ดิฉันไม่ใช่โสเภณี - Decode
Reading Time: 3 minutes

งามขอฝากน้องหนึ่งด้วยนะแม่ งามคิดถึงลูกมาก นั่งดูแต่รูปทุกวัน
ถ้าหากกลับไปคราวนี้จะพามาเรียนหนังสือที่เยอรมนีด้วย แฟรงค์เขาเป็นคนรักเด็กมาก
เขาต้องการให้น้องหนึ่งมาอยู่กับงาม จะได้ไม่เหงา

ยายเปิดคลิปเสียงนี้ให้ผมฟัง เป็นคลิปเสียงจากแม่ของผมเองที่ออกไปจากบ้านตั้งแต่ผมยังเล็ก ว่ากันตามตรงตอนนั้นผมก็ยังไม่รู้หรอกว่าแม่ไปไหน ไปนานเท่าไหร่ จะมีก็แต่นึกครึ้มคิดถึงแม่ ก็เลยถามเอากับยายว่าเมื่อไหร่แม่จะกลับมา แต่ก็ไม่ได้คำตอบอะไร ซึ่งเวลาถามไปแบบนี้ ก็จะมีแต่ผมที่ต้องนั่งหลบมุมห้องอยู่กับน้ำใส ๆ ที่เปื้อนขอบตา

นานวันเข้ายายก็ดูเริ่มรำคาญความเซ้าซี้ จนหลุดปากออกมาว่าแม่ของผมไปทำงานอยู่ที่เมืองฝรั่ง ตามคำเล่าของยาย แม่ผมไปทำงานอยู่ที่ประเทศเยอรมนี เมืองแฟรงก์เฟิร์ต ว่ากันว่าเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในเยอรมนี แม้ว่าผมจะนึกภาพไม่ค่อยออกก็เถอะ

แม่ไปทำงานเป็นแม่บ้านอยู่ที่นั่น ที่ต้องไปเพราะว่าเงินดีกว่าหลายเท่าเมื่อเทียบกับประเทศไทย แต่ต้องแลกมาด้วยชีวิตที่ต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ สักหน่อย เพราะตำรวจเยอรมันไม่ค่อยชอบหญิงไทย ผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไม เพราะว่าแม่ผมก็สวยหมดจดเสียขนาดนั้น

ผมค่อนข้างภูมิใจกับยายที่เป็นหญิงแกร่ง งานหนักเบาเราเอาหมด ไม่สนว่างานนั้นจะถูกกำกับว่าต้องเป็นหญิงหรือชาย ขณะเดียวกันก็ภูมิใจกับแม่ ที่เป็นหญิงสาวผู้พกความกล้าหาญไว้ตั้งหัวจรดเท้า ยอมตะลุยไปในดินแดนที่เธอไม่รู้จักและทุกคนก็ไม่รู้จักเธอ เพียงเพราะ ‘ชีวิตที่ดีกว่า’

คำ ๆ เดียวที่กว่าผมจะรู้ความหมายของมันก็ใช้เวลาไปกว่า 10 ปี

ความเชื่อนี้ของผม ทำให้ผมทะเลาะกับเพื่อนอยู่เป็นประจำ โดยเรื่องราวที่ทำให้โกรธปรอทแตกจนต้องคุยกับเพื่อนด้วยหมัดมากกว่าเสียง ก็เพราะ ‘เขาหาว่าแม่ผมเป็นโสเภณีข้ามชาติ’

“ร้องไห้ทำไม อย่าร้อง” ยายปลอบแม่ทั้งน้ำตาที่ค่อย ๆ ไหลอาบแก้ม
“ค่อย ๆ หางานทำไป อยู่บ้านเราไปก่อน” ยายพยายามพูดให้แม่สบายใจ

เป็นบทสนทนาไม่กี่ครั้งที่ผมจำได้เมื่อครั้งยังเด็ก และก็เป็นครั้งแรกที่ผมเห็นน้ำตาของแม่

