คำสั่งนาย ศีลธรรม และความรุนแรง - Decode
Reading Time: 2 minutes

ในความเคลื่อนไหว

รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ

นักประวัติศาสตร์หลายท่านลงความเห็นว่า ห้วงยามปัจจุบันที่เราอาศัยอยู่ เป็นห้วงยามแห่งวิกฤตที่โลกเต็มไปด้วยความพลิกผันปั่นป่วน ทั้งในเชิงความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ ความปั่นป่วนทางการเมือง โรคระบาด ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนแปรเปลี่ยน และระบบคุณค่าที่เคยกำกับสังคมถูกสั่นคลอน ถามว่าวิกฤตที่รุนแรงระดับนี้ เคยเกิดขึ้นในก่อนหรือไม่ในอดีต หลายคนเสนอว่ามันช่างคลับคล้ายคลับคลากับบรรยากาศในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2

ดังที่เราทราบกันดีว่า ปัจจัยหลายประการที่มาบรรจบกันและค่อย ๆ ก่อตัวสะสมกันจนโลกตึงเครียดขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงทศวรรษ 1930-1940 ในที่สุดก็นำไปสู่การระเบิดออกเป็นมหาสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเปลี่ยนแปลงโลกในทุกมิติให้ไม่เหมือนเดิมตลอดไป

นับจากนั้นเป็นต้นมา นักคิด นักปรัชญา และนักเขียนได้ทุ่มเทสติปัญญาเพื่อเข้าใจว่า เหตุใดความรุนแรงดังกล่าวจึงเกิดขึ้น โดยเฉพาะระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ (totalitarianism) แบบระบอบนาซีภายใต้การนำของฮิตเลอร์ และเราจะหาทางป้องกันไม่ให้โศกนาฏกรรมเช่นนั้นเกิดซ้ำรอยอีกได้อย่างไร 

เหตุผลที่ปรากฏการณ์ความรุนแรงระดับอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ที่เกิดขึ้นในเยอรมันได้รับความสนใจเป็นพิเศษ เพราะมันไม่ได้เกิดในสังคมที่ล้าหลังป่าเถื่อน แต่อุบัติขึ้นในสังคมที่เจริญก้าวหน้าด้านศิลปวิทยาการ วิทยาศาสตร์ และเศรษฐกิจที่ก้าวหน้าที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ณ ขณะนั้น – ศิลปวิทยากรและความเจริญก้าวหน้าทางความรู้ ควรนำมาซึ่งจิตใจมนุษย์ที่ถูกขัดเกลาให้ละเมียดละไมและสูงส่งขึ้นมิใช่หรือ ทำไมมันกลับเป็นตรงกันข้าม

ประเด็นสำคัญที่มีการถกเถียงกันมาก คือ ความโหดร้ายของมนุษย์ต่อมนุษย์ด้วยกัน ที่มีหลักฐานปรากฏให้เห็นทั้งภาพถ่ายและวิดีโอที่ถูกบันทึกไว้ ความรุนแรงในหลายรูปแบบที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำต่อพลเรือน รวมทั้งที่พลเรือนกระทำต่อกันเอง เพื่อบรรลุเป้าหมายทางอุดมการณ์ของรัฐ และผลประโยชน์ของผู้นำ ซึ่งความรุนแรงอันทารุณโหดร้ายนั้น สั่นคลอนความเชื่อทางศีลธรรมที่ว่ามนุษย์นั้นเป็นคนจิตใจดีและรักสงบโดยธรรมชาติ

คำถามที่ว่า มนุษย์เป็นคนดีและรังเกียจความรุนแรงจริงหรือไม่ จึงถูกถามและศึกษาอย่างกว้างขวาง

เหตุใดเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ข้าราชการที่ทำงานภายใต้ระบอบนาซีถึงเชื่อฟังและทำตามคำสั่งของผู้นำรัฐที่ผิดศีลธรรมและมโนธรรมสำนึก? พวกเขาละทิ้งความเป็นมนุษย์ที่มีจิตสำนึกของตนเองเช่นนั้นหรือ? พวกเขามองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ในผู้อื่นที่พวกเขาลงมือทรมานและสังหารหรืออย่างไร?

