ชั่งกิโลอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ ราคาที่โลกต้องจ่ายจากจานข้าวถึงชั้นบรรยากาศ - Decode
Reading Time: 3 minutes

หลังจาก ”ความตกลงปารีส” ในเวที COP21 เมื่อปี 2015 สำเร็จ ‘โลก’ กำลังพยายามไม่ให้อุณหภูมิสูงเกินกว่าที่เป็นอยู่ 1.5 องศา แต่ในความเป็นจริง อนาคตอันใกล้โลกกำลังเสี่ยงจะร้อนสูงกว่าเดิม 2 องศา และตัวการที่ยังไม่ถูกพูดถึงคือตลอดซัพพลายเชนของระบบอาหารและระบบผลิตโปรตีน เมื่อ 1 ใน 3 ก๊าซเรือนกระจกมาจากระบบอาหาร และ 2 ใน 3 ของระบบอาหารคืออุตสาหกรรมเนื้อสัตว์

แม้จะเป็นเรื่องน่ายินดีที่ในการประชุม COP28 มีการพูดถึงปัญหาโลกร้อนอันเกิดจากการเกษตรและระบบอาหารเป็นครั้งแรก แต่อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ทั่วโลกยังขยายตัวสูงขึ้น ในขณะเดียวกันการเข้าถึงโปรตีนทดแทนก็ยังทำได้ยาก

แล้วโลกที่กำลังแปรปรวนขึ้นทุกวัน ภาครัฐ เอกชน ชุมชน สามารถพาโลกให้เย็นลงผ่านแนวทางใดได้บ้าง?

มองโลกร้อนผ่านจานข้าวกับ จักรชัย โฉมทองดี ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Madre Brava ผู้เชื่อว่าแม้การบริโภคเนื้อสัตว์จะเป็นสาเหตุของโลกร้อน แต่ไม่ใช่เรื่องจำเป็นที่เราทุกคนจำเป็นจะต้องเลิกทานเนื้อสัตว์ เมื่อตัวการโลกร้อนที่แท้จริงคืออุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ขนาดใหญ่ ที่อัตราเนื้อสัตว์แลกเป็นโปรตีนนั้นไม่คุ้มค่ากับทรัพยากรที่เสียไป

ซัพพลายเชนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ ตัวการโลกร้อนที่ไม่ถูกพูดถึง

“ตัวการทำโลกร้อนที่หลายคนเข้าใจยังคงเป็นอุตสาหกรรมที่ผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมาก และในปัจจุบันก็เขยิบการเรียกร้องสู่การเลิกใช้พลังงานฟอซซิล แต่อีกสาเหตุหนึ่งที่หลายคนยังไม่ตระหนักคือระบบอาหาร – ระบบผลิตโปรตีนทั่วโลก ตลอดซัพพลายเชนนี้คือการใช้ทรัพยากรจำนวนมากที่ให้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่า” จักรชัย กล่าว

ปัจจุบัน อุตสาหกรรมบริโภคเนื้อสัตว์กำลังใช้พื้นที่ไปมากกว่า 80% ของทั้งโลก เปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น พื้นที่สำหรับอุตสาหกรรมบริโภคเนื้อสัตว์นั้นเทียบเท่ากับประเทศอินเดีย 2 ประเทศ หรือเท่ากับประเทศไทย 12 ประเทศต่อกัน

ในพื้นที่จำนวนมหาศาลนี้ ยังตามมาด้วยปริมาณของการใช้ทรัพยากรจำนวนมาก ทั้งน้ำ พืชสำหรับการเลี้ยงสัตว์ มลภาวะทางอากาศที่ตามมาจากความต้องการอาหารสัตว์ที่มาก สารเคมีสำหรับเร่งเนื้อและอาหารสัตว์

แม้จะใช้ทรัพยากรจำนวนมากเพียงใด แต่ผลลัพธ์ของอุตสาหกรรมบริโภคเนื้อสัตว์นั้นกลับให้ค่าตอบแทนเพียงครึ่งเดียวหรือต่ำกว่า จักรชัยกล่าวว่า เมื่อเทียบ ‘อัตราการแลกโปรตีน’ ของเนื้อสัตว์นั้นจะเห็นได้ชัดเลยว่าเรากำลังเสียทรัพยากรโดยใช่เหตุไปหลายสิบเท่า

