พรุ่งนี้ (6 สิงหาคม 2564) ศาลนัดฟังคำสั่งว่าจะให้ความคุ้มครองชั่วคราวและเพิกถอนข้อกำหนดที่ 29 หรือไม่ De/code ชวนทำความเข้าใจว่า ทำไมสื่อต้องยื่นฟ้องและข้อกำหนดนั้นกระทบต่อประชาชนแค่ไหน อะไรคือความคาดหวังของสื่อมวลชน จับเข่าคุยกับเพื่อน/พี่สื่อมวลชน แยม-ฐปณีย์ เอียดศรีไชย นักข่าวและผู้ก่อตั้ง The Reporters และรศ. มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เพราะนี่เป็นเรื่องสำคัญที่ประชาชนต้องจับตา ถ้าสื่อมีเสรีภาพ ประชาชนมีเสรีภาพ ชีวิตในฐานะเจ้าของประเทศ เจ้าของอำนาจประชาธิปไตย ก็จะเรียกร้องคุณภาพชีวิตที่ดีได้มากขึ้น และดังขึ้นด้วย
เมื่อสื่อไม่ทนจึงต้องพึ่งฝ่ายตุลาการช่วยปลดล็อก
สองสัปดาห์ก่อนหน้า รัฐบาลเพิ่งออกข้อกำหนด ฉบับที่ 27 ซึ่งเนื้อหาส่วนหนึ่งมุ่งไปที่การกำจัดข่าวปลอม ตอนนั้นมีเสียงไม่เห็นด้วยอื้ออึงทั่วสังคม โดยเฉพาะในแวดวงสื่อที่ต้องทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้ประชาชน แต่ไม่ทันไร วันนี้ ข้อกำหนดฉบับที่ 29 ก็ออกตามมา เพิ่มเติมคือจำกัดเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นเข้มงวดมากขึ้น โดยใจความสำคัญคือ “ห้ามนำเสนอข่าวที่จะทำให้ประชาชนหวาดกลัว หรือบิดเบือนข่าวสารที่ทำให้คนเข้าใจผิดซึ่งกระทบความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของประชาชน ผ่านทุกช่องทาง ถ้าฝ่าฝืนจะมีโทษทางอาญา และ กสทช. สามารถสั่งระงับการใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ตได้”
สื่อมวลชนจำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับข้อกำหนดข้างต้น จึงไม่อาจทนนิ่งเฉย และต้องหันหน้าไปพึ่งอำนาจฝ่ายตุลาการให้ช่วยพิจารณา โดยวันจันทร์ที่ผ่านมา (2 สิงหาคม 2564) แยม-ฐปณีย์ ร่วมกับสื่อมวลชนอีกกว่า 12 แห่ง เดินทางไปยังศาลแพ่งเพื่อยื่น 2 เรื่องให้พิจารณา ได้แก่ การขอให้เพิกถอนการบังคับใช้ข้อกำหนดที่ 29 และขอให้ไต่ส่วนฉุกเฉินคุ้มครองชั่วคราวจากข้อกำหนดดังกล่าว
โดยเหตุผลสำคัญของการยื่นฟ้องครั้งนี้สำหรับแยม-ฐปณีย์ มองว่าข้อกำหนดดังกล่าวละเมิดสิทธิมนุษยชน เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
“บางคนถามว่ามันรุนแรงขนาดนั้นเลยเหรอ ในความรู้สึกพี่ซึ่งพบเห็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ๆ พี่มองว่าขณะที่มีประชาชนล้มตายจากโรคระบาด มีประชาชนที่ร้องขอความช่วยเหลือชีวิต สื่อก็มีหน้าที่สำคัญในการเป็นสื่อกลางช่วยเหลือพวกเขา ในการรักษาหรือช่วยเหลือชีวิตพวกเขาไว้ การห้ามสื่อไม่ให้พูดความจริงที่ไม่ว่าจะน่ากลัวหรือไม่น่ากลัว ก็เท่ากับตัดขาดช่องทางในการช่วยเหลือชีวิตประชาชน แบบนี้ดูไร้ซึ่งหัวใจความเป็นมนุษย์”
