เพราะมันคือเมืองของเรา
ศานนท์ หวังสร้างบุญ
ชัดเจนว่าโควิดระลอก 3 เป็นวิกฤติที่ทำให้เกิดผู้เสียชีวิตมากกว่าทุกระลอก นโยบายและมาตรการทางสาธารณสุขต้องเข้มข้นขึ้น แต่มาตรการเศรษฐกิจก็เป็นอะไรที่รอไม่ได้ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจ SMEs
SMEs คือกลุ่มที่ถูกละเลยเสมอมาทุกระลอก ทั้ง ๆ ที่สำคัญมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ โดยเฉพาะกลุ่ม Informal Sector ทั้งหลายที่มีมากกว่า 2 ล้านราย ที่มักได้รับมาตรการช่วยเหลือน้อยนิด บางกลุ่มธุรกิจแทบไม่ได้รับการช่วยเหลือเลย ไม่มีเครดิตพอที่จะไปขอเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์ ไม่มีสินเชื่อใดๆที่จะเอาเงินมาหมุนเวียน เราจึงเห็นตึกร้าง ตึกเซ้ง ขาย กันเต็มเมืองไปหมด กลุ่มธุรกิจที่เปราะบางมากๆ ที่เราพอจะรู้จักกัน ยกตัวอย่าง เช่น สถานประกอบการด้านสุขภาพ ร้านนวด ร้านสปา ธุรกิจกลางคืน สถานบันเทิง ร้านคราฟเบียร์ กลุ่มโรงแรมขนาดเล็ก โฮสเทล เป็นต้น
หลายวันก่อน ผมมีโอกาสได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับ SMEs หลายกลุ่มดังกล่าวในคลับเฮาส์ตามประสาคนทำโฮสเทล มีประเด็นที่น่าสนใจมากมาย เป็นที่มาที่ทำให้ได้ไปหาความรู้เพิ่มเติม ผมเลยอยากทดสิ่งที่น่าสนใจไว้ครับ
ตั้งโจทย์ใหม่ มอง SMEs เป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไม่ใช่ผู้หนีภาษี
กล่าวโดยหยาบเพื่อให้เห็นภาพ (Rule of Thumb) จากตัวเลขภาษีของประเทศทั้งหมด มีเพียง 10% ของคนในประเทศเท่านั้น ที่จ่ายภาษี 90% ของภาษีทั้งประเทศในตอนนี้ แน่นอนว่า 10% นี้ประกอบไปด้วยธุรกิจขนาดใหญ่ และคนมีรายได้ปานกลางไปถึงสูง ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่นโยบายต่างๆของภาครัฐ จะพุ่งเป้าไปที่การสนับสนุนคน 10% นี้ไม่ให้ล้มหายตายจากไป เพราะไม่เช่นนั้นประเทศคงแย่แน่ๆ เพราะพวกเขาแบกรายได้ภาษีของรัฐไว้
แล้วที่เหลือ 90% อยู่ไหนกัน
จากตัวเลขข้อมูลภาษีชี้ว่า 89% ของธุรกิจที่จดทะเบียน (2.8 ล้านราย) ไม่ได้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล หมายถึงประกอบธุรกิจไม่มีกำไรหรือขาดทุน แต่ก็ยังประกอบกิจการอยู่ นั่นอาจแปลว่าเขาเลือกที่จะพยายามทำให้ขาดทุน แทนที่จะทำให้ได้กำไรและจ่ายภาษี หรือที่บางคนเรียกว่า “หนีภาษี” นั่นแหละ คำถามคือทำไมผู้ประกอบการถึงหนีภาษี ทำไมคนไม่อยากจ่ายภาษี เพราะอะไรกัน? แล้วคนไม่ได้จ่ายภาษีต้องถูกดูแลไหม หรือควรปล่อยเขาไปตามยถากรรม
เพราะ “ประชาชนทุกคน” ควรได้รับการดูแล
ผมคิดว่านี่คือหลักการพื้นฐาน ไม่มีทางเลือกอื่น เหมือนที่เมืองหลวงบ้านเราใช้คำว่า “ทั้งชีวิต เราดูแล” หากเราคิดเช่นนั้น ผมคิดว่าเราควรตั้งโจทย์ใหม่ มอง SMEs จากผู้หนีภาษี เป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ใช้โอกาสวิกฤติโควิดนี้ในการสร้างแต้มต่อให้ SMEs เข้าสู่ระบบ สร้างแรงจูงใจ สร้างแต้มต่อให้ SMEs มอง SMEs เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว เหมือนที่หลายประเทศพัฒนาทำกัน
ข้อเสนอที่น่าสนใจ
ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ผมได้ฟังเทปที่ คุณปิติ ตัณฑเกษม CEO ของธนาคาร TMB ได้เสนอไว้อย่างน่าสนใจมาก คุณปิติ เสนอวัคซีน 6 ด้าน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจ ไว้ดีมาก ผมขอสรุปเป็น 3 กลุ่มจาก 6 ข้อเสนอไว้สั้น ๆ ดังนี้ครับ
- สร้างภูมิคุ้มกันและแต้มต่อให้ SMEs – สร้างแต้มต่อและเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
- สร้างภูมิให้โครงสร้างรายได้ – เพิ่มฐานและลดการกระจุกตัวของภาษีของประชาชนและบริษัทที่อยู่ในระบบ
สองข้อนี้สัมพันธ์กัน ตัวเลขจาก TMB บอกว่าจากผู้ประกอบการ 3.1 ล้านราย เป็นบริษัทใหญ่แค่เพียง 0.2% และเกือบทั้งหมดเป็น SMEs 99.8% ตัวเลขการจ้างงาน 38 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนของบริษัทใหญ่ 13% เป็น SMEs 46% จาก GDP ทั้งหมดของประเทศ 15.7 ล้านล้านบาท มาจากเป็นบริษัทใหญ่ 43% และจาก SMEs 42.4% เรียกได้ว่า ข้อมูลนี้น่าสนใจ เพราะนั่นแปลว่าบริษัทใหญ่ที่มีเพียง 0.2% สามารถสร้าง GDP ได้เท่ากับ SMEs ทั้งหมด 99.8% รวมกันเลยทีเดียว
แต่กระนั้น GDP แบบนี้ก็สะท้อนความเหลื่อมล้ำได้อย่างดีเยี่ยม เพราะมันไม่ได้สื่อถึงสิ่งที่ประเทศจะได้ทั้งหมด เมื่อ GDP ของบริษัทใหญ่ที่สูงมากขนาดนี้ แต่เงินกระจายไปที่ผู้ถือหุ้นเพียงไม่กี่คน ส่วนหนึ่งก็เป็นต่างชาติด้วย แล้วจึงกระจายไปที่พนักงานเพียงส่วนเดียว (13% ของการจ้างงาน) แต่กลับกันหาก GDP ส่วนใหญ่ตกไปอยู่ที่ SMEs จะทำให้เงินไปหาคนในประเทศได้มากกว่า (46% ของ GDP) การที่ GDP ของบริษัทใหญ่มีสัดส่วนที่สูง นั่นทำให้ GDP per capita (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว) ของประเทศเราจึงต่ำเตี้ย แปลว่าเงินในกระเป๋าของคนในประเทศนั้นต่ำเตี้ย
เราสามารถกระตุ้นให้ SMEs เข้ามาอยู่ในระบบภาษี ได้ไปพร้อม ๆ กับการสร้างแต้มต่อให้กับ SMEs
โครงการคนละครึ่งสอนว่าคนเข้ามาใน Digital Economy ได้ คุณปิติเสนอว่า เราสามารถเอาแนวคิด LTF กลับมาใหม่ แต่ไม่ใช่ให้หักภาษีเพื่อไปลงทุน แต่กลับกัน ยกตัวอย่างเช่น เราบอกให้ประชาชนโอนเงิน 100,000 บาทเข้า App เป๋าตัง แล้วไปซื้อของในร้าน SMEs แล้วสามารถหักภาษีได้ เมื่อสามารถหักภาษีได้คนก็จะซื้อ เมื่อคนซื้อ SMEs ก็จะเข้าสู่ระบบ นี่คือตัวอย่างของการสร้างแต้มต่อให้ SMEs เพราะคนมีเงินก็อยากไปอุดหนุน SMEs เพื่อหักภาษี
ในแง่ของบริษัทใหญ่ วันนี้รายใหญ่ ขอ BOI เพื่อผลิตเองและได้งดเว้นภาษี แต่กลับกัน ถ้าให้รายใหญ่ไปอุดหนุนซื้อของจาก SMEs แล้วจะหักได้เท่าครึ่ง หรือสองเท่า แทน เพราะปัจจุบันทำ BOI ไม่เสียภาษี ทำให้ SMEs ตายเลย เพราะรายใหญ่ลงมาผลิตเอง มาแย่งงาน SMEs พอทำแบบนี้ ภาพก็เปลี่ยน ทำเป็นเหมือนดอกไม้กับแมลง รายใหญ่ช่วยซื้อรายเล็ก รายใหญ่ได้หักภาษี รายเล็กได้รายได้
- สร้างภูมิให้โครงสร้างเศรษฐกิจ – เปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและเหมาะกับบริบทของคนไทย
- สร้างภูมิให้เศรษฐกิจภูมิภาค – กระจายอำนาจ และสร้างเครือข่ายธุรกิจใหม่ให้กับแต่ละท้องถิ่น
