มาร์กซิสต์ยังไม่ตาย สังคมไทยยังต้องซ้ายมากกว่านี้ (?) - Decode
Reading Time: 3 minutes

หนึ่งในแนวคิดที่ทรงอิทธิพลมากที่สุด และสร้างความสั่นสะเทือนให้แก่โลกใบนี้มาแล้วในยุคหนึ่งคือ “มาร์กซิสต์” (Marxism) ของคาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) นักปรัชญาเลื่องชื่อที่ได้เสนอแนวคิดท้าทายระบบทุนนิยม และรูปแบบการปกครองที่กดขี่ชนชั้นล่างไว้ ชื่อเสียงเรียงนามของมาร์กซ์นั้น ได้สร้างความนิยมสำหรับผู้ที่ต้องการปลดแอกไปสู่ความเท่าเทียม แต่ในขณะเดียวกัน ก็สร้างความหวาดกลัวในหมู่ชนชั้นนำ นายทุน รวมถึงผู้ที่ถือครองอำนาจอยู่ใช่น้อย

ในช่วง 14 ตุลาฯ 2516 จนถึงก่อน 6 ตุลาฯ 2519 กระแสแนวคิดมาร์กซิสต์เติบโตอย่างมาก ในขบวนการนิสิตนักศึกษา แต่แล้วเส้นทางการเติบโตนั้นก็เริ่มถูกตัดตอนลงไป ด้วยคมกระสุนปืน แรงฟาดจากเก้าอี้ ความร้อนจากเปลวไฟที่เกิดจากการเผา รวมถึงความรุนแรงอื่น ๆ ที่กระทำอย่างโหดร้ายทารุณในเช้าวันที่ 6 ตุลาฯ หลังจากนั้นเอง นิสิตนักศึกษาจำนวนมากได้เข้าป่าเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จับอาวุธสู้กับรัฐไทย

แต่อย่างที่ทราบกันดีว่า ในท้ายที่สุด พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก็พ่ายแพ้ไป กระแสมาร์กซิสต์ก็จางลงไปตามๆ กัน แม้จะมีอิทธิพลอยู่บ้างในวงวิชาการ แต่ทว่าก็ไม่สามารถขึ้นมาเป็นกระแส ในพื้นที่ทางการเมืองได้ อย่างน้อย ๆ ก็ยังเทียบเท่าไม่ได้กับกระแสเสรีนิยม

คำถามจึงมีอยู่ว่า มาร์กซิสต์ตายไปจากสังคมไทยหรือยัง? โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่หรือนักเรียน นิสิตนักศึกษา พวกเขาเหล่านี้ยังอ่านมาร์กซ์กันอยู่หรือไม่? ท่ามกลางกระแสม็อบฝ่ายเสรีนิยมประชาธิปไตยกำลังพุ่งสูง และอำนาจนำอนุรักษนิยมยังมีความมั่นคงในทางการเมือง

De/code จึงชวน Thammasat University Marxism Studies หรือ TUMS กลุ่มศึกษาแนวคิดมาร์กซิสต์ของคนรุ่นใหม่ มาร่วมกันถอดรหัสว่า เหตุใดจึงเลือกศึกษาแนวคิดนี้อยู่ และจำเป็นแค่ไหนที่สังคมไทยต้องมีแนวคิดที่ “ซ้าย” ไปมากกว่านี้

ปฏิวัติจากการวิพากษ์ชนชั้นนำและทุนนิยม

TUMS เป็นกลุ่มศึกษาแนวคิดมาร์กซิสต์ (Marxism) นีโอมาร์กซิสต์ (Neo-Marxism) และโพสต์มาร์กซิสต์ (Post-Marxism) เน้นศึกษาทฤษฎีที่สามารถใช้ในการวิพากษ์ชนชั้นนำ และระบบที่เอื้อการสืบทอดอำนาจของชนชั้นนำ ซึ่งชนชั้นนำในที่นี้รวมถึงนายทุนและชนชั้นปกครองด้วย พอศึกษาเสร็จก็จะนำเสนอความรู้ผ่านรูปภาพ กราฟิก บทความ และสิ่งที่ทำบ่อย ๆ คือ คลาสเรียน ที่มีการเชิญปัญญาชน/สหายฝ่ายซ้าย จากทั้งในและนอกไทย มาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้กัน

