ก้อนอิฐในมือสามัญชน
ดร.เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร
11 มกราคม 2564 วิดีโอภาพของไรเดอร์ส่งอาหารชาวจีนคนหนึ่ง ที่เปลวไฟกำลังลุกไหม้จนเกิดควันไฟขึ้นบนร่าง กลายเป็นไวรัลไปทั่วประเทศจีน
ทันทีที่ผู้อยู่ในเหตุการณ์ร้องตะโกนขึ้น ผู้คนที่กำลังผ่านไปมารีบเข้าช่วยเหลือไรเดอร์ผู้นี้ด้วยถังดับเพลิง เมื่อไฟดับลง เสียงตะโกนร้องไล่ให้เขารีบไปโรงพยาบาล กลับได้รับการตอบสวนมาว่า “ผมต้องการเงินที่มาจากเหงื่อและเลือดของผม”
“อาหารจากเหงื่อและเลือดของคนงาน”
หลิ่ว จิน ไรเดอร์วัย 45 ปีจากจังหวัดไท่โจว มณฑลเจียงซู ในภาคตะวันออกของจีน ตั้งใจจุดไฟเผาตัวเองที่สำนักงานท้องถิ่นของบริษัทแพลตฟอร์มเอเล่อเมอ (ชื่อแพลตฟอร์มมีความหมายว่า “คุณหิวมั้ย”) ระหว่างช่วงมื้อเที่ยงที่มีผู้คนมาก หลังจากเขาถูกปฏิเสธการจ่ายค่าแรงที่แพลตฟอร์มยึดเอาไว้
หลิ่ว จินทำงานส่งอาหารให้กับแพลตฟอร์มเอเล่อเมอ (Ele.me) เป็นประจำ ก่อนที่ค่าส่งจะลดลงอย่างมาก จนเขาตัดสินใจย้ายค่ายไปทำงานกับแพลตฟอร์มคู่แข่งคือ เมยทวน (Meituan) แพลตฟอร์มส่งอาหารสองเจ้านี้เป็นแพลตฟอร์มรายใหญ่ของจีน ที่ทำสงครามหั่นราคากันอย่างดุเดือดมาเป็นเวลาหลายปี สงครามที่ยืดเยื้อนี้มี “เหยื่อตามเบี้ยบ้ายรายทาง” คือคนงานส่งอาหาร ที่ปรากฎเป็นข่าวรายวันถึงอุบัติเหตุและการเสียชีวิต ถ้าหากไม่นับรวมกรณีล่าสุดของความพยายามฆ่าตัวตาย เช่นกรณีของหลิ่ว จิน
80% ของผิวหนังตามร่างกายของเขามีบาดแผลไฟไหม้ แต่หลิ่วจินได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที!
ในภาพรวมนั้น เศรษฐกิจแพลตฟอร์มของจีนมีขนาดใหญ่กว่าในประเทศไทยมาก ธุรกิจส่งอาหารในจีนเองเติบโตขึ้นจนเป็นที่สังเกตได้ ตั้งแต่ในปี 2557 ขณะนี้มีแพลตฟอร์มส่งอาหาร 3 รายที่สำคัญ คือ เมยทวน (Meituan), เอเล่อ เมอ (Ele.me) และดิดิ (Didi) ที่เริ่มดำเนินการ ตั้งแต่ปี 2556, 2558 และ 2561 ตามลำดับ
ปัจจุบันคาดว่ามีคนงานส่งอาหารในจีนประมาณ 7 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 3 ล้านเมื่อสามปีที่แล้วอย่างก้าวกระโดด การแข่งขันที่รุนแรงระหว่างแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่เมยทวนและเอเล่อเมอ ผ่านการแข่งขันกันทุ่มตลาด ทำให้เกิดสงครามราคาในตลาดส่งอาหาร ที่ส่งผลโดยตรงให้ค่าส่งของไรเดอร์ลดต่ำลงเรื่อย ๆ
ถึงแม้ธุรกิจของแพลตฟอร์มจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่เงินทุ่มตลาดจำนวนมหาศาลทำให้บริษัททั้งสองมีกำไรน้อย ซึ่งกลายเป็นข้ออ้างหลักในการจ่ายค่าตอบแทนต่ำให้กับคนงานส่งอาหาร
ค่าส่งรายชิ้นที่ต่ำและจำนวนไรเดอร์เกินความต้องการ ทำให้ไรเดอร์แต่ละคนมีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน ผลสำรวจในปี 2563 เปิดเผยว่า 95% ของไรเดอร์จีนต้องทำงานนานกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน ขณะที่ 66.8% ทำงานนานกว่า 11 ชั่วโมงต่อวันและ 28% ทำงานมากกว่า 12 ชั่วโมง