จากคำบอกเล่าของแม่และยาย ประมาณปี 2533 ชีวิตของแม่และน้องสาวแม่ (น้ามาศ) เริ่มระส่ำระสาย เพราะทั้งคู่ต่างตกงานและมีเงินเก็บเหลือเพียงน้อยนิด ที่จะใช้สู้กับค่าครองชีพในเมืองกรุงเทพฯ ทั้งคู่เลยกลับมาอยู่อาศัยอยู่กับยายและตาที่จังหวัดสงขลา อย่างน้อยก็ไม่ต้องไปเสียค่าเช่าห้องแสนแพงที่กรุงเทพฯ 

ช่วงนั้นเป็นช่วงที่นิตยสารรายสัปดาห์กำลังเฟื่องฟู คอลัมน์หนึ่งในนิตรสารฉบับหนึ่ง เขียนโฆษณาถึงการช่วยเหลือหญิงไทยฐานะยากจนให้มีชีวิตที่ดีขึ้น โดยจะให้ไปแต่งงานกับชาวต่างชาติ ซึ่งหากใครสนใจก็สามารถเขียนจดหมายติดต่อไปพร้อมกับรูปถ่ายที่สวยที่สุด 6 รูป และประวัติไปที่บริษัทตัวแทนหญิงไทยในประเทศเยอรมนี และรอการติดต่อกลับสำหรับชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

ทว่าคำครหาเกี่ยวกับบริษัทนี้มีมากมายจนอ่านกันไม่หวาดไม่ไหว ทั้งที่ว่าผู้ชายที่จะแต่งงานด้วยนั้นต่างเป็นของเหลือที่หญิงเยอรมันก็ไม่เอา บางคนในรูปหล่อสง่าอย่างกับเทพบุตรแต่ตัวจริงแก่หงำเหงือก หรือกระทั่งการไปอยู่ในฐานะ ‘เมียเช่า 3 เดือน’ ที่หากไอ้หนุ่มเยอรมันนั่นไม่ชอบเราแล้วล่ะก็ หญิงสาวผู้นั้นจะต้องถูกส่งกลับบริษัทต้นทางและรอพ่อหนุ่มเยอรมันคนใหม่มาเลือกเรา ดูท่าจะเป็นการรอที่ไม่มีเส้นชัยเอาเสียเลย

แต่กระนั้น น้ามาศก็ยังเลือกที่จะ ‘ไปตายเอาดาบหน้า’ จนคนเป็นหลานอย่างผมอดภูมิใจในความกล้าหาญนั้นไม่ได้

“จำไว้นะไปอยู่กับเขา อย่าเพิ่งไปขอเงินเขาล่ะ
มีหลายคนพอพูดเรื่องเงินผู้ชายมันส่งกลับเลย มันถือว่าเราไม่ได้รักมันจริง”

ก็แน่ล่ะ หญิงไทยหลายคนที่มาตายเอาดาบหน้าเพื่อให้คนเขาดูแคลนว่าเป็นโสเภณีข้ามชาติ ถ้าไม่ใช่เพราะเงินจะเป็นเรื่องอะไร หลายคนมีสิบชีวิตที่ต้องเลี้ยงดูในไทย อย่างน้ามาศและแม่เอง ก็มีพ่อแก่หงั่กป่วยจนแทบช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ที่ต้องดูแล ถ้าไม่ใช่เพราะเงินแล้วจะมาทำไม

แต่ก็ด้วยวาทกรรมนี้แหละ หญิงสาวเหล่านี้ก็ต้องไป ๆ กลับ ๆ ระหว่างสำนักงานที่เยอรมนีกับบ้าน ผู้ชายมากหน้าหลายตา เพราะว่าไอ้พวกผู้ชายเยอรมันต่างเอาความรักเฮงซวยนี้มาเป็นข้ออ้าง!

หากว่ากันตามกฎระเบียบของบริษัท หญิงสาวทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเลือกผู้ชายที่มาเลือกตนเองเช่นกัน แต่มันก็เป็นสิทธิ์ที่ใช้การจริงไม่ได้นัก เพราะแม่หญิงสุคนธากับบอส เจ้าของบริษัทนี้ที่คอยเจรจากับไอ้หนุ่มเยอรมันที่มาซื้อความรัก และเชียร์ให้เอาผู้หญิงคนนั้นคนนี้ไป เพื่อลดต้นทุนในการดูแลหญิงสาวในสังกัด หน้าเลือดถึงขั้นว่าหากไอ้พ่อหนุ่มเยอรมันมันจะส่งเรากลับบริษัทแล้วล่ะก็ มันก็ต้องเสียเงินค่าส่งกลับด้วย เรียกได้ว่าบริษัทได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง

ซึ่งตั้งแต่ที่ก้าวเท้าเหยียบดินแดนเยอรมนี หญิงสาวทุกคนมีเวลา 3 เดือนในการสร้างความรัก และลงเอยกับพ่อหนุ่มเยอรมันด้วยการแต่งงานให้ได้ เพื่อที่จะได้อยู่ในประเทศต่อไปอย่างถูกกฎหมาย

อย่างน้ามาศก็ต้องใช้เวลากว่า 2 ปีกว่าจะได้พบว่านอร์เบิร์ด หนุ่มเยอรมันร่างท้วมหน้าตาใจดี ที่ต่างคนต่างมีความรักให้กันอย่างจริงแท้ แต่งงานกันด้วยบรรยากาศแห่งความปิติยินดี มากกว่ากามอารมณ์ที่คละคลุ้งเหมือนพ่อหนุ่มเยอรมันก่อนหน้าที่น้ามาศเคยเจอ

“ดิฉันปวดระบมไปทั้งร่าง น้ำตาไหลอาบแก้ม สิ่งที่มีค่าที่สุดของดิฉันได้ถูกทำลายลงแล้ว ไม่ต่างอะไรกับดอกกุหลาบที่กลีบค่อย ๆ ร่วงโรย” มานเฟต บาทหลวงประจำโบสถ์เอวังเกลิส หนุ่มเยอรมันคนแรกที่น้ามาศจำเลือก และเป็นคนแรกที่พรากสิ่งที่สำคัญที่สุดของน้ามาศไป

“ก็คุณมาเป็นเมียผมไม่ใช่หรือ แล้วทำไมผมจะเมคเลิฟกับคุณไม่ได้ … คุณบอกผมว่าคุณต้องการเงินไม่ใช่เหรอ ถ้าคุณต้องการเงินคุณก็ต้องทนได้สิ” มิชายเอล ผู้จัดการฝ่ายขาย อายุ 32 ปี แม้รูปร่างหน้าตาจะแย่เข้าขั้นอุบาทว์ แต่เขายืนยันว่าจะแต่งงานกับน้ามาศ และยินดีที่จะไถ่ค่าตั๋วเครื่องบินที่ครอบครัวอุตส่าห์ไปกู้หนี้ยืมสินมา ซึ่งก็นั่นแหละ น้ามาศต้องยอมเป็นทาสสวาทมิชายเอลมันเสียก่อน แต่น้ามาศเซย์โน

“บางครั้งเวลาไปอ่านข่าวที่เกี่ยวกับผู้หญิงไทยในทางที่ดี เช่น ไปขายตัว ก็จะตัดเอามาให้อ่าน” กระทั่งความสัมพันธ์กับนอร์เบิร์ดเอง ที่น้ามาศก็เผชิญกับคำครหาดูถูกว่า พวกเธอมันผู้หญิงขายตัว ใช้ร่างกายแลกเงินไม่มีความรักปะปนอยู่ในนั้น ซึ่งผมเองก็นึกไม่ออกเลยว่าข้างในเบื้องลึกของน้ามาศจะต้องเจ็บปวดและยืนกรานขนาดไหน แต่แน่นอนล่ะว่าสิ่งที่น้ามาศทำไม่ใช่เรื่องผิดเลย เพราะหากผมสิ้นไร้ไม้ตอกขนาดนั้น ผมก็คงเลือกที่จะทำเหมือนกัน

เวลาผ่านไปสองเกือบสามปี ผมในตอนนั้นพอจะอ่านออกเขียนได้ แต่ก็ไม่ได้รู้ความอะไรมากนัก ก็ถึงคิวของแม่บ้างแล้ว ที่จะไปโลดแล่นอยู่ในเยอรมนีเช่นเดียวกับน้ามาศ และสร้างชีวิตใหม่ที่มั่นคงทั้งกับตายาย และตัวผมเอง

แต่แม่ไม่ได้เริ่มต้นที่บริษัทหาคู่แต่งงานเช่นเดียวกับน้ามาศ ก้าวแรกของแม่บนดินแดนเยอรมนี คือ บ้านของนอร์เบิร์ด ในฐานะที่พี่สาวของภรรยาเขา โดยแม่ก็จะคอยช่วยแอนนาและโทมัส พ่อและแม่ของนอร์เบิร์ดในการดูแลสัพเพเหระภายในบ้าน

“บ้านนี้รับหญิงไทยได้แค่คนเดียว” ประโยคนี้ไม่จำเป็นต้องเอ่ยออกมาก็ได้ หากแต่สังเกตจากสีหน้าและแววตาของแอนนา มารดาของนอร์เบิร์ด ก็พอจะรับรู้ได้ว่าเธอไม่ชอบใจอย่างมากที่มีแม่ไปอยู่ในบ้านอีกคน

ไม่นานหลังจากนั้น แม่ก็ต้องหอบข้าวหอบของไปอยู่ที่สำนักจัดหาคู่แต่งงานของสุคนธาและบอส

“มันต้องการให้พี่เป็นเมียน้อยมัน พยายามหาทางลวนลามอยู่เรื่อย
ถ้าหากอยู่กับมันสองต่อสอง มันจะตามล้วงตามควักอยู่นั่น
วันก่อนจับนมพี่ต่อหน้าเด็ก ๆ พี่อายจนไม่รู้จะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน”

“ในช่วงขณะของความเป็นความตาย ที่พี่จะต้องสูญเสียสิ่งที่พี่รัก
และหวงแหนให้กับคนที่พี่ไม่รัก มันบอกรักพี่ รักมากกว่าสุคนธาเสียอีก
คราวนี้มันไม่ได้พูดปากเปล่า ทั้งล้วงทั้งควักทุกอย่าง” แม่เล่าด้วยน้ำเสียงไม่ค่อยดี

“มึงจะต้องเห็นดีกับกูไอ้บอส” น้ามาศขึ้นเสียงสั่น

วันนั้นจึงเป็นวันที่แม่กลับมาอยู่กับน้ามาศอีกครั้งที่บ้านนอร์เบิร์ด

หลังจากนั้นเวลาก็ผ่านไปกว่า 2 ปี กว่าคลิปเสียงข้างต้นจะส่งมาถึงหูของผม และได้รับรู้เรื่องราวต่าง ๆ เหล่านี้จากน้ามาศที่เล่าให้ยายฟังอีกครั้งหนึ่ง เมื่อครั้งที่เธอกับนอร์เบิร์ดมาฮันนีมูนที่ประเทศไทย และเดินทางกลับมาหาคนสามคน ที่น้ามาศรักที่สุดในชีวิต

น้ามาศเล่าให้ฟังว่า ตอนนี้แม่ของผมใช้ชีวิตอยู่กับแฟรงค์ เป็นหนุ่มหล่อหน้าตาดี ทำงานเกี่ยวกับวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ฐานะค่อนข้างดีเลยแหละ กำลังดูใจกันเพื่อที่จะแต่งงานกันในอนาคต และแม่ก็คิดถึงผมมาก ๆ ด้วยเหมือนกัน

แม่ผมเป็นคนไม่ชอบเขียนเท่าไหร่นัก ไม่เหมือนน้ามาศที่จดบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ตั้งแต่ก่อนเดินทางไปเยอรมนีจนกระทั่งตอนนี้ที่กลับมาเจอตา ยาย และผมอีกครั้งที่นี่

สมุดบันทึกเล่มนั้นค่อนข้างเก่าจนกระดาษสันดาปเป็นสีเหลืองแก่ ด้านในบรรจุเรื่องราวต่าง ๆ เป็นองก์กว่า 50 ตอน แตกต่างกันตามเหตุการณ์และวาระใหญ่ ๆ ที่น้ามาศต้องเจอและผจญภัย หน้าปกของสมุดถูกเขียนด้วยตัวอักษรหนาสีแดงว่า “ดิฉันไม่ใช่โสเภณี” 

น้ามาศบอกกับผมอย่างจริงใจว่า นี่ไม่ใช่การแก้ตัวให้กับหญิงไทยในเยอรมนี และเป็นการบอกว่าน้ามาศไม่ใช่นางเอกและอย่าได้เอาอย่างเด็ดขาด ภายใต้สังคมที่นิยามคำว่า “โสเภณี” ไว้แบบหนึ่ง คนเหล่านี้เป็นเพียงหญิงสาวที่ชะตาเข้าขั้นอับจนหนทาง ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศไทยหรือต่างประเทศก็เป็นตายเท่ากัน และเป็นหญิงสาวที่ยอมรับความเสี่ยงนานัปการที่จะเกิดขึ้นกับร่างกายและหัวใจ โดยที่ไม่รู้ว่าปลายทางชีวิตจะจบลงที่สรวงสวรรค์หรือขุมนรก 

ปณิธานของน้ามาศที่เธอมักติดปากเอ่ยออกมาระหว่างเล่าเรื่องราวให้ผมฟัง “วันนี้พวกคุณเกลียดฉันไม่เป็นไร แต่สักวันหนึ่งพวกคุณจะต้องยอมรับ และรักฉันนั้นเป็นจริงแล้ว” ซึ่ง ณ ห้วงเวลาสุดท้ายของความตรากตรำ น้ามาศในชุดแต่งงานสไตล์ไทยสีแดงเพลิง กลายเป็นหญิงสาวที่ไร้ความแคลงใจจากคนรอบข้างอีกต่อไป ทว่าเป็นหญิงสาวคนหนึ่งที่รายล้อมไปด้วยความรัก 

หลังจากน้ามาศและนอร์เบิร์ดเดินทางกลับไปที่เยอรมนี ผมได้แต่นึกถึงช่วงเวลาที่แม่เดินทางไปยังดินแดนที่เธอไม่รู้จัก ผมคงต้องขอขอบคุณสมุดเก่าเล่มนี้ ที่ช่วยให้ผมเห็นศักดิ์ศรีและความกล้าหาญของหญิงสาวในชีวิตของผม ที่แม้ค่านิยมของสังคมจะกดทับคุณค่าของความเป็นหญิงผ่านสถานะที่ผูกรั้งพวกเธอไว้เพียงใดก็ตาม แต่นั่นก็ไม่อาจบดขยี้ชีวิตและเส้นทางของหญิงสาวเหล่านี้

กระทั่งไม่อาจบดขยี้คำสรรเสริญเยินยอที่ผมมีต่อพวกเธอได้เลย

Playread : ดิฉันไม่ใช่โสเภณี
ผู้เขียน : ผกามาศ ปรีชา
สำนักพิมพ์ : บางหลวง

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี