน้าที่ของประชาคมโลกที่จะแสดงจุดยืนร่วมกันอย่างหนักแน่น จุดยืนที่ต้องยืนหยัดมิใช่เรื่องของการเข้าข้างประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่คือ การแสดงจุดยืนปกป้องหลักกฎหมายระหว่างประเทศ อธิปไตยเหนือดินแดนของรัฐชาติที่จะไม่ถูกรุกรานตามอำเภอใจโดยมหาอำนาจ (ไม่ว่ามหาอำนาจนั้นจะคือรัสเซีย สหรัฐฯ ยุโรป จีน ฯลฯ) และที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดคือ การปกป้องชีวิตผู้บริสุทธิ์ที่ตกเป็นเหยื่อของสงคราม

ไม่ควรมีใครต้องสูญเสียชีวิต คนรัก และพลัดพรากจากบ้านเกิดจากสงครามที่ปราศจากความชอบธรรม


[1] พูนศุข พนมยงค์, “เมื่อข้าพเจ้าถูกกล่าวหาว่าเป็น ‘กบฏ’,” มติชนสุดสัปดาห์, 23 กรกฎาคม, 30 กรกฎาคม, 6 สิงหาคม 2544.

[2] แพรสาย น้ำดำรง, “ชาวมหาวิทยาลัยกับฐานทัพอเมริกันในประเทศไทย,” ใน ชมรมคนรุ่นใหม่, มหาวิทยาลัยที่ยังไม่มีคำตอบ (กรุงเทพฯ: บพิธการพิมพ์, 2516), น.32.

ขอบคุณ กุลธิดา สามะพุทธิ และจุฬารัตน์ ดํารงวิถีธรรม สำหรับข้อมูลประกอบการเขียนบทความชิ้นนี้