การทดลองของมิลแกรมและการค้นพบใหม่

วิชาการความรู้แขนงหนึ่งที่พยายามตอบคำถามข้างต้น คือสาขาจิตวิทยา โดยเฉพาะจิตวิทยาสังคม (social psychology) เพื่อทำความเข้าใจธรรมชาติมนุษย์ พฤติกรรมมนุษย์ และอิทธิพลของสภาพแวดล้อมทางสังคม – มีการศึกษาทดลองมากมายเกิดขึ้นเพื่อตอบคำถามว่า อะไรเปลี่ยนคนธรรมดาให้กลายเป็นปีศาจได้ (monster or evil)

ในบรรดาการทดลองทั้งหมด การทดลองที่โด่งดังที่สุด (และอื้อฉาวที่สุดด้วย) คือ การทดลองที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1961 โดยแสตนลีย์ มิลแกรม (Stanley Milgram) ซึ่งเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์หนุ่มอายุ 28 ปีที่มหาวิทยาลัยเยล ในความพยายามออกแบบทดลองที่แหวกแนวนี้ เขาต้องการพิสูจน์ว่า ภายใต้สถานการณ์บางอย่างมนุษย์ที่เป็นคนธรรมดาสามารถกระทำสิ่งเลวร้ายหฤโหดได้ – “ความเป็นนาซีอยู่ในตัวเราทุกคน” เขามีสมมติฐานเช่นนั้น

ผู้อ่านหลายคนอาจจะเคยรู้จักกับการทดลองนี้มาแล้ว ผมเองก็ใช้การทดลองนี้เป็นตัวอย่างในการสอนวิชาที่เกี่ยวกับความขัดแย้งและความรุนแรงมาโดยตลอด แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผมมีโอกาสได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่ง ซึ่งอ้างอิงงานวิจัยที่วิพากษ์การทดลองของมิลแกรมโดยใช้เอกสารหลักฐานใหม่ ๆ ซึ่งมันเปิดโลกผมอย่างมาก นำไปสู่มุมมองและความเข้าใจใหม่ ๆ ที่หลายคนอาจจะไม่เคยมองมาก่อน 

ก่อนที่จะพาผู้อ่านไปรู้จักกับงานที่วิพากษ์มิลแกรมที่ผมเพิ่งได้อ่าน ขออนุญาตเล่าข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการทดลองนี้ให้ฟังก่อน สำหรับผู้อ่านที่อาจจะยังไม่คุ้น 

การทดลองนี้รู้จักกันในชื่อสั้น ๆ ว่า “การทดลองของมิลแกรม” (Milgram Experiment)

ในการดำเนินการทดลองนี้ มิลแกรมออกประกาศเชิญชวนให้คนทั่วไป สมัครเข้ามาเป็นอาสาสมัครการทดลองของมหาวิทยาลัยเยลที่เขาสังกัด โดยบอกว่าเป็นการทดลองเพื่อวัดการเรียนรู้และความทรงจำของคน และผลกระทบที่การลงโทษส่งผลต่อการเรียนรู้และความทรงจำของมนุษย์ (the effect of punishment on memory)

ในการทดลองมีองค์ประกอบง่าย ๆ ดังนี้คือ กลุ่มคนที่จะรับบทเป็น “ครู” (teacher) กลุ่มที่เป็น “ผู้เรียน” (learner) และนักวิทยาศาสตร์ที่เป็นผู้ควบคุมการทดลอง โดยมีเครื่องช็อตไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์สำคัญ คนที่เป็นอาสาสมัครทั้งหมดจะถูกมอบหมายให้รับบทเป็นครู ส่วนฝั่งผู้เรียนนั้นคือทีมงานของมิลแกรมที่นัดแนะกันไว้แล้ว ทั้งสองกลุ่มนั่งอยู่กันละห้อง ได้ยินแต่เสียง ไม่เห็นหน้าของกันและกัน โดยผู้คุมนั้น (ซึ่งเป็นทีมงานของมิลแกรมที่นัดแนะกันไว้แล้วอีกเช่นกัน) ยืนอยู่ฝั่งเดียวกับครูคอยกำกับการทดลองให้ดำเนินไป 

