(Un) popular opinion
โตมร ศุขปรีชา
ซีรีส์ ‘สืบสันดาน’ อาจถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปได้หลายแง่มุม ตั้งแต่เป็นซีรีส์ที่ดูสนุก เร้าใจ องค์ประกอบต่าง ๆ ทั้งการแสดงไปจนถึงโปรดักชันน่าสนใจ แถมยังซ่อนสัญญะต่าง ๆ เอาไว้เป็นจำนวนมาก ไปจนถึงเป็นซีรีส์ที่ดูแล้ว ‘จะอ้วก’ เนื่องจากเนื้อหาในนั้นค่อนข้างรุนแรง ไม่เหมาะกับเด็ก พูด ‘ความจริง’ แบบตรงไปตรงมามากเกินไป หรือแม้กระทั่งเสียงวิจารณ์อีกด้านหนึ่งที่บอกว่าบทห่วย ไม่น่าเชื่อถือ เขียนขึ้นมาโดยเอาความสะใจเป็นที่ตั้ง แถมยังโจ่งแจ้ง สัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่ปรากฏก็ปรากฏขึ้นมาอย่างลุ่น ๆ ตรงไปตรงมา เดาได้จนน่าเบื่อ และมีตอนจบที่ไม่เข้าแก๊ปเอาเสียเลย
แน่นอน เสียงวิจารณ์ย่อมเป็นไปได้แตกต่างหลากหลาย ผู้คนต่างจิตต่างใจ แต่ละคนจึง ‘ตัดสิน’ ซีรีส์ (และที่จริงก็ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนั่นแหละ) ไปตาม ‘ต้นทุน’ ที่ตัวเองมีอยู่ หากต้นทุนนั้นเรียบง่ายอ่อนบาง ก็อาจเห็นซีรีส์แตกต่างไปจากคนที่มีต้นทุนสลับซับซ้อนเข้มหนา จึงไม่มีอะไรผิดหรือถูก มีแต่การเรียนรู้มุมมองที่แตกต่างออกไป
เสียงวิจารณ์จะเป็นอย่างไรก็ต้องบอกว่าเป็นเรื่องของเสียงวิจารณ์นะครับ เพราะสิ่งที่ผมอยากเล่าให้ฟังต่อไปนี้ แม้จะเกี่ยวพันกับตัวซีรีส์ตรง ๆ แต่อาจเรียกว่าเป็นการวิจารณ์ซีรีส์ไม่ได้เท่ากับเป็นการวิจารณ์ ‘ตัวตน’ ของตัวเราเอง – ที่ล้วนประกอบสร้างกันขึ้นมาเป็น ‘สังคมไทย’ ที่สลับซับซ้อนและเต็มไปด้วยการต่อสู้ต่อรองเชิงอำนาจของเรานี่แหละ
ประโยคหนึ่งที่ผมคิดว่าสำคัญมากในซีรีส์เรื่องนี้ ก็คือเมื่อหัวหน้าหญิงรับใช้ (จะเรียกว่าหัวหน้าแม่บ้านหรือหัวหน้าคนใช้ก็คงไม่ต่าง) บอกกับหญิงรับใช้ที่เป็นตัวเอกของเรื่องในช่วงท้าย ๆ – ว่า,
“ป้าเชื่อมาโดยตลอด ว่าการเชื่อฟังเจ้านาย จะทำให้คนใช้อย่างเราปลอดภัย”
ผมคิดว่าประโยคนี้สำคัญมาก เพราะมันคือ ‘แกนกลาง’ ของเรื่องทั้งหมด เป็น ‘ความเชื่อ’ แบบนี้นี่แหละครับ ที่ทำให้ทุกอย่างในเรื่องดำเนินของมันไปได้จนถึงจุดจบ – ซึ่งก็คือความล่มสลายของตระกูลอันยิ่งใหญ่
หลายคนคงเคยอ่านหนังสือเรื่อง ‘เซเปียนส์’ (Sapiens) ของยูวัล โนอา แฮรารี มาบ้างแล้ว และคงจำได้ว่า แก่นแกนหลักในหนังสือที่พูดถึงประวัติศาสตร์มนุษยชาติเล่มนั้น ก็คือเรื่องของ ‘ความเชื่อ’ นี่แหละครับ
แฮรารีบอกว่า เรื่องสำคัญที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์ ก็คือการสร้าง ‘ความเชื่อร่วม’ ใน ‘เรื่องเล่าร่วม’ กันขึ้นมา ความเชื่อร่วมและเรื่องเล่าร่วมที่ว่านี้ ทำให้มนุษย์ที่อาจจะมองหน้ากันแล้วชังขี้หน้า สามารถหันหน้าเข้าหากันเพื่อสร้างความร่วมมือบางอย่างได้
ตัวอย่างเช่น ถ้าเราเชื่อว่า ‘ฝูง’ ของเราดีที่สุด ต่อให้เราเกลียดเพื่อนร่วมฝูงสักคนหนึ่งของเราขนาดไหน แต่เมื่อถึงเวลาออกไปล่าช้างแมมมอธ เราก็จะถือว่าตัวเอง ‘ทำเพื่อฝูง’ ไม่ได้ทำเพื่อไอ้เพื่อนที่น่ารังเกียจคนนั้นหรอก ดังนั้น ‘ความร่วมมือ’ ในฝูงจึงสามารถเกิดขึ้นได้โดยข้ามพ้นความไม่ชอบขี้หน้ากัน ดังนั้น ความร่วมมือดังกล่าวจึงไม่ต้องอาศัยความเป็นเครือญาติ (Kinship) หรือมิตรภาพใด ๆ เพราะทุกคนในฝูงมีความเชื่อร่วมกันอยู่แล้วว่าจะต้องทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ที่จะ ‘สร้างคุณค่าร่วม’ ให้กับฝูง
เรื่องนี้ดูเผิน ๆ เหมือนไม่ได้แตกต่างจากสัตว์ที่ออกล่าเป็นฝูงสักเท่าไหร่นะครับ เพราะสัตว์เหล่านั้นก็ร่วมมือกันล่าเช่นกัน ตั้งแต่หมาไฮยีนาไปจนถึงวาฬออร์ก้า แต่ที่ต่างก็คือ มนุษย์เราสามารถประยุกต์ใช้ ‘ความเชื่อร่วม’ ที่ว่านี้ เพื่อสร้างนวัตกรรมทางสังคมอื่น ๆ ขึ้นมาได้อีก เรียกว่าเรา ‘ต่อยอด’ ความเชื่อร่วมของตัวเองไปได้ไกลกว่าสัตว์มาก ทั้งนี้ก็เพราะเราแปลงความเชื่อร่วมให้กลายเป็น ‘เรื่องเล่าร่วม’ แล้วถ่ายทอดเรื่องเล่าเหล่านั้นผ่านการสื่อสารหลากด้าน คนรุ่นต่อ ๆ ไปในฝูงจึงรับรู้และยิ่งเชื่อเรื่องเล่าเดิมนั้นทับถมกันไปเป็นชั้น ๆ จนเหมือนซากฟอสซิลแห่งความเชื่อต่อไปเรื่อย ๆ
ความเชื่อร่วมที่ว่านี้ ช่วยสร้าง ‘ระเบียบแห่งจินตนาการ’ ในฝูงขึ้นมาได้ ซึ่งแฮรารีบอกเอาไว้อย่างลือลั่นโลกว่า ระเบียบแห่งจินตนาการพวกนี้ซับซ้อนมากจนกลายเป็นระบบต่าง ๆ ตั้งแต่ศาสนา กฎหมาย ไปจนถึงระบบเศรษฐกิจ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เพราะเรา ‘เชื่อ’ ในพระเจ้าและเงินตรา พระเจ้าและเงินตราจึงดำรงอยู่ได้ในชีวิตของมนุษย์ แถมยังกลายเป็นตัวการในการ ‘บงการ’ ชีวิตของเราให้ต้องเต้นเร่าร้อนรนวิ่งไปทำตามคำสั่งของทั้งพระเจ้าและระบบเงินตราทุกเมื่อเชื่อวันของชีวิตด้วย
ความเชื่อพวกนี้มี ‘พลัง’ สูงมากนะครับ มันมีพลังมากจนขับเคลื่อนเหตุการณ์ใหญ่ ๆ ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ได้ ตั้งแต่สงครามครูเสด (ที่เกิดขึ้นเพราะความเชื่อทางศาสนา) ยุคตื่นทองที่ฆ่ากันตายเพื่อแย่งชิงทองคำ (เพราะความเชื่อที่ว่าทองคำนั้นล้ำค่า ทั้งที่เราก็สมมุติมันขึ้นมานั่นแหละ) ไปจนถึงการยอมตายหรือปวารณาตัวยอมเป็น ‘คนรับใช้’ ให้กับใครสักคนหรือสักกลุ่มหนึ่งทั้งในชาตินี้ ชาติหน้า และชาติต่อ ๆ ไป (เพราะเชื่อหรือศรัทธาในคนคนนั้นหรือกลุ่มนั้นอย่างถวายหัว)
ในด้านหนึ่ง – เป็นเพราะความเชื่อในระเบียบแห่งจินตนาการพวกนี้นี่เอง ที่ทำให้สังคมมนุษย์ของเราดำเนินไปได้อย่างซับซ้อน
แต่ในอีกด้านหนึ่ง – ถ้าต่อมเอ๊ะของเราทำงานสักนิด เกิดการ ‘ตั้งคำถาม’ ขึ้นมาสักหน่อย, เราก็อาจเกิดความสงสัยขึ้นมาได้ว่า สิ่งที่เรา ‘เชื่อ’ (โดยเฉพาะที่เชื่ออย่างสุดจิตสุดใจขาดดิ้น) นั้น, มันเป็นจริงอย่างที่เราเคยคิดและเชื่อหรือเปล่า
ปกติแล้ว ถ้าชีวิตของเราอยู่เฉย ๆ ดำเนินไปตามกรอบตามครรลองที่ถูกปลูกฝังมา เรามักมองไม่เห็นหรือตั้งคำถามกับความเชื่อของเราหรอกครับ แต่ถ้าเกิดวิกฤตอะไรขึ้นมาสักอย่าง เช่นในซีรีส์ ‘สืบสันดาน’ นั้น วิกฤตก็คือการที่จู่ ๆ เจ้าสัวผู้เป็น ‘เจ้าแห่งอำนาจทั้งปวง’ ของตระกูล เกิดตายลงกะทันหัน สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือการ ‘ล่มสลาย’ ของผู้คุ้มกฎทั้งปวง ทำให้ระเบียบที่เคยมีเคยเป็นพังทลายลงไปด้วย จึงเกิดการแย่งชิงและเผยภาพอัปลักษณ์ด้านมืดออกมา (แม้ตอนจบจะพยายามบอกเล่าความจริงอีกแบบก็ตามที)
นั่นแปลว่า ถ้าไม่เกิดวิกฤตบางอย่างที่ ‘ถีบ’ เราออกไปจนสุดขอบเขตแดนแห่งความเชื่อของเรา บางทีเราก็อาจยังมีความสุขอยู่กับความเชื่อนั้นโดยไม่ตั้งคำถามอะไรเลยก็ได้ เพราะมันก็ ‘ง่ายดี’ ที่จะมีชีวิตอยู่กับกรอบความเชื่อเดิมโดยไม่ตั้งคำถาม
เพราะเป็นการตั้งคำถามต่างหาก – ที่อาจเจ็บปวดกว่า!
แต่เมื่อใดก็ตามที่ ‘ความจริง’ มันถาโถมเข้ามาปะทะกับ ‘ความจริง’ ก็เป็นไปได้ที่เราจะเริ่มมองเห็นว่า ความเชื่อนั้นไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป และอาจเป็นความเชื่อแบบเก่า ๆ นั้นก็ได้ – ที่จะพาเราไปสู่หายนะ
มนุษย์เรามักจะยอมรับความเชื่อที่ถูกถ่ายทอดมารุ่นสู่รุ่นโดยไม่ตั้งคำถาม ยิ่งเป็นคำสอนเก่าแก่ เราก็ยิ่งเห็นว่าดีงาม เป็นเรื่องที่บรรพบุรุษของเราทำกันมา การทับถมของซากฟอสซิลแห่งความเชื่อนั้นศักดิ์สิทธิ์เกินกว่าจะลุกขึ้นมาสงสัย ยิ่งถ้าคนอื่น ๆ เขาเชื่อ เราก็จะยิ่งเชื่อ หรือต่อให้อยากตั้งคำถามก็อาจไม่กล้า เพราะถูกกรงขังของสังคมอุดปากเอาไว้
ที่สำคัญก็คือ ต่อให้เราสงสัยตะหงิด ๆ แต่เมื่อลุกขึ้นมาหาหลักฐานเพื่อคัดง้างกับความเชื่อ ก็เป็นไปได้ที่เราจะรายล้อมอยู่ด้วย ‘เรื่องเล่าร่วม’ ที่สนับสนุนความเชื่อนั้นจนไม่อาจดิ้นให้หลุดออกไปจากพรมแดนความเชื่อนั้นได้โดยง่าย ยิ่งหาข้อมูลเพิ่ม ก็ยิ่งได้ข้อมูลที่สนับสนุนความเชื่อนั้น เพราะผู้คนรอบข้างที่เราผุดกำเนิดขึ้นมาอยู่ด้วย ก็ล้วนแต่ผุดกำเนิดขึ้นมาในท่ามกลางความเชื่อแบบเดียวกันนั่นแหละ ผลก็คือเกิด ‘อคติการยืนยัน’ (Confirmation Bias) ขึ้นมาจนต่อให้สงสัย แต่สุดท้ายก็วิ่งวนกลับไปหาความเชื่อเดิมอยู่ดี
และนอกจากแรงกดดันทางสังคมรอบข้างที่ทำให้เราต้องเชื่อในความเชื่อร่วมโดยไม่ตั้งคำถามแล้ว อีกอย่างหนึ่งที่สอดคล้องกับคำพูดของหัวหน้าคนใช้ในซีรีส์ ‘สืบสันดาน’ ก็คือ – ถ้าเราเชื่อในความเชื่อเหล่านั้นเอาไว้ก่อน เราจะปลอดภัย
คำว่า ‘ปลอดภัย’ ในที่นี้ นอกเหนือไปจากปลอดภัยในทางกายภาพ (เช่น ไม่ถูกคนในสังคมจับเราขึ้นตะแลงแกงโทษฐานที่ไม่เชื่อในแบบที่สังคมเชื่อ เช่นที่เกิดกับคริสต์ศาสนาในยุคกลางที่มีการล่าตั้งแต่แม่มดไปจนถึงนักคิดเชิงวิทยาศาสตร์) แล้ว, ความปลอดภัยยังอาจมาในรูปของ ‘ความหมาย’ และ ‘ความหวัง’ แห่งการมีชีวิตอยู่ด้วย
เช่น ถ้าเราเชื่อมั่นศรัทธาใน ‘เจ้าสัว’ และ ‘ระบบเจ้านาย – คนใช้’ ถึงระดับที่กล้าแก้ผ้าให้เจ้านายดูไฝฝ้าราคีคาวว่าเราสะอาดสะอ้านบริสุทธิ์แล้ว เราก็ย่อมอยากพลีกายถวายชีวิตให้กับเจ้านายเสมอ ไม่ว่าจะต้องกราบหมา ถูส้นตีนขยี้หัว หรือตกลงไปตายอย่างน่าสมเพช ทั้งนี้ก็เพราะเรา ‘เชื่อ’ ว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้ชีวิตของเรามีความหมายและความหวัง โดยละเลยได้แม้กระทั่ง ‘ความปลอดภัย’ ที่ควรจะให้ความสำคัญเป็นสิ่งแรกตามสัญชาตญาณ
ประโยคในซีรีส์ ‘สืบสันดาน’ ที่บอกว่า“ป้าเชื่อมาโดยตลอด ว่าการเชื่อฟังเจ้านาย จะทำให้คนใช้อย่างเราปลอดภัย” จึงสำคัญมาก เพราะมันทำให้เราเห็นว่า การ ‘สืบสันดาน’ ที่ว่า ไม่ใช่แค่การ ‘สืบสันดานเจ้านาย’ อย่างที่ซีรีส์พยายามทำให้เห็น ไม่ว่าจะเป็นทายาทสืบสันดานมรดกที่กระสันในทรัพย์สินและอำนาจ หรือสืบสันดานจริตที่อยากเป็นผู้ดีชั้นสูงคอยกดหัวคนใช้เท่านั้น
เพราะในอีกด้านหนึ่ง – พวกคนใช้เหล่านั้นก็ ‘สืบสันดานไพร่ทาส’ หรือสันดานการเป็นคนใช้เอาไว้ในตัวด้วยเหมือนกัน ด้วย ‘ความเชื่อ’ ที่ว่า ถ้าศรัทธาในเจ้านายและพร้อมพลีกายถวายตัวให้ตั้งแต่ตื่นนอนจนค่ำมืด และพร้อมถูกเรียกตัวตลอดเวลาจากข้อมูลบนนาฬิกาที่ใส่ติดมือไว้เป็นโซ่ตรวนแล้วละก็ – คนใช้พวกนั้นก็จะ ‘ปลอดภัย’
บ่อยครั้งเกินไป – ที่เรา ‘เชื่อ’ ใน ‘ความเชื่อร่วม’ ที่ถูกถ่ายทอดแบบ ‘สืบสันดาน’ กันมารุ่นต่อรุ่น จนทำให้ความเชื่อเหล่านั้น ‘ฝังลึก’ ลงไปในสันดานของเราจนยากจะถ่ายถอน
ดังนั้น การทำความเข้าใจกับ ‘กลไกของความเชื่อร่วม’ จะช่วยให้เรา ‘คิด’ ได้อย่างมีวิจารณญาณมากขึ้น และตระหนักได้ในที่สุดว่า ความเชื่อนั้นมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของเราอย่างไร
และตลอดมา – เรา ‘ถูกทำให้’ มีสันดานแบบไหน!