เด็กใต้สมองไหลไปมาเลเซีย ความรู้ที่ไม่ผูกขาดด้วยภาษาชาติ - Decode
Reading Time: 2 minutes

การศึกษาไทยถูกผลักดันให้หลักสูตรเป็นสากลมานานหลายปี แต่หลักสูตรไทยกลับมีเพียงแค่ภาษาไทยเพียงอย่างเดียว ทำให้สุดท้ายการเข้าถึงภาษาและความรู้ที่เป็นสากลจากโรงเรียนก็เป็นเพียงแค่ภาพฝัน ยิ่งไปกว่านั้นในบางพื้นที่ชุมชนก็ยังพบปัญหามั่วสุมใช้สารเสพติดในหมู่วัยรุ่น ทำให้ผู้ปกครองที่มีฐานะทางการเงินระดับหนึ่ง จึงเลือกที่จะส่งลูกหลานไปเรียนต่อที่ประเทศมาเลเซีย ด้วยเหตุผลหลักคือ มีการเรียนควบคู่ระหว่างภาษาอังกฤษกับภาษามลายู และค่าเทอมที่ถูกกว่าประเทศอื่น ๆ อีกทั้งยังมีการมอบทุนการศึกษาให้กับนักศึกษาต่างชาติด้วย ทำให้หลายคนตัดสินใจไปเรียนมาเลเซีย เพื่อโอกาสทางภาษาและหลักสูตรที่เป็นสากลกว่าของไทย

De/code พูดคุยกับ อัฟนาน เล็มโดย อดีตนักเรียนประถมศึกษาจากจังหวัดสตูล ที่มีโอกาสไปเรียนระดับมัธยมศึกษาที่ประเทศมาเลเซีย ด้วยทุนรัฐบาลมาเลเซีย ถึงแม้จะได้ทุนหรือไม่ก็ตาม อัฟนานก็จะไปเรียนที่มาเลเซียอยู่ดี โดยยอมรับว่า ปัญหายาเสพติดและการมั่วสุมในชุมชนและการเข้าถึงหลักสูตรบางส่วนที่ถูกข้ามเพราะไม่มีงบประมาณในการสอน กิจกรรมในบริเวณโรงเรียนที่มีอยู่อย่างจำกัด การเข้าถึงภาษาและความรู้ที่เป็นสากล เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้เขาตัดสินใจไปเรียนที่ประเทศมาเลเซีย เพื่อหาโอกาสใหม่ทางการศึกษาที่ดีกว่า

โอกาสที่ดีกว่า วิทยาศาสตร์ที่มากกว่าคำบอกเล่า

ค่าเทอมในประเทศมาเลเซียแม้จะมีราคาสูงกว่าและค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิตที่สูงกว่าไทยอยู่พอประมาณ แต่เมื่อเทียบกับคุณภาพการศึกษา ก็สามารถเข้าถึงหลักสูตรที่ความเป็นสากล และก็อาจคุ้มกว่าการที่จะส่งไปในโรงเรียนนานาชาติในไทย ทำให้ผู้ปกครองที่อยู่ในบริเวณชายแดนภาคใต้ ก็มักจะส่งลูกไปเรียนที่ประเทศมาเลเซีย ด้วยเหตุผลด้านสภาพแวดล้อมและการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ

อัฟนานเขาได้รับทุนรัฐบาลของมาเลเซียเพื่อไปศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาที่ประเทศมาเลเซีย แต่เขาก็ต้องห่างเพื่อน และครอบครัว แต่เขาก็มองว่าสิ่งเหล่านี้คุ้มค่ากับการได้รับโอกาสทางการศึกษาที่ดีกว่า เนื่องจากตอนที่เขาเรียนอยู่ที่ไทยในระดับประถมศึกษาเป็นโรงเรียนแบบไปกลับ ทำให้เพิ่มโอกาสที่จะออกไปมั่วสุมจนเป็นเหตุของปัญหาการใช้สารเสพติดในกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งในบริเวณที่เขาอยู่ ก็มีทั้งน้ำกระท่อมหรือยาเสพติดอื่น ๆ ที่อยู่รอบบริเวณชุมชน ทำให้พ่อแม่หลายคนรวมถึงพ่อแม่ของอัฟนานที่ส่งไปเรียนที่ต่างประเทศ หรือในบางครอบครัวที่อาจไม่ได้มีฐานะในขนาดนั้น ก็อาจส่งไปต่างเมืองแทนหรือโรงเรียนศาสนาบริเวณชายแดน เพื่อให้หลีกหนีออกจากสังคมที่มีปัญหาด้านยาเสพติดหรือการมั่วสุมในกลุ่มวัยรุ่น

ในเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกในโรงเรียนประถมของอัฟนาน ก็มีเพียงแค่สนามหญ้าไว้สำหรับเล่นกีฬาเพียงไม่กี่ชนิด แต่หลังจากที่เขาได้ไปเรียนที่มาเลเซียมีทั้งสนามฟุตซอล สนามบาส สนามแบดมินตัน หรือการได้รู้จักกีฬาที่หลากหลายขึ้น เช่น แฮนด์บอล และมีชมรมที่มีความหลากหลายกว่า เช่น ชมรมผู้ใช้ถนน ชมรมผู้บริโภค เป็นต้น แม้ว่าความรู้เหล่านั้นอาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่เรียนมากนัก แต่ก็เป็นทักษะพื้นฐานในการใช้ชีวิตประจำวัน ที่จำเป็นในอนาคต

นอกจากนี้ หลักสูตรบางอย่างเราก็มักจะถูกข้ามไป เช่น การทดลองวิทยาศาสตร์ ด้วยส่วนใหญ่ก็มาจากสาเหตุงบประมาณไม่พอ ทำให้ไม่มีอุปกรณ์สำหรับการทดลองตามหลักสูตร และก็มักจะทำได้เพียงแค่ทำตอบแบบฝึกหัดหลังการทดลองแบบจำลองจากคำบอกเล่าจากอาจารย์ หรือจินตนาการเอาเอง แต่หลังจากที่เขาไปเรียนที่มาเลเซีย ทำให้เขารู้จักการทดลองวิทยาศาสตร์มากขึ้น เพราะทุกการทดลองในหลักสูตรวิทยาศาสตร์จากส่วนกลาง แม้ว่าทุกที่อุปกรณ์อาจจะไม่ได้มีจำนวนหรือคุณภาพที่เท่ากัน แต่ก็มีความเพียงพอที่จะทำการทดลองวิทยาศาสตร์ที่มาจากหลักสูตรส่วนกลางได้

‘ภาษา’ ใบผ่านทางสู่พลเมืองโลก

อีกเหตุผลที่อัฟนานตัดสินใจไปเรียนที่มาเลเซีย คือ คุณภาพด้านภาษา เมื่อเขาไปเรียนที่มาเลเซียก็ทำให้สามารถสื่อความถึงภาษาที่ไม่ใช่เพียงเชิงวิชาการ แต่รวมถึงเรื่องการสื่อสารด้วย เพราะเขาได้เห็นเพื่อนในโรงเรียนตอนมัธยมที่มาเลเซียก็ใช้ภาษาอังกฤษเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ทั้งการสื่อสาร การเขียนเรียงความ การนำเสนอหน้าห้องเรียน

โดยเหตุผลที่ภาษาอังกฤษเป็นเรื่องปกติของนักเรียนมาเลเซีย เพราะโรงเรียนในมาเลเซียมีการสอนเป็นภาษาอังกฤษในวิชาทางวิทย์คณิต เช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เป็นต้น จะสอนด้วยภาษาอังกฤษ เพื่อทำให้เข้าถึงความรู้ที่เป็นสากลและเพิ่มโอกาสในการเป็นพลเมืองโลก อย่างประเทศอินเดียที่คนส่วนใหญ่สามารถพูดอังกฤษได้ ทำให้โอกาสในการเข้าถึงความรู้ที่เป็นสากลหรือโอกาสในการทำงานในระดับโลกก็เพิ่มขึ้นมาด้วย นอกจากนี้เวลาไปเรียนต่อต่างประเทศหรือหาข้อมูลจากต่างประเทศ ก็ไม่ต้องไปเรียนปรับพื้นฐานด้านภาษาอีกที

และสอนวิชาทางศิลป์ เช่น ศิลปะ สังคมศาสตร์ ด้วยภาษามลายู เพื่อให้นักเรียนได้มีความเข้าใจในวัฒนธรรมอย่างลึกซึ้งและสามารถเรียนเชิงวิพากษ์ได้โดยไม่มีกำแพงของภาษามาปิดกั้น และยังเป็นการอนุรักษ์ภาษาท้องถิ่นอีกด้วย 

โดยจากรายงานของ Seasia จากข้อมูลของ EF English Proficiency Index ในเรื่องทักษะการใช้ภาษาอังกฤษของมาเลเซียอยู่ที่อันดับ 25 ต่างจากไทยอยู่ที่อันดับ 101 แสดงให้เห็นว่า หลักสูตรการเรียนควบคู่สองภาษาพัฒนาทักษะการใช้ภาษาอังกฤษได้มากเพียงใด ซึ่งต่างจากไทยที่ในโรงเรียนรัฐบาลหลายที่ก็มักจะสอนด้วยภาษาไทยเท่านั้น และหากต้องการเรียนในห้องเรียนพิเศษที่เน้นภาษาอังกฤษ แต่ก็ต้องจ่ายค่าเทอมเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว หรือมากกว่า 30,000 บาทไปจนถึงหลักแสนเลยทีเดียว ทำให้ภาษาที่ถือเป็นใบผ่านทางสู่การเป็นพลเมืองโลก ที่จะได้รับความรู้หรือโอกาสใหม่ ๆ ก็ถูกจำกัดแค่คนที่มีเงินเพียงเท่านั้น

หลายตัวชี้วัด หลายมาตรฐาน

“ประเทศมาเลเซียจะมีการสอบระดับชาติในระดับประถมศึกษา (Ujian Pencapain Sekolah Rendah:UPSR) และในระดับมัธยมศึกษาจะมีการสอบระดับชาติในสายวิชาการและเทคนิคจะต้องผ่านข้อสอบของรัฐ และนักเรียนที่เลือกเรียนสายวิชาการและเทคนิคเมื่อจบแล้วจะต้องสอบผ่านข้อสอบของรัฐ (Sijit Pelajaran Malaysia: SPM) การสอบทั้งสองจะสามารถนำไปยื่น เพื่อศึกษาต่อโรงเรียนชื่อดังในระดับชั้นที่สูงขึ้น ซึ่งต่างจากการสอบเข้าโรงเรียนของไทย ที่มีมาตรฐานการทดสอบแตกต่างกันแล้วแต่โรงเรียน ทำให้คุณภาพการศึกษาของแต่ละที่ก็แตกต่างกันด้วย”

ข้อดี จากการมีข้อสอบระดับชาติดังกล่าว ทำให้มีตัวชี้วัดสำหรับผลลัพธ์ทางการศึกษาที่มีมาตรฐานเหมือนกันทุกโรงเรียน และยังเป็นการอุดช่องโหว่ของการเรียกรับเงินแป๊ะเจี๊ยะ ในทางกลับกันการสอบระดับชาติดังกล่าวของมาเลเซีย ก็อาจเป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่มากขึ้นด้วย เนื่องจากนักเรียนที่สอบได้ไม่ดี ก็อาจถูกจัดไปที่โรงเรียนระดับล่าง ทำให้คุณภาพการศึกษาในแต่ละที่ก็ยิ่งทิ้งห่างกัน ซึ่งก็เป็นโจทย์ที่ไทยอาจต้องนำข้อดีของการมีตัวชี้วัดเดียวหรือการสอบที่เป็นมาตรฐานอันเดียว เพื่อคัดเลือกเข้าศึกษาตามแต่ละโรงเรียน ควบคู่กับการพัฒนาการศึกษาแต่ละภูมิภาคให้พัฒนาใกล้เคียงกัน เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ

นอกจากนี้เมื่อนักเรียนไทยหลายคนเลิกเรียน ส่วนใหญ่ก็มักจะไปเรียนต่อในที่เรียนพิเศษ เพื่อทำความเข้าใจเนื้อหาในห้องเรียน แต่ทำไมการศึกษาถึงไม่ทำให้เขาเข้าใจเนื้อหาตั้งแต่ในคาบเรียน โดยอัฟนานได้เล่าถึงประสบการณ์ในตอนที่ตัวเองเรียนที่มาเลเซีย โดยหลังเลิกเรียนจะมีการนัดติวพิเศษจากอาจารย์ในโรงเรียน โดยจะคัดเด็กที่ผลการเรียนไม่ผ่านเกณฑ์ ทำให้มีจำนวนนักเรียนที่น้อยลง และอาจารย์สามารถโฟกัสการสอนนักเรียนแต่ละคนได้ดีขึ้น และทั้งหมดนี้ก็ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ต่างจากไทยที่หากไปเรียนพิเศษตามสถาบันกวดวิชาก็ต้องจ่ายเอง

“ถ้าไม่ได้ไปเรียนที่มาเลเซียก็คงไปเรียนที่โรงเรียนต่างเมือง แล้วก็ต่อมหาวิทยาลัยในคณะวิทยาศาสตร์สุขภาพหรือด้านคอมพิวเตอร์ แต่พอเราได้ไปเรียนที่มาเลเซีย ทำให้เราได้เข้าใจภาษาวัฒนธรรมที่หลากหลาย ทำให้มุมมองหลายอย่างก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย อย่างการคิดแบบ Global Citizens ที่มองถึงปัญหาต่าง ๆ ของสังคมโลกในวงกว้าง เช่น ปัญหาภาวะโลกร้อน ปัญหาความยากจนในประเทศอื่น ๆ ซึ่งก็มีส่วนทำให้เปลี่ยนจากจะไปเรียนสายวิทย์ ก็มาเรียนรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศแทน” อัฟนาน กล่าวทิ้งท้าย