แรกเริ่มเดิมที สมาชิกส่วนใหญ่จะเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ปัจจุบันก็ขยายฐานกว้างขึ้น มีทั้งนักเรียน ม.ปลาย และบุคคลภายนอกมาร่วมด้วย ทาง TUMS เชื่อว่า การจัดตั้งกลุ่มศึกษาเป็นหนึ่งในฟังก์ชันของการปฏิวัติ

“เหมือนกับพรรคบอลเชวิกของโซเวียต ก็เริ่มจากการทำกลุ่มศึกษามาเหมือนกัน เพราะเราคิดว่าสิ่งนี้เป็นจุดตั้งต้นในการปฏิวัติได้ มันต้องทำความเข้าใจทฤษฎีก่อน เพราะระบบทุนนิยมในปัจจุบันพัฒนาไปมาก ถ้าเราไม่ได้เข้าใจระบบนี้จริง ๆ การออกแบบขบวนการต่อสู้ การทำสื่อ หรือการทำอีเวนต์ต่าง ๆ ก็จะอิงอยู่กับแนวคิดฝ่ายซ้ายเก่า ๆ จะทำให้เราตอบสนองต่อปัญหา ได้อย่างไม่แม่นยำไม่ตรงจุด”

แบบไหนถึงเรียกว่า “ซ้าย”

ฝ่ายซ้าย-ฝ่ายขวาในสเปกตรัมทางการเมือง มีความแตกต่างกันอย่างไร อาจเป็นคำถามที่หลายคนสงสัย เมื่อได้พบเห็นสองคำนี้ตามหน้าข่าวหรือหนังสือเกี่ยวกับการเมือง

ทาง TUMS ได้ไขความกระจ่างโดยย้อนที่มาของฝ่ายซ้าย-ฝ่ายขวาว่า มีมาตั้งแต่การแบ่งฝั่งที่นั่งในการประชุมสภาภายหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส ฝั่งซ้ายเป็นพวกกรรมกร คนทำงาน สามัญชน ส่วนฝั่งขวาเป็นพวกขุนนาง นายทุน บาทหลวงจากศาสนจักร ถ้าดูจากตำแหน่งที่นั่งก็จะเห็นว่า ฝั่งซ้ายคือคนส่วนใหญ่ในสังคม แต่อยู่ในฐานล่างสุดของพีระมิด

แนวคิดฝ่ายซ้ายจึงเน้นแสวงหาผลประโยชน์ให้คนส่วนมาก มุ่งปรับปรุงพัฒนาระบบเพื่อให้มนุษย์อยู่ร่วมกันโดยเท่าเทียมกันให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และกลุ่มคนส่วนใหญ่จะต้องเป็นผู้ที่ถืออำนาจสูงสุดในสังคม ซึ่งคาร์ล มาร์กซ์ใช้คำว่า “เผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ” หรือ “เผด็จการของคนส่วนใหญ่” แต่คำนี้มักถูกเข้าใจอย่างผิด ๆ ทั้งที่จริงแล้วในความหมายของคำนี้ มาร์กซ์ต้องการจะล้อว่าระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม คือ “เผด็จการโดยคนส่วนน้อย” ต่อให้มีการจัดการเลือกตั้ง ก็จะมีปัญหาต่าง ๆ ตามมา เช่น องค์กรล็อบบี้ยิสต์ การคอร์รัปชัน หรือบางบริษัทใหญ่ก็ส่ง ส.ส. ตัวแทนของเขาไปนั่งในสภา เพื่อยกมือโหวตให้แก่นโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจของเขา

“แนวคิดประชาธิปไตยแบบทุนนิยม ถ้ามองแบบซ้ายจัดอย่าง TUMS ก็มองว่า อะไรแบบนี้มันไม่ซ้าย แต่ถ้าใช้สเปกตรัมทางการเมืองแบบประเทศไทย ที่ฝ่ายขวามันตกขอบมาก ๆ ก็คือพวกราชาชาตินิยม ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมก็ยังถือว่าเอนไปทางซ้ายอยู่ ขึ้นอยู่กับว่าเราดู ณ สถานที่ไหน”

