ที่บริษัทแห่งนี้มีตอนจบอย่างที่คุณต้องการ : ความตายที่ (สามารถ) วาดไว้ เช่นเดียวกับการมีชีวิตอยู่ - Decode
Reading Time: 3 minutes

ไม่ว่าจะจัดรูปแบบตัวอักษรเช่นไร ‘ความตาย’ ก็มักจะมีความหมายเฉพาะของแต่ละคนที่แตกต่างกันออกไปเสมอ 

บ้างก็มองว่ามันคือเรื่องที่ควรเลี่ยงในการพูดถึง เพราะอาจทำให้เศร้าเกินไปหรือทำให้การใช้ชีวิตไม่มีความสุข บ้างก็มองว่ามันเป็นเพียงคำที่พูดตัดพ้อหรือล้อไปกับชีวิตที่ผิดหวัง เช่น เหนื่อยจะตายอยู่แล้ว พรุ่งนี้ตายแน่ ถ้าไม่รีบทำสิ่งนี้ให้เสร็จ

หรือบางทีก็เป็นคำที่ใช้ในยามที่ชีวิตถึงจุดจบทางโลกและแตกสลาย อย่างประโยคที่ว่า

“นักเต้นนั้นตาย 2 ครั้ง ครั้งแรกคือการตายจากการหยุดเต้นตลอดกาล และครั้งสุดท้ายคือการตายจากโลกใบนี้ไซึ่งครั้งแรกนั้นเจ็บกว่าเสมอ”

Martha Graham ผู้บุกเบิกท่าเต้นรำสมัยใหม่

ในทางกลับกันก็ยังมีผู้คนที่หวังว่ามันคือการจบวัฏจักรการเวียนว่ายตายเกิดและชีวิตที่วุ่นวาย อย่าง อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ การนิพพานดับทั้งภพและเวทนา

หรืออาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตนิรันดร์และการกลับไปสู่บ้านที่แท้จริง

เพราะนี่แหละเป็นพระประสงค์ของพระบิดาของเรา ที่จะให้ทุกคนที่เห็นพระบุตรและวางใจพระองค์มีชีวิตนิรันดร์ และเราเองจะให้คนนั้นเป็นขึ้นมาในวันสุดท้าย”

ยอห์น 6:40

หรือแม้กระทั่งการเป็นความสงบที่แท้จริงของชีวิตที่บางคนต้อนรับและยินดีเสมอ เป็นดังเรื่องที่จะเกิดขึ้นอย่างธรรมชาติกับมนุษย์ทุกคน คงไม่ต่างอะไรกับเราที่สนใจและตื่นตัวกับมันอยู่ในทุกวัน

ถ้าเป็นเมื่อก่อน ตอนที่ยังเป็นเยาวชนที่หดหู่กับคลื่นปัญหาชีวิตระดับสึนามิ ก็คงจะพูดประมาณว่า “เพราะการมีชีวิตอยู่มันทรมานไง ความตายจึงตอบโจทย์” แต่เมื่อโตขึ้นก็กลับค้นพบว่า ความตายที่เลือกได้นั้นทรมานยิ่งกว่าเพราะต้องสู้กับต้นทุนที่สูงลิบลิ่ว

ไม่ต้องพูดไปไกลถึงการุณยฆาต เพราะเพียงแค่งบจัดงานศพก็ทำใจว้าวุ่นระดับทอร์นาโดเลยทีเดียว เด็กน้อยที่หลงใหลความตายในวันนั้นก็กลายมาเป็นผู้ใหญ่ที่พยายามหาคำปรึกษาและวางแผนความตายให้ได้มากที่สุดในวันนี้ แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่าแท้จริงแล้ว ‘ความตายที่วาดไว้’ จะเป็นได้แค่ความฝันหรือเปล่า มันจะไม่มีทางเลือกสำหรับตอนสุดท้ายของชีวิตเลยหรือ…

‘มัมปูไค’

บริษัทให้คำปรึกษาการเตรียมตัวตาย ยินดีต้อนรับ!