ทั้งหมดมีผลอย่างมากต่อความเหนื่อยล้าในการทำงาน ที่สำคัญ การลงโทษไรเดอร์ที่ส่งอาหารช้ากว่ากำหนดด้วยการหักเงิน ทำให้ไรเดอร์ต้องเร่งรีบส่งอาหารให้ทันเวลาจนเกิดอุบัติเหตุในบ่อยครั้ง
แค่ครึ่งปีแรกของปี 2560 ไรเดอร์ในเมืองนานกิงแห่งเดียว เกิดอุบัติเหตุบนถนนบ่อยถึง 3,000 ครั้ง มากจนทำให้ตำรวจต้องขอพบกับบริษัทแพลตฟอร์มใหญ่ เพื่อปรับปรุงมาตรการให้มีมนุษยธรรมมากขึ้น
ในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว นิตยสาร People ของจีนได้ตีพิมพ์รายงานฉบับหนึ่งที่เปิดเผยผลการศึกษาเกี่ยวกับอุบัติเหตุของไรเดอร์โลจิสติกส์ (ส่งของ/อาหาร/ผู้โดยสาร) ในเมืองใหญ่ ซึ่งช่วยจุดประกายให้เกิดการถกเถียงอย่างเผ็ดร้อนบนโซเชียลมีเดียของจีน
ผู้บริโภคจำนวนมากตั้งคำถามกับนโยบายและบทลงโทษที่เข้มงวดของแพลตฟอร์ม ที่มักกดดันให้ไรเดอร์ต้องเร่งรีบทำงานให้เสร็จภายในเวลาอันสั้น ทั้งนี้ รายงานดังกล่าววิเคราะห์ว่า การแข่งขันที่รุนแรงของแพลตฟอร์มในจีน ทำให้แพลตฟอร์มต้องปรับเปลี่ยนอัลกอริทึมของตนเพื่อมุ่งทำกำไรมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ระยะเวลาที่ไรเดอร์ได้รับอนุญาตในการส่งลดลงอย่างมากในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา
น่าสนใจว่าผู้บริโภคชาวจีนจำนวนไม่น้อยแสดงความเห็นคล้ายกันว่า พวกเขาไม่แคร์ที่จะได้รับอาหารถึงมือช้าลงอีกนิด หากมันจะช่วยรักษาชีวิตของไรเดอร์ไว้ ดังนั้น แพลตฟอร์มก็ควรปรับเปลี่ยนนโยบายที่เข้มงวดและไร้มนุษยธรรมลง
ภายใต้เงื่อนไขของสภาพการทำงานหนัก ค่าตอบแทนที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง แรงกดดันของการทำงานรายชิ้นนั้น กฎเกณฑ์ที่ไม่เป็นธรรมของแพลตฟอร์มและความไม่โปร่งใสในการลงโทษ เช่น การยืดค่าแรงของไรเดอร์โดยไม่มีคำอธิบาย กลายเป็นเหมือนฟางเส้นสุดท้ายบนหลังอูฐที่กำลังจะหัก เช่นเดียวกับที่ไรเดอร์อย่างนายหลิ่วต้องจุดไฟเผาตัวเอง
ตามรายงานข่าวนั้น หลิ่ว จิน เป็นพ่อของลูกสาวสองคน คนหนึ่งเคยทำงานส่งอาหารเช่นเดียวกัน ก่อนจะหันเหไปเป็นไรเดอร์ส่งพัสดุ เธอได้ให้สัมภาษณ์ว่า นายหลิ่วซึ่งเป็นพ่อ คือเสาหลักของครอบครัว ที่ต้องหาเงินจ่ายค่าเล่าเรียนให้กับลูกสาวคนเล็ก ทุกคนที่รู้จักนายหลิ่วต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเขาเป็นคนเงียบและตั้งใจทำงานเพื่อหาเงินเลี้ยงครอบครัว
กรณีของนายหลิ่ว ทำให้ผมนึกถึงกรรมกรอีกสองคน คนหนึ่งเป็นไรเดอร์ร่วมชาติและร่วมสมัยกับนายหลิ่ว ที่กำลังถูกคุมขังโดยรัฐบาลจีน ขณะที่อีกคน เป็นนักเคลื่อนไหวที่เกิดในยุคสมัยและประเทศที่ต่างกัน การยอมตนเป็น “ไม้ขีดไฟก้านเดียว” ของเขาช่วยปลุกจิตสำนึกการต่อสู้ทางชนชั้นของคนงานที่ตามมาข้างหลังจำนวนมาก การจุดไฟเผาตัวเองของนายหลิ่ว ทำให้ผมนึกถึงชุน เต-อิลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ไม้ขีดไฟก้านเดียว จากวีรชนนักต่อสู้เกาหลีถึงผู้นำไรเดอร์จีน