“ทุนนิยม” เผด็จการทางเศรษฐกิจกับภารกิจที่ต้องต่อต้าน

ในสายตาของคนทั่วไป มองว่าระบบทุนนิยมคือระบบเศรษฐกิจที่มีความจำเป็นยิ่งต่อชีวิต แต่ในสายตาของฝ่ายซ้ายกลับมองว่าการดำรงอยู่ของระบบทุนนิยมนั้นเป็นปัญหา ซึ่ง TUMS เรียกว่า “เผด็จการทางด้านเศรษฐกิจ” แรงงานทำงานเพื่อรับค่าแรงอันน้อยนิด แต่กำไรตกอยู่ในมือของนายทุนหรือนายจ้าง ไม่ต่างจากการทำนาบนหลังคน ทั้งที่จริง คนที่สร้างผลผลิต เช่น ปลูกข้าว สร้างห้องน้ำ ทำการประปาและการไฟฟ้า ฯลฯ ล้วนมาจากน้ำพักน้ำแรงของเหล่ากรรมาชีพทั้งนั้น ไม่ใช่นายทุนที่นั่งในห้องแอร์

ความเป็นเผด็จการของระบบทุนนิยม ยังสะท้อนผ่านการเชื่อมผลประโยชน์ ระหว่างชนชั้นนำกับนายทุนเข้าไว้ด้วยกัน ถ้ามีคนออกมาเรียกร้องสวัสดิการ หรือเรียกร้องให้ฝ่ายบริหารหรือนายทุนมีความโปร่งใส ฝ่ายรัฐก็จะออกมาปราบปราม พร้อมใช้ความรุนแรงกับผู้ที่ออกมาเรียกร้องเสมอ

“ระบบทุนนิยมไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวนายทุนอย่างเดียว แต่มันได้ส่งผลไปถึงชนชั้นนำในการปกครอง ซึ่งคอยที่จะคุ้มครองนายทุนไว้ แล้วเอื้อผลประโยชน์ให้แก่นายทุนในการที่จะรักษาสังคมตรงนี้อยู่ นายทุนเองก็เอื้อผลประโยชน์ที่จะรักษาระบอบการปกครองด้วย”

ระบบทุนนิยมยังทำให้คนเราไม่มีความรับผิดชอบในการผลิต เพราะไม่ได้ผลิตเพื่อที่จะใช้สิ่งของจริงๆ แต่มุ่งผลิตเพื่อผลกำไร ทำให้เกิด Crises of Overproduction ขึ้นมา ซึ่งตามหลัก demand & supply เมื่อมี demand สูง supply ก็จะสูงขึ้นตาม พอเกิดการ oversupply ขึ้นมา สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ก็ค้างในสต๊อกหรือตกรุ่นไป หลายบริษัทก็เลือกเอาของพวกนั้นไปทิ้ง หรืออาหารที่ขายไม่ได้ หมดอายุแล้ว ก็ถูกนำไปทิ้งเช่นกัน

“คำถามก็คือว่า ทำไมปล่อยให้ทรัพยากรเหล่านั้นถูกทิ้งไปอย่างนี้ ในเมื่อยังมีอีกหลายคนบนโลกใบนี้ที่ไม่มีสิ่งของเครื่องใช้ ไม่มีข้าวกิน เขาต้องการทรัพยากรส่วนนั้น”

ถ้ามองว่าระบบทุนนิยมเป็นเครื่องมือหนึ่งที่มนุษย์คิดค้นขึ้นมา ก็ต้องสามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่มนุษย์กลับถูกครอบงำด้วยสัจนิยมแบบทุน แทนที่จะคิดว่าระบบอะไรกันที่ใช้กับมนุษย์แล้วคนแค่ 1% หรือ 0.1% มีชีวิตที่ดี แต่คนอีก 99% กลับมีชีวิตย่ำแย่ ขึ้นอยู่กับว่าแย่มากแย่น้อยขนาดไหน