อัตราการแลกโปรตีน คือการคิดคำนวณอัตราส่วนของหน่วยการใช้อาหารแลกกับเนื้อสัตว์หรือโปรตีนมา ซึ่งจักรชัยกล่าวว่า หากเทียบหน่วยต่อหน่วยแล้ว อุตสาหกรรมกำลังทิ้งโปรตีนจากพืชไปอย่างมหาศาล

ในขณะที่อัตราการแลกโปรตีนของไก่อยู่ที่ 4 : 1 หน่วย หรือเท่ากับเราใช้ถั่ว ข้าวโพด หรืออาหารสัตว์ชนิดไหนก็ตามในการเลี้ยงไก่เพื่อเนื้อเราจะสูญเสียทรัพยากรไปถึง 80% เพื่อผลผลิตเพียง 20% 

ทวีหนักขึ้นเมื่ออัตราการแลกโปรตีนของหมูอยู่ที่ 10 : 1 และเนื้อวัวอยู่ที่ 33 : 1

“ซึ่งส่วนที่เหลือจากการแลกโปรตีนมาต้องเสียเปล่า ทั้ง ๆ ที่ส่วนเหล่านั้นอาจเป็นโปรตีนจากพืชให้กับคนได้ นี่คือคำตอบว่าทำไมอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ต้องเปลี่ยนแปลง”

เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทย ในอุตสาหกรรมไก่เนื้อซึ่งมีปริมานการผลิตและบริโภคเยอะที่สุด ปี 2566 มีไก่เนื้อจำนวน 1,836.20 ล้านตัว โดยใช้อาหารเลี้ยงเป็นปริมาณ 7.70 ล้านตัน

โดยอาหารเลี้ยงสัตว์ในรูปแบบของอุตสาหกรรมนั้นส่วนมากจะประกอบไปด้วย ปลาป่น กากถั่ว รำสด ปลายข้าว มันเส้น ซึ่งส่วนมากนั้นเป็นโปรตีนที่มาจากพืชที่นำมาเป็นอาหารสัตว์

โดยไก่เนื้อจำเป็นที่จะต้องใช้อาหารจำนวน 3.3 กก. เพื่อที่จะได้น้ำหนักตัว 1 กก. 

และในอาหารที่ใช้เลี้ยงสัตว์ 1 กก. มีค่าโปรตีนเฉลี่ย 590 โปรตีนแคลอรี่ แต่ในเนื้อสัตว์ 1 กก.นั้นกลับให้โปรตีนเพียง 137 โปรตีนแคลอรี่ ซึ่งจะสอดคล้องกับข้างต้นคือเราเสียโปรตีนจากพืชเพื่อจะได้โปรตีนจากเนื้อไก่ไปถึง 4 ต่อ 1

อัตราการแลกโปรตีนนี้ยังต้องมองสิ่งที่เราต้องแลกทั้งตลอดซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมบริโภคเนื้อสัตว์ สิ่งที่เราเสียไปในอัตราส่วน 4 ต่อ 1 ยังมีพื้นที่ของการเพาะปลูกอาหารเลี้ยงสัตว์ พื้นที่ในการทำปศุสัตว์ เป็นต้น และตามมาซึ่งการเผาพื้นที่เกษตรกรรมเพื่อเร่งการผลิตอาหารสัตว์เพื่อตอบสนองการบริโภคเกินขนาดของมนุษย์ที่เติบโตขึ้นทุกปี ไปจนถึงปริมาณอาหารเหลือทิ้งเพื่อความสดใหม่ในระบบบริโภคนิยม

กลับกัน ถ้าเราสามารถรับโปรตีนจากพืชได้โดยตรง เราไม่จำเป็นที่จะต้องสูญเสียโปรตีนที่ใช้เลี้ยงไก่ไปถึง 5.775 ล้านตัน หรือ 3 ใน 4 ของปริมาณการใช้อาหารเลี้ยงไก่เนื้อปี 2566 ซึ่งรวมถึงน้ำ ที่ดินทั้งในส่วนของการเลี้ยง เพาะปลูก ไปจนถึงการขนส่ง และปริมาณมลภาวะที่เกิดขึ้นอย่างฝุ่น ก๊าซเรือนกระจก อาหารเหลือทิ้ง ก็อาจลดลงไปด้วยเช่นกัน

นี่คือส่วนหนึ่งเมื่อเราพูดถึงเมื่อการกินเนื้อสัตว์ในระบบอุตสาหกรรม ที่อัตราการแลกเหล่านี้อาจทำให้เราไม่เหลืออะไรเลย

จักรชัยเน้นย้ำว่า ไม่ได้มีความจำเป็นที่คนทั้งโลกจะต้องเลิกกินเนื้อสัตว์ไปทั้งหมด แต่จำเป็นต้องลดการบริโภคลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเมื่อพิจารณาจากสัดส่วนแล้วการลดในส่วนของเนื้อสัตว์ในรูปแบบของอุตสาหกรรมก็เพียงพอแล้วโดยไม่มีความจำเป็นต้องไปแตะการผลิตของรายย่อย 

ในเมื่อระบบอาหารและระบบผลิตโปรตีนคือตัวการใหญ่ของภาวะโลกร้อนพึ่งถูกพูดถึงอย่างจริงจัง อะไรคือสาเหตุที่ทำให้โลกถึงทำเป็นมองไม่เห็นมันมาโดยตลอด รวมถึงทิศทางของการลดภาวะโลกร้อนที่อยู่จานข้าวของเรา ทั่วโลกมีการปรับตัวอย่างไรและประเทศไทยมีการผลักดันประเด็นนี้อย่างไรแล้วบ้าง

จากโลกถึงไทย ความท้าทายของโปรตีนจากพืช

แม้การลดใช้พลังงานฟอสซิลจะถูกผลักดันเป็นรูปธรรมมากขึ้น ทั้งในรูปแบบของแคมเปญ นโยบาย หรือผลิตภัณฑ์ อย่างอนุสัญญาว่าด้วยการสภาพภูมิอากาศต่าง ๆ หรือกระทั่งรถไฟฟ้า แต่ทว่า นั่นยังไม่เพียงพอโลกยังคงมุ่งสูงขึ้น 2 องศา หากเรายังไม่แตะอีกหนึ่งต้นตอของปัญหาจริง ๆ

อย่างที่ได้กล่าวไปในข้างต้น จากการประชุม COP28 ในปี 2566 ที่เต็มไปด้วยการแก้ไขเชิงนโยบายระหว่างประเทศ กองทุนผู้ได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว โดยเฉพาะปัญหาจากการใช้พลังงานฟอสซิลทั้งในวงพูดคุยและกลุ่มนักเคลื่อนไหวออกมาประท้วงก็ตาม แต่ในครั้งนี้ยังมีการพูดถึงการลดภาวะโลกร้อนอันเนื่องมาจากระบบอาหารและระบบผลิตโปรตีนอีกด้วย

“นับว่าเป็นอีกก้าวที่สำคัญ ยิ่งในการประชุมระดับนี้เป็นไปได้ว่าในอีก 2 ปีข้างหน้าซึ่งเวที COP จะจัดขึ้นที่ประเทศบราซิลนั้น มีความเป็นไปได้ที่การแก้ไขภาวะโลกร้อนจากระบบอาหารจะเข้าสู่การเป็นข้อตกลง และสร้างนโยบายเพื่อที่จะร่วมมือกันระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง” 

จักรชัยเล่าว่า แม้การผลักดันเชิงนโยบายของการลดภาวะโลกร้อนจากระบบอาหารจะพึ่งถูกพูดถึงอย่างจริงจังมากขึ้นในเวที COP28 แต่ในหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่นสหภาพยุโรป เริ่มมีการออกนโยบายเพื่อกระตุ้นให้เกษตร ผู้ประกอบการรายย่อย ไปจนถึงเอกชนรายใหญ่เข้ามาลงทุนด้านการเกษตรที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมถึงการผลิตโปรตีนทางเลือก

“ในวันนี้ไทยอาจจะยังเป็นผู้ส่งออกเนื้อสัตว์ไปทั่วโลก แต่ในวันข้างหน้าอาจไม่แน่นอน ด้วยเหตุที่ประเทศโลกที่ 1 หันไปบริโภคอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น บางประเทศเช่นเดนมาร์กมีแผนที่ชัดเจนเพื่อการเปลี่ยนผ่านจากเนื้อสัตว์ไปเป็นโปรตีนจากพืช และต้องไม่ลืมว่าเกษตรกรในบ้านเขาพวกเขามีอำนาจต่อรองกับรัฐสูงมาก หากต้องต้องปรับเปลี่ยนย่อมหมายถึงสินค้าที่นำเข้าก็ต้องปรับในทิศทางเดียวกัน” จักรชัย กล่าว

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในประเทศไทยเอง อุตสาหกรรมการบริโภคเนื้อสัตว์ยังเป็นสิ่งที่คนมองข้ามว่าเป็นปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะปัญหาที่เราเจอกันทุกปีอย่างฤดูฝุ่น ข้อมูลจาก SDGs Move ทั้งฝุ่นในประเทศหรือฝุ่นข้ามพรมแดนเองที่เข้ามาในประเทศไทย การเผาเพื่อการเกษตรมีสัดส่วนถึง 26% ชี้ให้เห็นว่าต้นน้ำของอุตสาหกรรมบริโภคเนื้อสัตว์นั้นมีผลโดยตรงต่ออากาศของคนไทย

หรือปลายน้ำอย่างร้านอาหารบุฟเฟ่ต์ ทั้งร้านชาบู หม่าล่า ปิ้งย่าง หมูกระทะ ข้อมูลในปี 2565 ประเทศไทยมีอาหารเหลือจากร้านอาหารที่ใช้ปริมาณเนื้อสัตว์จำนวนมากสูงถึง 17 ล้านตัน ยิ่งชี้ชัดว่าอุตสาหกรรมการบริโภคเนื้อสัตว์ยังเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งในมหานครและต่างจังหวัดของประเทศไทยอย่างต่อเนื่องและยังไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน

อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมบริโภคเนื้อสัตว์เป็นเรื่องแก้ได้ยากและทำให้รัฐบาลทั่วโลกเลือกที่จะปิดตาข้างหนึ่ง จักรชัยมองว่า การเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เปรียบเทียบกับในยุค 50 – 60 ทั่วโลกก็เกิดการรณรงค์ให้เลิกบุหรี่ แต่การต่อสู้ครั้งนั้นไม่ได้เป็นเพียงการต่อสู้กับกลุ่มทุนเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นการสู้กับชุดความคิดของผู้คนจำนวนมาก และในโจทย์ครั้งนี้เองการเปลี่ยนแปลงการบริโภคเนื้อสัตว์ก็ไม่ต่างกัน และยังเจอการขยายตัวเกินขนาดของอุตสาหกรรมนี้ที่ทำให้ท้าทายกว่าครั้งเก่า

ดังนั้นแล้ว โปรตีนจากพืชจึงเป็นเทรนด์และทางเลือกใหม่ที่จะเข้ามาช่วยบรรเทาสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว และโอกาสใหม่ของผู้ประกอบการรายย่อยและเกษตรกรไทยในท้องถิ่น

“ไม่ใช่ว่าบ้านเราไม่สนับสนุนการผลิตโปรตีนจากพืช ทุกวันนี้มีหลายแบรนด์ที่ทำโปรตีนจากพืชในหลากหลายรูปแบบ ทั้ง Plant Based หรือพืชชนิดนั้นโดยตรง อาทิ ถั่ว เห็ด โดยเฉพาะหลายแบรนด์ที่นำพืชท้องถิ่นมาทำน่าสนใจมาก นี่คือการขับเคลื่อนด้านสุขภาวะและบรรเทาสภาพภูมิอากาศสุดขั้วได้พร้อม ๆ กัน”

จักรชัยเล่าถึง ไข่ผำ พืชท้องถิ่นริมตลิ่งภาคเหนือ/อีสาน ที่มีโภชนาการทางโปรตีนสูงถึง 40% ของน้ำหนัก ในขณะเดียวกัน 100 กรัมยังให้พลังงานเพียง 8 กิโลแคลอรี่ อีกทั้งไข่ผำจากบริเวณที่น้ำสะอาดมาก ๆ เท่านั้น การผลักดันให้ไข่ผำกลายเป็นโปรตีนจากพืช คืออีกจุดขายหนึ่งที่นอกจากผลักดันให้เกิดการรักษาโลกผ่านการลดเนื้อสัตว์ และยังก่อให้เกิดการรักษาสภาพแวดล้อมเพื่อผลิตไข่ผำอีกด้วย

หรือแบรนด์เห็ดมัดใจ จากหาดใหญ่ จ.สงขลา ที่นำเห็ดแครงมาแปรรูปทั้งไก่ทอด สะเต๊ะ เบอเกอร์ เป็นการยกระดับวัตถุดิบท้องถิ่นอีกทั้งยังทำให้รับประทานง่ายขึ้นผ่านเทคโนโลยีที่คนไทยพัฒนาขึ้น การจับจุด Local to Global ก็เป็นจุดแข็งที่สามารถพัฒนาให้ไทยกลายเป็น Hub ของโปรตีนจากพืชได้เช่นกัน

และความท้าทายบนข้อจำกัดของโปรตีนจากพืช ข้อค้นพบจากงานวิจัยล่าสุดโดย Madre Brava ที่จัดสำรวจแนวโน้ม และทิศทางการบริโภคอาหารของผู้บริโภคไทย จากผู้ตอบแบบสอบถาม 1,500 คน มีปัจจัยอยู่ 4 ข้อที่ยังเป็นอุปสรรคต่อผู้บริโภคชาวไทย ได้แก่

  1. การแปรรูป – 47% ของผู้ทำแบบสอบถาม ต้องการอาหารจากพืชโดยตรงมากกว่าการนำไปแปรรูปอีกที เนื่องจากชุดความคิดของการบริโภคของสดใหม่จะดีต่อสุขภาพมากกว่า
  2. ราคา – 47% ของผู้ทำแบบสอบถามมองว่าราคาของโปรตีนจากพืชในไทยยังคงมีราคาสูงเกินไป หากเทียบกับโปรตีนจากสัตว์
  3. การเข้าถึง – 31% ของผู้ทำแบบสอบถามให้ความเห็นว่าการเข้าถึงโปรตีนจากพืชยังเป็นข้อจำกัดหลักที่ไม่สามารถหาโปรตีนจากพืชได้ตามร้านทั่วไปหรือในมื้ออาหารหลัก
  4. รสชาติ – ยังคงมีกลิ่น รส สัมผัส ที่เฉพาะตัวเกินไป

ทว่า 67% ของผู้ทำแบบสอบถาม ตั้งใจจะปรับลดปริมาณเนื้อสัตว์ที่บริโภค ซึ่งตัวเลขดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าเทรนด์ของการบริโภคโปรตีนจากพืชมีคนให้ความสนใจมากกว่าครึ่ง ขาดแต่การส่งเสริมผลิตภัณฑ์อาหารประเภทนี้ให้เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น

จากครัวในเวที COP28 ที่ดูไบ ถึงกระทะร้านป้าศรีในย่านลาดพร้าว หากจะบอกว่าประเทศไทยเรายังขาดการสนับสนุนโปรตีนจากพืชจากภาครัฐก็ถูกเพียงครึ่งเดียว จักรชัยมองว่า การพัฒนาศักยภาพของโปรตีนจากพืชของไทยต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นนายทุน ผู้ประกอบการรายย่อย และผู้บริโภค คือผู้เล่นที่สามารถลงมาในสนามนี้เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินของเราเพื่อรักษาโลกได้

โอกาสของพืชท้องถิ่นที่หลากหลายและตลาดใหญ่ของผู้ประกอบการโปรตีนจากพืช

“มันไม่ใช่ว่าทุกคนต้องเลิกกินเนื้อสัตว์หรือเนื้อสัตว์เป็นสิ่งไม่ดี แต่มันต้องยอมรับกันตรง ๆ ว่าอุตสาหกรรมบริโภคเนื้อสัตว์มันส่งผลอย่างรุนแรงต่อโลกของเรา” จักรชัย กล่าวต่อ

“การผลักให้เป็นภาระของรัฐอย่างเดียวก็อาจจะไม่ถูกเสียทั้งหมด การเติบโตของตลาดโปรตีนจากพืชจำเป็นจะต้องเป็นบทบาทเอกชนขนาดใหญ่ด้วย รวมถึงผู้ประกอบการรายย่อยและเกษตรกรที่ควรได้รับการสนับสนุนให้สามารถแสดงศักยภาพได้ โดยรัฐเป็นผู้คอยกำกับดูแลให้การแข่งขันเพื่อให้เกิดความหลากหลายซึ่งจะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค”

ในมุมมองของจักรชัย แม้รัฐจะไม่ต้องซัพพอร์ตทั้งหมด แต่รัฐยังเป็นผู้เล่นสำคัญในกลไกนี้ โดยเฉพาะในเรื่องของภาษีที่จะทำให้ผู้ประกอบการเล็ก – ใหญ่ เห็นโอกาสของธุรกิจโปรตีนจากพืช

“เรื่องภาษีคือเรื่องสำคัญ ต้องมีแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจเขามองเห็นว่าการมาทำโปรตีนจากพืชมีโอกาสและแข่งขันกับโปรตีนจากสัตว์ได้ การไปห้ามเขาทันทีมันย่อมทำไม่ได้อยู่แล้ว แต่ทำอย่างไรให้เขาหันมาร่วมมือ ซึ่งภาษีสามารถเป็นแรงจูงใจที่ดี”

จักรชัย ยกตัวอย่างของการร่วมมือของรัฐบาลและบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ของประเทศสิงคโปร์อย่างบริษัท Temasek ที่เปิดให้ผู้ประกอบการรายย่อยมาทำวิจัย ทดลอง และผลิตได้ที่ศูนย์วิจัยขององค์กร ซึ่งมีการผลักดันจากทางภาครัฐให้เกิดผู้เล่นที่หลากหลายในตลาดนี้เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่หลากหลาย นั่นทำให้โอกาสในการเติบโตของตลาดนี้ก็ยังมีอีกมากเช่นกัน

“ในการทำ Branding สักอย่างมันต้องมีช่วง R&D อยู่แล้ว และแน่นอนพวกวิทยาการ เทคโนโลยี เจ้าเล็ก ๆ เขาไม่มี ที่ Temasek เลยเปิดให้รายย่อยเข้ามาทำวิจัยและทดลองผลิตภัณฑ์ ถ้าหากว่าผลิตภัณฑ์ของคุณดีจริงเขาก็ร่วมลงทุน ในขณะเดียวกัน บริษัทใหญ่ ๆ ก็ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในการทำวิจัยเพื่อพัฒนารูป รส สัมผัสของโปรตีนจากพืช เพื่อพัฒนาจากโปรตีนทดแทนให้กลายเป็นโปรตีนหลักในอนาคต”

จักรชัยมองไกลไปกว่านั้น โดยเฉพาะสังคมไทยที่กำลังเข้าสู่ Ultra Aging Society การหันมากินโปรตีนจากพืชจะช่วยทำให้ประชากรไทยลดความเสี่ยงจากโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะโรค NCDs และมะเร็ง การบริโภคโปรตีนจากพืชมากขึ้นจะทำให้ภาระของสาธารณสุขในอนาคตไทยลดลงไป และสุขภาวะคนไทยจะดีขึ้นไปพร้อมกับการรักษาสิ่งแวดล้อม

“ปัจจุบันเรามีหลายอุตสาหกรรมที่เป็นตัวอย่างในการสร้างระบบนิเวศแบบนี้แล้ว โดยเฉพาะวงการคราฟท์เบียร์ วันนี้เราได้เห็นแล้วว่าบริวเวอร์ไทยมีศักยภาพมากแค่ไหน เช่นเดียวกันวงการโปรตีนจากพืช มันไม่ใช่แค่การแปรรูปเป็น Plant Based อย่างเดียวเท่านั้น แต่เห็ดหรือถั่วอีกหลายชนิดให้คุณค่าทางโภชนาการที่สูงมาก และพร้อมที่จะเป็น Hub ในการส่งออกของภูมิภาคเลยด้วยซ้ำ” จักรชัย กล่าว

จักรชัยกล่าวย้ำ พวกเราจำนวนมากกำลังบริโภคเกินความจำเป็นไปมาก สิ่งที่เราทิ้งไว้ คือมลภาวะ คือมูลค่า คือโอกาสที่เราเสียไปโดยใช่เหตุ และวันนี้ถึงเวลาที่เราต้องพูดเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง ทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ

พร้อมไปกับการรักษาสภาพภูมิอากาศและพยายามไม่ทำให้โลกร้อนไปกว่านี้ คือโอกาสและศักยภาพของผู้เล่นในตลาดโปรตีนจากพืช โจทย์คือเราจะสามารถเป็นพื้นที่ในการส่งออกของภูมิภาคได้อย่างไร เพื่อจะสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจที่จะผลักดันให้ไทยไปสู่ Global อย่างแท้จริง จักรชัยกล่าวทิ้งท้ายว่านี่คือโอกาสที่อยากให้รัฐบาลมองเห็น เพราะหากเราเริ่มช้ากว่านี้เราอาจต้องแลกด้วยเม็ดเงินที่พลาดไปมหาศาล รวมถึงอาจต้องแลกมาด้วยภัยพิบัติอีกหลายครั้งหรือมะเร็งปอดจากฝุ่น PM2.5 อีกหลายชีวิต

ในจานข้าวเราเห็นภาวะโลกร้อน แต่ในขณะเดียวกันเราเห็นโอกาสใหม่ ๆ จากระดับ Local สู่ Glocal ในการผลักดันผลิตภัณฑ์หรือวัตถุดิบท้องถิ่นขึ้นสู่ระดับโลก หลังจากนี้คงอยู่ที่ว่าในจานถัดไปทุกภาคส่วนจะร่วมกันรังสรรค์โอกาสจากโปรตีนจากพืชนี้ขึ้นมาอย่างไรหรือจะโยนทิ้งโอกาสนี้ไปอย่างน่าเสียดาย