การทดลองก็ไม่ซับซ้อนอะไร คือให้ครูถามคำถามผู้เรียน หากตอบถูกก็ไปต่อที่ข้อถัดไป แต่ถ้าผู้เรียนตอบผิด ครูมีหน้าที่ต้องกดเครื่องช็อตไฟฟ้าเพื่อลงโทษผู้เรียน ถ้ายังตอบผิดอีกก็เพิ่มระดับความแรงให้สูงขึ้นไปเรื่อย ๆ เป็นการลงโทษหนักขึ้น ซึ่งระดับความแรงจะเริ่มจาก 15 โวลต์ไปจนถึงสูงสุดที่ 450 โวลต์ ซึ่งครูอาสาสมัครจะได้รับการแจ้งว่าที่ระดับสูงสุดนี้ สามารถส่งผลอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

ประเด็นที่เป็นปัญหาของการทดลองนี้มีหลายประการด้วยกัน และถูกวิจารณ์อย่างหนักเมื่อนำเสนอผลการทดลองออกไป โดยเฉพาะปัญหาจริยธรรมในการวิจัย ซึ่งทำให้ต่อมาต้องมีการออกระเบียบกฎเกณฑ์ว่าด้วยการทดลองในคนขึ้นมาอย่างเป็นเรื่องเป็นราว พูดง่าย ๆ ว่าปัจจุบันใครจะมาทำการทดลองแบบที่มิลแกรมทำนั้นทำไม่ได้แล้ว 

ประเด็นแรกที่เป็นปัญหาคือ ไม่ซื่อตรงกับผู้ทดลองในเรื่องวัตถุประสงค์ อาสาสมัครทุกคนถูกหลอกว่าการทดลองนี้เกี่ยวกับการปรับปรุงประสิทธิภาพการเรียนรู้ของมนุษย์ ประการที่สอง อาสาสมัครถูกหลอกให้เข้าใจว่าฝั่งผู้เรียนก็เป็นอาสาสมัครเหมือนกัน ทั้งที่ในความเป็นจริง ฝั่งผู้เรียนเป็นทีมงานที่ถูกเตรียมมา และสามซึ่งสำคัญมากคือ อาสาสมัครถูกหลอกให้เข้าใจว่าการช็อตไฟฟ้านั้นเป็นการช็อตจริง ๆ ทั้งที่จริงแล้ว ไม่ได้มีการช็อตจริงเกิดขึ้นแต่อย่างใด (ฝั่งผู้เรียนจะแกล้งร้องโอดครวญแสดงถึงความเจ็บปวด ให้ฝั่งอาสาสมัครเชื่อไปว่าตนเจ็บจริง ๆ) ผู้เข้าร่วมการทดลองหลายคนรู้สึกเครียดและจิตตกเมื่อการทดลองสิ้นสุดไปแล้ว เพราะเข้าใจไปว่าตนเองทำร้ายผู้อื่นจนบาดเจ็บจริง

พักประเด็นจริยธรรม และชวนกลับมาดูข้อสรุปของงานวิจัย

มิลแกรมรายงานผลการทดลองว่ามีผู้เข้าร่วมการทดลองถึง 65% ที่กดช็อตไฟฟ้าไปถึง 450 โวลต์ ทั้งที่รู้ว่าความแรงระดับนี้สามารถฆ่าคนตายได้ มิลแกรมสรุปว่าการทดลองนี้ชี้ให้เห็นว่าคนธรรมดาที่อาจจะเป็นสามี พ่อบ้าน ลูก หรือเพื่อนร่วมงานที่น่ารักของใครสักคน ก็สามารถกลายเป็นมนุษย์ที่กระทำการโหดร้ายได้ ถ้าได้รับคำสั่งจากผู้มีอำนาจหรือบุคคลที่น่าเชื่อถือ (ดังในการทดลองนี้ก็คือ ผู้ควบคุมการทดลองในชุดสูทสีเทา ที่ระบุว่าตนเองเป็นนักวิทยาศาสตร์) 

2 ปีให้หลังการทดลอง มิลแกรมเขียนหนังสืออธิบายผลการทดลองของเขา โดยตั้งชื่อว่า Obedience to Authority (ความเชื่อฟังต่อสิทธิอำนาจ) ขอให้สังเกตว่าคำสำคัญคือ คำว่า authority ซึ่งหมายถึงอำนาจที่มีความชอบธรรมหรือสิทธิอำนาจ  ไม่ใช่อำนาจธรรมดาที่เรียกว่า power