ในปี 2513 ชุน เต-อิล (Joen Tae-Il) ช่างตัดเสื้ออายุ 22 ปี ราดน้ำมันและจุดไฟเผาตัวตายขณะที่ถือคู่มือกฎหมายแรงงานอยู่ในมือ เพื่อจุดประกายให้สังคมเกาหลีหันมาสนใจและปรับปรุงสภาพการทำงานที่เลวร้ายของคนงานโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า
ชุน เต-อิล มีถิ่นกำเนิดที่เมืองเดกูทางใต้ของเกาหลี เขาถูกบังคับให้ทำงานหนักตั้งแต่เด็ก จึงหนีจากบ้านมาทำงานรับจ้างในตลาดดองเดมุนของโซล ต่อมา เขาได้เป็นช่างตัดเสื้อตั้งแต่อายุไม่ถึง 18 ปี การได้พบเห็นสภาพการทำงานแบบ “โรงงานนรก” ของคนงานตัดเย็บเสื้อผ้าอย่างใกล้ชิด ทำให้เขาเกิดสนใจเรื่องสิทธิแรงงาน หลังจากทำการค้นคว้าด้วยตัวเอง ชุน เต-อิลพบช่วงว่างระหว่างมาตรฐานที่กฎหมายแรงงานกำหนด กับสภาพความเป็นจริงที่แตกต่างกันมาก เขาจึงตั้งสมาคมฯ ขึ้นเป็นกระบอกเสียงของคนงาน และพยายามเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตรวจแรงงานของรัฐบาลเข้าแก้ไขปัญหา เงื่อนไขทางการเมืองภายใต้การปกครองที่กดขี่ของรัฐบาลเผด็จการปาร์ค จุงฮี ทำให้การเรียกร้องของเขาถูกตอบโต้อย่างไม่เป็นมิตรจากรัฐบาลที่เข้าข้างนายทุน ในที่สุด ชุน เต-อิลตัดสินใจประท้วงด้วยการจุดไฟเผาตัวเอง เพื่อให้สังคมหันมามองเห็นปัญหาสภาพการทำงานของคนงาน
เขาได้วิ่งไปในบริเวณตลาดทั้งที่ไฟยังลุกไหม้เสื้อผ้าและร่างกาย พร้อมกับตะโกนว่า “คนงานคือมนุษย์เหมือนกัน” และ “อย่าปล่อยให้เขาตายอย่างสูญเปล่า”
ชุน เต-อิล เสียชีวิตในเวลาต่อมา แต่วีรกรรมของเขาได้รับการยกย่องในภายหลังจากภาคประชาสังคม ให้เขาเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกของขบวนการแรงงานเกาหลีใต้
เร็วๆ นี้ ผมระลึกถึงชุน เต-อิล ขึ้นมาอีกครั้งเมื่อได้รับรู้ถึงเรื่องราวของเฉิน กั๋วเจียง (Chen Guojiang) ไรเดอร์นักจัดตั้งชาวจีน ที่ได้พูดประโยคคล้าย ๆ กัน ในวิดีโอที่เขาโพสบนโต่วอิน (Douyin) หรือติ๊กต็อกเวอร์ชั่นของจีนว่า “คนงานเดลิเวอรี่คือ มนุษย์ ไม่ใช่หุ่นยนต์”
“คนงานเดลิเวอรีคือ คน ไม่ใช่หุ่นยนต์”
อาจไม่เป็นเรื่องบังเอิญที่แฮชแท็ก “นักศึกษากลุ่มเพื่อนคนงานเดลิเวอรี (#college friends of delivery works)” ที่อ้างอิงถึงชุน เต-อิล ปรากฎในโซเชียลมีเดียของจีนเมื่อต้นปีนี้อยู่พักหนึ่ง หลังจากนักศึกษาสายมาร์กซิสต์ในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของจีนหลายแห่งออกมาประท้วงเรียกร้องเพื่อสิทธิของไรเดอร์จนถูกจับ