มุ่งกระจายอำนาจ และสร้าง เครือข่ายธุรกิจให้กับแต่ละท้องถิ่น คุณปิติชี้ให้เห็นว่า 4 จังหวัดสร้าง 50% ของ GDP และ 17 จังหวัดสร้าง 75% ของ GDP ประเทศเราเป็นแบบนี้มา 10 ปีไม่เปลี่ยนแปลง นั่นแปลว่าเราไม่เคยกระจายรายได้ได้เลย เศรษฐกิจกระจุกเพียงไม่กี่จังหวัด เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่
ยกตัวอย่างเศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น เขาอยู่ได้ด้วย Local Consumption คนมีเงินสนับสนุนสินค้าในประเทศ และ GDP ส่วนใหญ่มาจาก SMEs มากกว่าบริษัทใหญ่ เงินจึงกระจายไปที่ประชาชนส่วนใหญ่ เกิดการจ้างงาน เงินเข้ากระเป๋าคนจำนวนมาก มากกว่าไปกระจุกที่บริษัทใหญ่ คุณปิติยังเสนอให้เปลี่ยนจุดยืนของการเกษตร เพราะประเทศไทยทำเกษตรแบบแปลงเล็ก แต่ดันขายเป็น Commodity ไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่ม เปรียบเทียบกับเวียดนาม ที่เขาปรับตัวสร้างมูลค่าเพิ่มไปหมดแล้ว ไม่ได้ขายเป็น Commodity แล้ว เราจึงต้องสร้างตลาด Niche ตลาดที่มีมูลค่าเพิ่ม สร้างธุรกิจที่มีมูลค่าเพิ่มให้กับท้องถิ่น สร้างแบรนด์ท้องถิ่นให้แข็งแรง การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรนั้นคือแนวทางที่เลือกไม่ได้ แต่เป็นทางรอดในอนาคตที่ต้องทำ
- สร้างภูมิผ่านการพัฒนาโครงสร้างสำหรับอนาคต – พัฒนาโครงสร้างและทรัพยากรดิจิตอล
- สร้างความสะดวกให้กับการทำธุรกิจ – ลดขั้นตอน ลดความยุ่งยากของกฎหมาย
พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรด้านดิจิตอล ปัจจุบันรัฐลงทุนแต่โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ Physical Infrastructure ถึง 98.7% เช่น ถนน สาธารณูปโภค พลังงาน โลจิสติกส์ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ แต่มันคือโครงสร้างพื้นฐานแห่งอดีตไปแล้ว ในขณะที่มาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานแห่งอนาคตอย่าง Digital Infrastructure เพียง 1.3% ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้การแจกเงินสนับสนุนของรัฐประสบความสำเร็จ ทั้งเป๋าตัง ถุงเงิน และน่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานระยะยาวของรัฐอีกด้วย โดยเราควรมี 3 อย่าง (1) Digital ID (2) Digital Document (3) Digital Payment เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานดิจิตอลเพื่ออนาคต
มากกว่านั้น เราควรสร้างเศรษฐกิจใหม่ หรือ New S Curve แต่หากไปสร้างอะไรที่ Very new เลยมันก็คงยากแก่การปรับตัว แต่ถ้าเรามองดีๆ เริ่มจากสิ่งที่เราทำได้ดีอยู่แล้ว แล้วต่อยอดออกไป โดยอาจเริ่มจาก 4 เรื่องดังนี้ (1) ท่องเที่ยว (2) อาหาร หรือการยกระดับธุรกิจบริการให้เป็น new S Curve สร้างมูลค่าเพิ่ม ปรับการท่องเที่ยวที่เป็นแมสเป็นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ สร้างงานให้ผู้สูงอายุ (3) การแพทย์ เราเสียเงินให้กับโรงพยาบาลส่วนหนึ่ง แต่เกือบทั้งหมดเป็นค่าแรงให้กับแพทย์ พยาบาล แต่สิ่งที่เป็นอุปกรณ์การแพทย์ทั้งหลายมาจากประเทศอื่นทั้งนั้น เหมือนเราเอาแรงงานไปแลกเงินอันน้อยนิด แทนที่เราจะสามารถได้เงินจากทั้งระบบสาธารณสุขมากกว่านี้ โดยเฉพาะเครื่องไม้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่างๆ (4) ยานยนตร์ เรามีฐานที่ดีอยู่แล้วแต่เดิม เราสามารถต่อยอดไป รถ EV หรือ Clean Energy ถ้าเราไปทาง Solar เราก็สามารถสร้าง SMEs ที่มาสนับสนุน ไปติดตั้งแผง Solar ไปบริการหลังการขายต่อไปได้ นั่นแปลว่าเราสามารถต่อยอดจากสิ่งที่เรามีอยู่แล้ว แปลงการกระจุกของรายใหญ่ การที่ SMEs ไม่มีความสามารถในการแข่งขัน เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจของ 10 ปีที่ผ่านมาไม่ได้ถูกเปลี่ยนแปลง New S Curve จึงสำคัญอย่างยิ่งที่จะพาประเทศไปข้างหน้า
ยกเครื่องกฎหมาย ยุบขั้นตอน ลดความยุ่งยาก (Regulatory Guillotine) ปัจจุบันเหมือนเป็น Government Centric ทำงานตาม Silo ของระบบราชการ การจะทำอะไรสักอย่างนั้นยุ่งยาก ทางออกคือการทำ Omnibus Law โดยให้เรามองทะลุแนวนอนแทนที่จะทำทั้งแนวตั้ง ตั้งธงว่าจะแก้เรื่องอะไร แล้วออกกฎหมายแนวนอนให้ทะลุทุกกระทรวง รูปแบบใหม่นี้เป็นแบบ Business Centric และสามารถประเมินผลกระทบที่จะทำให้การจ้างงานของ SMEs หรือการสร้างรายได้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ GDP ดีขึ้นได้
ปลดล็อกธุรกิจผูกขาดเพิ่มทางเลือกการปรับตัวให้ SMEs ในยุคโควิด
อีกข้อเสนอที่น่าสนใจและผมเห็นด้วยมาก คือการเพิ่มทางเลือกการปรับตัวให้กับ SMEs ในช่วงโควิดนี้
ทุกวันนี้เราจะเห็นทุกคนปรับตัวมาเปิดร้านกาแฟ ขายอาหาร ขายบราวนี่ ทุกคนทำสิ่งเหมือนกันไม่ต่าง ผมคิดว่าเหตุเพราะเรามีทางเลือกไม่มาก ต่อให้รัฐจะอยากให้คนกลับบ้าน แต่ก็ด้วยทางเลือกที่บ้าน (ต่างจังหวัด) ก็ไม่ได้มากเท่ากับในเมือง แต่สิ่งที่ต่างจังหวัดอุดมสมบูรณ์มากคือทรัพยากร และทรัพยากรก็สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้
ผมเพิ่งวางสายโทรศัพท์จากเพื่อนชาวญี่ปุ่นที่เปิดโฮสเทลเหมือนกันหลายสาขา เขาเล่าว่าตอนนี้เขาไปทำเครือข่ายชาวนา สร้างโรงงานสาเก ทำสาเกขาย จากวัตถุดิบข้าวที่ขายได้ไม่กี่บาท ถูกพัฒนาเป็นสาเกมูลค่ามากกว่าหลายพันเท่า การปลดล็อกการผูกขาดเช่น สุรา แบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เราพูดกันบ่อยในบ้านเมือง แต่ช่วงเวลานี้คือช่วงเวลาสำคัญมากเราอาจสร้างผู้ประกอบการที่สนใจกลับบ้านเกิด ไปทำงานที่บ้าน และไปสร้างมูลค่าเพิ่มแบบที่คุณปิติกล่าวไว้ได้ไม่ยาก
มองเห็นพวกเราบ้าง
ทั้งหมดข้างต้นเป็นข้อเสนอที่ผมคิดว่าน่าสนใจมาก แน่นอนการปฏิบัติย่อมเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่การมีข้อเสนอบนฐานข้อมูลแบบนี้ย่อมเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีกว่าไม่มีอะไรเลย
ผมจำคำพูดของเพื่อนๆผู้ประกอบการ SMEs ในคลับเฮาส์ห้องนั้นได้ ชื่อห้องว่า “รัฐเห็น SME เป็นอะไร ฝุ่นหรือผี?”
ผมชอบคำตอบของพี่คนนึง เขาบอกว่า รัฐไม่ได้เห็นเป็นฝุ่นหรือผีหรอก รัฐไม่เห็นพวกเราเลยมากกว่า…
สิ่งแรกที่ควรทำอาจไม่ใช่นโยบาย แต่คือการเปิดใจ มองเห็น SMEs ตัวเล็ก ๆ เหล่านี้บ้าง
เพราะพวกเราไม่ใช่คนหนีภาษี พวกเราคือคนอยากช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