หรือเปรียบเทียบกับวัคซีน สมมติผลิตวัคซีนขึ้นมาชนิดหนึ่ง ฉีดให้คน 10 คน ตายสัก 9 คน แล้วรอดอยู่คนเดียว จะต้องมาอวยหรือไม่ว่า นี่คือวัคซีนที่ดีที่สุดที่เรามี เราไม่มีทางเลือกอื่น แล้วทำไมเราไม่คิดแบบนั้นกับทุนนิยมเลย มิหนำซ้ำมีคนบอกว่าทุนนิยมเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษยชาติจะมีได้แล้ว อาจจะแก้ไขบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ไม่มีทางหนีทุนนิยมไปได้

“เราไม่ได้มองว่าระบบทุนนิยมเป็นเครื่องมือของมนุษย์ หรือเป็นสิ่งสมมติที่เราสร้างขึ้นมาให้ชีวิตง่ายขึ้น เรามองมันกลายเป็นพระเจ้าของเรา เดี๋ยวนี้คนไม่มีศาสนากันเยอะใช่ไหม กลายเป็นว่าเราเลิกบูชาศาสนา มาเป็นการบูชาความเพ้อเจ้อแบบทุนนิยมแทน ซึ่งไม่ได้ทำให้ชีวิตของมนุษยชาติโดยรวมดีขึ้น”

ประเด็นหนึ่งที่ฝ่ายซ้ายมักถูกโจมตีเสมอคือ ถ้าหากไม่ชอบทุนนิยม ทำไมถึงยังใช้สิ่งของทุนนิยม ทาง TUMS ตอบกลับประเด็นนี้ว่า ระบบอำนาจชั้นสูงยังถูกมองว่าเป็นเรื่องสมมติหรือวาทกรรมได้ ทำไมถึงไม่คิดบ้างว่าระบบทุนนิยมเองก็เป็นสิ่งสมมติเหมือนกัน เราต้องยอมรับว่าทุนนิยมมีอยู่ แล้วก็ใช้สิ่งที่มีในทุนนิยมในการเปลี่ยนแปลงมัน

แต่ก็จะมีบางความเห็นที่ว่าถ้าไม่มีทุนนิยม เทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ ก็จะไม่เกิดขึ้น ซึ่งไม่ได้เป็นอย่างนั้น เป็นการให้เครดิตมนุษยชาติน้อยเกินไป

“ลองคิดดูว่า ถ้ามนุษย์คนแรกของโลกที่คิดค้นการจุดไฟจากกิ่งไม้ได้ เขาเอาวิธีจุดไฟไปจดลิขสิทธิ์ แล้วบอกว่า ต่อไปหมู่บ้านอื่นๆ ห้ามจุดไฟนะ เพราะว่าเขาเป็นคนคิดได้ แล้วใครจะใช้ไฟก็ต้องมาเช่ากับเขา คุณว่ามนุษยชาติจะเจริญมาถึงขั้นที่มีคอมพิวเตอร์ใช้ไหม”

ดังนั้นการต่อต้านทุนนิยมจึงเป็นสิ่งจำเป็น และไม่สามารถใช้วิธีการแบบเสรีนิยมที่มองว่า การต่อต้านทุนนิยมเป็นแค่จุดยืนได้ ฝ่ายซ้ายต้องต่อสู้กับทุนนิยมร่วมกับคนอื่น ๆ ที่เป็นแรงงาน หรือได้รับผลกระทบจากทุนนิยมเหมือนกัน

“ทางที่เราเลือกจึงไม่ใช่ทางที่หนีทุนนิยม แต่เราต้องสู้กับมัน แล้วเราเอาประโยชน์จากมันมามีส่วนช่วย (contribute) กับขบวนการให้เยอะที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ เหมือนกับในประเทศอังกฤษหรือรัสเซีย ถ้าเขาไม่ขโมยปืนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของกษัตริย์มายิงกษัตริย์ เขาก็ไม่รู้ว่าจะเอาอะไรมาสู้ถูกไหม”

ทุนนิยมซึมลึก จิตสำนึกร่วมซึมเซา

สังคมไทยในปัจจุบันค่อนข้างจะผูกขาดการผลิต อาทิ มีบริษัทใหญ่หรือคนที่สามารถถือครองที่ดินและทรัพยากรได้จำนวนมาก ซึ่งบริษัทใหญ่หรือนายทุนพวกนี้ ก็มีความสัมพันธ์ที่ดีและเหนียวแน่นกับรัฐไทย