อย่างไรก็ดีต้องทำความเข้าใจด้วยว่า คุณแยมและสื่อมวลชนเห็นด้วยที่รัฐบาลจะจัดการกับข่าวปลอม เพียงแต่วิธีการจะใช้นั้นต้องไม่เลยขอบเขตมาจำกัดการนำเสนอข่าวจริงของสื่อมวลชนและประชาชนด้วย
“รัฐบาลสามารถใช้กฎหมายที่มีอยู่เดิมดำเนินการกับคนที่ปล่อยข่าวปลอมได้ โดยไม่ต้องออกกฎหมายพิเศษมาเพิ่ม เพราะวันนี้กระทรวงดิจิทัลฯ ก็สามารถทำหน้าที่กรองข่าวปลอม และตำรวจก็สามารถจับคนปล่อยข่าวปลอมผ่าน พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ได้อยู่แล้ว ถ้ารัฐบาลไปทำตรงนั้นให้เต็มที่ แล้วช่วยกันให้ความรู้กับสังคม สร้างความเชื่อมั่นกับสังคมว่าเขาสามารถเข้าถึงระบบการรักษา โดยที่เขาไม่ต้องออกมาเรียกร้องขอชีวิต ก็คงจะเป็นประโยชน์มากกว่าการปิดกั้นไม่ให้พูดความจริง”
เพราะความจริงของวันนี้ น่าหวาดกลัวอยู่แล้ว
ข้อห้ามแรกของข้อกำหนด ฉบับที่ 29 คือห้ามเผยแพร่ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว
ซึ่งต่อประเด็นความหวาดกลัวนี้ แยม- ฐปณีย์ ให้ความเห็นว่า
“ในความเป็นสื่อมวลชนเรามีจริยธรรมและจรรยาบรรณของสื่ออยู่แล้ว เราทำตามหลักการ เรานำเสนอข่าวก็ถูกตรวจสอบ และเราก็มีสามัญสำนึกของความรับผิดชอบอยู่ว่าอะไรที่ก่อให้เกิดความแตกตื่นในสังคม เราก็ไม่ทำ แต่เรื่องการตายของผู้คน เรื่องเหล่านี้แม้จะมีคนที่ทำข่าวปลอมขึ้นมาบ้าง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์เหล่านี้มันเกิดขึ้นจริง ๆ ในสังคมไทย และสำหรับสื่อ อยากให้เชื่อมั่นว่าเรานำเสนอข้อเท็จจริงเหล่านี้ด้วยข้อมูลที่ลงไปตรวจสอบด้วยตัวเอง มันสลดหดหู่อยู่แล้ว จะไม่ให้เรารายงานได้อย่างไร”
ตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลอาจเห็น ‘ความจริง’ ที่ควรจะเป็น มากกว่าเห็น ‘ความจริง’ ที่เป็นอยู่ เพราะถ้ามองอย่างถี่ถ้วนจะพบว่าสังคมไทยขณะนี้วิกฤติหนัก มีคนล้ม คนตายรายทาง
นี่คือความจริงที่แม้จะน่าหวาดกลัว แต่ก็จำเป็นต้องนำเสนอ เพื่อให้คนทำงานจะได้ช่วยทัน และรัฐบาลจะได้แก้ถูกจุด
เสียงของสื่อคือทางออกต่อชีวิตประชาชน
ในยามปกติสื่อคือกระบอกเสียงที่ต้องทำให้ความต้องการของประชาชนดังขึ้นไปถึงส่วนบนอยู่แล้ว แต่ในยามวิกฤติกระบอกเสียงนี้ยิ่งต้องทำงานแข็งขันและเพิ่มระดับให้ดังขึ้น เพราะชีวิตประชาชนแขวนอยู่บนความไม่แน่นอนที่ต้องอาศัยการช่วยเหลือแบบนาทีต่อนาที ถ้าไม่พูด ก็จะไม่มีใครได้ยิน ถ้าไม่ได้ยินก็ไม่มีการช่วยเหลือ สุดท้ายก็ตายไปกับความเงียบ ความสงบที่รัฐบาลปรารถนา