ประเด็นนี้สำคัญ เพราะมิลแกรมต้องการแยกแยะให้เห็นว่า ถ้าการสั่งนั้นมาจากบุคคลที่ไม่น่าเชื่อถือ คนก็อาจจะไม่ทำตามหรือมีแนวโน้มที่ขัดขืนมากกว่า แต่ถ้าคำสั่งนั้นมาจากบุคคลที่ดูทรงสิทธิ มีความน่าเชื่อถือ ไม่ว่าจะเพราะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐในเครื่องแบบ เป็นผู้อยู่ในตำแหน่งสูง หรือเป็นคนมีความรู้สูงน่าเชื่อถือ (ดังในการทดลองนี้) คนทั่วไปก็มีแนวโน้มที่จะทำตามโดยไม่ตั้งคำถามและไม่ขัดขืน เพราะมองว่าคำสั่งนั้นมีความชอบธรรม 

มิลแกรมชี้ว่าผลการทดลองของเขา สามารถตอบคำถามเรื่องความรุนแรงของเจ้าหน้าที่นาซีได้ เขาชี้ว่าพวกเจ้าหน้าที่รัฐและคนที่ทำงานรับใช้ระบอบนาซี เมื่อถูกนำตัวขึ้นศาลต่างอ้างว่าพวกเขาเพียงทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาเท่านั้น (just following orders)

พวกเขาบอกว่า “คำสั่งคือคำสั่ง” (an order’s an order – Befehel ist Befehl) เจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยก็อ้างเจ้านายที่ยศสูงกว่าตน ส่วนพวกนายระดับสูง ๆ หรือรัฐมนตรีในระบอบนาซีทุกคน ก็จะอ้างว่าพวกตนทำตามคำบัญชาของท่านผู้นำสูงสุดคือ ฮิตเลอร์ ผ่านการอ้างข้อแก้ตัวและการสู้คดีในศาลเช่นนี้ มิลแกรมสรุปว่าอาชญากรรมแบบนาซี สามารถเกิดขึ้นซ้ำได้อีก ที่ไหนก็ตามในโลก แม้แต่บนผืนแผ่นดินอเมริกา

เพราะสำหรับเขา มนุษย์ไม่ได้เป็นคนเลว ซาดิสท์ โรคจิต หรือคนที่นิยมความรุนแรงโดยธรรมชาติ (by nature) แต่ทุกคนก็มีศักยภาพที่จะใช้ความรุนแรงต่อคนแปลกหน้าที่เราไม่รู้จักได้ทันที หากตกอยู่ภายใต้ “สถานการณ์” (situation) บางอย่าง ซึ่งสถานการณ์ที่ว่านั้นก็คือ การได้รับคำสั่งจากผู้มีสิทธิอำนาจ พวกเขาก็พร้อมที่จะเชื่อฟังทำตามอย่างเชื่อง ๆ   

หลังจากตีพิมพ์ผลการศึกษา มิลแกรมกลายเป็นเซเลบริตี้ชั่วข้ามคืน งานของเขาถูกรายงานทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ และบนหน้าหนังสือพิมพ์ชั้นดังอย่าง the New York Times

อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังมานี้ มีงานหลายชิ้นที่ตั้งคำถามกับการศึกษานี้ จนเกิดมุมมองใหม่ ๆ ขึ้น ในหนังสือที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2020 เรื่อง Humankind: A Hopeful History ของ Rutger Bregman

เขาอ้างงานวิจัยของนักวิชาการด้านจิตวิทยารุ่นใหม่หลายชิ้นที่สำรวจเจาะลึกการทดลองของมิลแกรม และชี้ให้เห็นข้อสรุปที่อาจต่างออกไปจากที่มิลแกรมสรุปออกมา งานชิ้นสำคัญคือหนังสือเรื่อง Behind the Shock Machine เขียนโดย Gina Perry ที่ใช้เวลาหลายปีนั่งอ่านเอกสารในหอจดหมายเหตุมิลแกรมที่เพิ่งเปิดเผยสู่สาธารณะ

หอจดหมายเหตุนี้ นอกจากรวบรวมไดอารี่ส่วนตัวของมิลแกรมที่ไม่เคยถูกตีพิมพ์แล้ว ยังรวบรวมเอกสารเกี่ยวกับการทดลองของมิลแกรมทั้งหมดไว้ เช่น เทปบันทึกความรู้สึกและความคิดของอาสาสมัครที่เข้าร่วมทดลอง ฯลฯ งานของ Perry ชี้ให้เห็นว่าการทดลองของมิลแกรมไม่ได้รายงานผลอย่างตรงไปตรงมา แต่มีการชี้นำและเลือกรายงานเฉพาะผลที่สอดคล้องกับข้อสรุปที่มิลแกรมเชื่อ ระหว่างการทดลองเองก็มีความพยายาม “ควบคุม” (manipulate) ผลให้เป็นไปตามที่มิลแกรมต้องการ เช่น

  • มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากที่ยุติกลางคัน เพราะคิดว่าตนเองกำลังทำอันตรายกับฝ่ายตรงข้าม
  • มีคนเข้าร่วมเพียง 56% ที่เชื่อว่าการช็อตไฟฟ้านั้นเป็นของจริง ซึ่งหมายความว่าคนที่เหลือไม่เชื่อ และกดปุ่มช็อตไฟฟ้าไปถึง 450 โวลต์จนจบการทดลองเพราะรู้ว่ามันไม่มีผลจริง
  • มีกรณีที่ผู้ร่วมทดลองบางรายปฏิเสธจะดำเนินการต่อ ปิดเครื่อง แต่ผู้คุมซึ่งเล่นบทเป็นนักวิทยาศาสตร์ เปิดเครื่องกลับมาใหม่ และกดดัน (เชิงบังคับ) ให้ดำเนินการต่อ
  • คนที่ทำต่อไม่น้อย ก็ทำด้วยความลังเลตลอดเวลา และหันไปถามผู้คุม แจ้งว่าเขาอยากจะหยุด 

แน่นอนว่า Gina Perry ไม่ได้จะบอกว่าผลการทดลองของมิลแกรมนั้นผิดทั้งหมด เพราะการทดลองซ้ำโดยนักจิตวิทยารายอื่น ๆ ในอีกหลายประเทศที่ปรับปรุงการทดลองให้รัดกุมขึ้น ก็ยังให้ผลการศึกษาในแนวเดียวกับมิลแกรม

ซึ่งมันก็ชี้ให้เห็นประเด็นที่น่าตกใจว่า มีคนจำนวนไม่น้อยยินดีทำร้ายผู้อื่น เพียงเพราะเชื่อฟังในคำสั่งของผู้มีอำนาจเหนือกว่า โดยไม่ตั้งคำถามหรือขัดขืน แต่งานของ Gina ชี้ให้เห็นว่า มีผู้เข้าร่วมทดลองอีกจำนวนไม่น้อยเช่นกัน ที่ตั้งคำถามและขัดขืนต่อคำสั่งที่ขัดฝืนมโนธรรมสำนึกของตนเอง คนกลุ่มนี้มีความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และไม่ทำตามคำสั่งอย่างเชื่อง ๆ ซึ่งหมายความว่าต่อให้ตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่บีบคั้นในลักษณะเดียวกัน ไม่ใช่ทุกคนทำตาม “คำสั่ง” มีหลายคนตัดสินใจเลือกโดยใช้ศีลธรรมของตนเอง (moral choices) ทำสิ่งที่ถูกต้อง 

งานศึกษาในปี ค.ศ. 2015 ของ Matthew Hollander นักจิตวิทยาที่นั่งศึกษาเทปการทดลอง 117 การทดลองของมิลแกรม ก็พบแบบแผนบางอย่างที่น่าสนใจ เขาพบว่าผู้เข้าร่วมทดลองที่หยุดช็อตไฟฟ้านั้นมีอยู่จำนวนไม่น้อย และมีแบบแผนพฤติกรรม 3 อย่าง

  1. หลายคนหยุดเพราะคุยกับคนที่เป็นเหยื่อ (การสื่อสารนำไปสู่ความเห็นอกเห็นใจ)
  2. พวกเขาเตือนผู้คุมในชุดสูทว่าผู้คุมก็มีหน้าที่และความรับผิดชอบที่ต้องดูแลการทดลองนี้ไม่ให้เกิดอันตรายเช่นกัน ไม่ใช่สั่งคนอื่นอย่างเดียว อันนี้ยิ่งน่าสนใจคือ อาสาสมัครพยายามปลุกมโนธรรมสำนึกของคนที่มีสิทธิอำนาจด้วย
  3. อาสาสมัครหลายคนปฏิเสธซ้ำ ๆ ยืนยันหนักแน่นว่าพวกเขาไม่ทำต่อ ไม่ว่าผู้คุมการทดลองจะกดดันและกล่อมพวกเขาอย่างไรก็ตาม 

Hollander สรุปว่า สิ่งที่แยกผู้ร่วมทดลองกลุ่มนี้ออกจากคนอื่น คือ ความสามารถในการขัดขืนต่ออำนาจที่น่ากังขา (resisting questionable authority) 

ผมชอบข้อสรุปของ Bregman เขาบอกว่าสิ่งที่มิลแกรมสรุปนั้นไม่ผิดทั้งหมด แต่พลาดประเด็นสำคัญไป  โดยมิลแกรมสรุปง่ายไปว่ามนุษย์กลายเป็นปีศาจเพราะทำตามคำสั่งโดยไม่คิด

Bregman ชี้ว่าจริง ๆ แล้วมนุษย์ล้วนมีกระบวนการคิดของตนเอง ทั้งฝ่ายที่ช็อตและไม่ช็อตไฟฟ้า ต่างให้เหตุผลบางอย่างเพื่อยืนยันว่าสิ่งที่ตนทำนั้นถูกต้องเหมาะสม  ฝ่ายที่ทำเชื่อว่าตนกำลังมีส่วนร่วมในการทดลองที่มีประโยชน์ต่อมนุษยชาติ หลายคนให้สัมภาษณ์ว่าพวกเขารู้สึกว่ากำลังทำอะไรที่สำคัญ เช่น ข้อค้นพบจากการทดลองนี้จะช่วยเด็กรุ่นหลังพัฒนาการเรียนรู้ได้ดีขึ้น ช่วยคนที่มีความสามารถบกพร่องมีความจำที่ดีขึ้น ฯลฯ พูดง่าย ๆ คือ ความเจ็บปวดจากการทดลองนำไปสู่ผลประโยชน์สาธารณะที่ยิ่งใหญ่กว่า

โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นภายใต้ระบอบนาซี และในอีกหลายระบอบเผด็จการ เกิดขึ้นไม่ใช่เพราะเจ้าหน้าที่รัฐหรือประชาชนรับคำสั่งแล้วทำตามผู้นำทันทีเหมือนหุ่นยนต์ แต่เกิดจากกระบวนการกล่อมเกลา ปลูกฝังความคิดความเชื่อจนถึงจุดที่ประชาชน ตำรวจ ทหารที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการใช้ความรุนแรงนั้น อธิบายกับตนเองว่าพวกเขากำลังรับใช้ระบอบที่ถูกต้อง ทำเพราะถูกกล่อมเกลามาว่าประชาชนที่ออกมาประท้วงรัฐนั้นเป็นคนเลวร้าย และภัยคุกคามของชาติที่ต้องกำจัด หรือทำเพราะเล็งเห็นประโยชน์ด้านความก้าวหน้าในอาชีพการงานของตนเอง  

ในกรณีนี้ เจ้าหน้าที่ “เลือก” ที่จะทำหรือไม่ทำอะไรโดยมีกระบวนการให้เหตุผลกับตนเอง พวกเขาไม่ได้ทำตามคำสั่งนายแบบหุ่นยนต์ 

ตรงนี้แหละที่น่ากลัว เพราะถ้าแค่ “ทำตามคำสั่งนาย” เท่านั้นจริง ๆ โศกนาฏกรรมอาจจะไม่เกิดขึ้นบ่อยและกว้างขวางแบบที่เราเห็นในสังคมไทยและสังคมโลก การอ้างว่าทำตามคำสั่งนายจริง ๆ แล้ว คงเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อปัดความรับผิดชอบออกจากตนเองไปให้คนอื่น  

บทเรียนจากระบอบนาซีและการทดลองของมิลแกรมชี้ให้เห็นว่า มนุษย์ไม่ได้เป็นทั้งหุ่นยนต์หรือปีศาจ แต่เป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกกล่อมเกลาได้ ทำให้เชื่อได้ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่คิดได้ ตัดสินใจเลือกทำสิ่งที่ถูกต้องทางศีลธรรมได้

ณ บรรทัดสุดท้าย คำสั่งของเจ้านายต้องไม่อยู่เหนือกฎหมายและความเป็นมนุษย์ เพราะในขณะที่คุณเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ คุณก็เป็นมนุษย์ด้วย… และมนุษย์ต้องมีจิตสำนึกเป็นของตนเอง