นอกจากนี้ ปัญหาเศรษฐกิจในไทยยังเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกด้วย เนื่องจากสังคมโลกส่วนใหญ่เป็นระบบเสรีนิยมใหม่ เชื่อในการที่รัฐไม่เข้าไปสนับสนุนสวัสดิการประชาชน แต่สนับสนุนการเติบโตของบริษัทเอกชนแทน พร้อมให้เสรีภาพแก่บริษัทเอกชนในการทำกำไรอย่างสูงสุด โดยตัดประเด็นอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแรงงานหรือสิ่งแวดล้อมออกไป

ภาคส่วนต่าง ๆ ของไทยก็เป็นแบบนี้ กล่าวคือ สนับสนุนเอกชนให้ทำกำไรกับประชาชน เช่น มหาวิทยาลัยก็เริ่มออกนอกระบบ ออกโปรแกรมต่าง ๆ เพื่อจะหากำไรจากนักศึกษา หรือโรงพยาบาลที่มีค่ารักษาแพง ต้องยืนยันสิทธิ์หลายขั้นตอนกว่าจะได้รับการบริการ บางแห่งก็เปิดโปรแกรมพิเศษเพื่อจะดึงกำไรมา เป็นต้น แทนที่การใช้บริการภาคส่วนต่าง ๆ ของรัฐจะเป็นสวัสดิการที่ประชาชนพึงได้รับ กลับถูกปล่อยให้อยู่กับเอกชน ซึ่งประชาชนเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการทำกำไรนี้เอง

คำถามที่น่าสนใจคือ เงื่อนไขของประเทศไทยต่างกับประเทศอื่นอย่างไร ทาง TUMS เห็นว่ามีความแตกต่าง ซึ่งก่อนอื่นต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมาชนชั้นนำเล่นการเมืองระหว่างประเทศเก่งมาก และด้วยภูมิรัฐศาสตร์ของไทยเป็นรัฐกันชนของพวกมหาอำนาจต่างๆ ทำให้รอดพ้นจากการตกเป็นอาณานิคมมาได้นาน พอไทยไม่คุ้นเคยกับความรู้สึกที่ต้องต่อสู้กับพลังของชาติอื่นที่เหนือกว่า ทำให้คนไทยจึงไม่มีจิตสำนึกต่อส่วนรวมขนาดนั้น

ยกตัวอย่างเวียดนาม โดนจีนปกครองนับพันปี ตามมาด้วยการถูกฝรั่งเศสล่าอาณานิคม ไหนจะถูก “ฝนเหลือง” ในช่วงสงครามเวียดนาม แต่ในปัจจุบัน แนวโน้มการลงทุนทางเศรษฐกิจของเวียดนาม ดูเหมือนจะไปไกลกว่าไทยด้วยซ้ำทั้งที่ใช้ระบบสังคมนิยม นี่เป็นเรื่องของจิตสำนึกต่อส่วนรวม ส่วนในไทยนั้นต่อให้เป็นพวกที่ “โคตรชาตินิยม” ก็ยังไม่มีจิตสำนึกต่อส่วนรวมเลย ดังจะเห็นได้จากหลายกรณี เช่น การซื้ออาวุธสงครามในยามสงบ การสั่งซื้อวัคซีนที่เต็มไปด้วยข้อครหา ฯลฯ หรือแม้กระทั่งในขบวนการฝ่ายประชาธิปไตยเอง ก็อาจจะมีปัญหาเรื่องจิตสำนึกต่อส่วนรวมได้เช่นกัน

“เรื่องทฤษฎีการเมืองมันสอนกันได้ไม่ยากถ้ามีเวลาเรียน แต่เรื่องจิตสำนึกต่อส่วนรวม ที่จะทำอะไรบางอย่างที่เหนือกว่าประโยชน์ของตัวเอง มันเป็นสิ่งที่ต้องบ่มเพาะผ่านประสบการณ์ค่อนข้างเยอะ จึงมองว่า การที่ไทยเป็นรัฐเอกราชมานานเกินไป ทำให้ในเวลาต่อมามันแย่สำหรับคนไทยเอง”

ฝ่ายซ้ายในสเปกตรัมทางการเมืองไทย

ในสเปกตรัมทางการเมืองไทย ถ้าไม่นับทางฝั่งขวา อันประกอบด้วย รอยัลลิสต์กับอนุรักษนิยมที่ครองอำนาจนำในพื้นที่ทางการเมืองมายาวนาน ทางฝั่งซ้ายก็เหมือนว่าจะไปไกลสุดแค่เสรีนิยม ส่วนซ้ายจัดไปกว่านั้นอย่าง TUMS ยังไม่สามารถครองกระแสได้เท่า ถือเป็นสิ่งสะท้อนว่า กระแสฝ่ายซ้ายยังไม่เติบโตในไทย เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

TUMS มองว่า ที่จริงแล้ว แนวคิดฝ่ายซ้ายครองกระแสอย่างมากในช่วง 14 ตุลาฯ 2516-6 ตุลาฯ 2519 ตรงกับช่วงยุคสงครามเย็น แต่ด้วยการต่อสู้ระหว่างฝ่ายซ้าย-ฝ่ายขวา ไม่ใช่แค่การใช้กำลังอาวุธเท่านั้น ยังเป็นการต่อสู้เชิงอุดมการณ์ด้วย ฝั่งที่เป็นศัตรูกับฝ่ายซ้ายช่วงนั้น นอกจากจะมีรัฐ สถาบันกษัตริย์ ทหาร และนายทุน ยังมีประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ที่ช่วยไทยทำโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ ในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์

แต่หลังจากการปราบขบวนการนักศึกษาในช่วง 6 ตุลาฯ นักศึกษาบางคนเข้าป่า แล้วพอกลับออกมาจากป่าก็เป็นยุคที่ฝั่งสังคมนิยมใกล้จะตายเต็มที กอปรกับไทยก็เป็นโลกทุนนิยม-เสรีนิยมใหม่ทั้งในทางเศรษฐกิจและอุดมการณ์ แนวคิดสังคมนิยมจึงหายไปด้วยกลไกของรัฐ ที่สร้างสถาบันกษัตริย์ให้เข้มแข็ง รวมถึงสถาบันอื่น ๆ อาทิ การศึกษา ศาสนา ที่เชื่อมโยงเข้ากับสถาบันกษัตริย์และแนวคิดทุนนิยม คนส่วนใหญ่จึงเบือนหน้าหนีจากสังคมนิยมที่พ่ายแพ้ไปแล้ว เพราะคิดว่าคงเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป

“อีกเหตุผลหนึ่งคือ ระบบการศึกษาของเราสอนให้เชื่อมากกว่าวิพากษ์ ทำให้ยากที่จะมีคนวิพากษ์ปัญหาในสังคมไทย รวมถึงการวิพากษ์ในเชิงที่เป็นจากฐานรากด้วย ส่วนใหญ่ก็จะเป็นแค่การถกเถียง เลยทำให้คนถูกครอบงำ”

ในอีกแง่หนึ่ง การที่แนวคิดไหนจะครองอำนาจนำได้ จำต้องมีอำนาจทางการเงินและอำนาจทางผู้คน มาใช้ในการส่งเสริม กรณีอุดมการณ์ของรัฐไทยก็ได้รับการสนับสนุนให้เผยแพร่ผ่านรูปแบบต่างๆ หรือการสนับสนุนระบบทุนนิยมก็มักถูกเผยแพร่ออกมาในรูปแบบ pop culture ต่างๆ มากมาย ในขณะที่ฝ่ายซ้ายไม่ได้มีผู้ที่สนับสนุนแบบนี้สักเท่าไร นั่นหมายถึงว่า ศัตรูของฝ่ายซ้ายแข็งแกร่งกว่ามาก

ส่วนแนวคิดเสรีนิยม อาจไม่ได้ถูกฝ่ายรัฐต่อต้านตามที่เข้าใจกัน อย่างพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ดูไม่ค่อยเสรีนิยม แต่ในทางการเมืองแล้วมีความเสรีนิยมใหม่มาก ๆ ไม่สนับสนุนรัฐสวัสดิการ ไม่สนับสนุนความยุติธรรมทางสังคม แต่สนับสนุนนายทุน สนับสนุนการผูกขาด ดังนั้น ในมิติทางเศรษฐกิจ เสรีนิยมกับอนุรักษนิยมจึงไปด้วยกันได้

“แต่แนวคิดฝ่ายซ้ายอยู่ด้วยกันกับใครไม่ได้ทั้งอนุรักษนิยมหรือเสรีนิยม แปลว่า เรากำลังโดนรุมอยู่ในแง่สมการทางการเมือง แต่ในแง่ที่เป็นกรรมาชีพหรือคนที่ทำงานส่วนใหญ่ของสังคม เราต่างหากที่เป็นฝ่ายรุมเขาในอนาคต”

ถ้าพูดกันในแง่ผลลัพธ์ เป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะยากอยู่เหมือนกัน ว่าจะทำอย่างไรให้สังคมหันมาสนใจแนวคิดมาร์กซิสต์ บางคนไม่ได้ยึดติดแค่กรอบทุนนิยม แต่ยังยึดติดกรอบศักดินาด้วย การต่อสู้เชิงความคิดจำต้องใช้เวลาที่ยาวนาน ไม่สามารถจะเปลี่ยนคนคนหนึ่งในระยะเวลาอันสั้นได้ สิ่งที่เราทำได้ก็มีจัดกิจกรรม แลกเปลี่ยนความรู้ กลับมาถอดบทเรียน แล้วก็หาวิธีว่าเราจะแลกเปลี่ยนความรู้อย่างไรให้ดีขึ้น มันเป็นการต่อสู้ที่ดำเนินไปเรื่อย ๆ ไม่สามารถบอกได้ว่ามันจะจบลงวันไหน เมื่อไร อย่างไร

การเคลื่อนไหวของขบวนการฝ่ายประชาธิปไตยในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ถือว่ามาไกลเกินกว่าที่คาดไว้ด้วยซ้ำ เช่นเดียวกับอุดมการณ์ฝ่ายซ้าย ตั้งแต่เริ่มทำกลุ่ม TUMS เมื่อ 3 ปีก่อน สิ่งที่ทำเหมือนกับปลูกต้นไม้ไว้ ไม่ได้คิดว่าปลูกวันนี้แล้วจะได้กินผลภายในปีหน้า บางทีอาจจะต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี

“ฝั่งม็อบเสรีนิยมสู้กับอนุรักษนิยมก็ต้องเป็นไปอย่างนี้ ซึ่งยังไงฝั่งเสรีนิยมก็เอาชนะฝั่งอนุรักษนิยมได้ แต่อีกกี่ปีไม่แน่ใจ แต่สิ่งที่เราอาจจะทำไว้คือ เราอยากเป็นแคปซูลแห่งกาลเวลา พอจุดนั้นมาถึงแล้ว ระบบทุนนิยมไม่ได้รอเรา ไม่ได้รอให้คุณชนะ แล้วค่อยเข้าไปสู้อีกทีนะ แต่มันเข้ามาแล้ว มันอยู่กับพวกเราตอนนี้แล้ว”

อุปสรรคสุดท้ายที่ TUMS กล่าวถึงคือ การต่อสู้กับอุดมการณ์อนุรักษนิยมหรือเสรีนิยม ที่อยู่ในตัวของฝ่ายซ้ายเอง อุดมการณ์อนุรักษนิยมที่ยังเอาชนะไม่ได้ เช่น เหยียดเพศ เหยียดผิว เหยียดอายุและประสบการณ์ ฯลฯ ส่วนอุดมการณ์เสรีนิยมที่ยังเอาชนะไม่ได้ก็คือเรื่องปัจเจกนิยมเข้าครอบงำ เช่น บางทีรู้สึกว่าไม่อยากทุ่มเทให้กับส่วนกลางขนาดนั้น ไม่กล้าเผชิญหน้ากับปัญหาบางอย่าง หรือเทคอุดมการณ์เป็นงานอดิเรกแบบหนึ่ง ว่างมากๆ ก็มาทำกิจกรรมหรือไปม็อบ ไม่ว่างก็ไม่ไป

“การต่อสู้ของฝ่ายซ้าย เราต้องต่อสู้ในทุกมิติของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการไปม็อบ ทำหนังสือ หรือการมานั่งตรวจสอบความคิดตัวเอง จินตนาการของตัวเองว่า มีเศษส่วนอุดมการณ์ฝ่ายขวาอยู่ไหม เหมือนเราเกิดมาในโคลนตม ถ้าเราลุกขึ้นมาก็ต้องมีโคลนติดตัวอยู่บ้าง เราก็ต้องเช็ดมันออกไปเรื่อย ๆ อย่าประมาท”

ทุนนิยมอัปเกรด VS คนงานเติบโต ฝ่ายซ้ายยังมีอนาคต

ในมุมมองของ TUMS การคาดการณ์เรื่องในอนาคตว่า ฝ่ายซ้ายจะเติบโตได้มากขนาดไหนในสังคมไทย โดยเฉพาะในกลุ่มนิสิตนักศึกษา เป็นเรื่องที่ตอบยากอยู่เหมือนกัน ซึ่งตอนแรก TUMS จินตนาการไว้ว่า น่าจะมีสมาชิกหลักสัก 5 คน แล้วจะมีคนมาเข้าร่วมประมาณ 10 คน รวมเป็น 15-20 คนเศษต่อ 1 session แต่พอเริ่มทำไปเรื่อย ๆ จนเข้าสู่ปีที่ 3 ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 17 คน คลาสเรียนมีคนเข้าร่วมประมาณ 100-120 คน เยอะมากกว่าที่ประเมินไว้ตอนแรก เหตุที่เป็นเช่นนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า กระแสฝ่ายซ้ายจากโลกตะวันตกหลั่งไหลเข้ามาในไทยด้วย

นอกจากนี้ คนสนใจแนวคิดฝ่ายซ้ายมากขึ้น เพราะระบบเสรีนิยมใหม่เริ่มสำแดงธาตุแท้ออกมา อาทิ กรณีโควิด-19 ก็เผยให้เห็นความเหลื่อมล้ำด้านต่าง ๆ รวมถึงความไม่โปร่งใสที่เกี่ยวข้องกับทุนนิยมและรัฐ

แต่สิ่งที่ยากกว่าการเผยแพร่แนวคิด น่าจะเป็นเรื่องการรวมตัวและสร้างสำนึกร่วมกันที่จะต่อสู้ แม้ระบบทุนนิยมจะทำให้แต่ละคนสื่อสารเชื่อมโยงกันผ่านอินเทอร์เน็ตหรือโซเชียลมีเดียได้ แต่ไม่ได้สร้างให้เกิดการรวมตัวกัน ไม่ได้ทำลายความคิดแบบปัจเจกชนในตัวเองไป การที่ขบวนการจะดำเนินต่อไปได้ ความคิดปัจเจกชนในตัวเองจะต้องถูกทำลายลงไป

ระบบทุนนิยมก็มีการอัปเกรดตัวเอง กลายเป็นระบบทุนแบบข้ามชาติ มีการสะสมทุนที่เยอะมาก แต่ในขณะเดียวกัน ขั้วตรงข้ามของระบบทุนนิยมคือ สามัญชนหรือกรรมาชีพ (คนที่ไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในการขูดรีดคนอื่น) ที่เป็นศัตรูของชนชั้นนายทุน ต่างก็มีทักษะมากกว่ากรรมาชีพรุ่นก่อนๆ อย่างวลาดิเมียร์ เลนิน หรือโฮจิมินห์ คงไม่คาดคิดว่า วันหนึ่งสหายในอนาคตอีก 100 ปีของเขา จะจัดตั้งผ่านวิดีโอคอล หรือจะมีเครือข่ายร่วมกันทั่วประเทศ โดยที่ไม่ได้มาเจอกันตัวเป็น ๆ เรียกได้ว่า ทั้งทุนนิยมและกรรมาชีพต่างก็โตมาพอ ๆ กัน ยังไงก็มีความหวังอยู่ ความเปลี่ยนแปลงย่อมเป็นไปได้

“เหมือนคำพูดแบบมาร์กซ์ หรือวัตถุนิยมทางประวัติศาสตร์ ก็คือว่า ที่ไหนมีแสง ที่นั่นก็มีเงา ทุกสรรพสิ่งมันมีขั้วตรงข้ามของมันเสมอ”