เช่นเดียวกับจากชุน เต-อิล ความยากจนทำให้เหมิงจู อพยพเข้ามาทำงานในเมืองหลวงปักกิ่งตั้งแต่อายุ 14 ทั้งนี้ มีการศึกษาพบว่ามากกว่า 80% ของไรเดอร์ในจีนเป็นคนงานเคลื่อนย้ายถิ่นจากชนบทเข้ามาทำงานในเมือง นอกจากนี้ เกือบ 90% ของไรเดอร์จบการศึกษาต่ำกว่าระดับมัธยมปลาย
ขณะที่ชุน เต-อิล และอุตสาหกรรมเสื้อผ้าเป็นไอคอนของทศวรรษ 1970s ไรเดอร์อย่างนายหลิ่ว จินและเฉิน กั๋วเจียง สะท้อนจุดเปลี่ยนของยุคสมัยที่คนงานแพลตฟอร์มกลายเป็นผู้ถือธงนำหน้าขบวนการแรงงานของศตวรรษที่ 21
ที่อาจจะต่างกันก็คือ เทคโนโลยีเปิดโอกาสให้นายทุนขยับขยาย “โรงงานนรก” ออกมาอยู่บนท้องถนน
เฉิน กั๋วเจียงกับชุน เต-อิล เหมือนเป็นเส้นขนานจากสองยุคสมัย เมื่อทั้งสองคนมีความรู้สึกต่อชะตากรรมของเพื่อนคนงานคล้าย ๆ กัน ขณะที่ชุน เต-อิล ตั้งสมาคมที่มีชื่อว่า Fool’s Association (สมาคมของคนโง่) เพราะเขารู้สึกว่าคนงานต่างถูกหลอกลวงราวกับ “คนโง่” ให้รับสภาพการทำงานที่ไม่ต่างจากทาสทั้งที่กฎหมายห้ามไม่ได้นายจ้างทำอย่างนั้น เฉิน กั๋วเจียงเอง เคยพูดในพอดแคสต์หนึ่งว่าบางครั้ง เขารู้สึกอึดอัดที่ไรเดอร์จำนวนมากขาดความรู้และมักจะมองปัญหาแบบสายตาสั้น
เฉิน กั๋วเจียงเป็นที่รู้จักในหมู่เพื่อน ๆ ไรเดอร์ชาวจีนว่า “เหมิงจู (Mengzhu)” ซึ่งเป็นคำที่ย่นย่อมาจากประโยคเต็มหมายถึง ผู้นำกลุ่มพันธมิตรไรเดอร์เดลิเวอรี(Delivery Riders Alliance)
เหมิงจูจัดตั้งพันธมิตรไรเดอร์ฯ ขึ้นในปี 2562 มีลักษณะไม่ต่างจากกลุ่มของไรเดอร์ในประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย เนื่องจากแพลตฟอร์มมักไม่มีระบบสนับสนุนในการทำงานที่เหมาะสม และปล่อยให้ไรเดอร์ต้องจัดการกับปัญหาตามลำพัง กลุ่มพันธมิตรจึงเกิดขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือคนงาน ตั้งแต่เรื่องไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกับร้านอาหาร เจรจากับบริษัทประกัน ช่วยลากและซ่อมรถมอเตอร์ไซค์ ให้ความช่วยเหลือกับไรเดอร์หน้าใหม่ที่เพิ่งเข้ามาในเมืองใหญ่อย่างปักกิ่ง ไปจนถึงให้คำปรึกษาทางกฎหมายกับไรเดอร์โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
เหมิงจู เป็นหนึ่งในนักจัดตั้งคนงานเดลิเวอรีในประเทศจีน ที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะความคับค้องใจที่เกิดขึ้นจากสภาพการทำงานที่ไม่ต่างจาก “โรงงานนรก” ทำให้สิ่งเดียวที่พวกเขาทำได้คือ รวมตัวกันเพื่อส่งเสียงให้ดังขึ้น
สิ่งที่ทำให้เหมิงจูกลายที่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง คือ “การรณรงค์ออนไลน์” อย่างแข็งขันของเขา
เขาจึงเป็นเหมือนกระบอกเสียงของบรรดาเพื่อนไรเดอร์ ที่ช่วยถ่ายทอดสภาพปัญหาจากการทำงานให้สังคมจีนเข้าใจนอกจากนี้ เหมิงจูยังจัดตั้งเพื่อนไรเดอร์ผ่านแอปพลิเคชันส่งข้อความ “วีแช็ต” ที่เป็นที่นิยมในจีน เขาตั้งกลุ่มสื่อสารระหว่างไรเดอร์หลายกลุ่ม เข้าถึงไรเดอร์จำนวนหลายหมื่นคน
