#สุขุมวิท11 เราต่างคือผู้ถูกกระทำ - Decode
Reading Time: 2 minutes

ชาวบ้าน ชาวช่อง

รศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา

ในฐานะคนเคยกินนอนอยู่ข้างถนนคลุกคลีกับชาวฟิลิปปินส์ในมะนิลาเป็นปี ประกอบกับความสนใจเรื่องความรุนแรง และการไม่ใช้ความรุนแรง เมื่อเห็นข่าว “กะเทยไทย” หรือผู้มีความหลากหลายทางเพศนัดรวมตัวกันที่ซอยสุขุมวิท 11 ทวงคืน “ศักดิ์ศรีกะเทยไทย” ตบคืน “กะเทยฟิลิปปินส์” ที่รุมทำร้ายกะเทยไทยก่อน และความเห็นในสื่อสังคมออนไลน์ในทางสะใจและภูมิใจ ก็อดที่จะหยิบเหตุวิวาทที่ซอยสุขุมวิท 11 มาชวนคุยไม่ได้

ประเด็นแรก การเหยียดหยามเหมารวมยังคงจุดติดราวกับไฟลามทุ่ง ผมไล่ดูภาพข่าวและการแสดงความเห็นทั้งผู้ที่อยู่ในคลิปและที่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ พบว่า คนส่วนใหญ่รู้สึกสะใจกับการใช้คำเรียกเชิงดูถูกเหยียดหยามคนฟิลิปปินส์ เช่น ไอ้พวกปักปัก (pagpag เป็นแสลงหมายถึงอาหารที่ถูกทิ้งแล้วมากินใหม่) ก็ดี อีผินก็ดี คำเหล่านี้ เป็นการเหยียดคนในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเหมารวม ที่ไม่ควรถูกผลิตซ้ำ คนไทยไม่ชอบถูกดูถูกฉันใด คนชาติอื่นก็ไม่ชอบถูกดูถูกเหมารวมฉันนั้น

ผมคิดว่า เวลาเกิดเหตุวิวาทที่มีคู่กรณีเป็นชาวต่างประเทศ เป็นตัวชี้วัดมากกว่า สังคมโดยภาพรวมจะตั้งสติแยกแยะได้หรือไม่ว่า เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องแต่ละบุคคล หรือจะเหมารวมว่าคนชาตินั้นไม่ดีเหมือนกันหมด การเหมารวมคนฟิลิปปินส์ หรือกะเทยฟิลิปปินส์ ว่าแย่ไปหมด คือตัวอย่างของการถูกอคติเชิงเชื้อชาติที่ฝังอยู่ในหัวชี้นำการแสดงออก 

ผมอยู่ในกลุ่มเฟซบุ๊กของชาวฟิลิปปินส์ใปประเทศไทย ผมพบว่า คนฟิลิปปินส์ในไทยแสดงออกในทางเสียใจที่มีคนฟิลิปปินส์แสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ส่วนใหญ่พิมพ์คอมเมนต์ว่า embarrassing – หรือน่าขายหน้า ซึ่งสะท้อนว่า คนฟิลิปปินส์ไม่ได้เข้าข้างคนชาติเดียวกันที่ทำไม่ถูกแต่อย่างใด

ทำนองเดียวกันเราก็ควรมอง “กะเทยฟิลิปปินส์” อย่างแยกแยะเช่นกัน ผมอยู่มะนิลามีเพื่อนบักละ (bagla-แสลงในภาษาตากาล็อกที่ใช้เรียกกะเทย) ทั้งที่เป็นมิตรมาก คอยห่วงใยช่วยเหลือผม และที่ไม่ชอบหน้าผมเลยก็มี ซึ่งก็มาจากนิสัยที่แตกต่างกันของแต่ละคน ไม่เกี่ยวอะไรกับเพศสถานะของเขา เราจึงไม่ควรตำหนิใครอย่างเหมารวม ไม่ว่าจะบนฐานด้านเชื้อชาติ สัญชาติ วัฒนธรรม หรือเพศสถานะก็ตาม

ประเด็นสอง ผมอยากจะท้าทายชวนคิดก็คือ การที่คนไทยสะใจกับการเอาคืนที่สุขุมวิท 11 นั่นก็เพราะส่วนใหญ่เราไม่สามารถเอาคืนกับคนที่ใหญ่โตกว่าเราได้ เราจึงสะใจและภูมิใจกับการรุมกะเทยชาวฟิลิปปินส์ เป็นเหมือนการได้ระเบิดความรู้สึกที่ถูกกดและเอาเปรียบมานาน เมื่อได้ชัยชนะเล็ก ๆ จึงดีใจกับมันเป็นพิเศษ