ที่นี่ไม่ใช่แค่บริษัทที่ให้คำปรึกษาเรื่องงานศพหรือแนะนำหลุมศพ

ไม่ใช่แค่ช่วยเตรียมการให้ลูกค้ามีงานศพแบบที่ต้องการ หรือไม่ใช่บริการให้ลูกค้าได้จบชีวิตสมใจ

แต่พนักงานของที่นี่มีหน้าที่สนับสนุนให้ลูกค้าได้ทบทวนชีวิตของตัวเอง

ก่อนจะถึงวันสุดท้ายบนโลกใบนี้

บางคนก็ไม่รู้ตัวว่าตัวเองต้องการสิ่งใด พบเจออะไรมาบ้าง…

และได้ใช้ชีวิตอย่างที่วาดฝันเอาไว้แล้วหรือยัง

ไม่ว่าใครก็เตรียมตัวตายได้ทั้งนั้น

ข้อความจากปกหลังที่เป็นดังพรหมลิขิต

ณ ตอนนั้นเราไม่ได้ใส่ใจด้วยซ้ำว่าธุรกิจและเรื่องราวในหนังสือนั้น จะเป็นความจริงหรือไม่ รู้เพียงว่าอย่างน้อยก็มีผู้เขียนที่กำลังคิดตรงกันกับเรา หรืออาจมองเห็นภาพที่กว้างกว่าเราไปแล้วหลายเท่า เราจึงตัดสินใจอ่านหนังสือเล่มนี้ เพื่อให้การเดินทางได้เริ่มต้นขึ้น…

บันทึก ‘มัมปู’ เวลาแห่งการทบทวน

‘บันทึกมัมปู’ คือหนังสือที่บริษัทจะมอบให้กับผู้ใช้บริการคนละ 1 เล่ม หรืออาจมากกว่านั้นถ้าหากสนใจส่งต่อให้กับผู้อื่น บันทึกจะถูกแบ่งเป็นช่วงแรกและช่วงหลัง ซึ่งหมายถึงอัตชีวประวัติของเจ้าของบันทึกและแผนการจัดการความตายที่จะเตรียมการเอาไว้ เพื่อประสานกับนิติกรและผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด เมื่อวันนั้นมาถึง

แต่การเขียนลงในบันทึกมัมปูนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้จบในระยะเวลาอันสั้น โดยเฉพาะการวางแผนการจัดการความตายในช่วงหลัง อย่างการเขียนบันทึกมัมปูของคุณ ทาคาโนะ เรียวโกะ พนักงานฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูลของร้านกาแฟแห่งหนึ่ง เธอมีชีวิตการทำงานช่วงใกล้วัยเกษียณที่ไม่ดีนักในบริษัทปัจจุบัน ซึ่งอาจจะต้องแยกทางไวกว่าที่คิด ทั้งยังเพิ่งเสียแม่ไปในช่วงที่ชีวิตกำลังสับสน

คุณเรียวโกะตัดสินใจเข้าใช้บริการจัดการความตาย เพราะความรู้สึกผิดจากงานศพของแม่ที่ไม่ได้มีการวางแผนหรือสั่งเสียไว้ล่วงหน้า ทำให้เธอทำอะไรไม่ถูก ไม่รู้ว่าสิ่งที่จัดการไปจะเป็นสิ่งที่แม่ต้องการหรือไม่ เธอในฐานะลูกต้องตัดสินใจด้วยตัวเองทั้งหมด เธอจึงคิดว่าเธอควรรีบจัดการความตายของตนเองไว้ด้วยดีกว่า

“มันกระวนกระวายใจค่ะ ฉันไม่ได้แต่งงาน ไม่มีลูก เลยคิดว่าต้องตัดสินใจให้เด็ดขาดว่า ตัวเองอยากทำยังไงกันแน่ เพราะไม่มีใครที่จะคอยจัดการเรื่องหลังความตายให้ฉันเลย”

บทที่ 1 : ทาคาโนะ เรียวโกะ อายุ 55 ปี หน้าที่ 5

แต่เมื่อเธอเขียนไปได้ถึงช่วงหนึ่งก็รู้สึกว่า การเขียนบันทึกมัมปูไค ของเธอนั้น อาจจะช้าเกินไป ไม่จบเร็วดังใจหวัง ราวกับว่าแท้จริงแล้วจิตใจของเธอยังไม่พร้อมคิดถึงเรื่องเหล่านี้

“…ซาลอนเตรียมตัวสำหรับความตายแห่งนี้ คือสถานที่ให้คำปรึกษาก็จริง แต่ดูเหมือนลูกค้าทุกท่านจะมาเพื่อทบทวนชีวิตตัวเองนะครับ…สำรวจตัวเองว่ามาถึงจุดไหนแล้ว และทบทวนชีวิตจากตรงนั้น…ความคิดที่ว่าจะทำยังไงกับหลุมศพหรืออยากจัดงานศพแบบไหนก็น่าจะผุดขึ้นมาเอง ดังนั้นคุณทาคาโนะจึงควรใช้เวลาทบทวนชีวิตของคุณ แล้วค่อยตัดสินใจไปทีละเรื่องก็ได้ครับ”