ปีที่แล้ว เหมิงจูเคยถูกคุมขังมาแล้วเป็นเวลาเกือบหนึ่งเดือน หลังจากพยายามจัดตั้งให้กลุ่มเพื่อนไรเดอร์ทำการสไตรค์ ในวิดีโอหนึ่งที่เหมิงจูโพส เขาพูดว่า “พวกเขาจะทำทุกอย่างเพื่อจับกุมคุณ ตั้งข้อหาอาชญากรรมและตัดสินให้คุณอยู่ในคุกเป็นปี และคุณไม่สามารถเปลี่ยนอะไรได้ แล้วคนงานเดลิเวอรีคนอื่นยังกล้าจะบ่นอีกหรือ แต่ผมกล้า”
ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ระหว่างที่มีการจัดประชุมสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์ในเมืองปักกิ่ง เหมิงจูหายตัวอย่างไร้ร่องรอย สืบพบในภายหลังว่าตำรวจปักกิ่งได้เข้าควบคุมตัวเหมิงจูและเพื่อนไรเดอร์อีกสี่คน ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ ถึงแม้ไรเดอร์สองคนจะได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมา แต่เหมิงจูและไรเดอร์อีกสองคนกลับถูกตั้งข้อหา “ทะเลาะวิวาทและก่อความไม่สงบ” ตั้งแต่ในวันที่ 2 เมษายนและยังถูกคุมขังโดยไม่มีกำหนดเวลา แอ็กเคานต์โซเชียลมีเดียของเหมิงจูก็ถูกลบไปด้วย!
ทั้งนี้ ก่อนที่เขาจะถูกจับกุมไม่นาน เขาได้เริ่มแคมเปญออนไลน์ใหม่ ที่มุ่งเปิดโปง “โปรโมชั่น” อินเซ็นทีฟล่าสุดของแพลตฟอร์มเอเล่อเมอ ว่าเป็นแผนหลอกลวงไรเดอร์ให้ทำงานหนัก ทั้งที่แพลตฟอรมมีวิธีการยึดเงินอินเซ็นทีฟหรือโบนัสเอาไว้เอง
การรวมตัวและจัดตั้งของกลุ่มไรเดอร์ที่นำโดยเหมิงจูนั้นไม่ได้รับการรับรองจากรัฐบาล ซึ่งไม่ต้องการให้ไรเดอร์และคนงานกลุ่มต่าง ๆ จัดตั้งสหภาพแรงงานขึ้นอย่างอิสระ ปราศจากการแทรกแซงและควบคุมของรัฐ ที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามที่จะจูงใจให้คนงานเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหภาพ All China Federation of Trade Unions (ACFTU) ที่อยู่ภายใต้การกำกับของพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ ACFTU ก็ประสบกับความยากลำบากในการเกณฑ์สมาชิกใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มไรเดอร์ ที่โดยปกติถูกนิยามว่าเป็นคนงานในเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ
โควิด-19 และเสรีภาพในการสมาคมที่ลดลง
จากฐานข้อมูลการประท้วง-นัดหยุดงานของไชน่าเลเบอร์บูลลิทิน สหพันธ์สหภาพแรงงานฮ่องกงได้จัดทำแผนที่ของการประท้วงและเรียกร้องของไรเดอร์จีนทั่วประเทศ ระหว่างเดือนสิงหาคม 2560 ถึงเดือนกรกฎาคม 2561 (ดูแผนที่ประกอบ)
พบว่าช่วงเวลาระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม 2561 มีเหตุการณ์ประท้วงของคนงานส่งอาหารถึง 47 ครั้ง ถือเป็นช่วงที่ถือว่ามีการประท้วงเรียกร้องของคนงานกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จนถึงกับได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นช่วงเวลา “ความไม่สงบแห่งชาติของคนงานส่งอาหาร”