สื่อจึงสำคัญในฐานะเสียงต่อชีวิตประชาชน ตรงนี้เองที่แยม-ฐปณีย์ ยืนยันอย่างหนักแน่นว่า “มากกว่าการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนคือเรากำลังทำหน้าที่ในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้รอดพ้นจากความตาย ดังนั้นอะไรก็แล้วแต่ที่เราทำได้ทันทีที่เราได้รับการร้องขอให้ช่วยชีวิต เราก็พยายามจะสื่อสารออกไปตามหน้าที่ของเรา”
ซึ่งการบอกว่าเสียงของสื่อช่วยชีวิตประชาชนนี้ไม่ใช่เรื่องเลื่อนลอย เพราะคุณแยมมีตัวอย่างมากมายที่ยืนยันถึงคำกล่าวข้างต้น เช่นกรณีสามพี่น้องผู้สูงอายุ ในซอยประชาสงเคราะห์ 6 ที่มีคนแจ้งมูลนิธิร่วมกตัญญูให้มาตรวจสอบ เนื่องจากทั้งสามคนที่อาศัยอยู่ในบ้านไม่ได้ออกจากบ้านมานาน 6 วันแล้ว ทั้งยังมีกลิ่นเหม็นลอยคลุ้งออกมา ซึ่งเมื่อคุณแยมและเจ้าหน้าที่มูลนิธิเข้าไปในบ้านก็ต้องพบกับภาพที่น่าหดหู่ ชายสองคนเสียชีวิตนอนทับกันบนเก้าอี้ ใกล้ ๆ กันมีหญิงสูงอายุอีกคนนั่งอยู่ในสภาพอิดโรย คุณแยมจึงนำเสนอข่าวออกไปอย่างเร่งด่วนผ่านการไลฟ์สด ไม่นานเมื่อกลุ่มเส้นด้ายทราบข่าวก็มาช่วยปฐมพยาบาลให้คุณยาย จากข่าวนั้นศูนย์เอราวัณเร่งนำรถพยาบาลมารับคุณยายไปรักษาทันที ตรงนี้สะท้อนให้เห็นถึงพลังของการสื่อสารว่าสามารถช่วยชีวิตคนไว้ได้จริง ๆ
แยม-ฐปณีย์ ยังเสริมอีกว่า “จริง ๆ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นก็ไม่ใช่สำคัญแค่กับสื่อ แต่ประชาชนเองก็ต้องการไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะถ้าเข้าป่วยเอง เขาก็สามารถโพสต์หรือถ่ายวิดีโอขอความช่วยเหลือได้ หรือถ้าคนรอบข้าง เพื่อนบ้านติดโควิด เขาก็สามารถโพสต์ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบมาช่วยได้ทัน แต่เมื่อมีข้อกำหนดนี้ออกมาหลายคนก็กลัวว่านำเสนอข่าวไปแล้ว จะผิดหรือเปล่า จะสร้างความหวาดกลัวให้สังคมหรือเปล่า” กลายเป็นว่าความหวาดกลัวกดทับความหวาดกลัวไว้อีกที
“ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ละเมิดเสรีภาพ” ความเห็นของนักนิติศาสตร์
ด้านผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย อย่าง รศ.มุนินทร์ ตั้งข้อสังเกตต่อข้อกำหนดฉบับที่ 29 เช่นกัน ว่า
“รัฐบาลหยิบกฎหมายภายใต้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน มาใช้ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของประชาชน โดยไม่ได้ระบุให้ชัดเจนว่าข้อความที่ว่าสร้างหวาดกลัวนั้นเป็นข้อความจริงหรือข้อความเท็จ จึงเปิดโอกาสให้ตีความได้กว้าง ถ้าฝ่าฝืนข้อนี้อาจต้องรับโทษทางอาญา แต่โทษอาญาต้องระบุความผิดชัดเจน เช่นนี้ทำให้ประชาชนไม่ทราบสิทธิหน้าที่ของตนเอง อีกเรื่องคือการสั่งระงับสัญญาณอินเทอร์เน็ต ข้อกำหนดนี้ไม่อยู่ในอำนาจนายกรัฐมนตรีที่จะสั่งการออกมาได้เลย แม้จะมีอำนาจล้นมือภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน แต่การจะออกข้อกำหนดแบบนี้ได้ต้องเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงเท่านั้น ตรงนี้จึงนับเป็นกฎหมายที่ออกมาผิดในทางเทคนิคกฎหมายด้วย และเป็นการลิดรอนเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตของประชาชนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเช่นกัน”
เมื่อเป็นเช่นนี้ คำถามที่น่าสนใจจึงผุดขึ้นว่า “ท้ายที่สุดแล้วข้อกำหนดนี้เป็นประโยชน์ต่อรัฐหรือประชาชนมากกว่ากัน” สำหรับ รศ.มุนินทร์ ให้คำตอบว่า “ที่รัฐบาลออกกฎหมายนี้มาเพราะห่วงภาพลักษณ์ตัวเอง กลัวว่าจะขาดความชอบธรรมในการบริหาร ไม่เห็นเหตุผลอื่นเลยยกเว้นเรื่องการเมือง เพื่อกอดเก้าอี้ไว้ให้นานที่สุด เพราะตอนนี้เริ่มมีเสียงเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก รวมถึงประชาชนก็ฟ้องร้องในความผิดพลาดหลาย ๆ เรื่องของรัฐบาล”
ภาพจาก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รศ.มุนินทร์ ทิ้งท้ายถึงรัฐบาลไว้น่าสนใจด้วยว่า “ในสถานการณ์ฉุกเฉินรัฐบาลมีความชอบธรรมที่จะใช้อำนาจมาก จึงขอให้ใช้อำนาจนั้นเพื่อประโยชน์ของประชาชนไม่ใช่เพื่อรักษาภาพลักษณ์รัฐบาล ที่ผ่านมาตัวเลขผู้ติดเชื้อและจำนวนการเข้าถึงวัคซีน เป็นตัวบ่งชี้อยู่แล้วว่ารัฐบาลล้มเหลวในการจัดการหรือไม่ สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือควรทำงานให้หนักขึ้น เปลี่ยนวิธีทำงานให้รวดเร็ว อีกอย่างคือต้องพูดความจริงกับประชาชน แต่ถ้ามาถึงจุดหนึ่งแล้วแก้ต่อไม่ได้ ผมคิดว่าต้องเปลี่ยนคนรับผิดชอบ ให้คนที่มีความสามารถมาช่วยแก้แทน”
ขณะที่เมื่อถามความคาดหวังของคุณแยมต่อคำสั่งศาลที่จะออกมาในวันที่ 6 สิงหาคม แยม ฐปณีย์ ก็ตอบเพียงสั้น ๆ ว่า “คาดหวังว่าศาลจะคุ้มครองชั่วคราว และถอนข้อบังคับนี้ แต่จริง ๆ ไม่ต้องใช้คำสั่งศาลด้วยซ้ำ ถ้าหากรัฐบาลรับฟังเสียงของประชาชน แล้วก็ปรับปรุงแก้ไขข้อบังคับเสียใหม่ตามที่มีการแสดงความเห็นว่าไม่เห็นด้วยกับข้อนี้ ก็จะเป็นประโยชน์มาก ๆ”
ประชาชนจำนวนไม่น้อยก็คงคาดหวังไม่ต่างกัน