แต่หากไตร่ตรองดี ๆ ว่า เรารวมตัวกันมากลุ้มรุมทำร้ายแบบนี้กับใครได้บ้าง จะพบว่า เราทำแบบนี้ได้เฉพาะกับคนที่สถานะไม่ต่างจากเราหรือด้อยกว่า ในแง่นี้กะเทยฟิลิปปินส์ ก็คือ กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เช่นเดียวกับผู้มีความหลากหลายทางเพศคนอื่น ๆ ในสังคมไทย ที่ยังต้องต่อสู้กับอคติของการเหยียดเพศ (แม้ทั้งสองประเทศจะได้ชื่อว่ายอมรับผู้มีความหลากหลายทางเพศมากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคนี้) แต่กะเทยฟิลิปปินส์ เป็นชายขอบกว่า กะเทยไทย เพราะเขาเป็นคนต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทย และยิ่งมีข่าวว่า เข้ามาทำงานขายบริการทางเพศ สถานะของเขาก็ยิ่งเปราะบาง หากไม่มีคนคุ้มครอง  

คำถามคือ คนไทยเราจริงจังกับคนข้ามชาติที่ “เหิมเกริม” ในประเทศไทยทุกกรณีจริงหรือ?

คำตอบก็คือ ไม่ใช่

เมื่อสองปีที่แล้ว มีข่าวว่าทุนจีนสีเทา ซื้อบ้านหรูราคา 30-60 ล้านบาทในหมู่บ้านหรูแห่งหนึ่ง ไปถึง 50 หลัง เหลือคนไทยเป็นเจ้าของบ้านเพียง 16 หลัง กลุ่มคนจีนเงินหนายังจัดงานปาร์ตี้จนคนไทยที่อยู่ในหมู่บ้านนั้นเอือมระอาเพราะร้องเรียนก็ไม่ได้ผล ต้องขายบ้านหนี[i] ทำนองเดียวกันเราก็ได้ยินข่าวอยู่เนือง ๆ ว่า ที่พัทยามีมาเฟียรัสเซียคุม แต่ไม่เห็นจะทำอะไรได้ ถ้าเจอตอใหญ่แบบนี้ ไม่เห็นมีใครนัดหมายเพื่อไปรุมทำร้าย “สั่งสอน”   

ถ้าปัญหาคนต่างชาติ “กร่าง” ในประเทศไทย แก้ไขได้ง่ายด้วยการนัดหมายไปกลุ้มรุมทำร้าย “อันธพาลต่างชาติ” เหมือนที่สุขุมวิท 11 ทุนจีนสีเทาคงไม่เต็มบ้านเต็มเมือง เราใช้วิธีนี้ได้ก็เฉพาะกับคนเล็กคนน้อย ทำนองเดียวกับคนไทยพร้อมรวมตัวกลุ้มรุมทำร้ายชาวพม่าชาวกัมพูชา หากมาทำ “เหิมเกริม” ในแผ่นดินไทย

ระเด็นสำคัญที่ผมอยากจะชวนคิดก็คือ ความพร่าเลือนของเส้นแบ่งระหว่างผู้กระทำการความรุนแรงกับเหยื่อผู้ถูกกระทำ พรีโม เลวี (Primo Levi)[ii] นักเขียนชาวอิตาเลียนเชื้อสายยิว ที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในค่ายกักกันชาวยิว เขียนถึงชีวิตของชาวยิวในค่ายกักกันที่ต้องดิ้นรนเพื่อหาทางรอด บางคนก็ต้องเอาเปรียบชาวยิวด้วยกัน บางคนต้องทำงานให้กับทหารนาซีที่กดขี่ชาวยิว ในสถานการณ์เช่นนี้ ชาวยิวในค่ายกักกันจึงเป็นทั้งผู้กระทำการความรุนแรง (perpetuator) และเป็นเหยื่อ (victim) ในเวลาเดียวกัน หลาย ๆ กรณีเราบอกไม่ได้เหมือนกันว่า ใครคือผู้ใช้ความรุนแรง ใครคือเหยื่อ และคน ๆ หนึ่งอาจเป็นทั้งผู้กระทำและเหยื่อในเวลาเดียวกัน

เส้นแบ่งระหว่างเหยื่อและผู้ถูกกระทำพร่าเลือน กลายเป็นพื้นที่สีเทา (grey zone) ที่ไม่อาจแบ่งแยกแบบ ขาว-ดำ ได้

นักมานุษยวิทยาที่ศึกษาด้านความรุนแรง นำแนวคิดเรื่องพื้นที่สีเทาของเลวี มาวิเคราะห์ความรุนแรงในหมู่คนชายขอบ เช่น คนที่เสพยาเสพติดด้วยกันแต่ก็กระทำความรุนแรงต่อกัน ในบริบทสังคมไทย ผมนึกถึงกรณีนักศึกษาอาชีวะยกพวกตีกัน พวกเขาต่างถูกทำให้เป็นชายขอบด้วยระบบการศึกษาที่ให้คุณค่ากับการเรียนสายสามัญและต่อเข้ามหาวิทยาลัยเหนือกว่าสายวิชาชีพ มากกว่านั้น นักศึกษาอาชีวะหลายคนเติบโตในครอบครัวที่ต้องดิ้นรนทางเศรษฐกิจ หรือเป็นคนชายขอบในทางเศรษฐกิจ พวกเขาชดเชยการถูกกระทำให้เป็นชายขอบแล้วสร้างตัวตนใหม่ แสดงความรักพวกพ้อง รักสถาบัน ด้วยการทำร้ายนักศึกษาอาชีวะ ซึ่งก็คือ คนที่ถูกทำให้เป็นชายขอบเหมือนกัน นักศึกษาอาชีวะจึงเป็นทั้งผู้กระทำการความรุนแรงต่อผู้อื่นและเป็นเหยื่อของระบบไปพร้อม ๆ กัน  

ผมขออนุญาตวิเคราะห์ว่า เหตุที่กะเทยต้องเขม่นกันจนพัฒนาเป็นการทำร้ายกัน ก็เพราะพวกเขาต่างก็ถูกเบียดขับออกจากพื้นที่และเศรษฐกิจหลักของเมือง เหลือเพียงพื้นที่เล็ก ๆ ที่พวกเขาต้องแข่งขันเบียดขับกันในระหว่างทำงาน ความตึงเครียดเช่นนี้จึงทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกัน  ยังไม่นับรวมข้อสงสัยอื่น ๆ ว่า พวกเขาย่อมถูกขูดรีดและรีดไถจากวงจรของธุรกิจที่ต้องส่งส่วยด้วย

ประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นที่ใหญ่กว่า ความภาคภูมิใจในชั่วขณะ เพราะท้ายที่สุด ไม่ว่าจะกะเทยสัญชาติไหน ต่างก็ถูกขูดรีดอยู่ในระบบเดียวกัน ดังนั้น ประเด็นสำคัญกว่าคือ ทำอย่างไรเราจึงเห็นระบบที่กดขี่เอารัดเอาเปรียบ “พวกเรา” ได้ แทนที่จะแบ่งเขาแบ่งเรา แบ่งกะเทยไทย-กะไทยปินส์

หากเปรียบเทียบเหตุการณ์ที่สุขุมวิท 11 กับกรณีชาวสวิสเตะคุณหมอที่ภูเก็ต เราแทบไม่เห็นการเหมารวมว่าคนสวิสไม่ดี เราแยกแยะว่า ชาวสวิสที่ทำร้ายคุณหมอและชอบเบ่ง ชอบข่มคนภูเก็ตอีกหลายครั้งนั้น เป็นพฤติกรรมที่ไม่ดีของตัวบุคคล การที่เราไม่ประณาม “ชาวสวิส” แบบเหมารวมอาจเป็นเพราะว่า เราเองก็สลัดความคิดแบบอาณานิคมไม่พ้น ที่เห็นว่า คนผิวขาวชาวยุโรปเหนือกว่า คนไทย หากมีคนตะวันตก ทำอะไรแย่ ๆ เราจึงบอกว่า เป็นเรื่องตัวบุคคล ไม่ใช่เรื่องเชื้อชาติ ตรงกันข้าม พอเป็นคนฟิลิปปินส์ ผิวดำแดงไม่ได้เหนือกว่าเรา อคติเชิงเชื้อชาติของเราก็แสดงออกทันที 

เป็นเรื่องที่น่าชื่นชม ที่ชาวภูเก็ตไม่ได้นัดหมายกันโชว์แม่ไม้มวยไทยประเคนแข้งตอบโต้ชาวสวิสที่เตะใส่คุณหมอ  แต่ชาวภูเก็ตใช้วิธีการนัดหมายรวมตัวกันไป “เช็คอิน” ที่บันไดที่เกิดเหตุ พร้อมชูป้ายประจานการรุกล้ำที่สาธารณะของวิลล่าหรู เรียกร้องให้หน่วยราชการต้องทำหน้าที่ตรวจสอบและเพิกถอนการบุกรุกชายหาดสาธารณะ และไม่กี่วันต่อมา บันไดที่รุกล้ำที่สาธารณะก็ถูกรื้อถอน เกิดกระแส #ทวงคืนหาดสาธารณะ ขยายผลไปสู่หาดอื่น ๆ ในจังหวัดภูเก็ต

วิธีการจัดการกับชาวสวิสที่ภูเก็ตจึงไม่ใช่แค่เรื่องสะใจ แต่นำไปสู่การตรวจสอบที่ใหญ่กว่านั้น มี ปปช. ลงไปตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิ์ที่ต่าง ๆ ว่าออกมาโดยชอบหรือไม่ เมื่อเทียบกับกรณีที่สุขุมวิท 11 ภาพการตบตีคนละไม้คนละมือ กลบประเด็นอื่น ๆ จนไม่ได้นำไปสู่การเปิดโปงการตรวจสอบธุรกิจสีเทา และการหาประโยชน์ของคนมีสีกับธุรกิจค้าประเวณีแต่อย่างใด  

ท้ายที่สุด ภาคส่วนสุดท้ายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องถูกวิจารณ์คือ ตำรวจ หากตำรวจอำนวยความยุติธรรมได้ตั้งแต่ต้น จับกุมชาวฟิลิปปินส์ที่ทำร้ายคนไทยก่อนที่จะมีการนัดหมายของผู้มีความหลากหลายทางเพศ พร้อมออกประกาศให้ชัดเจนว่า คนที่ทำร้ายร่างกายจะถูกดำเนินคดีอย่างไร ภาพการมะรุมมะตุ้มแบบนี้ก็คงไม่เกิด ยังไม่นับรวมกรณีชาวฟิลิปปินส์คนหนึ่งที่ลงลิฟต์ภายในตึกที่มีผู้มีความหลากหลายทางเพศอยู่ แล้วก็ถูกทำร้าย โดยที่ไม่มีใครรู้เลยว่า คนฟิลิปปินส์คนนี้เกี่ยวข้องกับทำร้ายร่างกายคนไทยหรือไม่ แต่ก็ถูกทำร้ายแล้ว ไม่ต่างอะไรกับนักศึกษาอาชีวะเห็นคนใส่เครื่องแบบของสถาบันคู่อริ แล้วกรูเข้าทำร้ายทันที

ที่เขียนมาทั้งหมด ไม่ใช่เพื่อปกป้องคนฟิลิปปินส์ที่ทำร้ายคนไทย พวกเขาสมควรถูกดำเนินการตามกฎหมายไทยแน่ ๆ แต่หากเราไม่ตั้งสติ ไม่สาดแสงไฟไปสู่ระบบที่กดเราอยู่ ผู้มีความหลากหลายทางเพศก็เหมือนถูกโยนใส่ห้องมืดและก็สาวกำปั้นใส่กันเอง ส่วนคนที่เอาเปรียบบนยอดของระบบก็ลอยนวลต่อไป      

ประการสุดท้ายที่เขียนมานี้ ผมเองก็ไม่เหมารวมว่า กะเทยไทยทุกคนสะใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งกับท่าทีของคุณรตี แต้สมบัติ ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชนที่แสดงจุดยืนชัดเจนว่า ไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรง ไม่ว่ากับคนชาติไหน เพศใดก็ตาม อีกทั้งยังเป็นห่วงว่า ภาพการตบตีที่ว่อนอยู่บนโซเชียลมีเดียจะยิ่งทำให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศถูกมองว่าเป็นผู้นิยมการใช้ความรุนแรงข้อสังเกตหนึ่งที่น่าสนใจของคุณรตีก็คือ ที่เรื่องนี้เป็นข่าวใหญ่ อาจเพราะว่าเป็นเรื่องของสาวประเภทสอง หรือ กะเทย จึงได้รับความสนใจเป็นพิเศษ[iii]

ขอพูดง่าย ๆ ในภาษาของผมก็คือ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องของ “กะเทย” จึงเป็นข่าวที่ขายได้ เรียกยอดวิวได้ ส่วนภาพความเข้าใจของสังคมต่อ LGBTQs จะเป็นอย่างไร สื่อไม่ได้สนใจ คงไม่เกินเลยหากจะกล่าวว่า เราต่างก็เป็นเหยื่อเหมือนกัน


[i] สามารถดูข่าวกลุ่มคนจีนสีเทาครองหมู่บ้านหรูได้ที่นี่ ทุนจีนสีเทา : เปิดหมู่บ้านหรูและคอนโดมีเนียม 100 ล้านบาทของเครือข่าย “ตู้ห่าว” – BBC News ไทย

[ii] หนังสือของ พรีโม เลวี ที่ถูกอ้างถึงอย่างกว้างขวางคือ Levi, Primo. (1988). The Drown and the Saved. New York: Summit Books. หรืออ่านการประยุกต์แนวคิดความรุนแรงในหมู่คนชายขอบด้วยกันในบทความของผู้เขียน บุญเลิศ วิเศษปรีชา. 2559. “ สมควรแล้ว: “การเป็นปกติวิสัย” ของความรุนแรงที่กระทำต่อคนไร้บ้านในมะนิลา. วารสารสิทธิและสันติศึกษา ปีที่ 2 ฉบับที่1: 103-140.

[iii] เครือข่ายเพื่อนกะเทยฯ ย้ำไม่หนุนใช้ความรุนแรง – สำนักข่าวไทย อสมท (mcot.net)