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ในต้นปี 2562 (2019) สถิติของการประท้วงของไรเดอร์จีนลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 57 ครั้งในปี 2561 เหลือเพียง 45 ครั้งในปี 2562 และเพียง 3 ครั้งในปี 2563
ตามที่นักวิจัยของไชน่าเลเบอร์บูเลอทินตั้งข้อสังเกต “การผสมผสานระหว่างระบอบอำนาจนิยมและการขูดรีดแบบทุนนิยมแพลตฟอร์มทำให้การเคลื่อนไหวของแรงงานเป็นไปได้ลำบากมาก”
นอกจากอุปสรรคและปัญหาในการรวมกลุ่มของไรเดอร์ ที่เกิดจากการลงโทษของแพลตฟอร์มและการควบคุมอย่างเข้มงวดจากรัฐแล้ว การลดลงของการประท้วงในจีนยังเป็นผลมาจากการเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วของไรเดอร์ ที่ทำให้แพลตฟอร์มสามารถแทนที่ไรเดอร์ที่ “ก่อปัญหา” ด้วยไรเดอร์อีกจำนวนมากที่ต้องการทำงาน
จึงมีเพียงสมานฉันท์และความรู้สึกร่วมเป็นพี่น้องระหว่างกันเท่านั้นที่จะทำให้ไรเดอร์สามารถรวมกลุ่มกันสำเร็จ ดังคำกล่าวที่ว่า “บาดแผลของคนงานหนึ่งคน คือ บาดแผลของคนงานทั้งหมด (An injury to one is an injury to all)”
จนกระทั่งปัจจุบัน เหมิงจูหรือเฉิน ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว ในวันกรรมกรสากล 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ขบวนการแรงงานในหลายประเทศทั่วโลกร่วมกันออกแถลงการณ์เพื่อกดดันและเรียกร้องให้รัฐบาลจีนปล่อยตัวเขาในทันที
อ้างอิง
A Single Park ไม้ขีดก้านเดียวที่เปลี่ยนสังคมเกาหลี ชีวประวัติ ชุน เต-อิล โดยจรรยา ยิ้มประเสริฐ
“A Painful Read”: New Report on the Dangers Facing China’s Delivery Drivers Goes Viral. Radii Media. September 8, 2020.
“China Detains Delivery Worker Who Tried to Improve Working Conditions,” NPR, April 12, 2021.
“China: Leader of Delivery Riders Alliance Detained, Solidary Movement Repressed.” Labor Notes, April 15, 2021.
“China Responds to Labor Activists Demands With Repression, Arrests,” China Digital Times, April 27, 2021.
“He Tried To Organize Workers In China’s Gig Economy. Now He Faces 5 Years in Jail.” NPR. April 13. 2021
“In China, delivery workers struggle against a rigged system.” SupChina.com, April 20, 2021.
“Self-immolation of Ele.me deliveryman sparks wide public concern on industry management.” Global Times. January 17, 2021.
“Speed over safety? China’s food delivery industry warned over accident,” Reuters, September 28, 2017.
“Viral article puts the brakes on China’s food delivery frenzy,” Techcrunch, September 9, 2020.
“Why a takeout deliveryman in China set himself on fire,” Los Angeles Times, February 8, 2021.