บทที่ 1 : ทาคาโนะ เรียวโกะ อายุ 55 ปี หน้าที่ 37

คุณ มิซากิ คิโยชิ พนักงานของมัมปูไค ได้ทบทวนคำพูดของประธานบริษัทให้กับ คุณเรียวโกะฟัง เพราะชีวิตที่ไม่ได้ผ่านการทบทวนถึงสิ่งที่ผ่านมาและสิ่งที่เป็นอยู่ คงเป็นเรื่องยากที่จะมองเห็นเส้นทางข้างหน้า

ถ้าการทบทวนชีวิต จะทำให้การจัดการความตายง่ายขึ้น เราคงเป็นหนึ่งในคนที่เขียนบันทึกมัมปูได้อย่างสบายใจ อย่างในส่วนอัตชีวประวัตินั้นก็ถือเป็นเรื่องง่ายในการบันทึกสำหรับเราที่ทบทวนอดีตอยู่เสมอ เพราะเราอยากเข้าใจที่มาของอัตตาที่เปลี่ยนไปในทุกวัน และเชื่อว่ามันจะช่วยให้เหตุผลทุกอย่างประจักษ์อย่างชัดแจ้ง เมื่อจะแก้ไขปัญหาบางอย่างในชีวิต

ในส่วนของแผนการจัดการความตายที่ให้เลือกว่าจะเลือกบอกครอบครัวตอนไหน เมื่อวันนั้นกำลังมาถึง เราก็คงไม่ลังเลเหมือนคุณเรียวโกะที่เหลือเพียงคุณป้าที่ไม่ได้อาศัยอยู่ด้วยกัน หรืออาจจะไม่เหลือใครเลยเมื่อถึงเวลานั้น เพราะเราจะเลือกบอกแต่เนิ่น ๆ กับพ่อแม่ เพื่อที่จะได้วางแผนกับครอบครัวเหมือนที่เคยทำมาทุกครั้งเวลาเกิดปัญหา หรือถ้าหากไม่มีใครในครอบครัว ก็คงบอกเพื่อนสนิทที่คิดว่าน่าจะอยู่ถึงวันนั้นไป แต่นั่นจะใช่ทางเลือกที่ถูกต้องแล้วจริงหรือ เมื่อพ่อกับแม่ก็มีโอกาสจากไปก่อนเรา และภาพของครอบครัวในอนาคตก็เลือนรางยิ่งกว่าภาพเมืองหลวงในวันที่ฝุ่นลง คุณตาคิมิโอะก็กำลังคิดเช่นนั้น

“ช่วยอยู่ให้นานกว่าฉันเถอะ”

บทที่ 2 : โมริโมโตะ คิมิโอะ อายุ 68 ปี หน้าที่ 77

คุณตาคิมิโอะขอร้องกับคุณยายซาดาโอะ หลังจากที่ได้ลงชื่อเธอไปในฐานะบุคคลที่จะจัดการเรื่องการรักษาพยาบาลและการดูแลในยามชราบนบันทึกมัมปู แต่มันอาจไม่ใช่เรื่องที่เป็นดังใจหวังเสมอไป เมื่ออีกฝ่ายก็มีโอกาสจากไปก่อนเช่นกัน

“มีแค่เรื่องนี้แหละค่ะที่ฉันตอบตกลงไม่ได้ ไม่มีใครรู้นี่คะว่าตัวเองจะสิ้นอายุขัยเมื่อไหร่” 

เราน้ำตาคลอเบ้า หลังจากที่ได้อ่านบทสนทนาของทั้งคู่ เพราะเรารับรู้น้ำหนักของความกลัวของคุณตาได้ดี ประหนึ่งว่า

“ความตายของตัวเองนั้น น่ากลัวน้อยกว่าความตายของคนที่รักเสมอ”

มากไปกว่านั้น เรายังสัมผัสได้ถึงการไม่อยากรู้สึกโดดเดี่ยวและต้องพรากจากคนที่รัก เพราะคุณยายเป็นมากกว่าส่วนหนึ่งในครอบครัว เธอคือจิตวิญญาณครึ่งหนึ่งของคุณตา และความผูกพันทางวิญญาณนั้น คงเป็นไปได้ยากที่จะทำให้มันหายไป ถ้าให้เราเป็นคนจากไปก่อน คงไม่ทรมานเท่าการมีชีวิตอยู่แบบที่ไม่มีอีกฝ่ายแล้ว

แต่ในมุมกลับกัน พ่อแม่เราก็อาจจะกังวลกับความตายของตัวเองมากกว่า เพราะพวกท่านมักจะพูดกับเราเสมอว่า “พ่อยังอยู่ดี ไม่ตายง่าย ๆ หรอก” “แม่อยากอยู่นาน ๆ ได้เห็นหนูมีชีวิตที่ดี” และท่านทั้งสองก็คอยอวยพรให้เราตลอด ก็คงจะเป็นเหมือนคุณ ฮาระ ยูโงะ เชฟมือทองที่ชีวิตกำลังไปได้ดี ร้านอาหารที่เปิดก็มีทุนมากพอที่จะขยายสาขาได้ถึง 5 สาขาที่วางแผนไว้ แต่เขากลับต้องคอยภาวนาให้ตัวเองมีชีวิตอยู่ต่อและต่อสู้กับมะเร็งลำไส้ให้ถึงที่สุด จนกว่าจะได้เห็นหน้าลูกของตัวเองที่ตอนนี้ยังอยู่ในท้อง ฮาระ ซาโอริ ภรรยาสุดที่รัก

ถึงลูกของพ่อ

ขอบใจนะที่เกิดมา ดีใจจริง ๆ ที่ลูกมาเกิดเป็นลูกของพ่อกับแม่ซาโอริ ลูกคงจะร้องไห้งอแงจนแม่เหนื่อยสิท่า ถ้าพ่อคอยกล่อมลูกแทนแม่ตอนนั้นได้ก็คงจะดี

เมื่อไรนะที่ลูกจะได้มาอ่านข้อความนี้ อย่างน้อยก็ไม่ใช่ตอนแรกเกิดแน่ ให้แม่ซาโอริอ่านให้ฟังจนกว่าลูกจะอ่านได้เองแล้วกันนะ

ลูกเป็นที่รักนะ พ่ออยากบอกให้รู้ พ่อรักลูก แม่ซาโอริก็ด้วย คุณปู่คุณย่าก็รักลูกเหมือนกัน

ถึงลูกจะไม่มีพ่อเหมือนที่คนอื่นมี แต่ความรักที่ลูกได้รับไม่ได้น้อยกว่าใครเลย ไม่สิ พ่อรักลูกมากกว่าคนอื่นร้อยเท่า ดังนั้นลูกได้รับความรักมากกว่าคนอื่นร้อยเท่าเชียวนะ พ่ออยากให้ลูกยืดอกแล้วใช้ชีวิตอย่างภูมิใจ ถึงจะมองไม่เห็น แต่พ่ออยู่ข้าง ๆ เสมอ ลูกไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว ดังนั้นอย่าเหงาเลยนะ

จดหมายถึงลูก บทที่ 4 : ฮาระ ยูโงะ อายุ 33 ปี หน้าที่ 227-228

จดหมายของคุณยูโงะที่ถูกเขียนขึ้นบนบันทึกมัมปูขณะอยู่บนเตียงผู้ป่วยหลังการผ่าตัด ทำเอาน้ำตาที่คลอเบ้าจากเรื่องราวในบทก่อนหน้า ล้นทะลักออกมาไม่หยุดหย่อน ข้อความจากบุคคลในครอบครัวที่รักยิ่งที่ถูกเตรียมไว้เพื่อให้คนที่อยู่ต่อ โดยเฉพาะข้อความที่เปี่ยมไปด้วยความรักจากพ่อแม่ที่ส่งต่อถึงลูก ทำลายกำแพงอัตตาของเราที่มีต่อโลกใบนี้ได้อย่างสมบูรณ์

มากกว่าการกลัวความตายที่จะมาถึง ก็คือการกลัวที่จะไม่ได้เจอใบหน้าลูก ถึงอย่างนั้นจดหมายก็ยังคงเขียนต่อไปอีกหลายฉบับ เพื่อมอบให้ในวันเกิดของลูกในทุก ๆ ปีให้ได้มากที่สุด

นี่อาจจะเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ว่าความรักอันบริสุทธิ์ของพ่อแม่นั้น สามารถส่งผ่านไปถึงลูกได้ ซึ่งแม้แต่ความตายก็ไม่สามารถมาขวางกั้น หรือทำให้ความรักที่ยิ่งใหญ่นี้จางลงไป

และเราเชื่อว่าลูกของคุณยูโงะคงสัมผัสถึงความรักและการยินดีจากพ่อกับการมีอยู่ของเขาได้อย่างสมบูรณ์

เรื่องราวของคุณยูโงะ สะท้อนให้เห็นว่า บทบาทในชีวิตก็มีผลต่อแง่มุมของความตายที่ต่างออกไป ในตอนนี้เราอาจจะรู้สึกพร้อมกับความตาย เพราะไม่มีอะไรที่ให้กังวลทีหลัง นอกเสียจากพ่อกับแม่ แต่เพราะรู้ว่าพ่อกับแม่ท่านอายุเยอะมากพอ พวกท่านคงเก๋าประสบการณ์และโลกใบนี้ก็เอาท่านทั้งสองไม่ลง ก็เลยไม่ได้กังวลขนาดนั้น แต่ถ้าหากวันหนึ่ง เราได้มีครอบครัว ก็อาจจะกลัวความตายของตัวเอง กลัวการพรากจาก และทุ่มเทมอบความรักให้ใครสักคนในฐานะครอบครัวอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เช่นเดียวกับคุณยูโงะก็ได้

แต่ไม่ว่าจะเป็นบันทึกของใครในบริษัทมัมปูไค หรือเรื่องราวบทไหนในหนังสือเล่มนี้ ก็ล้วนแต่สะท้อนให้เห็นว่าความตายนั้นเป็นเรื่องใกล้ตัว และยืนยันได้ว่าอาจใกล้พอ ๆ กับการมีชีวิตอยู่ เพราะคนเป็นยังต้องดำเนินชีวิตต่อไปกับจิตใจที่แตกสลายไม่มากก็น้อย ในขณะที่การเดินทางของคนตายได้จบลงแล้วตลอดกาล

เพราะความตายคือเรื่องของคนเป็น ไม่ใช่ของคนตาย

นอกจากการแตกสลายจากการสูญเสีย ความโศกเศร้า ความหดหู่และอีกสารพัดอย่างที่คนเป็นต้องเผชิญความตายแล้วนั้น การจัดการความตายก็เป็น 1 ในเรื่องที่ยากลำบากที่สุดของคนเป็นเช่นกัน ไม่ว่าจะจัดการความตายในส่วนของตัวเองหรือผู้อื่น ก็ล้วนต้องใช้ต้นทุนกันทั้งสิ้น และยิ่งยากเข้าไปใหญ่ เมื่อไม่ได้วางแผนไว้ตั้งแต่แรก

ความยากลำบากเหล่านี้อาจพิสูจน์ได้จากงานศพของคนใกล้ตัว เราคงเห็นภาพหลายครอบครัวต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อเอาเงินก้อนมาจัดงานศพไม่มากก็น้อย หรือถ้าชัดเจนและเจ็บปวดกว่านั้นก็คงจะเป็นศพไร้ญาติที่ไม่มีแม้แต่ต้นทุนทางบุคลากร แม้ว่าจะมีบริการจากธุรกิจหลังความตายที่เรามักจะบริจาคทุกครั้งที่เงินเดือนออกแล้วก็ตาม ก็ไม่อาจช่วยส่งให้ทุกชีวิตมีจุดจบที่สวยงาม และช่วยเหลือคนเป็นได้ทุกราย

บทความนี้ถือได้ว่าเป็นการย้ำในเจตนารมณ์ของความตายสำหรับตัวเราเอง และการส่งสารให้กับผู้อ่านในแง่ที่ว่า ความตายนั้นอาจน่ากลัวแต่ไม่น่าเกรงใจ ไม่ต้องไปเกรงใจความตายเพียงเพราะว่ามันเป็นเรื่องของอนาคตที่ยังมาไม่ถึง เราสามารถมองความตายให้เป็นเรื่องปกติได้อย่างบริสุทธิ์ใจจริง เพื่อที่จะได้วางแผนชีวิตและกำหนดเป้าหมายสุดท้ายที่ทุกคนล้วนต้องพบเจอได้อย่างธรรมชาติ

ตราบใดที่เราให้คุณค่ากับการเกิดและการมีชีวิตอยู่ เราก็สามารถให้คุณค่ากับความตายได้เช่นกัน

วลีที่ว่า ‘คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกการกระทำได้’ ก็อาจจะเพิ่ม ‘แล้วก็เลือกความตายได้อีกนะ’ เข้ามาอีกได้ อาจไม่ต้องเลือกไปถึงการการุณยฆาตที่ต้องแลกด้วยการทำงานทั้งชีวิต เพราะสำหรับบางคนก็อาจทำให้การใช้ชีวิตยากและหดหู่ไปกับการเก็บเงินหลักล้านไปเลย แต่อาจเริ่มต้นจากการค่อย ๆ ทบทวนชีวิตเพื่อตามหาความต้องการที่ยังซ่อนไว้ในส่วนลึก ทบทวนเป้าหมายและความฝันที่ยังพอทำให้ประสบความสำเร็จได้ในชีวิตที่เหลือ การเก็บเงินเพื่อจัดการกับความตายของตัวเองให้กับคนที่ยังอยู่ เช่น ค่าจัดงานศพ ค่าพื้นที่สำหรับหลุมฝังศพ การเขียนพินัยกรรมหรือการปรึกษากับนิติกรสำหรับคนที่มีพร้อม ให้ทุกขั้นตอนเป็นเหมือนความตายที่เราเลือกเอง

เพราะการนึกถึงความตาย ทำให้การใช้ชีวิตชัดเจน

หลังจากที่ได้เริ่มวางแผนการตายเล่น ๆ สู่การอ่านหนังสือ ‘ที่บริษัทแห่งนี้มีตอนจบอย่างที่คุณต้องการ’ จนถึงวินาทีนี้ที่กำลังเริ่มวางแผนการตายอย่างจริงจัง กระบวนการทั้งหมดที่ว่ามากลับทำให้เราเห็นชีวิตที่ชัดเจนมากขึ้น และเหมือนจะอุ่นใจขึ้นในส่วนลึก เพราะเดี๋ยวเราก็จะได้เลือกความตายที่ต้องการโดยไม่มีใครมาเดือดร้อนด้วยแล้ว 

จากเยาวชนที่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกับชีวิต ก็เริ่มกลายมาเป็นผู้ใหญ่ที่วางแผนการเงินและการงานมากขึ้น เริ่มประเมินต้นทุนสุขภาพและความเสี่ยง หรือแม้แต่มูลค่าของสิ่งของที่มีอยู่ ณ ตอนนี้ ซึ่งเผื่อวันนั้นมาถึงก็อาจจะเลือกใครสักคนหรือหลาย ๆ คนขึ้นมาเป็นเจ้าของในอนาคต

ถ้ามีเงินหนาหน่อย ก็คงจะซื้อพื้นที่และเลือกที่จะฝังศพตามความเชื่อของการเป็นคริสต์ศาสนิกชน (ที่ไม่ค่อยเคร่ง) หรืออย่างน้อยที่สุด ถ้ามีต้นทุนเพียงพอแค่การเผา ก็ขอให้ได้เผาวัดที่จัดงานวัดได้กินใจที่สุด ผู้คนที่มาร่วมงานต้องได้กินดีอยู่ดีในงานศพเรา โลงศพช่วงทำพิธีตามความเชื่อพ่อแม่ก็ต้องเป็นโลงเย็นเท่านั้น เพราะเพียงแค่การจากไปของเราก็คงหดหู่ไม่ใช่น้อย ดังนั้น อย่าให้หดหู่เพิ่มจนเห็นหน้าเราที่สดชื่นไม่ได้ นี่คงเป็นสิ่งที่คิดได้คร่าว ๆ ในตอนนี้ และอาจจะคิดเผื่อและพูดคุยกับพ่อแม่ในอนาคตด้วย

เพื่อที่เราจะมีสติในการใช้ชีวิตมากขึ้น

เพื่อให้รู้ว่าทุกก้าวของชีวิตเรานั้นมีคุณค่าและสำคัญ

เพื่อให้เราโล่งใจได้ว่าการต่อสู้กับความยากลำบากในชีวิตนั้นไม่สูญเปล่า

เพราะเรามีรางวัลเป็น ‘ความตายที่เลือกได้’ รออยู่

Playread : ที่บริษัทแห่งนี้มีตอนจบอย่างที่คุณต้องการ
ผู้เขียน : คัตสึระ โนโซมิ ผู้แปล : พิมพ์พชร คุณโสภา
สำนักพิมพ์ : Piccolo

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี