ความรุนแรงในนามของ ’การฝึกฝน’ แผลฝังลึกของสองนักกีฬาเทควันโดเยาวชน - Decode
Reading Time: 3 minutes

คำเตือนเนื้อหา : ความรุนแรง

กีฬาต่อสู้ ยังไงก็ต้องแลกมากับการเจ็บตัว …จริงไหม

เมื่อเคล็ดลับความสำเร็จคือความรุนแรงนอกสนามที่มาในคราบของการฝึกซ้อม De/code พูดคุยกับ ฝน และ ภูผา (นามสมมติ) สองนักกีฬาเทควันโดเยาวชนบนเส้นทางการล่าเหรียญที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวดกายใจที่ไม่ค่อยมีใครได้ยิน หลังมีข่าวในวงการนักเตะว่า มีการใช้ท่อ PVC ฟาดขาจนม่วงช้ำเพื่อหวังปั้นดินให้เป็นดาว …อีกครั้ง

ฝน เริ่มเรียนเทควันโดตั้งแต่ช่วงก่อนจบประถมศึกษาปีที่ 6 ด้วยเหตุผลเรียบง่ายว่าไม่อยากติววิชาการอยู่ที่บ้าน เลยเลือกที่จะไปออกกำลังกายในยามว่าง แต่แล้วโค้ชก็เล็งเห็นความสามารถและหน่วยก้านของฝนขณะซ้อมจึงชวนไปเป็นนักกีฬา

จากการออกกำลังกายยามว่าง จึงกลายเป็นการฝึกซ้อมที่จริงจังผ่านการปอปั้นจากโค้ช ฝนในตอนนั้นหวังทำผลงานยื่นมหาวิทยาลัยในอนาคต โดยไม่รู้เลยว่าวันดีคืนดี ตอนที่เธอเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ฝนก็ได้พบกับความรู้สึกเจ็บแสบต้นขาที่ไม่คุ้นเคย ก่อนจะค้นพบในวินาทีต่อมาว่ามาจากการฟาดท่อแป๊บขนาดกลางลงบนต้นขาของเธอ ซึ่งเป็นฝีมือโค้ชคนเดียวกัน

“วันนั้นซ้อมไม่ดี เขาก็เรียกมาตี แล้วเขาก็ตีมาตลอด” ฝนว่า “มันตีแรงแล้วเป็นรอยที่ขา แม่เราก็ไปคุยกับโค้ช โค้ชบอกว่า ใครรับได้ก็อยู่ ใครรับไม่ได้ก็ไม่ต้องเรียนกับเขา แม่ก็ไม่ได้เห็นด้วย แต่ก็ดูอยู่ห่าง ๆ แล้วแม่ก็บอกว่าถ้าห้ามตีไม่ได้ก็ตีสูงขึ้นมาหน่อย เพราะเด็กมันจะไปโรงเรียน เขาเลยตีเลยขึ้นมา มาตีก้น ตีจนก้นแข็ง”

ฝนถูกพร่ำสอนทั้งทางตรง กล่าวคือ จากปากของโค้ช และทางอ้อม กล่าวคือ บรรยากาศและการรับมือของผู้ปกครองภายในยิม (หรือที่ฝนเรียกว่า กลุ่มแม่ ๆ) ว่า การฝึกเทควันโดคือการฝึกความอดทน เวลาลงสนามจริงจะอึดกว่าเดิม เพราะเมื่อถูกกดดันจากที่ยิมมาตลอด พออยู่ในสนามก็เหมือนไม่มีอะไรต้องกดดันแล้ว ซึ่งเมื่อถามฝนว่าเห็นด้วยกับคำกล่าวเหล่านั้นไหมแล้วล่ะก็…

“ไม่ ใส่ตัวหนาเลยนะ” ฝนตอบกลับในทันที

“เรามองว่าการฝึกหนักมีผลมากกว่าการตี มีอยู่ครั้งนึงตอน ม.ต้นที่เราเตะไม่ดี แล้วเขาเรียกไปตบหน้า แล้วสัญชาตญาณตัวเองมันกลัว เรารีบวิ่งหนีเข้าห้องน้ำเลย เราตกใจ เราเข้าห้องน้ำไปแอบ ไปยืนช็อกด้วย คิดกับตัวเองว่า ‘กูโดนตบหรอวะ’ เสร็จแล้วยังต้องทำเป็นฟอร์มแกล้งอ้วก ไม่งั้นจะโดนตบอีกรอบ”

คำบอกเล่าพรั่งพรูออกมาจากปากฝน เธอเงียบไปชั่วครู่เพื่อสูดหายใจเข้าออก ก่อนเสริมว่า

“เราไม่ได้ตั้งตัว ไม่เห็นมือด้วย เขาไม่ได้พูดอะไร ตอนนั้นแม่ไม่เห็น พอไปเล่าให้ที่บ้านฟังแม่ก็มาคุยกับโค้ช เขาก็ดูเหมือนจะไม่ค่อยชอบบ้านเรา ซึ่งเราคิดว่าสุดท้ายถ้าเด็กมันตั้งใจ คุณทำโทษก็แค่ให้เขาทำเพิ่มไหม เขาก็ทำได้นะ ไม่ใช่ว่าซ้อมไม่ดีตี แข่งไม่ดีตี แข่งแพ้ตี แข่งชนะเตะไม่ดีตีอย่างนี้ การตีมันมีอารมณ์ร่วมอยู่แล้ว ถึงจะบอกว่าเพื่อฝึกความอดทนก็เถอะ”

‘ห้องมืด’ บทลงโทษของคนฟอร์มตก

ด้าน ภูผา ที่เข้าสู่วงการและได้รางวัลระดับประเทศตั้งแต่วัยหลักหน่วย จนวันนี้ผ่านมาแล้วกว่าสิบปี จากเด็กซนคนหนึ่งที่ชื่นชอบการตีลังกา สู่การโดนจับใส่อุปกรณ์และแข่งขันอย่างจริงจังบนเส้นทางนักกีฬาเทควันโดของเขาก็เต็มไปด้วยความรุนแรงนอกสนามแข่งไม่ต่างกัน

ภูผาอธิบายว่า เทควันโดคือกีฬาต่อสู้ ดังนั้นแน่นอนว่าขณะซ้อมจึงมีการเตะกันจนปากแตกบ้างอย่างไรก็ตามเมื่อภูผาในวัยเก้าขวบย้ายยิมก็ได้พบกับความปกติใหม่ ที่หากเล่นไม่ดี จะพบกับบทลงโทษจากโค้ชภายในสถานที่ที่เรียกว่า ห้องมืด ที่ทุกคนต่างรู้ดีว่าหากเข้าไปแล้วต้องได้เจ็บตัวกลับมาแน่นอน

“เด็กเก้าขวบสิบขวบโดนตบแบบกระเด็นล้ม โดนโค้ชตบ โดนบีบคอ โดนถีบล้มบ้าง บางทีมีรอยหน้าห้อเลือด” ภูผากล่าว ก่อนเล่าต่อว่าวัฒนธรรมการลงไม้ลงมือนี้ถือเป็นเรื่องปกติในสนามซ้อมที่เห็นกันจนชินตา แต่สำหรับน้องใหม่อย่างภูผาในตอนนั้นคือความกลัวจนตัวสั่นเทา

“ผมไปร้องไห้กับแม่ ผมกลัวมาก แม่ผมก็ไม่ได้ว่าอะไร แม่ก็ให้ไปซ้อมปกติ เล่นไม่ดีก็โดนเหมือนเดิม แม่ซัพพอร์ตมาทางนี้แล้วโดนอะไรมาก็โดน ผมเล่นไม่ดีเองก็โดนเอง”

โดยโค้ชบอกกับภูผาว่า ที่ต้องโดนทำโทษแบบนี้ก็เพราะว่าเล่นไม่ดี ด้านภูผาเองก็มองว่าโค้ชมีความหวังดี อยากให้ตนได้ดี เพราะบางทีเด็กก็ไม่ค่อยฟัง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การกระทำนั้นเป็นการกระทำที่รุนแรงมาก แม้จะอ้างว่าเป็นกีฬาในหมวดหมู่ต่อสู้ก็ตาม

ความรุนแรงในห้องมืดของยิมภูผาไม่ได้รับการพูดคุยกับเพื่อนร่วมยิม เป็นความรุนแรงไร้เสียงที่ไม่ถูกพูดถึงเพราะแนวคิดที่ว่า เป็นนักกีฬาโดนทำอะไรหนักแค่ไหนก็ต้องเข้มแข็ง

“ผมต้องไม่ร้อง ผมต้องไม่อะไร พอผมร้องบางทีโดนซ้ำ บางทีโดนลากไปเลยพี่ ลากไปปุ๊บพออยู่ในมุมอับสายตาคนก็โดนซ้อมเลย เป็นอย่างนั้นมาตลอด” 

หนึ่งชั่วโมงครึ่งของเส้นเป็นเส้นตาย

ทั้งฟ้าและภูผาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าความรุนแรงเหล่านั้นเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนทั้งสองไม่อาจนับครั้งได้ และหากให้ไล่เรียงรายละเอียดก็เกรงว่าจะตกหล่นไป แม้จะอยากเล่ามากเพียงใดก็ตาม อย่างไรก็ตามหากพูดถึงครั้งที่คิดว่ารุนแรงที่สุดแล้ว ฟ้าและภูผากลับตอบได้อย่างรวดเร็ว เพราะนั่นคือความทรงจำที่ทำให้พวกเขารู้สึก กลัวตาย

เป็นความรู้สึกที่ยังจำได้ดี ไม่ว่าจะผ่านมาแล้วกี่ปีก็ตาม

“ตอนผมเก้าขวบ ผมเคยโดนตบหัว มันอันตรายอ่ะพี่ หัวคือจุดที่โดนอะไรกระทบรุนแรงก็อันตราย แล้วมาโดนผู้ใหญ่ตบ ตอนนั้นผมต้องยืนนิ่ง ๆ รับมือตบดัง ๆ

“ผมคิดเลยว่า ผมจะตายหรือไม่ก็เป็นอัมพาตแน่ ๆ หนีไม่น่ารอด หนีก็ไม่ได้ยังไงก็ต้องกลับกับแม่ ยังไงก็ต้องเจอครูซ้อมอยู่ดี

“พอผ่านไปได้ ตอนเด็กผมลืมความรู้สึกนั้น แต่ตอนนี้ผมเริ่มกลัวว่าร่างกายจะขยับไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้ ผมปั่นจักรยานช้า ๆ ยังคิดเลยว่า ‘เฮ้ย หัวจะฟาดเปล่าวะ’ มันคือความทรงจำ ดีนะที่ตอนเด็กเราโดนตบละไม่เลือดคั่งในสมอง แต่ตอนนี้เป็นเราที่แพนิกเรื่องอุบัติเหตุทุก ๆ วัน แม้จะไม่ได้โดนตบจากการซ้อมแล้วก็ตาม”

ภูผา เล่า พร้อมบอกว่ามีช่วงหนึ่ง (ช่วงใหญ่ ๆ และกินเวลาหลายปีในฐานะนักกีฬาเทควันโด) ที่ตนรู้ว่าการไปยิมคือหนึ่งชั่วโมงครึ่งที่ทรมานที่สุดในชีวิต ทั้งจากการซ้อมและการเดินทางหลายทีก็มีจุดพีคที่ภูผาพยายามอยากแม่ว่าตนอยากเลิกเล่นแล้ว แต่แม่ก็บอกให้ไปบอกครูเอง 

“ช่วงนึงผมท้อมาก ทะเลาะกับแม่ทุกวัน กลับจากโรงเรียนก็ทะเลาะกับแม่ ใจเรามันไม่อยากเล่นแล้ว มันเหนื่อยมากเลย”

“เราเคยแข่งแพ้คนที่ไม่น่าแพ้ แล้วไปซ้อมต่อเลย ยังไม่ได้พัก โค้ชเลยเรียกเรามาเตะกับโค้ชที่ผู้ชายตัวใหญ่ เราสู้ไม่ได้อยู่แล้ว แต่วันนั้นรู้สึกได้ว่าเขาเตะแบบโกรธเรา เตะอัดตัวเราจนเจ็บซี่โครง เราบล็อกยังไงก็บล็อกไม่ไหว เขาพูดใส่ว่า ‘กลัวในสนาม แต่ไม่กลัวโค้ชใช่ไหม’ ตอนนั้นได้คิดแต่ว่า ‘ก็กูสู้ไม่ได้ แพ้ก็คือแพ้ไง’ มันเจ็บแล้ว ไม่อยากทำแล้ว”

ฝนกล่าวพลางส่ายหน้า ก่อนเสริมว่า “เสร็จแล้วก็ยังไม่จบ เขาให้มาเตะอีกรอบนึง เราบอก ‘ไม่เตะค่ะ’ เขาก็สวนว่า ‘ไม่เตะมึงก็ออกไป’ แม่ก็พากลับบ้านเลย เราบอกแม่ว่าเขาเตะแรงมาก เจ็บตรงซี่โครง เจ็บกระดูก รู้สึกเหมือนจะตายเลย เราพักไปประมาณเดือนนึง โค้ชถึงโทรมาบอกว่าไม่ได้ตั้งใจไล่ฝน แต่อยากให้เด็กสู้เท่านั้นเอง”

อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ฝังอยู่ในใจฝนคือการโดนเตะน็อกคาที่จากเด็กผู้ชายรุ่นเดียวกัน ฝนจำได้แม่นว่าตนวูบไปแล้ว แม้หูจะยังได้ยิน แต่ตาไม่ลืม แม่จึงเข้ามาอุ้มเขย่าตัว ก่อนโค้ชจะเดินเข้ามาพร้อมพูดว่า ‘มึงจะแกล้งล้มทำไม’

ฝนได้ยินทุกอย่างแต่กลับขยับตัวไม่ได้

ความรู้สึกเหนื่อยล้าพุ่งถึงขีดสุดก่อนจะสลบไป

ไม่รู้ว่านานแค่ไหน จำอะไรไม่ได้

หลังจากเหตุการณ์นั้นฝนก็หายไปพักอีกประมาณ 2 เดือน ไม่ใช่เพื่อรักษากายเพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงใจของเธอด้วย

ความรุนแรงไม่ใช่ทางออก แต่เป็นทางตัน แล้วเรื่องนี้จะไม่เงียบ

“พอผมเล่นกีฬาแล้วผ่านอะไรพวกนี้มาแล้ว มันก็เหมือนมันเป็นภูมิให้ผมนะ ผมกลายเป็นคนที่เข้มแข็งมากขึ้น ครอบครัวผมอาจจะไม่ได้ลำบากอะไรมาก แต่พอเจออะไรที่มันเจ็บ มันรุนแรง มันกระทบจิตใจ โตมาก็รับมันได้”

ภูผาอธิบายอีกมุมหนึ่งของการซ้อมให้เราฟัง ก่อนเสริมว่าตอนนี้วงการเทควันโดเองก็เริ่มพัฒนาขึ้นในเรื่องการตระหนักรู้เรื่องความรุนแรง แต่ก็ยังไม่ถึงกับหายไป ด้านฝนเองก็เห็นด้วยว่าวัฒนธรรมการใช้อำนาจทั้งผ่านการลงไม้ลงมือหรือการใช้วาจานั้นไม่เถื่อนเท่าแต่ก่อน เพราะหากโค้ชไม่เปลี่ยนพฤติกรรม เด็กก็คงจะหายไปหมด

อย่างไรก็ตามทั้งสองยังเห็นตรงกันว่าเมื่อการลงโทษไม่หนัก ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าฟอร์มของนักกีฬาก็ตกอย่างเห็นได้ชัดเช่นเดียวกัน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าความรุนแรงคือทางออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรุนแรงต่อเด็กที่เกิดขึ้นบนสนามซ้อม

เพราะทั้งภูผาและฝนต่างก็เป็นผู้เห็นเหตุการณ์ความรุนแรงหลากรูปแบบที่ไม่ค่อยแดงออกมาเป็นข่าวให้คนภายนอกได้รู้ โดยอุปกรณ์หลักก็ยังคงหนีไม่พ้นท่อ PVC สีฟ้าที่หวังจะปั้นดินให้เป็นดาวให้ได้ผ่านการฟาดเด็กเหมือนวงสวิงตีกอล์ฟ ฟาดจนสะโพกหัก เป็นไข้ มีรอยห้อเลือด ครั้งหนึ่งมีผู้ปกครองจะไปแจ้งความ แต่สุดท้ายก็ไม่เงียบไปหลังคุยกับโค้ช และจบลงด้วยการที่ครอบครัวนั้นไม่กลับมาเรียนที่ยิมนี้อีกเลย

และนี่ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น

“เราโดนกันเป็นเรื่องปกติ พ่อแม่หลายคนก็บอกว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของการซ้อม เท่าที่พ่อเล่าให้ฟัง เวลาประชุมเขาจะให้ผู้ปกครองมาช่วยกันปรับเปลี่ยนเรื่องการซ้อม ก็ไม่มีใครเสนออะไรที่จริงจัง จะมีก็แต่บ้านเราที่เป็นตัวแทนหมู่บ้าน พ่อก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่ามันจะมีโอกาสที่จะได้แก้ไขไหม ทำไมถึงทำเป็นเรื่องตลกอะไรไปหมด” ฝนว่า

“ด้วยความที่เป็นเด็กบางทีก็เลือกอะไรไม่ได้ พ่อแม่ก็คือปัจจัยหลักเลยในการใช้ชีวิต เรากินอะไรพ่อแม่ก็ทำให้ เราไปไหนพ่อแม่ก็ไปส่ง แรงเด็กกับแรงผู้ใหญ่มันก็แพ้กันอยู่“ ภูผากล่าว พร้อมยืนยันว่าผู้ปกครองมีบทบาทสำคัญในการปล่อยหรือยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ยังจำต้องฟังเสียงบุตรหลานตัวเองเป็นสำคัญ เพราะร่างกายและจิตใจคน หลายครั้งก็ไม่อาจซ่อมแซมได้ ไม่ว่าการแพทย์จะพัฒนาไปไกลเพียงใดก็ตาม

“ผมเลยอยากให้ผู้ปกครองส่งลูกพอดี ๆ เพราะเคยเห็นตัวอย่างนึง พ่อแม่ส่งแล้วอยู่ ๆ ลูกก็ต้องมาเจ็บ ต้องผ่าตัดขาตั้งแต่อายุ 13 พอผ่าตัดขาแล้วจากนั้นมันก็จะไม่มีอะไรเหมือนเดิม ผมไม่รู้เหมือนกันว่าเขาเองอยากเล่นต่อไหม เป็นผม ผมไม่อยากให้เล่นแล้ว” 

“เคยมีเด็กกลัวการไปซ้อม แต่ถูกพ่อแม่บังคับ น้องเลยปีนออกหน้าต่าง วันหลังพ่อก็บังคับมาอีก น้องมันก็เปิดประตูออกจากรถลงกลางทาง คือมันต้องดูว่าสิ่งที่คุณวางแผนให้ลูกคุณ กับสิ่งที่เด็กต้องการคือสิ่งเดียวกันไหม เพราะคนที่ต้องโดนถีบโดนเตะ คือลูกคุณ ไม่ใช่คุณ”

ฝนระบุว่าตนโชคดีที่มีพ่อแม่คอยปลอบ ถ้าเกิดคนอื่นพ่อแม่ไม่มาดันให้ไปต่อ มาเฝ้าว่าลูกซ้อม เป็นดีเป็นร้ายยังไง เขามาก็เสียเวลาเปล่า แถมฟรีประสบการณ์ที่ไม่ดีด้วย โดยพ่อของฝนจะย้ำเสมอเรื่องความปลอดภัย โดยให้หน้าที่แม่เป็นคนดู ถ้ารู้สึกไม่โอเค ก็ออกมาบอกแม่ได้เสมอ

“เราเห็นวิธีซ้อมทั้งแบบเก่าแบบใหม่ ผลลัพธ์มันก็ไม่ได้ต่างกันมาก ก็แค่ไม่มีการกดดัน แต่พอถึงจุดนึงเด็กก็จะเปลี่ยนเอง โตขึ้นตามวัยก็จะคิดได้ เด็กเล็กไม่ควรถูกกดดันแบบเครียดตาแตก” ฝนว่า

จากคำบอกเล่าของทั้งสองนักกีฬาเยาวชนสะท้อนให้เราเห็นว่าท้ายที่สุดแล้ว ปรากฏการณ์พ่อแม่รังแกฉันนั้นไม่ใช่เพียงสำนวนคุ้นหู แต่ยังคงเกิดขึ้นจริงอย่างต่อเนื่อง ทั้งความต่างของอำนาจภายในครอบครัว ที่หลายครั้งบุตรหลานไม่อาจมีปากเสียงในการบอกสิ่งที่ต้องการ ทำให้การตัดสินใจที่เกิดขึ้นจากพวกเขาถูกปัดตกหรือมองข้าม 

“ทุกครั้งที่เราเห็นข่าวความรุนแรงขึ้นมาเราก็หดหู่ เราเห็นภาพเราตอนเด็กซ้อนทับขึ้นมา มันเกิดขึ้นอีกแล้ว เด็กที่เขาโดนมันจะจำ แม้บางคนอาจจำไม่ได้ แต่คนที่จำได้มันจะมีผลอะไรกับชีวิตเขาไหม เวลาเด็กโดนซ้อมเด็กก็จะรู้แค่ว่าฉันกลัว ฉันก็เลยต้องเต็มที่ ฉันไม่ได้รับรู้นี่ว่าเขากดดันฉันอยู่ นี่ก็คือสภาพเราในตอนเด็กเหมือนกัน ก็ขอให้เรื่องนี้เป็นที่พูดถึงในวงกว้างสักทีค่ะ” 

ฝนทิ้งท้าย โดยทุกครั้งที่ความรุนแรงเกิดขึ้นในนามของ ’การฝึกฝน’ คืออีกครั้งที่เด็กและเยาวชนบนเส้นทางนักกีฬาถูกทอดทิ้ง ให้ยิ้มสู้กับความไม่เป็นธรรมเพียงลำพัง

แม้วันนี้คนไทยจะตระหนักเกี่ยวกับสิทธิในเนื้อตัวร่างกายกว่าที่เคย ทำให้พวกเขาสามารถเข้าถึงการเยียวยาได้หลายทาง แต่ท้ายที่สุดแล้วผู้ที่สามารถยุติวัฒนธรรมที่เป็นพิษนี้ได้ก่อนจะเกิด ไม่ใช่คนอื่นไกลแต่ยังเป็นผู้ปกครองอยู่วันยันค่ำ

เพราะ รักวัวให้ผูก-รักลูกให้ตี มีแต่ยิ่งทวีคูณบาดแผลทางกายใจ คือสิ่งที่สองนักกีฬาเทควันโดบอกกับเรา และหวังสะท้อนให้ไกลไปสู่ระดับสังคม